วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ตำนานผาแดงนางไอ่(4)


ความจริงเกี่ยวกับตำนานหนองหาน กุมภวาปี นอกจากจะสะท้อนผ่านการบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่แล้ว  ยังถูกยืนยันผ่านสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน  ที่คนในท้องถิ่นให้ความเคารพนับถือในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางพิธีกรรมความเชื่อและความเป็นหนึ่งเดียวกันของชุมชน ที่สัมพันธ์กับหนองหานน้อยหรือหนองหานกุมภวาปี ดังเช่น ศาลพระยาขอม ผู้ครองเหมืองเอกชะธีตาหรือหนองหานน้อยในอดีต ซึ่งตั้งอยู่บริเวณบ้านเชียงแหว ตำบลเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า พ่อใหญ่  พ่อใหญ่ดอนยาง หรือ พญาขอม โดยสาเหตุที่เรียกว่าดอนยาง ก็เพราะว่า ที่ตั้งของศาลพระยาขอม อยู่บนดอนซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่า มีวัดเก่าที่เรียกว่าวัดดอนยาง ก่อนที่ชาวบ้านจะย้ายเข้ามาอยู่กับบ้านใหญ่หรือบ้านเชียงแหวเมื่อปี พ.ศ. 2507  เนื่องจากเป็นหมู่บ้านเล็กจึงถูกโจรขโมยวัวควายของหมู่บ้านตลอดเวลา ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ดอนยาง  ซึ่งเป็นดอนผีปู่ตาของชาวบ้าน  และอยู่ห่างจากชายฝั่งหนองหานไม่ถึง 500 เมตร นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าปู่ผาแดง ในบริเวณที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเชียงแหว ซึ่งเปรียบเสมือนกับหลักบ้าน หลักเมืองของชุมชน ดังที่ชาวบ้านเล่าว่า
สมัยรัชกาลที่สาม มีครอบครัวอพยพมาจากเมืองมัญจาคีรี หัวหน้ากลุ่มชื่อชาญ ภรรยาชื่อนางลา ได้อพยพมาตั้งบ้านเมืองอยู่ที่บ้านเชียงแหว  มีบุตรคนหัวปีชื่อตาเสริฐ  ซึ่งได้รับศักดินาเป็นหมื่นประเสริฐ  ต่อมาก็มีการอพยพมาอยู่กันมากขึ้น ทั้งจากหนองหาน จากบ้านแชแล ต่อมาก็ปรึกษากันว่าหมู่บ้านน่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน  จึงได้พร้อมใจกันเชิญเจ้ามเหศักดิ์ มาตั้งเป็นศาลเทพรักษ์ หักเมืองอยู่ที่บริเวณบ้านเชียงแหว ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณของท้าวผาแดง
หอพระยาขอม  เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนหนองหานให้ความเคารพนับถือ ก่อนที่จะลงหาปลาในหนองหาน จะต้องขอพ่อใหญ่ พญาขอมก่อน เพราะชาวบ้านเชื่อว่าใต้หนองหานมีเมืองโบราณ   จึงต้องมีการบอกกล่าวหรือขอพญาขอมผู้ดูแลหนองหาน  เพื่อให้ท่านช่วยดูแลให้ปลอดภัยและให้หาปลาในหนองหารได้มาก โดยใช้วิธีการปูผ้าขาวม้าลงบนพื้น ต่อหน้าศาลพญาขอม และกล่าวคำขอว่า
สาธุ ข้า แก่พ่อพญาขอม  หมู่ลูกสิลงนา ไปใส่เบ็ด ใส่ดางตึกแห ในหนองหาน ลูกหลานขอแบ่งปลาไปกิน ไปขายเพื่อเลี้ยงชีพ เลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ขอให้พ่อใหญ่โผดผายแบ่งปันให้แด่ถ่อน
นอกจากนี้ ยังมีพิธีกรรมขอหรือบนบานกับพญาขอมอย่างเป็นทางการ โดยผ่านจ้ำซึ่งเป็นสื่อกลางติดต่อกับพญาขอม ที่เรียกว่า บ๋ะห่อใหญ่ ซึ่งการบนบานด้วยวิธีนี้มักจะเป็นการขอในเรื่องที่ใหญ่ เช่น ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ให้มีโชคลาภ สอบเข้าเรียนต่อได้หรือขอให้ได้ไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น แต่สำหรับเรื่องของการลงไปหาปลาในหนองหานเพื่อบริโภค ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำพิธีกรรมนี้ แค่ยกมือไหว้และบอกเกล่ากับศาลพระยาขอมก็เพียงพอแล้ว
            ความเชื่อเกี่ยวกับเมืองโบราณใต้หนองหานทำให้ชาวบ้านปฏิบัติต่อลำน้ำหนองหานในฐานะที่เป็นผู้พึ่งพากับหนองน้ำ ที่ใช้ประกอบอาชีพประมงและหล่อเลี้ยงชีวิต ในฐานะของมนุษย์ที่พึ่งพิงกับธรรมชาติ ภายใต้ความเชื่อที่ยึดโยงกับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้าน ไม่กล้าที่จะทำการละเมิดหรือล่วงเกินพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตรงนี้ โดยการทำลายความบริสุทธ์ของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลลงหนองหาน การบ้วนหรือถ่มน้ำลายลงหนอง หรือแม้กระทั่งการ้องเพลงหรือตำนานผาแดงนางไอ่ ในหนองหาน เป็นต้น การปฏิบัติตามคะลำเหล่านี้จะทำให้ชาวบ้านประสบความสำเร็จในการหาปลาที่หนองหานและมีความปลอดภัยจากอุปัทวเหตุต่างๆในหนองน้ำ แม้ว่าในปัจจุบันหนองหานจะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆที่เข้ามา ทั้งของรัฐภายใต้โครงการโขง ชี มูลเพื่อจัดการน้ำ และโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ของบริษัทข้ามชาติจากแคนาดา ซึ่งจะต้องใช้น้ำจากหนองหานในกระบวนการต่างแร่ ทำให้พื้นที่หนองหาน เข้าไปสัมพันธ์ในการต่อสู้เคลื่อนไหวกับบริษัทข้ามชาติ ผ่านตำนานท้องถิ่นที่ชาวบ้านยึดถือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...