วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

มุมมองของJean Baudrillard กับการวิเคราะห์การบริโภคแบบโพสต์โมเดิร์น นัฐวุฒิ สิงห์กุล

การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการบริโภคในสังคมสมัยใหม่ ที่เคลื่อนตัวจากการบริโภคสิ่งต่างๆเพื่อประโยชน์ใช้สอย เช่น กินอาหารเพื่ออิ่มท้อง สวนเสื้อผ้าเพื่อให้ความอบอุ่น เป็นต้น แต่ในสังคมปัจจุบันการบริโภคมีความหมายมากกว่าการบริโภคเพื่อคุณค่าเชิงใช้สอย (Use Value) แต่เป็นการบริโภคเพื่อสร้างและสื่อความหมายบางสิ่งบางอย่าง เช่น สถานะของเรา ตัวตนของเรา รสนิยม ความชอบของเรา ภาพพจน์ของเราที่เรียกว่าการบริโภคเชิงสัญญะ(Sign value)
นักคิดชาวฝรั่งเศสอย่างJeans Baudrillard ตั้งคำถามเกี่ยวกับการวิเคราะห์และหาคำตอบแบบเดิมที่อยู่ภายใต้อิทธพลของความรู้ ความคิด ภาษาแบบมาร์กซิสต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตของสังคม การมองปัญหาเรื่องของการผลิตในสังคม ที่เริ่มวิตกและหวาดกลัวเกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่จะไม่เพียงพอกับกาารบริโภคในช่วงศตวรรษที่18-19 จนกระทั่งศตวรรษที่20-21 ที่ความกลัวของมาร์กซ์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงอีกต่อไป เพราะพลังของระบบทุนนิยมและการผลิตก้าวหน้าอย่างสูงสุด จนนำไปสู่การผลิตที่เหลือกินเหลือใช้ เกินความต้องการบริโภค ปัญหาจึงเคลื่อนจากการผลิตมาสู่การบริโภค ที่มองว่าแล้วจะบริโภคสินค้าที่ผลิตขึ้นมาอย่างมากมายอย่างไร การกระตุ้นให้คนต้องการบริโภคอย่างมากมายและรวดเร็ว รวมถึงการพยายามสร้างมูลค่าให้กับสินค้าที่บริโภค ผ่านการสร้างความแตกต่าง ระดับของสินค้า คุณภาพของสินค้า ของแท้ ของเทียม ของพรีเมี่ยม ของที่มีจำนวนจำกัด ของหายาก ของสะสมเป็นต้น
สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของการพยายามสร้างตัวสินค้า(วัตถุ)เชื่อมโยงกับสัญญะของสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องของความหมาย คุณค่า สัญญะของสินค้าทำหน้าที่กำกับ กำหนด นำทางของเขตหรือพื้นที่ทางวัฒนธรรม (ชนชั้น รสนิยม คุณลักษณะและคุณภาพของผู้ใช้ ) ของการบริโภคสินค้า เช่น การถอดกางเกงยีนส์ขาบานมิ่้งไป ไม่ช่เพราะว่ามันไม่สามารถสวมใส่หรือขาดคุณค่าในเชิงใช้สอย แต่เนื่องจากว่ามูลค่าเชิงสัญลักษณ์ได้สิ้นสุดหรือหมดไป เพราะความล้าสมัย ตกยุค ดังนั้นเราจึงพบเห็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของแวดวงแฟชั้นที่รวดเร็วมากจนกระทั่งเราตามไม่ทัน ดังนั้นการบริโภคความหมายหรือการบริโภคเชิงสัญญะจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในระบบทุนนิยมที่พยายามแก้ปัญหาสินค้าที่ถูกผลิตออกมาอย่างมากมายเหลือคณานับ
แนวคิดในการวิเคราะห์แบบแผนหรือรุปแบบการบริโภคของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ที่เป็นเรื่องของการบริโภคเชิงสัญญะ  ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสินค้าในรูปแบบของการใช้สอยและความพึงพอใจ โดยสินค้าเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนใหป็นสัญญะก่อนที่จะถูกบริโภค ภาวใต้การใส่รหัสต่างๆทางวัฒนธรรม เช่น ความเชื่อ ลำดับชั้น เกรดของสินค้า สินค้าส่งออกนำเข้า สินค้าเหล่านี้เชื่อมโยงกับศักดิ์ศรี เกียรติยศและสถานภาพ เช่นเดียวกับการจัดโครงสร้างทางสังคมของมนุษย์
การบริโภคในยุคปัจจุบันจึงไม่ใช่การบริโภคความเหมือนแต่เป็นการบริโภคความแตกต่าง (Logic of difference) ที่การบริโภคสินคา ทำใหู้้บริโภคมีเอกลักษณ์แตกต่างจากคนอื่นๆ ความหมายและหลากหลายของสัญญะนำไปสู่การบริโภคที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

มานุษยวิทยากับการศึกษาสัญญะ และสัญลักษณ์

มานุษยวิทยากับการศึกษาสัญญะ และสัญลักษณ์
Sign[1] and Symbol in Anthropology study
             นัฐวุฒิ สิงห์กุล         


มานุษยวิทยา(Anthropology) เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ในทุกๆด้านที่สัมพันธ์กับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ศาสนา พิธีกรรม ที่สะท้อนผ่านโลกทัศน์ ความเชื่อ  ความคิด วัตถุสิ่งของ ภาษา พฤติกรรม บุคลิกภาพและการแสดงออกของมนุษย์ ความพยายามอย่างสำคัญของนักมานุษยวิทยา ในช่วงปี1960-1970 ในการศึกษาทำความเข้าใจและวิเคราะห์วัฒนธรรม เช่นเดียวกับระบบของสัญลักษณ์ และระบบการสื่อความหมายในสังคม ได้นำนักมานุษยวิทยา ก้าวเข้าไปสู่สนามใหม่ทางมานุษยวิทยา ที่เป็นการเผชิญหน้ากันอย่างท้าทายของมานุษยวิทยาสายโครงสร้าง(Structural Anthropology) และมานุษยวิทยาทางปรัชญา(Philosophy Anthropology) อันได้รับอิทธิพลมาจากนักภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง ชาวสวิสเซอร์แลนด์ อย่างเฟอร์ดิน็องต์ เดอ โซซูร์ (Ferdinane de Saussure) และนักปรัชญาชาวอเมริกัน อย่างชาร์ล แซนเดอร์ เพิร์ซ (Charles Sander Pierce) ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับสนามทางมานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม ดังที่Singer Milton (1968) ได้กล่าวถึงสนามใหม่ทางมานุษยวิทยาในช่วงเวลานั้นว่า
ในช่วงทศวรรษหน้าของปี1968-1978 ฉันวางแผนกับภาพที่ต่อเนื่องในงานวิจัยของฉัน และการสอนที่น่าสนใจในอินเดีย รวมทั้งการศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับอารยะธรรม อย่างไรก็ตาม ฉันยังใช้เวลาจำนวนมากกับสนามทางมานุษยวิทยา ซึ่งฉันหมายถึง การพรรณา การวิเคราะห์ ระบบคุณค่า การให้ความหมายและระบบความเชื่อของวัฒนธรรมที่เฉพาะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในระบบและความสัมพันธ์ของพวกเขา(คนที่ถูกศึกษา)กับโครงสร้างสังคม สิ่งแวดล้อมและบุคลิกภาพ นี่คือการปรากฎขึ้นของสนามใหม่ทางมานุษยวิทยา และความสนใจที่ถูกชักชวนและดึงดูดอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน  เนื่องมาจากการทำงานของเลวี่ สเตร๊าท์ ในการวิเคราะห์โครงสร้างของนิทานปรัมปรา(Myth)  และนำวิธีการทางภาษาศาสตร์ไปใช้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ ส่วนประกอบของนิทานพื้นบ้าน การจำแนก แยกแยะ การจัดประเภทของเครือญาติ การจำแนกสี โรคภัยไข้เจ็บ การแบ่งแยกพืช และสัตว์ รวมถึงลักษณะสำคัญอื่นๆ ทางวัฒนธรรม....ในการทำงานของตัวฉันเอง ฉันตั้งใจกับการวางรูปแบบและการฝึกฝนที่เฉพาะในตรรกะเชิงสัญลักษณ์ ทางปรัชญา และจิตวิทยาสังคม สำหรับการช่วยวางรากฐานทางทฤษฎีของระบบสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม(Cultural Symbol System)” (Singer 1984;preface 8 )

