วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2566

มานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วรรณนาแบบสะท้อนย้อนคิด (Ethnography Reflexivity) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 มานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วรรณนาแบบสะท้อนย้อนคิด (Ethnography Reflexivity)

               Tony L. Whitehead (2002:1-28) ได้เขียนในหนังสือ What is Ethnography?: Methodological,Ontological,and Epistemological  Attribute เขาอธิบายว่างานชาติพันธุ์วรรณนาหมายถึง การศึกษาด้วยวิธีการที่ง่ายและไม่ซับซ้อนแต่มีคุณสมบัติในเชิงภววิทยา(ontological)และอภิปรัชญา(Epistemological)ในตัวเอง เป็นการศึกษาแบบองค์รวม (Holistic approach)ในการศึกษาระบบวัฒนธรรม การศึกษาบริบททางสังคมวัฒนธรรม(Socio-cultural context) กระบวนการ(Process)และการให้ความหมาย(Meaning)ภายในระบบวัฒนธรรม เป็นการศึกษาระบบของวัฒนธรรมจากมิติของคนใน(Emic)และคนนอก(Etic) เป็นการศึกษาที่พึ่งพาอย่างมากกับการทำงานภาคสนาม(Fieldwork) เป็นกระบวนการที่มีความยืดหยุ่นสูง(Highly Flexible)และสร้างสรรค์(Creative) เป็นกระบวนการของการตีความ(Interpretive) การสะท้อนย้อนคิด(Reflexive)และการประกอบสร้าง(Constructivist) เป็นสิ่งที่ต้องการการบันทึกประจำวัน (Diary) และการปฎิบัติการที่ต่อเนื่องผ่านการบันทึกสนาม(Fieldnotes) และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นโลกของประชากรที่อาศัยอยู่ร่วมกันในบริบทของการบรรยายหรือพรรณนากรณีศึกษาที่ลุ่มลึก(Human contexts of thickly described case studies) รวมทั้งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เปิดกว้างไม่ใช่การสืบค้นที่เคร่งครัดตายตัวแบบการทดลองที่มีการควบคุม 

             ในขณะเดียวกันชาติพันธ์วรรณนาเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามหรือวิพากษ์ฐานคิดปรัชญาแบบประจักษ์นิยมที่พัฒนาจากวิทยาศาสตร์ ที่ถูกนำมาใช้ในการวิจัยในเชิงปริมาณและการใช้สถิติในทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์และความคิดแบบธรรมชาตินิยมที่มองว่าโลกทางสังคมควรที่จะถูกศึกษาในสถานะเชิงธรรมชาติที่ไม่ถูกรบกวน ดังนั้นธรรมชาติดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมา ที่มองว่าความจริงต้องเป็นสัจจะ เป็นกฏเกณฑ์สากลที่เป็นหนึ่งเดียว ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่วิธีการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนา เป็นสิ่งที่เน้นอยู่บนวิธีคิดแบบประกอบสร้าง(Constructivism)และสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรม (Cultural relativism)ที่เชื่อมโยงกับความเข้าใจในมุมมองและพฤติกรรมของคนที่ศึกษา ที่ทำให้นักชาติพันธุ์วรรณนาให้โครงร่างเกี่ยวกับผู้คนที่ถูกประกอบสร้างโลกทางสังคม(Constructing the social world)ที่นำไปสู่การตีความของพวกเขาและการกระทำบนพื้นฐานของการตีความเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น (Atkinson and Hammersley,1995:11)

