วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554


ดอนผีบิน เฮฟวี่เมทัลเมืองไทย
 ....ก่อนแสงทองจะลับหาย...
.... กับคืนวันที่เคยทักทาย.....
... ปรารถนาให้พลังใจกายกลับคืนสู่ทุกชีวี...
...ปรารถนาคืนค่ำนี้ ทุกชีวีปราศจากโรคภัย...
...ตลอดถึงค่ำคืนต่อไป...และต่อไป...
พบกันอีกครั้ง หลังสนธยานี้...หลังจากฉากนี้ถูกปิดตอนลง แล้วเราจะกลับมา
ดอนผีบิน ออกอัลบั้มใต้ตะวันเดียวกัน โดยสมาชิกกลุ่มประกอบด้วย สมบัติ แก้วทิตย์ เล่นกีตาร์  สมคิด แก้วทิตย์ เล่นกีตาร์ เบสและร้องนำ และสุดท้าย สมศักดิ์ แก้วทิตย์ เล่นกลอง ทั้งสามคนเป็นพี่น้อง ที่มีฝีมือทางด้านดนตรีจัดจ้าน หนักแน่น สไตล์เฮฟวี่ เมทัลและเดธ เมทัล แม้ว่าบางเพลงจะฟังไม่ทัน ฟังไม่รู้เรื่อง การใช้น้ำเสียงแบบตะโกนและสำรอกออกมา เป็นเพลงสไตล์ของดอนผีบิน  แต่ชุดที่ฟังได้ง่ายและซอล์ฟลงมาหน่อย (นิดนึง) ได้ถูกรวมไว้ในอัลบั้มใต้ตะวันเดียวกัน เพลงในชุดนี้เพราะหลายเพลง ทั้งในด้านเนื้อหาและดนตรี โดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวกับโลก สิ่งแวดล้อมและมนุษย์  เช่น เพลงลีลาลวง
“ดินแดนใด สดใสสวยงาม ดินแดนใด สดใสเริงร่า ผ่านมาหาไม่มี ผ่านมาหาไม่เจอ...” หรือเพลง ไกลบ้าน
เพลงทางท้าทาย “...สักวันถึงทางท้าทาย สู่จุดหมาย หมายความ ความหายคน สุดทางทางท้าทายสู่จุดหมาย แตกดับสลาย วันสุดท้าย...”
หรือเพลงบรรเลง อย่างสิ้นสุดความหมายแห่งการดำรง  นอกจากนี้ยังมีเพลง ก่อนจะไร้ซึ่งวิญญาณ สายเสียแล้ว  Return to the nature 1 และ 2 เพลงสองฟากฝั่ง และสักวัน
เพลงชุดนี้จังหวะหนัก แต่ฟังสบายๆ  ไพเราะทั้งด้านดนตรีและเนื้อหาที่ทำให้มนุษย์ขบคิดและตั้งปัญหาเกี่ยวกับตัวเอง สังคมและสิ่งรอบตัว
หากใครอยากฟังเพลงดอนผีบิน ที่มีแนวเพลงที่หลากหลายไม่ใช่แค่เพลงช้า แต่มีเพลงจังหวะหนักๆ เร็วๆ หลายเพลง ก็ลองหาฟังดูในชุดอื่นๆ เช่นโลกมืด  ชุดที่สอง เส้นทางสายมรณะ ชุดที่สามอุบาทว์-อุบัติ ชุดที่4 สองฟากฝั่งที่จัดจำหน่ายโดยค่ายWarner Music  นอกจากนี้ก็มีชุดแสดงสด ชุดรวมเพลงเร็ว ดอนผีบิน และชุดรวมเพลงช้า ใต้ตะวันเดียวกัน โดยเพลงทุกเพลงคำร้องและทำนอง เขียนโดยดอน ผีบิน ผมว่าศิลปินกลุ่มนี้มีความน่าสนใจทางด้านงานเพลงและความคิดที่ทำให้เราคิดตามได้ไม่มากก็น้อยครับ



วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มานุษยวิทยากับภาพถ่าย ตอนที่3


ข้อถกเถียงในเรื่องของภาพถ่าย ความจริงหรือภาพสะท้อนความจริง
ความหมายในแง่ของปรัชญาและความรู้ (Postmodernism)