 ดังนั้น การประยุกต์ใช้แนวคิดและทฤษฎีของสาขาอื่นๆในทางมานุษยวิทยา ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป้าหมาย วิธีการ และประเด็นสำคัญ ในสนามย่อยทางมานุษยวิทยา และนำไปสู่วิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่เรียกชื่อกันแตกต่าง เช่น เลวี่ สเตร๊าท์(Levi-Strauss ) ที่เรียกว่า มนุษยวิทยาโครงสร้างหรือสัญวิทยา (Structural Anthropology or Semiology) ,เกียร์ซ คลิฟฟอร์ด (Clifford Greezt) ที่เรียกว่า มานุษยวิทยาของการตีความ (Interpretive Anthropology) ,ชไนเดอร์ (Schneider) ที่เรียกสนามของเขาว่า คำอธิบายหรือเรื่องเล่าทางวัฒนธรรม(Culture account) , พีค็อซ(Peacock) และเพื่อนร่วมงานของเขา ได้ออกแบบสนามใหม่ของพวกเขาทางมานุษยวิทยา ว่าเป็นมานุษยวิทยาเชิงสัญลักษณ์(Symbolism Anthropology),วิกเตอร์ เทอร์นเนอร์(victor Turner)และ แมรี่ ดักลัส(Mary Douglas) ที่อ้างเกี่ยวกับ สัญลักษณ์วิทยาเชิงเปรียบเทียบ(Comparative Symbology) ที่เขาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์เชิงสัญลักษณ์ ในบริบทที่เกี่ยวกับชีวิตทางสังคมที่เป็นรูปธรรม และรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ ที่เป็นเป็นเหมือนสูตรทางคณิตศาสตร์และเหตุผลเชิงตรรกศาสตร์ หรือระบบการระลึกรู้เข้าใจ(Cognitive System) ดังเช่นที่เทอร์นเนอร์  ได้สังเกตบนลักษณะของสัญวิทยา(Semiology) สัญศาสตร์(Semiotic)และภาษาศาสตร์(Linguistic)
ในทัศนะทางความคิดของนักวิชาการภาษาศาสตร์อย่างโซซูร์( Ferdinance de Saussure) และเพิร์ส (Charles Sander Pierce) ได้นำไปสู่การแนะนำทิศทางที่แตกต่างในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของสัญลักษณ์และสัญญะ ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาของนักมานุษยวิทยา ออกเป็น 2 ลักษณะคือ
1) นักมานุษยวิทยาเชิงสัญวิทยา (The Semiological Anthropologist) ซึ่งสนใจเกี่ยวกับการอธิบาย พรรณนาและวิเคราะห์ระบบสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม (Cultural symbol system) การนับถือระบบสัญลักษณ์ของสัตว์ประจำเผ่าหรือตระกูล(Totemism) นิยายปรัมปรา(Myth) พิธีกรรม(Ritual) พิธีเฉลิมฉลอง(ceremonies) ระบบเครือญาติ(Kinship system) อันมาจากงานชาติพันธุ์วรรณาของพวกเขา ในบริบทความสัมพันธ์ทางสังคม และการกระทำของปัจเจกบุคคลและความรู้สึกนึกคิด
2) นักมานุษยวิทยาเชิงสัญศาสตร์ (The semiotic Anthropology) ซึ่งสนใจศึกษาระบบสัญลักษณ์เช่นเดียวกัน แต่อยู่ในอีกด้านหนึ่ง ที่คล้ายคลึงกับงานศึกษาทางชาติพันธุ์วรรณาในระบบของความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและความรู้สึก อารมณ์ของปัจเจกบุคคล(Emotion individual)รวมทั้งกิจกรรม(Activity)ต่างๆที่เกิดขึ้น
ลักษณะทั้งสองนี้อยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ของแนวคิด ทฤษฎีทางมานุษยวิทยาในสายหน้าที่นิยม (Functionalism) โครงสร้างนิยม(Structuralism) และสัญลักษณ์นิยม(Symbolism) ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้โดยนักมานุษยวิทยาสังคม วัฒนธรรม ในอังกฤษ อเมริกาและฝรั่งเศส ดังที่ Singer Milton (1984) กล่าวว่า ความนิยมและกระบวนการสร้างลักษณะในทิศทางของการศึกษาวิจัยของพวก Saussurean เช่นเดียวกับพวก โครงสร้าง (Structuralist) การระลึกรู้ (Cognitive) และมนุษยนิยม (humanistic) ซึ่งทั้งสามประเภทมีจุดเน้นอยู่บนเรื่องของภาษา ในขณะที่พวกนิยมแนวคิดของเพิร์ส (Piercean) ถูกพิจารณาเช่นเดียวกับพวก หน้าที่นิยม(Functionalist) อรรถประโยชน์นิยม(Utilitarian) และธรรมชาตินิยม(Naturalist) ที่มีจุดเน้นที่ปัจเจกบุคคล ประสบการณ์ การสังเกต การรับรู้เข้าใจและการกระทำต่อโลกและสังคม
การผสานแนวคิดและทฤษฎีมานุษยวิทยาเข้ากับวิธีการศึกษาเชิงสัญลักษณ์และสัญญะ ไม่ว่าจะเป็นมนุษยวิทยาโครงสร้างนิยม(Structuralism) มนุษยวิทยาหน้าที่นิยม(Functionalism) มนุษยวิทยาโครงสร้าง-หน้าที่นิยม(Structural-Functionalism) มนุษยวิทยาการระลึกรู้(cognitive) มนุษยวิทยาสัญลักษณ์นิยม(Symbolism) มนุษยวิทยาภาพรวมทางวัฒนธรรม(Cultural Configuration)  ในตัวของทฤษฎีต่างๆเหล่านี้มีการถูกเชื่อมโยงเข้ากัน เช่นโครงสร้างนิยม กับสัญลักษณ์นิยม  ที่ความคิดในเรื่องของโครงสร้างสามารถประยุกต์ใช้ได้กับการวิเคราะห์ปรากฎการณ์เชิงสัญลักษณ์  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบสัญลักษณ์สัตว์(Totemism)  นิทานปรัมปรา(Myth) และพิธีกรรม (Ritual) โดยเฉพาะในช่วงปี1950-1960 ที่นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่ชื่อClaude Levi-Strauss(1908-1968) ได้ทำให้วิชาทางมานุษยวิทยามีสนามใหม่ภายใต้ชื่อโครงสร้างนิยมและสัญวิทยา ในคำประกาศของเขาเมื่อรับตำแหน่งที่ College de France  ว่า มนุษ์ติดต่อสื่อสารโดยความหมายของสัญลักษณ์และสัญญะ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือความแตกต่างของหัวข้อเนื้อหาที่สำคัญและวิธีการศึกษาที่มีความแตกต่างกันระหว่างสัญศาสตร์และสัญวิทยา สามารถเป็นสิ่งที่ถูกสรุปในชุดของความแตกต่างที่สำคัญ โดยสัญวิทยาเป็นสิ่งที่เน้นภาษาเป็นศูนย์กลาง ที่มีพื้นฐานอยู่บน 3 ข้อสมมตติฐานคือ
             1)ภาษาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดของระบบสัญญะทั้งหมด
2)ข้อสมมติฐานของระบบสัญญะอื่นๆทั้งหมด เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้ประโยชน์ของภาษา
3)ภาษาศาสตร์ เช่นเดียวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในการศึกษาเกี่ยวกับภาษาที่ได้ให้รูปแบบที่ดีที่สุด สำหรับการศึกษเกี่ยวกับระบบสัญญะอื่นๆทั้งหมด
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าสัญวิทยา  เป็นการศึกษาชนิดประเภทของระบบสัญญะ รวมทั้งวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับรูปแบบทางภาษา หรืออาจจะเรียกว่าเป็นกระบวนการตีความหมายทางภาษาศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรม ในขณะที่สัญศาสตร์เป็นสิ่งที่สนใจในกระบวนการของการติดต่อสื่อสาร และเน้นการเอาตรรกะเป็นศูนย์กลาง ที่สนใจประเภทชนิดของสัญญะที่เป็นภาพเหมือน ดัชนี สัญลักษณ์ และความสัมพันธ์กับวัตถุของพวกเขา  ในการตีความหมายของพวกเขา ที่เป็นการเปรียบเทียบเกี่ยวกับภาษาศาสตร์ ในรูปแบบทางภาษาที่แตกต่าง ซึ่งเป็นสมการ แผนภาพและไดอะแกรม และแนวคิดในเรื่องของความหมายสัญญะหรือการกำหนดวัตถุ เช่นเดียวกับสิ่งที่ไม่สำคัญจำเป็น เหมือนเปลือกนอก  แต่มันก็เป็นสิ่งที่สำคัญในแง่ของการนำไปสู่การแสดงออกที่เป็นไปได้ ในผู้แปลหรือตีความหมายมัน นี่เองที่เป็นจุดต่างสำคัญ กับความคิดของโซซูร์ ที่ปฎิเสธเรื่องของตำแหน่งแห่งที่ ในการกำหนดวัตถุ สิ่งของ เนื้อหาสาระ ซึ่งถูกรักษาไว้เช่นเดียวกับจุดที่แตกต่างทางภาษาศาสตร์ ที่เป็นเหมือนกับการสร้างข้อผูกมัดหรือพันธนาการในรากฐานทางวัตถุ หรือความเชื่อในการมีอยู่จริงเริ่มต้นของวัตถุสิ่งของในการกำหนดการตัดสินใจของเรา ในขณะที่โซซูร์ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างภาพประทับของจินตนาการ ภาพประทับของเสียง และความคิด ที่เรียกว่า การกำหนดให้เป็นของรูปสัญญะและความหมายสัญญะ ที่โซซูร์ให้ความสำคัญกับตัวความคิด (Concept)และระบบกฎเกณฑ์(Langue) มากกว่ารูปสัญญะ
การกำหนดเนื้อหา ขอบเขตและวิธีการ ที่แตกต่างของสัญวิทยาและสัญศาสตร์ อันมีรากฐานมาจากโซซูร์และเพิร์ซ ทำให้มีผู้ติดตามที่มากมาย ในการประยุกต์ใช้วิธีการดังกล่าวในการศึกษาเชิงสัญญะ ดังเช่นสัญศาสตร์ของความไร้สำนึกของลากอง(Jacques-Lacan) สัญศาสตร์ในรหัสเกี่ยวกับเครือญาติและนิทานปรัมปราของเลวี่-สเตร๊าท์(Levi-Strauss) สัญศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์และความขัดแย้งในสังคมของออทุสแซร์(Louis Authusser) สัญศาสตร์ทางวรรณคดีของบาร์ธ(Roland Barthes) และสัญศาสตร์เกี่ยวกับวาทกรรมทางประวัติศาสตร์และเอกสารหลักฐานของฟูโก(Micheal Foucault) และอัมเบอร์โต้ อีโก้(Umbeto Eco) ในสัญศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมยุคAvant-garde โรล็องต์ บาร์ธ(Roland Barthes1915-1980) นักวรรณคดีวิจารณ์และนักสัญวิทยาชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ติดตามอย่างใกล้ชิดกับโซซูร์ ในคู่ของความสัมพันธ์ที่เรียกว่า รูปสัญญะและความหมายสัญญะ ที่ได้ก้าวข้ามขอบเขตทางภาษาไปสู่การศึกษารหัสทางวัฒนธรรม ที่มีโครงสร้างเหมือนภาษา 
การก้าวข้ามในการศึกษาสัญญะ จากการเริ่มต้นมองไปที่วัตถุ การให้ความหมายหรือการตีความหมาย ไปสู่เรื่องของภาษา รหัสทางวัฒนธรรม เพื่อค้นหาโครงสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นตัวกำหนดความคิด คุณค่า ค่านิยม มาเป็นการศึกษาตัวบท โดยให้ความสำคัญกับงานเขียน ที่กลุ่มพวกโครงสร้างนิยมและภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง อย่างโซซูร์และเลวี่ สเตร๊าท์ ได้ละเลย โดยให้ความสำคัญของภาษาพูดมากกว่า การเขียน ที่ถูกมองว่า เป็นทรราชหรือกบฎ ที่มีความร้ายกาจหรือเชื้อโรคที่ทำให้ธรรมชาติของการพูดการใช้ภาษาเสื่อมโทรม  ดังนั้นการที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัญญะ จึงควรที่จะแสดงให้เห็นความเป็นสัญญะที่หลากหลายภายใต้วัตถุ บทสนทนา ตัวบท ที่เกี่ยวกับสัญญะนั้นๆ เพื่อให้เราสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ในลำดับชั้นในความสลับซับซ้อนของสัญญะที่เป็นเรื่องของวัตถุ บทสนทนา  และตัวบทอันหลากหลาย ซึ่งถูกใช้โดยบุคคลหลายกลุ่ม
แนวความคิดของวัฒนธรรม เป็นสัญศาสตร์อย่างหนึ่งที่สำคัญ ที่สอดคล้องกับความคิดของแม๊กซ์ เวเบอร์ ที่มองว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ถูกแขวนไว้ในเครือข่ายของการสร้างความหมาย ที่ตัวเขาเองมีการเรียบเรียง ฉันยึดจับวัฒนธรรมกับการเป็นเครือข่ายเหล่านั้น และวิเคราะห์เกี่ยวกับมัน...มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ในเชิงการทดลองในการวิจัย/ค้นหาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ แต่มันเป็นการตีความหมายหนึ่ง ในการค้นหาเกี่ยวกับความหมาย”(Greezt,1973)
แนวความคิดของเกียร์ซ  เป็นแนวความคิดที่วางอยู่บนบุคคลและการสร้างความหมาย เขาได้ใช้ทฤษฎีเชิงปรากฎการณ์วิทยา ในการวิเคราะห์เกี่ยวกับบุคคล เวลาและการปฎิบัติการ  ดังเช่นการศึกษาของเขาที่บาหลี ไม่ว่าจะเป็นConduction of Bali ในปี1966 หรือ Deep play:Note on the balinese cockfight ในปี1973 ที่เกี่ยวกับการตีความสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่นการชนไก่ของผู้ชายบาหลี ที่ไก่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ชายและวัฒนธรรมของชาวบาหลี ในการเปรียบเทียบ คำว่า Sabange ที่ใช้สำหรับไก่ชน ถูกใช้ในความหมายถึง วีรบุรุษ นักรบ ผู้ชนะ ผู้ชายเจ้าชู้ เสือผู้หญิง หรือความแข็งแรงบึกบึน หรือแม้แต่เรื่องของการแต่งงาน การทำสงคราม การทะเลาะวิวาทในเรื่องสมบัติมรดก ก็จะถูกเปรียบเทียบกับไก่ชน ที่แสดงให้เห็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว องค์กรทางสังคมและการจัดช่วงชั้นทางสังคม ที่คนบาหลีบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาเกี่ยวกับตัวพวกเขาเอง
นักมานุษยวิทยาอีกท่านหนึ่งที่มีความพยายามที่จะศึกษาสัญลักษณ์ในพิธีกรรม ที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางสังคมคือ วิกเตอร์ เทอร์เนอร์(Victor Turner)  ที่วิเคราะห์รูปแบบทางวัฒนธรรม พิธีกรรม ผ่านการวิเคราะห์โดยมองไปที่โครงสร้างทางสังคม ที่เป็นความสัมพันธ์ของสถานภาพ บทบาท กับโครงสร้างทางสังคมหน่วยต่างๆ การเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์ในพิธีกรรมนั้นจะนำเราเข้าไปสู่ความเข้าใจความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในโครงสร้างทางสังคม โดยเขามองไปที่สภาวะคุณสมบัติของโครงสร้าง 2 แบบคือ คุณสมบัติทางโครงสร้างและคุณสมบัติที่ไร้โครงสร้าง หรือStructureกับ Communitas ซึ่งสภาวะทั้งสองมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันตลอดเวลา วิกเตอร์ เทอร์เนอร์ ได้เข้าร่วมประชุมนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องศาสนาและพิธีกรรมในแอฟริกา  เขาได้ชี้จุดที่แตกต่างระหว่างวิธีการของพวกมนุษยวิทยาอังกฤษและฝรั่งเศส ในเรื่องของพิธีกรรมและสัญลักษณ์  ซึ่งเขาได้แนะนำในรายงานของเขาในการประชุมนี้ โดยแบ่งออกเป็น3ส่วน คือ 1) ปฎิบัติการทางความหมาย(Operational meaning) 2) การศึกษาการอธิบายความหมาย(exegetical meaning) 3)การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของความหมาย(positional meaning) ที่เป็นเหมือนหนทางของการเชื่อมโยงสำหรับสองสำนักทางมานุษยวิทยานี้  นี่คือสิ่งที่เทอร์เนอร์ ได้ใช้ในการศึกษาพิธีกรรม ที่เป็นรูปแบบทางวัฒนธรรม เทอร์เนอร์ ได้ศึกษาการแสดงความหมายเชิงสัญลักษณ์ กระบวนการทางพิธีกรรม ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากสถานะหนึงไปสู่อีกสถานะหนึ่ง สภาวะที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านก็คือสภาวะคุณสมบัติที่ไร้โครงสร้าง หรือช่วงเวลาที่เรียกว่าช่วงชายขอบ(Liminal period/Liminality) ที่สร้างความหมายสัญลักษณ์ในพิธีกรรม เพราะคุณสมบัติแห่งช่วงชายขอบ เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิด วรรณกรรมปรัมปรา สัญลักษณ์ทางพิธีกรรม รวมทั้งศิลปะและระบบปรัชญาด้วย(Turner,1970;p.128-130)
แมรี่ ดักลาส(Mary Douglas) ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับการศึกษาทางสัญลักษณ์ พิธีกรรมและกิจกรรมทั้งหมด ในการสร้างเกี่ยวกับความจริงทางสังคมในทุกๆวัน โดยเฉพาะความจริงที่เกี่ยวกับชีวิตทางสังคม  ความสกปรก ร่างกาย อาหาร  การครอบครองวัตถุ คำพูดตลกและถ้อยคำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องทาง      โภชนศาสตร์ หรือเรื่องทางการแแพทย์  เรื่องความรวย ความเสี่ยง แต่มันเป็นปัญหาเรื่องวัฒนธรรม เมื่อเขาศึกษา เรื่องความบริสุทธิ์(Purity)และมลทิน(Pollution) ความสกปรก ความสะอาด ที่เป็นเรื่องของการจัดระเบียบ และเป็นเรื่องของโครงสร้างทางความคิด  คล้ายคลึงกับการจำแนกระบบวรรณะในอินเดีย ดักลาส ได้ขีดร่างธรรมเนียมทางวัฒนธรรมไปยังการอธิบายกระบวนการที่เฉพาะทั่วไป ในกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ ของชีวิตทางสังคมของมนุษย์ ที่เรียกว่า Moral Order ซึ่งความสกปรก ความเบี่ยงเบน ความผิดปกติ และวัตถุอื่นก็ถูกสังเกตเช่นเดียวกับมลทิน/มลภาวะ(Pollution) ที่เปิดเผยให้เห็นความสำคัญของวัตถุสิ่งของ กับระเบียบกฎเกณฑ์ของการจำแนกแยกประเภท โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับขอบเขตทางสัญลักษณ์ ที่แบ่งแยกสังคม กลุ่มคนและปัจเจกบุคคล  
แมรี่ ดักลาสค่อนข้างสนใจ กับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการอธิบายทางสุขวิทยา(Hygienie) ในแนวทางเดียวกับรูปแบบธรรมเนียมความเชื่อในพระเจ้าและวิญญาณ  ที่สังคมไม่ใช่รูปภาพของความจริง ที่ถูกปกป้องไว้ ไม่ใช่โดยการมีอยู่ของมันที่เรามองเห็นมันเช่นเดียวกับความศักดิ์สิทธิ์และอันตรายเท่านั้น แต่เป็นการดำรงอยู่ของความจริงด้วย ดักลาสต้องการยืนยันถึงพื้นฐาน ศีลธรรม จรรยามารยาทของสังคม ที่เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมและความรู้สึกร่วมกัน  ที่ถูกสร้างขึ้น ผ่านความสะอาด สกปรกของวัตถุ  วัตถุเป็นสิ่งที่ไม่ได้สะอาด สกปรกในตัวของมันเอง  มันเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ผิดที่ผิดทาง (Out of Place) ที่สร้างบางสิ่งให้สกปรก ถ้าสิ่งที่ปกติมันวางอยู่บนโต๊ะหรือในอาหาร  หรือถ้ามันวางอยู่บนพื้นดินและมูลสัตว์ ดังที่ดักลาสบอกว่า
พวกเราเป็นสิ่งที่ออกไปจาก คำจำกัดความที่เก่าแก่ของความสกปรก เช่นเดียวกับสสารที่วางอยู่ผิดที่ผิดตำแหน่ง(Out of Place)  นี่คือความเกี่ยวข้องกับสภาพเงื่อนไข 2 อย่าง ในชุดของความสัมพันธ์ที่เป็นระเบียบกฎเกณฑ์และความขัดแย้งของระเบียบกฎเกณฑ์ ความสกปรก(Dirth) เป็นสิ่งที่ไม่เคยเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกแยกออกจากเหตุการณ์ ซึ่งความสกปรกเป็นระบบ ความสกปรกเป็นผลผลิต เป็นผลพลอยได้ ของการวางกฎเกณฑ์ของระบบ และการจำแนกแยกแยะประเภทของสสาร ในกฎเกณฑ์ทั้งหมดที่ปฎิเสธความไม่เหมาะสมของส่วนประกอบ...”
ดักลาส เชื่อมโยงความคิดเกี่ยวกับความสกปรกนี้กับสัญลักษณ์ที่เห็นได้ชัดเจน เกี่ยวกับความคิดเรื่องความบริสุทธิ์ ศาสนาและความศักดิ์สิทธิ์  พร้อมกับคำอธิบายทางศีลธรรม ในแต่ละระบบของการจำแนกแยกแยะ การจัดประเภทของความสกปรก ความสะอาด ที่เป็นเรื่องของกฎเกณฑ์และการจัดประเภททางความคิด โดยผ่านระบบสัญลักษณ์
ความสัมพันธ์ระหว่างนักมานุษยวิทยาสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่นิยม โครงสร้างหน้าที่นิยม สัญลักษณ์นิยมและแนวความคิดเรื่องวัฒนธรรม ที่สัมพันธ์กับเรื่องของปัจเจกบุคคล กลุ่มและสังคม ที่สร้างสัญลักษณ์ ความหมายทางสัญลักษณ์และการติดต่อสื่อสารระหว่างกันที่นำไปสู่สัญลักษณ์ทางภาษา ในการพัฒนาทางวัฒนธรรมที่มีความเฉพาะ  ภายใต้ความสัมพันธ์ ระหว่างปัจเจกบุคคล สังคม ความคิด วัตถุและการสร้างความหมาย โดยศึกษาและสังเกตผ่านตัวพิธีกรรม ประเพณีทางศาสนา  พิธีเฉลิมฉลอง  และปรากฎการณ์ทางสังคมอื่นๆ ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ หรือสัญญะ ผ่านวัตถุ สิ่งของในพิธีกรรม หรือการใช้ภาษา ผ่านการเล่านิทานปรัมปรา บทสนทนา คำเรียกเครือญาติ ภาษาพื้นเมือง บทสวดมนต์ขับไล่วิญญาณความชั่วร้าย หรือการบวงสรวงเทพเจ้าของชนเผ่า  ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนผ่านจากเรื่องของวัฒนธรรม ไปสู่เรื่องของภาษา ที่สอดคล้องกับวัตถุ(Object) และความคิด(Subject)ในการให้ความหมาย(meaning) ที่เป็นเรื่องของสัญลักษณ์และสัญญะ ภาษากลายเป็นเครื่องมือให้เราสามารถศึกษาและทำความเข้าใจวัฒนธรรมได้ การศึกษาความคิด ที่สัมพันธ์กับเรื่องของภาษา ได้รับการพัฒนาโดยนักมานุษยวิทยาสายโครงสร้างนิยม อย่างเลวี่ สเตร๊าท์ ที่เป็นการพยายามค้นหากฎเกณฑ์ภายใต้จิตใต้สำนึกของมนุษย์
โซซูร์ ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์สองด้าน (Dyadic) ในชุดของ รูปสัญญะ(signifiant/signifier) กับความหมายสัญญะ(signifie/signified) ระบบกฎเกณฑ์(langue)กับการเปล่งเสียง(speech/parole) นามธรรม(abstract)กับรูปธรรม(concrete) สังคม(Social)กับปัจเจกบุคคล(individual)  ความคิด(concept)กับจินตภาพแห่งเสียง(sound-image/acoustic-image)  ที่เป็นเสมือนกับสองด้านของความสัมพันธ์ซี่งสามารถทำการแยกศึกษาได้



