วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

เลวี่ เสตร๊าท์ กับโครงสร้างนิยม (2)


คุณูปการของแนวคิดเชิงโครงสร้างนิยม
การให้ความสำคัญกับความคิดของคนชายขอบ ความคิดของคนพื้นเมืองดั้งเดิม ที่ถูกมองว่าล้าหลัง เป็นวิธีคิดแบบไสยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์ ดังความคิดเกี่ยวกับศาสตร์เชิงรูปธรรม (Bricolage)ที่เลวี่ สเตร๊าท์ศึกษา พบว่า ผู้ชายเผ่าเนกริโท(Negrito)สามารถจดจำและจำแนกชื่อต้นไม้ได้อย่างสบายๆถึง 450 ชนิด นก 75 ชนิด และ มด 20 ชนิด เด็กจากเผ่าตุยกุย (Tyukyu) สามารถบอกชนิดและเพศของต้นไม้จากเศษเปลือกไม้ที่พบ หรือบอกได้จากการดมกลิ่นหรือดูจากความแข็งของเนื้อไม้ว่าเป็นต้นไม้ชนิดใด อินเดียนเผ่าโคฮุยลา (Coahuila) ที่รู้จักพืชที่กินได้ถึง 60 กว่าชนิด และสมุนไพรที่เป็นยาอีก 28 ชนิด ชนเผ่าโฮปี(Hopi)รู้จักพืชถึง 350 ชนิด และเผ่านาวาโฮ (Navaho)รู้จักพืชที่ 500 ชนิด เป็นต้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าสนใจว่า คนดั้งเดิมเหล่านี้ สามารถคิดได้ไกลกว่าเรื่องประโยชน์ใช้สอยอย่างแคบๆ สามารถคิดถึงสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอยโดยตรงรวมอยู่ด้วย คนเผ่าโบราณดั้งเดิมมีความรอบรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางชีวภาพเป็นอย่างมาก คือ รู้จักธรรมชาติและอยู่กับธรรมชาติ จึงสามารถพัฒนาความรู้เป็นมากกว่าเรื่องของประโยชน์ใช้สอยเฉพาะหน้า (Use)รวมถึงตอบความอยากรู้ของชุมชนที่สั่งสมถ่ายทอดกันมาหลายชั่วคนเช่น เผ่าเฮ็ลมีนี(Helmene)และเผ่าไอคูเท (Iakoute)รู้ว่า หากกินแมงมุมกับหนอนขาวก็จะแก้ปัญหาเรื่องเป็นหมันได้ หรือรู้จักใช้อุจจาระหมีแก้โรคท้องผูก เป็นต้น
สิ่งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การเป็นหนึ่งเดียวและการอยู่ร่วมกันของคนกับธรรมชาติ มากกว่าการทำลายล้าง การอยู่เหนือ หรือความต้องการเอาชนะธรรมชาติอย่างที่นิยมคิดกันในระบบความคิดของคนสมัยใหม่ ดังนั้นคนสมัยใหม่จึงมองว่าความคิดของคนดั้งเดิม ล้าหลัง ไม่ก้าวหน้า เพราะไม่เอาชนะธรรมชาติ ทั้งที่ความจริง คนโบราณดั้งเดิมก็มีระบบคิด มีภูมิปัญญาของตัวเอง เพียงแต่เป็นคนละระบบระเบียบกับคนสมัยใหม่
ในที่นี้พูดถึง ความคิดของคนดั้งเดิม ที่ยังปราศจากวาทกรรมจากภายนอกเข้ามาเพราะชุมชนหมู่บ้าน สมัยนี้ อยู่ภายใต้กรอบวาทกรรม ความรู้ความจริงของคนกลุ่มต่างๆที่เข้ามาปะทะประสาน โดยมีเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ต่างกัน ภายใต้Reason Choice เบื้องหลังที่แตกต่าง ความสำคัญคือ สิ่งเหล่านี้ทำให้ชุมชนอยู่ได้จริงหรือหรือเป็นมายาคติชุดหนึ่งที่ปิดบังความจริงอีกชุดหนึ่ง เป็นนิทานปรัมปราเรื่องหนึ่งของใคร? สุดท้ายความรู้ชุดนี้อาจทำให้ชุมชนอยู่ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านจะไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อมายาคติชุดดังกล่าวกลายเป็นความจริงและส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
