วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ตำนานผาแดงกับเหมืองแร่โพแทช


นิทานเรื่องผาแดงนางไอ่ เป็นเรื่องราวที่แพร่หลายและสั่งสมกันมาจากประสบการณ์ ที่ถูกบอกเล่าถ่ายทอดสืบกันมาหลายชั่วคน ซึ่งสะท้อนให้เห็นมิติที่สำคัญ 3 ด้าน คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสิ่งที่เหนือธรรมชาติ โดยจำแนกเป็น ผาแดงนางไอ่ ผู้เป็นมนุษย์เพศชายและเพศหญิง สิ่งที่เหนือธรรมชาติ คือนาคา ผู้อาศัยอยู่ในน้ำหรือใต้พื้นโลก และหนองน้ำขนาดใหญ่  โดยมีบั้งไฟเป็นตัวเชื่อม ผ่านการบูชาพญาแถนผู้ให้ฝน เพื่อเสี่ยงทาย และแข่งขันแย่งชิงนางไอ่ ดังเช่น พญาขอม จุดบั้งไฟแตก หรือบั้งไฟไม่ขึ้น ได้แสดงหรือบ่งบอกความหมายถึงหายนะที่จะเกิดขึ้นกับเมืองและนำไปสู่โศกนาฏกรรมในช่วงต่อมา  โดยธรรมชาติมนุษย์จะไม่กินสัตว์ที่ถูกห้ามไว้ไม่ให้กิน เช่นพญานาค ซึ่งเป็นกึ่งสัตว์กึ่งเทพและคนเพราะสามารถแปลงกายเป็นมนุษย์หรือสิ่งอื่นๆได้ อีกทั้งยังเป็นเจ้าบาดาล การแปลงกายเป็นกระรอกเผือกของพังคีจึงเป็นสิ่งที่สร้างให้มนุษย์สามารถที่จะฆ่าและนำมาเป็นอาหารเลี้ยงกันได้  อีกทั้งเนื้อของพังคีสามารถมีจำนวนได้มากมายกินกันได้ไม่มีวันหมด ผู้ที่ทำงานและใช้แรงงานจากการไล่ล่าก็จะได้กินเนื้อกระรอก ในขณะที่หญิงม่าย ที่เป็นเสมือนผู้ไร้ประโยชน์และไม่สามารถสร้างผลผลิตได้ กลายเป็นผู้ที่ถูกกีดกันออกไปจากชุมชน นั่นคือ การไม่ได้กินเนื้อกระรอก อันนำมาสู่การสูญเสียหรือล่มสลายของที่อยู่อาศัยมนุษย์ และเปลี่ยนแปลงไปสู่การกลายเป็นหนองน้ำ
ในปัจจุบันชาวบ้านพูดถึงเรื่องเหมืองแร่โพแทชและเกลือ ผ่านตำนานพื้นบ้านผาแดง-นางไอ่และการเกิดของหนองหาน ที่ถูกนำกลับมาพูดอีกครั้งในสถานการณ์ปัญหาปัจจุบัน ภายใต้โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี โดยเปรียบเทียบกับเรื่องของพญานาค ดั้นพื้นดินเป็น อุโมงค์ ที่ทำให้บ้านเรือนถล่มจมอยู่ใต้ บาดาล  สาเหตุก็เนื่องจากพังคีซึ่งเป็น กระรอกเผือก ซึ่งเปรียบเสมือน เกลือโพแทช  ซึ่งเป็นทรัพยากรใต้พื้นดินที่สร้างความเสียหายให้กับคนในพื้นที่
หากเรามองว่าตำนานผาแดงนางไอ่ เป็นสนามหรือพื้นที่ของวาทกรรมชุดต่างๆที่เกาะเกี่ยวและประกอบเข้ามาเป็นตำนานที่อธิบายว่าด้วยความล่มสลายของชุมชนจนเกิดเป็นหนองหาน เราก็จะเห็นภาพสะท้อนของวาทกรรมชุดต่างๆที่กำลังต่อสู้กันอยู่ในปัจจุบันระหว่างฝ่ายบริษัทและชาวบ้านต่อโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหาของตำนาน ดังนี้คือ
1.กระรอกพังคีซึ่งเป็นลูกพญานาคที่อาศัยอยู่ใต้บาดาล แทนความหมายของเกลือและโพแทช ใต้พื้นดินอีสาน
2.การแบ่งเนื้อกระรอก ซึ่งแทนนัยของการแบ่งปันผลประโยชน์  ที่ชาวบ้านกลุ่มต่างๆต้องการจะได้รับและคนที่เห็นด้วยกับบริษัทหรือช่วยผลักดันหรือสนับสนุนให้โครงการเกิดขึ้นก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน ดังเช่นชาวบ้านจากเมืองต่างๆ ที่ช่วยกันล่ากระรอกเผือก