           ก่อนการเกิดรูปแบบของการทำงานทางชาติพันธุ์วรรณนาแบบสมัยใหม่ งานชาติพันธุ์วรรณนาได้ถูกพัฒนาโดยวิชาการทางด้านมานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรมในช่วงปลายศตวรรษที่19ถึงต้นศตวรรษที่20  ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลพื้นฐานของ กลุ่มชนพื้นเมือง ดังเช่น งานศึกษาของ Bronislaw Malinowski (1992) ที่เริ่มต้นทำงานภาคสนามในหมู่เกาะโทรเบียนด์ ที่ได้ให้ภาพชีวิตทางสังคมของชนพื้นเมืองชาวเกาะนี้ในทุกแง่มุม นักมานุษยวิทยาในช่วงนั้นที่มีอิทธิพลและใช้วิธีการภาคสนามในการศึกษาและรวบรวมข้อมูลคือ Franz Boas ,Malinowski และ Radcliffe Brown และงานทางชาติพันธุ์วรรณนาเป็นความคิดสำคัญของพวกเขา ที่มีกระบวนการรวบรวมข้อมูลภาคสนามเบื้องต้น (Firsthand data) โดยนักมานุษยวิทยาเหล่านี้และบรรยายพรรณนาออกมาเกี่ยวกับลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมของสังคมชุมชนดั้งเดิมที่ดำรงอยู่ ปรากฏการณ์ของงานชาติพันธุ์วรรณนาก่อนช่วงศตวรรษที่20 ถูกเชื่อมโยงกับความสนใจของชาวตะวันตกที่มีต่อคนที่ไม่ใช่ตะวันตก (non-western) การศึกษาวัฒนธรรมของสังคมอื่น(other)ที่แตกต่างจากวัฒนธรรมของตัวเอง (Atkinson and Hammersley,1995:9) ซึ่งต่อมาก็มีการประยุกต์ใช้วิธีการทางชาติพันธุ์วรรณนาโดยนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยากับการสืบค้นและศึกษาสังคมของพวกเขาเอง เช่นงานศึกษาของกลุ่ม Chicago School of Sociology ที่นำมาใช้ศึกษาชีวิตอันหลากหลายของสังคมเมือง ชุมชนแออัดหรือสลัม(Ghettos) ไม่ใช่สังคมชนบทหรือชนพื้นเมืองอย่างที่เคยเป็นมา การศึกษาวัฒนธรรมของอาชีพ องค์กร และกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ซึ่งนับว่าเป็นลักษณะสำคัญของงานชาติพันธุ์วรรณนาในช่วงศตวรรษที่ 20(Atkinson and Hammersley,1995:9)

       ในช่วงศตวรรษที่ 19 ประเด็นวิวาทะและความขัดแย้ง  ระหว่างการพยายามประยุกต์แนวคิดแบบประสบการณ์นิยมหรือประจักษ์นิยม (Empiricist conception) ของวิทยาศาสตร์แบบบริสุทธิ์(Natural Sciences) กับการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ ในขณะที่อิทธิพลที่เกิดขึ้นจากสำนักศาสตร์แห่งการตีความ (Hermeneutic) ในการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ที่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์แบบฟิสิกส์ในการทำความเข้าใจการกระทำของมนุษย์และสถาบันทางสังคมที่พวกเขาสามารถจัดวางประสบการณ์และความรู้ทางวัฒนธรรมขอพวกเขาเอง ซึ่งเป็นการก้าวข้ามความพยายามค้นหากฏเกณฑ์ที่เป็นสากล (Universal Laws)ในแนวทางของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติไปสู่การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เฉพาะ (Particular phenomena) ในบริบทของประวัติศาสตร์ทางสังคม (Socio-historical context) ในวิชาการทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ที่สะท้อนให้เห็นกรปะทะกันของกระบวนทัศน์แบบประจักษ์นิยม (Positivist Paradigm) กับกระบวนทัศน์แบบการตีความหมาย (Interpretive/Hermeneutic Paradigm) ในงานศึกษาทางชาติพันธุ์วรรณนา (Atkinson and Hammersley,1995:250)