ความคิด ความเชื่อที่ว่าคนเผ่าโบราณดั้งเดิมล้าหลังเนื่องจากไม่มีวิธีการหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์ หรือวิธีการหาความรู้แบบวัตถุวิสัย (Objective Knowledge)ซึ่งเลวี่ สเตร๊าท์ไม่เห็นด้วย เนื่องจากความคิดของคนโบราณอยู่บนฐานของการสังเกต เปรียบเทียบ เป็นความรู้เชิงรูปธรรมที่มีโลกแห่งความเป็นจริงรองรับไม่แตกต่างจากองค์ความรู้ของคนสมัยใหม่ เป็นการจัดประเภทแยกแยะธรรมชาติรอบตัวอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ว่าพืช สัตว์ สิ่งของ คุณจะบอกอย่างไรว่ามนุษย์ปัจจุบันแทนดาวเป็นแฉกเมื่อวาดภาพหรือติดเครื่องหมายแสดงยศบนบ่ากับดาวจริงๆบนท้องฟ้า
เลวี่ สเตร๊าท์ บอกว่า หากไม่เอาความคิดหรือมาตรฐานของวิทยาศาสตร์มาเป็นตัวกำหนดตัดสินแล้ว ไสยศาสตร์คือระบบความคิดแบบหนึ่งที่มีฐานะไม่แตกต่างไปจากวิทยาศาสตร์ ไสยศาสตร์ไม่ใช่รูปแบบแรกของวิทยาศาสตร์ เป็นคนละประเภทกับวิทยาศาสตร์แต่เป็นระบบคิด วิธีคิดที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่อาจเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ได้
วิธีคิดแบบคู่ตรงกันข้ามถือได้ว่าเป็นวิธีการศึกษาที่อยู่เรื่องของโครงสร้างทางภาษาที่คิดภายใต้ตรรกะของความแตกต่างหรือคู่ตรงกันข้ามที่ก่อให้เกิดความหมายหรือความเข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆ มนุษย์สามารถคิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆภายใต้ตรรกะของความแตกต่างและการเปรียบเทียบในระบบเสียง ของภาษา ของรูปสัญญะ  เช่นดียวกับภาษาที่จะมีทั้งเรื่องของโครงสร้างทางภาษาที่เป็นเสมือนด้านสังคม กับส่วนที่เป็นด้านของปัจเจกบุคคล ที่เกี่ยวกับ ภาพประทับของเสียง การเปล่งเสียง การรับฟังเสียง เป็นต้น เช่นเดียวกับการศึกษานิทานของเลวี่ สเตร๊าท์ ที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนิทานปรัมปรา ว่าสามารถแปลได้ง่ายมาก แม้ว่าข้อความจะมีการตกหล่นไม่สมบูรณ์ หรือแปลตกหล่นก็พอปะติดปะต่อได้ ข้อนี้เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ นิทานปรัมปรา เป็น ภาษาหรือ รหัสพิเศษ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการ อ่านหรือ ถอดรหัส ด้วยวิธีการเฉพาะเช่นเดียวกัน
แม้ว่าคุณูปการของการวิเคราะห์แบบโครงสร้างนิยมเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ขณะเดียวกันเราก็ปฏิเสธจุดอ่อนของการวิเคราะห์แบบโครงสร้างนิยมไม่ได้เช่นกัน

บทวิพากษ์แนวคิดโครงสร้างนิยม
1.กระบวนการทำให้เป็นนามธรรมและรูปลักษณ์นิยม
ระบบภาษาของโซซูร์ละเลยจุดกำเนิดทางวัตถุของภาษา และตัดขาดจากมิติทางจิตวิทยา เนื่องจากคำอธิบายของภาษาของเขาไม่อิงกับปัจจัยกำหนด จาก จิตสำนึกเป็นพื้นฐาน แม้กระทั่งในระดับชีววิทยาก็ตามแม้โซซูร์จะพูดถึง โครงสร้างระดับลึกแต่ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับจิตไร้สำนึกในความหมายแบบฟรอยด์ การวิเคราะห์แบบโครงสร้างนิยมเป็นการอ่าน ระดับพื้นผิว  ในเชิงนามธรรมซึ่งผิดแผกจากการอ่าน ระดับลึก แบบฟรอยด์หรือมาร์กซ์ซึ่งคิดในกรอบการวิเคราะห์อาการป่วยไข้ มีต้นตอ สาเหตุ การรักษา ตรงกันข้ามกับโครงสร้างนิยมที่ปลอดจากความมุ่งหมายที่จะ บำบัด
