วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีความสัมพันธ์กับทรัพยากรดิน แผ่นดิน ที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Land ethic หรือจริยธรรมแห่งผืนดิน ที่เชื่อมคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มนุษย์คนใดจะมีศีลธรรมจรืยธรรมที่ดีได้ ก็ต่อเมื่อมนุษย์ผู้นั้นสามารถมองเห็น รับรู้ เข้าใจ และสัมผัส รวมถึงชื่นชม รักและศรัทธาในธรรมชาติ ความถูกต้องชอบธรรม จึงสัมพันธ์กับความคิดว่าด้วยการอนุรักษ์ การสร้างความยั่งยืน ความมั่นคงความสมบูรณ์และความงามของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้หญิงจึงมีสถานะของผู้ให้กำเนิดหรือผู้ก่อเกิดวางรากฐานทางวัฒนธรรมและการดำรงชีพ ผู้หญิงให้ความสำคัญต่อธรรมชาติ เคารพ นอบน้อม ที่สำคัญธรรมชาติและทรัพยากรคือพื้นที่ทางวัฒนธรรมและสังคมของผู้หญิง.. ความพิเศษของความคิดนี้ คือปฎิสัมพันธ์ของผู้หญิงกับสิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนผ่านชีวิตประจำวัน การประกอบพิธีกรรม ทัศนคติมุมมองของผู้หญิงต่อสิ่งแวดล้อม ที่มองแบบเชื่อมโยง สัมพันธ์และเป็นองค์รวม ที่หากมองเชื่อมโยงกับระบบทนนิยม เราจะเห็นอำนาจแบบครอบงำ อำนาจในลักษณะชายเป็นใหญ่ การคิดแบบลดทอนแยกส่วน และทำลาย.. ในหนังสือคลาสสิคของ Aldo Leopold ได้เสนอสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรมใหม่ซึ่งเป็นจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของมนุษย์กับแผ่นดินและกับสัตว์และพืชที่เติบโตบนนั้น โดยเลียวโปลด์เสนอหลักจรรยาบรรณของที่ดินบนพื้นฐานทางนิเวศวิทยา ซึ่งปฏิเสธความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางอย่างเคร่งครัด และมุ่งเน้นที่การรักษาระบบนิเวศที่สมบูรณ์และฟื้นฟูตนเองได้ ภายใต้แนวทางแบบองค์รวมหรือมุมมองเชิงนิเวศสิ่งแวดล้อม แม้ว่าเลียวโปลด์จะสร้างคำที่เรียกว่าจริยธรรมของแผ่นดิน แต่ก็มีทฤษฎีทางปรัชญามากมายที่พูดถึงวิธีที่มนุษย์ควรปฏิบัติต่อแผ่นดิน ดังเช่นจริยธรรมที่ดินหรือแผ่นดินที่โดดเด่น ได้แก่ จริยธรรมที่มีรากฐานมาจากเศรษฐศาสตร์ การใช้ประโยชน์ หลักการของเสรีนิยม ความเสมอภาค และนิเวศวิทยา ในบทความคลาสสิกของเขาเรื่อง "The Land Ethic" ซึ่งตีพิมพ์ภายหลังเขาเสียชีวิตในหนังสือชื่อ A Sand County Almanac (1949) เลียวโปลด์เสนอว่าขั้นตอนต่อไปในวิวัฒนาการของจริยธรรมคือการขยายจริยธรรมให้ครอบคลุมถึงสมาชิกที่ไม่ใช่มนุษย์ในชุมชนที่มีชีวิตที่รวมเรียกว่า "ผู้ร่วมแผ่นดิน" เลียวโปลด์ระบุหลักการพื้นฐานของจรรยาบรรณในที่ดินหรือผืนแผ่นดินของเขาว่า "สิ่งหนึ่งจะถูกต้อง เมื่อมันมีแนวโน้มที่จะรักษาความสมบูรณ์ ความมั่นคง และความสวยงามของชุมชนที่มีชีวิต คงจะเป็นสิ่งที่ผิดหากมันจะมีแนวโน้มไปเป็นอย่างอื่น" เขายังอธิบายเรื่องนี้ในลักษณะนี้ว่าจริยธรรมของที่ดินหรือแผ่นดินไม่เพียงแค่จำกัดขอบเขตของชุมชนมนุษย์เท่านั้น แต่ยังให้รวมถึงดิน น้ำ พืช และสัตว์ หรือสิ่งร่วมแผ่นดินอื่นๆด้วยเช่นกัน จริยธรรมที่ดินได้เปลี่ยนบทบาทของ Homo sapiens จาก ผู้พิชิตชุมชนแผ่นดิน เปลี่ยนไปสู่การเคารพเพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมโลกของพวกเขาและเคารพในชุมชนด้วยเช่นกัน เลียวโปลด์เป็นนักธรรมชาติวิทยา เป็นนักปรัชญา เขาได้เสนอหลักจริยธรรมของที่ดินหรือแผ่นดิน โดยเน้นถึง (1) มนุษย์ควรมองตนเองว่าเป็นสมาชิกธรรมดาและเป็นพลเมืองของชุมชนที่มีชีวิต ไม่ใช่เป็น "ผู้พิชิต" ของแผ่นดิน (2) เราควรขยายการพิจารณาทางจริยธรรมไปสู่ระบบนิเวศทั้งหมด (ดิน น้ำ พืช สัตว์และสิ่งอื่นๆ) (3) ข้อกังวลหลักด้านจริยธรรมของเราไม่ควรอยู่ที่พืชหรือสัตว์แต่ละชนิด แต่ควรมองความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมการทำงานที่ดีที่ส่งผลต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในชุมชน (4) ว่าด้วย หลักศีลธรรมจริยธรรมทางนิเวศวิทยาก็คือพวกเราควรพยายามรักษาความสมบูรณ์ เสถียรภาพ และความสวยงามของชุมชนที่มีชีวิต ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบางประเทศที่นอกภูมิภาค ความคิดที่แบ่งแยกผู้หญิงเป็นด้านของธรรมชาติ ผู้ชายเป็นด้านของวัฒนธรรม ทั้งสองอย่างเป็นแนวคิดเพศภาวะที่อยู่ภายใต้วิธีคิดแบบทวิลักษณ์นิยม หากทว่า แท้จริงแล้ว ชายและหญิง ธรรมชาติและวัฒนธรรม สิ่งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่แยกขาดออกจากกัน ต่างเกื้อกูลและพึ่งพากันเพื่อสร้างความสมดุล ... วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในการปรับตัวเข้ากับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันธรรมชาติก็กำหนดรูปแบบทางวัฒนธรรม พิธีกรรมและความเชื่อ ที่วางรากฐานแนวทางในการปฏิบัติให้มนุษย์รู้จักเคารพ ปกป้อง รักษาและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าและยั่งยืน.. ความเข้าใจในธรรมชาติต้องการมนุษย์ที่มีความรู้สึกลึกซึ้ง มีความเคารพ มีเมตตา และมีความอ่อนโยนต่อธรรมชาติ เนื่องจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่เปราะบาง ซับซ้อน มีจิตวิญญาณ มีความหลากหลายของชีวิตและเต็มไปด้วยพลัง...ดังนั้นธรรมชาติจึงต้องการความเอาใจใส่ การปกป้อง การดูแลรักษาและการพึ่งพาเพื่อการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างกันระหว่างธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติและมนุษย์ด้วยความอ่อนน้อมต่อกัน.. ผู้หญิงในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยเฉพาะในแผ่นดินอุษาคเนย์ ผู้หญิงเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลปกป้องธรรมชาติ เป็นผู้ดูแลคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ ดูแลเรื่องการเพาะปลูก เฉกเช่นเดียวกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่เป็นเพศหญิง ทั้งความเชื่อและการนับถือแม่คงคา แม่ธรณีและแม่โพสพ ที่สะท้อนความสัมพันธ์ของผู้หญิงในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคมและวัฒธรรมและอำนาจของธรรมชาติ ผู้หญิงจึงดำรงสถานะเป็นตัวประสานตรงกลางระหว่างพรมแดนของธรรมชาติกับวัฒนธรรม.. ในขณะเดียวกันภาวะด้านอารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิง ที่เชื่อมโยงและมีความใกล้ชิดกับภาวะธรรมชาติมากกว่าผู้ชาย ก็ทำให้ผู้หญิงมีความเข้าใจในธรรมชาติได้ไม่น้อยกว่าผู้ชายและอาจจะมากกว่าผู้ชายเสียด้วยซ้ำ ในอีกด้านหนึ่งผู้หญิงก็มีบทบาททางด้านวัฒนธรรมได้เฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย ในแง่ของการเป็นตัวกลางระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม ดังนั้นผู้หญิงจึงเป็นทั้งผู้พิทักษ์ธรรมชาติและผู้พิทักษ์ทางวัฒนธรรม...เช่นเดียวกับผู้หญิงกะเหรี่ยงโผล่วบ้านพุเม้ยง์ จังหวัดอุทัยธานี #ผู้หญิงกะเหรี่ยงกับการอนุรักษ์ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ขอบคุณภาพบางส่วนจากคุณหน่อย รัตนา ภูเหม็นครับ.

การต่อต้านและการปฏิเสธงานชาติพันธุ์วรรณนา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ในปี ค.ศ. 1995 Sherry Ortner ได้ตีพิมพ์บทความใน วารสาร CSSH เรื่อง Resistance and the problem of ethnographic refusal เขาได้ทบทวนและสำรวจแนวโน้มทางวิชาการในเชิงการต่อต้านที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ซึ่งนักวิชาการเหล่านี้ส่วนหนึ่งกำลังละทิ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของชุมชนท้องถิ่น การวิเคราะห์เชิงวิพากษ์สิ่งที่อยู่ภายนอกชุมชน อำนาจที่เข้ามาปะทะ ลัทธิจักรวรรดินิยม รัฐและทุนนิยมเศรษฐกิจโลก เป็นต้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากงานศึกษานั้นได้นำไปสู่สิ่งที่ Ortner อ้างว่างานวิขาการเหล่านั้นเป็นงานที่ผิวเผินและไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจทางการเมืองที่มีความซับซ้อน ดังที่เธอบอกว่า “การศึกษาเชิงการต่อต้านนั้นถือว่าเบาบางมากเพราะพวกเขา(ผู้ศึกษา ผู้วิจัย นักวิชาการ) ดูเบาบางในเชิงชาติพันธุ์วิทยา เบาบางในเรื่องการเมืองภายในของกลุ่มที่ถูกครอบงำ เบาบางในเรื่องความร่ำรวยทางวัฒนธรรมของกลุ่มเหล่านั้น, บางเบาในเรื่องความเป็นตัวตน ความตั้งใจ, ความปรารถนา, ความกลัวและความเป็นของผู้กระทำการหรือ ผู้แสดงที่มีส่วนร่วมในละครบทนี้ (1995: 190) การสืบย้อนไปถึงงานทางมานุษยวิทยาของ Talal Asad (1973) หรือ Edward Said (1983) ที่มีการวิจารณ์ลัทธิล่าอาณานิคม การตั้งคำถามเกี่ยวกับงานชาติพันธุ์วรรณนาที่ถูกศึกษาโดยเจ้าอาณานิคม กลายเป็นวิธีการศึกษาทางชาติพันธุ์วรรณนาที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ที่ทำให้แนวคิดทางวัฒนธรรมกลายเป็นเครื่องมือของผู้ที่มีอำนาจ ไม่ใช่การทำความเข้าใจที่นำไปสู่การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม แต่เป็นการยึดครอง การแย่งชิงทรัพยากร การกดขี่ขูดรีด และการปกครองคนเหล่านั้น ภายใต้การทำงานของเจ้าอาณานิคม ทำให้นักวิชาการเหล่านั้นขาดอิสระภาพเสรีภาพ บางคนเลิกทำงานชาติพันธุ์วรรณนา และมาสอนเรื่องของการต่อต้าน การถอดรื้องานชาติพันธุ์วรรณนา และกระตุ้นให้ผู้ถูกกดขี่ หรือคนใต้อาณานิคม เขียนชาติพันธุ์วรรณนาของตัวเองขึ้นมา ในปัจจุบันทุกคนอาศัยอยู่ในโลกที่พวกเขาถูกบอกว่าตัวพวกเขาเองเป็นใคร รู้สึกอย่างไร และมีความหมายอย่างไร พวกเขาอาศัยอยู่ในโลกที่มีการตีความอยู่แล้ว และถ้าเราจะเข้าใจชีวิตของพวกเขา เราต้องเข้าใจไม่เพียงแต่มุมมองของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจถึงวิธีการที่มุมมองที่พวกเขาถูกประกอบสร้างและปรับปรุงใหม่อย่างต่อเนื่องโดยสัมพันธ์กับวัฒนธรรมใหญ่และภาพของการเป็นตัวแทนบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้น หากเริ่มต้นด้วยคำถามเกี่ยวกับ "ความหนา ความลุ่มลึกหรือความรุ่มรวยของข้อมูล" (thickness) ใน “Thick Description” ของ Clifford Geertz ได้นำเสนอตัวอย่างที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับกรณีของการหลิ่วตาและการขยิบตา .. ความแตกต่างอยู่ในความหมายพื้นฐานเชิงสัญลักษณ์และการแสดงออกว่า แท้จริงแล้วคุณมีเศษฝุ่นเข้าตาหรือคุณกำลังต้องการสื่อสารอะไรบางอย่างด้วยการขยิบตา? ความลึกหรือความรุ่มรวยของข้อมูลที่ไม่ได้เป็นเพียงความร่ำรวยของรายละเอียดเท่านั้น (การตีความทั่วไปจากวลีหรือการแสดงออกของเขา ในสำนวนไทยสีคำว่าปากง่าตาขยิบ) แต่ยังเกี่ยวข้องกับความหมาย การให้คุณค่าและความตั้งใจในการกระทำบางสิ่งบางอย่าง ความร่ำรวยหรือลุ่มลึกของข้อมูลดังกล่าวช่วยให้คนเกิดการค้นพบ และทำงานชาติพันธุ์วรรณนาที่ดีนั้นออกมาได้ ปัญหาของงานชาติพันธุ์วรรณนาในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ว่ามันมักจะสั้นและผิวเผินเกินไป แต่คือการไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ความหนาหรือความลึกตั้งแต่แรก เป็นเพียงการเล่าขานหรือทำหน้าที่เสมือนสักขีพยานหรือเอกสารหลักฐาน และส่งข้อความสะท้อนว่า “ฉันไปสถานที่นี้และนี่คือสิ่งที่ฉันเห็นและได้ยินมา” ทั้งที่จริงแล้วจะต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง มีข้อมูลมากพอที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์..ทำให้เห็นความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจที่เกิดขึ้นได้ …. Sherry B. Ortner (1995) ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่างานชาติพันธุ์วรรณนาคือการพยายามทำความเข้าใจโลกแห่งชีวิตของผู้อื่น โดยใช้ตัวตน(self)ของตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในฐานะเครื่องมือแห่งการแสวงหาความรู้...ดังนั้นประสบการณ์ในสนาม การไปอยู่ที่นั่น ไปอยู่กับผู้คน การเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมหรือพิธีกรรม การเข้าไปมีประสบการณ์ทางตรงโดยใช้ร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก ผ่านการรับรู้ การตีความเพื่อเข้าถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ที่ตนเองลงไปศึกษาให้มากที่สุด.. Ortner (1995) แสดงให้เห็นว่าทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ต้องสร้างขึ้นและก้าวไปไกลกว่าทฤษฎีที่ปฏิบัติมาตั้งแต่ยุคคลาสสิก เพื่อที่จะเข้าใจโลกร่วมสมัยและความเป็นไปได้ในการสร้างมานุษยวิทยาแห่งอัตวิสัย….

มานุษยวิทยาว่าด้วยการแต่งกาย (Anthropology of Dress and Fashion) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