        ดังนั้นชาติพันธุ์วรรณนาคือการศึกษาเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พฤติกรรมและการรับรู้ที่เกิดขึ้นภายในกลุ่ม,ทีม ,องค์กรและชุมชน ที่นำไปสู่การพรรณนา (Descriptions) เกี่ยวกับผู้คน วัตถุหรือเหตุการณ์ในช่วงเวลาและสถานที่เฉพาะ  โดยภาระหน้าที่ของนักชาติพันธุ์วรรณนาคือการนำไปสู่เอกสารทางวัฒนธรรม (to document the culture) ในมุมมองและการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คนในพื้นที่ต่างๆ  เป้าหมายสำคัญคือการเข้าไปข้างใน (get inside) สู่วิถีทางที่ผู้คนแต่ละคน แต่ละกลุ่มมองเห็น รับรู้และเข้าใจต่อโลกที่พวกเขาดำรงอยู่ (Hammersley,1992) ชาติพันธุ์วรรณนาจึงเป็นทั้งกระบวนการ (Process) และผลลัพธ์ (outcome) ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในแง่ของระเบียบวิธี (Methodology) ที่นำไปสู่การเขียนอธิบายในงานด้านชาติพันธุ์วรรณนา ซึ่งถือว่าเป็นรากเหง้าสำคัญของมานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรมที่เน้นย้ำยู่บนการศึกษาชุมชนขนาดเล็กที่มีความเชื่อและการปฏิบัติทางวัฒนธรรมร่วมกัน

        Filed and Morse (1985) อธิบายว่าชาติพันธุ์วรรณนาคือวิธีการที่เฉพาะที่เป็นการพัฒนาแนวความคิดที่นำไปสู่การทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์จากมุมมองหรือจุดยืนของคนใน(emic point of View)ต่อมาในช่วงทศวรรษ1970-1980 กระแสของการสะท้อนกลับ(Reflexive Turn) ได้กลับมาหาวิชาการทางด้านมานุษยวิทยาอีกครั้งหนึ่งพร้อมๆกับกระแสของแนวคิดแบบโพสโมเดิร์นที่มีอิทธิพลต่อการศึกษา การเขียนงานชาติพันธุ์วรรณนาและการทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยา โดยเฉพาะการตีพิมพ์หนังสือสำคัญสองเล่มคือ The Writing Culture :the politics and politics of ethnography ของ Clifford and Marcus (1986) และ Anthropology as cultural critiques ของ Macus and Fisher (1986) พร้อมกับการสนับสนุนของนักคิดสายสตรีนิยม(Feminism)และลัทธิต่อต้านอาณานิคม (anti-colonialism) ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจของงานชาติพันธุ์วรรณนาที่วางอยู่บนเชื้อชาติ และเพศสภาพของผู้ศึกษาและผู้เขียนงานทางชาติพันธุ์วรรณนา

              การสะท้อนย้อนคิด (Reflexivity) คือความสัมพันธ์ของผู้วิจัยที่ร่วมแบ่งปันกับโลกของพวกเขาและพวกเธอ(ผู้ถูกศึกษา)ที่นักวิจัยเข้าไปสืบค้น เรียนรู้หรือสัมผัสกับพวกเขา/พวกเธอเหล่านั้น (Scott Reeves,2008:53) การสะท้อนย้อนคิดคือส่วนประกอบที่สำคัญในการทำงานเชิงชาติพันธุ์วรรณนาทีเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของนักชาติพันธ์วรรณนา(Ethnographer)กับผู้ให้ข้อมูล(Participants)ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางจริยธรรมและความลื่นไหลของความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่เกิดขึ้นนี้   รวมทั้งการสะท้อนย้อนคิดก็คือการแสดงรูปแบบของการอธิบายพรรณนาของนักมานุษยวิทยาที่เป็นความคิดและประสบการณ์ที่สามารถเป็นสิ่งที่ถูกใช้โดยผู้อ่าน(Reader)ในการตัดสินผลกระทบที่เป็นไปได้และอิทธิพลของสิ่งต่างๆที่มีผลต่อการศึกษา