แม้ยาค็อบสัน ไม่ได้ปฏิเสธจุดเริ่มต้นที่เป็นวัตถุ (ประสาทวิทยา) และความเป็นจริงเกี่ยวกับอาการภาษาแปรปรวน แต่การวิเคราะห์ของเขามีแนวโน้มจะทำให้โรคเป็นนามธรรมและพยายามสร้างแบบแผนให้กับมันอาการภาษาแปรปรวน (aphasia) ซึ่งเป็นอาการที่บกพร่องของการใช้ภาษาอย่างรุนแรง เนื่องจากสมองบางส่วนได้รับความกระทบกระเทือน โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการเลือกใช้คำเชิงกระบวนชุดมีแนวโน้มที่จะพูดโดยใช้คำที่เกี่ยวเนื่องหรือนามนัย ผู้ป่วยที่บกพร่องเรื่องการเชื่อมโยงถ้อยคำ(เชิงกระแสความ) จะใช้แต่คำที่คล้ายคลึงกันหรืออุปลักษณ์
โครงสร้างนิยมได้เปิดพื้นที่เชิงรูปแบบให้แก่การวิเคราะห์ แต่ก็เป็นพื้นที่นามธรรมที่ไร้มิติ ซึ่งอาจดูคล้ายกับปรัชญา (คิดเกี่ยวกับความคิด) และยังเชื่อมั่นในกฏของการคิดด้วยเหตุผลเพื่อได้มาซึ่งภาพโดยรวมของโลกโครงสร้างนิยมเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกับเหตุผลนิยมสุดขั้ว  โดยอ้างว่า ความหมาย คือ ผลผลิตของกระบวนการสื่อความหมาย กระบวนการนี้ดำรงอยู่ในโครงสร้างอันเป็นสากลและนิรันดร์ ก่อให้เกิดระบบปิดอันเสถียรซึ่งอิงอยู่กับคู่แย้งหน่วยต่างๆ ของระบบหรือรูปสัญญะต่างๆ จะสื่อความหมายก็ต่อเมื่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ของรูปสัญญะกับความหมายสัญญะ ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือสิ่งของ หรือการกระทำ ล้วนเป็นสิ่งสมมติร่วมกันที่ตั้งอยู่บนฐานของขนบเพียงอย่างเดียว
2.การทำให้มนุษย์กลายเป็นเพียงรูปแบบ
ฉันคิด ฉันจึงดำรงอยู่ ซึ่งสะท้อนว่าฉัน ผู้เป็นอัตบุคคล อันมีเอกภาพซึ่งเป็นเสาหลักของปรัชญาและตรรกะแบบตะวันตก ได้สลายกลายเป็นผู้ใช้ภาษาและผู้สื่อภาษา ฉัน เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจากภาษาถูกให้ความหมายโดยการใช้ภาษา ไม่ใช่โดยตัวความหมาย และถูกสร้างขึ้นในรูปแบบเดียวกับอุปลักษณ์และนามมัย โครงสร้างนิยมไม่พยายามจะอธิบายว่า อะไรเป็นแรงจูงใจในการใช้ภาษาของอัตบุคคลในฐานะที่เป็นปัจเจก ดังนั้นตรรกะของระบบจะหลบเลี่ยงและก้าวข้ามเหตุชักนำในการใช้ภาษาของอัตบุคคล ประเด็นเรื่อง การสื่อสารความคิดส่วนบุคคล นั้นไม่อยู่ในความสนใจของนักโครงสร้างนิยม แต่สิ่งที่เขามุ่งสอบสวนคือ ความคิดส่วนบุคคลเข้ามาสู่ระบบได้อย่างไร
3.ความปลอดนัยยะทางประวัติศาสตร์
