วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

หลังเรียนมหาวิทยาลัย(3)

ผมได้มีโอกาสร่วมงานตั้งแต่การเริ่มต้นชีวิตมอส. ที่หน้ากระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งชาวบ้านน้ำพองเดินทางไปชุมนุม ที่กรุงเทพฯ จนถึงการพาชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ไปแลกเปลี่ยนและศึกษาดูงานกับชาวบ้านน้ำพองด้วยหลายครั้ง เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมของภาคอีสาน ไม่ได้โดดเดี่ยวแต่เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ปัญหา ที่ดิน น้ำ ป่าไม้และแร่ธาตุ เป็นปัญหาของชาวบ้าน ที่เชื่อมโยงท้องถิ่น ภูมิภาคประเทศชาติและโลกเข้าด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหมือนดังชาวบ้านที่อุดรธานีและในหลายๆพื้นที่ ที่ไม่ได้ต่อสู้กับคนในพื้นที่เดียวกัน ชาติเดียวกัน ต่อสู้กับรัฐบาลเท่านั้นแต่ยังต่อสู้กับนายทุนข้ามชาติด้วย และที่สำคัญคือการต่อสู้กับความอยากภายในตัวเอง ที่เกิดจากกระบวนการของระบบทุนนิยม การพัฒนา ความทันสมัย และโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้ความอยากของท้องถิ่น กลายเป็นความอยากในระดับโลก และความอยากระดับโลกก็กลายเป็นความอยากของท้องถิ่นไปพร้อมกัน
หลังจากที่ประสานงานกับพี่ทั้งในพื้นที่(พี่เกรียงศักดิ์ สุขวาสนะ)และนอกพื้นที่(อย่างพี่สุวิทย์ กุหลาบวงษ์) ได้แล้วผมก็ต้องเตรียมการประชุม ซึ่งในช่วงแลกยอมรับว่าต้องเรียนรู้จากพี่สุวิทย์มาก ทั้งเรื่องข้อมูล การเตรียมประเด็น หัวข้อ จังหวะ การเน้นย้ำเสียงในการพูด การปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึก และที่สำคัญก็คือ การท้าทายกับการพัฒนาและกลับมาถามชาวบ้านว่าคิดอย่างไร ซึ่งการประชุมครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสพูดกับคนมากๆ ในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่ และเป็นคนอุดรธานีคนหนึ่ง ซึ่งการพูดให้ข้อมูลของผมในช่วงแรกก็น่าเบื่อและราบเรียบ
จากประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้ผมสามารถเรียนรู้และปรับปรุงตัวเองได้ในเวลาต่อมา อันเนื่องจากเงื่อนไขสถานการณ์ต่างๆมันบีบบังคับด้วย ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป นั่นคือจุดเริ่มต้นของไอ้หนุ่มผมยาว หรือพวกขายยาบ้า ในสายตาชาวบ้านที่มักจะแซวกันเสมอเมื่อพูดถึงการพบกันครั้งแรก ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเองของผมในฐานะผู้ทำงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการตัดผม การแต่งกาย ให้สมกับที่ชาวบ้านเรียกอาจารย์หรือหัวหน้าซึ่งหากเราต้องการที่จะเรียนรู้วิถีชีวิตโลกทัศน์ของชุมชน เราก็ต้องการที่จะพยายามเป็นคนในให้ได้ แม้ในความจริงเราจะเป็นได้เพียงคนนอกที่พยายามจะมองอย่างคนใน แต่การเรียนรู้ การทำกิจกรรมร่วมกันกับชาวบ้าน ความไว้วางใจกันในการทำงาน และสนิทสนมกันเหมือนพ่อแม่ ลูก พี่น้องกัน เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นจากชุมชน เราจึงควรที่จะต้องนำมาปรับใช้กับการทำงานในหมู่บ้าน ทั้งในเรื่องการวางตัว การปฎิบัติตนต่างๆ ในขณะที่เรากำลังตรวจสอบและดูชาวบ้านกลุ่มที่เราทำงานนั้น ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็มองดูเราและตรวจสอบเราเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...