วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

โควิดกับมุมมองของนักมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 นักมานุษยวิทยา นักมานุษยวิทยาการแพทย์ทำอะไรภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว? ผมคิดสิ่งที่นักมานุษยวิทยาทำ และผมในฐานะนักมานุษยวิทยาควรทำคือการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ ผ่านการสังเกต การเข้าไปมีประสบการณ์แบบมีส่วนร่วม การเขียนอธิบายพรรณนาข้อมูลจากสนาม ทั้งประสบการณ์ ทัศนะ มุมมอง อารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ แสวงหาวิธีที่จะนำข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญในสถานการณ์เหล่านี้มาเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจและเสนอมุมมองต่อปัญหาดังกล่าว

การระบาดใหญ่ของCovid 19 ทั่วโลกและการระบาดจะเป็นระลอก 3 ระลอก 4 ของสังคมไทย ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับปัจเจกบุคคล สังคม การใช้ชีวิต อารมณ์ความรู้สึก ความหวาดกลัว ที่เกี่ยวโยงกับสภาวะของการสูญเสียคนที่รัก สูญเสียวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ทางสังคมบางอย่าง การทำงานแบบเดิม การใช้ชีวิตที่เคยอยู่อย่างอิสระ ความเสี่ยงในการทำงานการใช้ชีวิตและความรู้สึกถึงปลอดภัยของตัวเอง รวมถึงการแสวงหาองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่หลากหลายในการจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทั้งในแง่ของภูมิปัญญาพื้นบ้าน ภูมิปัญญาสากล รวมถึงการมองลงไปในประสบการณ์ การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนต่อความเจ็บป่วย การฉีดวัคซีน การรังเกียจทางสังคมและอื่นๆ ผลกระทบของเชื้อโรคไม่ได้เข้าไปโจมตีหรือกระทำต่อร่างกายมนุษย์เท่านั้นแต่กำลังโจมตีสังคมของเราให้อ่อนแอลงไปด้วย มุมมองของผมต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดระลอก 4 มีดังนี้
1. ความไม่สามารถจัดการกับชีวิตส่วนบุคคลได้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยและความเป็นความตายจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความคาดหวังต่อบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะช่วยรักษาชีวิตของพวกเขาที่นอกเหนือการควบคุมได้ เช่น ยา วัคซีน เครื่องช่วยหายใจ เตียงผู้ป่วย ระบบส่งต่อ รวมถึงกระบวนการทางอำนาจในการตัดสินใจต่อเรื่องเร่งด่วนของชีวิตและสุขภาพของประชาชนอย่างถูกต้องเหมาะสม ที่สำคัญก็คือ ประเด็นในเรื่องของมนุษยธรรมที่เชื่อมโยงกับตลาดเสรีทางการแพทย์ (Free Market Medical) โดยเชื่อมโยงกับประเด็นความเร่งด่วนฉุกเฉินทางแพทย์ที่ต้องคำนึงถึงชีวิตมนุษย์และมนุษยธรรม ดังนั้นระบบเสรีนิยมใหม่ไม่ได้ทำให้เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับธุรกิจและการระบาดที่เพิ่มขึ้น ภายใต้เรื่องของการค้าภายใต้ทรัพย์สินทางปัญญาของวัคซีนที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายและการตายที่ไม่เท่าเทียมกันของผู้คนในภูมิภาคต่างๆของโลก
2. การมองประเด็นทางสุขภาพเชื่อมโยงกับมิติต่างๆอย่างเป็นองค์รวมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นคำถามที่ท้าทายและสำคัญคือ “ความเสี่ยงและความรุนแรงของโควิด 19 มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เพิ่มมากขึ้น” การมองประเด็นที่เฉพาะที่เชื่อมโยงกับการระบาด การเข้าถึงบริการสุขภาพ การเข้าถึงวัคซีน การจัดการการดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน กลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง ผู้สูงอายุ ผู้หญิงและเด็กและอื่นๆ รวมถึงการใช้อำนาจของผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องและนโยบายด้านสาธารณสุขที่ไม่มีประสิทธิภาพ ที่สร้างเส้นแบ่ง หรือตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรมในทางสังคมและสุขภาพ
3.ผมมองว่าในปัจจุบันความเข้าใจชีววิทยาของไวรัสมันนำไปสู่การหลอมรวมหรือการรับรู้ทางการเมืองของผู้คนเพิ่มมากขึ้น ทั้งประเด็นของความไม่เท่าเทียมกัน ความอยุติธรรม การแบ่งแยก ความขัดแย้งแตกแยก ที่สะท้อนผลกระทบชองการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ไม่ใช่ทางชีววิทยาแต่เป็นผลกระทบทางสังคมด้วย ดังนั้นความขัดแย้งทางสังคม และความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นจากสภาวะการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ทำให้เห็นสิ่งที่เรียกว่าความไม่ยุติธรรมทางสังคม ที่สร้างความสิ้นหวังให้กับผู้คนในสังคม ภายใต้กระบวนการสร้างระยะห่างทางสังคมและความเสี่ยงในพื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันเราจะเห็นด้านของความร่วมมือขององค์กรภาคเอกชน ประชาชนทั่วไปที่มีจิตอาสาในการทำงานช่วยเหลือกันในชุมชน ทั้งการแจ้งข่าว การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย การจัดหาโรงพยาบาล จัดหาเตียง การดูแลเรื่องอาหารการกินให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย เป็นต้น ในด้านหนึ่งก็สะท้อนความเข้มแข็งขององค์กรทางสังคมและความอ่อนแอของภาครัฐในปัจจุบัน
4. จากกรณีประเทศไทย เช่นเดียวกับการศึกษาวิจัยหรือตัวอย่างในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเช่น ในอเมริกาใต้ บราซิล เม็กซิโก ชี้ให้เห็นว่า ภาวะผู้นำที่ไม่ดีส่งผลในการตอบสนองต่อการระบาดขนาดใหญ่ อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพรวมทั้งความอ่อนแอในทางแศรษฐกิจ ล้วนส่งผลต่อภาวการณ์ระบาดที่รุนแรง ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวคงต้องมองสุขภาพที่ไม่ใช่เรื่องของเชื้อโรค ยา วัคซีน เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจและการเมืองด้วย ทั้งในแง่ของผู้คนที่ติดเชื้อโควิด หรือผู้คนที่ไม่ได้ติดเชื้อแต่ใช้ชีวิตในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 การแสดงความช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐไม่ใช่การผลักภาระให้ประชาชน ที่ผู้มีอำนาจจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นจาก 4 ข้อ ล้วนเชื่อมโยงกับการมองปัญหาอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดมันไม่สามารถแก้ได้เพียงมิติเดียว แต่ต้องทำความเข้าใจอย่างรอบด้าน มองปัญหาทางสุขภาพเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆการเชื่อมโยงกับมิติในทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมวัฒนธรรม ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ด้วยมุมมองว่า “โรคมันเป็นของโลก” ที่ต้องเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ โลกาภิวิวัตน์ การท่องเที่ยว การอพยพข้ามแดน รวมทั้งการให้ความสำคัญกับกลไกลสำคัญในการดูและสุขภาพที่เป็นคนหน้าด่าน แพทย์ พยาบาลและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ รพสต. เจ้าหน้าที่อสม.ในชุมชนที่รับคนกลับบ้านและต้องดูแลผู้ป่วยในชุมชน คนเหล่านี้ควรเข้าถึงวัคซีนและสร้างภูมิคุ้นกันให้ตัวเองในการดูแลคนอื่น
สิ่งหนึ่งที่ผมคิดมาตลอดก็คือ การแก้ปัญหาไวรัสโควิด 19 ที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน ต้องแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วย ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของปัญหา ประเทศจะดีและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐหรือผู้มีอำนาจ จะต้องไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้คนในสังคม รัฐต้องไม่รวบอำนาจ รัฐที่ไม่ผลักภาระให้กับประชาชน รัฐที่ไม่ทำลายความเป็นประชาธิปไตย หรือสร้างความขัดแย้งแตกแยก รัฐที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน รัฐที่มีผู้นำที่มีความสามารถและมีวิสัยทัศน์ รัฐที่เข้าใจบริบททางสังคมวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหา
***ปัญหาวิกฤตการณ์โควิด 19 คงจะแก้ไม่ได้หากทุกคนไม่ร่วมมือกันฝ่าฟัน ความรู้จากทุกศาสตร์ จะต้องถูกนำมาใช้การแก้ปัญหาสุขภาพอย่างเดียวโดยไม่แก้ไขเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรมไปพร้อมกันคงไม่ได้ ที่จะช่วยเติมเต็มและให้ภาพของการแก้ไขปัญหาที่สมบูรณ์
***โลกและสังคมไทย ยังมีความหวังและผมในฐานะนักเรียนมานุษยวิทยา นักเรียนสังคมศาสตร์สุขภาพเชื่อมั่นเสมอถึงความเท่าเทียมและความยุติธรรมทางสังคมในมิติทางสุขภาพ การให้คุณค่าคนและการมองทุกคนอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ และเชื่อว่าปัญหาทางสุขภาพตอนนี้ต้องแก้ที่การเมืองสำคัญที่สุด การให้ประชาชนก่นด่าเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาไม่ใช่ทางแก้ที่ดี แต่ต้องเกิดจากจิตสำนึกและความรับผิดชอบด้วยตัวเองของผู้มีอำนาจ..ประชาชนส่วนหนึ่งเขาดูแลตัวเองได้ ซื้อหน้ากากเอง ซื้อเจลเอง พยายามหาวัคซีนเอง ยังพอมีเงินในการดำรงชีวิต. แต่นั่นไม่ใช่ทุกคน.. ดังนั้นรัฐก็ควรสนับสนุนหรือช่วยเหลือประชาชนที่หลากหลายแตกต่างให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียม


ร.ต

มุมมองต่อเรื่องวัคซีนโควิด ในสายตานักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ว่าด้วยเรื่องวัคซีน...เราฉีดเพื่อใคร เราไม่ได้แค่พูดเรื่องความรู้แต่มันคือเรื่องของความรู้สึกด้วย..

การระบาดใหญ่ของ COVID-19 เมื่อเปรียบเทียบกับการแพร่ระบาดครั้งก่อนๆของโลก ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับความรู้สึกกลัว และวิตกกังวล (Blakey & Abramowitz 2017; Wheaton et al 2012)
Holingue et al แสดงให้เห็นในการศึกษากลุ่มประชากรของผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา พบว่าความกลัวและความวิตกกังวลในการติดเชื้อและเสียชีวิตจาก COVID-19 นั้นสัมพันธ์กับความทุกข์ทางจิตที่เพิ่มขึ้น (Holingue et al 2020) นอกจากนี้ มาตรการป้องกันสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดำเนินการเฉพาะบุคคลเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้เพิ่มความน่าจะเป็นที่จะเกิดความทุกข์ทางจิตใจ การหมกมุ่นกับการล้างมือ ฉีดเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงการจองวัคซีน(Holingue et al 2020) ในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ผู้คนใช้แหล่งข้อมูลที่หลากหลายเพื่อรับความรู้และข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรค รวมถึงโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ โซเชียลมีเดีย เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ นักวิทยาศาสตร์ รัฐบาล ฯลฯ (Ali et al 2020) เนื่องจากแหล่งข้อมูลดังกล่าวสามารถกำหนดรูปแบบการยอมรับหรือการปฏิเสธวัคซีนโควิด-19 ของประชาชนได้ จึงถือเป็นสิ่งสำคัญ
การเผยแพร่ข้อมูลที่โปร่งใสและถูกต้องเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากประชากร โดยเฉพาะผู้ที่ลังเลและสงสัย (Siegrist, & Zingg 2014) ดังนั้น การทำความเข้าใจแหล่งข้อมูลที่ผู้คนไว้วางใจมากที่สุดในการรับข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการรณรงค์ฉีดวัคซีนระดับชาติในอนาคต
ในการศึกษาเพิ่มเติม พบว่าการยอมรับวัคซีนโควิด-19 ในหมู่นักศึกษาในเซาท์แคโรไลนา อเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากแหล่งข้อมูลในเรื่องสุขภาพ นักเรียนส่วนใหญ่เชื่อถือนักวิทยาศาสตร์ (83%) ตามด้วยผู้ให้บริการด้านสุขภาพ (74%) และหน่วยงานด้านสุขภาพ (70%) (Qiao et al 2020)
การสำรวจจำนวนมาก การสนทนากลุ่ม การวิจัยถึงรากเหง้า แนวโน้ม และผลกระทบของปัญหาความเชื่อมั่นในวัคซีนในระดับชาติและระดับประเทศ เพื่อนำไปสู่นโยบายและกิจกรรมการสร้างความไว้วางใจในการจัดการวิกฤตในโครงการสร้างภูมิคุ้มกันต่างๆทั่วโลก
การศึกษาเหล่านี้ได้เน้นว่าปัจจัยหลายหลากที่ส่งผลต่อการตัดสินใจวัคซีน (SAGE 2014) ตัวขับเคลื่อนหลักของความเชื่อมั่นของสาธารณชนในเรื่องของวัคซีน ได้รับการระบุว่าเป็นความไว้วางใจในแง่ของความสำคัญ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของวัคซีน ควบคู่ไปกับความเข้ากันได้ของการฉีดวัคซีนกับความเชื่อทางศาสนา (Larson et al 2015)
ญี่ปุ่นได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเชื่อมั่นในวัคซีนต่ำที่สุดในโลก ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับความกลัวด้านความปลอดภัยของวัคซีนไวรัสที่ชื่อ human papillomavirus (HPV) ที่เริ่มต้นในปี 2013 และหลังจากการตัดสินใจของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายน 2013 เพื่อระงับคำแนะนำเชิงรุกเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน HPV (Simms et al 2020) อันเป็นผลมาจากความหวาดกลัวด้านความปลอดภัยของวัคซีนนี้
นอกจากนี้ ในประเทศอินโดนีเซียพบความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างมากในการฉีดวัคซีนระหว่างปี 2558 ถึง 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากผู้นำมุสลิมตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) และในที่สุดก็ออกฟัตวา ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยทางศาสนา โดยอ้างว่าวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีน หะรอมและส่วนผสมที่ได้จากสุกรจึงไม่เป็นที่ยอมรับของชาวมุสลิม หมอในท้องถิ่นที่ส่งเสริมทางเลือกตามธรรมชาติของวัคซีนก็มีส่วนทำให้ความเชื่อมั่นในวัคซีนลดลง (Rochmyaningsih 2018; Yufika et al 2020) นอกจากนี้ ในเกาหลีใต้และมาเลเซีย การระดมวัคซีนออนไลน์ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการฉีดวัคซีน (Wong et al 2020; Chang & Lee 2019) ในเกาหลีใต้ ชุมชนออนไลน์ชื่อ ANAKI (คำย่อภาษาเกาหลีของ 'การเลี้ยงลูกโดยไม่ใช้ยา') ได้สนับสนุนอย่างแข็งขันในการต่อต้านการสร้างภูมิคุ้มกันในวัยเด็ก (Park et al 2018) อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลหลักเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในมาเลเซีย ซึ่งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้รับการระบุว่ามีอิทธิพลต่อการไม่เต็มใจรับวัคซีนของชาวมาเลเซีย (Mohd Azizi et al 2017) ในจอร์เจีย ความกังวลด้านความปลอดภัยของวัคซีนที่ไม่มีมูลซึ่งถูกขยายความโดยสื่อสารมวลชน พบว่าส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการรณรงค์วัคซีน MMR ทั่วประเทศในปี 2551 (Khetsuriani et al 2010)
นอกจากนี้ การศึกษาอื่นๆ ในเอเชียพบว่าการรับรู้ถึงความเสี่ยงหรือการรับรู้ความอ่อนไหวต่อการติดเชื้อมีความเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการฉีดวัคซีนในเชิงบวก (Rajamoorthy et al 2019; Rajamoorthy et al 2018; Sundaram et al 2015) การศึกษาอื่นยังพบว่าการรับรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงในระดับสูงเกี่ยวข้องกับการยอมรับวัคซีน COVID-19 ในหมู่สมาชิกชุมชนทั่วไปในซาอุดิอาระเบีย (Padhi & Almohaithef 2020) และการรับรู้ความเสี่ยงต่ำอาจไม่เพียงสัมพันธ์กับการยอมรับวัคซีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและมาตรการรับมือด้านสาธารณสุขอื่นๆ ความสัมพันธ์เหล่านี้อาจซับซ้อน ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างสูงอาจรับรู้ว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่ยังต้องการรับวัคซีน ในขณะเดียวกันการยอมรับวัคซีนที่ลดลงในกลุ่มประชากรที่เกษียณอายุอาจได้รับอิทธิพลจากการรับรู้ความเสี่ยงที่ลดลง แม้ว่าผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อ COVID-19 มากกว่า แต่ประชากรที่เกษียณอายุส่วนใหญ่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความคล่องตัวต่ำและใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้นด้วยการเดินทางน้อยลง พฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้การรับรู้ความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดที่ลดลง และในที่สุดอาจนำไปสู่การยอมรับวัคซีนที่ลดลง รวมถึงความเชื่อที่ว่า อายุมากแล้ว ตายไปก็ไม่ลำบากลูกหลาน อยากให้ลูกหลานปลอดภัยมากกว่าตัวเอง