โครงสร้างนิยมปลอดจากนัยยะทางประวัติศาสตร์ หรือพูดให้ถูกคือ ไร้ความเป็นประวัติศาสตร์ (a-historical)การวิเคราะห์แบบโครงสร้างนิยมใช้การได้(ตามหลักการ) ไม่ว่าจะอยู่ในประวัติศาสตร์แบบไหน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการละทิ้งต้นกำเนิดและแรงจูงใจทางประวัติศาสตร์  รวมทั้งลักษณะที่เป็นนามธรรมและเน้นการใช้ปัญญาของโครงสร้างนิยม ทำให้แนวคิดนี้เป็นโครงการที่มีแนวโน้มแบบสมัยใหม่นิยม และเป็นเหมือนการผันตัวเข้าสู่ทฤษฎีหลังสมัยใหม่ ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้าแล้วว่า สมัยใหม่จะต้องกลายเป็นหลังสมัยนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แดริดากล่าวว่า  เลวี่ สเตร๊าท์ ใช้วิธีการศึกษาแบบที่เอามาตรฐานของตัวเองมาเป็นศูนย์กลาง (Ethnocentrism) ยังคงเป็นการตอกย้ำ หรือผลิตซ้ำวิธีคิดแบบที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอย่างแข็งขัน คุณเห็นด้วยหรือไม่ ที่สำคัญคือปัญหาของเลวี่ สเตร๊าท์ในเรื่อง การแยกระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรมอย่างเข้มแข็ง ตามแนวคิดเรื่องคู่ตรงกันข้ามนำไปสู่กับดักทางความคิดและปัญหาในการศึกษาทางมานุษยวิทยา

บรรณานุกรมภาษาไทย
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2545)  สัญวิทยา ,โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์  . กรุงเทพฯ : วิภาษา.
ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (2527) ไม่มีสังคมใดเหนือกว่าสังคมอื่น:ทรรศนะในการศึกษามานุษยวิทยาของ Claude Levi Strauss” วารสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. ปีที่2 ฉบับที่2 (กุมภาพันธ์) 60-76.
ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (2533)  เค้าโครงความคิดเรื่องโครงสร้าง ในการศึกษานิทานปรัมปรา ของโคลด เลวี่-เสตราส์ วารสารธรรมศาสตร์. ปีที่17 ฉบับที่1 (มิถุนายน)45-79.

บรรณานุกรมภาษาต่างประเทศ
Hawkes Terence[1977]. “ Linguistic and Anthropology”  “Science of Sign” In Structuralism and Semiotics ,Methuen and co Ltd.
Hugh J.Silverman[1994] “French Structuralism and After De Saussure,Levi-Strauss,Barthes,Foucault” P.391-408.In  Continental Philosophy in The 20th Century edited by Richard Kearney,Routledge history of Philosophy volume8
Levi-Strauss,Claude[1987] “Introduction to the work of Marcel Mauss” Transleted by Felicity Baker Routledge and Kegan Paul London.
Levi-Strauss,Claude[1976] “Structural Anthropology Volume1  Transleted from the French by Monique Laution ,Basic Book Inc Publisher Newyork.
Levi-Strauss,Claude [1963]. “ Introduction History and anthropology”P.1-27 “Effective of Symbol”P.187-205and “Structural Analysis in Linguistics and in Anthropology” P.31-79 In Structural Anthropology Volume 2 Transleted from Franch by Claire Jacobson and Brooke Grundfest Schoepf,Basic Book.
Levi-Strauss Claude[1984] “Anthropology and Myth  Lecture 1951-1982” Transleted by Roy Willish,Basil Blackwell.
Singer,Milton B.[1984]. “man’s glassy essence exploration in semiotic anthropology” ,Indiana university press.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...