ระหว่างนั่งรถ ผมคิดถึงเรื่องราวในคลาสบอดี้ …แล้วในชั้นเรียนมีนักศึกษาสนใจเรื่ิองรองเท้าและเสื้อผ้าแนววินเทจ จะทำมุมมองไหนดี นอกจากการสะสม การบริโภค มันเห็นมิติอื่นๆไหม ผมบอกว่า เราสามารถใช้มิติทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมมามองได้ ..เลยแนะนำหนังสือ Anthropology of Dress and fashion และAnthropology of used clothing and vintage clothing… มีข้อมูลระบุว่าจำนวนเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับที่พลเมืองยุโรปแต่ละคนสะสมเพิ่มขึ้น 40% ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และ 87% ของสินค้านั้นมักถูกเผาหรือฝังกลบ ซึ่งมาจากการย่อยสลายช้า ที่เชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมานานหลายทศวรรษ จำนวนน้อยกว่า 1% เท่านั้นที่ถูกใช้อีกครั้ง การรีไซเคิลและการนำซากสิ่งทอกลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์เป็นสองวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ดังเข่นในรายงานล่าสุดโดยคณะกรรมการรัฐสภายุโรปที่รับผิดชอบแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจที่บอกว่า “ การใช้เสื้อผ้ามือสอง สะท้อนวิธีที่ผู้คนกำจัดเสื้อผ้าที่ไม่ต้องการใช้ที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้การนำกลับมาใช้และขายใหม่แทนที่จะบริจาคเหมือนที่ผ่านมา“…. มีการประมาณการกันว่าในปี 2030 ตลาดแฟชั่นมือสองจะมีมูลค่าประมาณ 84,000 ล้านยูโร โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอที่เติบโตเร็วที่สุด มากจนเพิ่มประมาณการเป็นสองเท่าสำหรับแฟชั่นที่มีการบริโภคที่รวดเร็ว ดังนั้นการเปลี่ยนการใช้เสื้อผ้าใหม่เป็นมือสองจึงยังคงเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนระบบการผลิตและการบริโภคของผู้คนในอนาคต เบื้องหลังปรากฏการณ์ความห่วงใยต่อสุขภาพของผู้คน และสิ่งแวดล้อมของโลก แรงจูงใจที่แสดงออกมาอย่างมุ่งมั่นที่จะไม่สนับสนุนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอุตสาหกรรมสิ่งทออีกต่อไป แต่ก็แยบคายด้วยการถูกล่อลวงด้วยคุณค่าของความทันสมัยในสิ่งของที่เป็นวินเทจ และมีลักษณะพิเศษเฉพาะของสิ่งที่ถูกบริโภค ขณะนี้การซื้อที่ใช้ดูเหมือนจะสั่นคลอนความอัปยศของเสื้อผ้าด้วยเช่นกัน แต่มันก็เป็นทางออกสำหรับคนยากจน คำถามนี้ยังคงมีความเกี่ยวข้องกับความไม่มั่นคงที่คนรุ่นมิลเลนเนียลและเซนเทนเนียล(millennials & centennials ) จำนวนมากต้องเผชิญ นี่เป็นวิธีแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลงแต่ยังคงตามใจตัวเอง ด้วยการลดคุณภาพของเครื่องแต่งกายลงมา การแต่งกายแบบวินเทจจึงเกิดจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจไปจนถึงการใช้การแต่งกายเป็นเสมือนกลยุทธ์ด้านสุนทรียภาพของตัวผู้สวมใส่เองด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกัน การใส่เสื้อมือสอง ก็สะท้อนการตอบสนองอย่างมีจริยธรรม ภายใต้วงจรของการบริโภคสินค้ามือสองในอดีต ที่เริ่มต้นด้วยการกุศลและความยากจน ในการค้นหาเงินทุนสำหรับโครงการของพวกเขาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ดัเง่ขนการดำเนินงานของกลุ่มคริสเตียนในเครือ ที่ต่อมาได้สร้างความชอบธรรมให้กับธุรกิจเสื้อผ้ามือสองในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ความเชื่อมโยงด้านการกุศลที่เชื่อมโยงกับเสื้อผ้ามือสองจะหายไป ณ จุดขายต่อ เมื่อเสื้อผ้าที่ใช้แล้วเดินทางเข้าไปในตู้เสื้อผ้าของผู้สวมใส่ใหม่เพื่อเริ่มต้นชีวิตอีกขั้นหนึ่ง เดินทางจากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต การค้าและการบริโภคเสื้อผ้ามือสองไม่เพียงช่วยให้ผู้เข้าร่วมสนับสนุนการดำรงชีวิต แต่ยังได้สัมผัสกับความเป็นอยู่ที่ดีและสร้างอัตลักษณ์ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ในโลกตะวันตกร่วมสมัย กระบวนการนี้มักเกี่ยวข้องกับการรวมเอาเครื่องประดับและเสื้อผ้าที่เฉพาะเจาะจงเข้าไว้ในสไตล์การแต่งกายที่แตกต่างกัน เสื้อผ้ามือสองมีรูปแบบใหม่เมื่อผู้ซื้อเสื้อผ้าสไตล์วินเทจเริ่มหันไปหาร้านขายเสื้อผ้ามือสองสุดหรูที่ขายเสื้อผ้าแบบฝากขายจากคนรวยและคนดัง เมื่อวินเทจกลายเป็นแฟชั่น การส่งต่อและขายต่อเป็นเสื้อผ้าใหม่ การซื้อเสื้อผ้ามือสองเป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับวัยรุ่นและกลายเป็นกระแสอินเทรนด์ในเยอรมนีในศตวรรษที่ 21 ที่ปรากฏในฉากภาพยนตร์ นักดนตรี และวัฒนธรรมทางวัตถุในรูปแบบทศวรรษ 1960 ได้รับความนิยมจากคนหนุ่มสาวที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าจากทศวรรษ 1960 หรือเสื้อผ้าที่ทำเองซึ่งสร้างจากลวดลายเก่าๆ สไตล์ย้อนยุคนี้นำเสนอประวัติศาสตร์และความน่าเชื่อถือให้กับเสื้อผ้าที่ผู้สวมใส่สัมผัสได้ว่ามีเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัวของผู้สวมใส่ ในศตวรรษที่ 19 เสื้อผ้ามือสองกลายเป็นตลาดเสื้อผ้าสำหรับประชากรส่วนใหญ่ในยุโรปและอเมริกาเหนือ ยกเว้นกลุ่มที่มีฐานะร่ำรวยมาก ในยุคการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เสื้อผ้าที่ผลิตจำนวนมากในราคาไม่แพง การกระจายรายได้ที่กว้างขึ้น และกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประชากรกลุ่มใหญ่ซื้อเสื้อผ้ามือสองลดลง แม้ว่าผู้ที่มีรายได้น้อยยังคงร้านเสื้อผ้ามือสองบ่อยๆ ทั่วทั้งตะวันตกในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เสื้อผ้ามือสองโดยส่วนใหญ่สร้างตลาดชายขอบหรือเฉพาะกลุ่มสำหรับการซื้อเสื้อผ้าย้อนยุค วินเทจ หรือแบบพิเศษ ในขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เสื้อผ้ามือสองที่นำเข้าจากตะวันตกเป็นแหล่งเสื้อผ้าที่สำคัญ การบริโภคเสื้อผ้ามือสองมักถูกอธิบายว่าประกอบด้วยโลกสองใบที่แตกต่างกัน โลกหนึ่งคือโลกแห่งแฟชั่น และอีกโลกหนึ่งคือโลกแห่งความประหยัดมัธยัสถ์ จากนั้นการแบ่งแยกเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับความแตกต่างระหว่างประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา โดยซ่อนความน่าดึงดูดใจของเสื้อผ้ามือสองสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องการแต่งกายทั้งคนรวยและคนจน โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขา องค์กรการกุศลเป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพียงแหล่งเดียวที่ใหญ่ที่สุดที่ขับเคลื่อนการค้าเสื้อผ้ามือสองระหว่างประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคในโลกตะวันตกบริจาคเสื้อผ้ามากกว่าที่องค์กรการกุศลจะขายได้ในร้านขายเสื้อผ้ามือสอง องค์กรการกุศลจึงขายเสื้อผ้าที่มีในสต็อกจำนวนมากในราคาเทกองให้กับตัวแทนจำหน่ายเสื้อผ้ามือสอง ตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้คือผู้รีไซเคิล/คัดแยกสิ่งทอ คัดแยก คัดเกรด และอัดเสื้อผ้าใช้แล้วเป็นก้อนเพื่อส่งออก สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก และแอฟริกาเป็นภูมิภาคนำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในการค้าระหว่างประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 มีหลายประเทศในเอเชียและตะวันออกกลางที่เป็นผู้นำเข้าเสื้อผ้ามือสองรายใหญ่ การนำเข้าขนาดใหญ่ไม่เพียงแต่ส่งไปยังประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงยุโรปตะวันออกและญี่ปุ่นด้วย บางประเทศจำกัดหรือห้ามการนำเข้าเสื้อผ้ามือสองในเชิงพาณิชย์เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศ แนวทางปฏิบัติในการแต่งกายที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเสื้อผ้ามือสองนำเข้าในประเทศกำลังพัฒนามักถูกกล่าวถึงโดยผ่านแต่กลับถูกมองข้ามไปเนื่องจากการเลียนแบบแฟชั่นของตะวันตกที่จางหายไปและไม่ดี นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากมีแนวโน้มที่จะมองว่าการเติบโตของตลาดเสื้อผ้ามือสองในประเทศกำลังพัฒนาเป็นการตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย เรื่องราวดังกล่าวพลาดโอกาสที่การนำเข้าจำนวนมากนี้เสนอให้ผู้บริโภคตีความตัวเองผ่านการแต่งกายที่หลากหลายและเฉพาะมากขึ้น หรือในประเทศแซมเบีย ซึ่งเป็นประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ผู้บริโภคจากทุกระดับรายได้หันมาสนใจตลาดเสื้อผ้ามือสองอย่างกระตือรือร้น เมื่อมีการยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าในช่วงทศวรรษ 1980 ส่งออกโดยตัวแทนจำหน่ายในอเมริกาเหนือและยุโรป ตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรทุกเสื้อผ้ามือสองเป็นก้อนมาถึงท่าเรือในแอฟริกาใต้ โมซัมบิก และแทนซาเนีย และส่งไปถึงโกดังของผู้ค้าส่งในแซมเบียโดยรถบรรทุก ในไม่ช้าตลาดเสื้อผ้าเหล่านี้ก็เข้าถึงหมู่บ้านห่างไกล ทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่เพียงแต่สามารถแต่งตัว แต่ยังนำเสนอตัวเองอย่างมีสไตล์อีกด้วย ความดึงดูดใจของเสื้อผ้ามือสองสำหรับชาวแซมเบียที่ใส่ใจเรื่องการแต่งกายมีมากกว่าปัจจัยด้านราคาและคุณภาพดีเเท่านั้น แต่พวกเขายังค้นพบความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองด้วย ผู้บริโภคจึงหันไปหาตลาดเสื้อผ้ามือสองสำหรับเสื้อผ้าที่ไม่ธรรมดานี้ เสื้อผ้ามือสองที่มีอยู่มากมายและหลากหลายช่วยให้ผู้บริโภคสามารถสร้างเอกลักษณ์ของตนเองบนรูปแบบการแต่งกายที่เป็นที่ยอมรับทางวัฒนธรรมได้ แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเสื้อผ้ามือสองไม่ได้เลียนแบบแฟชั่นของตะวันตก แต่มุ่งหมายให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องเสื้อผ้ามีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้นด้วย ใน Ifugao การค้าข้ามพื้นที่หมุนเวียนผ่านช่องทางที่มีรากฐานมาจากแบบแผนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งได้รับคำแนะนำจากแนวคิดเกี่ยวกับสมาคมส่วนบุคคลที่ผู้ค้าสตรีใช้ในกิจกรรมทางธุรกิจของตน ในการเล่าเรื่องเกี่ยวกับเสื้อผ้ามือสอง ผู้ค้าปลีก ผู้ขาย และผู้บริโภคเชื่อมโยงระหว่างผู้คนกับเสื้อผ้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เรื่องราวดังกล่าวสะท้อนถึงตรรกะของตลาดและความหมายของสินค้านี้ในแง่ของบรรทัดฐานด้านสถานะและคุณค่าในท้องถิ่น และในกระบวนการนี้ เรื่องราวเหล่านั้นได้เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้น การผสมผสานเสื้อผ้ามือสองเข้ากับสไตล์ที่แสดงความรู้เกี่ยวกับการแต่งกายในวงกว้างหรือล้มล้างความหมายที่ได้รับ ผู้ค้าและผู้บริโภคสร้างความหมายใหม่เกี่ยวกับสินค้านำเข้านี้เพื่อตอบสนองอัตลักษณ์ส่วนบุคคลและชุมชน ในขณะที่อินเดียจะห้ามการนำเข้าเสื้อผ้ามือสอง แต่ก็อนุญาตให้นำเข้าเส้นใยขนสัตว์ ซึ่งในจำนวนนี้เรียกว่า "mutilated hosiery" ซึ่งเป็นคำทางการค้าสำหรับเสื้อผ้าขนสัตว์ที่ถูกทำลายด้วยเครื่องจักรในประเทศตะวันตกก่อนส่งออก ผ้าที่นำเข้า "ขาดวิ่น" (mutilated ) เหล่านี้จะถูกจัดเรียงตามช่วงสี ฉีกเป็นชิ้น สาง และปั่น ก่อนที่จะปรากฏอีกครั้งที่กลายเป็นด้ายที่ใช้สำหรับผ้าห่ม เส้นด้ายสำหรับถัก และผ้าขนสัตว์สำหรับการบริโภคในท้องถิ่นและการส่งออก อินเดียยังมีตลาดเสื้อผ้ามือสองขนาดใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในตู้เสื้อผ้า การเปลี่ยนเสื้อผ้าตามวงจรชีวิตของบุคคล และการส่งต่อให้กับคนรับใช้และญาติ กระบวนการนี้ทำให้เกิดการรีไซเคิลเสื้อผ้าอินเดียภายในประเทศจำนวนมากโดยการแลกเปลี่ยน การบริจาค และการขายต่อ ในที่นี้ สาระสำคัญของเสื้อผ้าทำหน้าที่เป็นทรัพยากรเชิงกลยุทธ์สำหรับการทำลายและการสร้างบุคคลและอัตลักษณ์ขึ้นมาใหม่ ในขณะเดียวกันเสื้อผ้าเหล่านี้มีความหมายว่าเป็นเสื้อผ้าที่กบฏและกบฏ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการดูหมิ่น ท้าทายและต่อสู้ ชนชั้นกระฎุมพีและระบบทุนนิยม เช่น เสื้อที่มีคำคมเหน็บแหนมเสียดสี เสื้อที่สกรีนอัลบั้มของวงดนตรีร็อค พังก์ กรันด์ที่ต้องการต่อต้านดนตรีคลาสสิค หรือหน้าบุคคลสำคัญในทางการเมืองอย่าง เชกูวาร่า ศิลปินฮิปปี้อย่างเจมี่ เฮนดริกซ์ เป็นต้น ดังนั้นเสื้อผ้าเหล่านี้มีความหมายกว่าแค่เสื้อผ้าที่สวมใส่ ..

The Three Ecologies ของ Guattari โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

