วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564

มองปรัชญาของLevinas ใบหน้าการใส่หน้ากากในช่วงโควิด โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล




 ความเจริญงอกงามของชุมชน ต้องการปัจเจกบุคคลที่เคารพกับสิทธิเสรีภาพของคนอื่นแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้พวกเขาเข้าใจและกระทำสิ่งต่างๆบนพื้นฐานของความรับผิดชอบและความรับผิดชอบต่อจึงเป็นเช่นเดียวกับความซื่อตรงการจัดการยุติธรรมและคุณค่าของการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

สิ่งที่น่าสนใจในศตวรรษที่ 20 เกี่ยวกับคำอธิบายในเรื่องของความรับผิดชอบถูกพบในงานของนักปรัชญาฝรั่งเศสที่ชื่อเอ็มมานูเอ็ล เลวีนาส Emmanuel Levinasสำหรับเขาใบหน้าคือสิ่งพื้นฐานเริ่มต้น(the face is primary) ที่จัดวางความรับผิดชอบในใบหน้า และเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในแง่สิทธิของตัวเอง(own right) ในขณะเดียวกันประเด็นดังกล่าวนี้ก็นำมาซึ่งเสียงสะท้อนและการถกเถียงในช่วงการระบาดของโรคเมื่อผู้คนจะต้องสวมใส่หน้ากากก่อนที่จะเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ

       Levinas เกิดในประเทศลิธัวเนีย ในช่วงปีช่วงปี 1906 และครอบครัวของเขาได้รับผลกระทบจากภาวะไร้ที่อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเขาได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยของฝรั่งเศสและเยอรมัน และได้ตีพิมพ์งานวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับนักปรัชญาที่ชื่อHusserl ในปี 1930 และเขาได้กลายเป็นพลเมืองของประเทศฝรั่งเศสในช่วงปี 1939  เขาเข้าร่วมกับกองทัพฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและถูกจับไปเป็นเฉลยและใช้ชีวิตในคุกของค่ายทหารในช่วงสงครามหลังสิ้นสุดสงครามเขาทำงานทางด้านการศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสรวมทั้งมหาวิลัยปารีส

เขาพัฒนาแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์และความรับผิดชอบ ภายใต้ความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นจากการเผชิญหน้าแบบ Face to face

    Levinas มองว่าความเป็นหนึ่งเดียวทางจริยธรรมที่อยู่เหนือภววิทยา(ธรรมชาติของสิ่งที่ถูกรู้เป็นสิ่งที่จะต้องถูกต้องตามลักษณะ ใบหน้าของอีกฝ่าย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงหรือความเป็นอื่นของอีกฝ่ายตามที่ใบหน้า หมายถึงใบหน้าเป็นสิ่งที่เรายอมรับก่อนที่จะใช้เหตุผลในการตัดสินหรือความเชื่อเกี่ยวกับตัวของเขา 

  เขาเสนอว่าใบหน้าคือสถานที่ที่เราจะพบกับความเปราะบางของคนอื่น อย่างเช่นอันตรายการถูกคุกคาม หรือการละทิ้งทอดทิ้งคนอื่นกับความทุกข์ทรมานของพวกเขา เมื่ิเรามองหน้าผู้อื่นเราก็จะพบความแรารถนาของคนอื่นๆใบหน้าจึงเป็นเสมือนที่ทำให้เกิดคำถามและคำตอบ ที่สร้างความสนใจ ความใส่ใจในชีวิตของคนอื่น และสร้างความรู้สึกที่เราจะต้องรับผิดชอบ(Responsibility) ต่อชีวิตของเขา ดังเช่น ความรักที่เชื่อมโยงกับหน้าตาและการใช้ร่างกายในการมีปฎิสัมพันธ์และความต้องการเข้าไปมีส่วนในชีวิตของคนคนนั้นในแง่ของความรับผิดชอบ นี่คือทัศนะเกี่ยวกับความรักแบบLevinas ดังนั้นชีวิตของมนุษย์ล้วนเกี่ยวข้องและเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตของคนอื่น ที่สร้างความรู้สึกและรับผิดชอบต่อชีวิตคนอื่นเช่นเดียวกับการยอมรับในใบหน้าของคนอื่น

   Levinas โต้แย้งว่ามันไม่ใช่การละเมิดเกี่ยวกับสิทธิเบื้องต้นแต่มันเกี่ยวโยงกับการตัดสินพิจารณาเกี่ยวกับความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานของคนอื่นดังเช่น ทหารรู้ว่าตัวพวกเขาต้องทำให้คุ้นชินกับการฆ่าที่มันสามารถช่วยทำให้มองเห็นศัตรูเช่นเดียวกับสิ่งที่ไร้ใบหน้า (faceless) โดยไม่ต้องมองว่าเขาเป็นผู้หญิง คนแก่หรือเด็ก วิธีการที่ดีที่สุดคือการมองไม่เห็นหรือลืมสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

   เรื่องของใบหน้ามันกลายเป็นสิ่งที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของบุคคลและความรับผิดชอบในเชิงศีลธรรมที่จำเป็นจะต้องไม่ถูกลดทอนความสำคัญในปฏิสัมพันธ์แบบเห็นหน้าค่าตา(face time face)

ตัวอย่างคำอธิบายเกี่ยวกับอาชญากร การควบคุมความเสี่ยง การห้ามสวมหน้ากากหรือปกปิดใบหน้าเมื่อเข้าไปในธนาคารเพราะมันยากต่อการบ่งชี้หรือจดจำอัตลักษณ์ของบุคคล รวมถึงความพยายามซ่อนเร้นตัวเองและปกป้องตัวเองจากความรับผิดชอบในเชิงศีลธรรมของสังคม ดังนั้นตัวหน้ากากจึงไม่ใช่แค่วัตถุของการปกป้อง ปิดบังอำพรางแต่ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนข้อความที่สื่อความหมายบางอย่างในช่วงเวลาหนึ่งๆ และมีอำนาจในการชัดนำมห้เกิดข้อสงสัยในตัวบุคคล อารมณ์และคสามรู้สึกของคนคนนั้นที่ปิดบังใบหน้า

   การใส่หน้ากากในช่วงโควิดที่ทำให้เห็นเฉพาะดวงตา แต่ปิดจมูก คาง แก้ม ริมฝีปากที่จะสามารถจะลดทอนการเชื่อมโยงกับอายุ เชื้อชาติ เพศลงไปได้

การแพร่กระจายของการสวมหน้ากากสนับสนุนการโน้มน้าวทางสังคมมากกว่าและ ทำให้คนจะต้องระมัดระวังตัวเองพร้อมกับการกลัวคนอื่นๆไปพร้อมกัน ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบต่อคนอื่น

   การลดทอนของการปฎิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ภายใต้การรักษาระยะห่าง ทำให้ การเจอกันพบกันในพื้นที่ออนไลน์และปฎิบัติการของการสวมหน้ากาก ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้นในช่วงของสุานการณ์โควิด แม้ว่าเราจำเป็นต้องเห็นหน้าของบุคคลอื่นในความสัมพันธ์แบบปกติ แต่ในสถานการณ์พิเศษ การปกปิดบาส่วนของใบหน้า ภายใต้การละบาดคือการลดทอนความเสี่ยงและเป็นความรับผิดชอบของสังคม นี่คือสิ่งที่เราวามารถทำความเข้าใจปรากฏการณ์และถกเถียงกับปรัชญาของLevinas ได้

หากไม่มีพระเจ้าที่นำทางบอกเราว่าต้องทำอะไรเราจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องทำอย่างไรจงมองไปที่ใบหน้าของอีกฝ่ายเมื่อคุณมองไปที่ใบหน้าของคนอื่นคุณจะเห็นบางอย่างที่คล้ายกับใบหน้าของคุณ นั่นคือคำตอบ

  บริบททางความคิดของLevinasเกี่ยวพันกับชีวิตในช่วงสงครามล้างเผ่าพันธ์ุ คนเริ่มต้งคำถามต่อพระเจ้า ในความโหดร้ายของสงคราม ที่ผู้คนเข่นฆ่ากันแบบไม่มองหน้ากัน ไม่มองไปที่ใบหน้า อารมณ์ความรู้สึก ความเป็นเชื้อชาติหากคุณมองเข้าไป คุณจะเห็นตัวคุณ ความเป็นมนุษย์ของเขาและคุณ  ใบหน้าของเขาและคุณในฐานะมนุษย์ คุณจะไม่เอาเปรียบขูดรีดและทำร้ายพวกเขา..ในปัจจุบันเราอาจต้องใช้อารมณ์ความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ ที่เป็นคำตอบของสิ่ที่เรียกว่าความรับผิดชอบของสังคมภายใต้การใส่แมสค์หรือหน้ากากเพื่อป้องกันโควิด...

วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564

เขื่อน ต้นทุนที่ไม่คุ้มทุน โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ในช่วงเตรียมการสอน การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมกับการพัฒนา... เห็นข่าวจากสื่อ เพื่อนแวดวงการพัฒนาเกี่ยวกับโครงการเรื่องน้ำและเขื่อน มีประเด็นที่น่าสนใจพานักศึกษาได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นเรื่องการพัฒนา...