โดยที่Langue เป็นผลผลิตทางสังคม ในความสามารถทางถ้อยคำ คำพูด และการรวบรวมสะสม ธรรมเนียม แบบแผน กฎเกณฑ์สำคัญ ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยกลุ่มทางสังคมหรือชุมชนทางภาษากับการยินยอม อนุญาตของแต่ละปัจเจกบุคคล ที่เกี่ยวกับการใช้ ที่เป็นความสามารถที่ติดตัวมาของมนุษย์

ส่วน Parole หรือด้านของปัจเจกบุคคล ที่เกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำ  ที่ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นรูปธรรมในตัวของมันเองแต่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของระบบไวยกรณ์ทางภาษา  รูปแบบความสัมพันธ์ที่เป็นคู่ระหว่างรูปสัญญะและความหมายสัญญะ มันค่อนข้างจะเป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมชาติน้อยมาก เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งที่มาจากการกำหนดให้เป็น(Arbitrary) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างจิตภาพของเสียง (Sound-image) และความคิด(Concept)  เช่นเดียวกับรูปสัญญะ(Signifier) และความหมายสัญญะ(Signified) เช่นคำศัพท์ว่า TREE (ต้นไม้) ที่เป็นตัวอย่างของโซซูร์ ซึ่งเป็นรูปสัญญะ และเป็นความหมายสัญญะในเรื่องของความคิดเกี่ยวกับต้นไม้ ลักษณะความจริงทางกายภาพของต้นไม้ที่เจริญเติบโตในพื้นดิน คำศัพท์คำว่า “TREEหรือต้นไม้ไม่ได้เป็นธรรมชาติหรือคุณสมบัติที่เท่าเทียมกันกับต้นไม้จริงๆ ซึ่งโซซูร์ก็ไม่ได้สนใจกับความจริงที่อยู่พ้นขอบเขตหรือนอกเหนือเรื่องของภาษา ที่อยู่ภายใต้การรับรองเกี่ยวกับมันเท่านั้น 
การถูกกำหนดให้เป็น จึงไม่ใช่เหตุผลหรือธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงระหว่าง2ส่วนของสัญญะ ที่ถูกทำให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้รูปแบบกฎเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกันในชุมชนทางภาษา ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องภายในตัวของปัจเจกบุคคล  รูปสัญญะที่แตกต่างหลากหลายของคำศัพท์  เกี่ยวกับต้นไม้ Arbre ,Baum Arbor และTree ไม่มีอะไรเลยที่จะเหมาะสมกว่าหรือมีเหตุผลกว่าสิ่งอื่นๆ แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การรักษาและการันตี จากโครงสร้าง ธรรมชาติของระบบที่เกิดขึ้นในชุดคำที่แน่นอน คำศัพท์ของต้นไม้ จึงมีความหมายถึงลักษณะทางกายภาพเกี่ยวกับใบ สิ่งที่เจริญเติบโตในดิน เพราะว่าโครงสร้างของภาษาได้สร้างความหมายของมันและทำให้มันถูกต้อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นอิทธิพลทางภาษาในการสร้างความเข้าใจของมนุษย์ เกี่ยวกับโลกและสิ่งต่างๆรอบตัว
ในสัญศาสตร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมยุคAvant-garde โรล็องต์ บาร์ธ(Roland Barthes1915-1980) นักวรรณคดีวิจารณ์และนักสัญวิทยาชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ติดตามอย่างใกล้ชิดกับโซซูร์ ในคู่ของความสัมพันธ์ที่เรียกว่า รูปสัญญะและความหมายสัญญะ ที่ได้ก้าวข้ามขอบเขตทางภาษาไปสู่การศึกษารหัสทางวัฒนธรรม ที่มีโครงสร้างเหมือนภาษา  บาร์ธ ได้ทำการศึกษาสัญญะ เช่นเดียวกับรหัสทางวัฒนธรรม หรือหน่วยของการสื่อความหมายที่มีความแตกต่างหลากหลาย ผ่านการวิเคราะห์ วัตถุ สิ่งของ และเหตุการณ์ทางวัฒนธรรม  เช่น เสื้อผ้า อาหาร สบู่ ผงซักฟอก ไวน์ ของเล่น หอไอเฟล เหตุการณ์น้ำท่วมในฝรั่งเศส นิตยาสาร โบชัวร์ท่องเที่ยว และอื่นๆ ซึ่งทุกๆสิ่งในสังคมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ล้วนเป็นสัญญะทั้งสิ้น ภายใต้กฎเกณฑ์และรหัสในระบบวัฒนธรรม ที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของมายาคติ(Myth) ที่คนในสังคมยอมรับอย่างไม่ตั้งคำถาม
บาร์ธ ให้ความสำคัญกับเรื่องของรหัส(Code)  ที่กำหนดความคิดประสบการณ์ของมนุษย์ โดยการสร้างรหัสผ่านภาษา ซึ่งรหัสกลายเป็นสิ่งที่ถูกคิดค้นและเป็นเสมือนพันธะสัญญาร่วมกันในสังคม  ภาษาจึงบรรจุด้วยรหัสที่มากมาย รหัสจึงไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์หรือมีความหมายในตัวของมันเอง แต่ความหมายของมันเกิดจากความสัมพันธ์ที่ประกอบสร้างภายใต้กฎเกกณฑ์ชุดหนึ่งในลักษณะทางภาษา  ดังที่บาร์ธ กล่าวว่ารูปสัญญะและความหมายสัญญะถูกประกอบสร้างโดยสัญญะ ดังเช่น ช่อกุหลาบ ที่เป็นเหมือนรูปสัญญะ กับความรู้สึกหลงใหลรักใคร่ ที่เป็นความหมายสัญญะ ที่ถูกผลิตโดยสัญญะของความเป็นช่อกุหลาบ รูปสัญญะจึงเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า และมันเป็นสิ่งที่จะต้องถูกเติมเต็ม โดยความคิดว่าอะไรที่ควรจะเติม(Hawkes:1977,หน้า...)
กระบวนการสร้างความหมาย ที่ไม่สิ้นสุดนี่เองที่บาร์ธ ได้เคลื่อนย้ายไปสู่การพิจารณาเรื่องมายาคติ ที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นในสังคม ในความสลับซับซ้อนและการสร้างความจริง ความน่าเชื่อถื่อ และสิทธิในการดำรงอยู่ของมัน  มายาคติ จึงเป็นผลผลิตลำดับที่สองที่เกิดขึ้นจากสัญญะก่อนหน้ามัน ในระดับที่1 ที่ตวามหมายสัญญะในระดับที่1 มันกลายเป็นรูปสัญญะในระดับที่2 ที่สามารถต่อเติมความหมายได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่เขาเรียกว่า รูปสัญญะที่ว่างเปล่า (Empty Signifier) ดังที่บาร์ธได้แสดงให้เห็นว่า
ฉันอยู่ที่ร้านตัดผม ที่ซึ่งเขาได้ถ่ายเอกสารหน้าปกนิตยาสาร Paris-Match ให้กับฉัน บนหน้าปก ภาพเด็กนิโกรหนุ่ม ในชุดเครื่องแบบทหารฝรั่งเศส กำลังทำความเคารพพร้อมกับระดับของสายตาที่มองขึ้นไป และถูกจัดวางอย่างค่อนข้างเหมาะสม อยู่บนแถบสีของธงชาติฝรั่งเศส ทั้งหมดนี้เป็นความหมายของรูปภาพ แต่ดูจะไร้เดียงสาหรือบริสุทธิ์ไม่ ฉันเห็นได้อย่างดีมาก ว่าอะไรที่มันบ่งชี้แสดงกับฉัน นั่นคือประเทศฝรั่งเศส ที่เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่  นั่นคือทั้งหมดของความเป็นพี่น้อง/บุตรชาตแห่งฝรั่งเศส (Her son)โดยปราศจากการแบ่งแยกเลือกปฎิบัติทางสีผิว สิ่งที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา เก็บรักษาอยู่ภายใต้ธงชาติฝรั่งเศส(Her Flag)  นี่อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีกว่า การหันกลับไปยืนยันเกี่ยวกับลัทธิอาณานิคม การแสดงให้เห็นความกระตือรือร้นโดยนิโกรหนุ่มผู้นี้ ในการเก็บรักษาความเป็นผู้ถูกกดขี่ของเขา ฉันเผชิญหน้าอีกครั้ง กับระบบสัญวิทยาที่ใหญ่กว่า นี่คือสิ่งที่เป็นรูปสัญญะ ที่ทำให้เป็นรูปแบบของตัวมันเองอย่างเรียบร้อย พร้อมกับระบบที่มีอยู่ก่อนหน้า(ทหารผิวดำเป็นสิ่งที่ให้ความเคารพธงชาติฝรั่งเศส) นี่คือความหมายสัญญะ มันเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยเป้าหมายที่ผสมผสานเกี่ยวกับ ความเป็นฝรั่งเศส(Frenchness) และความเป็นทหาร(Malitariness) นี่เป็นสิ่งที่ปรากฎเกี่ยวกับความหมายสัญญะที่นำไปสู่รูปสัญญะ”(อ้างจากHawkes:1977)
ดังนั้น สิ่งที่บาร์ธ ได้รับอิทธิพลมาจากโซซูร์ ก็คงเป็นความคิดในเรื่องของระบบกฎเกณฑ์(Langue)  ซึ่งเป็นสิ่งที่นำไปถึงการพูด แต่มันก็เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับถ้อยคำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับสถาบันทางสังคม (Social Institution) และระบบของคุณค่า (System of Value)  เป็นส่วนที่ปัจเจกบุคคล ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงมันได้ด้วยตัวเอง เพราะมีพันธะข้อตกลงของกลุ่ม ที่มีความสำคัญจำเป็นและเป็นที่ยอมรับของทุกๆคนในความสมบูรณ์ของมัน เช่นเดียวกับเกมส์ที่มีกฎเกณฑ์มนตัวของมันเอง และสมามารถเป็นสิ่งที่ถูกจับยึดหรือใช้ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์และคุณค่า  
ดังที่บาร์ธ ได้กล่าวถึงในElementary of Semiology เกี่ยวกับระบบของเสื้อผ้า  ระบบของรถยนต์ ระบบของเฟอร์นิเจอร์ ระบบที่ซับซ้อนซึ่งเป็นเรื่องของสื่อในการติดต่อสื่อสาร วิทยุ โทรทัศน์ โฆษณา ระบบของอาหาร ที่เป็นเหมือนระบบของภาษา และเกี่ยวข้องกับเรื่องของภาษา เมื่อเราอ่านเมนูอาหาร หรืออ่านนิตยาสาร ตำราทำอาหาร  ที่ความแตกต่างหลายหลายของประเภทชนิด วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร อยู่ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์ทางโภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ของการกีดกัน ที่เกี่ยวกับข้อห้ามเกี่ยวกับอาหาร  ความแตกต่างที่ถูกบ่งชี้โดยรสชาติ หวาน เผ็ด เค็ม หรือความสัมพันธ์ที่เป็นลำดับต่อเนื่อง ที่จัดเรียงในตารางเมนูอาหาร  หรือความแตกต่างทางเชื้อชาติ ภูมิภาคและสังคม ภายใต้ระบบวัฒนธรรมของการปรุงอาหารที่อยู่เหนือส่วนของปัจเจกบุคคล(Parole)หรือครอบครัว ในเรื่องของการจัดเตรียมวัตถุดิบ เครื่องมือหรือกลวิธีศิลปะในการปรุงอาหารที่หลากหลาย(Barthes:1967,P.27-28)  
สิ่งที่เราเห็นได้จากความคิดของบาร์ธ ที่สะท้อนผ่านการศึกษาระบบทางวัฒนธรรมเหล่านี้ก็คือ เรื่องของระบบคุณค่า ค่านิยม ทัศนคติ การพิจารณากำหนด ที่พึ่งพาอยู่บนตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม เศรษฐกิจ  ที่เป็นการให้คุณค่ากับมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้บริโภคหรือใช้สัญญะเหล่านี้ ดังเช่น ที่เขาเริ่มต้นตั้งคำถามกับการตายของผู้ประพันธ์ และการเกิดขึ้นของผู้อ่าน ที่เริ่มต้นเรียนรู้กับการสร้างโลกใหม่ในหนทางที่แตกต่างภายใต้หนทางของกระบวนการสร้างความหมายที่เกิดขึ้นระหว่างผู้อ่านและตัวบท ในบริบทที่แตกต่างหลากหลายที่เกิดจากสภาวะของการไม่มีบริบทที่ชัดเจน บริบททางความหมายสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและผลิตบริบทใหม่ๆได้เสมอ จนไม่สามารถที่จะควบคุมผูกขาด ความสมบูรณ์ทางความหมายได้ โดยเฉพาะภาษาเขียนที่มีความเป็นตัวเอง มีบริบทของตัวเอง ภาษาพูดก็เช่นเดียวกันกับภาษาเขียนที่มันสามารถถูกสร้างและอ้างถึงตลอดเวลา เพื่อสร้างบริบทใหม่ให้เกิดขึ้น นี่เองที่เป็นสิ่งที่นักทฤษฎีหลังโครงสร้างนิยมให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า รูปสัญญะ มากกว่าความหมาย สัญญะ ที่เป็นเรื่องของโครงสร้าง กฎเกณฑ์ รหัส ที่พวกโครงสร้างนิยมให้ความสำคัญ
บาร์ธ ได้หันเหจากการวิเคราะห์รหัสทางวัฒนธรรม เข้าสู่การศึกษาเกี่ยวกับตัวบทความ(Text) ในความคิดที่ว่า มนุษย์ใส่รหัส(Encode) สำหรับตัวพวกเขาเอง ดังนั้นบทความหรือตัวText จึงเป็นเหมือนสถานที่ ตำแหน่งสำหรับการอ่าน ที่เราสามารถถอดรหัสได้เช่นเดียวกับวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นรากฐานแนวคิดที่พัฒนามาจากพวกโครงสร้างนิยม ที่ต้องการสลายลดทอนความเป็นองค์ประธานของมนุษย์ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสัญญะภายใต้โครงสร้างกฎเกณฑ์ทางภาษาที่หยุดนิ่งตายตัว กำลังถูกทำลายด้วยแนวคิดแบบหลังโครงสร้าง ที่ต้องการหักล้างความเป็นศูนย์กลางทางภาษาหรือการยึดเอาวจนะเป็นศูนย์กลาง(Logocentricism)



[1] Sign ในความหมายนี้หมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับสัญญะ ไม่ว่าจะเป็นสัญศาสตร์ (Semiotic) และ สัญวิทยา (Semiology)

วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แนวคิดเรื่องเพศวิถี (Sexuality)ในกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization)และการข้ามพรมแดน (Transnational) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