นอกจากนี้ การยอมรับอาจได้รับอิทธิพลจากความรู้เกี่ยวกับโรค ข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับโควิด-19 แพร่กระจายผ่านโซเชียลมีเดียหรือสื่อออนไลน์ ซึ่งผู้สูงอายุเข้าถึงได้ไม่บ่อยนัก ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงอาจมีโอกาสได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 น้อยลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการกำหนดกรอบการรับรู้ความเสี่ยงของตนเอง นอกจากนี้ การใช้โซเชียลมีเดียน้อยลงอาจสัมพันธ์กับความรู้ของผู้สูงอายุน้อยลง และอาจส่งผลต่อการรับรู้ความเสี่ยงและการยอมรับวัคซีน
ปัจจัยกำหนดการรับวัคซีนทั่วโลกมีความสอดคล้องกันอย่างมาก พฤติกรรมการแสวงหาข้อมูลเชิงบวกและความไว้วางใจผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลสุขภาพมากกว่าแหล่งอื่นๆ เช่น วงสังคมสำหรับคำแนะนำทางการแพทย์และสุขภาพสัมพันธ์กับโอกาสในการรับที่เพิ่มขึ้น ผลลัพธ์จากการสำรวจของเราสามารถบอกถึงความจำเป็นในการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อสำรวจว่าเหตุใดบางประเทศจึงอาจมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างกะทันหัน
จากงานวิจัยย้อนมาที่ประเทศไทย แม้ว่าวัฒนธรรมในบางภูมิภาคอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน หากแต่ทว่าความเป็น choice being ของมนุษย์กำหนดการับไม่รับวัคซีนที่แตกต่างกัน รวมถึงการรับรู้ ความรู้สึกอารมณ์ต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่เชื่อมโยงกับความต้องการวัคซีนที่มากขึ้นหรือน้อยลง (อยากฉีดใากทำทุกวิถีทาง หรือทำยังไงก็ไม่ได้ฉีดอย่างนั้นช่างหัวมัน )และระดับความเชื่อมั่นต่อวัคซีนที่แตกต่างกัน (วัคซีนตัวไหนดี ไม่ดี สร้างภูมิต่างกัน) สิ่งเหล่านี้อาจสะท้อนและทำให้เรามองเห็นถึง เรื่องของการบริหารจัดการของรัฐ ปัญหาเรื่องข้อมูลข่าวสาร ความแตกต่างทางชนชั้น การมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ต่างกัน ความสามารถเข้าถึงทางเลือกที่แตกต่างกัน แต่การรอวัคซีนอาจทำให้ความคิดต่อการรับวัคซีนได้เช่นเดียวกัน
โดยส่วนตัวของผมเองตอนแรกไม่อยากฉีดวัคซีน เพระคิดว่าดูแลตัวเองดี และไม่คิดว่าโควิดน่ากลัว และก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องฉีดทางเลือกอะไร แต่เมื่อต้องทำงานและออกภาคสนามบ่อยๆ เริ่มมีการรับรู้ถึงภาวะความเสี่ยงที่ตัวเองอาจติดและนำไปสู่ครอบครัว การตัดสินใจฉีดจึงไม่ได้คำนึงถึงข้อมูลใดๆทั้งสิ้น เป็นตัวไหนก็ได้ก่อนเพื่อความอุ่นใจ แค่มีใบรับรองยืนยันการฉีดเมื่อไปทำงาน....ได้ตัวไหนฉีดตัวนั้นก่อน ก่อนที่ปัจจุบันจะรู้สึกว่าการฉีด AZ ของตัวเอง เป็นผลดีต่อการทำงานของตัวเองมาก เพราะแค่เข็มเดียวสามารถเดินทางข้ามจังหวัดไปลงสนามได้ ในขณะที่เป็นชิโนแวคต้องฉีดครบสองเข็ม ตามประกาศที่แตกต่างกันไปตามจังหวัด บางจังหวัดต้องมีผลตรวจ. มีการกักตัวด้วย..ในขณะเดียวกันพฤติกรรมสุขอนามัย เช่นการใส่หน้ากาก การล้างมือ กดเจลแอลกอฮอล์กลายเป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตประจำวันผมโดยไม่รู้ตัว และเริ่มตระหนักถึงความปลอดภัยต่อสังคมและคนที่เราเข้าไปมีปฎิสัมพันธ์ด้วย
ในขณะที่แฟนของผมเอง ก็ไม่เคยคิดอยากจะฉีดเพราะสุขภาพของเธอไม่ดี กลัวจะเป็นเหมือนเหตุการณ์ที่สื่อประโคมข่าวรายวันถึงความน่ากลัวแม้จะมีตัวเลขแค่ส่วนน้อยเท่านั้นที่ถูกยืนยันว่ามาจากการฉีดวัคซีนของทางการ แต่ในปัจจุบันเพราะเธอเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิดที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ก็เลยตัดสินใจที่จะฉีด แต่เมื่อลงทะเบียนจองวัคซีนของทางจังหวัด ต้องรอคิวในอันดับหลักหมื่น จึงต้องยอมตัดสินใจจองวัคซีนทางเลือกที่ไม่รู้ว่าจะได้ฉีดเมื่อไหร่ หรือต้องรอป่วยที่บ้านแล้วรอความช่วยเหลือ รอเตียง รอการรักษา รอคิว รอฉีดยา...และก็รอร๊อรอรอต่อไป ..แค่ขอให้มีขีวิตรอดในสถานการณ์ แต่เธอก็พร้อมจะทำเพื่อลูกสาว
ดังนั้นตัวแปร ตัวกำหนดในพฤติกรรมการรับวัคซีน มีความซับซ้อน มีบริบทที่แตกต่างกัน มีการให้ความหมายและทะท้อนความรู้สึกต่อวัคซีนที่แตกต่างกัน บางคนกลัวอดตายมากกว่าโควิด บางคนกลัวโควิดพอๆกับอดตาย บางคนมองว่าวัคซีนเป็นความเสี่ยง รวมถึงการเดินทางไปฉีดวัคซีนด้วย บางคนคิดว่าโควิดมันมองไม่เห็นเป็นเรื่องอนาคต แต่ความหิวมันคือสิ่งที่สัมผัสรับรู้ได้ในปัจจุบัน
“ลุงอยู่ในสวนยางตลอด อายุ 70ปีแล้ว ไม่ติดอะไรหรอก ไม่ได้สุงสิงใคร ดูข่าวมันน่ากลัวคนฉีดก็ตาย บางคนจองวัคซีนแล้วยังไม่ได้ฉีดเลย ก็แล้วแต่เวรแต่กรรมแล้วกัน ตอนนี้ขอแค่ได้ทำงาน มีข้าวกินไปวันๆพอ เราเป็นคนตัวเล็ก ตีนช้างเหยียบปากนก จะไปหวังให้เขามาช่วยอะไรเราได้”
บทสนทนาระหว่างคุณลุงกับผมที่ประจวบคีรีขันธ์ มันสะท้อนหลายอย่างจริงๆในสังคมไทยเรา เราไม่ได้แค่พูดเรื่องความรู้ แต่เป็นเรื่องของความรู้สึก รวมทั้งปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองด้วยที่เป็นปัจจัยเงื่อนไขของการฉีดวัคซีน..
อ้างอิง
Blakey, S. M., & Abramowitz, J. S. (2017). Psychological Predictors of Health Anxiety in Response to the Zika Virus. J Clin Psychol Med Settings, 24 (3), 270-8
Holingue, C., Kalb, L. G., Riehm, K. E., Bennett, D., Kapteyn, A., & Veldhuis, C. B. (2020). Mental Distress in the United States at the Beginning of the COVID-19 Pandemic. Am J Public Health, 110 (11), 1628-34.
Padhi, B. K., & Almohaithef, M. A. (2020). Determinants of COVID-19 vaccine acceptance in Saudi Arabia: a web-based national survey. medRxiv (Preprint).
Rajamoorthy, Y., Radam, A., Taib, N. M., Rahim, K. A., Wagner, A. L., & Mudatsir, M. (2018). The relationship between perceptions and self-paid hepatitis B vaccination: a structural equation modeling approach. PLoS One, 13:e0208402.
Siegrist, M., & Zingg, A. (2014). The role of public trust during pandemics: Implications for crisis communication. Eur Psychol, 19 (1), 23-32.
SAGE Working Group on Vaccine Hesitancy. Report of the SAGE working group on vaccine hesitancy. Oct 1, 2014. https://www.who. int/immunization/sage/meetings/2014/october/1_Report_ WORKING_GROUP_vaccine_hesitancy_final.pdf
Wheaton, M. G., Abramowitz, J. S., Berman, N. C., Fabricant, L. E., & Olatunji, B. O. (2012). Psychological Predictors of Anxiety in Response to the H1N1 (Swine Flu)
Qiao, S., Friedman, D. B., Tam, C. C., Zeng, C., & Li, X. (2020). Vaccine acceptance among college students in South Carolina: Do information sources and trust in information make a difference? medRxiv, 12.02.20242982.
Sundaram, N., Purohit, V., Schaetti, C., Kudale, A., Joseph, S., & Weiss, M. G. (2015). Community awareness, use and preference for pandemic influenza vaccines in Pune, India. Hum Vaccin Immunother, 11, 2376–88.
Wheaton, M. G., Abramowitz, J. S., Berman, N. C., Fabricant, L. E., & Olatunji, B. O. (2012). Psychological Predictors of Anxiety in Response to the H1N1 (Swine Flu) Pandemic. Cognit Ther Res, 36 (3), 210-8.

