วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติหนองหานกุมภวาปี


แผนทีหนองหานกุมภวาปี
หนองหานกุมภวาปี (ดูแผนที่ที่1.1) เป็นหนองน้ำจืดขนาดใหญ่มีพื้นที่ประมาณ 22,500 ไร่ (ในหนังสือสำคัญสำหรับที่ทางหลวงสาธารณประโยชน์ระบุว่ามีเนื้อที่ 18,025 ไร่ 3 งาน 18 3/10 ตารางวา) ครอบคลุมพื้นที่ ใน3 อำเภอ คือ  อำเภอกุมภวาปี กิ่งอำเภอกู่แก้ว และกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ไหลผ่านพื้นที่  97 หมู่บ้าน 8 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลอุ่มจาน ตำบลนาม่วง กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม  ตำบลคอนสาย ตำบลแชแล กิ่งอำเภอกู่แก้ว   ตำบลเวียงคำ ตำบลตูมใต้ และตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปี หนองหานกุมภวาปีถือว่า เป็นหนองน้ำที่มีความสำคัญเพราะเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำปาว หนึ่งในลำน้ำสาขาสำคัญของลำน้ำชี และหนองหานมีลำห้วยสาขาหลายสายที่ไหลมาบรรจบกัน เช่น ห้วยสามพาด ห้วยลักนาง ห้วยหัวเลิง ห้วยไพจาน  ห้วยกองสี ห้วยหิน ห้วยวังแสง ห้วยโพนไฟ ห้วยบ้านแจ้งและห้วยน้ำฆ้อง ที่หล่อเลี้ยงผู้คนที่อาศัยอยู่รอบหนองหาน ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์ปลา และน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เพื่อการเกษตร มาตั้งแต่อดีตและมีความสัมพันธ์กับมิติทางประวัติศาสตร์ชุมชน สังคมวัฒนธรรม ความเชื่อของคนลุ่มน้ำหนองหานที่เล่าผ่านนิยายปรัมปราพื้นบ้าน คือ ตำนานผาแดง นางไอ่ ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือหลักฐานทางโบราณคดี ระบุว่า บริเวณหนองหานเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าว และเป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนหนาแน่นมาตั้งแต่โบราณ และเป็นแหล่งที่ตั้งของเมืองโบราณ ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน บริเวณดอนแก้ว ตำบลตูมใต้ ซึ่งเป็นเกาะกลางหนองหาน (ศรีศักร วัลลิโภดม2519:29-30) เนื่องจากมีร่องรอยของใบเสมาหินศิลปะสมัยลพบุรี ปรากฏอยู่ที่บ้านดอนแก้ว ที่ชาวบ้านบริเวณนั้นเรียกว่า ดอนหลวง หรืออาจจะเป็นเมืองขอมตามตำนานผาแดงนางไอ่ที่ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมา  แต่จากข้อสันนิษฐานทางโบราณคดี ก็อาจกล่าวได้ว่า บริเวณเขตหนองหานกุมภวาปี เป็นพื้นที่ที่มีการรับเอาวัฒนธรรมและการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากต่างถิ่นเข้ามาผสมผสานเป็นของตนเอง  รวมทั้งจากหลักฐานนิยายปรัมปรา และตำนานอุรังคธาตุ ได้แสดงให้เห็นว่า ประชาชนในบริเวณนี้มีพวกที่อพยพมาจากที่อื่นๆ เข้ามาเช่นทางตอนเหนือตอนใต้ของแม่น้ำโขง ซึ่งมีคนหลายเหล่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานก่อนที่จะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวและเกิดเป็นอาณาจักรล้านช้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
ดังนั้นในเขตนี้จึงมีวัฒนธรรมหลายแบบหลายสมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดี ในศตวรรษที่12 ซึ่งแคว้นหนองหานน้อยที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของหนองหานหลวง ( หนองหานสกลนคร ) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของลุ่มน้ำชี ในศตวรรษที่ 12 นี้เอง ที่วัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาจากลุ่มน้ำชี ได้แผ่ขยายบ้านเมืองในเขตหนองหานกุมภวาปี  มีการรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามานับถือ และสร้างเสมาหินขึ้นปักเขตศักดิ์สิทธิ์ ดังที่พบในพื้นที่ดอนหลวง ซึ่งเป็นเกาะกลางหนองหานกุมภวาปี จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่16 ในสมัยลพบุรี ที่วัฒนธรรมขอมก็แผ่ขยายลงมาผ่านหนองหานกุมภวาปี และเข้ามาในแอ่งสกลนคร ทำให้เกิดเมืองและศาสนสถานแบบขอม ปรากฏอยู่หลายพื้นที่บริเวณแถบอำเภอหนองหาน สภาพพื้นที่ของหนองหานได้ถูกบรรยายเมื่อครั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จผ่านเมืองกุมภวาปี เมื่อครั้งมาตรวจราชการมณฑลอีสานว่า
“[เมืองกุมภวาปี] เวลาบ่ายสามโมง ไปเที่ยวตามทางหมู่บ้าน ข้างหลังหมู่บ้าน ออกไปเป็นทุ่งใหญ่ แลเห็นหนองหาร ทุ่งนี้แลดูกว้างใหญ่มากโดยยาวกว่า ๑๐๐ เส้น ตกขอบหนองหารกลางทุ่งมีเนินเล็กๆ ไม้ขึ้นเป็นพุ่มอยู่สักแห่งหนึ่งสองแห่ง ราษฎรปล่อยโคกระบือและม้าออกกินหญ้าเป็นฝูงๆ หนองหารนี้มีชื่อเสียงมาในพงศาวดาร เป็นหนองใหญ่มาก มีชาวบ้านตั้งหาปลาอยู่โดยรอบ ทางเดินรอบหนองประมาณ ๒ วัน มีท่าลงหนองที่บ้านเชียงแหว ระยะห่างจากเมืองกุมภวาปี 200 เส้น มีเกาะในหนองเรียกว่าเกาะดอนแก้ว มีหมู่บ้านและวัดบนเกาะด้วย น้ำหนองหารนี้ไหลลงน้ำปาวไปตกลำพาชี... (ดำรงราชานุภาพ 2521: 16)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...