          Freshwater and Rolfe (2001) ได้อธิบายถึงอิทธิพลของสำนักหลังทันสมัย (Postmodernism)ที่เกี่ยวข้องกับการสะท้อนย้อนคิด (Reflexivity) เกี่ยวกับการวิพากษ์ข้อผิดพลาดของกระบวนการวิจัยแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่เป็นเสมือนหน้าต่างที่ไม่ถูกบานที่จะเปิดไปสู่ความจริงภายนอก (External Reality) มันเป็นเพียงความจริงด้านเดียวเท่านั้นที่ถูกอ้างถึงท่ามกลางความหลาหลาย นี่คือสิ่งที่สะท้อนว่าหน้าที่ของนักวิจัยไม่ใช่การแสดงการวิเคราะห์ในเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับโลกแต่เป็นการเปิดโอกาสสำหรับผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยหรือผู้ที่ถูกศึกษาวิจัยที่จะบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาเอง ด้วยตัวพวกเขาเอง รวมถึงการสะท้อนความสัมพันธ์ของตัวผู้วิจัยกับตัวบท(Text) หรือผู้ที่ถูกศึกษา ที่สงผลต่อกระบวนการวิจัยและผลลัพธ์ที่ได้อันสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกิดขึ้น รวมถึงอำนาจในงานเขียนทางชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography Authority)ปรากฏการณ์ที่เกิดของงานชาติพันธุ์วรรณนาสมัยใหม่ ทั้งชาติพันธุ์วรรณนาแบบสะท้อนกลับ (Reflexive Ethnography), ชาติพันธุ์วรรณนาโดยตัวเอง(Autoethnography),การบรรยายพรรณนาส่วนตัว (Personal Narrative) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ประสบการณ์ของผู้เขียนงานชาติพันธุ์วรรณนาในปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ศึกษาและสนามของการศึกษากลายเป็นเนื้อหาสำคัญที่ได้รับความสนใจมากขึ้น

        ดังนั้นการผลิตงานวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาประกอบด้วยความซับซ้อนและหลากหลาย ที่ผสมผสานทั้งบทสนทนา คำพูด อารมณ์และความรู้สึก  ปฎิกริยาตอบโต้และความต้องการของบุคคล กระบวนการที่ซับซ้อนเหล่านี้สะท้อนการจัดการความคิดของนักชาติพันธุ์วรรณนา การเรียบเรียบและจัดวางสิ่งเหล่านี้ลงบนกระดาษ  ผ่านการกลับมาสะท้อนย้อนคิดของนักชาติพันธุ์วรรณนาในบริบทของเหตุการณ์ สถานการณ์ อุปสรรคและข้อจำกัดที่นำมาสู่ข้อสรุปในการเขียนอธิบายทางชาติพันธุ์วรรณนาในขั้นตอนสุดท้ายซึ่งในกระบวนการของการศึกษาภาคสนามนอกจากการศึกษาผ่านข้อเท็จจริงผ่านการบอกเล่า การให้ข้อมูลของผู้ถูกศึกษา แต่ผู้ศึกษาต้องพิจารณาเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับอย่างรอบด้าน ผ่านการสะท้อนกลับเกี่ยวกับปรากฏการณ์ เหตุการณ์และเงื่อนไขต่างๆที่เกิดขึ้นในสนามที่มีผลต่อข้อมูลที่ได้รับ ทั้งประเด็นในแง่เพศสภาพ ชาติพันธุ์ ชนชั้นหรือภาษาที่มีผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ศึกษาและผู้ถูกศึกษาและจัดวางความสัมพันธ์และบทบาทอย่างเท่าเทียม..

แมรี่ดักลาส กับแนวคิดเรื่องความสกปรก ความสะอาดกับมุมมองทางมานุษยวิทยา Mary Douglas โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล



ผมไม่เคยเหนื่อยกับงานแต่เหนื่อยกับระบบที่ควบคุมการทำงานมากกว่า.. ผมไม่ได้สมบูรณ์แบบ ไม่ได้เก่งอะไร แค่คนที่มีความกระหายใคร่อยากรู้ตลอดเวลาเท่านั้นเอง คิดอย่างเดียวว่าถ้าอยากรู้ก็ต้องอ่าน …และเอาสิ่งที่อ่านมาเผยแพร่ให้คนที่สนใจ ผมรู้ว่ามีนักศึกษาติดตามเฟสและบล๊อกของผม ผมจึงใช้พื้นที่นี้ สร้างไอเดียและมุมมองในการมองปรากฏการณ์ทางสังคม ผมมองว่ามันคือการสอนแบบหนึ่ง ..