ในยุคศตวรรษที่18-19 กระแสวิธีการตั้งคำถามและวิพากษ์กระบวนการทางความรู้ในยุคของความทันสมัยที่ครอบงำความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงความเป็นกลาง สากล ครอบคลุม รอบด้าน ต่อเนื่อง เป็นเหตุผล ถึงแก่นแท้  อิทธิพลของเรื่องเล่าแม่บท รวมทั้งเชื่อมมั่นและเชิดชูวิธีการหาความรู้ ความจริงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่บดบังความเชื่ออื่นๆ ความรู้ชุดอื่นๆ ทั้งไสยศาสตร์ เวทมนต์ คาถาหรือแม้แต่ความเชื่อทางศาสนา โดยเชื่อว่าความรู้แบบวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆจะทำให้มนุษย์และสังคมมีความก้าวหน้าและความเป็นเลิศ เป็นมนุษย์แห่งความทันสมัย
จนกระทั่งมนุษย์ได้ก้าวมาสู่ช่วงยุคศตวรรษที่20ถึง21 ความเชื่อมั่นถึงความทันสมัยและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะนำพามนุษย์ไปสู่ความก้าวหน้าและความสงบสุขได้ถูกลดทอนลงไปด้วยปัญหาต่างๆทั้งการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม การทำสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความอดยากหิวโหย วิกฤตการด้านสิ่งแวดล้อม และการสูญเสียความเป็นมนุษย์ ได้ทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่าความรู้แห่งยุคสมัย มิใช่เป็นความรู้ที่ไร้เดียงสาและบริสุทธิ์ที่เราควรรับเอาไว้และไม่ควรตั้งคำถามอย่างที่เข้าใจ ในทางตรงกันข้ามกับเป็นความรู้ที่ผูกโยงกับเรื่องของอำนาจ ไม่เฉพาะอำนาจรัฐ/ทุน แต่เป็นอำนาจรัฐและทุนแต่เป็นอำนาจที่ควบคุมลึกลงไปถึงร่างกาย ความคิดของมนุษย์ในชีวิตประจำวันผ่านวัฒนธรรม/ภาษา ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามและท้าทายความรู้ที่เคยเป็นมาตรฐานอย่างวิทยาศาสตร์ว่าไม่ใช่วิธีการที่เป็นกลาง เพียงวิธีเดียวที่จะทำให้มนุษย์หลุดพ้นหรือเข้าใจตัวเอง ข้อถกเถียงสำคัญในช่วงนี้คือเรื่อ วิกฤตของตัวแทน (Representation) รวมถึงความชอบธรรมในการนำเสนอภาพตัวแทน และการอ้างถึงความถูกต้อง ความจริงของตัวแทน ทำให้มนุษย์เริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นและโลกที่ตัวเองอยู่
หลักการสำคัญของประเด็นนี้คือมนุษย์นำเสนอตัวเองอย่างตรงไปตรงมาแท้จริงหรือตัวตนและความเป็นมนุษย์ถูกนำเสนอโดยกระบวนการทางความรู้และอำนาจแห่งยุคสมัย สภาวะดังกล่าวทำให้มนุษย์กลับมาวิพากษ์และตั้งคำถามต่อตัวเองและโลกที่ตัวเองอยู่ มนุษย์และสังคม ปัจจุบันจึงมีลักษณะซับซ้อน ขัดแย้ง ขาดตอน  ไร้ราก ไร้ศูนย์กลาง ไร้แก่นสารและไร้สิ่งยึดเหนี่ยว
วิกฤตของการเสนอภาพแทนความจริง (Representation)
ในอดีต ภาพวาดเป็นสิ่งที่มีฐานะเป็นภาพแทนความจริง แต่ปัจจุบันภาพวาดกลายเป็นสิ่งที่พ้นสมัยเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าของสังคมสมัยใหม่ ที่เกิดการคิดค้นและพัฒนาประดิษฐกรรมทางเทคโนโลยีต่างๆเช่นเครื่องพิมพ์ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องมือติดต่อสื่อสารที่ได้ย่นระยะทางหรือหดช่องว่างที่ห่างกันในเรื่องของการสื่อสารระหว่างกันของมนุษย์ โดยเฉพาะความก้าวหน้าด้านการถ่ายภาพ  