Guattari’S The Three Ecologies ความพยามของ Guattari คือการเชื่อมโยงระบบนิเวศสามส่วน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และจิตใจ เข้ากับชุดของความสัมพันธ์ที่เขาเรียกว่า Ecosophy ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องการเคลื่อนไหว ระบบนิเวศเชิงลึก (Deep ecology) แบบที่ไม่รู้ตัว " หรือEcosophyของ Arnold Naess ซึ่งเขาเขียนว่า “…มีเพียงการเชื่อมโยงทางจริยธรรมและการเมืองเท่านั้น ซึ่งผมเรียกว่า Ecosophy ระหว่างความสำคัญของความสัมพันธ์ทางนิเวศทั้งสามด้าน คือสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ทางสังคม และความเป็นอัตวิสัยของมนุษย์ เท่านั้นที่จะให้ความกระจ่าง เกี่ยวกับอันตรายทางนิเวศที่เผชิญหน้าเราอยู่ “ (หน้า 27) เป้าหมายในการวิพากษ์วิจารณ์ของ Guattari คือสิ่งที่เขาเรียกว่าระบบทุนนิยมโลกแบบบูรณาการ (Integrated World Capitalism หรือคำย่อว่า IWC) ซึ่งผ่านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์หลายครั้ง ได้นำเราไปสู่ขอบเขตแห่งหายนะทางระบบนิเวศ ก่อให้เกิดความไม่สมดุลของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของโลกซึ่งดึงเอาผู้คนจำนวนมากไป รวมถึงคนรุ่นต่อไปที่จะทำให้เกิดการฟื้นตัว นั่นคือ ทุนนิยมโลกบูรณาการ ดังที่ Pindar และ Sutton (2000: 6) อธิบายไว้ว่า “…การถูกแยกออกจากท้องถิ่นและถูกทำให้เสื่อมโทรมลงจนไม่สามารถระบุถึงแหล่งที่มาของอำนาจได้” เหนือสิ่งอื่นใด IWC กลายเป็นระบบทุนนิยมขั้นที่สี่ ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การผลิตระดับปฐมภูมิ (เกษตรกรรม) ระดับทุติยภูมิ (การผลิตแบบอุตสาหกรรม) หรือระดับตติยภูมิ (การบริการ) อีกต่อไป แต่ในปัจจุบันนี้มุ่งเน้นไปที่การผลิต "เครื่องหมาย(sign) ไวยากรณ์(syntax) และ ... อัตวิสัย (subjectivity) " (หน้า 47) วิทยานิพนธ์ส่วนหนึ่งของ Guattari สะท้อนให้เห็นการขยายตัวของเทคโนโลยีการสื่อสาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาโทรคมนาคมของโลก ได้ก่อให้เกิดรูปแบบใหม่ของอัตวิสัยที่ไม่โต้ตอบหรือไร้การโต้ตอบ ซึ่งทำให้จิตใต้สำนึกสอดคล้องหรือเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ดังนั้น IWC จึงก่อให้เกิดภัยคุกคามโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เช่น มลพิษทุกรูปแบบ การสูญพันธุ์และการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง เป็นต้น เวลาเราพูดถึงนิเวศวิทยา เรามักจะนึกถึง มิติทางสิ่งแวดล้อม มิติทางเศรษฐกิจ หรือมิติของระบบนิเวศทางสังคมและการเมืองเชิงปฏิบัติ สิ่งที่มักไม่ได้รับการยอมรับกันนักคือสิ่งที่ Guattari เรียกว่านิเวศวิทยาทางจิต (mental ecology ) ทั้งวิธีที่โครงสร้างอัตวิสัยของมนุษย์ที่ถูกอ้างถึง มักจะย้ำความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับสายพันธุ์หายาก การต้องปฎิบัติภายใต้การดูแลเรื่องการสูญพันธุ์เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตขนิดอื่นๆ Guattari นำเสนอเกี่ยวกับขอบเขตของการทำความเข้าใจความเป็นอัตวิสัยของมนุษย์ในแง่นิเวศวิทยา ในการยอมรับ “นิเวศวิทยาของจิตใจ” นี้ เขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากนักมานุษยวิทยา Gregory Bateson โดยเฉพาะ Steps Towards the Ecology of Mind (1972) แท้จริงแล้ว Guattari (2000: 27) เริ่มต้นด้วยคำพูดจากบทความของ Bateson เรื่อง “พยาธิวิทยาของญาณวิทยา” (Pathologies of Epistemolog ) จากบทความชุดเดียวกันที่ว่า “มีระบบนิเวศของความคิดที่ไม่ดี (Bad Idea ) เช่นเดียวกับที่มีระบบนิเวศของวัชพืช” (ecology of weeds ) ความสำคัญของข้อโต้แย้งของเบตสัน คือการวิพากษ์วิจารณ์ "การเข้าใจผิดทางญาณวิทยา" (epistemological fallacy ) ที่โดดเด่นในความคิดของชาวตะวันตกว่าหน่วยของการอยู่รอดในอนุกรมวิธานทางชีวภาพคือปัจเจกบุคคล วงศ์ตระกูล ชนิดย่อย หรือชนิดพันธุ์ เมื่อหน่วยความอยู่รอดคือ “สิ่งมีชีวิตบวกสิ่งแวดล้อม”(organism plus environment) การเลือกหน่วยวิเคราะห์ที่ไม่ถูกต้องนำไปสู่ข้อผิดพลาดทางญาณวิทยาที่แพร่กระจายตัวเอง เพิ่มทวีคูณและกลายพันธุ์ ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานของระบบความคิดที่หน่วยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบความคิดและการจัดลำดับชั้น ซึ่ง นำไปสู่แนวคิดเรื่องสายพันธุ์ที่ขัดแย้งกัน ซึ่งก็คือ มนุษย์ต่อต้านธรรมชาติ ซึ่งเป็นมุมมองที่ได้รับการเสริมกำลังด้วยอุดมการณ์และการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย ตามคำกล่าวของเบตสัน ที่บอกว่า “ตอนนี้เราเห็นลำดับชั้นของหน่วยที่แตกต่างกัน ( hierarchy of units) เช่น ยีนในสิ่งมีชีวิต ( gene-in-organism ) สิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อม (organism-in-environment) ระบบนิเวศ( ecosystem ) ฯลฯ ในความหมายที่กว้างที่สุด นิเวศวิทยากลายเป็นการศึกษาปฏิสัมพันธ์และความอยู่รอดของความคิดและโปรแกรม (เช่น ความแตกต่าง ความซับซ้อนของความแตกต่าง ฯลฯ) ในวงจร (Bateson, 1972: 484, อ้างถึงใน Guattari, 2000; 70) ดังนั้น สำหรับ Guattari เราจะต้องนึกถึงระบบนิเวศในฐานะอาณาจักรที่รวมเอาสิ่งแวดล้อม สังคม และจิตใจ (ความซับซ้อนของ สิ่งแวดล้อม-สังคม-จิต) มุมมองเชิงนิเวศปรัชญาเกี่ยวกับอัตวิสัยของเขา โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นผลผลิตจากการฝึกฝนตามแนวทางแบบ Lacanian ของเขา หรือประสบการณ์การทำงานของเขาในฐานะที่เป็นนักจิตวิเคราะห์ และความพยายามของเขาในการปรับทิศทางลัทธิฟรอยด์ใหม่ไปสู่อนาคต (ดู Genosko, 2000: 156) ดังนั้น ในขณะที่ระบบนิเวศทั้งสามยังคงรักษากลุ่มสามกลุ่มของฟรอยด์แบบเก่า (id, ego, superego) ไว้ แต่กลับแยกตัวออกจากฟรอยด์ในการทำความเข้าใจความเป็นอัตวิสัยตามแนวคิดของเขาเรื่อง "การเดินทางข้ามผ่าน" (traversality ) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในปี 1964 และ Guattari พัฒนาขึ้นตลอดช่วงชีวิตของ แนวความคิดแบบ transversalist ของ Guattari ในเรื่องความเป็นอัตวิสัยนั้นหลีกหนีจากความแตกต่างระหว่างปัจเจกชนและสังคม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นในฐานะบุคคลหรือปัจเจกบุคคล ความเป็นส่วนตัวนั้นเป็นทั้งเรื่องของส่วนรวม (collective) และการผลิตเองอัตโนมัติ( auto-producing) ดังที่ Genosko (2000: 146) อธิบายและแสดงให้เห็นแนวติดนี้อย่างชัดเจน ในแนวคิดเชิงโครงสร้างนิยม(structuralism) ของ Guattari ซึ่งเขาปฏิเสธขั้นตอนทางจิตพันธุศาสตร์(psychogenetic stage ) ของฟรอยด์ เพื่อสนับสนุนแนวคิดแบบโพลีโฟนิก(polyphonic ) เกี่ยวกับอัตวิสัยของระดับที่ดำรงอยู่ร่วมกันซึ่งทำให้เขาหันกลับมาต่อต้าน Lacanism (แม้ว่าเขาจะคงวัตถุบางส่วนไว้) และนำไปสู่ความร่วมมือทางทฤษฎีของเขากับ Deleuze และเหนือสิ่งอื่นใดคือการปฏิเสธลัทธิวิทยาศาสตร์ทุกรูปแบบ ในขณะที่ Guattari ต่อต้านลัทธิวิทยาศาสตร์ในด้านจิตวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรแกรมและแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์หลอกล่อ ตกแต่ง และปกคลุมด้วยแนวคิดที่ยืมมาจาก thermodynamics , topology, linguistics และ systems theor และความระมัดระวังในเทคโนวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน Guattari ก็ไม่กลัวเทคโนโลยีหรือต่อต้านเทคโนโลยี(technophobic or anti-technology) ตัวอย่างเช่น เขาเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตมีศักยภาพในการทำให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย …ในด้านจิตวิเคราะห์ เขาสนับสนุนให้เราละทิ้งคำอุปมาอุปไมยทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด และสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ที่มีจริยธรรมและสุนทรียภาพ โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก Goerthe, Proust, Joyce, Artaud และ Beckett ซึ่งเขาอธิบายว่านักคิดเหล่านี้เป็น "นักทำแผนที่ที่ดีที่สุดที่เกี่ยวกับจิตใจ" (best cartographers of the psyche) เขาเน้นย้ำถึงการประเมินจิตวิเคราะห์อีกครั้งซึ่งก่อให้เกิดทั้งกระบวนทัศน์ทางจริยธรรมและสุนทรียศาสตร์ โดยเน้นย้ำความรู้สึกใหม่ของ "การมีส่วนร่วม" และความจริงที่ว่าในสาขาจิตเวชปฏิบัติ ทุกสิ่งจะต้องได้รับการคิดค้นใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ความเข้าใจของGuattari ในเรื่องอัตวิสัยนั้นแตกต่างจากประเพณีของลัทธิคาร์ทีเซียน หรือนิยมแนวคิดแบบเดการ์ต ที่จะพูดถึงองค์ประกอบของอัตวิสัยมากกว่าตัวอัตวิสัย และเพื่อเน้นความแตกต่างระหว่างปัจเจกบุคคลและอัตวิสัย เขาบอกว่า “…ความเป็นอัตวิสัยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวบุคคล ซึ่งในความเป็นจริงแล้วดูเหมือนจะเป็นเหมือน "ปลายทาง" … ความเป็นภายในสร้างตัวเองขึ้นที่ทางแยกขององค์ประกอบหลายส่วน แต่ละองค์ประกอบค่อนข้างเป็นอิสระในการเชื่อมโยงกัน และหากจำเป็น ก็อยู่ในความขัดแย้งที่เปิดกว้าง” ปล. ความคิดซับซ้อนต้องอ่านทำความเข้าใจให้มากขึ้น ในการนำไปใช้ **References** Bbatson, Gregory (1972) Steps to an Ecology of Mind. New York: Ballantine. Deleuze, Gilles & Guattari, Félix (1984) Anti-Oedipus: Capitalism and Schizophrenia I. Trans. Robert Hurley, Mark Seem & Helen R. Lane. London: The Athlone Press. Deleuze, Gilles & Guattari, Félix (1988) A Thousand Plateaus: Capitalism and Schizophrenia II. Trans. Brain Massumi. London: The Athlone Press. Deleuze, Gilles & Guattari, Félix (1994) What is Philosophy? Trans. Hugh Tomlinson & Graham Burchell. New York: Columbia University Press. Genosko, Gary (2000) The Life and work of Félix Guattari: From Transversality to Ecosophy”. In: Félix Guattari, The Three Ecologies. Trans. Ian Pindar & Paul Sutton, London & New Brunwick, NJ: The Athlone Press: 106-60. Guattari, Félix (2000) The Three Ecologies. Trans. Ian Pindar & Paul Sutton, London & New Brunwick, NJ: The Athlone Press. .

สุวรรณภูมิในมุมมองทางมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

ผมว่าเวลาเราพูดถึงสุวรรณภูมิ เราต้องไม่ลืมว่าสุวรรณภูมิไม่ใช่แค่พื้นที่ ช่วงเวลา หรือเพียงวัตถุที่สะท้อนร่องรอยของประวัติศาสตร์ เท่านั้น แต่จุดที่เชื่อมโยงสุวรรณภูมิคือวัฒนธรรม ทั้งภาษา ศาสนา ความเชื่อและ วิถีชีวิตของผู้คนที่เชื่อมโยงกับคนกลุ่มอื่นๆ สุวรรณภูมิ เป็นความสัมพันธ์ของพื้นที่ วัตถุ และผู้คน เวลาพํดถึงสุวรรณภูมินอกจากคำถามที่ว่าสุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน หน้าตาสุวรรณภูมิเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับที่อื่นๆที่ร่วมสมัยเดียวกัน หรือประเทศไทยอยู่ส่วนไหนของสุวรรณภูมิ ผมมองว่า สุวรรณภูมิ เปลี่ยนแปลงไปแต่ละยุคสมัย ผู้คนในสุวรรณภูมิมีการปะทะสังสรรค์กันอย่างหลากหลาย ทั้งด้านศาสนาและการค้า ผู้คนในปัจจุบันผู้คนมีสำนึกต่อสุวรรณภูมิอย่างไร ใครคือผู้คนในสุวรรณภูมิ หรือผู้คนในสุวรรณภูมิมีใครบ้าง สุวรรณภูมิ ในปัจจุบันคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีทั้งความแตกต่างหลากหลายของผู้คน มีความขัดแย้ง มีความร่วมมือ มีระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ดินแดนสุวรรณภูมิอาจไม่ใช่ดินแดนของทองคำ แต่อาจเป็นพื้นที่ของความเจริญรุ่งเรืองทสงวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ ข้าว ปลาอาหาร หรือเกลือ เป็นต้น ผมพยามเชื่อมโยงสมมติฐานดังกล่าว กับการศึกษาในปัจจุบัน ของ Charles Hirschman (1984) ได้ให้ข้อสมมติฐานเกี่ยวกับกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงทางชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในมิติเชิงประวัติศาสตร์ ที่เกิดจากการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวกับประเด็นในเชิงเชื้อชาติและชาติพันธุ์ในพื้นที่ทางสังคมที่หลากหลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ได้เป็น 4 ประเด็นดังนี้ 1. การเกิดขึ้นของสังคมสมัยใหม่ (The Rise of Modern Societies) ที่เชื่อมโยงกับการค้าและการคมนาคมที่มีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการแยกตัวเองไปสู่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคนกลุ่มอื่น รวมทั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเมือง การมีปฏิสัมพันธ์และการติดต่อจะนำไปสู่การกัดกร่อน การทำลายกำแพงทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่ม 2. ชนกลุ่มน้อย (Minority Group) มีความคาดหวังที่จะกลืนกลายกับกลุ่มหลักหรือกลุ่มที่มีอำนาจ หากได้รับผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจสังคมที่จะทำเช่นนั้น โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ถ้าหากกลุ่มที่มีอำนาจเหนือกว่าไม่สร้างอุปสรรค หรือกำแพงทางสังคม การผสมผสานทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยสามารถดำเนินการได้ 3. อุดมการณ์แบ่งแยกเชื้อชาติและการปฏิบัติ (Racist Ideology and practice) สามารถทำให้เกิดการปะทุโดยความขัดแย้งจากความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจ โดยความเป็นไปได้ของโครงสร้างที่เป็นไปได้คือ 3.1 การขูดรีดแรงงานจากคนงานและชาวไร่นาโดยชนชั้นนำที่มีต่อคนกลุ่มน้อยอื่นๆ 3.2 การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ และการแบ่งแยก การจัดตำแหน่งแห่งที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ 3.3 แรงเสียดทานที่เกิดขึ้นจากบทบาทของผู้ประกอบการที่เป็นชาติพันธ์หนึ่งในชุมชนที่กว้างใหญ่ที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย 3.4 การแข่งขันระหว่างชนชั้นแรงงานสองกลุ่มที่ถูกกำหนดภายใต้ความเป็นชาติพันธุ์ที่ต้องเล่นบทบาทแข่งขันกับคนกลุ่มอื่นๆภายใต้ระบบนายจ้าง 4. มิติในด้านประชากร ทั้งในเรื่องของขนาด ความหนาแน่นของประชากร สัดส่วนเรื่องเพศ การแบ่งเขตพื้นที่ รวมถึงผู้เข้ามาใหม่ สามารถเป็นปัจจัยสำคัญของการชะลอ การเร่งหรือการส่งเสริมให้เกิดการแบ่งแยก ในระหว่างรุ่นที่หนึ่งหรือรุ่นที่สอง ในระยะยาวปัจจัยเหล่านี้จะสัมพันธ์กับการไหลเข้ามาของผู้อพยพอย่างต่อเนื่อง ในยุคก่อนการล่าอาณานิคม (The Precolonial Era) ภูมิศาสตร์ที่น่ากลัวกลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญ ที่ยับยั้งการเคลื่อนย้ายอย่างง่ายดายและการขยายตัวทางการเมืองในระดับภูมิภาคที่ทำให้ปราศจากการครอบงำทางอำนาจ พื้นที่มีความหลากหลายทางภาษา และไม่มีกลุ่มทางวัฒนธรรมที่เหนือกว่า รวมทั้งข้อกำหนดในทางนิเวศวิทยาที่มีความสมบูรณ์และความรู้เกี่ยวกับด้านการเกษตร ในช่วงนั้นยังไม่ปรากฏการผสมผสานทางชาติพันธุ์มากนักและยังไม่ปรากฏการร่วมมือกันระหว่างชาติพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงสำคัญในสิ่งที่ Hirschman ชี้ว่าการเติบโต การแพร่ขยายและความเข้มแข็งทางการเมือง วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ มีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะและประกอบสร้างให้เกิดการซึมซับวัฒนธรรมของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์เข้าด้วยกัน ที่ทำให้ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ขอบนอกเข้ามาติดตามผู้ครอบงำหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง การสูญเสีย ภาษาและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่ไม่น่าพึงปรารถนาสำหรับคนรุ่นแรกๆในการสร้างอัตลักษณ์แบบใหม่ ดังเช่นร่องรอยในกระบวนการของประเทศมาเลเซียที่คนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นมุสลิมเพื่อให้ได้รับการเข้าถึงอัตลักษณ์ของมาเลย์ (Malay Identity) ดังกรณีเช่น การตั้งถิ่นฐานของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสัมพันธ์กับศักยภาพทางการค้าของจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานของคนจีนในประเทศเหล่านี้ การทำหน้าที่หรือการทำบทบาทการเป็นพ่อค้นของคนจีนยังไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงแรก จนเมื่อมีการปรากฏขึ้นของตลาดโลกและอาณานิคมตะวันตก ชาวจีนจึงเข้ามามีบทบาทในฐานะของพ่อค้าคนกลาง โดยการเข้ามามีบทบาทสำคัญของคนจีนที่มีลักษณะเป็นผู้อพยพ ทำให้เกิดโอกาสในทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในลักษณะต่างๆ เช่น การทำเหมืองทองคำในบอร์เนียว) การเพาะปลูกข้าวในชวา การปลูกพริกไทยในกัมพูชา และเกิดการจ้างงานเพื่อปลูกไม้ยืนต้นทางเศรษฐกิจ ในสุมาตราและในมาเลเซีย เป็นต้น

มานุษยวิทยากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภาพภูมิอากาศ (Anthropology of Climate Change) ตอนที่ 1 โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