  ผมขอเริ่มจากคำกล่าวของแมรี่ ดักลาสที่ว่า  “The human body is alway treated as an image of society”. หรือร่างกายมนุษย์ได้รับการปฏิบัติในฐานะภาพลักษณ์ของสังคมเสมอมา....และผมก็รู้ว่ามีนักศึกษาที่ตามโพสต์ ตามบล็อกผม ผมก็อยากถ่ายทอดสิ่งที่อ่าน เพื่อเผยแพร่ความรู้…และให้ไอเดียทางมานุษยวิทยา ผมมองว่ามันก็คือ การสอนแบบหนึ่ง

      ร่างกายมนุษย์สัมพันธ์กับเรื่องของความสะอาดและความสกปรกที่เชื่อมโยงกับภาวะชายขอบ ความเป็นอันตรายและความเจ็บป่วย ในฐานะของสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความคิดและการปฏิบัติที่มีต่อเรื่องดังกล่าว ดังที่แมรี่ ดักลาสบอกว่า  “ที่ใดมีสิ่งสกปรก (Dirt) ที่นั่นย่อมมีระบบ(System) สิ่งสกปรกถือเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการจัดลำดับและการจำแนกแยกประเภทของสสารหรือสิ่งต่างๆอย่างเป็นระบบ ไปจนถึงการสร้างกฏเกณฑ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิเสธองค์ประกอบบางอย่างที่ไม่เหมาะสม”....

     เมื่อร่างกายคือสิ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของสังคมวัฒนธรรม เป็นอุดมคติของสังคม ดังนั้นการจะเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรม เราต้องเปลี่ยนแปลงระบบวิธีคิด ในการจัดการสิ่งต่างๆ ดังที่แมรี่ ดักลาสได้กล่าวว่า “If you want to change the culture, you will have to start by changing the organization” หรือ ถ้าคุณต้องการจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม คุณจะต้องเริ่มต้นโดยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดระเบียบทางสังคมวัฒนธรรมเสียก่อน

       ในหนังสือของ แมรี่ ดักลาว เรื่อง  Purity and Danger: An Analysis of the Concepts of Pollution and Taboo (1966) หากพิจารณาจากสังคมในอดีต สังคมดั้งเดิม (Primitive Societies) จัดเป็นสังคมที่ไม่ได้มีการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างความบริสุทธิ์ (Purity) และความเป็นมลทิน( Pollute)อย่างชัดเจน แต่สำหรับสังคมตะวันตกมีความแตกต่างอย่างชัดเจนมากกว่า ระหว่างสิ่งที่สกปรกและสิ่งที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นกฎศักดิ์สิทธิ์ (Sacred rules) จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ปกป้องความเป็นพระเจ้า ความบริสุทธิ์ของพระเจ้าและสกัดความไม่สะอาดที่เป็นอันตรายในการติดต่อสื่อสารกับพระเจ้าหรือตัวแทนของพระเจ้าแบบสองทาง...