หมอลำภายใต้วิถีใหม่: มหรสพบนพื้นที่ออนไลน์ โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 หมอลำภายใต้วิถีใหม่: มหรสพบนพื้นที่ออนไลน์***

ภายใต้สถานการณ์โควิด หลายคนเครียด หลายคนตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก แต่ในความยากลำบากนั้น ชีวิตของผู้คนก็ยังต้องดำเนินต่อไป การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในอาชีพคือสิ่งสำคัญที่สุด อย่างเช่นหมอลำ ศิลปะพื้นบ้านของภาคอีสาน ที่จัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในช่วงเทศกาลสำคัญ การม่วนหน้าฮ้าน เต้นรำ ฟ้อนรำ คงไม่สามารถทำได้ในช่วงสถานการณ์โควิด การปรับตัวจากพื้นที่ออฟไลน์ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ไปสู่พื้นที่ออนไลน์ ที่เรียกว่า “ลำเพลินออนไลน์” จึงเป็นกลยุทธ์ของการแก้ปัญหาและเอาตัวรอดที่สำคัญ ของวงสาวน้อยเพชรบ้านแพง ที่มีหนุ่มโจ ยมนิล เป็นผู้บริหารหรือหัวหน้าวง เพื่อดูแลชีวิตของสมาชิกในวงในช่วงที่ว่างงาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดมินิคอนเสิร์ต การจัดรายการแมวล่าพาเพลิน การเล่นตลก และการจัดคอนเสิร์ตเต็มวงผ่านออนไลน์ ที่มีศิลปินภาคอีสานที่มีชื่อเสียง หรือเครือข่ายหมอลำผลัเปลี่ยนกันมาให้ความบันเทิวและเสียงหัวเราะของผู้ชมในวิกฤตแบบนี้
สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งของหมอลำเพลินคณะสาวน้อยเพชรบ้านแพงคือ การรู้จักใช้โลกเขี่ยลให้เป็นประโยชน์ ด้วยการสร้างเพจ สาวน้อยเพชรบ้านแพงแฟนเพจที่มีคนติดตามเกือบ 1 ล้านคน การมีช่องยูทูปที่ชื่อว่า สาวน้อยเพชรบ้านแพง ลำเพลิน official ที่มีคนติดตามมากกว่า 1 ล้านคน การจัดการแสดงหมอลำออนไลน์ ที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “มาลัยออนไลน์” “ขายตั๋วออนไลน์” การเกิดผู้สับสนุนหรือสปอนเซอร์สนับสนุนช่วงต่างๆของรายการ ที่มีป้ายโฆษณาหรือจอทีวียักษ์บนเวทีโฆษณาสินค้าต่างๆมากมายไปพร้อมการแสดงด้วย
ในขณะเดียวกันการสร้างฐานแฟนคลับจากกลุ่มใหญ่ ของคณะหมอลำ ขยายลงไปสู่กลุ่มทีมงานรายย่อยๆ ที่สร้างฐานผู้ชมที่ชื่นชอบและสนับสนุนผลงานของทีมงานแต่ละคน เปลี่ยนแปลงจากคำว่า”มิตรหมอแคนแฟนหมอลำ” “พ่อยกแม่ยกหมอลำ” เข้ามาสู่สิ่งที่เรียกว่า “แฟนคลับ” หรือ FC ที่เชื่อมโยงกับตัวผู้แสดงและผู้ชม ที่มีปฎิสัมพันธ์กัน ที่เคลื่อนจากเวทีออฟไลน์โลดแล่นเข้าสู่โลกออนไลน์
คำว่าหมอลำยูทูบเบอร์ คือสิ่งที่พูดได้อย่างเต็มปาก การเปิดช่องยูทูปให้กับศิลปินของคณะบำเพลินสาวน้อยเพชรบ้านแพง ไม่ว่าจะเป็น คอนวอย หางเครื่อง ตลก หมอลำ ที่สร้างจำนวนยอดของการกดไลน์ กดแชร์ การมีโฆษณาเข้า ภายใต้ นามสกุลของช่อง ที่ลงท้ายว่าลำเพลิน official เช่น ยายแหลมลำเพลินออฟฟิคเชี่ยล ยายจื้นลำเพลินออฟฟิคเชี่ยล เขมกมลชัย ลำเพลินออฟฟิคเชี่ยล หรือแอนอรดีลำเพลินออหฟิคเชี่ยล เป็นต้น ที่มีการปล่อยคลิปทุกสัปดาห์ มีไลฟ์สด ถ่ายทอดหมอลำออนไลน์ มีการทำเพลง ปล่อยเพลงใหม่ ของค่ายเพลง ลำเพลินอินดี้เรดคอร์ด เป็นต้น
การปรับตัวช่วงโควิด ผ่านการใช้พื้นที่Social network
มีการถ่ายทอดความรู้สู่เครือข่ายหมอลำ ทำให้หมอลำต่างๆมีช่องของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเสียงอีสาน หมอลำนามวิหค ระเบียบวาทะศิลป์ เป็นต้น รวมทั้งการแสดงที่เปลี่ยนจากแค่เรื่องงานบุญ งานบวช งานรื่นเริงประจำปี ผ้าป่ากฐิน ไปจนถึงเปิดวิกที่ต่างจังหวัด ไปจนถึงการแสดงที่เมืองนอก ตามร้านอาหารไทยไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมัน และอื่นๆ การไปแสดงในร้าน อาหาร ในผับตอนกลางคืน แล้วแต่เจ้าภาพจะจ้าง ที่ทำให้พื้นที่ของหมอลำขยายไปสู่ชนชั้นต่างๆในสังคมมากขึ้น
หมอลำในสมัยก่อน นำเสนอผลงานผ่านกระบวนการถ่ายหน้าเวที ถ่ายบันทึกการแสดงสดลงวีดีโอซีดี แต่ไม่มีใครเห็นวิถีชีวิตเบื้องหลัง กินนอนยังไง ซ้อมยังไง นอนที่ไหน อาบน้ำเข้าห้องน้ำยังไง เดินทางยังไง ตั้งเวทียังไง เวลา ไม่ได้แสดงหมอลำไปทำมาหากินอะไร เข่น ทำบั้งไฟแข่ง หาปลา ปลูกมัน เลี้ยงวัว ขายอาหารและอื่นๆ ทำให้มี content มี story นำเสนอที่หลากหลายและต่อเนื่อง และทำให้คนรู้เรื่องราวมากขึ้น ทุกคนในวงถ่ายเอง ไลฟ์สดเอง มีแฟนคลับของตัวเองทั้งในและต่างประเทศ
รวมทั้งการแตกตัวทางธุรกิจอื่นๆที่ขยายจากการแสดงหมอลำเพลินอย่างเดียวมาสู่การขายสินค้า กาแฟสะเดิด ครีมทาหน้า แบะอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับฐานของแฟนคลับ
ปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนแปลงไปมาก สถานการณ์หรือภาวะวิกฤต อาจปิดโอกาสของใครหลายคน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจสร้างโอกาสให้กับคนอีกหลายๆคน หรือการเตอบโตของกิจกรรทางธุรกิจบันเทิงหลายอย่าง ทำให้ผมนึกถึงงานวิจัยที่ตัวเองเคยทำกับอาจารย์พัฒนา กิตติอาษา และอาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์ และทีมงานอื่นๆ ในเรื่องหมอลำซิ่ง ที่แตกต่างจากหมอลำในยุคปัจจุบัน ที่ขับเคลื่อนไปกับโลกของโซเชี่ยลมีเดีย ผู้นที่มีปฎิสัมพันธ์กับนพื้นที่ออนไลน์ ที่ไม่ใช่แค่ขอเพลง แต่นำเสนอหรือแนะนำเนื้อหา content ที่อยากให้ทำ แนะนำการแสดงบนเวที และอื่นๆ เพื่อพัฒนาและสืบสานผศิลปะพื้นบ้านรวมทั้งสร้างความสุขให้กับผู้ชมในสถานการณ์โควิด
“ข่อยติดตามเบิ่งเจ้าอยู่เด้อ พอได้หัวนำหมู่เจ้าอยู่ ช่องหมู่เจ้าให้ข่อยคลายเครียดทุกมื้อ”
จากผมเอฟซีคนหนึ่ง...