ผมกำลังเริ่มร่างไอเดีย การเขียนบทความชิ้นนี้ (ต้องขอบคุณเพื่อนผมคนหนึ่งที่ได้กระตุ้นให้เขียนและเปิดประเด็น) จริงๆผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้เอาไว้ 3 ตอน ตอนแรกเป็นการรีวิวแนวคิดเบื้องต้นในเรื่องมานุษยวิทยากับประเด็น Climate Change ความสำคัญและความจำตอนเป็น ตอนที่2 เกี่ยวกับตัวอย่างงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ Anthropology of climate change และตอนสุดท้ายผมจะลองประยุกต์ความคิดนี้กับงานภาคสนามชุมชนกะเหรี่ยงที่ตัวเองศึกษา **ตอนแรก …แนวคิด มุมมองเรื่องมานุษยวิทยาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ….*** จากกรณีที่ผู้คนในหมู่บ้าน Dhye ในเทือกเขาหิมาลัยในเนปาล ซึ่งตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 12,000 ฟุต พวกเขาต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิตมาอย่างยาวนาน แต่ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ธารน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น และพื้นที่ที่ชาวบ้านปลูกพืชผลก็แห้งแล้งและแห้งแล้ง…ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านรวมตัวกันเพื่อตัดสินใจว่าควรอยู่หรือย้าย 17 จาก 26 ครอบครัวตัดสินใจออกจากหมู่บ้าน… Tsering Larkke Gurung หญิงขาวบ้าน Dhye ได้สะท้อนความรู้สึกไว้ในบทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ The New York Times ที่บอกว่า “ฉันอยู่ไม่ได้ ฉันและลูกๆ ไม่สามารถอยู่รอดจากความล้มเหลวของพืชผลได้” ชาวบ้านที่นี่จึงได้อพยพลงมาเนินเขา เป็นระยะทางเกือบหนึ่งไมล์เพื่อไปยังจุดที่มีน้ำเพียงพอ แต่การเลี้ยงจามรีที่พวกเขาทำมาหลายชั่วอายุคนนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในการตั้งถิ่นฐานใหม่ของพวกเขา เนื่องจากพวกเขาไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมายในทุ่งเลี้ยงสัตว์ ความสำคัญของจามรีไม่เพียงแต่จัดหาขนและนมให้กับคนในชุมชนเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญทางวัฒนธรรมอีกด้วย สำหรับคนในหมู่บ้าน Dhye นั้น การไม่สามารถเลี้ยงจามรีได้อีกต่อไปแสดงถึงการสูญเสีย วัฒนธรรม เอกลักษณ์ของชุมชน และความรู้สึก ความทรงจำเกี่ยวกับสถานที่ของพวกเขาด้วย ดังนั้น การศึกษาทางมานุษยวิทยา สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงและความเชื่อมโยงงานทางมานุษยวิทยากับปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ… มานุษยวิทยากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านเลนส์มานุษยวิทยา ที้ครอบคลุมความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน โดยใช้การผสมผสานทั้ง ประวัติศาสตร์ศาสตร์ โบราณคดี วิทยาศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา การวิเคราะห์ทางมานุษยวิทยาร่วมสมัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมักจะมุ่งเน้นไปที่การปรับตัวต่อสภาพอากาศ อุณหภูมิ น้ำท่วม ปริมาณน้ำฝน และความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น (Crate 2011:178) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อกรอบหรือมโนทัศน์ทางวัฒนธรรมที่ผู้คนรับรู้ เข้าใจ มีประสบการณ์ และตอบสนองต่อโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่ Crate เชื่อว่าเนื่องจากความสามารถของนักมานุษยวิทยาในการเข้าไปอยู่ "อยู่ที่นั่น" (Being There) ในการทำงานสนาม นักมานุษยวิทยาจึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะตีความ อำนวยความสะดวก การแปลความ การสื่อสาร การสนับสนุน และการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อผลกระทบทางวัฒนธรรมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก (และระดับท้องถิ่น) การทำความเข้าใจบทบาทของผู้คนและวัฒนธรรมในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดการมีส่วนร่วมของมานุษยวิทยากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักมานุษยวิทยาและนักวิทยาศาสตร์จากสาขาวิชาที่เป็นพันธมิตรต้องมีส่วนร่วมในแนวทางข้ามระดับท้องถิ่นและระดับโลกอย่างเข้มข้น เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Crate 2011:176) โดย Crate (2011) กระตุ้นให้นักมานุษยวิทยาใช้ประสบการณ์ในการวิจัยชุมชนตามสถานที่ท้องถิ่นและนำตัวอย่างของข้อมูลนำไปใช้กับระดับโลก โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากงานชาติพันธุ์วิทยา และชาติพันธุ์วรรณนา ในเรื่องความสามารถในการฟื้นตัว ภัยพิบัติ การพลัดถิ่น และการจัดการทรัพยากร ด้วยการศึกษาผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความไวหรืออ่อนไหวต่อสภาพอากาศ (climate-sensitive ) นักมานุษยวิทยาสามารถบันทึกวิธีที่ผู้คนสังเกต รับรู้ และตอบสนองต่อผลกระทบในท้องถิ่นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งในบางครั้งสามารถประนีประนอมไม่เพียงแต่การดำรงชีวิตทางกายภาพของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังบ่อนทำลายรสนิยมทางวัฒนธรรมและการทำงานของพวกเขาด้วย (Crate 2011:179) แม้ว่าผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อสภาพอากาศของมนุษย์จะเป็นปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เอง แต่แท้จริงแล้วการตระหนักรู้ว่าสภาพอากาศมีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ หนึ่งในผู้ก่อตั้งวิชาการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่าง ฮิปโปเครติส (เขาเกิดในช่วง 460 ปีก่อนคริสตศักราช) ได้เขียนบทความชื่อ Airs, Waters and Places ซึ่งได้อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และสภาวะของมนุษย์ (Dove 2004) เขาถือว่าอารมณ์มีความสัมพันธ์กับสภาพอากาศ ภัยแล้ง ฝน คลื่นความร้อน และการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลโดยทั่วไปมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพของมนุษย์ ในเวลาต่อมา ในระหว่างการงอกงามทางความรู้นี้ นักทฤษฎีสังคมอย่าง มงเตสกีเยอ (ค.ศ. 1689-1755) ก็มองเห็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสภาพภูมิอากาศกับชีวิตทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มงเตสกีเยอเชื่อว่าอากาศเย็นทำให้ผู้คนแข็งแรง ในขณะที่ความร้อนทำให้พวกเขาเซื่องซึม ซึ่งเขาถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมากในซีกโลกตะวันตกแบะตะวันออก นักทฤษฎีสังคมรุ่นหลังๆ มองว่ามันคือปัจจัยกำหนดสิ่งแวดล้อมแบบง่ายๆ สิ่งใหม่ในยุคปัจจุบันคือการรับรู้ถึงผลกระทบของมนุษยชาติที่มีต่อสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตบนโลกในอนาคต ในสาขานี้ นักมานุษยวิทยากำลังมีส่วนสำคัญต่อความรู้และนโยบายสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะพิจารณาการมีส่วนร่วมเหล่านี้ จำเป็นต้องทบทวนบริบทที่กว้างขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อกังวลร่วมสมัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น สถานการณ์ในปัจจุบันในช่วงศตวรรษที่ 21 การครอบงำโลกโดยมนุษย์ทำให้คำว่า 'แอนโทรโปซีน' กลายเป็นที่แพร่หลายในฐานะสัญลักษณ์ในยุคปัจจุบันอยู่ไม่น้อยเพราะผลกระทบที่มนุษย์มีต่อสภาพภูมิอากาศโลก ( Chua & Fair 2019) นี่เป็นคำที่มีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย และทำให้เกิดยุคที่เรียกว่าโฮโลซีน ซึ่งเริ่มด้วยการสิ้นสุดยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณ 11,500 ปีก่อน และเกิดขึ้นหลังจากยุคไพลสโตซีนที่มีอายุราวสองล้านปี เราอยู่ในยุคนี้ที่นับตั้งแต่เริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ที่มีความโดดเด่นด้วยกิจกรรมของมนุษย์และการขยายตัวในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและนิเวศวิทยา รวมถึงอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ ยังคงเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราอาจพูดถึงความเร่งเร็วของการผลิตตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 หรือเพียงแค่เรื่องความร้อนที่สูงเกินไปทั่วโลกเท่านั้น (Eriksen 2016) สถานการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่สำคัญสำหรับเราทุกคน ไม่ว่าเราจะระบุตัวตนเป็นกลุ่มเครือญาติ ชาติ ศาสนา มนุษยชาติ หรือระบบนิเวศของดาวเคราะห์ทั้งหมด Anthropocene เป็นสิ่งที่น่าสนใจคือ การพูดถึงแนวคิดทางมานุษยวิทยาและความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ปัญหาของสภาพแวดล้อมกับมุมมองทางมานุษยวิทยา ที่เป็นหัวข้อในการบรรยายสำคัญของ Bruno Latour ต่อสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกันในปี 2014 และSayre ก็ได้อธิบายว่ามานุษยวิทยาเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่มนุษยชาติเริ่มครอบงำ แทนที่จะอยู่ร่วมกับโลก "ธรรมชาติ" (Sayre 2012:58) สิ่งที่กำหนดแอนโธรโปซีนว่าเป็นยุคหรือยุคสมัยที่ชัดเจนคือเมื่อกิจกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (ส่วนใหญ่มักถือช่วงเวลาของการปฏิวัติอุตสาหกรรม) จากการมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมในบางส่วนไปสู่การครอบงำสิ่งแวดล้อมในหลายๆ ด้าน เห็นได้จากการเติบโตของประชากร การขยายตัวของเมือง เขื่อน การขนส่ง การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การตัดไม้ทำลายป่า และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป ผลกระทบด้านลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมนุษย์สามารถวัดได้ในเกือบทุกมุมโลก ผลจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้มนุษย์ ภูมิอากาศ ดิน และสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์เริ่มพังทลายลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในสถานการณ์สมมตินี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะแยก "สังคม" ออกจาก "ธรรมชาติ" (Sayre 2012:62) Sayre กล่าวว่าบทบาทของมานุษยวิทยาที่ทำงานร่วมกับวิทยาศาสตร์หรือศาสตร์อื่นๆ ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุคแอนโทรโปซีน…ก็คือการเข้าใจว่าไม่มีการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่ถือว่าเป็นธรรมชาติและวัฒนธรรมออกจากกันอย่างเด็ดขาด การทำความเข้าใจความผันผวนในระบบนิเวศของโลกไม่สามารถอธิบายหรือเข้าใจได้หากไม่ขจัดการแบ่งแยกทางอุดมการณ์ระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม มานุษยวิทยาคือการเชื่อมโยงสิ่งที่รู้หรือความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับผู้ที่ไม่ตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำความเข้าใจทั่วโลกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Crate 2011:184) จุดแข็งของมานุษยวิทยาในการอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่นและโลกในระบบภูมิอากาศโลกที่ได้รับอิทธิพลจากมนุษย์ได้รับการแสดงให้เห็นในหนังสือ งานวิจัยและบทความหลายฉบับ ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมนุษย์อย่างชัดเจน การทำความเข้าใจความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างกลไกการปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสมนั้น จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและสังคมศาสตร์ที่หลากหลาย วิธีการทำงานภาคสนามเชิงลึกของมานุษยวิทยา การมีส่วนร่วมเป็นเวลานานในคำถามเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับสิ่งแวดล้อม และมุมมองสังคมแบบองค์รวมในวงกว้าง ทำให้เกิดข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ผลกระทบ และนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การวิจัยทางมานุษยวิทยาสามารถเพิ่มพูนและเพิ่มความเข้าใจร่วมสมัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้ เนื่องจากจุดเน้นในการทำความเข้าใจมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ถือเป็นความท้าทายมากที่สุดต่อปัญหาใหญ่ที่มนุษยชาติเผชิญอยู่ในศตวรรษนี้ ความหมายของสิ่งนี้กลายเป็นทั้งข้อกังวลสำคัญ ความคาดหวังในศาสตร์ทางมานุษยวิทยา และการตั้งคำถามที่ตามมาว่าเหตุใดการมีส่วนร่วมของมานุษยวิทยาจึงมีความสำคัญต่อการศึกษาแบบสหวิทยาการและการมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นบนโลก อ้างอิง Chua, L. & H. Fair 2019. Anthropocene. In Cambridge Encyclopedia of Anthropology (eds) F. Stein, S. Lazar, M. Candea, H. Diemberger, J. Robbins, A. Sanchez & R. Stasch (available on-line: http://doi.org/10.29164/19anthro). Crate, S.A. 2008. Gone the bull of winter? Grappling with the cultural implications of and anthropology’s role(s) in global climate change. Current Anthropology 49, 569-85. ——— & M. Nuttall (eds) 2009. Anthropology and climate change: from encounters to actions. Walnut Creek, Calif.: Left Coast Press. ——— & M. Nuttall (eds) 2016. Anthropology and climate change: from encounters to actions. 2nd ed. London: Routledge. Dove, M.R. (ed.) 2013. The anthropology of climate change: an historical reader. Chichester: John Wiley & Sons. Eriksen, T.H. 2016. Overheating: an anthropology of accelerated change. London: Pluto. รออ่านตอน2 ตั้งใจหยุดปีใหม่ ต้องได้บทความ 1 ชิ้น

มานุษยวิทยากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ตอนที่ 2) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