   ในสังคมดั้งเดิม แนวความคิดเรื่องข้อห้าม ความสะอาด ความสกปรกและความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่ถูกบรรจุเข้าไปในตัวตนของผู้คน  ภายใต้แนวคิดที่มีการแบ่งแยกเกี่ยวกับวัตถุ บุคคลหรือสถานที่ มีความเกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ หรือภาวะของความไม่สะอาดที่ถูกส่งออกหรือถ่ายทอดจากผู้คนที่ไม่บริสุทธิ์หรือมีมลทินที่ร่างกายจะต้องมีการสัมผัสกับผู้คนหรือวัตถุนั้นทำให้ผู้คนหรือวัตถุนั้นแปดเปื้อนหรือสกปรก ในขณะเดียวกับหากตัววัตถุนั้นมีคุณลักษณะที่สกปรก มีการสัมผัสกับร่างกายทางกายภาพที่สะอาดกับวัตถุที่สกปรกนั้น ก็จะที่ถือว่าร่างกายนั้นไม่สะอาด รวมทั้งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของความไม่สะอาดจากวัตถุหรือการกระทำนั้นไปยังร่างกายของคนนั้นหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บางอย่างได้ ตัวอย่างเช่น ในศาสนาคริสต์นั้น ความไม่สะอาดดังกล่าวจะไม่แทรกซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งผ่านเข้าไปสู่วิญญาณข้างในของมนุษย์ด้วย  แมรี่ ดักลาสเน้นย้ำว่าเพื่อที่เราจะเข้าใจสังคมอื่น ๆ ในเรื่องของสิ่งต้องห้ามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเต็มที่นั้น เราต้องหันมาพินิจพิเคราะห์หรือทำความเข้าใจสิ่งที่ตัวเราเองทำก่อนหรือปฏิบัติอยู่ก่อนเริ่มต้นด้วย...เราจะมองเห็นระบบที่มันจัดการควบคุมตัวเราอยู่

    แมรี่ ดักลาส ได้ทำการรื้อถอนความเข้าใจผิดที่มีทัศนะแบบเน้นยุโรปเป็นศูนย์กลางที่เป็นสากลว่า   พิธีกรรมต่างๆโดยเฉพาะพิธีกรรมเพื่อความสะอาดถูกกำหนดขึ้นโดยมีความคิดเรื่องสุขอนามัย สุขวิทยาหรือสุขลักษณะเป็นเป้าหมาย การหลีกเลี่ยงเนื้อหมูในศาสนาอิสลามมักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ถูกสุขลักษณะและเป็นสิ่งที่พึงกระทำ หรือการใช้น้ำหอม หรือกลิ่นของธูปเทียน กำยานหรือเครื่องจุดในพิธีกรรมบางอย่าง เป็นไปเพื่อการปกปิดกลิ่นตัวธรรมชาติ แทนที่จะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของควันแห่งการบูชายัญหรือการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่า 

     ดักลาสยังยอมรับว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมากระหว่างพิธีกรรมในยุโรปกับพิธีกรรมดั้งเดิมโดยหลักการละเว้นหรือการห้ามปฏิบัติ ในขณะเดียวกันก็มีรากฐานที่แตกต่างกันด้วย หากแยกพิธีกรรมในยุโรปตามความคิดเรื่องสุขอนามัย (hygiene) และพิธีกรรมดั้งเดิมตามระบบความเชื่อทางสัญลักษณ์ (symbolism) นั้น  พิธีกรรมความสะอาดของยุโรป (European rituals)พยายามที่จะฆ่าเชื้อโรค ในขณะที่พิธีกรรมความสะอาดแบบดั้งเดิม (primitive rituals) พยายามขับไล่วิญญาณชั่วร้าย อย่างไรก็ตามดักลาสระบุว่าคงไม่เพียงพอที่เราจะจำกัดความแตกต่างระหว่างพิธีกรรมแบบยุโรปและพิธีกรรมดั้งเดิมให้เป็นเพียงประโยชน์ด้านสุขอนามัยเท่านั้น...

    เธออ้างว่าแนวคิดสมัยใหม่เกี่ยวกับสิ่งสกปรกนั้นมีความหมายเหมือนกันกับการสร้างความรู้ในเรื่องเชื้อโรคและแบคทีเรีย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะนึกถึงสิ่งสกปรกในบริบทอื่นๆยกเว้นในบริบทของการเกิดโรค แต่หากเราขจัดความคิดของแบคทีเรียและสุขอนามัยออกจากแนวคิดเรื่องสิ่งสกปรกสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือสัญลักษณ์ของสิ่งสกปรก ที่เป็นผลผลิตของระบบกฎเกณฑ์  (The product of a systematic order) และการจำแนกแยกประเภทของวัตถุสสาร (classification of matter)ในสังคม ..หากเราสามารถมองให้มากกว่าเรื่องเชื้อโรคและสุขอนามัยในความคิดและคำอธิบายเกี่ยวกับความสกปรก เราก็จะก้าวข้ามคำจำกัดความของสิ่งที่เรียกว่า “ความสกปรก” และเห็นมันในมิติที่หลากหลายซับซ้อน..