ว่าด้วยเรื่องอำนาจ โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ทำไมพวกเราต้องการอำนาจ และ..

ทำไมพวกเราจึงต้องกลัวอำนาจ

อำนาจมันเข้าไปจัดวางแนวทางในชีวิตส่วนตัวและชีวิตสาธารณะของเราอย่างไร

หนังสือเล่มนี้สำรวจธรรมเนียมปฎิบัติดั้งเดิมและสังคมร่วมสมัยเกี่ยวกับบทบาทของอำนาจในลักษณะที่เป็นการยินยอม(consenting) เช่น การตกลงปลงใจในการแต่งงาน อำนาจที่เป็นธรรมชาติ(natural)  เข่น พ่อแม่กับลูกในการอบรมเลี้ยงดู และอำนาจที่ไม่ได้ยอมรับอย่างสมัครใจ(involuntary) แต่ต้องมาสัมพันธ์กันภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง เช่น การเป็นนายจ้างลูกจ้างในระบบการจ้างงานเป็นต้น

   หนังสือเล่มนี้เปิดเผยให้เห็นอำนาจที่หลากหลาย ทั้งระบบชายเป็นใหญ่(patriarchy) และการมีอิสระหรือปกครองตัวเอง (autonomy)

Sennett Richard ได้สำรวจสายสัมพันธ์ที่ผู้คนขบถต่อผู้มีอำนาจที่กำหนดกฏเกณฑ์ต่างๆในสังคม โดยแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งต่างๆในประวัตืศาสตร์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสและความขัดแย้งที่มีการแสดงออกในสำนักงาน ในโรงงานและในรัฐบาล ตลอดจนในระดับครอบครัว ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นอย่างไร โดยใช้ตัวอย่างจากงานทางจิตวิทยา สังคมวิทยา และวรรณคดี เขาจึงคาดการณ์อย่างชัดเจนว่า พวกเราจะฟื้นฟูบทบาทของผู้มีอำนาจตามอุดมคติที่ดีและมีเหตุผลได้อย่างไร

    นอกจากนี้เขาแสดงให้เห็นว่าความต้องการอำนาจสำหรับพวกเรา มีไม่น้อยกว่าความต้องการอยากต่อต้านอำนาจ อีกทั้งอำนาจยังได้รับการหล่อหลอม ที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตลอดจนลักษณะจิตใจ นิสัยของมนุษย์

  ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ช่วยให้สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างอำนาจในลักษณะที่เป็น Authority กับ Power โดยเฉพาะอำนาจกับสิ่งที่จำเป็นต่อการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง สมมติว่าคุณได้รับอำนาจจากตำแหน่ง แต่กลับไม่ได้ถูกมองว่าเป็นผู้มีอำนาจในตำแหน่งนั้นอย่างแท้จริง (เช่น คุณไม่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยหรือคุณไม่มีประสบการณ์และความรู้ที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งนั้น) หรือในทางกลับกัน คุณอาจมีความเชี่ยวชาญและความรู้ที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งหน้าที่นั้น แต่ตำแหน่งนั้นไม่ได้สร้างให้คุณมีอำนาจที่เพียงพอหรือมีทักษะอื่นๆที่ช่วยเติมเต็มตำแหน่งหรือรับรองการใช้อำนาจในตำแหน่งนั้นได้อย่างเต็มที่ (ขาดความสามารถพิเศษ การสร้างความจูงใจหรือแรงโน้มน้าว หรือขาดทักษะในการสื่อสาร หรือ แบ่งแยกอำนาจไปยังตำแหน่งอื่น) หนังสือเล่มนี้จึงน่าสนใจมากในการมองภาวะของผู้นำในสังคมร่วมสมัย

  ขอเวลา...จิบกาแฟ อ่านหนังสือนี้อย่างละเมียดละไมในยามว่างๆ.. เสียดายอย่างเดียวที่ไม่มีสถานที่ช่วยให้การอ่านมีอรรถรสตามพวกนิยมแนวโรแมนติก และลัทธิสายลมแสงแดดอย่างผม..น้ำตก ทะเล ภูเขา ป่าไม้..ผมเป็นแค่คนคนหนึ่งที่มีความสุขกับการจับหินก้อนเล็กไม่ได้อยากยกภูเขาทั้งลูก..



ว่าด้วยขน ผม และเพศ : สิทธิในเนื้อตัวร่างกายกับเรื่องธรรมดาในชีวิต โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ***ว่าด้วยขน ผม และเพศ : สิทธิในเนื้อตัวร่างกายกับเรื่องธรรมดาในชีวิต