HIDDEN COST OF HYDROELECTRIC POWER DAM: ต้นทุนที่ซ่อนเร้นของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ

ต้นทุนที่ซ่อนเร้นของโครงการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า (HYDROELECTRIC  POWER DAM) ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราควรพิจาณาถึงแผนของการสร้างเขื่อนที่ผุดขึ้นทั่วโลกว่าคุ้มค่าหรือไม่

จำนวนแผนการสร้างเขื่อนที่มากกว่า 1,000 แห่งทั่วโลกที่มีลักษณะเป็น Hydroelectric power dam บ่งชี้ยุทธศาสตร์หรือแผนงานของการจัดสร้างเขื่อนลักษณะแบบนี้ในที่ต่างๆทั่วโลก รวมทั้งแผนการสร้างเขื่อน 147 แห่งในพื้นที่ลุ่มน้ำอะเมซอน ของทวีปอเมริกาใต้

การศึกษาใหม่ๆเกี่ยวกับเรื่องของเขื่อน ได้ทำให้เราได้พบความจริงเกี่ยวกับต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม อันเป็นสิ่งที่ประเมินค่าได้ยากมากก่อนการก่อสร้างเขื่อน รวมถึงปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับต้นทุน ทั้งในช่วงเวลา หรืออายุขัยของเขื่อน (The Lifetime cost of dam) ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเขื่อนและการทำลายเขื่อนหลังสิ้นสุดโครงการ ผลกระทบที่เกี่ยวโยงกับเรื่องของระบบนิเวศ ระบบอุทกศาสตร์ การไหลเวียนของน้ำ เกิดการชะลอและการต้านทานการไหลของน้ำที่ส่งผลต่อระบบนิเวศพันธุ์พืช พันธุ์ปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น  รวมทั้งผลกระทบในเรื่องของการใช้น้ำเพื่อสร้างผลิตผลภาคการเกษตรที่เกิดจากการควบคุมและการจัดการทรัพยากรน้ำของผู้มีอำนาจ ทั้งนี้ยังไม่นับถึงเรื่องของความโปร่งใส การทุจริตและการคอรัปชั่น ระหว่างรัฐบาลกับบริษัทที่ดำเนินการสร้างเขื่อนซึ่งมักจะเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในประเทศกำลังพัฒนาหรือแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม

ดังนั้นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environment impact assessments, EIAs) และการประเมินผลกระทบทางด้านสังคม (Social impact assessments, SIAs) รวมถึงการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ (Health Impact assessments, HIAs) จะต้องมีน้ำหนักและข้อมูลที่มากเพียงพอสำหรับการบ่งชี้ถึงผลกระทบทางด้านลบของการสร้างเขื่อนหรือสามารถนำข้อมูลมาชี้ให้เห็นผลกระทบและความสำคัญของมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่ต้องรักษาไว้ ที่สามารถจะใช้ต่อต้านต่อรองกับการพัฒนาหรือโครงการสร้างเขื่อน ที่สำคัญกระบวนการเหล่านี้ ควรที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่และชุมชนที่มีวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่ผูกพันกับแหล่งทรัพยากรน้ำเหล่านี้เป็นผู้ตัดสินและกำหนดชะตากรรมด้วยตัวเอง

มีการคาดคะเนว่าจำนวน 3,700 เขื่อนที่ถูกสร้างไปแล้ว หรือกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก รวมถึงเขตลุ่มน้ำอะเมซอนที่กำลังจะมีการสร้างเขื่อนถึง 147 เขื่อน มักจะถูกโปรโมตในแง่ของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การไม่สร้างผลกระทบกับสังคมและชุมชน และเป็นพลังงานสะอาดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ในงานทบทวนการวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ใน Proceeding of the National Academy of Sciences of the United States of America (PNAS) นักวิจัยได้โต้แย้งความจริงในเรื่องของต้นทุนในโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งผลที่ได้จากการคำนวณต้นทุนที่เสียไป ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก ทั้งในแง่ความเสี่ยงหรือภัยคุกคามในทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องตามมาภายหลังของการสร้างเขื่อน ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่าต้นทุนที่ซ่อนเร้น

จากข้อมูลที่สำรวจ มีการประมาณการว่าทั่วโลก ประชากรมากกว่า 472 ล้านคน ได้รับผลกระทบทางด้านลบต่อการสร้างเขื่อนมานานหลายทศวรรษ ทั้งในแง่ของทิศทางการไหลของกระแสน้ำ (Downstream) การพึ่งพาแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของผู้คนชุมชน เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  ทั้งเรื่องของการกีดกัน การลิดรอนและการลดทอนในเรื่องของความมั่นคงและความยั่งยืนในชีวิตและอาหาร รวมทั้งการได้รับความทุกข์ทรมานจากการสูญเสียทางวัฒนธรรมที่มิอาจประเมินค่าได้ ตัวอย่างเช่น การสร้างเขื่อนที่ชื่อว่า Tucurui Dam ในเขตลุ่มน้ำอะเมซอนของประเทศบราซิล ส่งผลให้ปริมาณปลาที่จับได้ในแม่น้ำลดลงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ผู้คนกว่า 100,000 คน ที่อาศัยตามลำน้ำได้รับผลกระทบจากการสูญเสียอาชีพประมง พื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วมอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อน รวมทั้งสูญเสียแหล่งทรัพยากรอื่นๆทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และความหลากหลายทางนิเวศวิทยาที่อยู่บริเวณแม่น้ำ

ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป มีจำนวนเขื่อนที่สร้างข้นเป็นจำนวนมาก เฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกามีการสร้างเขื่อนจำนวนมากที่สุด และมีจำนวนเขื่อมมากกว่า 60 เขื่อนในแต่ละปีที่ถูกทำลายทิ้งตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2006 เป็นต้นมา เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเขื่อนในแต่ละครั้ง ต้องใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมาก งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า The lifespan of dam หรือช่วงเวลาของเขื่อนมีการจำกัดอย่างมาก อย่างเช่นเขื่อนที่กำลังจะสร้างในประเทศบราซิล เป้าหมายของการดำเนินโครงการมีระยะเวลาเพียง 30 ปีเท่านั้น เนื่องจากวัสดุที่ใช้สร้างเขื่อนมีอายุและความเสื่อมสภาพของตัวเอง ซึ่งอายุของเขื่อนหรือของโครงการ มีระยะเวลาน้อยมากเมื่อเทียบกับอายุของชุมชนที่ดำรงอยู่มานานนับเป็นร้อยเป็นพันปี

การสร้างเขื่อนยังนำสู่ความสูญเสียอย่างมหาศาลในชีวิตและทรัพย์สิน ในปีค.ศ. 1976 เขื่อนเทลตัน (The Telton Dam ) ในรัฐ Idaho  ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐต้องสูญเสียเงินมากกว่า 2 พันล้านบาทจากการซ่อมแซมความเสียหาย จากกรณีเขื่อนแตก และกรณีดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 4 คน  หรือในปีค.ศ. 2018 ประชาชนกว่า 40 คนเสียชีวิต และ 6,000 กว่าคน กลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยโดยการถล่มจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ของเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย (XE-PIAN  XE-NAMNOY) ที่เป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในเขตลุ่มน้ำโขงของประเทศลาว

ดังนั้นต้นทุนที่ซ่อนเร้น(Hidden Cost) มักไม่ถูกนำมาคิดในกระบวนการของการพัฒนาและการให้บริการต่างๆที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลที่ออกแบบการให้บริการทางสุขภาพมาให้กับประชาชนเพื่อให้มีความทันสมัยและใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการรักษาโรค รวมทั้งมีแพทย์และพยาบาลที่เชี่ยวชาญ ที่นำต้นทุนเหล่านี้มาใช้คำนวณอัตราค่าบริการต่างๆของโรงพยาบาล ในขณะเดียวกันต้นทุนของผู้เข้ารับบริการ แต่ละคนมันย่อมไม่เท่ากันหรือเหมือนกัน  เช่น ระยะทางที่ต้องเดินทางจากบ้านมายังโรงพยาบาล ค่าน้ำมันรถหรือค่าจ้างรถโดยสารที่ใช้เดินทางมาโรงพยาบาล ระยะเวลาในการรอคอย การเข้าคิวรอ หรือแม้แต่ศักยภาพในการเข้าถึงยาและเทคโนโลยีในการรักษา นี่คือทุนที่ชาวบ้านจะต้องจ่ายแต่ไม่ถูกนำมาคิดคำนวณอัตราค่าบริการทางสุขภาพ ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดของต้นทุนของผู้คนที่มีความแตกต่างกัน หากแต่ได้นำเอามาตรฐานเพียงด้านเดียว มาใช้ในการคิดคำนวณโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยเงื่อนไขอื่นๆประกอบ เช่นเดียวกับการสร้างเขื่อน ต้นทุนที่ซ่อนเร้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศดิน น้ำ ป่า และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกนำมาคิดวิเคราะห์ ในกระบวนการพัฒนาหรือโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชุมชนเลย ซึ่งควรจะทบทวนและชี้ให้เห็นการสูญเสียประโยชน์หรือต้นทุนที่แท้จริงที่เกิดจากกระบวนการพัฒนา บทเรียนจากการศึกษาและผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนควรที่จะถูกนำมาใช้เป็นกรณีศึกษา  อย่างเร่งผลักดันโครงการเมกกะโปรเจคใหญ่ๆ เช่น โครงการโขง ชี มูล เลย แม่น้ำสงคราม ที่จะสร้างฝาย สร้างเขื่อนจำนวนมากขึ้นในปะเทศ  รวมทั้งการมองการพัฒนาที่เชื่อมโยงกันในระดับประเทศ การเป็นคนที่ใช้ลำน้ำร่วมกัน การพัฒนาอย่างใดอย่างหนึ่งในพื้นที่หนึ่ง ย่อมมีผลกระทบกับพื้นที่อื่นๆด้วย เช่น การสร้างเขื่อนในจีน กับระดับน้ำแลกระแสน้ำในแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อผู้คนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ใช้ทรัพยากรร่วมกัน การแก้ปัญหาจึงควรจะแก้ปัญหาในระดับภูมิภาค ไม่ใช่การแก้ปัญหาเพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่เฉพาะเท่านั้น รวมทั้งการทำให้เห็นต้นทุนซ่อนเร้น ต้นทุนที่ใช้ร่วมจึงเป็นเรื่องสำคัญและควรนำมาใช้พิจารณาอย่างรอบด้าน


@ ที่มาของข้อมูลประกอบการเขียน: The hidden costs of hydro: We need to reconsider world’s dam plans  by Liz Kimbrough on 5 March 2019

ความจริงของชนเผ่า ความจริงของนักมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เรื่องน่าอับอายของชนเผ่าในอูกันดา  ที่ถูกเข้าใจผิดมามากกว่า 40 ปี ...จนถูกศึกษาและทำให้เห็นความจริงในอีกแง่มุมหนึ่ง เขียนโดย Carly Cassella ชื่อ Uganda is infamous ‘selfish’ tribe has been misunderstood for almost 40 year . 