          ดักลาสเริ่มสร้างความคิดที่ว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะจัดโครงสร้างวัตถุและสถานการณ์รอบตัวให้เป็นแบบแผนระบบที่มีการจัดระเบียบอย่างดี คนที่มีอายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีความมั่นใจและประสบการณ์มากขึ้นในโครงสร้างของพวกเขา ตามหลักการนี้แล้วยิ่งประสบการณ์มีมากขึ้น ภาวะของความสอดคล้องกันภายในโครงสร้างก็จะยิ่งมีมากขึ้น เพราะพวกเขามีความมั่นใจมากขึ้นในประสบการณ์ที่มีมากขึ้นนั้น ส่งผลให้เมื่อแต่ละคนพบข้อเท็จจริงหรือแนวโน้มที่ขัดขวางต่อโครงสร้างที่พวกเขายอมรับ พวกเขาส่วนใหญ่จะเพิกเฉยต่อสิ่งนั้น สิ่งที่ถือว่าไม่บริสุทธิ์คือวัตถุหรือปรากฏการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างทางสังคมหรือสัญลักษณ์ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ภายใต้ภาวะของความเสี่ยง ความเป็นชายขอบ ความคลุมเครือ และอันตราย ดักลาสจึงเชื่อมโยงสิ่งสกปรกในฐานะของการเป็นรูปแบบหนึ่งที่สร้างการขัดจังหวะ ยับยั้งหรือทำลายระบบกฏเกณฑ์ ดังนั้นจึงต้องกีดกันสิ่งเหล่านั้น เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของระบบเอาไว้ ภายใต้การสร้างข้อห้ามหรือวิถีของการปฎิบัติที่เป็นระบบระเบียบขึ้นมาควบคุม...

  ดังนั้นในแง่หนึ่ง สิ่งที่เรียกว่าข้อห้าม สะท้อนให้เห็นความพยามที่จะสร้างคำนิยามหรือการให้คำจำกัดความต่อสิ่งที่เรียกว่าข้อห้ามหรือ Taboo ที่สามารถกล่าวจากการอ่านงานต่างๆได้ว่า Taboo ไม่ใช่แค่สิ่งที่ไม่สามารถนิยามได้อย่างชัดเจนหรือสิ่งที่ไม่สามารถทำได้เท่านั้น แต่มันยังรวมถึงสิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถคิดเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างได้ด้วย ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อห้ามและความรู้สึกกลัวที่จะกระทำหรือละเมิดเกี่ยวกับมัน..