ตอนสอง: ทบทวนงานศึกษาและกรณีศึกษาผ่านเลนส์มานุษยวิทยาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักมานุษยวิทยามองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศล้วนเกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมกันระดับโลกและความหลากหลายของผู้คนและท้องถิ่น รวมทั้งต้องเข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ในหลายระดับที่แฝงฝังอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น และมีการแตกแขนงแผ่ขยายออกไปทั่วโลก ศาสตร์ทางมานุษยวิทยาสามารถแสดงให้เห็นว่าเหตุใดการดำเนินการทางการเมืองเพื่อบรรเทาหรือระงับยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงค่อนข้างเงียบเหงาซบเซาและมักไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 การอภิปรายเรื่องนี้ได้เปลี่ยนไปสู่การศึกษาวิกฤตการณ์ทางนิเวศ ซึ่งในเวลานั้นมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองและการสร้างมลพิษมากกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ดังที่ Gregory Bateson (1972) ได้ระบุถึงปัจจัย 3 ประการที่ขับเคลื่อนวิกฤตการณ์เหล่านี้ให้เข้มข้นมากขึ้นประกอบด้วย ประการแรก คือผลข้างเคียงที่เกิดจากการทำลายล้างของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น การผลิตยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ประการที่สอง คือ การเพิ่มจำนวนประชากรนำไปสู่การสูญเสียทรัพยากร และประการที่สาม คือชุดของค่านิยมและแนวคิดทางวัฒนธรรมตะวันตกที่ฝังรากลึก ซึ่งทำให้มนุษยชาติมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างสุขภาพกับสิ่งแวดล้อม (สิ่งที่เขาเรียกว่าญาณวิทยาที่มีข้อบกพร่องซึ่งอิงจากลัทธิทวินิยมแบบคาร์ทีเซียนและลัทธิปัจเจกนิยม) Bateson (1972) วิพากษ์วิจารณ์และโต้แย้งแนวคิดที่ว่ามนุษย์ควรพยายามควบคุมสิ่งแวดล้อม แทนที่มนุษย์จะมองว่าตนเองเป็นแต่ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ใหญ่กว่าและควรปกป้องรักษาพวกมัน.. นอกจากนี้เขายังประณามการให้ความสำคัญกับลัทธิปัจเจกบุคคล(Individualism) ความเชื่อเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมทั้งการสันนิษฐานว่าเราอาศัยอยู่ในอาณาบริเวณของการพัฒนาที่ขยายออกไปอย่างไร้ขอบเขต และความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะแก้ปัญหาใดๆ ก็ตามที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ได้ สิ่งที่ Bateson เรียกว่า 'ระบบนิเวศน์ที่ดี (healthy ecology) นั้น เปรียบได้กับระบบสภาพแวดล้อมที่ผสมผสานกับอารยธรรมของมนุษย์ในระดับสูง ซึ่งความยืดหยุ่นของอารยธรรมจะสอดคล้องกับความยืดหยุ่นของสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างระบบที่มีความซับซ้อน รวมทั้งมีความยืดหยุ่นและคล้อยตามต่อการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง (Bateson 1972 : 502). ในวิสัยทัศน์นี้คือการแสวงหาความสมดุลโดยที่มนุษยชาติไม่ทำลายปัจจัยเงื่อนไขบางอย่างที่สำคัญเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองของตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ต้นกำเนิดและพัฒนาการของมานุษยวิทยาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 แสดงให้เห็นว่าสาขานี้มีความหลากหลายมากขึ้นอย่างไร รวมถึงแนวทางการศึกษาเกี่ยวกับความยืดหยุ่นและการปรับตัวของมนุษย์ เรื่องของพลังงานทดแทน การเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนความรู้ อำนาจและวาทกรรมเกี่ยวกับ อากาศเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน แม้ว่าการศึกษาเหล่านี้จะครอบคลุมและเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่การศึกษาเหล่านี้ยังคงเน้นไปที่ความเป็นจริงของท้องถิ่นผ่านวิธีการเชิงชาติพันธุ์วิทยาที่บ่งชี้ถึงความแปรผันในผลกระทบและการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเขามองเห็นล่วงหน้าว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความแตกต่างกันอย่างมากทั่วโลก ตั้งแต่ออสเตรเลียไปจนถึงเปรู จากกรีนแลนด์ไปจนถึงมองโกเลีย หรือจากอเมริกา จีน จนถึงไทย เป็นต้น มานุษยวิทยาที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นแนวทางใหม่ของการศึกษาโลกาภิวัตน์ ซึ่งเปลี่ยนการวิเคราะห์จากการมุ่งเน้นมิติทางเศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมือง ไปสู่การฝังตัวทางนิเวศในชีวิตของมนุษย์ (the ecological embeddedness of human life) นักมานุษยวิทยาบางคนเน้นถึงความสำคัญของการศึกษาการตอบสนองในท้องถิ่น ตั้งแต่อาร์กติกไปจนถึงมองโกเลีย (Crate & Nuttall 2009) ที่สะท้อนบทเรียนที่สามารถค้นพบข้อเรียนรู้ได้จากวิถีปฏิบัติของคนพื้นเมืองในการมีส่วนร่วมกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เช่น ชาวแอมะซอนหรือชาวเมลานีเซียนที่ทิ้งร่องรอยผลกระทบทางนิเวศให้กับโลกน้อยที่สุดโดยพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศผ่านวัฒนธรรมการเก็บเกี่ยวและวัฒนธรรมการผลิตของพวกเขามากนัก (Hendry 2014) เนื่องจากนักมานุษยวิทยามุ่งเน้นไปที่ความเป็นจริงของท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ การจ้องมองและวิธีการของพวกเขาจึงก่อให้เกิดความหลากหลายมากกว่าคงที่.. โดยแสดงให้เห็นวิธีแก้ปัญหาที่ปรับให้เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่นสำหรับปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่จริง แทนที่จะเป็นตัวเลือกมาตรฐานแบบเดียวที่นำมาใช้ราวกับว่าสามารถใช้ได้อย่างเหมาะกับทุกสังคม ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ Amelia Moore ในบาฮามาส (2015) แสดงให้เห็นว่าการพึ่งพาการท่องเที่ยวทางอากาศ(airborne ) และการท่องเที่ยวที่ใช้ทรัพยากรอย่างมากของหมู่เกาะเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจทำให้เกาะปะการังที่อยู่ต่ำเหล่านี้สูญสิ้นไปได้อย่างไร Herta Nöbauer (2018) ดำเนินการวิจัยในสกีรีสอร์ทของออสเตรีย เขาศึกษาวิธีการสร้างลานสกีเทียมเพื่อรอฤดูหนาวที่ไร้หิมะ เธอเน้นย้ำว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฤดูหนาวของออสเตรียคาดการณ์ถึงฤดูหนาวที่อบอุ่นและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการที่หิมะละลายและการท่องเที่ยว Harold Wilhite และ Cecilia Salinas (2019) ได้แสดงให้เห็นว่าผู้คนในป่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองตกเป็นเหยื่อของการจัดการดูดซับเอาทรัพยากรออกไปในอาณาเขตของตนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างไร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคุกคามการดำรงชีวิตของพวกเขาผ่านการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิ และปัญหายังทวีคูณด้วยการตัดไม้ ซึ่งทำให้ผู้คนอพยพเคลื่อนย้ายเพิ่มมากขึ้น หรือการมองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นกระบวนการทางกายภาพที่ได้รับการจัดการผ่านกระบวนการทางการเมืองในระดับชาติและเหนือระดับชาติ และยังตอบสนองในระดับชุมชนท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น Werner Krauss (2015) ได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการทำความเข้าใจสาขาวิชาต่างๆ ในงานของเขาเกี่ยวกับชาวประมงและนักอนุรักษ์บนชายฝั่งทะเลเหนือของเยอรมนี Krauss ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่ค้นหาสมดุลระหว่างความเป็นกลางและการมีส่วนร่วม และได้พูดคุยกับหน่วยงานทางการเมืองโดยโต้แย้งถึงความจำเป็นในการก้าวไปไกลกว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และเกี่ยวข้องกับมิติของมนุษย์ในการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรืองานของ Noah Walker-Crawford (2021) ติดตามนักเคลื่อนไหวชาวเปรูไปยังเยอรมนีในคดีฟ้องร้องบริษัทพลังงานแห่งหนึ่ง โดยเกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเมือง ทุนการศึกษาทางกฎหมาย และการเคลื่อนไหวของ NGO ในการสำรวจทางมานุษยวิทยาของเขา เช่นเดียวกับงานของ David Rojas และ Noor Johnson (2013) เกี่ยวกับการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศที่มีการนำความรู้จากสาขาวิชาวิชาการต่างๆ ตั้งแต่กฎหมายระหว่างประเทศไปจนถึงอุตุนิยมวิทยามาพิจารณา สิ่งนี้ทำให้พวกเขาสามารถแสดงให้เห็นว่าเหตุใดนโยบายสภาพภูมิอากาศจึงต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ในระดับต่างๆ รวมถึงการมีข้อตกลงระหว่างประเทศที่ลงนามจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ต้องการในโลกทางกายภาพ หรือในบทความเรื่องการเปลี่ยนแปลงของทะเล ชุมชนชาวเกาะและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ Heather Lazrus(2012) ที่ชี้ให้เห็นเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุค Anthropocene ในปัจจุบันของชุมชนบนเกาะ ที่เกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นทันทีและเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ที่เปราะบางต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ชุมชนบนเกาะเหล่านี้ แม้จะดูเหมือนโดดเดี่ยวและยากจน แต่มักจะเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งทั่วโลก ในรูปแบบที่นอกเหนือไปจากคำอธิบายง่ายๆ ของ "ความยากจน" และ "ความโดดเดี่ยว" (Lazrus 2012:286) เกาะต่างๆ เป็นที่อยู่อาศัยของประชากร1ใน10 ของโลก และประชากรส่วนใหญ่ของโลกมีแนวโน้มที่จะกระจุกตัวอยู่ตามชายฝั่ง ดังนั้นทั้งสองพื่นที่ (ชายฝั่งและเกาะ) จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงคล้ายกันมาก หมู่เกาะต่างๆ มีแนวโน้มที่จะถูกมองว่าเป็น “บารอมิเตอร์หรือเครื่องวัดของการเปลี่ยนแปลง” (barometers of change) ของโลก เนื่องจากมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Lazrus 2012:287) หมู่เกาะไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่ที่มีพลวัตทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยพืชและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์เท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพที่จะเป็นพื้นที่ที่มีความสนใจทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ Robert Dewar และ Alison Richard (2012)ได้เขียนบทความเรื่องมาดากัสการ์: ประวัติศาสตร์การมาถึง สิ่งที่เกิดขึ้น และที่จะเกิดขึ้นต่อไป (A History of Arrivals, What Happened, and Will Happen Next ) โดยชี้ให้เห็นว่า มาดากัสการ์เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการบรรจบกันทางสังคมการเมืองและระบบนิเวศ และควรได้รับการสำรวจและศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น.. มาดากัสการ์มีระบบนิเวศวิทยาของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายอย่างยิ่ง ทั้งภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม และสภาพอากาศของเกาะ เนื่องจากความหลากหลายทางกายภาพชีวภาพ และความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม นิเวศวิทยาของมนุษย์ในมาดากัสการ์จึงมีทั้งประวัติศาสตร์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ ชุมขน Mikea ได้อาหารส่วนใหญ่มาจากการหาอาหารในป่าแห้ง ที่อยู่นอกเขตเมืองส่วนใหญ่แล้วการล่าสัตว์และการเก็บพืชป่าเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่ภูมิประเทศตามแนวชายฝั่งตะวันตก การตกปลาและการทำประมง ถือเป็นผลประโยขน์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการส่งเสริมการทำฟาร์มของเกษตรกรในมาดากัสการ์มีการเพาะปลูกพืชพันธุ์และการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์ที่หลากหลายให้เลือกทำ ตัวอย่างเช่น ข้าวโพด มันเทศ กาแฟ โกโก้ พริกไทย กานพลู วัว ไก่ แกะ แพะ หมู และไก่งวง (Dewar และ Richard 2012:505) ทั่วทั้งเกาะ ข้าวเป็นพืชที่สำคัญและวัวเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจมากที่สุด และต่อมาได้รับการปรับให้เข้ากับการเจริญเติบโตภายใต้สภาพท้องถิ่นของขุมชนปากน้ำขนาดเล็กของมาดากัสการ์ การเลี้ยงโคกึ่งเร่ร่อนเกิดขึ้นในพื้นที่แห้งแล้งของมาดากัสการ์ ไม่ว่าสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ สังคม หรือเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร แต่มาดากัสการ์ (รวมถึงเกาะอื่นๆ) ก็ทำหน้าที่เป็นเสมือนพิภพเล็กๆ ในท้องถิ่นที่ไม่อาจปฏิเสธผลกระทบสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสำหรับวิชาการทางมานุษยวิทยาในการเชื่อมโยงระดับโลก (ธรรมชาติ กับสังคมวัฒนธรรม) ที่สามารถจะแสดงให้เห็นปัญหาท้องถิ่นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกได้ การศึกษาทางมานุษยวิทยา ที่มองแบบองค์รวมและเชื่อมโยงเกี่ยวปรากฏการณ์และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผู้คน อย่างเช่น ระยะทางของการเดินทางหาแหล่งน้ำแหล่งอาหารให้กับสัตว์ของกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนที่ไกลขึ้ย การต้องการเหล่งน้ำ แหล่งอาหาร กระตุ้นให้เกิดการรสร้างเขื่อน การใช้ปุ๋ยและสารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต หรือการเกิดขึ้นของโรคหรือเชื้อบางอย่าง เช่นไวรัสหรือแบคทีเรียที่สัมพันธ์กับสภาพอากาศ และการผลิตในทางปศุสัตว์ ที่มีการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่สัตว์และคน ส่งผลต่อความเจ็บป่วย เกิดภาวะดื้อยา รวมถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรคในสภาพแวดล้อมที่มากขึ้น ในขณะเดียวกันเราจะเห็นงานศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกับการปรับตัวของผู้คนและองค์กรในการสร้างความยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้นด้วย อาทิเช่น งานของ Bahar Urhan & Sibel Hostut (2023) อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้มีความจำเป็นต้องมีการตลาดสีเขียวเพื่อเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในปัจจุบันต่อการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงสัมพันธ์กับการตลาด Fuentes (2012) ได้พูดถึงการปลดปล่อยวาทกรรม โดยเฉพาะวาทกรรมทางมานุษยวิทยาและวาทกรรมทางวิทยาศาสตร์ จากการแบ่งขั้วของธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่จะทำให้ผู้คนเข้าใจความสัมพันธ์ของพวกเขาในลำดับของไพรเมตอย่างถ่องแท้ และยังรวมไปถึงตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาภายในสิ่งแวดล้อม ด้วยความสามารถของมนุษย์ในการสร้างพื้นที่เมืองอันกว้างใหญ่ การจัดวางระบบการขนส่ง และการตัดไม้ทำลายป่า ล้วนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นที่พวกเขาอาศัยอยู่ และส่งผลให้มนุษย์สร้างรัศมีแห่งการครอบงำธรรมชาติ ดังที่ Fuentes กล่าว “ในระดับโลก มนุษย์เป็นวิศวกรของระบบนิเวศในระดับที่ใหญ่ที่สุด และระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้รับการสืบทอดไม่เพียงแต่โดยมนุษย์รุ่นต่อๆ ไปเท่านั้น แต่ยังสืบทอดโดยสายพันธุ์ที่เห็นอกเห็นใจทุกสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันด้วย การแสวงหาวิธีที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆจะอยู่ร่วมกัน (แม้จะมีความขัดแย้งบ้าง) ภายในระบบนิเวศของมนุษย์ ที่สร้างการรับรู้ การมีปฏิสัมพันธ์ การเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ และแนวทางในอนาคตของผู้อยู่อาศัย” (Fuentes 2012:110) โดยสรุป Fuentes ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ได้ครอบงำระบบนิเวศในระดับโลก อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประชากรมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพืชและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ รวมถึงระบบนิเวศทั้งหมดด้วย ดังนั้นมีเพียงความเข้าใจในความสัมพันธ์ทางชีวภาพระหว่างมนุษย์/พืช/สัตว์/ระบบนิเวศเท่านั้นที่จะทำให้ผู้คนจะตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในระดับโลกและระดับท้องถิ่น นักมานุษยวิทยาจึงแสดงให้เห็นความรู้ 3 ประเภทที่มานุษยวิทยาสามารถมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ประกอบด้วย 1.ข้อมูลเชิงลึกด้านชาติพันธุ์วิทยา 2. มุมมองทางประวัติศาสตร์ และ3.มุมมองแบบองค์รวมของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหมายความว่าประสบการณ์ชีวิตของผู้คนทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังและรอบด้าน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่มีวิธีแก้ปัญหาทางเทคนิคใดที่ได้ผล เว้นแต่จะถูกรวมเข้ากับโลกที่ผู้คนใช้ชีวิตแบบอัตวิสัย (Barnes et al. 2013) นักมานุษยวิทยาอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะสร้างความแตกต่างในฐานะล่าม นักแปล และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโลกแห่งชีวิตในท้องถิ่นนั้นๆ และบางครั้งสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบหรือแม้แต่เสนอการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีรากฐานที่สำคัญในมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อมและมานุษยวิทยาด้านพลังงาน แนวทางทางทฤษฎีนี้ได้รับการพัฒนาส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ย้อนกลับไปถึงศตวรรษที่ 19 และการศึกษาในช่วงแรกๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางวัตถุ เทคโนโลยี และการปรับตัวทางนิเวศน์ อันที่จริงแล้ว นักมานุษยวิทยาผู้บุกเบิก ฟรานซ์ โบอาส (Franz Boas) มีความสนใจในการดำรงชีพของชาวอาร์กติกภายใต้สภาพอากาศที่รุนแรงอยู่แล้ว หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Julian Steward (1955) เป็นผู้สนับสนุนการศึกษา "นิเวศวิทยาของมนุษย์" โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบสังคมและการเมืองจากมุมมองแบบสสารวัตถุนิยม(materialist perspective )ซึ่งครอบคลุมทั้งเทคโนโลยีและนิเวศวิทยา Leslie White (1949) ศึกษาเทคโนโลยีและการใช้พลังงานจากมุมมองของนักวิวัฒนาการทางสังคม โดยให้เหตุผลว่าวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมสามารถวัดได้จากปริมาณพลังงานที่สังคมกำหนดที่สามารถนำใช้ประโยชน์ได้ กลุ่มคนที่ก้าวหน้าทางวัฒนธรรมมากที่สุดจึงเป็นกลุ่มที่ใช้พลังงานต่อหัวมากที่สุด แม้ว่าในช่วงต่อมาทฤษฎีของไวท์ก็ล้าสมัยไปในแวดวงวิชาการ เนื่องจากความเสื่อมถอยของความคิดเชิงวิวัฒนาการ อย่างไรก็ตาม การเน้นไปที่พลังงานและนิเวศวิทยาในช่วงแรกของเขาในฐานะรากฐานของชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมยังคงมีความเกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยาในปัจจุบันของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมในปัจจุบันของวิขาการด้านมานุษยวิทยากับสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วง2-3 ทศวรรษที่ผ่านมามีลักษณะเฉพาะจากการหมกมุ่นอยู่กับการศึกษาเชิงสังเกตการณ์ (Baer & Singer, 2014; Crate, 2011; Crate & Nuttal, 2009) จุดสนใจหลักของการศึกษาแบบสังเกตการณ์คือการทำความเข้าใจว่าผู้คนทั่วโลกมีการสังเกตอย่างไร รวมถึงรับรู้ การมีประสบการณ์ และการให้ความหมาย รวมถึงการปรับตัว หรือการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและรูปแบบสภาพอากาศ (Barnes et al., 2013, p. 541; S. J. Fiske, 2014; Peterson & Broad, 2009) แนวคิดเรื่องสภาพภูมิอากาศไม่ได้ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับการกำเนิดของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่มีบทบาทสำคัญในวาทกรรมเกี่ยวกับอารยธรรมของมนุษย์มาเป็นเวลานับพันปี (Barnes & Dove, 2015; Dove, 2014,p. 1–2; Glacken, 1967; Hulme, 2015a , 2015b) เงื่อนไขหลายประการทำให้เกิดแนวคิดร่วมสมัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับนานาชาติ ในขณะที่ความกังวลของสาธารณชนเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในทศวรรษปี 1960 และ 1970 แนวคิดเรื่องสภาพภูมิอากาศโลกได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างกว้างขวางในฐานะเป้าหมายเชิงนโยบายสาธารณะที่ต้องดำเนินการแก้ไขร่วมกัน เช่น ปัญหาความแห้งแล้งอย่างรุนแรงของสหรัฐฯ ในช่วงปีค.ศ. 1988 ซึ่งได้ถูกทำให้เป็นสำนวนหรือพันธสัญญาร่วมกันที่บ่งชี้ความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภาระกิจนี้ ที่เป็นเสมือน "โลกใบเดียว" (one-world) หรือโลกใบเดียวกัน (Rayner, 1994) เนื่องจากพื้นฐานขององค์ความรู้ใหม่เอื้อต่อการ "คิดเชื่อมโยงกับโลก" (thinking globally) ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Edwards, 2010) “การเมืองของโลก”( politics of the earth) (Dryzek, 2012) ซึ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับการยอมรับทั่วโลกในช่วงของการประชุมสุดยอดโลกปี 1992 (UN, 1992) แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้รับอิทธิพลทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของโลกทางเหนือและทางใต้ ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ในขณะที่โลกใต้กลายเป็น “จุดยืนแห่งความห่วงใยทางศีลธรรมของตะวันตก” อีกครั้งนับตั้งแต่วาทกรรมการพัฒนาในอดีต (Daniels & Endfield, 2009, อ้างใน Cosgrove, 2008) การศึกษามานุษยวิทยาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จึงเริ่มต้นด้วยการศึกษาเกี่ยวกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว และการบรรเทาปัญหาวิกฤตการณ์ โดยการสำรวจแนวคิดพื้นฐานและการปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน เช่น แนวคิดเกี่ยวกับความเสี่ยง(Risk)และความไม่แน่นอน(uncertainty)ที่เป็นศูนย์กลางของการถกเถียงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากมุมมองทางสังคมศาสตร์ ประสบการณ์ในท้องถิ่น และชุมชนวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบการเมืองของความไม่เท่าเทียมกัน ความเปราะบาง การอพยพ เพศสภาวะและการบริโภค ผ่านกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิเช่น ตลาดคาร์บอน การเกษตรกรรม ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนน้ำ และการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมักเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น มานุษยวิทยาจะยังคงเป็นผู้นำในด้านการวิจัยความเปราะบางและการปรับตัวต่อไปอย่างไม่ต้องสงสัย (Ford 2009, Brugger & Crimmins 2013, Fiske et al. 2018) จุดเน้นการวิจัยในอนาคตมีแนวโน้มที่จะรวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์คำศัพท์เฉพาะทาง เช่น ความเปราะบาง ความสามารถในการปรับตัว และความสามารถในการฟื้นตัว และแนวคิดที่เกี่ยงข้องที่สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ดังกล่าว เช่น ผู้ลี้ภัยสภาพภูมิอากาศ( climate refugees) และความมั่นคงของสภาพภูมิอากาศ( climate security) (Cons 2018, Thomas & Warner 2019) ความสนใจที่เพิ่มขึ้นต่อธรรมชาติทางการเมืองว่าด้วยการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ และวิธีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างอนาคตที่ยุติธรรมสำหรับทั้งมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (พืช สัตว์) ดังนั้น การทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตต้องอาศัยความรู้แบบองค์รวมเกี่ยวกับวิธีการทำงานของโลกในฐานะระบบ เพื่อทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สำหรับนักมานุษยวิทยาชี่้ว่าอันตรายจากสภาพภูมิอากาศกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางวัฒนธรรมในระดับเวลาและเชิงพื้นที่ที่แตกต่างกันได้อย่างไร (Crook & Rudiak-Gould 2018) อ้างอิง References Baer, H. 2012. Global capitalism and climate change: the need for an alternative world system. Lanham, Md.: AltaMira Press. ——— & M. Singer 2018. The anthropology of climate change: an Integrated critical perspective. 2nd ed. London: Routledge. Barnes, J. 2014. Cultivating the Nile: the everyday politics of water in Egypt. Durham, N.C.: Duke University Press. ——— et al. 2013. Contribution of anthropology to the study of climate change. Nature Climate Change 3, 541-4. Bateson, G. 1972. Steps to an ecology of mind. New York: Chandler. Bauman, Z. 2000. Liquid modernity. Cambridge: Polity. Beck, U. 2009. World at risk. Cambridge: Polity. Connor, L. 2016. Climate change and anthropos: planet, people and places. London: Routledge. Crate, S.A. 2008. Gone the bull of winter? Grappling with the cultural implications of and anthropology’s role(s) in global climate change. Current Anthropology 49, 569-85. Dove, M.R. (ed.) 2013. The anthropology of climate change: an historical reader. Chichester: John Wiley & Sons. Eriksen, T.H. 2016. Overheating: an anthropology of accelerated change. London: Pluto. Fagan, B. 1999. Floods, famines, and emperors: El Niño and the fate of civilization. Cambridge: University Press. Fiske, S.J., S.A. Crate, C.L. Crumley, K. Galvin, H. Lazrus, L. Lucero, A. Oliver-Smith et al. 2014. Changing the atmosphere: anthropology and climate change. Final report of the AAA Global Climate Change Task Force. Arlington, Va.: American Anthropological Association. Gardner, K. & D. Lewis 2015. The anthropology of development. London: Pluto. Haraway, D. 2016. Staying with the trouble: making kin in the Chthulucene. Durham, N.C.: Duke University Press. Hendry, J. 2014. Science and sustainability: learning from indigenous wisdom. London: Palgrave Macmillan. Hornborg, A. 2019. Nature, society, and justice in the Anthropocene: unraveling the money–technology–energy complex. Cambridge: Cambridge University Press. Howe, C. 2019. Ecologics: wind and power in the Anthropocene. Durham, N.C.: Duke University Press. Latour, B. 2017. Down to earth: politics in the new climatic regime. Cambridge: Polity. Steward, J. 1955. Theory of culture change. Urbana: University of Illinois Press. Strauss, S., S. Rupp & T. Love (eds) 2013. Cultures of energy: power, practices, technologies. Walnut Creek, Calif.: Left Coast Press. White, L. 1949. The science of culture: a study of man and civilization. New York: Grove Press.

สนามและบันทึกสนามทางมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

ผมนั่งจด นั่งทำอะไรในสนาม..หรือออกจากสนามก็มานั่งทบทวนเรื่องราวที่จำได้ แต่เขียนไม่หมด ต้องมาเติมเพิ่มเสริมความรู้ที่ยังไม่เข้าใจ เข้าใจไม่ชัด หรือคอนเฟิร์มข้อมูลสนามอยู่เรื่อยๆ บางส่วนยังไม่มีข้อมูลต้องกลับไปถามใหม่ สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม เข้าไปร่วมสังเกตการณ์พิธีกรรม .. การสังเกตแบบมีส่วนร่วม ถือเป็นส่วนสำคัญที่เป็นเสมือนชุดเครื่องมือระเบียบวิธีวิทยาของนักมานุษยวิทยา แนวการปฏิบัตินี้ช่วยให้นักชาติพันธุ์วิทยา(Ethnology) นักชาติพันธุ์วรรณนา (ethnographer) หรือนักมานุษยวิทยา (Anthropologist) สามารถพัฒนาการเก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคู่สนทนาหรือผู้ให้ข้อมูลสำคัญในสนาม ตลอดจนการมีปฏิสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมทั้งแบบมีส่วนร่วมแบะไม่มีส่วนร่วม รวมถึงการเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นที่สำคัญที่สุดสำหรับนักมานุษยวิทยา Fieldnotes ถือเป็นทรัพยากรสำคัญที่ช่วยให้เราจัดทำเอกสารและจัดระเบียบข้อมูลที่เรารวบรวมไว้ สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งในช่วงเข้าไปในสนามและภายหลังจากการได้เข้าไปพูดคุยและสังเกตการณ์(participant observation)หรือเหตุการณ์ทางวัฒนธรรมในช่วงเวลา ในบริบทที่แตกต่างกัน ได้ทบทวนมุมมองในแบบคนใน(Emic view) และคนนอก(Eric View) เพื่อตรวจสอบข้อมูล และตีความข้อมูลภายใต้กรอบแนวคิดทฤษฎีทางมานุษยวิทย า โดยการเขียนบันทึกภาคสนามในระหว่างการสังเกต และการเพิ่มเติมทันทีหลังการสังเกต นั่นคือหลังจากที่พวกเราออกจากพื้นที่ภาคสนามแล้ว เราก็ควรนั่งลงในที่เงียบสงบและเรียบเรียงข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อกรอกรายละเอียดที่ขาดหายไปในการทำงานภาคสนาม (สมัยนี้ใช้เทปอัดเสียงก็ใช้การฟังเทปที่อัดเพื่อเก็บรายละเอียดที่เราบันทึกไม่หมดระหว่างการวัมภาษณ์) การทบทวนคู่สนทนาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบทบาทของตัวเราเองที่เขื่อมโยงกับข้อมูล อันเกิดจากปฏิสัมพันธ์ในสนาม ตลอดจนความประทับใจของคุณเอง ต่อผู้คน เหตุการณ์ของสิ่งที่เกิดขึ้น Chiseri-Strater และ Sunstein (1997) ได้พัฒนารายการสิ่งที่ควรรวมอยู่ใน fieldnotes ทั้งหมด ประกอบด้วย วัน เวลา และสถานที่สังเกตการณ์ ข้อเท็จจริงเฉพาะ ตัวเลขที่จำเป็นอายุ ปีที่เกิดเหตุการณ์ รายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นที่สนามและผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆในการให้ข้อมูล หรือมีส่วนร่วมในพิธีกรรม รวมถึงประสาทสัมผัส ภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน พื้นผิวที่สัมผัส กลิ่นที่จมูกรับรู้ รสชาติของอาหาร เป็นต้น อีกทั้งการตอบสนอของเราเองต่อข้อเท็จจริงของการบันทึก fieldnotes ที่อาจเป็นข้อสังเกต ความคิดเห็น การบันทึก คำเฉพาะ วลีสำคัญ บทสนทนา และภาษาของคนพื้นถิ่น คนข้างใน ส่วนรูปแบบการเขียน ก็ปรับให้สอดคล้องกับประเด็นที่เก็บและสไตล์การเขียนของแต่ละคน ไม่มีกำหนดตายตัวครับ วิธีการทำงานสนามจึงค่อนข้างยืดหยุ่น ไม่จำเป็นต้องใช้สมุดจด อาจใช้แทบเลตที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่มาจดแทนสมุดได้หากมี หรืออาจใช้ภาพประกอบ ทำกราฟฟิก แผนภูมิผัง ใช้การบันทึกเสียงช่วย หรือใช้การวาดภาพ นี่คือการทำงานภาคสนาม และการบันทึกสนาม บันทึกสนามของผมบางส่วนใช้ทั้งภาพและภาษาเขียน ภาพวาดบางครั้งเชื่อมโยงกับข้อห้าม เช่น ห้ามถ่ายภาพเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ ผมจึงเขียนหรือร่างภาพเจดีย์ องค์ประกอบในงาน ผมใช้บันทึกเสียงดนตรี การโห่ร้องยินดี แทนการถ่ายวีดีโอในพื้นที่เจดีย์ เพื่อให้เห็นบรรยากาศ ทุกอย่างไม่ใช่แค่การเขียน การเก็บเรื่องราว แต่คือการเคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายด้วย ผมต้องขอบคุณท่านอาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์และอ.ดร.พัฒนา กิติอาษา ที่เป็นครูภาคสนามของผมและฝึกให้ผมทำงานภาคสนามเป็นจากเป็นผู้ช่วยวิจัย ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในโปรเจคมวยไทยและหมอลำซิ่ง…คนทีเป็นคนชอบเขียน มักจะต้องชอบอ่าน ชอบสืบค้นข้อมูล เพือเป็นวัตถุดิบในการเขียน และสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ***อ้างอิง*** Chiseri-Strater, Elizabeth and Bonnie Stone Sunstein. 1997 Field Working: Reading and Writing Research. Blair Press: Upper Saddle River, NJ. Emerson, Robert M., Rachel I. Fretz, and Linda L. Shaw. 1995 Writing Ethnographic Fieldnotes. Chicago: University of Chicago Press. Sanjek, Roger, ed. 1990. Fieldnotes: The Makings of Anthropology. Ithaca: Cornell University Press

การเมืองเรื่องร่างกาย (Body politics) โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ผมต้องให้เวลาอ่านงานมากขึ้น เพื่อเติมความรู้ให้ตัวเอง วันนี้ระหว่างอ่านงานเตรียมสอนสับปดาห์หน้า Body politics การเมืองเรื่องร่างกาย เป็นงานที่ให้นักศึกษาอ่านเปเปอร์ชิ้นที่สองมาคุยและเขียนงานส่ง (ชิ้นแรก Physical, anatomy and culture body ) ผมก็ได้ประโยชน์จากการอ่านและเอามาใช้พัฒนาเอกสารการสอนทางวิชาการของตัวเองด้วย … มิเชลฟูโก้ ใช้คำว่า Biopower หรือชีวะอำนาจ (อำนาจที่เข้าไปแทรกซึมเข้าไปในชีวะร่างกายของมนุษย์) มันคือระบบการครอบงำของการควบคุมทางสังคม… ในสังคมตะวันตกสมัยใหม่ ภายใต้การเสื่อมถอยของกลไกแห่งการควบคุม ดังเช่นพลังอำนาจของทหารหรือกองทัพ( Military Force)และการเพิ่มขึ้นของการควบคุมทางสังคม ที่นำไปสู่การสร้างระเบียบวินัย (self- discipline ) ของปัจเจกบุคคล อำนาจที่ฟูโก้มอง มีความขัดแย้งและแตกต่างจากการมองอำนาจแบบเดิมที่เป็นเรื่องของการครอบงำ แบบบีบบังคับและกดขี่ (Repressive) รวมถึงการครอบครองและผูกขาดอำนาจที่ศูนย์กลาง อำนาจจากบนลนล่าง เพราะอำนาจแบบนี้ทำให้คนกลัว แบะคนต่อต้าน มากกว่าที่จะยอมศิโรราบ ทำอย่างไรจะทำให้อำนาจเข้าไปในวิถีคิด และการปฏิบัติโดยสมัครใจ หรือยินยอมพร้อมใจ ..และคนยอมรับไม่ต่อต้าน เป็นสิ่งที่ท้าทายการปกครองในขุมชนทางชีวะสมัยใหม่ ฟูโก้มองว่าอำนาจไม่ได้มาจากข้างบน (From Above) แต่มาจากข้างล่าง (From Below) อำนาจคือสิ่งที่อยู่ทุกหนแห่ง (Power is everywhere) อำนาจเป็นเรื่องของการผลิต การสร้าง (Producing) มากกว่าการบังคับควบคุม (Repressive) ดังนั้นอำนาจในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องของความรู้ที่ถูกสร้าง ความรู้ที่ทำให้เราเชื่อ ความรู้ที่ทำให้เราคุ้นชิน มองเป็นเรื่องปกติ (Normalization) และทำให้เราไม่ตั้งคำถาม ปฎิบัติจนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้น การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ที่เราเรียกว่า Micro Level of everyday life หรือระดับจุลภาคของชีวิตประจำวัน การทำงานของอำนาจและความรู้ ในแง่ที่ อำนาจคือเรื่องของความสัมพันธ์ ดังนั้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ(Power Relations) ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการประกอบสร้างสนามของความรู้ (field of knowledge) ตัวอย่างเช่น ในวาทกรรมสุขภาพและความเจ็บป่วย คือสิ่งที่ดึงเอาหมอ และคนไข้มาปฏิสันพันธ์กันในโรงพยาบาล ภายใต้การรักษาโรค สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีความรู้ทางด้านการแพทย์และสถาบันทางวิชาชีพที่ทำหน้าที่รับรองความถูกต้องชอบธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ นั่นคือกระบวนการสร้างสนามของความรู้ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าวาทกรรมทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับการแพทย์ (the scientific discourse of medicine) และสถาบันทางสังคม อย่างสภาวิชาขีพ ที่ทำให้ความรู้เป็นทียอมรับอย่างแพร่หลาย ซึ่งฟูโกเรียกว่า Non Discursive practice .. อำนาจที่มีการแพร่กระจาย (dispersed) ไปสู่สังคมซึ่งเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทางสังคม ที่บ่มเพาะและแฝงฝังอยู่ในเครือข่ายของการปฎิบัติ สถาบันทางสังคม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและดำเนินการในระดับชีวิตประจำวันของมนุษย์ นั่นคือสิ่งที่ฟูโกยืนยันของความรู้และอำนาจที่ดำเนินการอยู่บนร่างกายของเรา การควบคุมร่างกายที่นำไปสู่การปฎิบัติและการจัดระเบียบของตัวเอง การควบคุมดูแลตัวเองไม่ใช่เพียงการรับผิดชอบต่อตัวเองเท่านั้นแต่ยังเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เพียงร่างกายในเชิงกายภาพ(physical body) เท่านั้นแต่ยังเป็นร่างกายในเชิงสังคม(social body) ร่างกายกลายเป็นภาพตัวแทนและสัญลักษณ์ของสังคม ความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นของสังคมด้วย ดังนั้นความเสื่อมของร่างกายจึงสะท้อนความเสื่อมของสังคมด้วยเช่นกัน สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการที่รัฐใช้เทคนิควิธีการการปกครองแบบเดิม ผ่านการใช้อำนาจการสร้างความรู้สึกผิดและการสารภาพบาปของตัวเองจากการไม่รับผิดชอบ และไม่ควบคุมตัวเองของผู้คน การทำให้ผู้คนรู้สึกกลัวต่อความแปดเปื้อน มลทินและบาปของตัวเอง การไม่รับผิดชอบของตัวเองที่กลายเป็นความไม่รับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงส่งผลกระทบต่อสังคมด้วย เช่น ในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดระบาดช่วงแรก การไม่สวมหน้ากากอนามัย แล้วติดโควิด หรือแพร่เชื้อให้คนอื่น จนไม่สามารถไปทำงานเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจในระบบทุนนิยม การไม่สามารถทำงาน กลายเป็นความบกพร่อง การไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเอง ไม่ใช่แค่ตัวเองเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นหน่วยงาน องค์กรที่สังกัด รวมถึงคนที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน…ความรู้สึก ความรับผิดชอบจึงส่งผลต่อการควบคุม จัดการตัวเอง และสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และอำนาจ แนวคิดของฟูโกเกี่ยวกับเรื่องของอำนาจคือสิ่งที่มีความสำคัญกับการศึกษาที่ว่าด้วยเรื่องของมนุษยวิทยาการแพทย์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมทางสังคมเกี่ยวกับร่างกายในเชิงกายภาพ(physical body) ดังนั้นแนวคิดในเรื่องของร่างกายชีวะ(biopower) ซึ่งถูกใช้ในการศึกษาในสาขาของมานุษยวิทยาส่าด้วยร่างกาย เนื่องด้วยจุดเน้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของร่างกาย ที่เป็นแหล่งของอำนาจทั้งการสร้างสรรค์และการควบคุมจัดการ ที่สะท้อนผ่านปฏิบัติการในเชิงร่างกายในชีวิตประจำวันและฮาบิทัสของผู้คนในสังคม ทัศนะในเชิงอำนาจของฟูโก ดำเนินการในลักษณะสองขั้วขั้วแรกคือ human species และขั้วที่สองคือ human body สำหรับ human species มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองทางชีวะของประชากร (bio politics of population) ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในเชิงวิทยาศาสตร์กับการส่งเสริมในเรื่องของการผลิตสมาชิก(reproduction) อัตราการตาย(Mortality) และ ความเจ็บป่วย(morbidity) ซึ่งต่อมาก็เกี่ยวข้องกับการจัดการและการควบคุมร่างกายของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะการจัดการเชิงพื้นที่เวลาและการปฎิบัติในชีวิตประจำวัน เทคนิควิธีการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกทำให้กลายเป็นสถาบัน(institutionalized) ในโรงเรียน ในห้องขัง ในค่ายทหาร ในโรงพยาบาลและในโรงงาน ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เข้าไปอยู่ภายใน(internalize) ตัวตนของปัจเจกบุคคลที่นำไปสู่พฤติกรรมการควบคุมตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องของเพศวิถีที่เป็นกุญแจสำคัญของอำนาจที่ดำเนินการทั้งสองขั้วที่ควบคุมทั้งประชากรและตัวปัจเจกบุคคล ตัวอย่างงานของฟูโกในเรื่อง The Birth of the clinic ผู้กู้อธิบายเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงโดยกระบวนการจ้างงานที่เชื่อมโยงกับความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ได้ให้อำนาจกับพวกเขาในการนิยามความจริง ความรู้ทางด้านการแพทย์กลายเป็นเครื่องมือและวิธีการสำคัญ ในการสร้างการจำแนกแยกประเภทความเจ็บป่วย และเชื่อมโยงกับอำนาจในการนิยามความปกติ(Normal) และบ่งชี้ความเบี่ยงเบน(Deviant) ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มีอำนาจที่นำไปสู่การสร้างมาสวัดในเชิงสถิติ มาตรฐานของความมีสุขภาพดีที่ซึ่งทำให้บาดเจ็บบุคคลทั้งหมดกลายเป็นผู้ที่ถูกตัดสิน มีอำนาจในการวินิจฉัย รักษาโรค กระบวนการเหล่านี้คือกระบวนการของการทำให้กลายเป็นปกติ ที่ทำให้เกิดการยอมรับต่อความรู้และอำนาจของผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ นั่นคือกระบวนการทางอำนาจที่สร้างให้บรรทัดฐานให้ปรากฏ เช่นเดียวกับเรื่องของศีลธรรมหรือความถูกต้อง ในขณะเดียวกันก็สร้างความปรารถนาของปัเจจกบุคลที่สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคมเหล่านั้นด้วย ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ ยิ่งอ่านมากยิ่งรู้มาก…