ถึงแม้ว่าในแง่หนึ่งจะได้ทำลายความน่าเชื่อถือของภาพวาดที่เคยเป็นงานศิลปะที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงความจริงได้ใกล้เคียงที่สุด ที่ไม่สามารถทำได้หลายครั้งและไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้ มาเป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่สะท้อนความจริงไดชัดเจนมากกว่าภาพวาด สามารถผลิตซ้ำได้จำนวนมาก ทุกคนสามารถเข้าถึงได้  ที่นำไปสู่รูปแบบการผลิตเพื่อมวลชน เข้ามาแทนที่เอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำกันได้ของงานฝีมือทางศิลปะ  ทำให้ภาพถ่ายกลายเป็นสิ่งที่เป็นตัวแทนความจริงและเราเชื่อว่ามันคือความจริงในปัจจุบัน



แนวคิดของพอล เซซาน Paul Ce-Zanne
เซซานได้พูดถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างการมองกับวัตถุ ความหลากหลายของมุมมองและการตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่เราเห็น ภาพสะท้อนความจริงดังกล่าวที่เราเห็น คือความจริงหรือไม่ สิ่งที่น่าสนใจก็คือเซซานให้ความสำคัญและให้นิยามกับความจริงว่า ความจริง คือสิ่งที่ไม่ปะติดปะต่อ และปรับเปลี่ยนตามมุมมองของผู้มองหรือผู้สังเกตเท่านั้น  เราสามารถมองเห็นโลกได้ในมุมที่แตกต่าง ดังนั้นภาพวาดหรือภาพถ่ายสำหรับเซซานจึงไม่ใช่ความจริงแต่เป็นผลมาจากการรับรู้ความเป็นจริงของคนเราต่างหาก ความจริงของภาพจึงเป็นสิ่งเดียวกับการรับรู้ของคนเราที่ทำให้ภาพกลายเป็นความจริงขึ้นมา
เมื่อภาพวาดผสมกับภาพถ่าย การตั้งคำถามกับความจริงและตัวแทน
จากงาน The Photographer ของ Emmanuel Guibert และ Didier Lefevre ซึ่งเป็นสารคดี นิยายภาพ (Graphic novel)สุดคลาสสิค ที่ไม่ใช่หนังสือที่เต็มไปด้วยการอรรถาธิบายผ่านตัวอักษรอย่างฟุ้งเฟ้อ แต่เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดประสบการณ์จริงของช่างภาพข่าวที่ชื่อ Didier Lefevre ระหว่างที่เขาได้เข้าร่วมในโครงการที่ชื่อว่า องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontiers : MSF) ที่ประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อปี ค.ศ.1986 ที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งและรุกรานดินแดนระหว่างรัสเซียกับอัฟกานิสถาน ซึ่งนำไปสู่ประเด็นการพยายามเข้ามาช่วยเหลือผู้คนในประเทศที่ห่างไกลเช่นนี้  งานในการเป็นช่างภาพของ Lefevre จึงเป็นงานที่ท้าทายตื่นเต้นก็เสี่ยงตายทุกเสี้ยววินาที  ซึ่งนำไปสู่งานเขียนเรื่อง The Photographer ในฉบับภาษาฝรั่งเศส ก่อนที่จะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ  ที่บอกเล่าเรื่องราวการทำงานและการเดินทางของเขาและกลุ่ม MFS ในอัฟกานิสถาน จากประสบการณ์การเดินทางร่วมกับแพทย์อาสาเหล่านี้ ทำให้เขาได้เผชิญหน้ากับความตายและพบเห็นความตาย ความโหดร้ายของสงคราม ดังที่ปรากฏในภาพถ่ายเด็กตัวเล็กๆที่บาดเจ็บจากกระสุน