แนวคิดเรื่องเพศวิถี (Sexuality)ในกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization)และการข้ามพรมแดน (Transnational)
เพศวิถีมีความสัมพันธ์กับเพศสรีระ (Sex) และเพศสภาวะ (Gender)ในแง่ของการอธิบายความสัมพันธ์ระว่างลักษณะทางกายภาพชีวภาพ หรือลักษณะทางร่างกายที่เป็นธรรมชาติซึ่งปรากฏให้เห็นภายนอก สุชาดา (2550)อธิบายว่าความหมายของเพศวิถีที่ใช้กันในทางมานุษยวิทยามีนิยามกว้างขวางกว่าประเด็นเรื่องพฤติกรรมทางเพศและแรงขับทางเพศของคนในสังคม เพศวิถีเป็นเรื่องของวัฒนธรรมมากกว่าประเด็นเรื่องชีววิทยามีคุณสมบัติเหมือนเพศสภาวะกล่าวคือมีความหลากหลายและลื่นไหล เป็นผลผลิตของประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจและการเมือง สอดคล้องกับพิมพวัลย์ (2551) ที่ให้ความหมายของเพศวิถีในการศึกษาทางมานุษยวิทยาหมายถึงการที่บุคคลให้ความหมายเรื่องเพศของตนเอง ระบบความเชื่อ ค่านิยมของบุคคลเกี่ยวกับเรื่องเพศ ความรู้สึกและความปรารถนาหรือแรงขับทางเพศ ความสุขหรือความพึงพอใจทางเพศ รสนิยมทางเพศ การแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศ คู่ความสัมพันธ์ทางเพศและการให้ความหมายกับคู่ความสัมพันธ์ทางเพศต่างๆ พฤติกรรมทางเพศแบบแผนพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ที่หลากหลาย ความสัมพันธ์หญิงชาย สิ่งที่น่าสนใจคือ เพศวิถีเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเป็นเรื่องของการนิยามและให้ความหมายเกี่ยวกับเพศวิถีของตัวเองรวมทั้งเพศวิถีเป็นเรื่องของวัฒนธรรม
นิยามของเพศวิถีมีความหลากหลายและซับซ้อนซึ่งไม่สามารถระบุชัดเจนอย่างเด็ดขาดว่าเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เฉพาะ  โดยนิยามอย่างกว้างๆอาจกล่าวได้ว่าเพศวิถีสัมพันธ์กับการแสดงออกถึงลักษณะโดยภาพรวมของบุคคล  การระบุหรือบอกเล่าว่าตัวเองเป็นใคร มีความเชื่อและความรู้สึกอย่างไร และตอบสนองต่อสิ่งต่างๆอย่างไรทั้งในแง่ของคำพูด การแสดงกริยาท่าทาง การแต่งตัว การแสดงความรู้สึกรวมทั้งลักษณะของความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับบุคคลต่าง จากนิยามอย่างกว้างๆสะท้อนลักษณะของเพศวิถีใน 3 ประเด็นคือ  อัตลักษณ์ทางเพศ ความพึงพอใจทางเพศและพฤติกรรมทางเพศ
โดยเพศวิถีในปัจจุบันมีความซับซ้อนและเกี่ยวโยงกับมิติต่างๆของเพศวิถีในปัจจุบันที่มีความครอบคลุมลักษณะ 5 อย่างคือ 1.เพศวิถีกับความปรารถนาทางเพศ ที่สัมพันธ์กับการรับรู้และความรู้สึกเกี่ยวกับร่างกายของตัวเองและผู้อื่นที่นำไปสู่การปฏิบัติต่อร่างกายตัวเองและพฤติกรรมทางเพศของปัจเจกบุคคลและคู่สัมพันธ์ 2.ความผูกพันทางเพศ คือ ความรู้สึกของบุคคลว่าตัวเองมีความผูกพันใกล้ชิดกับคนอื่นได้ ซึ่งสัมพันธ์กับความจริงใจและการเปิดเผยต่อกันที่สะท้อนผ่าน การดูแลเอาใจใส่ การเข้าถึงความสุขและความทุกข์  3.อัตลักษณ์ทางเพศ คือ ความเข้าใจว่าตัวเองมีสภาพเป็นอย่างไร เป็นชายเป็นหญิงหรือไม่ใช่ทั้งสองอย่าง อาจเป็นเกย์ เสลเบี้ยนทอม กระเทยและอื่นๆ ซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับเพศที่ปรากฏทางชีวภาพ แต่สิ่งที่สำคัญคืออัตลักษณ์ทางเพศจะเป็นสิ่งที่สะท้อนว่าคนนั้นมีบทบาทอย่างไร นอกจากนี้อัตลักษณ์ทางเพศยังแสดงให้เห็นทิศทางทางเพศของคนคนนั้นด้วย  4.อนามัยเจริญพันธุ์และอนามัยทางเพศ ที่สะท้อนความสัมพันธ์กับพฤติกรรม ทัศนคติและความสัมพันธ์ทางเพศ เช่น ความสุข ความปลอดภัย ในเรื่องเพศสมพันธ์และการเจริญพันธุ์ 5.การนำเรื่องเพศมาควบคุมความสัมพันธ์ ที่สะท้อนให้เห็นว่าเพศวิถีเป็นสถานการณ์ที่บุคคลแสดงออกทางเพศที่คุกคาม ควบคุมหรือสร้างอิทธิพลต่อคนอื่น ซึ่งการนำเรื่องเพศมาควบคุมความสัมพันธ์อาจนำไปสู่ทั้งความปลอดภัยและอันตราย เช่น การสร้างความเจ็บปวดและความรุนแรงทางเพศ เป็นต้นดังนั้นนิยามของเพศวิถีจึงไม่ได้แค่เพียงบอกว่าหมายถึงอะไรเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่ามันถูกสร้างได้อย่างไรและสะท้อนให้เห็นการจำแนกและจัดประเภทของเพศวิถีที่ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติและผิดปกติ อันส่งผลต่อความพึงพอใจ ความสุขและคุณภาพชีวิตของคนต่อเรื่องเพศวิถีในสังคม
                ในสังคมสมัยใหม่เทคนิควิทยาการในการจัดแบ่งเพศวิถี มีความสัมพันธ์กับความเชื่อและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่อยู่บนฐานของความรู้เชิงวัตถุวิสัยที่นำไปสู่การทำนาย อธิบายสิ่งต่างๆอย่างถูกต้องแม่นยำ และความรู้ดังกล่าวยึดโยงอยู่บนความรู้ความจริงที่เป็นสากลและใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ความรู้ในเรื่องเพศศาสตร์ (Sexology) ก็เกิดขึ้นภายใต้การมองว่าเพศเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและดำรงอยู่ในลักษณะทางชีภาพของมนุษย์ ที่อธิบายและทดสอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และการสร้างศัพท์เทคนิคในเรื่องเพศ การจัดโครงสร้างความรู้ในเรื่องเพศ การจัดแบ่งประเภท  ดังเช่นการจัดแบ่งเรื่องเพศออกเป็นเรื่องของชายและหญิงผ่านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อมโยงปัจจัยทางด้านชีววิทยา เช่น ฮอร์โมน โครโมโซม ยีนส์ แรงขับทางเพศ ที่แฝงฝังและติดยึดกับตัวบุคคลมาตั้งแต่กำเนิด สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงกำหนดลักษณะของเพศเท่านั้นแต่ยังเป็นตัวกำหนดทิศทางเพศ (Sex Orientation) เพศจึงสัมพันธ์กับอวัยวะเพศ แรงขับทางเพศที่ยึดโยงกับเรื่องของการสืบพันธุ์ ความสัมพันธ์แบบสอดใส่ รุกและรับระหว่างชายกับหญิง รวมทั้งบทบาทของการตั้งครรภ์ความเป็นแม่และการเลี้ยงดูลูก ซึ่งการจัดแบ่งประเภทบุคคลให้เป็นชายหญิงตามเพศวิถีที่เป็นเรื่องของธรรมชาติและเชื่อมโยงกับสรีระทางเพศเป็นสิ่งที่เรียกว่าเพศสภาพ (Gender)ของความเป็นหญิงเป็นชายให้กับบุคคลและมีความคิดและพฤติกรรมไปตามเพศสภาพที่ถูกกำหนด
                ประเด็นดังกล่าว จึงนำไปสู่มุมมองที่ว่าเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงและเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของการสืบพันธุ์ การมีลูกและการผลิตสมาชิกให้กับสังคมเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติเป็นเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปกติ ซึ่งแตกต่างจากรักต่างเพศที่เป็นภาวะธรรมชาติและเป็นเรื่องปกติ  รวมทั้งกลุ่มคนที่มีเพศวิถีที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติเป็นคนกลุ่มน้อยที่เบี่ยงเบนและจะต้องถูกลงโทษ ถูกกีดกัน ถูกตีตรา เลือกปฏิบัติและถูกบขับออกจากสังคม
ดังนั้นเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้นำไปสู่การสืบพันธุ์ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติ ผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะการขายบริการทางเพศที่เป็นเรื่องของการซื้อขายบริการและเป็นเพศสัมพันธ์แบบพาณิชย์และใช้วิธีการควบคุมการเกิดจึงกลายเป็นเรื่องที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐานของสังคม รวมทั้งการขายบริการทางเพศระหว่างชายกับชายเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าผิดปติและเบี่ยงเบนมากที่สุด เพราะเป็นความสัมพันธ์ของการรักเพศเดียวกันและการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช่สืบพันธุ์และถูกมองว่าผิดธรรมชาติ เทคนิคกล่าวจึงเป็นการแบ่งแยกและจัดแบ่งในเรื่องของเพศวิถี โดยการสร้างบรรทัดฐานและกรอบทางศีลธรรมทางสังคมมากำกับความถูกผิดและพฤติกรรมทางเพศที่เหมะสมเป็นไปตามความคาดหวังที่สังคมกำหนด เพศวิถีตามลักษณะดังกล่าวจึงถูกควบคุมผ่านกรอบความคิดหลักหรือวาทกรรมกระแสหลักที่ได้สร้างความรู้เกี่ยวกับเพศวิถีให้กับผู้คนในสังคม ในขณะเดียวกันผู้คนในสังคมบางกลุ่มก็พยายามต่อรองหรือต่อต้านวาทกรรมกระแสหลักโดยสร้างความรู้ย่อยๆ วาทกรรมรองขึ้นมาเพื่อตอบโต้หรือแสดงตัวตนอัตลักษณ์ของพวกเขาในพื้นที่ทางสังคม
ความคิดดังกล่าวสอดคล้องกับการเชื่อมโยงความคิดเรื่องของความรู้และอำนาจที่สัมพันธ์กับเรื่องเพศวิถี ดังที่มิเชล ฟูโกเสนอว่า การผลิตเพศวิถีก็สะท้อนให้เห็นบทบาทของอำนาจในแง่ที่ผู้คนต่างๆก็สามารถกำหนดเพศวิถีของตัวเองได้ แน่นอนว่าแนวความคิดดังกล่าวมีความสัมพันธ์โยงใยกับเรื่องของอำนาจ การผลิตและการประกอบสร้างความรู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องของเพศวิถี โดยเฉพาะเพศวิถีในสังคมสมัยใหม่ที่สัมพันธ์กับผลกระทบอันเนื่องมาจากระบบทุนนิยมและกระแสการบริโภคนิยม ที่ทำให้ความหมายหรือการนิยามความหมายเกี่ยวกับเพศและร่างกายของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นสินค้าเพิ่มมากขึ้น (ยศ ,2548:22) โดยเฉพาะการทำร่างกายเป็นสินค้า การผลิตสินค้าเกี่ยวกับร่างกาย และการเติบโตของเพศพาณิชย์และเซ็กส์ทัวร์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในระบบทุนนิยม ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงชีวิตทางสังคมของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยมคือ การเปลี่ยนแปลงจากการสะสมทุน มาสู่การกระจายทุนและจากการผลิตสู่การบริโภค (Week,1985:22)