มานุษยวิทยากับปรัชญาว่าด้วยการทำความเข้าใจมนุษย์ โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ผมชอบวิชาปรัชญามากเคยเรียนในตอนป.ตรีและป.เอก และเคยคิดอยากจะเปิดวิขา ที่ว่าด้วยการถกถึงความเป็นมนุษย์ ผมมองว่าปรัชญาเป็นที่รู้จักในฐานะศาสตร์แห่งศาสตร์ทั้งปวงและเป็นเสมือนพื้นฐานของความรู้ทั้งหมด ดังนั้นจึงเกี่ยวข้องกับการศึกษาทางมานุษยวิทยาเพราะปรัชญาคือการทำความเข้าใจมนุษยชาติอย่างชัดเจน …มานุษยวิทยาศึกษาธรรมชาติของมนุษยชาติที่เกี่ยวข้องกับปัญหาปรัชญาต่างๆ มนุษย์เกิดยังไง มนุษย์คืออะไร ทำไมต้องตาย ตายแล้วไปไหน ทำไมมนุษย์ต้องอยู่รวมกัน และอื่นๆ นักมานุษยวิทยาได้รับทฤษฎีและแนวความคิดเกือบทั้งหมดจากรากฐานทางปรัชญา เนื่องจากทุกแง่มุมของธรรมชาติของมนุษย์ได้รับการอธิบายอย่างละเอียด มานุษยวิทยาเชิงปรัชญา มีระเบียบวธีการศึกษาในปรัชญาที่พยายามรวมการสืบค้นข้อมูลเชิงประจักษ์หลายประการเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์เข้าด้วยกัน ด้วยความพยายามที่จะเข้าใจแต่ละบุคคลในฐานะที่เป็นทั้งสิ่งมีชีวิตในสภาพแวดล้อมและเป็นผู้สร้างคุณค่าของตนเอง ในศตวรรษที่ 18 “มานุษยวิทยา” เป็นสาขาวิชาปรัชญาที่ให้เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาและมานุษยวิทยา นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารอย่างใกล้ชิดบนพื้นฐานของอภิปรัชญา จริยธรรม ญาณวิทยา ภาษา วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม การศึกษาวิวัฒนาการของมานุษยวิทยาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ปรัชญาซึ่งรวมถึง ปรัชญากรีกโบราณ ยุคกลาง และสมัยใหม่ การย้อนกลับไปสืบค้นว่านักปรัชญาตีความเนื้อหาสาระทางมานุษยวิทยาอย่างไร เนื่องจากมานุษยวิทยาเป็นการศึกษาเรื่อง มนุษย์และเป็นการศึกษาเชิงอภิปรัชญาเกี่ยวกับบุคคล การสืบค้นเกี่ยวกับจริยธรรม สุนทรียศาสตร์ เหตุผล สิ่งแวดล้อม ร่างกาย และจิตใจ บทความนี้นำเสนอบทบาทและมิติของมนุษย์ภายในขอบเขตของเวลา พื้นที่ สิ่งแวดล้อม การดำรงอยู่ และภาษา มานุษยวิทยามีรากฐานมาจากคำภาษากรีก Anthropos ซึ่งแปลว่ามนุษย์ หมายความว่าชาวกรีกมีความรอบรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์นี้เป็นอย่างดี แต่ในช่วงเวลาหรือยุคสมัยการเกิดขึ้นของปรัชญากรีก ศาสตร์เกี่ยวกับมนุษยชาติยังไม่ได้รับการจำแนกประเภท ดังนั้น สิ่งที่ชาวกรีกอธิบายและให้คำจำกัดความของมนุษย์ พวกเขาให้คำจำกัดความไว้ภายใต้ขอบเขตของปรัชญา ที่สามารถนำไปสู่ข้อสันนิษฐานและข้ออนุมานได้ว่ามานุษยวิทยามีรากฐานมาจากปรัชญา ดังนั้นศาสตร์ทางมานุษยวิทยาปรากฏอยู่ในความคิดและผลงานของนักปรัชญาชาวกรีกอย่างชัดเจน ภายใต้คำถามสำคัญ ว่า อะไรทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์? บทบาทของมนุษย์ในโลกคืออะไร? วัฒนธรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? วิญญาณและร่างกายเป็นองค์ประกอบในตัวของมนุษย์อย่างไร? บทบาทของภาษาในการพัฒนาความเป็นมนุษย์คืออะไร? มนุษย์มีวิวัฒนาการอย่างไรตามบริบทเชิงเวลาและสถานที่เฉพาะ พัฒนาการทฤษฎีของมนุษย์มีอะไรบ้าง เช่น ทฤษฎีวิวัฒนาการ ทฤษฎีศาสนา ทฤษฎีทางจิตวิญญาณ ทฤษฎีทางชีววิทยา และทฤษฎีจิตวิทยา คำถามเหล่านี้มีคำตอบในปรัชญา แต่ปรัชญาได้ให้คำตอบไว้แล้วสำหรับคำถามเหล่านี้ ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายในเชิงปรัชญา เริ่มจากนักปรัชญากรีกอย่าง Thales บอกว่า 'ทุกสิ่งคือน้ำไม่เว้นแม้แต่มนุษย์ ซึ่งบอกเป็นนัยว่ามนุษย์สร้างขึ้นมาจากน้ำ ในขณะที่นักปรัชญาอย่าง Anaximande บอกว่ามันคือ Aperion ซึ่งเชื่อว่าทุกสิ่งคืออากาศที่บอกเป็นนัยว่ามนุษย์ก็ถูกประกอบสร้างด้วยอากาศเช่นกัน Heraclitus มองว่า มนุษย์กำลังอยู่ในสภาวะของการเปลี่ยนแปลง (เราไม่สามารถก้าวลงสู่แม่น้ำสายเดียวกันได้สองครั้ง ซึ่งหมายถึงว่ามนุษย์อยู่ในภาวะของความไม่คงที่ มนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงทั้งกายและใจอยู่ตลอดเวลา) Anaxagoras บอกว่า มนุษย์ประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ และลม ซึ่งคล้ายกับ Democritus ที่บอกว่า มนุษย์คือมวลรวมของอะตอม หรือ Plato ที่บอกว่า มนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและจิตวิญญาณ ในขณะที่่ Aristotle บอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล Sigmund Freud บอกว่ามนุษย์ประกอบด้วยสามลักษณะบุคลิกภาพคือ Id, Ego และ Super Ego ส่วนนักปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ อย่าง Descartes ที่มองว่ามนุษย์คิดจึงเป็นตัวมนุษย์ (Man is thinking being) Kant มองว่า มนุษย์ใช้ความเข้าใจและการรับรู้ความรู้สึกในการตัดสิน Kierkegaard เชื่อว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ (existential beings) Socrates เชื่อว่ามนุษย์ควรรู้จักตนเอง Wittgenstein มองว่ามนุษย์ควรทำให้ภาษาของตนง่ายและชัดเจนเพื่อเปลี่ยนแปลงและสื่อสารความคิดและเทคโนโลยีของตน เราสามารถสำรวจธรรมชาติของมนุษย์ได้ผ่านการสะท้อนปรัชญาของปรัชญาโบราณ ยุคกลางและสมัยใหม่ และยังมีทฤษฎีปรัชญาที่แตกต่างกันอีกด้วย ดังนั้นทั้งปรัชญาและมานุษยวิทยามีหน้าที่ที่ต้องค้นพบเหมือนกัน ภายใต้ปรัชญาศึกษาขั้นพื้นฐานปัญหาต่างๆ เช่น การดำรงอยู่ ความรู้ จิตสำนึก ความเข้าใจ สาเหตุ จิตใจ ร่างกาย เวลา อวกาศ โลก ตัวตน และความเป็นจริง ในแนวทางคู่ขนานเดียวกันได้ อ่านเพื่อสร้างไอเดีย ไปสอนมานุษยวิทยาว่าด้วยร่างกาย..ความเป็นมนุษย์ถูกถอดรื้อไปมาก ตั้งแต่การเติบโตของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การเติบโตของทุนนิยมและการบริโภค การพัฒนาของเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ไซบอร์กบอดี้ ศัลยกรรม และอื่นๆ รวมถึงการเคลื่อนไหวของประเด็นความหลากหลายทางเพศ การที่มนุษย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางหรือประเด็นสำคัญของการศึึกษา แต่สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์มีบทบาทมากขึ้น …ทำให้แนวคิดทางปรัชญาเดิมถูกท้าทายและตั้งคำถามอย่างมากมาย …

มวยไทยโดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

***จากมวยวัดสู่มวยตู้ จากมวยภูธรสู่เมืองหลวงหรือมวยวัดเจอมวยซุ่ม(มวยดังที่แอบมาชกตามงานวัดเพื่อเอาเงินเดิมพัน)..คือภาพจำของสนามที่เคยทำงานเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีกับท่านอาจารย์สุริยา สมุทคุปติ์และอาจารย์พัฒนา กิติอาษา ..ประสบการณ์ ความทรงจำที่ยังคงงดงามเสมอ จากสนามที่ได้มีโอกาสติดตามตั้งแต่ค่ายมวย ยันเวทีมวย ผมกับพี่ เพื่อน และน้อง ที่เป็นนักวิจัยร่วมกัน (พี่ถา พี่โจอิ เพื่อนต้อมและน้องจิน) พวกเราได้มีโอกาสไปสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนามที่ค่ายมวย ต.ศิลาชัย ที่กองบิน1 และค่ายประปาชนบทที่จอหอ นครราชสีมา ผมได้มีโอกาสไปดูการเปรียบมวยตามหมู่บ้าน ตามงานวัด เปรียบมวยแบบไร้ตาชั่ง ดูตามขนาดร่างกาย ไม่สนใจน้ำหนัก ความหนา มวลกระดูก ..จนถึงเวทีใหญ่ที่ต้องรีดน้ำหนักให้ผ่านตามตาชั่งที่เป็นมาตรฐานในช่วงเช้า นักมวยบางคนต้องเขาตู้อบ ให้เหงื่อออก รีดน้ำหนักให้ผ่านตามน้ำหนักพิกัดรุ่น บางคนต้องถอดเสื้อผ้าอาภรณ์ทุกอย่างออกจนหมด เหลือเพียงร่างกายที่เปล่าเปลือย เพราะไม่งั้นจะเพิ่มน้ำหนักตัวและชั่งไม่ผ่าน นอกจากจะไม่ได้ขี้นชก ต้องแพ้ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นสังเวียน แถมยังต้องโดนค่าปรับด้วย ….หลังจากที่พวกเขาชั่งผ่านจึงจะสามารถทานอาหารได้อย่างเต็มที่เพื่อเตรียมชกในตอนหัวค่ำ รวมถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง การสักยันต์ที่สัมพันธ์กับความแข็งแรงและชัยชนะของนักมวยก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ผมไปสนามที่ค่ายมวยดูบรรยากาศ การซ้อม ทั้งชกลม ต่อยหรือเตะกระสอบ การจับคู่ปล้ำ ทั้งการวิ่งเช้า-เย็น โดยใส่เสื้อหนาๆเพื่อเรียกเหงื่อในรายของนักมวยที่ควบคุมน้ำหนักเพื่อขะได้ขึ้นชก รวมทั้งกินน้ำอุ่น อาบน้ำอุ่น อีกทั้งยังห้ามการมีกิจกรรมทางเพศก่อนขึ้นชก เพราะจำทำให้แรงตก..ที่ผมชอบอย่างหนึ่งคือความอ่อนช้อยงดงามในมวยไทย เพราะมวยคือศิลปะแห่งเรือนร่างด้วย ไม่ใช่แค่ใช้กำลังร่างกายในการปะทะ นักมวยไทยจะต้องฝึกไหว้ครู ด้วยการก้าวย่าง การยกมือ ยกขา ร่ายรำอย่างอ่อนช้อย การฝึกซ้อมจึงเน้นการมองผ่านกระจกในค่ายมวย ดูมุมที่จะโชว์กล้ามเนื้อ พร้อมขับเน้นกล้ามเนื้อให้ชัดเจนด้วยน้ำมันมวย ก่อนที่จะใช้แม่ไม้มวยไทยที่แสดงออกผ่านร่างกายอย่างหนักหน่วงและเข้มแข็งเมื่อเริ่มต้นเสียงระฆัง ภาพของนักมวยชายที่ใช้ร่างกายในการสะสมทุนไต่เต้าเพื่อสร้างเงินและชื่อเสียง โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม ใช้ร่างกายแปลงเป็นทุนเชิงเศรษฐกิจ ในเรื่องค่าตัว ค่าชก เงินเดิมพัน และทุนเชิงสัญลักษณ์เมื่อมีชื่อเสียง ยกระดับ ตัวเองจากนักมวยภูธร สู่มวยในเวทีเมือง หรือมวยตู้(ถ่ายทอดสดทางทีวี) ในขณะเดียวกัน เราไม่สามารถปฏิเสธขีดจำกัดของร่างกาย หรือธรรมชาติของร่างกาย เราได้ เมื่อร่างกายมีอายุไขและเปลี่ยนแปลงสภาพตามเงื่อนไขของเวลาตามวัฏจักร นักมวยอาจเริ่มต้นชกมวยตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบ และเขาสร้างขื่อเสียงเป็นนักมวยเงินแสนตอนอายุ 20 กว่าปี และต่อยมวยมาจนอายุเกิน 30 ปีที่พวกเขากลายเป็นนักมวยแก่ที่พละกำลังน้อยลง เราจึงพบข่าวนักมวยดัง อดีตค่าตัวสูงลิ่ว อดีตแชมป์เวทีต่างๆหลายคนที่ร่วงโรยตามวัย มีความเกี่ยวโยงกับการล้มมวย การค้ายาเสพติด การลักขโมย เป็นต้น ผมชอบคำที่ท่านอาจารย์พัฒนาใช้และเขียนในหนังสือของท่านที่มาจากงานวิจัยเรื่องนี้ว่า Lives of Hunting Dogs ที่คุณสามารถเป็นฮีโร่ ได้รับคำชื่นชมเมื่อคุณชกชนะ ในขณะเดียวกันคุณก็อาจกลายเป็นไอ้ขี้แพ้ พร้อมทั้งเสียงก่นด่า โห่ตะโกนไล่เมื่อลงจากเวทีก็ได้ การศึกษาเมื่อเกือบยี่สิบปี ในยุคนั้นที่พวกเราทำวิจัย ยังไม่มีการเกิดทัวร์นาเม้นต์แบบมวยไทยไฟลท์ มีเพียงการต่อยตามงานวัด ในประเพณีต่างๆของชุมชน และมวยในเวทีราชดำเนิน ลุมพินี อ้อมน้อย หนองแขม และอื่นๆ ผมได้มองเห็นการเชื่อมโยงเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงของวงการมวย จนปัจจุบันที่เราเริ่มเห็นมวยประเภท 3 ยก แทนที่มวย5 ยก ที่ไม่ได้เน้นพละกำลัง แต่ใช้แม่ไม้มวยไทย อย่างเช่นไทยไฟลท์ เราจึงได้เห็นนักมวยรุ่นเก่ากับมาโลดแล่นและชกกับนักมวยวัยหนุ่มชาวต่างชาติ รวมถึงนักมวยหญิง นักมวยเพศทางเลือก ในธุรกิจกีฬาและตลาดเอนเตอร์เทนเม้นต์สปอร์ตที่เติบโตอย่างมากมายในปัจจุบัน ก็เป็นสิ่งที่น่าศึกษายิ่ง เพราะมวยแบบมวย 3 ยก เน้นการต่อสู้แบบรวดเร็ว ใส่กันให้สุด และวาดลวดลายแม่ไม้มวยไทย ที่เราจะเห็นนักมวยหนุ่มชาวต่างชาติที่ยังอ่อนประสบการณ์ มาชกกับนักมวยไทยรุ่นเก๋า ที่อายุมากขึ้นและไม่สามารถต่อยแบบ5 ยกได้เหมือนในอดีต ทำให้เราได้เห็นนักมวยดังในอดีตกลับมาชกมวยในกติกาแบบนี้มากขึ้น มวยไทย จึงสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของพื้นที่และอำนาจ พื้นที่ที่หมายถึงทั้งพื้นที่ในสนามมวย พื้นที่ในวงการมวย พื้นที่ของความสัมพันธ์ รวมถึงพื้นที่ทางร่างกาย พื้นที่จึงมีลักษณะเป็นพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ของการเป็นสินค้า พื้นที่ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ สิ่งสร้างและนำเสนอทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมแม่ไม้มวยไทย วัฒนธรรมความเป็นชาย รวมถึง พื้นที่แห่งจินตนาการ จินตนาการแห่งพื้นที่และจินตนาการทางร่างกาย เมื่อมองลงไปที่มวยไทย ร่างกายของนักมวยทำให้เราเห็นความจริงและความซับซ้อนบางอย่างภายใต้วาทกรรมและความรู้แห่งยุคสมัย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มวยไทยก็ยังคงสะท้อน อัตลักษณ์ของผู้ชายไทย ความเป็นชายในสังคมไทยได้เสมอ เพราะอัตลักษณ์ที่ลื่นไหล ยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา นักมวยล้วนผ่านการใช้ร่างกาย การต่อสู้ดิ้นรน การเป็นส่วนหนึ่งของทุน บริโภคนิยม ของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ มวยไม่ใช่แค่กีฬา อาจเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ เป็นเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องการเมือง เป็นพื้นที่ของอำนาจ ศักดิ์ศรี บารมีของบรรดาค่ายมวย เจ้าของค่าย ผู้จัดการแข่งขัน และการต่อรอง เป็นการเมืองในเชิงร่างกาย...มวยไทยและนักมวยไทยก็ยังคงสะท้อนภาพของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี.. **เห็นหนังสือที่ย้ำเตือนความทรงจำที่เคยทำงานร่วมกันอีกครั้ง ภาพของอาจารย์พี่อู๋ถือสะพายกล้องถ่ายรูป เหน็บสมุดบันทึกสนาม อีกมือถ่ายวีดีโอ อยู่ชิดติดขอบเวทีมวยในทุกครั้ง และภาพอาจารย์สุริยาที่ท่านมักจะถือสมุดโน๊ตสัมภาษณ์คนดูและญาตินักมวยด้วยใบหน้ายิ้มแย้มมีความสุขกับการทำงานสนาม ยังคงชัดเจนเสมอ และท่านทั้งสองเป็นต้นแบบของการทำงานสนามของผม และประสบการณ์ตรงนี้ยังเป็นส่วหนึ่งของการสอนมานุษยวิทยาว่าด้วยร่างกายของผมด้วย..*** ที่มาภาพจาก Wordpress.com

ความเจ็บป่วยและอุปมาอุปมัน(Illness and Metaphor) นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ในวิชา Anthropology of body (ปัจจุบันเป็นวิชาร่างกายในวัฒนธรรม เทคโนโลยีและสังคม ) จากงานของ Susan Sontag เรื่อง Illness and Metaphor ผมเคยได้ลองถามนักศึกษาในห้องว่าหากนึกถึงโรคและควมเจ็บป่วย เช่นมะเร็ง ในความคิดของคุณคุณอุปมาเชื่อมโยงกับอะไรได้บ้าง และหมายถึงอะไร บางคนมองว่ามันคล้ายลูกโป่งที่ค่อยๆหมดลม หรือเหล็กที่วางอยู่บนบ่าหนักหน่วงและทำอะไรลำบาก ผลไม้ที่ถูกหนอนชอบไช เชื่อราบนขนมปังที่ค่อยๆลุกลามไปทั่ว บางคนว่าเหมือนเข็มฉีดยาตอนแรกจะกลัวตอนหลังจะชินกับมัน บางคนมองไปถึงนายทุนหนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น มันคอยจะสูบเลือดให้ตาย ความเจ็บป่วยคือเสี้ยนหนามชีวิต หรือ มะเร็งคือวิญญาณที่ไม่เห็น ไม่เป็นไม่ได้แปลว่าไม่มี บางคนมองว่ามะเร็งคือความไม่เป็นประขาธิปไตย การทุจริตคอรัปชั่นที่ทำลายทุกอย่าง และอื่นๆ Susan Sontag ตีพิมพ์งานในช่วง1978 เธอบอกว่าไม่มีอะไรเป็นการลงโทษมากกว่าการให้ความหมายของการเจ็บป่วย ในช่วงหนึ่งมะเร็ง ถูกให้ความหมายเกี่ยวกับความน่ากลัว การลุกลามแพร่กระจาย การขัดขวางหรือหยุดยั้งขีวิต และการถูกตำหนิกล่าวโทษ ความหมายเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อความคิด มุมมอง และการรักษาคนไข้โรคมะเร็ง การักษามะเร็งคือความก้าวร้าว (Agressive) โดยการใช้การปะทะโจมตีกับทะเร็ง หรือเซลล์มะเร็งในร่างกาย ที่มันบุกรุก หรือบักล้ำพื้นที่ทางร่างกาย ร่างกายถูกโจมตี ทิ้งระเบิดอานุภาพทำลายช้าง ด้วยการใช้รังสีหรือคีโมบำบัด อุปมาเข่นเดียวกับการทำสงครามของทหาร (Military Metaphor) ร่างกายของคนไข้กลายเป็นวิธีคิดและแนวทางการรักษา เข่นเดียวกับสนามรบ (Battle ground) ความหมายทางวัฒนธรรมของมะเร็ง เชื่อมโยงกับการควบคุมจัดการร่างกาย เช่นการไม่สูบบุหรี่ กินเหล้า การไม่ทานอาหารที่มีไขมัน การออกกำลังกาย การตากแดดจัดๆ หรือภาวะของการเป็นมะเร็งมันโจมตีอวัยวะที่บ่งชี้เพศ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมหลูกหมาก ที่ทำให้สูญเสียสัญลักษณ์ของคยรมเป็นแม่ เป็นผู้หญิง หรือการสืบพันธ์ุ โรคมันมีคบามรุนแรงและมีความเข้มแข็งเมื่อมีความหมาย ความหมายที่เชื่อมโยงร่างกายทางกายภาพกับร่างกายทางสังคม การเกิดภาวะที่Sontag เรียกว่า The guilt of responsibility. หรือ ความรู้สึกผิดต่อความรับผิดชอบ เมื่อความเจ็บป่วยทำให้เราบกพร่องต่อหน้าที่ในฐานะแม่ ภรรยา แรงงาน หรือพลเมืองคุณภาพของรัฐชาติ ความเจ็บป่วยเกิดขึ้นไม่ได้แค่หมายความว่าเราไม่รับผิดชอบต่อตัวเอง แต่ยังไม่รับผิดชอบค่อสังคมส่วนรวมด้วย ขณะที่เธอเขียนหนังสือ Sontag ที่ซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งได้แสดงให้เห็นว่าคำอุปมาและความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับความเจ็บป่วยบางอย่าง โดยเฉพาะมะเร็ง ช่วยเพิ่มความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยอย่างมาก และมักจะขัดขวางไม่ให้พวกเขาแสวงหาการรักษาที่เหมาะสม ด้วยการไขปริศนาที่เชื่ออมโยงกับจินตนาการเกี่ยวกับมะเร็ง ซอนแท็กแสดงให้เห็นว่ามะเร็งคืออะไรกันแน่ หรือเป็นเพียงโรคหนึ่งที่ถูกให้ความหมายเท่านั้น เธอให้เหตุผลว่า มะเร็งไม่ใช่คำสาป ไม่ใช่การลงโทษ ไม่ใช่เรื่องน่าอายอย่างแน่นอน และสามารถรักษาให้หายขาดได้หากปฏิบัติตามการรักษาที่ดี เกือบหนึ่งทศวรรษต่อมา ด้วยการระบาดของโรคใหม่ที่ถูกตีตราซึ่งเต็มไปด้วยความลึกลับและคำอุปมาอุปมัยเชิงการลงโทษ Sontag ได้เขียนภาคต่อของ Illness ในชื่อ Metaphor ซึ่งขยายการโต้แย้งของหนังสือเล่มก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการระบาดของโรคเอดส์ บทความทั้งสองนี้ตีพิมพ์ร่วมกันแล้ว Illness as Metaphor and AIDS and Its Metaphors ซึ่งได้รับการแปลเป็นหลายภาษาและยังคงมีอิทธิพลมหาศาลต่อความคิดของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และเหนือสิ่งอื่นใด ต่อชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแลหลายพันคน ผมลองให้นักศึกษาเขียนหัวข้อร่างกายที่ตัวเองสนใจ มีหลายประเด็นทั้งการบริจาคอวัยวะ การใช้ร่างกายในการเคลื่อนไหวทางการเมือง วัฒนธรรมการสัก ร่างกายแบบlolicon และ shotacon ร่างกายในตัวละครและวรรณกรรม ร่างกายในกีฬาข้ามเพศ วัฒนธรรมY2K กับแฟขั่นบนร่างกาย แฟชั่นเสื้อตัวเล็ก ร่างกายของTrans ในศาสนาอิสลาม การใช้รอยแผลบนร่างกายสร้างอารมณ์ความสงสาร การข้ามเพศ ร่างกายและเพศวิถีบนพื้นที่ออนไลน์ ร่างกายของผู้ป่วยและอื่นๆ ผมชอบงานของเธอมาก อ่านแล้วเห็นภาพและคิดว่านำไปใช้เขียนงานได้ ในประเด็นเชิงร่างกายและการแพทย์