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ขนตามร่างกายได้กลายเป็นข้อห้ามสำหรับผู้หญิงอย่างรวดเร็ว ข้อมูลเชิงประจักษ์ของการวิจัยทางสังคมวิทยาและการแพทย์เปิดเผยว่าผู้หญิงส่วนใหญ่กำจัดขนตามร่างกายส่วนใหญ่ตั้งแต่ต้นศตวรรษนี้
โดยทั่วไปแล้วขนตามร่างกายจะเป็นเครื่องหมายที่กำหนดขอบเขตที่สำคัญระหว่างคนกับสัตว์ ชาย-หญิง และผู้ใหญ่-เด็ก การกำจัดหรือการปฏิเสธที่จะเอาขนตามร่างกายจะทำให้ร่างกายของผู้หญิงอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของขอบเขตดังกล่าว ซึ่งก็คือด้านมนุษย์และด้านผู้หญิงที่เชื่อมโยงกับวาทกรรมความงามในอุดมคติแบบใหม่ ที่จะต้องใช้เทคนิคในการควบคุม การยักย้ายถ่ายเท และปรับปรุงตนเอง
ในขั้นแรกเราอาจจะตั้งคำถาม 1.เกี่ยวกับการมีอยู่และรูปแบบของการกำจัดขนตามร่างกายเป็นอย่างไร 2. เหตุผลทางวัฒนธรรมสำหรับการพัฒนาอุดมคติเชิงบรรทัดฐานของร่างกายผู้หญิงที่ทำไมต้องไม่มีขน เพราะการมีขนหรือไม่มีขนตามร่างกายทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นข้อห้ามในสังคม ร่างกายที่ไม่มีขนจะสื่อถึงความเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบ ทว่าร่างกายที่ไม่มีขนอาจดูสมบูรณ์แบบ และสะท้อนความงามทางสายตา ที่อยู่ภายใต้อุดมคติด้านความงามแบบไร้ขนในปัจจุบัน
นักมานุษยวิทยา ส่วนหนึ่งศึกษาสัญลักษณ์ทรงผมในซามัวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ทางเพศ ที่อาจเรียกว่า "การโต้เถียงเรื่องเส้นผมในมานุษยวิทยา" ตัวอย่างเช่น Leach's (1958) เขียน Magical Hair ซึ่งคำว่า หัวหมายถึงองคชาต และผมหรือศีรษะ เปรียบเทียบกับน้ำอสุจิ. การไว้ผมยาวแสดงถึงเพศที่ไม่ถูกจำกัด และการกำจัดขนแสดงถึงความยับยั้งชั่งใจทางเพศ” (Mageo 1994: 409)
Obeyeskere (1981) สอดคล้องกับ Leach ที่มองเรื่องของผมเกี่ยวกับลักษณะการสื่อสารเบื้องต้นของสัญลักษณ์สาธารณะ เช่น ผม อาจทำหน้าที่เป็นทั้งสัญลักษณ์สาธารณะและสัญลักษณ์ส่วนบุคคล การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเส้นผมในฐานะสัญลักษณ์ของทั้งเรื่องของบุคคลและสาธารณะทำให้เกิดความลื่นไหลในความหมายทางวัฒนธรรม การสื่อความหมายของเส้นผมที่ถูกตีความซ้ำไปซ้ำมาอย่างต่อเนื่องในสังคม
ในแง่นี้ Leach (1958), Hallpike (1969), Hershmann (1974), Obeyeskere (1981) และ Mageo (1994) ทุกคนถือว่าผมที่มีรูปทรงเฉพาะเป็นหน้าที่ในการสื่อสาร โดยพิจารณาจากความยาวของผม ลักษณะของผมถูกมัดหรือไม่มัดอย่างไร ผมเป็นลอนหรือรุงรัง การดูแลหรือปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติ ถ้าผมขาด ขาดโดยใคร ลักษณะเฉพาะของเส้นผมเป็นที่เข้าใจกันในมานุษยวิทยาว่าเป็นวัสดุและสื่อถึงหน้าที่ของสังคมที่อยู่เบื้องงหลัง ซึ่งมักจะเป็นความหมายทางเพศ
เช่นเดียวกับผลงานของแมรี่ ดักลาส (Douglas, 2004) ที่ขยายการอธิบายเกี่ยวกับร่างกายว่าเป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ เทอเรนซ์ เทิร์นเนอร์ ใช้คำว่า"ผิวทางสังคม" (social skin) ซึ่งบ่งชี้ว่าร่างกายถูกใช้เป็นพรมแดนระหว่างบุคคลและอีกด้านหนึ่งคือความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางจิตและทางสรีรวิทยากับลักษณะทางกายภาพและทางสังคม (Turner, 2012) ตามคำกล่าวของ Turner ร่างกายจะกลายเป็นเวทีที่นำเสนอให้เห็นการขัดเกลาทางสังคมผ่านภาษาของการแต่งกายและการตกแต่ง เส้นผมก็เหมือนผิวหนังเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย แต่ไม่เหมือนกับผิวหนัง ตรงที่เส้นผมงอกออกมาจากร่างกายภายในออกสู่ร่างกายภายนอก เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงพื้นที่ทางสรีรวิทยาส่วนบุคคลไปสู่โลกสังคมภายนอก (Turner, 2012).
ขนมีลักษณะทางสรีรวิทยาที่สำคัญหลายประการซึ่งรวมถึงความหมายเชิงสัญลักษณ์ทางสังคมทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่ความสำคัญทางสังคมของเส้นผมนั้นเป็นส่วนสำคัญในสังคมหนึ่งๆ ที่เชื่อมโยงกับมิติเชิงสถานที่และเวลา(Bartlett, 1990; Hallpike, 1987) เพื่อที่จะตีความความหมายอย่างถูกต้องในบริบทของเวลาและ การให้ความหมายของเส้นผมเป็นสัญลักษณ์เเพราะถูกกำหนดโดยสังคมและนำไปสู่การกำหนดพฤติกรรมเฉพาะ เช่นขนที่ศีรษะและลำตัวแตกต่างกันทั้งทางร่างกายและทางสัญลักษณ์ การปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเส้นผมนั้นถูกเข้ารหัสในวัฒนธรรมส่วนใหญ่ในความแตกต่างระหว่างเพศแบบคู่ตรงกันข้าม (Baker, 2007) ในสังคมปิตาธิปไตยหลายแห่ง ทัศนคติต่อขนที่ศีรษะและขนตามร่างกายกลายเป็นเรื่องของเพศ เนื่องจากผู้หญิงถูกระบุอย่างเข้มข้นด้วยเส้นผมที่ศีรษะและผู้ชายที่มีขนตามใบหน้าและตามร่างกาย (Synnot, 1987)
แนวคิดทางมานุษยวิทยาในยุคคลาสสิค ใช้ในการศึกษาผ่านแนวคิดของ "พิธี หรือพิธีกรรม" ที่เชื่อมโยงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับรูปลักษณ์ส่วนบุคคล ที่ปรากฎผ่าน กิจวัตรประจำวันและช่วงเวลาพิเศษ
พิธีกรรมทางผ่านเป็นพิธีพิเศษ ที่ซึ่งอัตลักษณ์ สถานการณ์ หรือสถานะจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่ เวลา และอายุ พิธีทางเข้าสู่บุคคลตลอดวงจรชีวิตในทุกแง่มุมของ ธรรมชาติ สังคมและวัฒนธรรม (Van Gennep, 1960) พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านแสดงระเบียบทั่วไป ในขั้นแรกคือ ระยะของการปลดและแยกตัวออกจากสถานการณ์ เงื่อนไข หรือสถานะเดิมผ่านวิธีการทางกายภาพและเชิงสัญลักษณ์ ตามด้วยระยะ liminal ซึ่งจะอยู่ระหว่างสองช่วงคือ ระหว่างขั้นตอน และการบรรจบกันในที่สุดในช่วงสุดท้าย ที่นำไปสู่การเชื่อมโยงกับสถานการณ์ใหม่ เงื่อนไขและสถานะใหม่ที่ตามมา (Rubin, 1997)
ในระยะที่สองและน่าสนใจที่สุด ระยะจำกัด ทั้งหมดเท่าเทียมกัน ถูกตัดขาดจากสังคมชั่วคราว จึงเป็นการยกเลิกหมวดหมู่ทางสังคมและวัฒนธรรม สิ่งนี้แสดงออกโดยความสม่ำเสมอของรูปลักษณ์ส่วนบุคคลที่ปรากฏ ผ่านการดูแลจัดการเส้นผมหรือสุขอนามัยแห่งเส้นผม
ในความเข้าใจทางจิตวิทยา (Freudian) เกี่ยวกับการก่อตัวของร่างกายตามพัฒนาการบางอย่าง ระยะที่เพศถูกกดขี่และพูดชัดแจ้งในระดับสัญลักษณ์: “การจัดการผมเป็นสัญลักษณ์ของการควบคุมเรื่องเพศและการควบคุมเรื่องเพศเป็นสัญลักษณ์ของการควบคุมทางสังคมในรูปแบบอื่น” (Mageo 1994: 423)
Rose Weitz กล่าวไว้ เช่นเดียวกับ Foucault และ Butler ว่า "เราไม่สามารถเข้าใจธรรมชาติของอำนาจ ที่พัก และการต่อต้านในชีวิตของผู้หญิงโดยไม่ได้ดูระเบียบวินัยทางร่างกายในแต่ละวันของผู้หญิงในเรื่องความเป็นผู้หญิง" (2001: 668)
งานจำนวนมหาศาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรีนิยมซึ่งได้เข้าสู่การสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับร่างกายในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา (ดูตัวอย่างเช่นงานของ: Moore 1994, Schephher-Hughes และ Lock 1987) จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องเส้นผมใหม่เกี่ยวกับสังคมและตัวตนที่ ไม่ได้ถือว่าร่างกายเป็นเพียงขอบเขตทางชีววิทยาที่เข้าใจได้เท่านั้น แต่ถือว่าร่างกายตั้งอยู่ภายในกระบวนการทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์
อ้างอิง
Baker, Cynthia M. 2007. Hair. Encyclopedia of sex and gender, vol. 2: 667–668.
Bartlett, Robert. 1990. Symbolic Meanings of Hair in the Middle Ages. Transactions of
the Royal Historical Society, 4: 43–60.
Turner, Terence. 2012. The Social Skin. hau: Journal of Ethnographic Theory, 2: 486–504. Turner, Victor. 1969. The Ritual Process. London : Routledge & Kegan Paul.



