วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

กว่า 5 ทศวรรษของกระบวนการพัฒนาประเทศไทย เพื่อก้าวไปสู่ความทันสมัยและเป็นประเทศผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เน้นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ มูลค่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และรายได้ของประชาชน ต่อหัวซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความเจริญก้าวหน้าของ ประเทศในปัจจุบัน แต่ทว่าในขณะเดียวกัน การเจริญเติบโตดังกล่าวต้องแลกมาด้วย การใช้ประโยชน์ จาก ทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศจำนวนมหาศาล รวมทั้งความเสียสละของประชาชนในพื้นที่ ที่ถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มน้อยที่ต้องทำเพื่อคนส่วนใหญ่ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มคนระดับล่างของกระบวนการพัฒนา และการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งบางครั้งนโยบายการพัฒนาเหล่านั้นก็ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากกระบวนการกีดกันพวกเขาในฐานะเจ้าของพื้นที่ออกจากกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อนโยบายของโครงการนั้นๆ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตของพวกเขาในอนาคต ดังจะเห็น ได้จากการปรากฏตัวของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆที่รวมกลุ่มกันต่อต้านนโยบาย การพัฒนาของภาครัฐ และเอกชนที่เกิดขึ้นในทั่วทุกภาคของประเทศไทย รากเหง้าของความขัดแย้งดังกล่าว มีสาเหตุมาจากปัญหาในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและความขัดแย้งระหว่าง รัฐกับชาวบ้าน ชาวบ้านกับกลุ่มทุนข้ามชาติและชาวบ้านในพื้นที่ด้วยกันเอง กรณีปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งถูกนำเสนอต่อสาธารณะชน อีกส่วนหนึ่งไม่ถูกนำเสนอ ซึ่งทำให้ปัญหาดังกล่าวไม่ถูกรับรู้และสร้างให้พวกเขากลายเป็นชายขอบของการพัฒนา แม้ว่าในบางพื้นที่จะมีนักศึกษาและนักวิจัยเข้าไปทำการศึกษาประเด็นปัญหาเป็นจำนวนมาก แต่ชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังขาดข้อมูลทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากลักษณะของงานวิชาการเหล่านี้มีความหลากหลายตามสาขาวิชาและแหล่งทุนสนับสนุน เช่น งานข้อมูลบางชิ้นก็จัดทำโดยนักวิชาการที่กลุ่มทุนหรือบริษัทข้ามชาติ จ้างเข้ามาเก็บรวบรวมข้อมูลและทำวิจัยในพื้นที่เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ งานวิจัยบางชิ้นก็ถูกศึกษาโดยนักวิชาการในสถานศึกษาส่วนกลางหรือท้องถิ่นที่ได้รับทุนสนับสนุน หรือไม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ผ่านกระบวนการทำวิทยานิพนธ์ หรือเป็นงานศึกษาขององค์การพัฒนาเอกชนเพื่อใช้ทำการเคลื่อนไหวต่อประเด็นปัญหาในพื้นที่ เป็นต้น งานวิจัยเหล่านี้มีทั้งในส่วนที่ชาวบ้านรับรู้และไม่รับรู้ ชาวบ้านมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัย ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและความรู้เหล่านี้รวมทั้งไม่สามารถใช้ความรู้เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ในการต่อสู้และเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาของพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้พวกเขาต้องจำยอมต่อการพัฒนาดังกล่าวเพราะไม่อาจต่อสู้กับกระแสของการพัฒนาและนโยบายของรัฐและเอกชนที่ถาโถมเข้ามาเข้ามาในพื้นที่อย่างรวดเร็วและรุนแรงได้ ปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นปัญหาของงานด้านวิชาการ ที่เกิดจากนักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับข้อมูลประเด็นปัญหาในพื้นที่นั้น ยังไม่ได้มีการรวบรวมองค์ความรู้ งานวิจัยและงานศึกษาที่กระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนหรือแม้แต่ในกลุ่มชาวบ้านที่ทำการเคลื่อนไหวต่อสู้ด้วยการสร้างและรวบรวมความรู้ของตัวเอง (วิจัยไทบ้าน) อีกทั้งยังไม่ได้เชื่อมโยงเครือข่ายทางวิชาการ ในการใช้องค์ความรู้ที่มีชี้ให้เห็นทิศทางและแนวโน้มของนโยบายการพัฒนา ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับประเด็นปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทรัพยากรเช่น ป่าไม้ ที่ดิน แร่ธาตุ อุตสาหกรรม และพลังงาน ที่มีผลกระทบและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมของพวกเขา ดังนั้นงานสังเคราะห์และประมวลความรู้ชิ้นนี้ จึงน่าจะมีประโยชน์ในการรวบรวมความรู้ที่กระจัดกระจายให้เป็นระบบและหมวดหมู่เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์ และสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการคาดคะเนถึงทิศทางการพัฒนาในอนาคต และเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาสร้างเป็นแผนที่เป้าหมาย ที่รวบรวมและสะท้อนให้เห็นปัญหาของพื้นที่ แกนนำต่อสู้ในพื้นที่ กลุ่มทุนในพื้นที่ และเครือข่ายวิชาการในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการต่อสู้เคลื่อนไหวของพื้นที่กรณีปัญหาและเครือข่ายต่อไป รวมทั้งฐานข้อมูลเหล่านี้ยังเป็นประโยชน์สำหรับนักวิชาการที่จะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการศึกษาและวิจัยต่อไป และนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือความร่วมมือระหว่างนักวิชาการและชาวบ้าน ที่สามารถนำไปสูการสร้างเครือข่ายทางวิชาการที่เข้มแข็งและใช้ความรู้ทางวิชาการในการหนุนเสริมการต่อสู้ร่วมของชาวบ้านในพื้นที่กรณีปัญหาในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...