วัฒนธรรมบริโภคในสังคมปัจจุบันสะท้อนผ่านสินค้าที่ไหลเวียนอยู่ในตลาดและในสังคม และการแลกเปลี่ยนอย่างเสรี ทำให้ปัจเจกบุคคลมีอำนาจในตัวเอง มีเหตุผลมีอิสระที่จะตัดสินใจและกระทำตามสิ่งที่ตัวเองปรารถนา  วัฒนธรรมบริโภคสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสินค้า  ร่างกายของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสินค้า และสะท้อนให้เห็นความหมายทางวัฒนธรรม โครงสร้างของระบบสังคมที่มองร่างกายเป็นสินค้า ร่างกายผู้หญิงภายใต้ระบบทุนนิยมชายเป็นใหญ่ ที่สัมพันธ์กับภาพลักษณ์ทางเพศที่ถูกสร้างขึ้นผ่านโฆษณาและสื่อสารมวลชนต่างๆ  ร่างกายของผู้หญิงเป็นที่ปรารถนาหรือต้องการของผู้ชายที่สามารถแลกเปลี่ยนซื้อขายเป็นเงินและนำเงินนั้นกลับมาจับจ่ายซื้อสินค้าในกระแสบริโภคนิยมเพื่อความอยู่รอดในชีวิตประจำวัน ดังนั้นความมีอิสระในการเลือกเพศวิถีหรือเพศสถานะของผู้ขายบริการในส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นทางเลือกและอิสระในเพศวิถีแบบที่ตัวเองเลือกแต่ในอีกด้านหนึ่งมันได้กลายวัตถุ สินค้าและความแปลกใหม่ของอารมณ์และความสุขความหฤหรรษ์ทางเพศ เช่น เซ็กส์ผ่านอินเตอร์เน็ต แคมฟร็อกซ์เซ็กส์โฟนเซ็กส์กับผู้ชาย หรือกระเทย  หรือธุรกิจทิฟฟานีโชว์ที่กระตุ้นให้ชาวต่างชาติและผู้ชายทั่วไปสนใจ Ladyboyหรือมีเซ็กส์กับผู้หญิงข้ามชาติ เป็นต้น และสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาดและระบบทุนนิยมที่สะท้อนผ่านธุรกิจเซ็กส์ทัวร์และเพศเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงนิยามความหมายเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถีมีความสัมพันธ์กับการเติบโตของระบบทุนนิยม เพศสัมพันธ์ที่เป็นหน้าที่ในแง่ของการสร้างครอบครัวและการผลิตสมาชิก กลายเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ตามท้องตลาด ไม่ใช่แค่รูปแบบของการค้าประเวณี แต่ยังมีความหลากหลายของการสร้างจินตนาการละความฝัน ผ่านหนังสือ อินเตอร์เน็ตแคมฟร็อก ทีวี และภาพยนตร์ รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้เรื่องเพศมีความหฤหรรษ์และมีหน้าที่เพื่อการสร้างความบันเทิงมากกว่าการผลิตสมาชิก เพศสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องแต่งงาน  ภายใต้เทคนิคหรือรูปแบบการคุมกำเนิดต่างๆ ทำให้เรื่องของเพศสัมพันธ์ได้กลายเป็นสินค้าของความพึงพอใจทางเพศ ทำให้เพศวิถีเป็นมากกว่าพฤติกรรมตามธรรมชาติหรือสัญชาตญาณของมนุษย์แต่มีนัยของอำนาจ การควบคุม การต่อสู้ ต่อรอง การแสดงตัวตน ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติเป็นต้น
การมองเพศวิถีในลักษณะดังกล่าวข้างต้นจึงมีคุณูปการที่สำคัญจากแนวคิดของมิเชล ฟูโก ที่มองว่าเพศวิถีเป็นผลผลิตของการแบ่งประเภท การจัดระเบียบ การกำหนดกฏเกณฑ์ กติกา และการควบคุมกำกับเรื่องเพศ  ทั้งกระบวนการปกปิดและการไม่ถูกพูดถึงในเรื่องเพศต่างๆก็ล้วนแล้วแต่เป็นการควบคุมทางเพศ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจรูปแบบหนึ่ง เพศสัมพันธ์หรือบทบาททางเพศแบบไหนที่เหมาะสมไม่เหมาะสม เพศวิถีแบบไหนถูกต้อง ปลอดภัย เพศสัมพันธ์แบบไหนเป็นความเสี่ยงเป็นสิ่งสกปรกไม่พึงปรารถนาของสังคม ทำให้เกิดการควบคุมร่างกายตัวเองให้สอดคล้องกับวาทกรรมที่กำหนดซึ่งสะท้อนให้เห็นกระบวนการของอำนาจในระดับจุลภาค (Micro-power)ที่เข้ามาจัดการกับร่างกายของมนุษย์
เพศวิถีของผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ จึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องของความรู้และอำนาจ การต่อสู้ ต่อรอง ที่สร้างตัวตนและเพศวิถีของผู้หญิงลาวเหล่านี้ทั้งที่เข้ามาโดยสมัครใจหรือไม่สมัครใจ ภายใต้ความสัมพันธ์กับการเป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาด ระบบทุนนิยม โลกาภิวัฒน์ที่เชื่อมโยง ท้องถิ่นกับโลกภายใต้อุตสาหกรรมทางเพศ (Sex industries)การเป็นเหยื่อของการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมืองภายในประเทศและระหว่างประเทศ การเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ามนุษย์ ความต้องการโอกาสในการทำงาน การรับผิดชอบต่อครอบครัวหรือความต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นต้น
ดังนั้นเพศวิถีของผู้หญิงขายบริการข้ามชาติลาวจึงสัมพันธ์กับจินตนาการ ที่เชื่อมโยงร่างกายอัตลักษณ์ตัวตนของพวกพวกเธอเข้ากับระบบทุนนิยม ความทันสมัยและการบริโภคนิยมเพื่อเติมเต็มความปรารถนาและความพึงพอใจของตัวเอง ร่างกายของพวกเธอไม่เพียงแต่สัมพันธ์กับระบบโลก โลกาภิวัตน์  ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมเท่านั้น แต่ยังซ้อนทับกับความเป็นรัฐชาติระหว่างแผ่นดินที่กำเนิดกับแผ่นดินใหม่ที่อพยพเข้าไปด้วย เช่น  ความมีอิสระเสรีในการตัดสินใจการใช้ชีวิตของตัวเอง การจินตนาการถึงความเจริญความทันสมัยที่อยู่ห่างไกลจากสังคมแบบจารีตที่ตัวเองเคยอยู่  หรือความสุขสบายที่ดีกว่าความยากจนแร้นแค้น รวมถึงเพศวิถีในแบบที่ตัวเองพึงพอใจ และทำหน้าที่หลากหลายไม่ผูกติดแค่การสืบพันธุ์หรือผลิตสมาชิกกับสังคม แต่เป็นทั้งความพึงพอใจ ความสุข เป็นสินค้าแลกเปลี่ยน เป็นการซื้อขาย เป็นต้น เพศวิถีดังกล่าวจึงเป็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้การข้ามพรมแดนของผู้หญิงเหล่านี้มีมากขึ้นและสะดวกรวดเร็วมากกว่าเดิม
โลกาภิวัตน์มีความสัมพันธ์กับพื้นที่และกระบวนการข้ามพรมแดน ในแง่ที่โลกาภิวัฒน์ลดทอนความสำคัญของพื้นที่และขยายความสัมพันธ์ทางสังคมในมติทางภูมิศาสตร์ ซึ่งพรมแดนของภูมิศาสตร์ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ทางสังคมโลกาภิวัตน์ ซึ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์หรือพรมแดนหดแคบลงภายใต้ความสัมพันธ์ทางสังคมที่แผ่กว้างและรวดเร็ว ความสำนึกร่วมของผู้คนในการเป็นส่วนหนึ่งของโลก ผ่านการรับรู้เหตุการณ์อย่างรวดเร็วฉับพลันในทุกมุมโลกซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารและการคมนาคม  ดังนั้นโลกาภิวัตน์จึงสัมพันธ์กับ มิติของพื้นที่และเวลาที่หดแคบลงและรวดเร็วขึ้น ทั้งการเคลื่อนย้ายของทุน  คน เงินตรา อุดมการณ์ เทคโนโลยีและสื่อ รวมทั้งการขยายพื้นที่ของจินตนาการของผู้คน ที่เชื่อมโยง ท้องถิ่น รัฐชาติและโลกเข้าด้วยกัน ที่สำคัญก็คือจินตนาการเหล่านี้กลายเป็นความจริงและปฏิบัติการทางสังคม ที่สะท้อนผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตประจำวัน การต่อสู้ดิ้นรน ความทุกข์ทรมานโดยเฉพาะของผู้คนที่ข้ามพรมแดน
การอพยพข้ามแดน เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ของการแผ่ขยายของกระแสโลกาภิวัตน์ การข้ามพรมแดนทำให้เกิดการสลายไปของพรมแดนและบทบาทของรัฐชาติและรัฐชาติถูกแปรสภาพให้กลายเป็นกลจักรหนึ่งของการค้าของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ (Michael Burawoy ,2001:148)
สิ่งที่น่าสนใจคือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์กลายเป็นสังคมข้ามพรมแดน(Transnationalism) เป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีความหลากหลาย ทั้งตัวตนทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจและปฏิบัติการทางสังคมต่างๆ ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์กระบวนการเหล่านี้อาจเรียกว่า เป็นปฏิบัติการข้ามพรมแดน  ที่สะท้อนให้เห็นการเคลื่อนย้าย อัตลักษณ์ตัวตน การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินแม่กับประเทศที่อพยพเข้าไป ประสบการณ์การข้ามพรมแดนของผู้อพยพ ผู้พลัดถิ่น แรงงานข้ามชาติ ดังนั้น ตามแนวทางของ Glick Schiller มองว่า สังคมข้ามแดนเกิดภายใต้เงื่อนไขของระบบทุนนิยมและต้องถูกวิเคราะห์ภายใต้เงื่อนไขบริบทความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงานในระดับโลก รวมทั้งสังคมข้ามแดน เป็นกระบวนการที่ผู้อพยพสร้างสนามทางสังคมพาดผ่าน เชื่อมโยง หรือตัดข้ามพรมแดนรัฐ-ชาติ ทั้งกิจกรมในชีวิตประจำวัน กิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคนกับคน คนกับแนวคิด คนกับสิ่งของและคนกับทุนและเน้นความสำคัญของมนุษย์ในฐานะผู้กระทำการ
ผู้หญิงแรงงานข้ามชาติลาวจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์ ระบบทุนนิยม และกระแสบริโภคนิยมโดยการเดินทางข้ามพรมแดน ในฐานะของแรงงานที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทย จากท้องถิ่นประเทศแม่ของตัวเอง พร้อมกับจินตนาการเกี่ยวกับความทันสมัย ความเจริญก้าวหน้า เพื่อสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งของตัวเองและครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง โดยผนวกตัวเองเข้ากับระบบทุนนิยม การเปลี่ยนร่างกายให้เป็นสินค้าในฐานะของทุน ที่เชื่อมโยงกับการเติบโตของธุรกิจเพศเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมเซ็กส์ทัวร์ ในอีกด้านหนึ่งตัวตนของแม่หญิงแรงงานข้ามชาติลาวเหลานี้ยังผูกโยงกับอัตลักษณ์ของความเป็นชาติพันธุ์ สถานภาพในแผ่นดินเกิดที่จากมา ทั้งความเป็นแม่เป็นลูกสาวหรือเป็นภรรยาเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในพรมแดนของประเทศปลายทางที่เป็นพื้นที่ที่แตกต่าง และมีการซ้อนทับของอำนาจของรัฐชาติไทยที่เข้ามาจัดการและควบคุมแรงงานเหล่านี้ภายใต้กฏหมาย เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย เป็นผู้ลักลอบเข้าเมือง เป็นผู้ค้าประเวณี เป็นอาชญากร เป็นต้น พื้นที่พรมแดนเหล่านี้จึงเป็นพื้นที่ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต ประสบการณ์การข้ามแดน ความเจ็บป่วยและความทุกข์ทรมาน ทั้งจากความขัดแย้งจากภาวะความทันสมัย ความไม่ลงรอยกันระหว่างอัตลักษณ์แบบจารีตกับอัตลักษณ์สมัยใหม่ การถูกควบคุมจากอำนาจทั้งอำนาจของจารีต กรอบศีลธรรมทางศาสนา อำนาจของกฎหมาย กับการมีอิสระในการเลือกใช้ชีวิตหรือเพศวิถีในแบบที่ตัวเองปรารถนาในการเข้ามาสู่อาชีพขายบริการ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของพรมแดนทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ในสภาวะของการไร้พรมแดนในกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้การเดินทางระหว่างแผ่นดินต้นทางกับแผ่นดินปลายทางทำได้สะดวกรวดเร็วและง่ายมากขึ้น ทั้งนโยบายของความเป็นอาเซียน การค้าเสรีทำให้การเคลื่อนย้ายของผู้คนและทุนมีมากขึ้น วิถีชีวิตของแม่ญิงลาวจึงไม่ได้ห่างไกลจากวิถีชีวิตแบบเดิมมากนัก พวกเขาสามารถกลับบ้านในช่วงเทศกาลสำคัญ สงกรานต์ปีใหม่ เพื่อใช้ชีวิตกับครอบครัว ชุมชนตามแบบจารีตในขณะเดียวกันพวกเขาก็สามารถกลับเข้ามาใช้ชีวิตตามแบบของความทันสมัย ความมีอิสระเสรีในการใช้ชีวิต การทำงานโดยใช้เนื้อตัวร่างกายแลกเปลี่ยนกับเงินตราโดยไม่ต้องติดกับกรอบทางศีลธรรมหรือจารีต