ชนเผ่า IK ในอูกันด้าเป็นชนเผ่าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนหุบเขาเล็กๆ ชื่อ KIDEPO ชื่อเสียงของเมืองนี้เป็นที่รู้กันดีของประเทศว่ามีข้อจำกัดของการเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆและความแห้งแล้ง

ในปี 1960 นักมานุษยวิทยา ชื่อ Colin Turnbull ได้ตีพิมพ์หนังสือที่บรรยายเกี่ยวกับชนพื้นเมืองIK และเน้นย้ำ ประทับตราหรือชี้ให้เห็นลักษณะพิเศษของชนพื้นเมืองนี้คือ ความไม่เป็นมิตร ความไม่รู้จักแบ่งปัน ความเห็นแก่ตัว และชนพื้นเมืองนี้ถูกตั้งฉายาว่า the loveless people หรือชนเผ่าที่ไร้หัวใจ 

ในความจริงชนเผ่านี้ ต้องช่วยเหลือตัวเองอย่างมาก ภายใต้ภาวะของการดิ้นรนต่อสู้ต่อความอดอยากและความแห้งแล้ง ที่มากกว่าชุมชนอื่นๆข้างเคียง

Turnbull ได้เข้ามาวิจัยชุมชนในช่วงปี 1960-1967 และเสนอสมมติฐานว่า ชนเผ่า IK บ่มเพาะความเป็นปัจเจนชนนิยมตั้งแต่เด็กจนถึงบั้นปลายชีวิต พวกเขาละทิ้งเด็ก และขโมยอาหารของคนแก่ที่กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชุมชน  อันที่จริง คำตอบของ Turnbull ที่อยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ของเขาในสนาม และสิ่งที่เขาอ้างว่าชนเผ่า IK มีวัฒนธรรมของการเห็นแก่ตัวที่มากกว่าสังคมอื่นๆ เป็นข้อเสนอที่ถูกปฎิเสธในการศึกษาต่อๆมา แท้ที่จริงแล้วสภาวะความเห็นแก่ตัวมันคือผลผลิตของความอดอยากขาดแคลน (productive of famine) และการปรับตัวทางวัฒนธรรมต่อความอดอยาก (Cultural adaptation to scarcity ) 

นักวิจัยหลากสาขาได้เข้าไปสำรวจและศึกษาชนเผ่า IK ดังเช่น นักมานุษยวิทยาชื่อ Lee Cronk จากมหาวิทยาลัย Rutgers university New-Brunswickได้ทำการทดลองพฤติกรรมของชนเผ่าเกี่ยวกับความเห็นแก่ตัว โดยการออกแบบเกมส์เพื่อวัดพฤติกรรมดังกล่าว เปรียบเทียบกับสังคมต่างๆทั่วโลก พบว่าใน 100 คน ของกลุ่มตัวอย่าง ผลการทดสอบไม่แตกต่างจากคนในสังคมอื่นๆ ดังนั้นพฤติกรรมการเห็นแก่ตัวก็มีในมนุษย์ทุกสังคมไม่ใช่เพียงชนเผ่า IK เท่านั้น

ต่อมานักมานุษยวิทยาอย่าง Cathryn Townsend ได้ทุนไปทำวิจัยและไปอาศัยอยู่กับชุมชนพิ้นเมือง IKในช่วงปี 2016  งานภาคสนามของเขาได้ทำให้เขาค้นพบพฤติกรรมของความเอื้ออาทรของชนพื้นเมือง IK ที่เรียกว่า ‘Tomora marang ‘ หรือความหมายคือ มันคือสิ่งดีที่เราได้แบ่งปัน (it’a good to share) รวมทั้งในข่วงฤดูที่แห้งแล้ง ขาดแคลน ไม่มีผลผลิตในไร่นา ฝนไม่ตก แห้งแล้ง หรือโรคระบาด แต่ชาว IK กลับแบ่งปันผลผลิตที่เขาเก็บไว้หรืออาหารป่าที่หามาได้แก่กันในชุมชน 

ดังนั้นสิ่งที่เรามองเห็นได้จากข้อเขียนชิ้นนี้คือ ภาวะเงื่อนไขของพฤติกรรมของมนุษย์ที่ลื่นไหล ในบางภาวะที่ความเอื้ออาทรเสื่อมสลายลง พร้อมกับการเกิดขึ้นของภาวะความเห็นแก่ตัวอย่างที่สุด ที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อจำกัด ความเสี่ยงและภาวะตึงเครียดทางสังคม  ในขณะเดียวกันพวกเขาก็พร้อมจะเอื้ออาทรเพื่อให้ภาวะความมั่นคงของชุมชนดำรงอยู่ได้

****นักมานุษยวิทยาต้องพยายามทำความเข้าใจความหมายจากมุมของคนที่เราศึกษา ไม่สร้างภาพตัวแทนให้กับกลุ่มที่ศึกษาเพียงด้านใดด้านหนึ่ง และต้องทำความเข้าใจผ่านการให้ความหมายต่อพฤติกรรมที่พวกเขาแสดงออกอย่างแท้จริง... การไม่มีอคติทางชาติพันธุ์ ที่สร้างความเหนือกว่าด้อยกว่าทางวัฒนธรรม และยอมรับว่าพฤติกรรมแบบนี้ก็พบได้ในมนุษย์ในทุกสังคมแม้ในสภาวะปัจจุบัน

ไม่มีสังคมชุมชนใด มนุษย์หรือกลุ่มคนใด เหนือกว่าคนอื่น พวกเขามีเหตุผลในการกระทำ ซึงเป็นเหตุผลเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่น เพียงแค่เป็นเหตุผลคนละชุดกันเท่านั้นเอง...



เรื่องเล่าเกี่ยวกับเพศ โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวทางเพศ (Sexual Story Telling)

          Ken Plummer (1995) ให้ความสนใจกับภาวะความทันสมัย(modernity)และแนวคิดหลังโครงสร้างนิยม โดยเน้นไปที่บทบาทที่สำคัญของเรื่องเล่าและคำบรรยายทางเพศ (sexual stories and narrative) ที่เกิดขึ้นในยุคทันสมัย(modern)และยุคสมัยใหม่ตอนปลาย(late modern) โดยชี้ให้เห็นบทบาทของเรื่องเล่าและวาทกรรมที่สร้างความเข้าใจและประสบการณ์ของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถี(Plumme,1995:12) ที่ได้สร้างแบบแผนเกี่ยวกับชีวิตทางเพศ (The patterns of sexual life) พร้อมๆกับสภาวะที่มนุษย์ได้กลายเป็นผู้เล่าเรื่อง(story-telling beings) อันนำไปสู่การสร้างเรื่องราวและสร้างโลกทางเพศของพวกเขา 

โดยเรื่องเล่าทางเพศ มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางศีลธรรมและการเมือง โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับตัวตน (self) และอัตลักษณ์ (identity)ทางเพศที่หลากหลาย ได้สะท้อนศักยภาพและความสามารถในการต่อสู้ต่อรองและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางสังคมในเรื่องเพศ  

กระบวนการบอกเล่าหรือเล่าเรื่อง ได้ทำหน้าที่เปิดเผย และสร้างให้เกิดความหลากหลายต่างๆ ทั้งโครงการใหม่ (new project) สิทธิของประชาชนใหม่ (new constituencies) ความเป็นไปได้ใหม่สำหรับอนาคต (new possiblilities for the future) โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับโอกาสที่เป็นไปได้ของชีวิตมนุษย์ (human life chances) ที่เกี่ยวโยงกับอารมณ์และความเป็นประชาธิปไตยในเรื่องทางเพศ (emotional and sexual democracy) .....

ในงานของ Ken Plummer ใช้คำว่าพลเมืองของความผูกพัน ( Intimate citizenship) โดยมองว่าชีวิตของผู้คนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความผูกพันใกล้ชิด ทั้งในแง่ความปรารถนา ความพึงพอใจและปฎิบัติการในเรื่องเพศที่ดำรงอยู่ในสังคมสมัยใหม่ ได้สร้างให้เกิดพื้นที่ใหม่ ข้อถกเถียงใหม่และเรื่องราวใหม่ๆในเรื่องเพศ..... 

เรื่องเล่าทางเพศจะทำหน้าที่แนะนำเกี่ยวกับชีวิตใหม่ ครอบครัวใหม่ วิถีทางของการคิดใหม่เกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก ร่างกาย การแสดงออกและอัตลักษณ์ทางเพศ รวมทั้งรูปแบบใหม่ของสิ่งที่เรียกว่าความอีโรติก  อีกทั้งสภาวะของเรื่องเล่าทางเพศ มีลักษณะที่ประสานสอดคล้องกลมกลืนและมีความขัดแย้งในตัวเอง ในทุกๆเรื่องเล่าใหม่ที่ถูกเล่านั้นจะสะท้อนให้เห็นการปะทะต่อสู้ระหว่างสิ่งใหม่ เรื่องเล่าใหม่กับสิ่งเก่าหรือเรื่องเล่าเก่าอยู่ตลอดเวลา เช่นเรื่องเล่าเกี่ยวกับร่างกายใหม่ (tales of new bodies)  เป็นสิ่งที่ต่อต้านกับค่านิยมแบบจารีตและความเป็นธรรมชาติ หรือเรื่องเล่าใหม่ของเพศวิถีส่งผลให้เกิดความเคร่งเครียดอย่างเข้มข้นกับมาตรฐานดั้งเดิมของเพศวิถี เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการเมืองของเรื่องเล่า ( Plummer,2003:39)......