เศษระเบิด การบาดเจ็บจากกับระเบิด  หรือภาพกรามล่างของเด็กที่หายไปทั้งซีกหลังถูกระเบิด เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าการ์ตูนกึ่งภาพถ่ายนี้ไม่ใช่หนังสือสำหรับเด็ก และเป็นหนังสือที่นำเสนอภาพที่เป็นมากกว่าภาพ แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนและเปิดโปงให้เห็นสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ ความรักชีวิต ความหวาดกลัว และการทำลายล้าง เป็นต้น
เรื่องราวและภาพถ่ายของ Lefevre จะไม่สามารถที่จะเป็น The Photographer ได้เลย ถ้าไม่มีนักเขียนการ์ตูนอย่าง Emmauel Guibert  ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ Lefevre ได้อย่างสมจริง ตื่นเต้นและน่าติดตาม และเป็นสิ่งที่ผสมผสานระหว่างการ์ตูนสีที่วาดเหมือนจริงกับภาพถ่ายของ Lefevre ได้อย่างลงตัว และทำให้การเดินทางของ Lefevre ที่ไม่ได้บันทึก จนเกือบจะหลงลืมและสูญหายไประหว่างห้วงเวลาได้รับการรื้อฟื้น ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาอีกครั้งในรูปของการ์ตูนผสมกับภาพถ่ายบางภาพที่แม้จะไม่มีคำบรรยายแต่ก็ให้อารมณ์และความรู้สึกที่บาดลึกและทรงพลัง เช่น ภาพถ่ายหลุมศพของสมาชิก  MSF หรือภาพทะเลทรายในอัฟกานิสถานที่เวิ้งว้าง ร้อนระอุ ไกลสุดลูกหูลูกตา
หากจะมองว่าสิ่งที่ทั้ง Lefevre  และ Guibert ไม่ใช่แค่การผสมผสานระหว่างสิ่งที่เรียกว่าภาพเขียนกับภาพถ่าย แต่ในแง่หนึ่งทั้งสองคน กำลังเสนอถึงสารัตถะของคำว่าความจริง ที่แม้ว่าจะเป็นภาพวาดหรือภาพถ่ายก็ล้วนถ่ายทอดออกมาจากมุมมองของผู้ถ่ายและผู้เขี่ยน การเลือกภาพและแง่มุมของการนำเสนอความจริงจึงมาจากผู้มอง โดยใช้ภาพเขียนเป็นตัวเชื่อมโยงกับภาพถ่าย เนื่องจากมนุษย์มีเรื่องราวที่ประสบพบเจอมากแต่มีการบันทึกเรื่องราวเหล่านั้น ผ่านการเขียน  การถ่ายรูปได้ไม่ทั้งหมด ใน32 ภาพ ของฟิล์มถ่ายรูปแบบเก่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเก็บอิริยาบถหรือเรื่องราวของมนุษย์ได้สมบูรณ์ครบส่วน ซึ่งจะมีบางส่วนที่ถูกตัดออก ละเลย หรือไม่ควรจะบันทึก จดจำ  ไม่ได้ปรากฏในเฟรมหรือฟิล์มถ่ายรูป แม้ว่าในปัจจุบันระบบกล้องดิจิตอลจะสามารถถ่ายรูปได้ต่อเนื่องถึง  300-400 แต่ก็ไม่สามารถถ่ายทอดแง่มุมของมนุษย์ได้หมดจดทุกซอกทุกมุม ดังนั้นส่วนที่ขาดหายจึงใช้ภาพวาดการ์ตูนและบทสนทนาเป็นตัวเชื่อม


มานุษยวิทยากับภาพถ่าย ตอนที่2

ความแตกต่างระหว่าง Camera Lucida และ Camera obscura
            Camera Lucida จะประกอบด้วยองค์ประธานหรือตัวแบบ ที่ถูกมองผ่านเลนส์ และปรากฏอยู่บนพื้นผิวที่จิตรกรกำลังวาดภาพ  ซึ่งจิตรกร จะมองเห็นฉากและร่างภาพบนพื้นผิวได้อย่างทันที โดยไม่ต้องมองที่ตัวแบบจริงแต่อย่างใด
ลักษณะของภาพในลักษณะCamera Lucida