ประชาชนธรรมดา : ความไร้อำนาจที่มีอำนาจในการจัดการกับปัญหาโควิด โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 *ประชาชนธรรมดา : ความไร้อำนาจที่มีอำนาจในการจัดการกับปัญหาโควิด***

คำถามสำคัญคือ สถานการณ์โควิดสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมือง(Geopolitics) ของอำนาจและความรู้เกี่ยวข้องกับโรค coronavirus 2019 (COVID-19) อย่างไร การถือกำเนิดของโควิด-19 ได้ยกระดับของการแข่งขันด้านอำนาจและความรู้ทั่วทุกพื้นที่ของโลกจากโลกทางเหนือสู่โลกทางใต้อย่างไร...
ภายในเวลาไม่กี่ปี ประเด็น ของCOVID-19 ได้กลายเป็นหัวข้อที่มีการเขียนถึงมากที่สุดทั่วโลก ทั้งประเด็นเฉพาะโควิด-19 การถือกำเนิดของ COVID-19 ประสบการณ์ส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และผู้ไม่ป่วยที่ใช้ชีวิตในสถานการณ์โควิด อีกทั้งยังได้แนะนำเกี่ยวกับคำศัพท์ใหม่เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆที่เกิดขึ้นในวิกฤตการณ์ดังกล่าว เช่น "การล็อกดาวน์ระดับชาติ" และ "การเว้นระยะห่างทางสังคม" อาจกล่าวได้ว่าโควิด-19 ได้เข้าโจมตีจุดศูนย์กลางของการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่พัวพันกับสถานการณ์ที่เลวร้าย อันส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตส่วนตัวและในที่สาธารณะ
โลกสมัยใหม่ที่เรารู้จักกลับหัวกลับหางจากเมื่อก่อนที่เราพูดถึงโลกาภิวัตน์หรือการข้ามพรมแดน แต่ภาวะวิกฤตในปัจจุบัน กลับทำให้ต้องมีการปิดพรมแดนและการล็อกดาวน์พื้นที่ในระดับท้องถิ่นและประเทศ ที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองระดับโลกที่เร่งด่วนที่สุดในการควบคุมการแพร่กระจายของการติดเชื้อไวรัสในมนุษย์ และภายในไม่กี่ปีโควิด-19 ได้เดินทางไปตามเส้นทางทางอากาศและทางทะเลทั่วโลกระหว่างจีน สู่ยุโรปและเข้าสู่สหรัฐอเมริกาและกระจายไปยังส่วนที่เหลือของโลกในเอเชีย แอฟริกา มากกว่าเหตุการณ์การระบาดครั้งใดในโลกที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้า
การระบาดของโควิด-19 ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงขอบเขตของความสัมพันธ์ของมนุษย์ทั่วโลก และผลักดันให้เห็นถึงความจำเป็นในการค้นหาวิธีการอยู่ร่วมกันอย่างมีมนุษยธรรมและแบ่งปันกันในพื้นที่บนโลกนี้ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ในขณะเดียวกัน เราก็จะเห็นอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤตนี้ ตัวอย่างเช่น ผู้นำอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองเกี่ยวกับไวรัส ซึ่งโจมตีเมืองอู่ฮั่นของจีนเป็นอันดับแรก ที่ถูกเรียกว่า "ไวรัสจีน" ที่ได้เข้าไปทำลายล้างชีวิตของผู้คนในสหรัฐอเมริกามากกว่าในจีน คำพูดดังกล่าวสะท้อนถึงการไม่เคารพต่อพรมแดนและอัตลักษณ์ของชาติที่ไม่ใช่ตะวันตก
อีกทั้ง การตัดสินใจของทรัมป์ในการตัดเงินทุนของสหรัฐสำหรับองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยให้เห็นถึงการเข้ามาใช้ระบบเศรษฐกิจการเมืองอยู่เหนือสถาบันพหุภาคี คำถามที่สำคัญคือ WHO สามารถต่อต้านต่อรองกับแนวปฏิบัติทางการเมืองแบบจักรวรรดินิยมและทุนนิยมแบบนี้ได้หรือไม่ และการเมืองที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจของสุขภาพ การดูแลสุขภาพทั่วโลกสามารถแยกตัวเองออกจากการเมืองแบบทุนนิยมหรือเสรีนิยมใหม่ที่สร้างกำไรจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้หรือไม่
วิกฤตการณ์ครั้งนี้อยู่นอกเหนือการแพร่ระบาดของโรค กล่าวคือ โรคระบาดที่กลืนกินไปทั่วโลก ได้ถูกบ่มเพาะและพัฒนาเติบโตขึ้นจนกลายเป็นประเด็นวิกฤตทางอารยธรรมของโลกด้วย... นอกจากนี้ยังเป็นวิกฤตของความทันสมัย ซึ่งแท้จริงแล้ว มันได้เปิดเผยให้เห็นข้อจำกัดของสิ่งที่เรียกว่าความทันสมัย ​​ซึ่งสร้างปัญหาสมัยใหม่ให้เกิดขึ้นมากมาย เช่นความขัดแย้งใหม่ สงครามใหม่ โรคระบาดใหม่และอื่นๆ ที่ไม่สามารถสร้างวิธีแก้ปัญหาที่ทันสมัยได้เลย ​​(ดูได้จากงานของ Escobar, 2004)
การตั้งชื่อวิกฤตในปัจจุบันว่าเป็นวิกฤตของทุนนิยมคือการลดทอนให้เหลือแง่มุมหนึ่งของอารยธรรมสมัยใหม่ และส่งผลให้เกิดแนวคิดของความเสี่ยงที่นำไปสู่การต้องชั่งน้ำหนักระหว่างโอกาสของชีวิตมนุษย์กับโอกาสในทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่ ทำให้วิกฤตการณ์นี้มีหลายแง่มุม ทั้งมิติทางนิเวศวิทยา มิติของการดำรงอยู่ของวิธีคิดแบบอาณานิคม (colonialism) ที่สามารถนำมาใช้ในการตีความของการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19
การวิพากษ์วิจารณ์แนวความคิดที่ว่ามีระบบความรู้สมัยใหม่ที่เป็นหนึ่งเดียวซึ่งแผ่ซ่านไปทั่วจักรวาลทางความคิดและความคาดหวังว่าจะให้คำตอบสำหรับปัญหาของมนุษย์ทุกคนทั่วโลก รวมถึงแนวความคิดเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่เป็นศูนย์กลางของความเป็นมนุษย์นั้นได้รับการระบุในการแบ่งประเภททางสังคมที่แบ่งแยกเชื้อชาติและแบ่งแยกเพศ ลำดับชั้นทางเชื้อชาติ และแนวทางทุนนิยมต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ก่อให้เกิดปัญหาทางนิเวศวิทยาทั่วโลก รวมทั้งการสร้างอำนาจภายใต้ประเด็นความหลากหลายทางเพศในสังคมสมัยใหม่ โดยที่เพศถูกนำไปใช้เพื่อทำให้คนบางคนด้อยกว่าและเหนือกว่าเพื่อจุดประสงค์ในการปกครองและการแสวงประโยชน์ของตัวเอง ทำให้เห็นว่าเรื่องชีวิต ความเป็นความตายของผู้คน ไม่อาจหลุดจากเครือข่ายของความรู้และอำนาจภายใต้ระบบทุนนิยม
ในขณะเดียวกันสภาวะเลวร้ายของวิกฤตโคโรนาเผยให้เห็นความดี ความเลว สิ่งที่น่ายกย่องและสิ่งที่น่าเกลียดที่เกิดขึ้นในทุกมุมโลก ที่มีความน่าสนใจพอๆ กับการสังเกตว่าประเทศต่างๆ มีความสามารถต่อสู้กับไวรัสชนิดเดียวกันด้วยวิธีต่างๆ กันได้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน...
