วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

หลังเรียนมหาวิทยาลัย(4)


บางคำนินทาที่ชาวบ้านบางคนพูด เช่นบักผมยาวเอาเงินซื้อนมให้ลูกเจ้ากินอยู่บ่ ไปเชื่อมันหยัง” “พวกรับเงินต่างชาติมาปลุกปั่นสร้างความแตกแยกหรือคำพูดอื่นๆ ที่เรามักได้ยินอยู่เสมอ หรือชาวบ้านบางคนที่ได้ยิน ก็มักจะถามพวกเราเสมอ ว่า เอ็นจีโอคือหยัง มีเงินเดือนบ่ สิ่งเหล่านี้คือสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะความอยากรู้ เรื่องของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนแปลกหน้าที่พวกเขาไม่รู้จักมักคุ้นมาก่อน  สิ่งที่ผม และพี่สุวิทย์ รวมถึงคนทำงานคนอื่นๆทำก็คือ การบอกความจริงอย่างไม่ปิดปังว่า พวกผมก็มีเงินเดือนถึงจะไม่มากก็พออยู่ได้ ขาดเหลือก็ช่วยกันไป พวกผมไม่มีนาเหมือนพ่อแม่ไม่ทำงาน ไม่มีเงินเดือนแล้วจะกินอะไรซึ่งคำตอบเหล่านี้ชาวบ้านก็จะใช้อธิบายบอกต่อคนอื่นๆต่อไป
ดังนั้นเวลาผมไปประชุมกับแม่มณี ก่อนที่จะพูดต้องให้แม่มณีเป็นคนเปิดประเด็นและแนะนำตัวให้ ซึ่งท่านก็น่ารักมาก อธิบายให้หมดว่าเอ็นจีโอคืออะไร ผู้เขียนเรียนจบที่ไหน บ้านอยู่ไหน ได้เงินเดือนเท่าไหร่ ทำให้คนที่มาฟังประชุมคลายปัญหาที่สงสัยในตัวผู้พูดลงไปมาก ซึ่งเวลาผมไปประชุมคนเดียวก่อนพูดผมก็จะแนะนำตัวคร่าวๆ ส่วนเรื่องเงินเดือนถ้ามีคนถามผมถึงจะตอบตามความเป็นจริงแบบไม่ปิดบัง
ผมว่านี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของการทำงานแบบอยู่ร่วมกับคนในพื้นที่ ร่วมคิดร่วมทำงานและร่วมแบ่งปันความรู้สึก ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ผูกพันเสมือนเป็นญาติพี่น้องกัน มีสุขมีทุกข์ร่วมกัน ช่วยเหลือปลอบใจกัน ซึ่งไม่ใช่ความเป็นหัวหน้าหรือคนทำงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกมีความสุข และไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะตระเวนขับรถไปคุยกับแกนนำ ชาวบ้านในบ้านต่างๆ อย่างน้อยนอกจากเป็นการสอบถามข่าวคราวส่วนตัวแล้ว ยังเป็นการทำให้ทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวในพื้นที่ เช่นคนของบริษัทเข้ามาพบใคร หรือบริษัทจะเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อแจกเงิน มอบอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งสะท้อนว่าชาวบ้านติดตามความเคลื่อนไหวในพื้นที่และตรวจสอบคนในหมู่บ้านอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้นำหมู่บ้าน อย่างเช่นในบางช่วงมีข่าวบริษัทพากำนันผู้ใหญ่บ้านไปเลี้ยง ปรากฎว่าชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ ต่างพากันกดดันยกกันไปถามผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน จนผู้ใหญ่บ้านบางคนนำเสื้อที่บริษัทแจกมาให้กลุ่มอนุรักษ์เผาหรือทำลายก็มี เพราะไม่กล้าใส่ และเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและสำนึกผิดกับการกระทำของตัวเองต่อลูกบ้าน ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้เข้าใจถึงสิทธิของตัวเองในการตรวจสอบความถูกต้อง การบริหารงานของผู้นำในชุมชน ไม่ถูกครอบงำเหมือนดังอดีต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...