Camera  Obscura มาจากลักษณะของห้องมืด ซึ่งแสงสว่างส่องเข้ามาจากภายนอก โดยมีการนำเลนส์ไปใส่ไว้ตรงช่องรูเลกๆนั้นๆ ผลก็คือ ภาพจากโลกภายนอกจะปรากฏ ขึ้นในห้องมืดในลักษณะกลับหัว บนผนังด้านด้านหนึ่งของห้องมืด หรืออาจกล่าวได้ว่า Camera Obscura มีสถานะเป็นพื้นที่ในเชิงลบของการบังคับการรับรู้ของเรา
ลักษณะของCamera obscura

            เกิดการแบ่งแยกระหว่างผู้มองกับโลกภายนอก รูปภาพสำหรับผู้สังเกต มีอิสระในตัวเอง มีปัจเจกบุคคลสูง มีความเป็นส่วน ซึ่งได้กักตัวเองไว้ในพื้นที่ด้วยประหนึ่งว่าเป็นบ้าน สภาพเช่นนี้ได้ตัดตัวเขาเอง จากโลกภายนอกที่เป็นสาธารณะ
การที่สังเกตไม่สามารถ/ไม่อาจมองมองเห็นภาพตัวเขาเองได้ ยกเว้นแต่ภาพที่แยกออกมาจากโลกภายนอก ซึ่งผ่านรูรับแสงของเลนส์เข้ามา เป็นการเน้นย้ำถึงความเชื่อในยุคแสงสว่างทางปัญญา ในความแตกต่างที่แหลมคม ระหว่างจิตใจ ซึ่งเป็นตัวตัดสินการรับรู้ต่างๆ  ทางผัสสะ ประสาทสัมผัสกับร่างกาย ซึ่งเป็นเพียงตัวบันทึกสิ่งเหล่านั้น
การรับรู้เป็นสิ่งที่นักปรัชญา อย่าง Richard Roity เรียกว่า พื้นที่ภายใน (Inner Area) เรียกว่า พื้นที่ภายใน (Inner Area) ถูกจำแนกความแตกต่างอย่างแหลมคมจากความเป็นจริงที่ขยายมาจากดวงตา ซึ่งไม่สามารถสัมผัสและสร้างการตัดสินที่ถูกต้องขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นเลนส์ทำหน้าที่เป็นดวงตา ตัวเลนส์ไม่ใช่ตัวรู้แต่เป็นตัวรู้ภาพ ส่วนคนที่อยู่ข้างใน ที่มองเห็นภาพที่ผ่านเลนส์เข้ามาคือตัวรู้คือ
โดยหลักการของการถ่ายภาพทั้งสองแบบมีลักษณะที่เหมือนและแตกต่างกัน ดังนี้ ในแง่ของความแตกต่าง Camera  Obscura เป็นสิ่งที่ถูกมองผ่านห้องมืดที่คุมขังผู้สังเกตหรือผู้มองไว้ภายใน เพียงแต่ภาพหรือทิวทัศน์จากภายนอกสามารถสะท้อนเข้ามาผ่านแสงและเลนส์ ที่ทำให้ภาพปรากฏอยู่บนผนังในลักษณะกลับหัว ในขณะที่ Camera Lucida จะมีลักษณะเป็นที่โล่งแจ้ง ซึ่งพื้นที่ไม่ได้เป็นตัวกั้นผู้สังเกตกับโลกภายนอกแต่อย่างใด เพียงแต่ผู้สังเกตมองโลกข้างนอกผ่านเลนส์ ไม่ใช่มองไปยังโลกข้างนอกจริงๆ ซึ่งลักษณะของการถ่ายภาพทั้งสองแบบ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นวิกฤตของความจริงและความเป็นตัวแทน เมื่อเราไม่จำเป็นต้องมองโลกภายนอกแท้จริง แต่มองโลกภายนอกผ่านภาพสะท้อน ผ่านสื่อที่เป็นตัวส่งต่อภาพมายังสายตาของเรา ปัญหาก็คือ ภาพที่เราเห็นกับความจริงที่อยู่ข้างนอก เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ อีกทั้งภาพดังกล่าวมันได้สะท้อนแง่มุมทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนที่เล็ดลอดผ่านเลนส์หรือช่องเข้ามายังสายตาของเราเท่านั้น ดังนั้นเมื่อลักษณะดังกล่าวมีความคลุมเครือของสิ่งที่ปรากฏ กับการมองเห็นและประสบการณ์ของผู้สังเกตที่ทำให้ภาพนั้นมีความชัดเจนมากขึ้น การตีความความหมายของภาพดังกล่าว ก็ย่อมสามารถที่จะตีความได้อย่างหลากหลายตามการมองงของปัจเจกบุคคลแต่ละคน
