วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

เริ่มจากห้องแถว(5)


ป่าช้าประจำหมู่บ้าน
ลักษณะเด่นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของบ้านหนองมะเกลือก็คือ พื้นที่นาซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล บางครอบครัวมีที่นา40-50 ไร่จนกระทั่งถึง100 ไร่ แต่เมื่อพ่อแม่ตายก็กระจายมรดกเหล่านี้ให้กับลูกๆ ซึ่งแต่ละครอบครัวมีลูกถึง 10 คนก็มีมาก เพราะต้องใช้เป็นแรงงานในภาคการเกษตร อย่างเช่นครอบครัวของแม่ผมก็มีถึง8 คน แต่ก็มีตายไปตั้งแต่เด็กถึง 2 คน ดังนั้นจะว่าไปจริงๆแล้วย่าผมมีลูกถึง 10 คน แม่ของผมเป็นคนรอง  จนกระทั่งยุคที่รัฐบาลรณรงค์เรื่องการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิด พร้อมทั้งออกคำขวัญเตือนใจเรื่องการมีลูกมากจะยากจน ทำให้จำนวนประชากรลดลง แรงงานในภาคการเกษตรที่เคยใช้ระบบเครือญาติหรือสมาชิกในครอบครัวต้องใช้การจ้างแรงงานจากหมู่บ้านอื่นเข้ามา
ผมกับพ่อเคยเข้าไปหาเห็ดกันอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งช่วงนั้นเห็ดละโงก เห็ดน้ำหมาก เห็ดถ่านออกกันมาก ท่านและผมจึงพากันเดินเข้าไปในโคกหรือปาของหมู่บ้าน เราเดินไปไกลเป็นระยะเวลานานมากก็ยังไม่ถึงป่าเห็ดและเดินวนเวียนในป่าแห่งนี้
ผมสังเกตเห็นคราบสีดำบริเวณพื้น เศษข้าวของเครื่องใช้ เงินและมีดที่ถูกเผา ผมจะเข้าไปเก็บแต่พ่อก็ห้ามไว้ ท่านไม่พูดอะไร จนกระทั่งออกจากป่าท่านจึงบอกว่าป่าที่เราเข้าไปคือป่าช้า ที่ท่านไม่พูดอะไรเพราะท่านเกรงว่าผมจะกลัวและขวัญกระเจิงวิ่งป่าราบไป พื้นที่บริเวณนี้ชาวบ้านเรียกว่าป่าช้า เชิงตะกอนของหมู่บ้านที่เขาจะเอาศพมาเผาหรือผังบริเวณนี้ โดยจะมีการเผาร่างคนตาย พร้อมกับเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เครื่องมือในการเกษตร เพราะพวกเขามีความเชื่อในเรื่องโลกอีกโลกหนึ่งที่เป็นที่รวมของวิญญาณคนตาย วิญญาณบรรพบุรุษที่คล้ายกับโลกของเราซ้อนทับโลกเราอยู่ กินอาหารใช้สิ่งของเหมือนพวกเรา พวกเขาจึงเผาเพื่อส่งสิ่งของเหล่านี้ให้กับผู้ตายและทำบุญข้าวสาร อาหารแห้ง ไปให้กับคนตายเพื่อใช้ในโลกหน้า
บริเวณหัวไร่ปลายนามักจะพบสถูปเจดีย์ใส่อัฐิอยู่บริเวณเนินดินตรงคันนาหรือใกล้เถียงนา(ขนำกลางทุ่ง)นี่คือวิญญาณของปู่ย่าตายายที่มีความรักหวงแหนแผ่นดิน ผมรู้สึกกลัวผี แต่คนที่นี่เขาอยู่กับผีที่เขาเรียกว่าวิญญาณของบรรพบุรุษ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เชื่อมโยงกับวิถีการผลิต ช่วยปกปักรักษาไร่นา ดูแลบผลผลิตให้มีความอุดมสมบูรณ์และตอกย้ำความเป็นมูลมังของบรรพบุรุษ แม้ว่าปัจจุบันการรุกคืบขอบงอุตสาหกรรม ความเจริญต่างๆ มีการสร้างหมู่บ้าน สร้างสำนักงานต่างๆ ทับที่ของบรรพบุรุษ พร้อมกับการประกาศขายพื้นที่ดังกล่าว มูลมังของบรรพบุรุษกลายเป็นทรัพย์สินมากกว่าคุณค่าทางด้านจิตใจ หรือนี่คือสิ่งที่เรียกว่า ทุนนิยมยุคโลกาภิวัฒน์ที่ความทันสมัยและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ลดทอนมิติทางด้านจิตวิญญาณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...