3.หายนะของเมืองเอกชะธีตา คือความหายนะ หรือความล่มจม จากการกินเนื้อกระรอกพังคี ทำให้บ้านเมืองถล่มจมลงกลายเป็นหนองหานในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนของชุมชนที่เกิดจากเรื่องผลประโยชน์ของการพัฒนา
4.กลุ่มหญิงม่ายที่ไม่ได้กินเนื้อกระรอกพังคี ทำให้บ้านเมืองไม่ล่มจม ซึ่งชาวบ้านอ้างสิทธิที่จะเลือกเอาหรือไม่เอาโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี การไม่เอาก็เท่ากับการไม่กินเนื้อกระรอก ซึ่งทำให้บ้านเมืองก็ไม่เกิดการล่มจม รวมถึงการแบ่งปันส่วนแบ่งที่ไม่เท่าเทียม แต่หายนะและผลกระทบที่เกิดขึ้น กับตกอยู่กับทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ แม้จะไม่ได้กินเนื้อกระรอกก็ตาม
ดังนั้นเกลือและโพแทช จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกบอกเล่าผ่านนิทานกลอนลำ หมอลำ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับกลุ่มทุนข้ามชาติ ซึ่งทำให้เรื่องของเหมืองแร่โพแทช กลายเป็นเรื่องของท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับการเมืองและนโยบายในระดับประเทศ   และกลายเป็นประเด็นที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางธรณีวิทยาและความรู้เรื่องวิศวกรรมเหมืองแร่ ไม่สามารถเข้ามาสร้างความรู้ความจริงให้กับชาวบ้านในพื้นที่โดยง่าย แต่กับถูกต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างกว้างขวาง คำอธิบายของบริษัทข้ามที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอันทันสมัยที่บริษัทข้ามชาติเชื่อมั่นว่าจะสามารถป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการทำเหมืองแร่ใต้ดิน แต่ในทางตรงกันข้ามความหายนะดังกล่าวชาวบ้านเชื่อว่ามันเกี่ยวข้องกับพญานาคและกระรอกเผือก ซึ่งก็คือเกลือและโพแทชใต้พื้นดิน ที่บริษัทข้ามชาติพยายามจะขุดขึ้นมาใช้  อันจะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชนในอนาคต
นิทานปรัมปราเรื่องผาแดง นางไอ่ จึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านบอกเล่าเกี่ยวกับความหายนะและการล่มสลายของหนองหานกุมภวาปี  ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ชาวบ้านใช้เทียบเคียงกับกรณีของการขุดเจาะเหมืองใต้พื้นที่ ดังที่ผู้ศึกษาได้พบว่า ชาวบ้านมักจะพูดว่า มันคงถล่มลงมาเหมือนหนองหาน เหมือนตำนานที่คนเฒ่าคนแก่บอกไว้ และต่อมาคำอธิบายเหล่านี้ก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายโดย นักพัฒนา นักวิชาการท้องถิ่น และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีในบรรดาแกนนำที่ขึ้นไปพูดตามเวทีต่างๆที่ใช้อธิบายถึงเหตุการณ์ความหายนะของพื้นที่ในอดีต และผลิตซ้ำความคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับนิทานปรัมปราในสถานการณ์ปัจจุบันอีกครั้ง ดังเห็นได้จากชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีและนักพัฒนาเอกชน ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับทุนข้ามชาติ และเพื่อเผยแพร่กับคนในพื้นที่โครงการ ตำนานเกี่ยวกับผาแดง นางไอ่ จึงถูกนำมาเป็นสิ่งที่บอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวผ่านหมอลำหรือกลอนลำ เพราะคนในพื้นที่มีการรับรู้และเข้าใจกับตำนานดังกล่าวอยู่แล้วและหมอลำคือศิลปะหรือความบันเทิงที่คนอีสานชื่นชอบ และคนที่นี่เชื่อว่าตำนานนี้คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของพวกเขาเมื่อครั้งอดีต ดังตัวอย่างเนื้อหาบางตอนในกลอนลำที่แต่งโดยพ่อบุญยัง แคนหนอง ขับร้องโดยแม่ติ้ม แคนหนอง ชาวบ้านบรบือ จังหวัดมหาสารคามว่า

...ทองคำขาวในพื้นถือเป็นกระรอกด่อน นิทานมีแต่ก่อนตอนหนองหานสิล่ม เป็นย้อนไอ่คำ ชิ้นกระรอกน้อยได้แปดพันเกวียน กินเหมิดเมืองอิ่มพุงเต็มท้อง กินหมดแล้วดินพังหลุบหล่ม ยังแม่ฮ้างแม่หม้ายทั้งสิ้นบ่ได้กิน ชิ้นกระรอกนี้เปรียบดังคือเกลือมันอยู่ในบาดาลดั่งนิทานเขาเว้า พังคี เจ้าเป็นลูกนาค หากแม่นเกลืออยู่พื้นเมืองท่วมจั่งเห็น เปรียบเสมือนดังเช่นหนองหานใหญ่ เมืองอุดรธานีเป็นนครบาดาล ดั่งนิทานว่าเว้าเกลือโตต่อนเป็นชิ้นของท้าวพังคี กระรอกด่อน ตีความหมายเอาเองแม่จริงไหม ตามนิทานกล่าวไว้ โตต่อนเกลือละท่าน ระวังท่วม...มองความหมายให้แจ้งแฝงอยู่นำนิทาน….”[1]

 เช่นเดียวกับที่ชาวบ้านในพื้นที่สะท้อนความคิด ความเชื่อ เกี่ยวกับตำนานพื้นบ้านที่พวกเขารับรู้และเชื่อมโยงกับความรู้ที่เขาได้รับจากโครงการเหมืองแร่โปแตชที่กำลังจะเกิดขึ้น ผ่านการนำประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวบ้าน ที่เป็นเรื่องของพิธีกรรม สัญลักษณ์ งานเทศกาลและนิทานปรัมปรา  ดังนั้นประเพณีวัฒนธรรมใหม่ หรือประเพณีประดิษฐ์ ไม่ใช่เรื่องของการสืบทอดอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ แต่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อสร้างอัตลักษณ์กับแต่ละกลุ่มหรือรับใช้อุดมการณ์บางอย่าง  เช่นเดียวกับการเชื่อมร้อยขององค์ประกอบของวาทกรรมในสถานการณ์ที่เฉพาะหนึ่งๆ เมื่อบริบทเปลี่ยนไป คำนิยามหรือความหมายก็เปลี่ยนแปลงไป ดังเช่นที่ชาวบ้านบอกเกี่ยวกับตำนานผาแดงนางไอ่ ว่า

เราเคยได้ยินแต่ตำนานหนองหานล่มเมื่อสมัยโบราณ ซึ่งเป็นตำนานที่เล่ากันมาช้านาน ที่มีพญานาคมุดดินเพื่อตามไล่ล่าผาแดง นางไอ่ จนทำให้แผ่นดินที่พญานาคมุดดินลงไป ล่มสลายกลายเป็นบึงหนองหานที่คงให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ก็แค่พญานาคตัวไม่ใหญ่ ตัวเดียวยังสามารถทำให้แผ่นดินถล่มบ้านเมืองจมใต้ดินได้ จนกลายเป็นบึงหนองหานที่กว้างใหญ่ไพศาล และตอนนี้จะขุดอุโมงค์ลึกลงไปใต้ดินไม่รู้กี่เมตร ไม่รู้กว้างแค่ไหน แล้วทำไมดินจะไม่ยุบ กลัวเหลือเกินว่า ขุดดินทำเหมืองแร่ครั้งนี้ จะกลายเป็นหนองหานล่มครั้งที่สองแล้วชาวบ้านจะอยู่อย่างไร[2]
ดังคำพูดของพ่อประจวบ แสนพงษ์ที่กล่าวเปรียบเทียบกรณีดังกล่าวในการประชุมวิชาการเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาของโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานีว่า
                                                                                     