            สิ่งที่น่าสนใจคือการทำความเข้าใจเพศวิถีในปัจจุบัน จะต้องทำความเข้าใจบริบทที่มีความหลากหลายเนื่องจากการให้ความหมาย(meaning)เกี่ยวกับเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ถูกอธิบายไปยังเรื่องของความผูกพัน (intimacy) เรื่องของกามรมณ์ (Erotic) และความซับซ้อนของความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งให้ภาพของวัฒนธรรมอีโรติกของสังคมที่แตกต่าง (Jeffrey week ,2003:6) 

เพศวิถีจึงเป็นสิ่งที่ถูกจัดการและถูกทำให้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมในวิถีที่แตกต่างกัน สิ่งที่น่าสนใจคือ การสะท้อนเรื่องเล่าทางเพศ (Sexual Stories) สะท้อนให้เห็นการสร้างองค์ประธานในเรื่องเพศใหม่ (New sexual subject)ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

            สังคมสมัยใหม่สะท้อนเรื่องราวของเพศวิถีที่มีความหลากหลาย ทั้งการสร้างการมณ์ด้วยตนเอง(autoeroticism) ที่สัมพันธ์กับการเติบโตของธุรกิจหนังโป๊ สิ่งพิมพ์โป๊เปลือยต่างๆ รวมถึงธุรกิจ sex toy หรือแม้กระทั่งการเกิดขึ้นของ cybersex ผ่านการแชท ไลน์ การสนทนาในเรื่องเพศผ่านพื้นที่ออนไลน์ การเขียนประสบการณ์ความตื่นเต้น (excitement) และการผจญภัย (adventure)ในชีวิตทางเพศของตัวเอง รวมถึงการซื้อขายบริการทางเพศทางออนไลน์ หรือการใช้ mobile-eroticism ในกิจกรรมทางเพศเช่น เซ็กส์โฟน หรือการแชร์ภาพ กดไลค์ เขียนเล่าประสบการณ์ ส่งสติ๊กเกอร์ และแสดงอารมณ์ทางเพศวิถีผ่านพื้นที่เฟสบุ๊ค ไลน์ รวมทั้งการเติบโตของเพศเชิงพาณิชย์(commercial sex) ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตและปฎิบัติการทางเพศของผู้คนในสังคม

เรื่องของเพศวิถีที่ได้สร้างประสบการณ์ทั้งที่แท้จริง (authentic)และไม่จริง(unreal) กระแสของโพสต์โมเดิร์น เชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกับเพศวิถีในลักษณะของการเป็นผัสสะที่ล่องลอยอย่างอิสระ (free-floating sensation) ที่สามารถจะเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงได้อย่างง่ายดายกับเรื่องราว วัตถุ สสาร ร่างกาย กิจกรรมและอารมณ์ที่หลากหลาย (Bauman 1991:26) สิ่งเหล่านี้ได้สร้างให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆและเรื่องเล่าใหม่ๆในวิถีชีวิตของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องของเพศวิถี ที่มีทางเลือก(choice) มีความหลากหลาย(variety) มีภาวะชั่วคราว(transient) นำไปสู่ความพึงพอใจของมนุษย์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ใหม่อยู่ตลอดเวลา (renewable pleasure)

            เรื่องเล่าสมัยใหม่เกี่ยวกับเพศวิถี (Modern narrative of sexuality) วางอยู่บนความเป็นเหตุเป็นผล (causal) ความต่อเนื่องอย่างเป็นเส้นตรง (linear) ที่สร้างเรื่องของเซ็กส์เช่นเดียวกับความจริงที่ชัดเจน แน่นอนและตายตัวและรอการค้นพบอย่างง่ายดาย  (Plummer,1995:132) แต่สำหรับเรื่องเล่าแบบโพสต์โมเดิร์น (Postmodern narrative)  เรื่องของเพศวิถีจะถูกเชื่อมโยงสัมพันธ์กับความไม่แน่นอน (uncertainly)  ความซับซ้อน มีลักษณะของการแปรปรวนและเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา มีลักษณะเป็นวิถีทางของความปรารถนา ความต้องการของตัวเอง  และเป็นการพึ่งพาอยู่บนการหยิบยืมอัตลักษณ์ ตัวตนจากสื่อต่างๆ ที่แสดงออกมาอย่างหลากหลายและใช้รูปแบบวิธีการสื่อสารที่แตกต่างกันในเรื่องของเพศวิถี


อ้างอิง

Plummer,Ken. (1995). Telling Sexual Storries, Power,Change and Social Worlds.London : Routedge.

 Plummer,Ken.    (2003). Intimate Citizenship. University of Washington Press.pp.192.


Week ,Jeffrey (2003). Sexualities and Society A reader .UK 



วัว ผู้ชาย ศักดิ์ศรี และหัวขโมย โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ชนเผ่าบาร่า (BARA) :การชิงวัวกับเส้นแบ่งบางๆของความเป็นลูกผู้ชายกับหัวขโมย  สะท้อนให้เห็นการปะทะกันระหว่างประเพณี กฏศีลธรรมและกฏหมาย ซึ่งเราอาจจะทำความเข้าใจผ่านมุมมองทางสังคมและศีลธรรมของเรา แต่ในทางตรงข้ามนั้น ชนเผ่าบาร่าในประเทศมาดากัสการ์นั้นอาจคิดหรือมีมุมมองที่แตกต่างจากเราก็ได้

.....ประวัติศาสตร์มาดากัสการ์.....

สาธารณรัฐมาดากัสการ์ (Republic of Madagascar) เป็นประเทศเกาะที่ตั้งอยู่บนมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่นอกชายฝั่งของแอฟริกาใกล้กับประเทศโมแซมบิก เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีความหลากหลายทางด้านทรัพยากรทางกายภาพและชีวภาพรวมถึงภาษาและวัฒนธรรมของชมเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ประกอบด้วยชาวมาลากาซี ชาวบารา ชาวเมรินา ชาวเบตซิเลโอ ชาวซึมีเฮติและชาวสะลากาวะ จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีพบว่า หมู่เกาะมาดาร์กัสการ์มีคนมาอาศัยอยู่กว่า 200 ปีมาแล้ว เริ่มแรกเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม ก่อนที่จะมีชนกลุ่มอื่นๆ กลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตามมา คือ ชาวแอฟริกันและอินโดนีเซียในช่วงศตวรรษที่ 16 ภายใต้การนำของดิเอโก เดียซ์ นักเดินเรือและนักบุกเบิกชาวโปตุเกส

ในอดีตหมู่เกาะมาดากัสการ์รวมตัวกันภายใต้ระบบกษัตริย์ในช่วงปีพ.ศ. 2340-2404 ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้ามาอ้างสิทธิ์ในการปกครองในปีพ.ศ.2483 จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2439 ระบบกษัตริย์ถูกทำลายลงไป ประเทศมาดากัสการ์ก็ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส กษัตริย์องค์สุดท้ายคือพระราชินีนาถรานาวาโลที่ 3 แห่งมาดากัสการ์และต่อมาปีพ.ศ. 2501 ได้มีการลงมติให้สาธารณรัฐมาลากาซีมีอำนาจปกครองตัวเองในประชาคมฝรั่งเศสและประเทศมาดากัสการ์ก็ได้รับเอกราชในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2503 หลังจากนั้นก็ได้มีการอพยพย้ายถิ่นของชาวอาหรับ อินเดียและยุโรปเข้ามาในบริเวณแถบนี้เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันภาษาท้องถิ่นของชาวบาร่าที่ใช้คือภาษาบาร่า ส่วนภาษาราชการคือ มาลากาซี่ (Malagasy)  ศาสนาที่พวกเขานับถือคือศาสนาดั้งเดิมที่นับถือสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ภูตผี วิญญาณกว่าประมาณ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาคริสต์ นิกายลูเธแลนและคาทอลิคซึ่งมีคนนับถือน้อยมาก เมืองบาร่ามีประชากรจากการสำรวจเมื่อปีค.ศ. 2000 ประมาณ 520,000 คน

......สภาพทั่วไปของสังคมชาวบาร่า(BARA)....

เมืองบาร่าอยู่ทางภาคใต้ตอนกลางของมาดากัสการ์ โดยมีส่วนที่ยื่นออกไปบรรจบกับภาคตะวันออกและภาคตะวันตกคือเมือง ไอบาร่า (Ibara) ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนและยึดถือประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัดทำให้แนวความคิดของโลกสมัยใหม่ไม่สามารถแทรกซึมผ่านชาวบาร่าได้โดยง่าย ในขณะเดียวกันในปัจจุบัน การตั้งคำถามต่อประเพณีวัฒนธรรมบางอย่าง อาทิเช่น การขโมยวัวจากคอกปศุสัตว์ คือสิ่งที่นำไปสู่สภาวะที่ไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งการถูกคุกคามจากหัวขโมยที่พวกเขาไม่สามารถจัดการได้และการต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยงของตัวเองไป  ทำให้ชาวบ่าร่าในปัจจุบันที่ได้รับการศึกษาเปิดรับความคิดของตะวันตกมากขึ้น รวมทั้งมีทางเลือกในความคิดและวิถีชีวิตของตนเอง  ทำให้ชาวเผ่าบาร่าบางคนละทิ้งหมู่บ้านตัวเองและออกเดินทางไปเสาะแสวงหาวิถีชีวิตใหม่ที่แตกต่างจากเดิม 

....วิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวบาร่า (BARA)...