ดังที่เราได้เห็นการเคลื่อนที่ของกลุ่มคนจากภายในพื้นที่เฉพาะเข้าสู่พื้นที่สาธารณะในการร่วมมือแก้ไขปัญหา พร้อมกับการตั้งข้อสงสัยในเรื่องศักยภาพและความสามารถของผู้นำทางการเมืองที่มีอำนาจในการจัดการต่อปัญหาดังกล่าว ในขณะเดียวกันเราจะเห็นการรวมกันของกลุ่มคนที่ถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ความรู้สึกร่วมบางอย่างร่วมกัน ที่สะท้อนภาพการตอบสนองของสาธารณชนต่อวิกฤตครั้งนี้ ภายใต้วิธีการที่มีความหลากหลาย ในการรับมือกับความท้าทายต่อปัญหาต่าง ๆ รวมถึงความทุกข์ยากส่วนบุคคล การเข้าถึงบริการสุขภาพ ภาวะของยาและเวชภัณฑ์ไม่เพียงพอในโรงพยาบาล และการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ล่าช้าต่อการตอบสนองปัญหา
ชุมชนต่างๆในทุกมุมโลก ได้จัดตั้งกลุ่ม เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของชำ การจัดหายา ชุดแผ่นตรวจ การทำอาหาร หรือการจัดหาสุนัขเดินสำหรับผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ดังเช่นในต่างประเทศ แคมเปญ “Adopt a Health Worker” กำลังสร้างกระแสในออสเตรเลียด้วยการดึงดูดอาสาสมัครหลายพันคนเพื่อช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ความตึงเครียด ผู้คนเสนอให้พี่เลี้ยงเด็กหรือผู้ทำความสะอาดบ้าน เข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ทำงานอยู่ใน "แนวหน้า" เป็นต้น
ในขณะที่ในประเทศไทยในช่วงเริ่มต้น คนกลุ่มต่างๆ เช่นพระในวัด สาวโรงงานเริ่มเย็บหน้ากากป้องกันและจ่ายแจกหน้ากากให้กับคนอื่น ในขณะที่รัฐบาลในระยะเริ่มแรกก็เข้มงวดในการควบคุม การจัดหาหรือสนับสนุนการผลิตขนาดใหญ่เพื่อให้คนเข้าถึงหน้ากากอนามัย พร้อมไปกับการเติบโตของการค้าออนไลน์ ที่ทำให้หน้ากาก เจล แอกอฮอล์สามารถหาซื้อได้ในอินเตอร์เน็ต รวมถึงการหาช่องทางช่วยเหลือผู้ป่วยในการโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม การบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้คนในแคมป์คนงาน ในชุมชนแออัด เป็นต้น
หรือ โครงการในอังกฤษชื่อ “The Warriors Project” ที่เกิดขึ้นบน Facebook เป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มที่รวบรวมผู้คนจำนวนมากมาทำมาสก์หน้านอกอุตสาหกรรมปกติ รวมทั้งกลุ่มแพทย์ในสหราชอาณาจักรเริ่มโครงการระดมทุน "Masks for NHS Heroes" เมื่อถึงเวลาเขียน พวกเขาระดมทุนได้เกือบ 1.9 ล้านปอนด์สำหรับอุปกรณ์ป้องกัน (PPE) สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยโคโรนา ภายใต้ความคิดที่ว่า “บุคลากรทางการแพทย์ในแนวหน้าที่ไม่มี PPE นั้นเทียบเท่ากับการทำสงครามโดยไม่มีเกราะและการป้องกัน”
กลุ่ม “Open Source COVID19 Medical Supplies” ให้คำแนะนำสำหรับทุกคนในการออกแบบเครื่องมือแพทย์จากวัสดุที่หาได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง PPE พื้นฐานที่รัฐบาลหลายแห่งไม่สามารถจัดหาในปริมาณที่ต้องการหรือส่งไปยังจุดหมายปลายทางได้ทันท่วงที
ความรุนแรงของวิกฤตนี้ดูเหมือนว่าในอีกด้านหนึ่งจะนำคุณงามความดีเข้ามาสู่ผู้คนธรรมดาในสังคม ความคิดริเริ่มที่ยอดเยี่ยมจากภายในชุมชนที่ให้คุณค่าต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์และการให้ช่วยเหลือผู้คนจำนวนมหาศาลที่ต้องการความช่วยเหลือ แสดงให้เห็นถึงพลังของคนไร้อำนาจ แต่มีพลังอำนาจที่ทำงานร่วมกัน ภายใต้ความต้องการขจัดภัยคุกคามจากโควิด-19 ที่สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่ผู้คนจากหลากหลายชีวิต ที่ไม่เคยสัมพันธ์กัน อาจเคยเป็นศัตรูกันแต่จับมือกันเพื่อต่อสู้ร่วมกับกสรระบาดครั้งนี้
ในที่ต่างๆของโลกพลังของชุมชนที่เข้มแข็ง ยังแสดงออกผ่านการสรรเสริญบุคลากรทางการแพทย์และวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แม้ประชาชนในพื้นที่นั้นจะถูกกักบริเวณ ผู้คนก็ยังส่งเสียงดังได้อย่างมีพลัง จากระเบียงหรือหน้าต่างของบ้านที่เปิดอยู่ เสียงปรบมือเพื่อเป็นเกียรติแก่บุคลากรทางการแพทย์ดังไปทั่วโลก ในขณะที่ชาวบราซิลส่วนหนึ่งก็กำลังทุบหม้อและกระทะเพื่อประท้วงการที่ประธานาธิบดีของพวกเขาที่ปฏิเสธถึงอันตรายของไวรัสและการขาดนโยบายระดับชาติที่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ปัญหาของความเจ็บป่วยและการระบาดของโควิดที่ไม่ลดลง ส่วนหนึ่งคงปฎิเสธเกี่ยวกับความเข้มแข็งและความเป็นประชาธิปไตยทางการเมือง รวมถึงจุดอ่อนของผู้นำไม่ได้ ธรรมชาติของผู้นำทางการเมืองในที่ต่างๆล้วนแก่งแย่งชิงชัยเพื่อชิงตำแหน่งของตัวเอง และมักจะวิตกกังวลเกี่ยวกับตำแหน่งของตนมากกว่าจะคำนึงถึงสุขภาพของสมาชิกของสังคม และบุคลิกภาพมักมีแนวโน้มของการยกย่องตนเอง และมักปฎิเสธที่จะรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตัวเอง และนิยมการตำหนิผู้อื่น พร้อมสร้างความฝันลวงที่เป็นไปไม่ได้ว่า “เราต้องชนะ”. ..
ดังนั้นวิธีการจัดการปัญหาของผู้คนในแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน เราจะเห็นอิทธิพลของโลกออนไลน์มากขึ้น ในการสื่อสารข้อมูล ความรู้ต่างๆในการดูแลตัวเอง พื้นที่เสี่ยง เบอร์ติดต่อเจ้าหน้าที่ สถานที่ตรวจโควิดหรือจองวัคซีน เกิดพื้นที่ของการช่วยเหลือกัน การระดมอาสาสมัครหรือจิตอาสา การประสานติดต่อสถานบริการสุขภาพ พร้อมๆไปกับการเคลื่อนไหวผ่านการถกเถียง บ่น ก่นด่า แนะนำ การพูดคุยของภาคประชาสังคมเพื่อแสวงหาทางออก และนำเสนอข้อเสนอแนะแนวทางต่อผู้เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในการแก้ปัญหา ทั้งการจัดการวัคซีน การจัดการปัญหาที่เป็นระบบมากขึ้น.. ณ จุดนี้
“อำนาจของผู้ที่ไม่มีอำนาจ มีความสำคัญและแก้ไขวิกฤตของปัญหามากกว่าผู้มีอำนาจซึ่งไร้อำนาจ”
อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...