มานุษยวิทยาว่าด้วยประสบการณ์ (Anthropology of Experiences) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

มานุษยวิทยาเป็นสาขาวิชาที่ศึกษาทุกแง่มุมของประสบการณ์ของมนุษย์ ทั้งภาษา วัฒนธรรม และชีววิทยา ตั้งแต่อดีตสมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน โดยธรรมชาติแล้ว การวิจัยของนักมานุษยวิทยามีลักษณะเป็นแบบงานชาติพันธุ์วรรณา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นการศึกษาแบบ Mixed Method จนปัจจุบันที่ใช้วิธีการแบบสหวิทยาการมากขึ้น ที่อาศัยความเชื่อมโยงจากเลนส์และจุดแข็งทางภูมิปัญญาของสาขาต่างๆ มาใช้ในการวิจัยปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรม มานุษยวิทยา สนใจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ต้นกำเนิด ความหลากหลาย และความซับซ้อนของสังคมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชีวิตมนุษย์ การศึกษามานุษยวิทยาจำเป็นต้องนำไปสู่ความเข้าใจที่มากขึ้นเกี่ยวกับประเพณีและการปฏิบัติทางวัฒนธรรมจากช่วงเวลาและบริบททางภูมิศาสตร์ที่ต่างกัน นี่เป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจความซับซ้อนของโลกสมัยใหม่ ทั้งในแง่ของปฏิสัมพันธ์ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และในแง่ของความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางสังคม ผมสนใจ มานุษยวิทยาว่าด้วยประสบการณ์ (Anthropology of experience) ซึ่งได้ทำการตั้งคำถามและสำรวจว่า ผู้คนในที่ต่างๆสัมผัสประสบการณ์วัฒนธรรมของตนอย่างไร และประสบการณ์เหล่านั้นถูกแสดงออกในรูปแบบต่างๆ กันอย่างไร ตัวอย่างเช่น การเล่าเรื่องงานวรรณกรรม ละคร งานรื่นเริง พิธีกรรม การรำลึกถึง และการทบทวนชีวิต การศึกษาเหล่านี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนที่ทำงานในทฤษฎีมานุษยวิทยาเชิงสัญลักษณ์ มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย และมีประโยชน์สำหรับนักสังคมศาสตร์ นักคติชนวิทยา นักทฤษฎีวรรณกรรม และนักปรัชญาคนอื่นๆ ด้วย ผมมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์และการแสดงออกนั้นเป็นปัญหาอยู่เสมอ ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ประสบการณ์ของคนอื่นโดยสมบูรณ์ เพราะทุกคนมีภูมิหลัง และบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันรวมทั้งเน้นประสบการณ์ด้านอื่นๆ นั่นคือเหตุผลดังที่ที่ดิลเต้(Dilthey) ได้แนะนำให้มีการศึกษา ตีความ และศึกษาการแสดงออกของประสบการณ์ เช่น การเป็นภาพตัวแทน การแสดงออก และข้อความที่ใช้สื่อสารแทน (representations, performances and texts ) ดังนั้นจริงๆแล้วเราเข้าใจผู้อื่นบนพื้นฐานของประสบการณ์ของเราเอง ประสบการณ์ภายในนั้นสามารถได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมที่เราอาศัยอยู่ ในทางกลับกัน สิ่งที่พ้นเลยจากความเป็นจริงคือประสบการณ์และการแสดงออก ประสบการณ์คือวิธีที่ความเป็นจริงนำเสนอต่อจิตสำนึกของเราอย่างไร( Experience is how reality presents itself to our consciousness ) การแสดงออกคือวิธีที่ประสบการณ์ส่วนบุคคลนี้ถูกวางกรอบและเชื่อมต่อเกาะเกี่ยว expression is how this individual experience is framed and articulated )ในการแสดงออก เราจะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของเรื่องราว (story) ของเรา เราจะต้องตัดบางส่วนออกจากกระแสชีวิตที่ต่อเนื่องของเรา ตามคำอธิบายของ Dilthey บอกว่า เราไม่สามารถสัมผัสได้ถึงกระแสชีวิตที่ดำเนินอยู่ โดยการศึกษาวัฒนธรรมผ่านการแสดงออกของผู้คนเพียงอย่างเดียว แต่หน่วยการวิเคราะห์ขั้นพื้นฐานจะถูกสร้างขึ้นโดยผู้คนที่เรากำลังศึกษาอยู่ มากกว่าที่จะกำหนดโดยผู้สังเกตการณ์จากภายนอก จากนั้นเราก็ต้องตีความผู้คนในขณะที่พวกเขาก็กำลังตีความตัวเองผ่านการแสดงออกทางศิลปะและวัฒนธรรม เราทำความเข้าใจประสบการณ์โดยจับคู่ประสบการณ์เหล่านี้กับวัฒนธรรมและภาษาที่นำเรามาจากอดีต เข้ามาเชื่อมโยงกับคุณค่าและความเชื่อทางวัฒนธรรม Dilthey และ Dewey อธิบายว่าชีวิตเป็น "ความสั่นรัวและเต้นขยับเป็นจังหวะ" (pulsating and rhythmical )ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่าง การแตกแยก การหยุดพัก และการกลับมาพบกันใหม่ (breaks and re-unions) ถือเป็นช่วงเวลาคั่นกลางสำหรับการเติมเต็มประสบการณ์ (Moments of fulfilment punctuate experience ) ของพวกเรา Dewey บอกว่ามันคือ “การเปลี่ยนผ่านจากความวุ่นวายไปสู่ความกลมกลืนคือช่วงชีวิตที่เข้มข้นที่สุด” (the passage from disturbance into harmony is that of intensest life ) ดังนั้นประสบการณ์เป็นการปะทุเกิดขึ้นมาจากกิจวัตรประจำวัน และประสบการณ์นั้นเป็นสิ่งที่กระตุ้นการแสดงออก ดังเช่นที่ Dilthey ศิลปะขึ้นอยู่กับแรงกระตุ้นที่จะสารภาพหรือประกาศ เขาเน้นย้ำว่าสุนทรียภาพนั้นเกิดจากประสบการณ์ของมนุษย์ที่สมเหตุสมผล หรือ Victor Turner อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับงานของเขาใน 'ละครทางสังคม' (social drama ) การแก้ไขความขัดแย้งทางสังคมโดยการดำเนินการแก้ไขผ่านพิธีกรรม เช่น กฎหมาย ศาสนา หรือพิธีการอื่นๆ และวิธีที่กระบวนการนี้ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรม… งานทางมานุษยวิทยามีแง่มุมที่น่าสนใจในการดึงประสบการณ์ตัวเองในสนาม และประสบการณ์ในชีวิตของผู้คนในสนามมาบอกเล่า อธิบายและตีความ

การศึกษาอาชญากรรมและความรุนแรงของเด็กและเยาวชน ในมุมมองทางมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

การศึกษาอาชญากรรมและความรุนแรงของเด็กและเยาวชน มีงานวิจัยหลายชิ้น ที่ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่าความยากจน การขาดการศึกษา การว่างงาน ความผิดปกติหรือความแตกแยกขัดแย้งของครอบครัว และการเผชิญกับความรุนแรง มีส่วนทำให้เกิดวัฒนธรรมย่อยแบบนี่นี้ในหมู่เยาวชน ทั้งนี้สถานการณ์เหล่านี้กำลังผลักดันให้วัยรุ่นบางคนแสวงหาความรู้สึกถึงตัวตน ความเป็นเจ้าของและอำนาจจากโครงสร้างของแก๊ง (Gang) ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความจริงที่ว่าประเทศชาติก็กำลังล้มเหลวในการจัดหาแนวทางเลือกที่ดีขึ้นให้กับเด็กและเยาวชนของพวกเรา ที่ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวครั้งใหญ่ของสังคมเรา โดยเฉพาะการที่คนหนุ่มสาวมักเผชิญกับความรุนแรงและทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติที่เด็กและเยาวชนสามารถจะกระทำความรุนแรงแบบนี้ต่อคนอื่นได้ สิ่งนี้น่าจะทำให้สังคมควรจะต้องมีความวิตกกังวลและพิจารณาต่อเรื่องนี้ให้มากขึ้น การวิจัยโดยส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมการเกิดแก๊งของวัยรุ่นนั้น มีผลกระทบทางสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และจิตวิทยาอย่างมีนัยสำคัญ การปรากฏตัวของแก๊งต่างๆมากขึ้น ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ความไม่มั่นคง ความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน อีกทั้งยังขัดขวางการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้วย เช่นการศึกษา ในบังคลาเทศ อเมริกา เอธิโอเปีย หรือในประเทศไทย การแพร่กระจายของแก๊งเหล่านี้ส่งผลให้อัตราการเกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมือง ในสังคมที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ ก่อร่างและผลิตซ้ำความรุนแรง ทั้งการนำเสนอข่าวอาชญากรรมความรุนแรง ภาพยนต์ที่สร้างให้คนกระทำความรุนแรงเป็นฮีโร่ รายการทางช่องยูทูบที่เอาคนที่กระทำความผิดและคนที่ใช้ความรุนแรงมาเป็นไอดอลโดยนำเสนอเรื่ิองราววีรกรรมที่กระทำกับคนอื่น (แทนที่จะสอนบทเรียนและบอกผลกระทบจากการกระทำที่เกิดกับคนรอบข้าง) ล้วนทำให้ความรุนแรงและการก่ออาชญากรรมกลายเป็นเรืองปกติ เป็นการแสดงถึงความเป็นลูกผู้ชาย และเป็นไปในแนวทางของการสร้างชื่อเสียงกับตัวเองเพื่อให้เกิดการจดจำและยอมรับมากกว่า ทั้งที่เป็นพฤติกรรมในด้านลบและส่งผลกระทบต่อผู้อื่น ในสังคมไทยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า คนที่ก่อความรุนแรงและตั้งแก๊งอาจจะไม่ใช่คนในเขตพื้นที่ชายขอบของเมือง คนยากจน คนในสลัม ชุมชนแออัด เหมือนในต่างประเทศที่พูดถึงชุมชมชายขอบของคนดำหรือชุมชนแรงงานข้ามชาติ แต่กลับเป็นลูกของคนมีอำนาจ มีอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็น นักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ข้าราชการในพื้นที่ เป็นต้น ผมจำได้ว่าสมัยเด็กผมอยู่ชนบท มีแค่เด็กบ้านนั้นบ้านนี้ คุ้มนั้นคุ้มนี้ ตีกันบ้างเวลามีงานบุญ มีหมอลำ งานประจำปี แต่ก็มาแข่งขันกีฬาร่วมกัน มาเตะบอลกัน ก็ไม่ได้รุนแรงเหมือนทุกวันนี้ รวมถึงยาเสพติดและสารบางประเภทก็กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นหรือไม่สามารถควบคุมสติและอารมณ์ที่รุนแรงได้…ผมคิดว่าบางเรื่องเราต้องไม่มองแบบโลกสวยจนเกินไป ยอมรับความจริงและหาทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง.. สำหรับคำว่า แก๊งในสายตาของบางคนอาจจะหมายถึงกลุ่มอาชญากรที่ก่ออาชญากรรมเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม สำหรับบางคนอาจมองว่าคำว่าแก๊งเป็นเพียงก๊วนกลุ่มเพื่อนที่ออกไปเที่ยวเพื่อความสนุกสนานเล็กๆ น้อยๆ ในขณะที่เด็กและเยาวชนบางคนถูกกระตุ้นให้เข้าร่วมแก๊งเพื่อความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือเพื่อสร้างคำนิยามของตนเองว่าพวกเขาเป็นใครหรือเป็นพวกเขา และมองคนที่ตรงกันข้ามว่าไม่ใช่พวกหรือเป็นคนอื่น เด็กและเยาวชนเข้าแก๊งเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อน หรือรุ่นพี่ บางคนเข้าร่วมเพราะแรงกดดันจากคนรอบข้างหรือครอบครัว เนื่องด้วยความจำเป็นในการปกป้องตนเองและครอบครัว หรือเพื่อหาเงิน ในสมาชิกของ 'แก๊งเยาวชน' จะมีผู้นำ รุ่นพี่ รุ่นน้อง และจะต้องตั้งชื่อแก๊ง และสร้างความเป็นผู้นำที่สามารถบ่งชี้ตัวตน ความกล้าหาญและได้รับการยอมรับ มีการสร้างอาณาเขตทางภูมิศาสตร์ของตัวเอง มีการพบปะวางแผนบางอย่างร่วมกัน มีกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงมีการสัญลักษณ์ที่จดจำได้ เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือสร้างเหตุการณ์สำคัญ รวมถึงลักษณะสำคัญที่เป็นเรื่องของกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย แก๊งจะได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องพวกเขาและสร้างความรู้สึกของการมีครอบครัว” (Yablonsky, 1997) กล่าวอีกนัยหนึ่งสมาชิกในแก๊งเป็นเหมือนครอบครัวหรือตัวแทนครอบครัว ที่สมาชิกมารวมตัวกันและดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Lingren (1996) แสดงให้เห็นว่า 50 ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกแก๊งมาจากบ้านที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือบ้านที่ไม่มีพ่อแม่อาศัยอยู่กัน หรือไม่มีเวลาดูแลลูก ดังนั้นหากผู้ปกครองไม่สามารถจัดโครงสร้าง กำกับดูแล ช่วยเหลือ และดูแลเด็กและเยาวชนในช่วงเวลาสำคัญของการพัฒนาวัยรุ่น วัยรุ่น พวกเขาอาจหันมาเข้าร่วมกลุ่มเพื่อสนองความต้องการของตนเอง เมื่อเข้ามาร่วมกลุ่ม พวกเขา(ผู้นำกลุ่ม)จะจัดวางและสร้างโครงสร้างให้กับชีวิตของสมาชิกในแก๊ง เช่น การแต่งรถ การแข่งรถ การไปเที่ยว ไปเสพยา กินเหล้า สูบบุหรี่และอื่นๆ ซึ่งจะมาจากการมั่วสุมพูดคุยกันแบบเห็นหน้าค่าตา การโทรศัพท์คุย การไลน์คุยกันและการเตรียมการที่จะกระทำบางอย่างในแต่ละวัน โดยมองว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มตัวเองที่เด่นชัดและเป็นที่จดจำขึ้นมา รวมทั้งการวางแผนหาเงินจากกิจกรรมบางอย่าง ดังเช่น นักวิชาการที่ศึกษาแก๊งเยาวชนในอเมริกาบอกว่า “พวกเขาหาเงินได้จากอาชญากรรม โดยเฉพาะยาเสพติด และผูกพันกันด้วยความภักดีต่อหัวหน้าแก๊งเผด็จการ พวกเขาทำลายชีวิตและทรัพย์สิน ด้วยความรุนแรงและการฆาตกรรมรวมถึงการโจมตีผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่” (Hallsworth, 2011) ปรากฏการณ์ดังกล่าว ถูกวิเคราะห์ว่าเกิดจากเด็กและวัยรุ่นบางคนที่รู้สึกว่าเสียงตัวเองไม่ถูกได้ยิน (จึงใช้เสียงบิดรถให้คนอื่นได้ยินแทน) หรือรู้สึกว่าตนเองอยากมีพลังอำนาจ (โดยการไปรังแกคนที่อ่อนแอกว่าใช้อำนาจความเป็นชายข่มเหงคนอื่น) และสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้หันไปหาแก๊งค์เพราะจะทำให้พวกเขามีความรู้สึกว่าตัวเองมีสถานะสูงส่งและจับต้องอำนาจที่มองไม่เห็นนั้นได้ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัญหาและสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ผมว่าในทางวิชาการ นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยารวมถึงนักจิตวิทยาคงต้องมาช่วยอธิบายเรื่องนี้ และหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันครับ …

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...