วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

ผังเมืองกับการจัดการพื้นที่บนฐานของความจริง?


ผังเมืองกับการจัดการพื้นที่: การพัฒนาบนฐานของความจริง?
                             นัฐวุฒิ สิงห์กุล

อุดรธานี ความสัมพันธ์ว่าด้วยเรื่องเกลือกับโพแทช


ภาพแสดงให้เห็นพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชแหล่งอุดรเหนือและอุดรใต้ของจังหวัดอุดรธานี

 

พื้นที่ในเขตจังหวัดอุดรธานี ถือได้ว่าเป็นดินแดนที่คนหลายพวกหลายเชื้อชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันอยู่อย่างหนาแน่นมาช้านาน จากหลักฐานที่ขุดค้นและหลักฐานที่ปรากฎ ไม่ว่าจะเป็นเสมาหิน  ปราสาทเจดีย์ โบราณสถาน พระพุทธรูปหินทราย ถ้วยชาม หม้อดินเผา เครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องในยุคสมัยต่างๆตั้งแต่ยุคสมัยทวารวดี ลพบุรี ซึ่งเป็นอารยธรรมของขอม มาจนถึงล้านช้าง(ศรีสัตนาคนหุต) ที่เป็นช่วงที่คนลาวได้เข้าตั้งแว่นแคว้นล้านช้างหรือลาวเวียงขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น รวมถึงยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่เป็นอารยะธรรมในช่วง5,000 ปี ที่พบแหล่งโบราณคดีที่บ้านเชียง เมืองอุดรธานี มีเมืองเก่าตั้งแต่ครั้งโบราณสองเมือง คือ เมืองหนองบัวลำภูหรือนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน และเมืองหนองหารน้อย (ปัจจุบันเป็นอำเภอกุมภวาปี) เดิมเคยเป็นเมืองของเจ้าคำแดง หลานพระยาขอม ต่อมาพระยานาคบันดาลให้บ้านเมืองเกิดล่มจมน้ำจึงเป็นเมืองร้างมาช้านานดังที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุ

อุดรธานี  เป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานตั้งแต่อดีต และมีผู้คนอพยพย้ายถิ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานหลายยุคหลายสมัย หลายชาติพันธุ์ทั้งชนชาติเขมรและลาวในบริเวณนี้ ดังนั้นอุดรธานีเป็นเสมือนเมืองที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญทางการเมืองมาตั้งแต่ช่วงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นและตอนปลาย โดยเฉพาะในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ต้องการจะจัดระเบียบและปฎิรูปการปกครองของประเทศให้มีแบบแผน อุดรธานีจึงเป็นเมืองหนึ่งที่ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นในช่วงนั้น ทำให้เองอุดรธานีเต็มไปด้วยคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้ทั้งคนลาวที่เป็นคนพื้นเมือง คนญวนที่อพยพมาในช่วงเดียนเมียนฟูแตกและคนจีนที่เข้ามาทำการค้าขายในเมือง รวมทั้งคนอเมริกันที่เข้ามาตั้งฐานทัพในเมืองไทยในช่วงสงครามเวียดนาม ทำให้จังหวัดอุดรธานีปัจจุบันมีคนหลายเชื้อชาติ ชาติพันธุ์มาอยู่รวมกัน ภายใต้สถานการณ์และเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคแถบนี้

อุดรธานี เป็นจังหวัดที่อยู่ในเขตอีสานเหนือ[1]บริเวณแอ่งสกลนครซึ่งมีเทือกเขาภูพานกั้นพื้นที่ภาคอีสานออกเป็นสองส่วนคือ แอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร อีสานเหนือและอีสานใต้ หรือแบ่งตามลุ่มน้ำคือลุ่มแม่น้ำโขงและชี กับลุ่มแม่น้ำมูล สำหรับเมืองอุดรธานีนั้น คำว่าอุดรธานี หมายถึง เมืองในทิศเหนือ เมืองในทิศอุดร  ในอดีตเมืองอุดรธานีเป็นบ้านป่า เมืองร้าง แต่เดิมเรียกว่าบ้านหมากแข้งเพราะมีต้นมะเขือพวงใหญ่(อีสานเรียกว่าหมากแข้ง) ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ(รศ.113)[2]ได้ทรงบันทึกไว้ว่า

          บ้านเดื่อหมากแข้งเป็นแขวงเมืองหนองคาย มีเรือน (..109) ไม่เกิน 200 หลังคา เป็นบ้านอยู่ในที่ราบชายเนิน ด้านตะวันออกเป็นที่ทุ่งนาใหญ่ตลอดมาต่อทุ่งหนองหาร เป็นต้นทางร่วมที่มาจากเมืองใกล้เคียง แต่เป็นบ้านป่าขับขันกันดานต้องอาศัยเสบียงอาหารจากเมืองหนองคายและเมืองสกลนคร



[1] เขตอีสานเหนือ คือบริเวณตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตั้งแต่ฝั่งเหนือของลำน้ำชี ในเขตจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ไปจนถึงลุ่มแม่น้ำโขง ในเขตจังหวัดหนองคาย นครพนม สกลนครและอุดรธานี อาจกล่าวได้ว่า เขตอีสานเหนืออยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำชีและโขง ส่วนอีสานใต้ก็คือแถบลุ่มแม่น้ำมูล ตั้งแต่เขตจังหวัดศรีษะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร บุรีรัมย์ นครราชสีมา
[2] เอกสารที่๔๑๔/๑๘๑๑๑ วันที่๑๘ พฤศจิกายน ร..๑๑๓ บันทึกมุมเอกสารว่า คัดสำเนาส่งกรมประจักษ์กับพระราชหัตถ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...