วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ตำนานผาแดงนางไอ่(3)


ฝ่ายบริวารของพังคีก็นำความไปบอกแก่สุทโธนาค สร้างความโกรธแค้นให้สุทโธนาค และยกทัพจากเมืองบาดาลตั้งไพร่พลอยู่ที่ห้วยหมากแข้งปัจจุบันคือห้วยหมากแข้ง และแปลงมาเป็นขอนไม้อยู่บริเวณหนองขอนกว้างปัจจุบันคือบ้านหนองของกว้าง  บ้างก็แปลงเป็นหินกลิ้งลงมา ปัจจุบันคือบ้านคำกลิ้ง จุดนี้เองที่เป็นที่มาของการเกิดแม่น้ำสายต่างๆ รวมถึงหนองหานกุมภวาปี จากการโจมตีของไพร่พลนาค ต่อมนุษย์ โดยบ้านแรกที่ถล่มล่มจมคือบ้านเมืองหล่มในปัจจุบัน เมื่อบ้านเมืองเกิดความสั่นสะเทือนจากนาคที่ดั้นพื้นดิน บรรดาข้าวของถ้วยชามในบ้านเรือนก็หล่นลงมาแตก กลายเป็นห้วยไพจานและบ้านไพจาน  พญานาคโกรธก็พ่นไฟออกมา กลายเป็นห้วยโพนไฟ  ข้างฝ่ายผาแดง เมื่อได้ยินข่าวก็ควบม้าชื่อบักสามมาหานางไอ่เพื่อพานางหลบหนี นางไอ่รีบหยิบฉวยสิ่งของติดตัวมาด้วยสามอย่าง คือฆ้อง แหวน และกลอง  แต่ระหว่างทางเนื่องจากของมีมากเกินไปทำให้การหนีเป็นไปด้วยความยากลำบาก  ผาแดงจึงบอกให้นางไอ่ทิ้งฆ้องลงไป เกิดเป็นห้วยน้ำฆ้องในเขตตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปีปัจจุบัน และต่อมาก็ทิ้งกลองลง ปัจจุบันคือห้วยกองสี ในในเขตเดียวกับห้วยน้ำฆ้อง ระหว่างที่หนีม้าบักสามก็พาดตกลงไปทำให้อวัยวะของมันขูดดินเกิดเป็นห้วย ในปัจจุบันคือห้วยสามพาด ที่เป็นชื่อหมู่บ้านและตำบลในกิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานีด้วย จนเมื่อมาถึงบริเวณที่พังคีเข้ามาชิงเอานางไอ่ลงไปใต้พื้นดิน ก็คือบริเวณห้วยลักนาง ในเขตอำเภอกุมภวาปี ในปัจจุบัน ทำให้ท้าวผาแดงเสียใจอย่างยิ่งและขี่ม้ากลับไปที่เมืองผาโพง แต่พญานาคพังคีก็มาแย่งชิงแหวนของนางไอ่จ่ากผาแดงไป เกิดเป็นหนองแหวน ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเพ็ญ บ้านเมืองต่างๆก็ล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ และมีดอนที่ไม่ถูกนำท่วมเหลือเพียงดอนเดียว ที่เรียกว่า ดอนแม่ม่ายหรือดอนแก้วในปัจจุบัน  เพราะแม่หม้ายไม่ได้กินเนื้อกระรอก ปัจจุบันก็คือหมู่บ้านดอนแก้ว ที่ตั้งวัดพระธาตุดอนแก้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งของเมืองหนองหาน
ดังนั้นเรื่องเล่าดังกล่าวจึงสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของชุมชน การตั้งบ้านเมือง การเกิดเป็นหนองน้ำ ลำห้วยต่างๆ ที่ชาวบ้านบริเวณลุ่มน้ำหนองหานอธิบายถึงความเป็นมาของชุมชน และข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับหนองหาน ในฐานะแหล่งน้ำที่มีความสำคัญในตำนาน และการดำรงชีวิต ผ่านการเพาะปลูก การทำการประมง เก็บบัวและเลี้ยงสัตว์ บริเวณหนองหาน รวมถึงความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ที่สัมพันธ์กับลุ่มน้ำหนองหาน เช่นการไม่ร้องเพลงตำนานผาแดงนางไอ่ในหนองหาน เวลาลงเรือหาปลา การไม่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลลงหนองหาน การจัดประเพณีแข่งเรือ การทำบุญให้คนตายในหนองหาน หรือการใช้น้ำจากหนองหานพิธีกรรมสำคัญ เช่นสรงน้ำพระ ผู้อาวุโส ในบุญผะเวส การจุดบั้งไฟ บริเวณลานกว้างใกล้หนองหานหรือขบวนแห่บั้งไฟที่จะต้องมีหนุ่มสาว ชายหญิงคู่หนึ่งเพื่อแทนผาแดงนางไอ่ และการทำกระรอกเผือกเป็นสัญลักษณ์ของพังคี เป็นต้น ตำนานผาแดงนางไอ่จึงมีความสัมพันธ์กับชุมชนต่างๆรอบหนองหาน ผ่านสัญลักษณ์สิ่งศักดิ์ของพื้นที่ เช่น มหาธาตุเจดีย์ พระธาตุบ้านเดียม หลวงปู่ก่ำ พระธาตุดอนแก้ว ที่มีพิธีกรรมที่เกี่ยวพันกับน้ำเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในการทำการเกษตรและหนองหาน โดยเฉพาะการจัดบุญบั้งไฟ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...