วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

ผังเมืองกับการจัดการพื้นที่บนฐานของความจริง?(4)


ประวัติศาสตร์ของเมืองอุดรธานีแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของเกลือ และการสร้างบ้านแปลงเมืองจนเกิดเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เกิดจากการที่มีเกลือเป็นวัตถุที่สำคัญในการบริโภคและการอยู่อย่างพอเพียงไม่ฟุ่มเฟือย เพราะใช้เกลือที่มีอยู่อย่างมากมายในท้องถิ่นนำมาใช้ประโยชน์เลี้ยงตัวเองและชุมชนได้ แต่ในปัจจุบันสิ่งที่เพิ่งจะถูกค้นพบและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็คือ แร่โพแทช กำลังจะเข้ามาทำให้วิถีชีวิตของคนอุดรธานีเปลี่ยนไป ภายใต้นโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐบาล
โครงการเหมืองแร่โพแทช อุดรธานี ของบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ได้ทำการสำรวจแร่โพแทช แหล่งสมบูรณ์ (แหล่งอุดรใต้) ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล คือ ตำบลโนนนสูง ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง และตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วง กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี  และทำการขออาชญาบัตรและประทานบัตรในการขุดเจาะเหมืองแร่โพแทช ในระยะเวลา 22 ปี ในพื้นที่ 25 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่ประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น สลับกับพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก  มีสถานที่ราชการสำคัญตั้งอยู่เช่น กรมขนส่งจังหวัด สถานีตำรวจภูธร ค่ายทหาร ศูนย์มะเร็ง วิทยาลัยพยาบาลราชชนนี วิทยาลัยเทคนิค โรงเรียน วัดต่างๆ รวมถึงแหล่งน้ำจืดที่สำคัญ คือหนองนาตาล ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง และหนองหาน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำปาว ลำน้ำสาขาสำคัญของลำน้ำชี  ประราชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกข้าว และรับจ้างเป็นหลัก
ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่โดยรอบโครงการเหมืองแร่โพแทช อุดรธานี มีอาณาเขตติดต่อดังนี้คือ
พื้นที่ทางทิศเหนือ ติดกับเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอหนองหาน อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ทิศตะวันตก ติดกับอำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี และทิศใต้ ติดกับอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
ลักษณะโดยทั่วไปของประชาชนที่อาศัยพื้นที่ สามารถจำแนกได้เป็น 8 ลักษณะคือ
1. ชุมชนที่เกิดจากคนที่เข้ามารับจ้างตัดไม้ เพื่อทำไม้หมอนรางรถไฟ โดยระยะแรกตั้งถิ่นฐานแบบทำเพิงพักเพื่อตัดฟืนต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟเสร็จก็ไม่ได้อพยพไปอยู่ถิ่นอื่น แต่มีการตั้งถิ่นฐานจับจองพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เพาะปลูกบริเวณดังกล่าวจนกลายเป็นหมู่บ้าน ชุมชนขึ้น เช่นหมู่บ้านป่ากร้าว ตำบลห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม
2. ชุมชนที่เกิดจากผู้คนที่อพยพหนีความแห้งแล้งหรือประสบภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอำเภอวาปีปทุม อำเภอโกสุมพิสัย ชาวบ้านได้อพยพมาบุกเบิกหาพื้นที่ทำกินอันอุดมสมบูรณ์ โดยอพยพทางเกวียนเข้ามาหักร้างถางป่า เพื่อปลูกสร้างบ้านเรือนและที่ทำกินใหม่ และมีญาติพี่น้องอพยพตามมาอยู่กันมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชน เช่นบ้านโนนสมบูรณ์ บ้านสังคม บ้านอีทุย ตำบลห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม
3. ชุมชนที่เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่ง เป็นชุมชนธุรกิจในอดีต เช่นมีสถานีรถไฟ มีตลาดขนาดใหญ่ของชุมชน มีโรงเลื่อย ซึ่งดำเนินกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการให้สัมปทานป่าไม้ การทำไม้หมอนรถไฟ โดยมีนายทุนในพื้นที่เป็นผู้รับซื้อจากชาวบ้านและขายต่อให้การรถไฟ ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนบริเวณนี้ดีกว่าที่อื่นๆ และคนมาจับจองและอาศัยอยู่กันหนาแน่นเป็นชุมชน หมู่บ้าน ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้จะเป็นชุมชนที่ตั้งของบริษัทรับเหมาก่อสร้างต่างๆ และมีร้านค้ามากมาย เช่นที่บ้านห้วยสามพาด ตำบลห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม และบ้านหนองตะไกร้ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