สังคมของชาวบาร่าเป็นสังคมเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน (Pastoralism) มีการอพยพเคลื่อนย้ายไปตามฤดูกาลเพื่อให้สัตว์และคนมีอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต วิถีชีวิตดังกล่าวสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สังคมของชาวบาร่า ผู้ชายมักจะอ้างถึงตัวเองว่าเป็น “Baralahy” ซึ่งแปลว่ามนุษย์ผู้ชายบาร่าผู้มีร่างกายแข็งแรง (Bara Males meaning Strong man ) เด็กชาวบาร่า (Bara Boy) จะต้องผ่านพิธีเปลี่ยนผ่านสภาวะที่จะสร้างตัวเองให้กลายเป็นผู้ใหญ่และเป็นผู้ชายที่ทำหน้าที่ปกป้องดูแลกลุ่มต่อไป ดังนั้นเมื่อชายชาวบาร่ายังเป็นเด็ก จะถูกมองว่า พวกเขามีสถานภาพเช่นเดียวกับผู้หญิงชาวบาร่า (Bara Female) หากยังไม่เข้าพิธีเปลี่ยนผ่าน เขาจะยังไม่สามารถกลายเป็นผู้ชายที่สมบูรณ์ได้ โดยประเพณีพิธีกรรมของการเปลี่ยนผ่านสภาวะที่สำคัญไปสู่ความเป็นลูกผู้ชายของชาวบาร่าก็คือการเข้าร่วมในประเพณีที่เรียกว่า การขโมยวัว หรือสัตว์เลี้ยงของเพื่อนบ้าน ปรากฏการณ์ในพิธีกรรมดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เห็น ความแข็งแรงทางด้านกายภาพและความเป็นลูกผู้ชาย (Virility) ซึ่งอยู่ในพรมแดนของความรุนแรง และเป็นจริยธรรมสำคัญในชุมชนบารา ดังนั้นความเป็นชายในสังคมบาร่าไม่ได้จำกัดลักษณะเฉพาะทางกายภาพในความเป็นเพศชายหรือเพศหญิง แต่ความเป็นชาย ปรากฏผ่านความรุนแรงในการเข้าร่วมพิธีการขโมยวัวของเพื่อนบ้าน

ในการศึกษาของ Louis Paul  Randriamarolaza (1986) ในบทความเรื่อง Fokonolona et cognatisme à Madagascar ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเพณีนี้เป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างขัดแย้งและมีลักษณะกลับหัวกลับหาง ในเรื่องของการละเมิดสิทธิของผู้อื่นที่สามารถทำได้ภายใต้ความเข้มแข็ง คนที่ไม่สามารถรักษาทรัพย์สินดังกล่าว ก็คือคนอ่อนแอที่ไม่สามารถปกป้องตัวเอง ครอบครัวและชุมชนได้เช่นกัน  ในขณะเดียวกันการลักขโมยวัวก็คือค่านิยมที่ยอมรับร่วมกันว่าเป็นความดีงาม ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริงที่มีร่วมกัน โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า การเป็นลูกผู้ชายที่แท้จริง เป็นหลักการของความกล้าหาญ ในด้านของความมีเล่ห์เหลี่ยมและความแคล่วคล่องว่องไว (ในการขโมย) สำหรับคนที่ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือฉลาดหลักแหลมจะถูกเรียกว่า ตาโบอาร่า “taboara” ความฉลาดหลักแหลมของพวกเขา ทำให้พวกเขาดูมีเล่ห์เหลี่ยมและบุคลิกของพวกเขาไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าอย่างง่ายๆ โดยพวกเขามีคติพจน์ประจำกลุ่มที่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการระมัดระวังตัวเองอย่างสูงว่า “ฟานาลอทซี มาโอดี ทีซี่ อีลา เวโล” (“Fanalotsy maody tsy ela velo”) ที่แปลว่า นักรบผู้ซึ่งไม่ระมัดระวังตัวเองผู้นั้นจะมีอายุไม่ยืนยาว  และให้ความสำคัญกับพลังหรือคุณค่าของความกล้าหาญพอๆกับการเป็นคนที่เปิดเผยตรงไปตรงมา รวมทั้งในเรื่องของการลักขโมยด้วย ที่ปรากฏผ่านถ้อยคำที่เกี่ยวโยงกับประเพณีของการกระทำความรุนแรงที่เรียกว่า ฮาลัทซี ออมบี (“Halatsy aomby”) หรือ การลักขโมยวัว (Theft of Cattle)  อันเป็นประเพณีที่เคร่งครัดในสังคมบาร่าที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังที่พวกเขาอ้างอิงคำพูดของบรรพบุรุษว่า” Ny halatsy tsindrokiny ny mahery” หมายถึง การขโมยวัวนั้นคือรูปแบบของการแสวงหาหรือการเก็บสะสมทรัพย์สินที่น่ายกย่องและควรค่าแก่การสรรเสริญ ที่มีความเกี่ยวข้องกับความแข็งแรงและความเป็นชายของชนเผ่าบาร่า

การตีความของนักมานุษวิทยาเพื่อความเข้าใจในพิธีกรรมการขโมยวัวของชาวบาร่า ในด้านหนึ่งมีความหมายถึงการแลกเปลี่ยน การหมุนเวียนทรัพย์สินและการกระจายผลผลิตในทางเศรษฐกิจ และการลดความตึงเครียดจากการสะสมความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมกัน (ดังเช่น นาย ก. ขโมยวัวจากนาย ข. ที่ซึ่งนาย ข.ขโมยมาจากนาย ค. และนายค.ขโมยมาจากนาย ง.และนาย ง.ขโมยมาจากนาย ก. อีกทีหนึ่ง) ตัวอย่างเช่นในเมือง Barabe ที่เป็นสถานที่ศึกษาของ Radriamarolaza การลักขโมยวัวนั้น เป็นแนวทางที่ถูกทำให้เป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมอย่างแท้จริงที่ถูกรักษาไว้เช่นเดียวกับสิ่งที่มีคุณค่าในชุมชนที่เรียกว่า “Tany Fiarakandrova” หรือหมู่บ้านแห่งทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือหมู่บ้านแห่งคอกปศุสัตว์ (Vala/Cattle-Pen) ดังนั้น คำที่ชาวบาร่าชอบพูดว่า “Tany Fiarakandrova” หรือ  “Vala”  แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า พื้นที่สาธารณะที่ใครก็สามารถเข้าไปใช้ ครอบครองหรือเป็นเจ้าของได้ ในขณะเดียวกันคำว่า “Tanin aomby” ก็เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเจ้าของร่วมและอัตลักษณ์ที่มีร่วมกันของสายตระกูล (Foko/Clan) ดังนั้นเมื่อวัวอยู่ในพื้นที่สาธารณะ และเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะของความเป็นเจ้าของร่วมหรือการเป็นคนเชื้อสายเดียวกัน คนในชุมชนจึงมีสิทธิ์หรือความสามารถที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของวัวที่อยู่ในพื้นที่ตรงนี้ก็ได้ (ระบบประเพณีมีมาก่อนกฏหมาย ระบบกรรมสิทธิ์ร่วมมีมาก่อนการครอบครองแบบปัจเจก)

ชุมชนบาร่าและชาวบาร่าก็เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนอื่นๆทั่วโลก ที่กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมในปัจจุบัน  ที่เกิดจากระบบทุนนิยมและกระแสโลกาภิวัตน์ ที่สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเข้ามาของคนภายนอกพื้นที่หรือคนภายนอกกลุ่ม 

ในปัจจุบันการขโมยวัวจึงมีลักษณะทับซ้อนระหว่างการขโมยวัวในประเพณีของผู้ชายชาวบาร่าที่แข็งแรง (Baralahy) คนกลุ่มนี้จะไม่ดูหมิ่นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของตัวเอง และถือว่าพฤติกรรมดังกล่าว เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนชนเผ่าเลี้ยงสัตว์กึ่งเร่ร่อนดั้งเดิมที่สังคมยอมรับ ถือเป็นการแสดงความกล้าหาญที่สร้างศักดิ์ศรีให้กับตัวเองและมีคุณค่าสำหรับผู้หญิงที่จะเลือกเขาแต่งงานด้วยในอนาคต 

ในขณะเดียวกันก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน เยาวชนในชนบทบางแห่งของมาดากัสการ์ ถูกแรงกระตุ้นทางการเมืองและเศรษฐกิจ ได้รวมตัวกันทำให้เกิดกลุ่มแก๊งของหัวขโมยวัวที่อยู่นอกเหนือธรรมเนียมปฎิบัติและไม่มีศักดิ์ศรี หรือพวกหัวขโมยภายนอกที่เรียกว่า “Malaso”  ที่มีลักษณะเป็นหัวขโมยในทางเลว พวกเขาจะไม่เคารพนับถือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสามารถขโมยวัวได้ในทุกหนแห่งไม่ว่าชุมชนไหนก็ตาม แม้กระทั่งการฆ่าเจ้าของวัว ซึ่งถือเป็นความรุนแรงอย่สงมาก. ด้วยพฤติกรรมการขโมยวัวแบบนี้ ทำให้ประเพณีการขโมยวัวของชาวบาร่าถูกมองแบบเหมารวมว่าเป็นสิ่งเลวร้าย และได้กลายเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนขัดต่อกฏหมายและความสบเรียบร้อยของบ้านเมือง ในมุมมองของรัฐและเจ้าหน้าที่ จึงได้มีการควบคุมและให้ยกเลิกพิธีกรรมดังกล่าวในปัจจุบันโดยใช้กฏหมายเข้ามาควบคุมและจัดการในเรื่องนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงในหมู่ชนชาวบาร่ามองว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่านและเป็นเครื่องมือของการก้าวไปสู่ความเป็นลูกผู้ชายที่สมบูรณ์ หาใช่ความหมายในเชิงของอาชญากร การลักขโมยแต่อย่างใด และถือเป็นคุณธรรมและค่านิยมร่วมที่ยอมรับกันได้ในกลุ่ม  โดยทั่วไปชาวบาร่าไม่นิยมฆ่าวัวหรือสัตว์เลี้ยงของตัวเอง ยกเว้นในพิธีกรรมความตาย (Funeral) และการเซ่นสรวงสังเวยในพิธีกรรม อาหารสำคัญของชาวบาร่าคือ ข้าว นม ผักและมันสำปะหลัง เท่านั้น

ปัจจุบันสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนพิธีกรรมดังกล่าว คือความแตกต่างทางชนชั้นที่มากขึ้น ผ่านการสะสมความมั่งคั่ง ไม่ใช่การกระจายทรัพยากรจากคนที่มีมากกว่า ไปให้กับคนที่น้อยกว่า หรือนัยของความเข้มแข็งและความเป็นชาย รวมทั้งไม่ได้มีนัยสำคัญทางวัฒนธรรม  ปัจจุบันการยอมรับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การเน้นวัตถุเงินตราต่างหากที่มีความสำคัญ และได้นำไปสู่รูปแบบการขโมยวัวที่อยู่นอกเหนือประเพณีและอยู่นอกเหนือจากที่กฏหมายกำหนดมากขึ้นในปัจจุบัน...







วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2564

พิธีกรรม สัญลักษณ์ และ Victor Turner โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล



 พิธีกรรมวิเคราะห์แบบ Victor turner ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก Arnold Van Gennep ที่มองภาวะภายในของจักรวาลที่ถูกจัดการให้มีลักษณะของการเปลี่ยนผ่านหมุนเวียนของช่วงเวลา (Periodicity) ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ จะทำอะไร จะปลูกอะไร ชีวิตของมนุษย์ก็เหมือนกับภาวะของธรรมชาติ ทั้งตัวปัจเจกชนและกลุ่มสังคมล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงสัมพันธ์ไม่มีส่วนใดที่สามารถแยกขาดได้อย่างอิสระ โดยพิธีกรรมดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ

1.rite of separation หรือขั้นของการแยกตัว ถือว่าเป็นส่วนของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแยกตัวเองจากสถานภาพเดิม ผ่านพิธีกรรมที่ทำให้บริสุทธิ์ (purification rites) เช่น การโกนผม การกรีดบนเนื้อตัวร่างกาย รวมถึงการตัด การสร้างรอยแผลเป็น การขลิบ (scarification or cutting) ที่เกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง

2.rite of transition เป็นส่วนของพิธีกรรมที่ว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพ โดยบุคคลที่ร่วมในพิธีกรรมจะมีการสร้างสัญลักษณ์ที่เกี่ยวโยงกับสถานที่ และจัดว่าเป็นชายขอบ วงนอกของสังคม (outside society) และมักมีข้อห้าม(taboo) หรือข้อจำกัดในช่วงเวลาแห่งพิธีกรรมนี้ ทำให้ภาวะกฏเกณฑ์ที่ควบคุมหรือสร้างความเป็นปกติของชุมชนอาจต้องหยุดระงับชั่วคราว ละเว้น หรือคลายข้อกำหนดที่เข้มงวด หรือพิธีกรรมดังกล่าวอาจจะสะท้อนสัญลักษณ์แห่งการตายเพื่อการเกิดใหม่ 

3.rite of incorporation เป็นส่วนของพิธีกรรมที่เปลี่ยนผ่านอย่างสมบูรณ์เพื่อเข้าไปสู่สถานภาพใหม่ โดยการยกเลิกข้อห้าม การได้รับสถานภาพใหม่ ยศใหม่ เครื่องหมายใหม่ รวมทั้งการจัดงานรื่นเริง รับประทานอาหารร่วมกัน 

Arnold Van Gennep อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตของปัจเจกบุคคลในช่วงต่างๆ ที่นำไปสู่การเกิดพิธีกรรมที่เรียกว่าrite of passage หรือพิธีกรรมของการเปลี่ยนผ่าน

ในมุมมองของ victor turner พิธีกรรมเป็นการกระทำในเขิงสัญลักษณ์ เป็นพฤติกรรมที่ถูกกำหนดในโอกาสที่เฉพาะไม่ใช่สิ่งที่ทำเป็นปกติในขีวิตประจำวัน  โดยเชื่อมโยงกับความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ และศาสนา ซึ่งระบบสัญลักษณ์เป็นหน่วยที่กักเก็บและบรรจุตวสใหมายมากมาย สัญลักษณ์เป็นได้ทั้งสิ่งของ กิจกรรม คำพูด ความสัมพันธ์เหตุการณ์ ลักษณะท่าทาง การแสดงออก เป็นต้น 

Turner แบ่งสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมออกเป็น 2 แบบคือ  1.Dominant Symbol ที่มีลักษณะcondensation คือความหมายหลายนัยยะ (polysemy) มีความหมายก้ำกึ่งคลุมเครือ (multivocality) เนื่องจากสัญลักษณ์หยึ่งสามารถทดแทนสิ่งต่างๆและการกระทำที่แตกต่างกัน

มีลักษณะที่ทำให้ความหมายที่ไม่สัมพันธ์กัน รวมกันเป็นเอกภาพ (Unification of disparate signification) ที่เกิดจากการเชื่อมโยงความหมาย ที่ซ่อนเร้นหรือแฝงอยู่ในระบบสัญลักษณ์ กับคุณสมบัติหรือคุณลักษณะที่เป็นจริงหรือความคิดที่สังคมกำหนดไว้แล้ว

มีลักษณะของขั้วความหมาย(Polarization of meaning) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2ขั้วคือ

1.1 ขั้วของความรู้สึก (ideological pole) ที่หมายความถึงกลุ่มของความหมายที่อ้างถึงส่วนประกอบของคุณธรรมและระเบียบของสังคม

คือสัญลักษณ์ทำหน้าที่เป็นสื่อและช่องทางของการให้ความหมายและอารมณ์ คือมันเป็นภาวะแบบสองขั้วของสัญลักษณ์ในเชิงของอุดมคติหรือสื่อให้เห็นความหมายของสังคม ในด้านหนึ่งสัญลักษณ์ก็เชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึก อาจกล่าวได้ว่า ขั้วอุดมคติที่เทอเนอร์กล่าวถึงคือ “ importance of group norms and values, such as matriliny” หมายความว่ากลุ่มบรรทัดฐาน และค่านิยม เช่นในสังคม Ndembu ที่ยึดถือการสืบเชื้อสายฝ่ายแม่

1.2 ขั้วของความรู้สึก (sensory pole) ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อออกมาโดยตรง ความหมายจะมีลักษณะเป็นไปโดยธรรมชาติ หรือเป็นปรากฏการณ์ทางกายภาพ รวมถึงเป็นกระบวนการปลุกเร้าความต้องการและความรู้สึก อาจกล่าวได้ว่าขั้วของความรู้สึก เทอเนอร์บอกว่า “..and a sensory pole, focused on emotional reactions to the body and bodily functions and fluids, such as milk”. 

คือ การเน้นย้ำบนการมีปฎิกริยาด้านอารมณ์ที่เชื่อมโยงไปยังร่างกายและหน้าที่และความลื่นไหลของความเป็นแม่ ในเรื่องของความรู้สึกของความเป็นแม่และการให้น้ำนมของแม่เป็นต้น

ในส่วนของ Instrument Symbol คือสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นเสมือนวิธีการหรือเครื่องมือที่นำไปสู่เป้าหมายที่เฉพาะในแต่ละพิธีกรรม สัญลักษณ์ดังกล่าว

จะสามารถทำความเข้าใจได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในระบบสัญลักษณ์รวมทั้วหมดที่ประกอบกันเป็นพิธีกรรมเฉพาะ ดังนั้นความหมายของมันเกิดจากความสัมพันธ์กับระบบสัญลักษณ์อื่นๆ

นอกจากนี้ Victor turner ได้ชี้ให้เห็นว่า พิธีกรรมไม่เพียงแต่พิธีกรรมจะอยู่ในกระบวนการแสดงทางสังคม (social drama) โดยกระบวนการของพิธีกรรมแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ (ล้อไปกับแนวคิดของ Arnold van Gennep )

1 pre-liminal เป็นกระบวนการที่ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มถูกแยกออกไปจากโครงสร้างทางสังคม

2.Liminal เป็นกระบวนการที่สถานภาพของบุคคลในพิธีกรรมไม่ชัดเจนคือ ไม่ได้อยู่ในสถานะเดิม และยังไม่ได้เข้าสู่สถานภาพใหม่ มีความคลุมเคลือ ก้ำกึ่ง ครึ่งผีครึ่งคน หรือกลับหัวกลับหาง

 3.Post-liminal คือ บุคคลที่ร่วมในพิธีกรรมเริ่มเข้าสู่สถานภาพใหม่ที่สมบูรณ์ทั้งสิทธิใหม่ อำนาจใหม่ บทบาทหน้าที่ใหม่

  นอกจากนี้ในหนังสือ the forest of symbol Turner ยังได้แบ่งพิธีกรรมออกเป็น 2ส่วนคือ 1.พิธีกรรมที่เรียกว่า Life -Crisis Ritual เป็นพิธีกรรมของการเปลี่ยนผ่านสถานภาพของบุคลลจากสถานภาพหนึ่งไปสู่สถานภาพหนึ่ง ในช่วงวิกฤตการณ์ของชีวิต เช่น พิธีการเกิด การแต่งงาน การเข้าสู่วัยหนุ่มสาว และพิธีกรรมความตาย 2. Ritualof affliction ที่เป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเมื่อประสบความโชคร้ายหรือได้รับเคราะห์ ดังเช่น ชาว Ndembu เชื่อว่าความเคราะห์ร้ายสัมพันธ์กับวิญญาณบรรพบุรุษ ที่ถูกทอดทิ้งหรือละเลยทำให้พวกเขาล่าสัตว์ไม่ได้ คลอดลูกลำบาก และนำไปสู่ความเจ็บป่วยต่างๆ จึงต้องมีพิธีกรรมการให้กำเนิด พิธีกรรมการรักษา พิธีกรรมการล่าสัตว์เป็นต้น 

ดังนั้นพิธีกรรมจึงเป็นการแสดงทางสังคม (social drama) ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และทำให้สังคมดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งมั่นคง ทำให้โครงสร้างของความขัดแย้งมีความสมดุล รวมทั้งทำหน้าที่สะท้อนภาวะของการท่าทายกฏระเบียบของสังคม และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย ภายใต้ภาวะการเกิดใหม่และการจัดระเบียบทางสังคมที่สอดคล้องลงตัว


Reference

The Forest of Symbols: Aspects of Ndembu Ritual (1967), Cornell University Press 1970 paperback

The Ritual Process: Structure and Anti-Structure (1969), Aldine Transaction 1995 paperback

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

มนุษย์ไซบอร์กและมนุษย์ดั้งเดิม โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

Cyborg และ Human Origin : มนุษย์ไซบอร์กและมนุษย์หุ่นยนต์ 

  คำว่า Cyborgs ถูกเชื้อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยี (Technologies) และอินทรีย์หรือสิ่งมีชีวืต (Organism)

Cyborg ผสมระหว่าง cybernetic (การศึกษาความสัมพันธ์เปรียบเทียบระหว่างระบบควบคุมอัตโนมัติของสมองและระบบประสาท กับระบบควบคุทด้วยกลไกและกระแสไฟฟ้า) กับร่างกายอินทรีย์(Organism) ในความหลากหลาย รูปแบบที่แตกต่าง และวิถีทางที่ซับซ้อน