เขามาเจาะแร่ เป็นโพรง คงจะเหมือนพังคีดั้นพื้น พญานาคดั้งพื้น คือเมืองหนองหานแต่ก่อน เขาขุดเอาเกลือใต้ดินออกไปหลาย บ้านเรือนคือจะจมลงใต้พื้นดิน ไม่รู้ว่าจะอพยพเอาลุกเอาหลานไปอยู่ที่ไหน คงจะเป็นเมืองร้างคือจั๋งหนองหาน ตามตำนาน หรือแต่เมืองแม่ม่าย[3]
สอดคล้องกับแม่ใจ ระเบียบโพธิ์ ชาวบ้านอุ่มจานที่ปลูกบ้านและทำอาชีพประมงบริเวณริมฝั่งหนองหาน

เชื่อตำนานเพิ่นว่าไว้ ปู่ย่าตายายเล่าต่อกันมา ตั้งแต่เป็นเด็ก ตำนานผาแดงนางไอ่ ตำนานเมืองล่ม เมืองหนองหานย้อนเพราะว่าโลภอยากได้กระรอก อยากกินเนื้อกระรอก คือจั๋งเฮาอยากขุดแร่ เอาแร่ใต้พื้นดินเฮาไปขาย เขาขุดเจาะหมดทุกที่ เป็นรู เป็นโพรงข้างล่าง บ้านเมืองก็จะถ่มลงไป ทุกมื้อนี้ได้ยินว่าเขาสิมาขุดแร่ นอนกะน้ำตาไหล นอนบ่หลับย่านดินมันสิถล่ม ลูกหลายสิอยู่จั๋งใดจะย้ายหนีไปอยู่หม่องใด๋[4]
คนรุ่นใหม่อย่างไชยา แน่นอุดร ชาวบ้านสังคมและสมาชิกกลุ่มกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เทียงเคียงตำนานดังกล่าวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชและเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียที่ทำให้มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก

 เป็นตำนานที่เป็นของจริง ไม่ใช่นิทานปรัมปรา ว่าหลักฐานหยังแหน่ เช่นห้วยสามพาด ถ้าสร้างเหมือง มันมีสิทธิ์ที่จะถล่มลงมา คือจั๋งผาแดง เกิดแผ่นดินไหวคือจั๋งอินโดนีเซีย คั่นขุดขึ้นมา มันเป็นโพรงเฮ็ดจั๋งใด๋มันสิบ่ถล่ม เมือกะสิถล่มคือจั๋งหนองหาน[5]

ตำนานผาแดงนางไอ่ เป็นสิ่งที่ถูกบอกเล่าสืบมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งความน่าสนใจของมันคือสิ่งที่มันปรากฏออกมาจากความดั้งเดิม ที่ผ่านการพูด บทสนทนา   การประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ของคนในท้องถิ่น นักพัฒนา ผ่านคำอธิบายหรือกลอนลำของหมอลำในหมู่บ้านที่เชื่อมโยงกับเรื่องเหมืองแร่เพื่อการต่อสู้ระหว่างความคิดทางวิทยาศาสตร์แบบกระแสทุนนิยม ที่เข้ามาอธิบายเรื่องการทำเหมืองในชุมชนกับโลกทัศน์แบบพื้นบ้านท้องถิ่นที่ถ่ายทอดผ่านการเล่านิทานปรัมปรา จากปากต่อปากจากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นปู่ย่าตายาย สู่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ และจากรุ่นพ่อรุ่นแม่สู่รุ่นลูกสืบต่อกันมา   ดังที่ชาวบ้านบอกว่าความเชื่อและเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานผาแดงนางไอ่มีมานานแล้ว และในปัจจุบันชาวบ้านที่หนองหานก็ยังคงเล่าเรื่องนี้ โดยเชื่อมกับความศักดิ์สิทธิ์ของตำนาน การตั้งบ้านแปลงเมือง เมืองโบราณที่อยู่ใต้น้ำ ดอนกลางน้ำ ลำห้วย และชื่อหมู่บ้านต่างๆที่มีปรากฏอยู่ในตำนานที่ถูกบอกเล่า ได้ทำให้ชาวบ้านให้ความเคารพต่อหนองหาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิต และการทำอาชีพประมง หาปลาทำปลาร้าเพื่อการบริโภคและเพื่อขาย รวมถึงการจัดประเพณีพิธีกรรมที่ทีความสำคัญต่อการทำการเกษตรของชุมชนในช่วงเดือนห้าเดือนหก (พฤษภาคม-มิถุนายน) ของทุกปี หรือบางหมู่บ้านก็จัดสามปีติดต่อกันก่อนที่จะเว้นวรรคในปีถัดไป เนื่องจากการทำบุญบั้งไฟ จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก และใช้แรงงานคนในการเตรียมงานจำนวนมาก ตั้งแต่ทำบั้งไฟจุด ตกแต่งบั้งไฟเอ้ ซ้อมรำเซิ้ง เป็นต้น อีกทั้งยังต้องใช้ความร่วมมือสามัคคีกันในการจัดงานเพราะเป็นพิธีกรรมที่จัดร่วมกันระหว่างชุมชนต่างๆ
ถึงแม้ว่าปัจจุบันการจัดงานบุญบั้งไฟ จะไม่ใช่เพื่อการเสี่ยงทายเรื่องฟ้าฝนซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นการจัดงานเพื่อการท่องเที่ยว มีการแข่งขันการจุดบั้งไฟ มีการประกวดขบวนแห่ มีประกวดนางบั้งไฟ โดยปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่เป็นงานของชุมชนหมู่บ้าน แต่องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลจะเข้ามาร่วมจัดและให้งบประมาณให้กับหมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ ในการจัดและตกแต่งขบวนแห่ เช่นงานบั้งไฟของตำบลอุ่มจาน ตำบลห้วยสามพาด ซึ่งอยู่ในเขตลุ่มน้ำหนองหาน หรือตำบลโนนสูง แต่ระบบสัญลักษณ์บางอย่างที่ใช้ในพิธีบั้งไฟ ไม่ว่าจะเป็นบักแด่น ปลัดขลิก บั้งไฟเอ้ บั้งไฟจุด หรือบั้งไฟเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่ สัญลักษณ์ที่ผู้ศึกษาเห็นอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ก็คือ ในพิธีดังกล่าวจะต้องมีตัวแทนของหนุ่มสาวชายหญิงคู่หนึ่ง ซึ่งเป็นตัวแทนของผาแดงและนางไอ่ ที่จะนั่งอยู่บนม้าไม้ซึ่งใช้แทนม้าบักสาม  และมีการทำกระรอกเผือกสีขาวแทนพญานาคพังคี  ที่หลงรักนางไอ่และแปลงกลายเป็นกระรอกเพื่อจะได้เข้าใกล้นางไอ่ จนเป็นที่มาของโศกนาฏกรรม บ้านเมืองถล่มล่มจมกลายเป็นหนองหานในปัจจุบัน
ความเชื่อต่อตำนานดังกล่าวได้สืบทอดสู่วิถีชีวิตประจำวันที่สะท้อนผ่านการปฏิบัติต่อแม่น้ำ การเคารพธรรมชาติโดยการไม่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ การไม่ร้องเพลงหนองหานที่เล่าถึงตำนานผาแดงนางไอ่ หรือไม่พูดเกี่ยวกับตำนานผาแดงนางไอ่เมื่ออยู่ในหนองน้ำ เพราะเชื่อว่าจะเกิดภัยพิบัติ  เกิดลมพายุพัดให้เรือจม ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงเชื่อและปฏิบัติกันอยู่ และทำให้ลุ่มน้ำหนองหานยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ได้ รวมถึงเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความเชื่อเกี่ยวกับตำนานท้องถิ่นซึ่งเป็นเสมือนกฎเกณฑ์บางอย่างที่ทำให้คนในชุมชนอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล กำลังถูกท้าทายด้วยความรู้สมัยใหม่ที่เป็นเหตุผลในเชิงของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงตัวบท กฎหมายต่างๆที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการจัดการทรัพยากร การควบคุมความคิด โลกทัศน์และการปฏิบัติของคน ต่อวัตถุและพื้นที่ในปัจจุบันอย่างมากมายเพียงใดก็ตาม