4. เป็นศูนย์กลางทางทหาร มีฐานทัพอเมริกันมาตั้งในช่วงของสงครามเวียดนาม ทำให้มีผู้คนอพยพเข้ามาติดต่อค้าขาย ทำการค้าขาย และก่อสร้างค่ายทหาร รวมถึงทหารจากทางนครราชสีมา สกลนคร ที่อพยพเข้ามาอยู่เป็นชุมชนในค่ายทหาร เช่นค่ายเปเปอร์ไกเดอร์ ค่ายรามสูร เป็นต้น อีกทั้งยังทำให้มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้อยู่ในเขตบ้านโนนสูง ตำบลโนนสูง เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มี 5 หมู่ เป็นศูนย์กลางของสถานที่สำคัญต่างๆ เช่นวิทยาลัยพยาบาลราชชนนี วิทยาลัยเทคนิค กรมการขนส่งจังหวัด สถานีตำรวจภูธร ศูนย์วิทยาศาสตร์และมะเร็ง สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมและสำนักงานเทศบาลตำบลโนนสูง รวมถึงมีตลาดขนาดใหญ่ ที่ผู้คนจากหมู่บ้านใกล้เคียงทั้งตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง ตำบลห้วยสามพาดและตำบลนาม่วง เข้ามาจับจ่ายซื้อของเพราะมีร้านค้าที่หลากหลายและไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเข้าไปในตัวเมือง บริเวณนี้จึงเป็นศูนย์กลางทั้งการขนส่งคมนาคมที่ติดต่อกับตัวเมือง มีการเดินรถเมลล์ และให้เช่ารถตู้เดินทาง และประกอบอาชีพค้าขายหนาแน่นที่สุด
5. ชุมชนที่อพยพมาขยายจากชุมชนเดิม เมื่อก่อนเคยอยู่กับชุมชนใหญ่ ต่อมาพื้นที่ตั้งบ้านเรือนและพื้นที่ทำกินในหมู่บ้านลดน้อยลงไม่เพียงพอกับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ก็ขยายออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหัวไร่ปลายนา และขยายมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งลักษณะของชุมชนแบบนี้จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก มีประมาณไม่เกิน 50 ครัวเรือน เพราะเป็นชุมชนที่ขยายออกมาจากหมู่บ้านหลัก  เช่นบ้านวังขอนกว้าง ต.ห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี
6. ชุมชนที่อาศัยอยู่ตามโคกตามป่าในอดีต ซึ่งชาวบ้านยังดำรงชีวิตด้วยการเก็บหาของป่า เช่นเก็บเห็ด เก็บผักหวาน ไข่มดแดง ชุมชนบริเวณนี้เป็นชุมชนที่ไม่ใหญ่มากบางหมู่บ้านมีแค่ 17 ครัวเรือน อย่างมากไม่เกิน 50 ครัวเรือน แต่มีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติค่อนข้างสูง วิถีชีวิตส่วนใหญ่ทำการเกษตรเป็นหลักในทุกครัวเรือน นอกนั้นก็มีการรับจ้าง รับซื้อของเก่า เช่น บ้านโคกสี  บ้านโนนแสวง ตำบลนาม่วง กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี
7. ชุมชนดั้งเดิมโบราณ ที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องของตำนานท้องถิ่น คือผาแดงนางไอ่  และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีในสมัยทวาราวดี ลพบุรี และอารยธรรมบ้านเชียงดังที่ในหมู่บ้านบริเวณนี้หลายๆหมู่บ้านขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับและกำไล ตามหมู่บ้านและหัวไร่ปลายนา หรือสิ่งของเครื่องใช้พวกครกมอง ใบเสมาเก่า พระพุทธรูปก็ถูกค้นพบในพื้นที่บึงหนองหาน ชุมชนในบริเวณนี้ทั้งหมดเป็นชุนชนเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต จากเดิมที่อาศัยน้ำธรรมชาติจากน้ำฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่คือหนองหาน ได้พัฒนามาสู่ระบบการจัดการแบบชลประทาน ตามโครงการโขงชีมูล จึงทำให้บางพื้นที่บริเวณนี้สามารถทำนาได้ปีละสองครั้ง ทั้งการปลูกข้าวแบบนาปรังและนาปี เช่นหมู่บ้านบริเวณลุ่มน้ำหนองหาน กิ่งอำเภอประจักษ์ อำเภอหนองหานและอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
8. ชุมชนที่เกิดจากพื้นที่ ที่เคยเป็นเนินดินสำหรับเลี้ยงสัตว์ หรือพื้นที่ที่ชาวบ้านต้อนวัวควายไปเลี้ยง และใช้เป็นที่อพยพหนีโรคระบาด ชุมชนบริเวณนี้จะมีลักษณะเด่นคือเป็นพื้นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง เช่นบ้านดอนคอกควาย หรือโนนทรายฟอง ตำบลนาม่วง กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม  จังหวัดอุดรธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...