การปะทะกันภายใต้วิธีคิดแบบคู่แย้ง ที่แบ่งแยกออกเป็น มนุษย์ (Human) ที่หมายถึงมนุษย์โฮโมเซเปี้ยนเซเปี้ยน กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ทั้งวัตถุไร้ชีวิต พืช สัตว์ สัตว์ประหลาด ผี หรือมนุษย์ต่างดาว ทั้งหมดนี้ได้นำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญว่า “มนุษย์คืออะไรกันแน่  อะไรคือความเป็นมนุษย์” 

สิ่งที่เรามองเห็นได้จากเทคโนโลยีแบะพวกไซบอร์ก ( Cyborgian technologies) คือส่วนหนึ่งของการจัดประเภทของมนุษย์ หรือพวกเขาเป็นสิ่งที่มากกว่าหรือเหนือกว่ามนุษย์หรือสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (เพราะพวกเขาผสมผสานกัน) ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจคือเราควรจะรู้สึกกลัว (fear) หรือมีความหวัง (Hope) ต่อความก้าวหน้านี้  เนื่องจากมันทำให้เรากลายเป็น (Became) หรือ พสกเราก็รู้สึกและเข้าใจเกี่ยวกับ Cyborg ไปเรียบร้อยแล้วในโลกของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัลที่เขื่อมโยงกับผลลัพธ์ของความก้าวหน้าเหล่านี้มากขึ้น

มานุษยวิทยาที่ศึกษาประเด็นทางศาสนาหรือเทววิทยาโดยเฉพาะความเชื่อแบบคริสเตียนตะวันตก  ที่เกี่ยวโยงกับการกำเนิดมนุษย์บนสวนของอีเดน(Eden and Genesis)  แต่สำหรับ Donna Harawey นั้น สิ่งที่เรียกว่า Cyborg นั้นไม่ได้ถูกสร้างในสวนของอีเดน คำถามสำคัญก็คือ วิธีคิดแบบ Cyborg  กำลังท้าทายรากฐานเชิงเทววิทยาและแนวคิดเทววิทยาที่เกี่ยวกับความเชื่อที่ว่าอะไรคือสิ่งที่มนุษย์เป็นและถูกสร้างโดยพระเจ้า ....

   ดังนั้นไซบอร์ก ควรที่จะถูกพิจารณาว่าเป็นวัตถุแห่งความกลัว ในอำนาจและความไม่รู้ของเราเกี่ยวกับมัน และความหวัง  มันคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับอนาคตของเราหรือเป็นสิ่งสร้างสรรค์สูงสุดของมนุษย์...

   ในแง่ของการศึกษาทางมานุษยวิทยา มันคือ การตั้งคำถามต่อความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ที่มีรากฐานหรือมรดกจากคริสเตียน รวมทั้งความต้องการเอาชนะหรือพิชิตธรรมชาติ ภายใต้ความไม่มั่นคง ไม่ต่อเนื่องในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์คิดค้น คำถามเหล่านี้ท้าทายกับขอบเขตของระเบียบวิธี ที่นำไปสู่การท้าทายด้าภววิทยาของมนุษย์(ธรรมชาติของสิ่งที่ศึกษา)เช่น หมูที่มี DNA ของมนุษย์หรือการโคลนนิ่ง เป็นต้น ...

   ในขณะเดียวกัน มุมมองที่จะต้องสลัดทิ้งมโนทัศน์เกี่ยวกับคู่ตรงกันข้าม เทคโนโลยีอาจไม่ได้แยกขาดหรือตรงกันข้ามกับธรรมชาติ เพราะว่าทั้งเทคโนโลยีและธรรมชาติมีหลากหลายความหมายและถูกนำไปใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน บางครั้งเรายังพบคำว่า Nature of technology หรือธรรมชาติแห่งเทคโนโลยี หรือมนุษย์ก็ไม่ได้แยกออกจากสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์  มนุษย์ก็คือสัตว์จำพวกหนึ่ง คือสัตว์โลกเป็นต้น...

    เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า Cyborg เป็นลูกหลานหรือผลผลิตของยุคสงครามเย็น  (Cold War) เป็นส่วนหนึ่งของการทหาร(Militarism)หรือการพัฒนามนุษย์อวกาศ(astronautics) ในยุคเริ่มต้น คำว่า Posthuman หรือหลังจากมนุษย์ ได้กลายเป็นวิถีใหม่ของการให้ชื่อ(naming) และความเป็นไปได้อื่นๆที่เราไม่รู้ ( unknow possible) การบอกเล่าเรื่องราวอื่นๆ ภายใต้อัตลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงลื่นไหลของมนุษย์ที่เราสามารถประกอบสร้างหรือผนวกรวมกับเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับร่างกายและตัวตนของพวกเขา ไซบอร์กคือเรื่องของการผสมผสาน (hybridity) เรื่องแต่ง (fiction) และไม่ใช่เรื่องแต่ง (non-fiction) ที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้เกี่ยวกับความจริง ความจริงที่เป็นการผสมผสานส่วนประกอบของเรื่องเล่า เรื่องราวที่หลากหลาย..

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

การนอน มานุษยวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 เข้านี้หลังจากตื่นนอน อยากเขียนการนอนในมิติทางมานุษยวิทยากับนักมานุษยวิทยา...

   ผมเริ่มต้นกับการลองตั้งคำถามเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการนอนว่า อะไรคือการนอน ทำไมต้องนอน นอนที่ไหน นอนเมื่อไหร่ นอนอย่างไร นอนกับใคร นอนเพื่ออะไรและอื่นๆ..เพื่อจะได้รู้ความสัมพันธ์ของการนอนในมิติต่างๆ การนอนของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆแตกต่างจากมนุษย์หรือไม่

   หากเปรียบเทียบการนอนของ มนุษย์กับสัตว์สปีชี่ส์อื่นมีการนอนต่างกันหรือเหมือนดันอย่างไร ตัวอย่างเช่น ยีราฟจะนอนครั้งละ 10 นาที รวมระยะเวลานอนทั้งหมด 4.6 ชั่วโมงต่อวัน สัตว์จำพวกค้างคาว และเม่นมีการนอนมากกว่าสัตว์อื่นๆเพราะใช้เวลานอน 17-20ชั่วโมงต่อวัน

   สำหรับมนุษย์ การนอนคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ การสำรวจการนอนข้ามวัฒนธรรมน่าจะทำให้เราเข้าใจความหมายและปฎิบัติการของการนอนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น..

    การนอนอาจจะเป็นเรื่องของทางเลือก แต่เป็นทางเลือกที่อาจถูกควบคุมบังคับ โดยโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม นอนเมื่อไหร่ นอนเท่าไหร่ นอนที่ไหน นอนอย่างไร และนอนกับใคร..

    ในสังคมตะวันตก อุดมคติเกี่ยวกับการนอนเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว(privatization of sleep)  การนอนถูกอ้างอิงกับปัจเจกบุคคลที่แนบชิดกับห้องนอน ห้องส่วนตัว เตียงนอนในบ้าน ของสมาชิกในครอบครัวเดี่ยว

    ในสังคมบุพกาล สังคมล่าสัตว์และสังคมเกษตรกรรม อาจนอนในหมู่สมาชิกครอบครัว กลุ่มสายตระกูล กลุ่มเครือญาติ  ผู้นับถือผีเดียวกัน เฉพาะกลุ่มผู้ชาย เฉพาะกลุ่มผู้หญิง หรือเด็กเล็ก  การนอนในสังคมแบบนี้อาจไม่แยกกลางคืนกลางวัน เมื่อไม่ได้ไปล่าสัตว์ หาของป่า หรือทำการเกษตรก็จะนอนได้ทุกเวลา   มีการแชร์สถานที่นอนร่วมกัน (Share sleep space)  แต่การนอนแบบนี้ค่อยๆเปลี่ยนแปบงเมื่อสังคมเข้าสู่อารยธรรมและอุตสาหกรรมในสังคมสมัยใหม่ นับแต่ช่วงศตวรรษที่16-19 ที่ทำให้การนอนเกี่ยวข้องกับเรื่องของศีลธรรม สุขภาพสาธารณสุข และเศรษฐกิจ

    ในทางมานุษยวิทยาที่ทำงานสนาม สังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม การศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ มองว่าการนอนเป็นทั้งลักษณะทางชีววิทยาและทางวัฒนธรรม และมันยังสัมพันธ์กับการจัดประเภทและลักษณะของประสบการณ์มนุษย์...

  ในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก  การจัดประเภทดังกล่าวอยู่ภายใต้วิธีการแยกคู่ตรงกันข้ามระหว่างการตื่นกับการนอน กลางวันกับกลางคืน เวลาทำงานกับเวลาพักผ่อน ประสบการณ์ว่าด้วยการนอนในแต่ละสังคมมีความแตกต่างกัน..

   งานของ Marcel Mauss (1973) เรื่อง Techniques of the body ที่มีการบรรยายการนอน ร่วมกับการปฎิบัติการเชิงร่างกายอื่นๆเช่น การเดิน การวิ่ง การว่ายน้ำเช่นเดียวกับปรากฏการณ์เชิงชีววิทยาและสังคมนี่คือสิ่งที่มาร์คเซลมอสส์บรรยายว่าใันคือนิสัยหรือ(habitus ) อย่างไรก็ตามการนอนมันก็ไม่ได้เป็นธรรมชาติที่แสดงออกผ่านร่างกายและไม่ใช่สิ่งที่ได้รับมาโดยธรรมชาติกับการนอนเท่านั้น..แต่ค่อนข้างเป็นสิ่งที่สำคัญกับความหมายทางวัฒนธรรมและกระบวนการขัดเกลาทางสังคม

     ย้อนกลับมาที่งานทางมานุษยวิทยาในยุคเริ่มแรก งานศึกษาทางชาติพันธุ์วรรณนาไม่กี่ชิ้น ที่อ้างถึง ให้ความสนใจหรือศึกษาเกี่ยวกับการนอน การพูดถึงการนอนมีการอ้างอิงเชื่อมโยงกับความฝันอยู่บ่อยครั้ง  การนอนเสมือนการเปลี่ยนผ่านและการเดินไปยังอีกโลกหนึ่ง  ดังเช่นชาวอินเดียนในอเมริกาใต้ เชื่อเรื่องการนอนเป็นการเดินทางสู่โลกแห่งความฝันซึ่งมีสถานะเท่ากับโลกของความจริง หากในฝันของพวกเขามีใครทำร้าย เมื่อตื่นจากความฝันพวกเขาก็จะเข้าไปทำร้ายคนนั่นคืนในโลกแห่งความจริง

ในเฮติ การนอนเป็นสิ่งที่ถูกพิจารณาว่าเป็นเสมือนการเดินทางไปเยี่ยมเยียนพระเจ้า เป็นต้น..