            สรุปได้ว่า การมองทั้งสองแบบจะเห็นได้ว่า ไม่ได้มองลงไปที่ตัวภาพจริงๆ แต่เป็นการมองผ่านภาพสะท้อนหรือภาพตัวแทนของวัตถุที่แท้จริง ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวได้ถูกนำมาพัฒนาในงานของ มิเชล ฟูโก เรื่อง Panopticon หรือ สรรพทัศน์ หรือการจ้องมองนกโทษผ่านหอคอยของผู้คุมนักโทษ ซึ่งนักโทษไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกจ้องมอง โดยใช้วิธีการสร้างห้องโปร่งแสง ไม่ใช่ห้องมืดเหมือนในยุคก่อน ที่ทำให้ผู้ถูกควบคุมรู้สึกว่าถูกจ้องมอง  แต่ในขณะที่การใช้พื้นที่โปร่ง ทำให้ผู้ถูกควบคุมรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกจ้องมองหรือควบคุมอยู่  ซึ่งเรียกว่า แสงสว่างแห่งการควบคุม  เป็นความจริงของความจริงเสมือน (pseudo-truth) ซึ่งความจริงเสมือนดังกล่าวก็สามารถถูกทำให้เป็นความจริงได้ โดยการสร้างความชัดเจนผ่านตัวภาษา หรือคำอธิบายความเกี่ยวกับภาพนั้น ว่าต้องการสื่อหรือชี้ให้เห็นถึงอะไร ซึ่งบางครั้งคำอธิบายกับภาพอาจเป็นคนละเรื่อง หรือคำอธิบายกับภาพแม้จะสื่อให้เห็นถึงเรื่องเดียวกัน แต่ก็ปกปิดมายาคติหรือความหมายแฝงบางอย่างไว้ เช่น ภาพนักข่าวญี่ปุ่น  ภาพแรกเป็นภาพนักข่าวญี่ปุ่นนอนตายอยู่บนริมถนน โดดเดี่ยว ลำพัง คำถามที่ตามมาคือตายเพราะอะไร เพราะถูกฝูงชนที่ทำการประท้วงและหนีจากอาวุธปืนของทหารพม่าเหยียบ หรือถูกสังหารด้วยคมกระสุนของทหารพม่า  ภาพนี้ถูกนำเสนอในเรื่องของเหยื่อสงครามกลางเมืองและความบ้าคลั่งของฝูงชนในพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันของพม่า

โรลองต์ บาร์ธ (Roland Barthes) ต้องการศึกษาสิ่งที่เรียกว่า ประวัติศาสตร์ของการจ้องมอง (History of Looking)  ซึ่งบาร์ธ ต้องการที่จะทำการศึกษาและอธิบายเกี่ยวกับพื้นฐานทางด้านจิตใจ อารมณ์และประสบการณ์ส่วนตัว       ในการอธิบายเกี่ยวกับภาพถ่าย    ภาพถ่ายจึงเป็นสิ่งที่ไม่เคยถูกพรากหรือแยกออกจากการอ้างอิงเกี่ยวกับตัวมันเอง เมื่อเรามองไปยังภาพถ่าย  คำถามที่ตามมาคือ ภาพที่เราเห็นในภาพถ่าย กับภาพที่แท้จริงเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่  เมื่อเรามองลงไปที่ภาพภาพหนึ่ง  ลักษณะ 2 อย่างที่จะเกิดขึ้นกับเราก็คือ
ลักษณะแรกเรียกว่า Studium  คือความหมายที่เป็นไปได้ หรือเห็นได้ชัดสำหรับทุกๆคน เมื่อเรามองลงไปยังภาพ ความสงสัยหรือความคิดเกี่ยวกับภาพดังกล่าวจะไม่มี  เพราะสิ่งดังกล่าวเป็นเสมือนจินตนาการที่เป็นเอกภาพและบรรจุอยู่ภายในตัวเราเองเหมือนกับนักมานุษยวิทยาเชิงโครงสร้างอย่าง  โคล๊ด เลวี่ สเตร้าท์   ( Claude Levi-Strauss) ได้พูดถึงการทำงานของโครงสร้างในระดับจิตใต้สำนึก ที่สะท้อนผ่านการเล่านิทาน โดยที่ตัวผู้เล่าหรือเนื้อหาของการเล่าไม่ได้มีนัยสำคัญอันใด เพราะมีความแตกต่างกันตามประสบการณ์และความสามารถของผู้เล่าในแต่ละคน แต่สิ่งที่เรียกว่า โครงสร้าง ซึ่งทำงานในระดับของจิตใต้สำนึกที่แก่นหรือแกนเรื่องหลักของนิทานเรื่องนั้น ไม่ว่าจะมีกี่สำนวนก็ตาม แต่ทั้งหมดก็ล้วนสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เป็นประเด็นหลักร่วมกันเพียงอันเดียว