ดังนั้นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นเกี่ยวกับตำนานพื้นบ้านผาแดงนางไอ่ก็คือ ความหมายของมันไม่ได้ดำรงอยู่อย่างถาวรแต่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ในฐานะยุทธศาสตร์และเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง ความน่าสนใจของตำนานจึงไม่ใช่ในแง่ความพิลึกพิสดารของเหตุการณ์ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในผู้เล่าแต่ละคน ในรูปแบบของนิทานที่เป็นคำบอกเล่า คำกลอนหรือหมอลำ ซึ่งเป็นเสมือนความจริงที่ออกมาจากจุดเริ่มต้นที่ถูกผลิตซ้ำ กล่าวซ้ำ อยู่ตลอดเวลาในแต่ละยุคสมัย ความหมายของตำนานผาแดงนางไอ่ จึงมีความเลื่อนไหล ทั้งในนัยของประวัติศาสตร์ชุมชน การกำเนิดหนองน้ำ หมู่บ้าน ความสัมพันธ์กับประเพณีบั้งไฟ ความเชื่อในเรื่องพญานาค พญาแถน จนมาถึง ความสัมพันธ์กับเรื่องของเกลือและเหมืองโพแทช ที่เชื่อมโยงกับความเชื่อชุดต่างๆที่ถูกบอกเล่า เช่น ความรู้ที่บอกว่าใต้หนองหานเป็นโดมเกลือขนาดใหญ่ ขุดลงไปเมตรสองเมตรก็เจอเกลือ หรือ สิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทช บอกว่า กระรอกด่อน ก็คือโพแทชหรือเกลือ การเข้ามาของคนต่างชาติตะวันตกผิวขาว ที่อาจจะสร้างหายนะให้กับชุมชน  ในสถานการณ์ปัญหาปัจจุบัน ตำนานพื้นบ้านถูกเชื่อมโยงเข้ากับกรณีปัญหาเหมืองแร่โพแทช ภายใต้เทคนิคการทำเหมืองแร่แบบใหม่ในทางวิศวกรรม ที่เรียกว่า เหมืองอุโมงค์ หรือ พญานาคกำลังดั้น(ทะลุทะลวง)พื้นดินให้บ้านเมืองสั่นสะเทือน  ซึ่งทำให้ความเชื่อ ความรู้พื้นบ้านนี้ ได้กลายมาเป็นความจริงและความเข้าใจของคนในพื้นที่รอบๆโครงการเหมืองแร่โพแทช ที่มีความสัมพันธ์กับลุ่มน้ำหนองหาน และที่สำคัญตำนานชุดนี้ก็ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเหมืองแร่โพแทชที่จะเกิดขึ้น เป็นภัยพิบัติที่น่าหวาดกลัวของคนในพื้นที่ ที่ยังไม่มั่นใจต่อโครงการและไม่สามารถยอมรับกับโครงการที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มทุนข้ามชาติไม่สามารถที่จะดำเนินโครงการเหมืองแร่ได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้และความรู้เรื่องเหมืองแร่ วิธีการขุดเจาะทันสมัย ที่บริษัทหรือกลุ่มทุนข้ามชาติอธิบายกับชาวบ้านในพื้นที่ ได้ถูกปฏิเสธตลอดเวลาในช่วงของการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว จนทำให้บริษัทเอพีพีซี ต้องล้มเลิกแผนการลงทุนในประเทศไทยลงไปและขายหุ้นของบริษัทให้กับบริษัทอิตาเลียนไทยเข้ามาดำเนินกิจการแทนในเวลาต่อมา



[1] อ้างจาก ซีดีชุดออนซอนเสียว จัดทำโดย กลุ่มศึกษาปัญหาดินเค็มภาคอีสาน
[2]บันทึกสนามสัมภาษณ์พ่อประจวบ แสนพงษ์ นายกอบต.ห้วยสามพาด วันที่  17 มกราคม 2546
[3] บันทึกสนามสัมภาษณ์แม่ ใจ ระเบียบโพธิ์ ชาวบ้านอุ่มจาน วันที่ 19 พฤษภาคม 2545
[4]บันทึกสนามสัมภาษณ์แม่สา ดวงปาโคตร ชาวบ้านโนนสมบูรณ์ วันที่ 20 เมษายน 2548
[5] บันทึกสนามสัมภาษณ์พี่ไชยา แน่นอุดร ชาวบ้านสังคม วันที่ 18 พฤษภาคม 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...