ดังนั้นในการศึกษาประเด็นผู้หญิงลาวอพยพขายบริการ ตัวตน ชีวิต ประสบการณ์ ในเรื่องเพศวิถี ความเจ็บป่วยและสุขภาพ ผู้ศึกษาจึงเลือกใช้มุมมองของโพสต์โมเดิร์น แนวคิดเรื่องตัวตน วาทกรรมและเพศวิถี (Sexuality)ของมิเชล ฟูโก ที่สัมพันธ์กับกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization)และการข้ามพรมแดน (Transnational)ของกลุ่มแรงงานข้ามชาติผู้หญิงลาวที่อพยพเคลื่อนย้ายมาขายบริการในประเทศไทยมาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ศึกษาภายใต้เงื่อนไขปัจจัยต่างๆของการกลายเป็นผู้หญิงขายบริการและการเข้ามาในประเทศไทย ทั้งอิทธิพลของระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมที่แผ่ขยายข้ามพรมแดนอย่างกว้างขวางเพื่อสะท้อนให้เห็นประสบการณ์ การใช้ชีวิตและการต่อสู้รวมทั้งความเจ็บป่วยจากการขายบริการในพื้นที่ข้ามแดน รวมทั้งใช้แนวคิดของมิเชลฟูโก มาทำความเข้าใจความรู้และอำนาจที่ปรกอบสร้างตัวตนและร่างกายของแม่ญิงลาว ผ่านชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงประเด็นเรื่องอัตตาและตัวตนที่มีอิสระในการเลือกและตัดสินใจในเพศวิถีของตัวเองที่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตและความเจ็บป่วยทางสุขภาพ

