วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

เริ่มจากห้องแถว(6)


ทีวีสาธารณะ ทีวีที่หาดูได้ยาก ต้องดูกันทุกคน
บ้านหลังใหญ่ของหมู่บ้าน เป็นโรงสี โรงเลี้ยงหมู และทำกิจการรถสองแถวรับจ้างเข้าออกในหมู่บ้านหนองมะเกลือเป็นบ้านหลังแรกที่มีทีวีในหมู่บ้าน เพราะมีเครื่องปั่นไฟสำหรับโรงสี ผม น้องชายและพ่อแม่ พร้อมกับชาวบ้านหลายคน เข้ามานั่งดูหนังดูละครที่บ้านหลังนี้ เพราะอยู่ที่บ้านผมและครอบครัวจะมีทีวีขาวดำเครื่องเล็กๆยี่ห้อธานินท์ ที่ใช้คงทนมากตั้งแต่ผมเด็กจนถึงประมาณป.5-6 ผมจึงมีทีวีสี ทีวีขาวดำเครื่องแรก เป็นทีวีที่ทำจากไม้สักอย่างดี และบริเวณตัวเครื่องจะมีฉากไม้สามารถเปิดปิดได้เลื่อนเข้าออกได้ และมีปุ่มปรับจูนช่องเป็นวงกลมที่สามารถหมุนเพื่อปรับหาช่องได้ จนกระทั่งมีทีวีสียี่ห้อวีสตาร์
ผมจำได้ว่าตอนเป็นเด็กผมไม่มีทีวีสี บางครั้งอยากดูโทรทัศน์สามมิติที่จะดูพร้อมแว่นตาทำจากฟิล์มสีแดงสีน้ำเงินก็ต้องอาศัยบ้านของจ่าทหารที่ค่อนข้างมีฐานะที่มีห้องแถวอยู่ไม่ไกลกันกับของผมเท่าไหร่นัก จำได้ว่ามีลุงมีชัย ป้าปี พ่อแม่ของปุ้ยและโอปอ เป็นคนแรกๆที่ขายของในค่ายเป็นคนแรกที่มีทีวีสี ผมและน้องแวะเวียนไปเล่นที่นั่นเป็นประจำจนครอบครัวพวกเราสนิทสนมกันมาจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งลุงมีชัยป้าปี ย้ายไปสร้างบ้านอยู่ที่บ้านโนนสูงน้ำคำและไม่ได้อยู่ที่ค่ายทหาร ทำให้ผมและน้องไปสนิทกับครอบครัวของลุงม้วนและป้านาง พ่อแม่ของพี่ปู พี่กุ้ง พี่กบซึ่งเป็นลูกสาวล้วนของแก  ลุงม้วนเป็นทหารเสนารักษ์เด็กทุกคนในค่ายจะรู้จักดี เพราะแกจะเป็นคนฉีดยาให้เด็กทุกคน บ้านของแกจะขายของ และมีบ่อน้ำขนาดใหญ่เลี้ยงปลานิลและปลาประเภทต่างๆ มีต้นงิ้วใหญ่ที่แปลูกไว้เอานุ่น ผมและน้องเคยไปช่วยแกแกะนุ่น เลือกเมล็ดออกจากนุ่นเสมอ  และชอบมานั่งดูทีวี ที่พี่กุ้งพี่กบ มักจะเปิดรายการทีวีเพลงของแจ้ ฟรุ๊ตตี้ กุ้งตวงสิทธิ์ และศิลปินค่ายนิธิทัศน์อื่นๆที่ดังในยุคนั้น ทำให้ผมเป็นคนชอบร้องเพลง ซึ่งข้าพเจ้าและน้องกลับชอบทีวีสีและมาดูที่บ้านของแกมากกว่าทีวีขาวดำที่บ้านตัวเอง
ร้านค้าของป้านางและลุงม้วน มักจะมีขนมใหม่ๆมาเสนอ ขนมในยุคนั้นเป็นขนมจำพวกขนมโก๋ ขนมแป้ง ขนมผิงรูปปลา ไก่หยอง หมูหยอง รวมถึงขนมที่ซื้อแล้วมีการจับสลาก ได้การ์ตูน สมุด ดินสอ ยางลบ หรือปากกา นั่นคือขนมสมัยนั้น สมัยนั้นผมเยซื้อไก่หยองถุงละบาทมาคลุกเคล้ากับข้าวร้อนๆเหยาะซอสปรุงรสก็สามารถอิ่มได้หนึ่งมื้อ นี่คือชีวิตในค่ายทหาร
แต่เมื่อมาอยู่ที่บ้านหนองมะเกลือ ผมกับพบว่า ทีวีแม้มีเพียงเครื่องเดียวและก็ไม่ใช่ทีวีสี แต่เป็นทีวีขาวดำ แต่ทว่าก็มีความสำคัญกับคนในหมู่บ้านในการเป็นสื่อต่อเติมความสุข แม้แต่ตัวผมเองที่อยากดูรายการทีวี ละครทีวี โทรทัศน์เครื่องนี้ก็เติมเต็มได้สมบูรณ์ แม้ว่าจะต้องเสียเงินคนละหนึ่งบาทเป็นการช่วยค่าไฟเจ้าของบ้าน รวมทั้งไม่สามารถจะเปลี่ยนช่องไปไหนได้ ต้องตามใจเจ้าของบ้านและนั่งดูร่วมกันแต่ต้นจนจบ บางครั้งจะมีการเช่าหนังหรือวีดีโอมาขายเพื่อเก็บเงินกับเด็กในหมูบ้านและชาวบ้าน จึงไม่น่าแปลกว่าวัฒนธรรมหนังกลางแปลงสะท้อนพื้นที่ชุมชนได้ดีเช่นเดียวกัน เมื่อเวลามีงานสำคัญของชุมชน เช่นงานวัด งานบุญแจกข้าว  กฐิน ผ้าป่า ความคาดหวังของเด็กๆและผมกับน้องก็คือ การได้ดูหนังกลางแปลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...