            Studium จึงเป็นประเภทของการศึกษา กระบวนการทางความรู้และวัฒนธรรมของผู้ชมที่ถูกสร้างขึ้น เช่น ความเป็นพลเมือง ความสุภาพ ซึ่งเป็นความรู้สึกธรรมดาทั่วไป ไม่มีอะไรควรเพ่งเล็งเป็นพิเศษเพราะสามารถเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อนหรืออาจกล่าวในภาษาของบาร์ได้ว่าสิงที่อ่านได้ง่ายหรือถอดรหัสได้ง่าย
สำหรับคำว่า Punctum คือ ร่องรอยบางอย่างหรือส่วนประกอบบางอย่างของภาพที่เข้ามากระทบกับอารมณ์ ความสนใจของผู้ชม อย่างร้าวลึกและเจ็บปวด เช่นเดียวกับรูเล็กๆที่แสงกับภาพเข้ามากระทบกับดวงตาและให้ความรู้สึกหรือารมณ์ที่เสียดแทงใจของผู้มองหรือผู้ชม อาจกล่าวได้ว่าความรู้สึกดังกล่าวเป็นประสบการณ์เฉพาะบุคคลหากไม่มีชุดของเหตุการณ์ร่วม คนอื่นก็ไม่สามารถเข้าใจหรือรู้สึกแบบเดียวกันได้
ความรู้สึกบาดตาหรือเจ็บปวด ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดกับทุกคน แต่เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคลที่เฉพาะ เพราะเป็นเรื่องของประสบการณ์เฉพาะบุคคล (Individual Experience) และความทรงจำ (Memory) ที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกต่อภาพที่บาดตานั้น
คำถามที่ตามมาคือ เมื่อแต่ละคนต่างก็มองภาพในมุมมองของตัวเอง ภาพที่สะท้อนออกมาจึงมีความหลากหลาย ดังนั้นเราจะกล่าวได้ว่า ภาพถ่ายเป็นสิ่งที่นำเสนอความจริงได้อย่างหนักแน่นหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ตัวแทนของความจริงหรือการจำลองความจริง หรือเป็นความจริงเทียม (pseudo-truth)
            การแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือ การพยายามทำให้ความหมายของภาพมีความนิ่งหรือชัดเจนมากที่สุด เรื่องของภาษาหรือตัวบทจึงมีความสำคัญ เมื่อเราจะอธิบายความหมายของภาพ  แต่ทั้งภาพและตัวบทต่างก็กำหนดกรอบหรือข้อจำกัดในการรับรู้ต่อกันและกัน แต่บางครั้งแม้ว่าตัวบทกับภาพอาจจะขัดแย้งกันเอง แต่สิ่งเหล่านั้ก็ย่อมกระทบกับการรับรู้ของเรา ความหมายในทางสังคมวัฒนธรรมของเรา เหมือนกับที่ เฟอร์ดินองต์  เดอ โซซูร์ เปรียบเทียบว่า ภาษาจะต้องเป็นรหัสที่ยอมรับร่วมกันในชุมชนของภาษา คนในสังคมวัฒนธรรมนั้นจึงจะสามารถถอดรหัสออกมาได้ (Saussure 1966: P.68-69) ดังนั้น ภาษาจึงเป็นสิ่งที่กำกับและสร้างความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับโลกและสิ่งรอบๆตัว  

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...