อำนาจที่สัมพันธ์กับร่างกาย: การกลับมามองปัจเจกบุคคล ผ่านศึกษาเรื่องเพศวิถีและอัตตา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

อำนาจที่สัมพันธ์กับร่างกาย: การกลับมามองปัจเจกบุคคล ผ่านศึกษาเรื่องเพศวิถีและอัตตา
ฟูโกเชื่อมโยงเรื่องของอำนาจเข้ากับร่างกาย โดยเฉพาะอำนาจที่กระทำกับร่างกายในระดับจุลภาค (Micro-physic of power หรือ Bio-power) นอกเหนือจากการมองอำนาจในระดับมหภาคที่เป็นเรื่องของบทบาทของอำนาจในการครอบงำในโดยปัจเจกบุคคลและสถาบันทางสังคม แต่อำนาจนั้นปฏิบัติการอยู่ทุกหนแห่งในสังคมรวมถึงร่างกายของมนุษย์ด้วย ความคิดดังกล่าวปรากฏในงานของมิเชลฟูโก ในเรื่อง Discipline and punishment ในเรื่องของร่างกายที่ว่านอนสอนง่าย  (Docile Body) ที่พยายามโต้แย้งความคิดว่าคนเราสามารถควบคุมร่างกายตัวเองได้ แต่จริงๆแล้วร่างกายของคนเราอาจจะถูกควบคุมโดยไม่รู้ตัวด้วยภายใต้การยอมรับความรู้ ความจริงของวาทกรรมชุดใดชุดหนึ่ง จนตกยู่ภายใต้อำนาจของวาทกรรมชุดนั้น ดังเช่น วาทกรรมว่าด้วยร่างกายเป็นสินค้าในระบบทุนนิยม ทำให้มนุษย์เชื่อว่า ร่างกายของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของทุนหรือระบบเศรษฐกิจ ที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดได้ ดังนั้นร่างกายดังกล่าวต้องยอมสยบยอมต่ออำนาจทุนและอำนาจเงิน กลายเป็นร่างกายที่ว่านอนสอนง่ายและร่างกายที่ตกอยู่ภายใต้บงการของระบบทุนนิยมชายเป็นใหญ่ ที่การขายเรือนร่างของผู้หญิงกลายเป็นสินค้าและการเคลื่อนตัวจากความเป็นโสเภณี(Prostitute)เข้าสู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพการขายบริการทางเพศ (Sex worker)
ดังนั้นกระบวนการกลายเป็นร่างกายใต้บงการ จึงเป็นการยอมรับความรู้ ความจริงจากวาทกรรมชุดต่างๆที่ได้สร้างความคิดและความหมายเกี่ยวกับร่างกายตัวเองของมนุษย์ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายจิตใจของตัวเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความซับซ้อนของวาทกรรมชุดต่างๆที่เข้ามาประกอบสร้าง ผ่านเทคนิควิทยาการของวาทกรรม ที่ทำให้วาทกรรมต่างๆสามารถประสานสอดคล้องกันเพื่อเป้าหมายบางอย่างและนำไปสู่ปฏิบัติการของวาทกรรมและการจัดการกับร่างกายและตัวตนของตัวเอง เช่น วาทกรรมที่เกี่ยวกับการขายเรือนร่างให้เป็นสินค้าในระบบทุนนิยม เมื่อมองผ่านร่างกายของผู้หญิงแรงงานข้ามชาติลาว ก็จะเห็นชุดของวาทกรรมหรือความรู้ ความจริงชุดต่างๆที่ซ้อนทับกันอยู่ เช่น วาทกรรมว่าด้วยความกตัญญู วาทกรรมว่าด้วยความเป็นลูกสาว  วาทกรรมว่าด้วยความเป็นผู้หญิง วาทกรรมว่าด้วยการพัฒนาและความยากจน วาทกรรมว่าด้วยทุนนิยม การเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม ร่างกายคือแรงงาน คือสิ่งที่สามารถสร้างมูลค่าในระบบตลาด ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ก้าวเข้ามาสู่อาชีพขายบริการ งานในช่วงนี้ของฟูโกจึงสะท้อนให้เห็นความคิดของเขาที่มองว่า อำนาจไม่ใช่สมบัติที่ใครสามารถจะผูกขาดเอาไว้แต่เพียงผู้เดียวได้ แต่อำนาจอยู่ในสายสัมพันธ์ที่สามารถสถาปนาความรู้ ความจริง ตำแหน่งแห่งที่ ปฎิบัติการที่ควบคุมหรือมีอิทธิพลเหนือชีวิตประจำวันของผู้คนที่กระทำผ่านเทคนิคของอำนาจ (Technology of power) ที่กระทำผ่านร่างกายของมนุษย์ในฐานะของผู้ถูกกระทำ
งานในช่วงต่อมาของมิเชลฟูโก เริ่มหันมามองสิ่งที่เรียกว่า การปกครองทางชีวญาณ (Govermentality)พร้อมกับการเติบโตของรัฐสมัยใหม่ ที่ไม่ใช่รูปแบบการปกครองโดยใช้กำลังหรืออำนาจบีบบังคับดังเช่นในอดีต ซึ่งเป็นการใช้อำนาจผ่านสถาบันภายนอกตัวคน แต่ในปัจจุบันอำนาจบังคับดังกล่าวทำงาอยู่ภายในตัวคน การปกครองที่ทำงานด้วยตัวเอง ผ่านความจริง ความรู้ที่มนุษย์ยอมรับโดยชอบธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นการพยายามแยกความคิดออกจากเรื่องของโครงสร้างและสถาบันและหันกลับมาสู่การให้ความสนใจกับระบอบของความรู้ความจริงกับตัวของอัตบุคคลมากขึ้น ดังนั้นในแง่มุมนี้ของฟูโก เขายายามที่จะชี้ให้เห็นว่า อำนาจไม่ได้สมบูรณ์แต่มีความขัดแย้งอยู่ด้วย มันมีการต่อต้านต่อรองขัดขืนตลอดเวลา  ตัวตนของมนุษย์ไม่ได้ถูกควบคุมกำกับเพียงอย่างเดียว แต่ตัวตนของมนุษย์ยังสามารถสร้างตัวตนของตัวเองแบบใหม่ขึ้นมาได้ด้วยซึ่งตัวตนดังกล่าวที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อไม่ให้ถูกควบคุมกำกับ ซึ่งฟูโกยเรียกว่า การเป็นนายตัวเอง (Self Mastery) ดังเช่น อัตลักษณ์และเพศวิถีที่สัมพันธ์กับการนิยามตัวตนของตัวเอง ซึ่งการเป็นนายตัวเองปรากฏผ่านอัตลักษณ์และเพศวิถีที่ปฏิบัติ ดังเช่น การเข้ามาสู่อาชีพการขายบริการทางเพศของผู้หญิงลาว อาจจะเป็นการพยายามบอกว่า เขาเลือกที่จะทำอาชีพแบบนี้ ซึ่งคนอาจมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ ไม่สอดคล้องกับศีลธรรมและจริยธรรมของสังคม พวกเขาไม่ได้ถูกครอบงำด้วยกระแสบริโภคนิยมหรือทุนนิยมแต่พวกเขาสามารถที่จะดำรงตัวตนอยู่ได้โดยไม่ถูกกำกับหรือบังคับอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์แบบ การขายร่างกายของพวกเขาจึงอาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนให้เป็นสินค้า แต่เป็นสุนทรียะของการดำรงชีวิต เป็นศิลปะหรือกลยุทธ์ของการใช้ชีวิตการเอาตัวรอดในสังคมแบบทุนนิยมในโลกยุคปัจจุบัน
อาจสรุปได้ว่าฟูโกได้มีการเคลื่อนตัวหรือเปลี่ยนแปลงทางความคิด จากรากฐานการหาความรู้จากวิธีการโบราณคดีของความรู้ (Archaeology of knowledge)มาสู่สาแหรกหรือวงศาวิทยาของความรู้ (Genealogy) ที่เชื่อมโยงความรู้กับเรื่องของอำนาจ แล้วสุดท้ายเขาก็กลับมาสู่เรื่องของการต่อต้านขัดขืน และเทคโนโลยีของการสร้างตัวตน รวมทั้งการวิเคราะห์ความเป็นซับเจ็คหรือตัวตน ไม่ใช่ตัวตนในฐานะพื้นที่ของปฏิบัติการของการกระทำและกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวตนที่มีอิสระ ตัวตนที่เป็นนายตัวเอง (mastery)โดยเฉพาะในเรื่องของเพศวิถี ดังที่ฟูโกบอกว่า เราไม่สามารถปฏิเสธ ประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัย เพื่อทำความเข้าใจว่า ในยุคสมัยต่างๆมนุษย์ถูกประกอบสร้างและประกอบสร้างตัวเองอย่างไร รวมทั้งการปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการ

ดังนั้นวาทกรรม ความรู้และอำนาจจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดตัวตนหรือซับเจ็ค ในการศึกษาประเด็นเรื่องแม่ญิงลาวที่เข้ามาขายบริการทางเพศในประเทศไทยจึงต้องทำความเข้าใจกระบวนการการประกอบสร้างให้เกิดตัวตนของผู้หญิงขายบริการข้ามแดนชาวลาว ที่เชื่อมโยงกับวาทกรรมและความรู้ที่ซ้อนทับระหว่างตัวตนทางชาติพันธุ์ความเป็นคนลาว ความเป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ในลาว ตัวตนของความเป็นผู้หญิง เป็นแม่หรือเป็นลูกสาว ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบริบททางประวัติศาสตร์ ในเชิงพื้นที่และเวลาที่ก่อให้เกิดการปรากฏของความรู้และวาทกรรมที่เกี่ยวกับผู้หญิงและนำไปสู่ปฎิบัติการทางอำนาจที่เข้ามาจัดการกับตัวตนบทบาทหน้าที่ของความเป็นผู้หญิงลาว ในยุคสมัยต่างๆที่สร้างระบอบของความจริง เช่น ในก่อนยุคสังคมนิยม ยุคสังคมนิยมและยุคประชาธิปไตย รวมทั้งวาทกรรมการพัฒนาชุดต่างๆที่เข้ามาประกอบสร้าง จัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้กับผู้ชาย ผู้หญิง ผู้หญิงลาวในเมือง ผู้หญิงลาวในชนบท ผู้หญิงลาวมีการศึกษา ผู้หญิงลาวไร้การศึกษาหรือแม้กระทั่งผู้หญิงชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในสังคมลาว รวมทั้งเชื่อมโยงกับกระบวนการข้ามพรมแดนในกระแสโลกาภิวัตน์ ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมที่ประกอบสร้างความเป็นผู้หญิงลาวแบบจารีต กับผู้หญิงลาวสมัยใหม่อันนำไปสู่การตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจขายบริการทางเพศและการมีเพศวิถีในรูปแบบของตัวเอง

โพสต์โมเดิร์น(Postmodern approach) กับการศึกษาประเด็นว่าด้วยผู้หญิงและการขายบริการทางเพศ (Sex workers) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