   คำว่า Taboo เป็นสิ่งที่ถูกหยิบยืมมาจากภาษาของเผ่า Tonga  ในกลุ่มของพันธมิตรของชนชาติพันธ์ุในหมู่เกาะแถบโพลีนีเซียน และเป็นสิ่งที่ถูกอ้างถึงในวาทกรรมหรืองานเขียนของชาวยุโรปที่ต้องขอบคุณกัปตันคุ้ก (Cook) ที่ถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ที่เขาพบจากชนพื้นเมืองออกมา..ทุกสิ่งเกี่ยวกับTaboo มักถูกบรรจุไปด้วยเรื่องเล่าของอำนาจของเวทมนต์ (Magical Power)  ในศตวรรษที่ 18  คำว่า Taboo เป็นสิ่งที่บ่งชี้เกี่ยวกับ Cult Ban หรือลัทธิพิธีเกี่ยวกับข้อห้ามหรือข้องดเว้น ที่เกี่ยวข้องกับการไม่สามารถสัมผัส การไม่สามารถทำ  ไม่สามารถกิน ไม่สามารถอยู่ รวมถึงเพศวิถีที่ไม่สามารถยอมรับได้ ที่เชื่อมโยงกับศักดิ์สิทธิ์ ความชั่วร้ายและคำสาปแช่ง โดยคำศัพท์และคำอธิบายเกี่ยวกับ Taboo ได้ถูกปะทะและเผชิญหน้า กับนักเดินทาง นักสำรวจที่หลากหลายที่เข้ามาในเกาะต่างๆของโอเชียเนียและกลายเป็นข้อค้นพบเริ่มแรกที่สุดของนักสำรวจชาวยุโรป ที่กลายเป็นสิ่งที่ตื่นเต้นน่าแปลกใจ แปลกประหลาดสำหรับคนต่างถิ่นโดยเฉพาะนักมานุษยวิทยา 

    Tabu / Taboo คือการรับรู้ ความเข้าใจและการควบคุมเกี่ยวกับพฤติกรรม การกำหนดเกี่ยวกับรูปแบบของการประพฤติปฎิบัติ และในท้ายที่สุดมันจะกลายเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของกลุ่มสังคม กัปตันคุ้ก ประสบความสำเร็จกับการบ่มเพาะเมล็ดพันธ์ของชนพื้นเมืองบนดินแดนของชาวยุโรปแต่ในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างออกไป นี่คือสิ่งที่ถูกซึมซับย่างรวดเร็วไปยังสังคมที่เจ้าระเบียบ (Puritan society) ในยุควิกตอเรียน ของอังกฤษ สิ่งที่น่าสนใจคือ Taboo ถูกเชื่อมโยงกับความคิดแบบ Protestantism, Colonialism, Bourgeoisie ที่ผลิตชุดคำของข้อห้ามที่แตกต่างหลากหลายจากความหมายดั้งเดิมของคนพื้นเมือง

  ซิกมันด์ ฟรอยด์ เชื่อว่า คำศัพท์เกี่ยวกับ Taboo มี 2 ความหมายที่ตรงกันข้ามกันคือ อย่างแรก มันถูกนิยามเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ (Sacred) ที่จะต้องเสียสละอุทิศตนเพื่อเข้าถึงความศักดิ์สิทธิ์ มันคือสิ่งที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ เป็นทั้งอันตรายและเป็นข้อห้ามกับความไม่บริสุทธิ์ (เน้นพื้นที่ทางศาสนาและพิธีกรรม) อย่างที่สอง  Taboo มีลักษณะเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่เป็นสากล (พบได้ในที่ต่างๆทั่วโลก) ที่แสดงตัวมันเองเกี่ยวกับข้อห้าม ข้อปฏิบัติและความเคร่งครัดที่ไม่ถูกลดทอนกับเรื่องของเทพเจ้า ความศักดิ์สิทธิ์ และข้อห้ามทางศีลธรรม แต่มันคือข้อห้ามในชีวิตประจำวันทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องศาสนา

    ประเด็นเหล่านี้สามารถนำมาใช้อธิบายกับสถานการณ์หลายอย่างในสังคม เช่นการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและความเจ็บป่วยของผู้คนในยุคปัจจุบัน ทั้งการสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง การใช้เจลแออลกอฮอล์ การล้างมือ ล้างผัก การปรับเปลี่ยนหรือควบคุมพฤติกรรมจากการบริโภค ผลผลิตที่สะอาด ไม่สะอาด มีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ ที่สร้างให้เกิดTaboo แบบใหม่ๆและการปฎิบัติของผู้คนในยุคNew Normal หรือภาวะความบริสุทธิ์กับการไหว้พระธาตุหรือเจดีย์ รวมถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา …เป็นต้น


อ้างอิงจาก  Mary Douglas In Purity and Danger: An Analysis of the Concepts of Pollution and Taboo (1966)

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...