โพสต์โมเดิร์น(Postmodern approach) กับการศึกษาประเด็นว่าด้วยผู้หญิงและการขายบริการทางเพศ (Sex workers)
วิธีคิดแบบโพสต์โมเดิร์นในการมองอัตลักษณ์ ตัวตนของผู้หญิงลาวอพยพที่เข้ามาขายบริการ ต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นถูกประกอบสร้างขึ้นอย่างหลากหลาย ที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ของชีวิต การนำเสนอตัวตนหรือการเปิดเผยความจริงบางส่วนรวมทั้งความจริงที่ไม่ปรากฏหรือไม่เปิดเผย ที่อยู่ภายใต้การครอบงำของความรู้ อำนาจและวาทกรรมชุดต่างๆที่ไหลเวียนอยู่ในสังคม วาทกรรมเหล่านี้จะถูกประกอบสร้าง ถูกให้ความหมายและถูกตีความอย่างแตกต่างหลากหลายในบริบททางประวัติศาสตร์ การเมืองและสังคมและสะท้อนผ่านทางภาษา ดังนั้นแนวความคิดแบบโพสต์โมเดิร์นจึงต้องถอดรื้อ (Deconstruction) วิพากษ์ (Critical) ตัวบท (Text)ภาษา(Language/Dialogue)และวาทกรรม (Discourse)ที่ผลิตความรู้และอำนาจ ซึ่งกดทับ ปิดปังซ่อนเร้นตัวตนของผู้หญิงเหล่านี้
กระแสแนวคิดสตรีนิยมแบบโมเดิร์น ให้คำอธิบายว่าทำไมผู้หญิงต้องถูกกดทับ ขูดรีด มองความสัมพันธ์ของเพศสภาพที่ค่อนข้างมั่นคงซึ่งมองแบบวัตถุวิสัย (Objectivity) สตรีนิยมแบบโพสต์โมเดิร์น มองความเป็นอัตวิสัย (Subjectivity) ที่ความสัมพันธ์ของเพศสภาพเกี่ยวข้องกับความรู้ อำนาจและการปฏิบัติที่มีความเลื่อนไหล ซับซ้อน ขัดแย้งหรือย้อนแย้งกัน
ตัวตนของ Sex Worker จึงมีสถานะของการเป็นทั้งการเป็นผู้กระทำและถูกกระทำไปพร้อมกัน ดังเช่นการมอง Sex worker เช่นเดียวกับ ผู้กระทำการ (Agency) ซึ่งเป็นผลลัพธ์และทางเลือกภายใต้การครอบงำของระบบเศรษฐกิจ การแสวงหาความมั่นคงให้กับตัวเองและครอบครัวผ่านการขายเรือนร่างในระบบตลาดและอุตสาหกรรมการขายบริการที่ทำให้ทุกอย่างเป็นสินค้า มีมูลค่ามีราคาสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้  และมีความหมายที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันภายใต้ปฏิสัมพันธ์ของตัวตนของSex Worker กับระบบตลาด ระบบทุนนิยมและผู้ซื้อบริการที่มีความต้องการ ที่สร้างความหมายต่อการเป็น Sex worker คือคนที่ให้บริการทางเพศ (Sexual Services) กับผู้บริโภค (Consumer) อีกทั้ง Sex worker รวมถึงกลุ่มคนที่ถูกว่าจ้างในเรื่องทางเพศทั้งนักแสดงหนังโป๊ นักระบำเปลื้องผ้า ผู้ให้บริการเซ็กส์โฟนและโสเภณี (Dank,1999)
โดยในประเด้็นที่ผู้เขียนสนใจ คือการใช้คำว่า Sex Worker ให้เฉพาะเจาะจงลงไปโดยอ้างถึงผู้หญิงผู้ซึ่งมีส่วนร่วมในการติดต่อเกี่ยวข้องกับเรื่องของเพศสัมพันธ์ในรูปแบบของการซื้อขาย(ให้ค่าจ้างตอบแทน)  รวมทั้งSex worker คือ ผู้หญิงผู้ซึ่งเลือก(Chosses) ที่จะขายบริการทางเพศ (Sell Sexual Services)กับผู้ชายอย่างฉับพลันทันทีและแลกเปลี่ยนกับเงินโดยตรง หรือยาเสพติด อาหารหรือสิ่งของในการดำรงชีพอื่นๆ
การสร้างทางเลือกที่วางอยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจ Agency ซึ่งหมายถึง การใช้ทางเลือกภายใต้ตำแหน่งที่อยู่ต่ำกว่า (Subordinate position) ผู้หญิงมีทางเลือกในเรื่องของอาชีพ Sex workerจึงมีลักษณะของ Agency เพราะว่าพวกเธอเลือกหรือสมัครใจที่จะทำอาชีพนี้ ที่ทำให้ผู้หญิงเลือกอาชีพ sex work บนพื้นฐานของเหตุผลที่หลากหลายของสภาวการณ์ ความพึงพอใจ เงื่อนไขข้อจำกัดและสภาพแวดล้อมของแต่ละปัจเจกบุคคล
ผู้หญิงเหล่านี้มีประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งประสบการณ์ชีวิตความเป็นแม่ ลูกสาว ภรรยา การเข้าสู่การเป็น Sex worker รวมถึงประสบการณ์ทางด้านสุขภาพและความเจ็บป่วยที่สัมพันธ์กับการขายบริการทางเพศ  แม้กระทั่งความเจ็บป่วยดังกล่าวยังสัมพันธ์กับเรื่องของระบบสุขภาพ นโยบายสุขภาพที่ทำให้พวกเขากลายเป็นคนป่วย หรือร่างกายที่เจ็บป่วย เชื้อโรคที่ต้องควบคุมป้องกัน
 วาทกรรมแบบโพสต์โมเดิร์น (Postmodern discourse)
แนวความคิดแบบโพสต์โมเดิร์น คือความพยายามถอดรื้อ ตั้งคำถาม สงสัย เกี่ยวกับความเชื่อ ที่สัมพันธ์กับความจริง ความรู้ อำนาจ ตัวตน (The Self) และภาษา โดยเฉพาะสิ่งที่เป็น Representation ที่อ้างว่าสะท้อนความจริง โดยเฉพาะเสียงจากผู้มีอำนาจที่ผูกขาดความรู้ความจริง เช่น เสียงของแพทย์ที่ยืนยันอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ เสียงของราชการหรือรัฐที่ผูกโยงกับเรื่องของกฎหมาย การเมือง ความมั่นคง เสียงของนักเศรษฐศาสตร์ที่อ้างถึงระบบตลาดและระบบทุนนิยมที่ครอบงำ และเสียงที่กดทับอื่นๆ โดยการเปิดพื้นที่ให้เสียงเล็กเสียงน้อยได้เล็ดลอดและเปิดเผยตัวตนออกมา เช่นเสียงของผู้หญิง เสียงของคนชายขอบ เสียงของคนดำ เสียงของผู้ถูกกดขี่ เป็นต้น
 เสียงของผู้ขายบริการ (Voice of the sex worker)
การสร้างวาทกรรมทางเลือกที่สะท้อนหรือสร้างความหมายที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องของภาษา ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน  ซึ่งแนวคิดแบบโมเดิร์น ที่มีวิธีคิดแบบคู่ตรงกันข้ามที่แยกอย่างชัดเจนระหว่างความสูงความต่ำ ความดำความขาว ความดีและความเลว จนไม่มีพื้นที่ตรงกลางหรือพื้นที่ก้ำกึ่งระหว่างคู่ตรงกันข้ามดังกล่าว หรือลักษณะที่เป็นทั้งสองขั้วรวมกัน ในขณะที่วิธีคิดแบบโพสต์โมเดิร์นเป็นการมองพ้นไปจากคู่ตรงกันข้ามดังกล่าว เช่น  คู่ตรงกันข้ามระหว่างตัวเอง (Self ) กับคนอื่น (Other) ที่จัดวางผู้หญิงให้กลายเป็นอื่นกับผู้ชายและสร้างอัตลักษณ์ของผู้หญิงที่ค่อนข้างมั่นคงแข็งตัวไม่ยืดหยุ่น เช่นความเป็นผู้หญิง, Heterosexual หรือ ถูกกดทับ รวมถึงมุมมองว่าผู้หญิงอ่อนแอและพาหะนำโรค ดังนั้นวิธีคิดแบบโพสต์โมเดิร์นต้องการถอดรื้อ ความหมายที่สร้างความเป็นอื่นเหล่านี้ เปิดเผยความซับซ้อนที่คนมองไม่เห็นหรือเสียงที่ไม่เคยได้ยิน ดังนั้นวาทกรรมทางเลือก การสร้างความหมายที่หลากหลายผ่านภาษา ตัวอย่างเช่น งานของ Laurie Bell (1987) ที่มองกระบวนการกลายเป็นชายขอบของ Sex worker และ Prostitute ในการสร้างชุดของคู่ตรงกันข้ามหรือความเป็นอื่น ในความเป็นผู้หญิงเลวซึ่งเป็นคู่ตรงกันข้ามของวาทกรรมผู้หญิงดีและผู้หญิงเลว (การแบ่งแยกความคิดเรื่อง Self กับ Other)
การประกอบสร้างความหมายของความเป็นผู้หญิงดีและผู้หญิงเลวที่เกี่ยวข้องกับบริบท เช่น ความเป็นผู้หญิง แม่และภรรยาของเธอที่บ้าน ที่ใช้ชีวิตกับลูกและสามี ในความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียว กับการกลายเป็นผู้หญิงเลวหรือการเป็นอื่นซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์แบบขายบริการทางเพศกับผู้ชายแปลกหน้ามากมาย การถูกครอบงำด้วยวาทกรรมทางศีลธรรมและข้อปฏิบัติของเพศวิถี ภายใต้การหันเหเบี่ยงเบนทางเพศวิถี
การเคลื่อนย้ายความหมายของผู้หญิงไปยัง sex work กับ การค้ามนุษย์ผู้หญิงไปยัง prostitution ของผู้หญิงประเทศกำลังพัฒนาที่สะท้อนให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า Agency และ Victimatization  ซึ่งทำให้เห็นความซับซ้อนที่มากกว่าการมองภายใต้ความคิดแบบโมเดิร์นที่มองเรื่องดังกล่าวว่าเป็นผลมาจากระบบทุนนิยมที่ผู้ชายเป็นผู้ครอบงำ โดยมองความเป็น subjectivity ที่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของทั้ง sex worker และ prostitutes ที่เลื่อนไหลมากกว่าที่จะคงที่ตายตัว
การวิเคราะห์ผู้หญิงที่เคลื่อนย้ายหรืออพยพจากลาวไปยังประเทศไทยเพื่อมาเป็น sex work โดยมองจากจุดยืนแบบPostmodernและตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างอำนาจที่สนับสนุนค้ำจุน ความรู้ที่ประกอบสร้างความจริงของสิ่งเหล่านี้และความหมายที่ผลิตออกมา
งานเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ของSex worker ที่เน้นย้ำอยู่บนพื้นฐานและอัตลักษณ์ความเป็น sex worker มากกว่าที่จะมองว่าพวกเธอเป็นผู้หญิง แม่ ลูกสาว พี่สาว น้องสาว พลเมืองและแรงงานอพยพที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย แนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์น เปิดพื้นที่ให้กับอัตลักษณ์ที่เลื่อนไหลหลากหลายของผู้หญิงกลุ่มนี้รวมถึงเพศวิถีที่หลากหลายด้วย รวมทั้งการสร้างและสะสมทุนผ่านร่างกายในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ทำให้เข้าใจการประกอบสร้างความเป็นหญิงขายบริการที่หลากหลาย
งานเขียนที่เกี่ยวข้องกับการสรุปเหมารวมและการมองประเด็นเรื่องโสเภณีกับการค้ามนุษย์ ได้ถอดหรือเปลื้องความเป็นผู้กระทำการ(Agency)ของผู้หญิงเหล่านี้ออกไป ดังนั้นเราต้องกลับมาฟังเสียงของผู้หญิงเหล่านี้ที่หลากหลาย (Multi voice มากกว่า Single Voice)  ผ่านการสะท้อนประสบการณ์ของพวกเธอเอง
ตัวอย่างเช่น เสียงของผู้หญิงและSex worker ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา เสียงของผู้หญิงผิวดำ ผิวขาว เสียงของผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ เสียงของผู้หญิงแรงงานอพยพลาว กัมพูชา พม่า เสียงของผู้หญิงแรงงานอพยพที่ผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย ผู้หญิงที่สมัครใจขายและถูกบังคับให้ขาย ซึ่งเป็นเสียงของความพึงพอใจและความเจ็บปวด (Pleasure and pain) ดังเช่นเสียงของsex workers อาจจะสะท้อนความระทมจากการถูกกดทับภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เสียงของ sex workers  อาจสะท้อนความต้องการ ความปรารถนา ความพึงพอใจที่บ่อยครั้งมักจะไม่ปรากฏในทฤษฎีหรือชุดของวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผู้หญิงเหล่านี้ รวมทั้งเสียงของ sex worker เปิดเผยประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึก ตัวตน ร่างกายและความจริงของพวกเขา

งานศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิงขายบริการส่วนใหญ่จะเน้นเปรียบเทียบSex workerในประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศโลกที่สาม แต่ในความเป็นจริงระหว่างประเทศโลกที่สามหรือประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันก็มีความแตกต่าง เช่น Sex worker ลาว พม่า กัมพูชา กับ ไทยที่มีสถานะที่ไม่เท่าเทียมกันก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ 

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...