   แม้ว่านักมานุษยวิทยาจะไม่ได้เน้นย้ำหรือสนใจเกี่ยวกับเรื่องการนอนในการเป็นประเด็นของการศึกษามากนัก แต่การนอนหลับก็มักจะแทรกหรือปรากฏในงานสนาม งานขาติพันธุ์วรรณนาในยุคคลาสสิค ตัวอย่างที่เป็นไปได้กับการสังเกตการณ์เกี่ยวกับการนอน การศึกษาการนอนในวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจลักษณะทางโครงสร้าง ว่าใครนอน นอนอย่างไร ที่สำคัญคือพวกเขาคิดกับการนอนอย่างไร

     งานชิ้นสำคัญของมาลีนอฟสกี้ เรือง Argonauts of the western pacific (1922) และ A diary in the strict sense of the Term  (1989) บรรยายความยากลำบากของนักมานุษยวิทยาที่สร้างความยากลำบากในการนอนในช่วงการทำงานภาคสนาม ในพื้นที่ใหม่ที่ไม่คุ้นชิน ในไดอารี่ของเขา เขียนอ้างถึงการไปนอน (went to sleep)  การนอนจึงเป็นเครื่องหมายเช่นเดียวกับการสิ้นสุดของวันและความกระตือรือร้นของเขากับการทำงานสนาม รวมทั้งการอ้างถึงความไม่สามารถนอนในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ที่สร้างความกังวลของเขาในการนอนมากกว่าเรื่องการทำงานภาคสนาม

    ในงานเรื่อง Argonauts of the western pacific (1922)  การอธิบายถึงลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ เชื่อมโยงกับการนอนหลับในหมู่บ้าน ในเกาะโทรเบี้ยน เขาบันทึกเกี่ยวกับการสร้างบ้านบนพื้นดิน ที่มืดมากและอุดอู้ ที่ถูกครอบครองโดยสามี ภรรยาและลูกเล็กๆ ส่วนชีวิตลูกเมื่อเป็นวัยรุ่นก็จะแยกบ้าน ภายในบริเวณที่อยู่อาศัยจะใช้ตอนกลางคืนเท่านั้นหรือช่วงที่ฝนตกเปียกชื้น และใช้เพื่อนอนเป็นหลักและการมีเพศสัมพันธ์ แต่ ไม่ค่อยทำกิจกรรมอื่นๆ 

    ในงานของเลวี่ สเตร๊าท์เรื่อง  Tristes -Tropique   (1961) บันทึกว่าขนเผ่า Bambikwara เป็นสิ่งที่ถูกอ้างกับชนเผ่าเพื่อนบ้านว่าเป็น uaikoakore หรือคนผู้ซึ่งนอนกับพื้นดิน ที่อ้างอิงการนอนของพวกเขาบนพื้นดินที่โล่งเตียน บ่อยครั้งมีขี้เถ้าถ่านจากไฟที่พสกเขาก่อเพื่อรักษาความอบอุ่นในช่วงกลางคืน.                           

Raymond Firth (1936) ในงานWe the Tikopia สร้างจุดสำคัญที่เกี่ยวกับการนอนและตอนกลางคืน  การนอนของTikopia คือระบบสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับพิธีกรรมเฉลิมฉลอง  คือเด็กหนุ่มที่เจ้าพิธีกรรมแรกรับ  ที่ได้รับความเจ็บปวดจากการตัดหรือกรีด หรือขลิบปลายอวัยวะเพศขาย ในข่วงพิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน เด็กผู้ชายเป็นสิ่งที่จัดวางการนอนโดยชุมชนของพวกเขา การนอนเสื่อที่ปูอยู่บนพื้น ที่เด็กผู้ชายต้องนอนหลังพิธีกรรม เปรียบดังการกลับไปสู่มดลูกของแม่ที่ให้กำเนิด และเมื่อพวกเขาตื่นขึ้นมาในเช้าวันถัดไปก็คือการกลับมาเกิดใหม่ ดังนั้นการนอนคือสัญลักษณ์ของการเติบโตและการเปลี่ยนผ่านสู่สถานภาพใหม่ของพวกเขา

    ในงานของ Radcliffe-Brown (1948) บรรยายเกี่ยวกับชาวเกาะอันดามัน ทั้งเด็กผู้หญิงและผู้ชาย ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ผู้ใหญ่ พร้อมกับพิธีกรรมฉลองที่สำคัญ  ในพิธีของการแยกตัว ที่จะมีการสร้างพื้นที่ควบคุมร่างกาย โดยเด็กชายจะต้องอยู่ด้วยกันห้ามพูดห้ามนอน 48 ชั่วโมง และเด็กผู้หญิงจะต้องอยู่ด้วยกันไม่พูดหรือไม่นอน 24 ชั่วโมง จึงจะถือว่าสมบูรณ์

  เช่นเดียวกับการแลกเปลี่ยนที่เรียกว่า Kula  ของชาวเกาะโทรเบี้ยน ที่ผู้นำเรือแคนู ที่เรียกว่า Towlinga จะมีพิธีกรรมและข้อห้ามที่เคร่งครัด เช่น การต้องนอนคนเดียวลำพัง ในขณะที่ผู้ชายหนุ่มคนอื่นจะนอนอยู่ด้วยกัน..

    นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการนอน ทั้งในแง่ของอันตราย การควบคุม หรือสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่าน เติบโต เกิดใหม่ และการเดินทางไปยังอีกโลกหนึ่ง  การนอนถูกเรียนรู้ร่วมกัน ถูกถ่ายทอด ตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ...ในโลกดั้งเดิม ที่เปลี่ยนผ่านสู่โลกสมัยใหม่ การกำหนดช่วงเวลาการนอนที่สัมพันธ์กับสุขภาพ ท่านอนของทารก เด็กและผู้ใหญ่ที่ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการนอน เช่น ผ้าห่ม หมอน เตียงนอน และอื่นๆ อาชีพที่สัมพันธ์กับการนอนและห้ามนอน การทำงานกลางวันกลางคืน  โลกออออนไลน์ การซื้อของออนไลน? การพูดคุย การดูซีรี่ส์ย้อนหลังได้ยาวๆ การดูรายการทีวีตลอดวันที่กระตุ้นการไม่หลับไม่นอน และอื่นๆ ล่วนช่างน่าสนใจยิ่งในปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัย



วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

ทบทวนแนวคิดเรื่องผู้สูงอายุกับบ้าน ในมิติทางมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 การอ่านงานเก่าตัวเอง เพิ่มสถานการณ์ใหม่ และเอาความคิดร่วมสมัยมาวิเคราะห์ ผ่านบ้านไทดำ ห้องผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษ ผีพ่อแม่ ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงเชิงนโยบาย ในเรื่อง “บ้านกับผู้สูงอายุ” กับนโยบายรัฐสวัสดิการ

อาจต้องเริ่มต้นจาก “บ้าน”ความหมายของมันคืออะไรบ้างในภาวะของระบบทุนนิยมที่สร้างความหมายของบ้านกลายเป็นวัตถุหรือสินทรัพย์ บ้านอาจจะเกี่ยวโยงกับอารมณ์ความรู้สึก ความอบอุ่น ความรัก ความสุข หรืออื่นๆ ตามการรับรู้และประสบการณ์ชีวิตและบริบทต่างๆที่เปลี่ยนผ่านตัวตน ความคิดและสร้างความหมายต่อเรื่องบ้าน..
ในระบบทุนนิยม การมีชีวิตที่ดีสัมพันธ์กับเรื่องเงินและการดำรงชีวิต คุณภาพชีวิตเท่ากับการมีเงินใช้ วิธีคิดดังกล่าวได้ต่อเติมและสร้างความหมายต่อเรื่องบ้าน ลดทอนและจำกัดความหมายของบ้านที่หลากหลาย โดยเฉพาะความหมายในเชิงวัฒนธรรม ความหมายในเชิงนามธรรม ความคิด การรับรู้ อารมณ์และความรู้สึก เช่น บ้านกับอำนาจในความเป็นเข้าของ บ้านคือครอบครัว บ้านคือความสัมพันธ์ บ้านคือจิตวิญญาณ บ้านคือมูลมังของพ่อแม่ บ้านเป็นพื้นที่ของบรรพบุรุษ บ้านคือศูนย์กลางของโคตรวงศ์ และอื่นๆ
ส่วนเหล่านี้คือเรื่องสำคัญที่ควรจะต้องนำมาพิจารณาในเรื่องการสร้างสวัสดิการผู้สูงอายุและคุณภาพชีวิต ภายใต้แนวคิดเรื่องของการเปลี่ยนบ้านให้เป็นสินทรัพย์ของผู้สูงอายุ คนในวัยเกษียณที่เป็นเจ้าของครอบครองอยู่ เพื่อให้มีรายได้ เลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ควรเชื่อมโยงกับความจริงว่าด้วยศักยภาพ ความเป็นผู้สูงอายุและความมีศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ....
การกลายสภาพผู้สูงอายุเป็นลูกหนี้ มันได้ลดทอนความภูมิใจในชีวิตของผู้สูงวัยหรือไม่ หรือเราควรต้องทำอย่างไร ที่จะชี้หรือทำให้เห็นความภาคภูมิใจหรือตระหนักในศักดิ์ศรีแห่งตน ในการเปลี่ยนบ้านที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรง มาเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะเหมือนการจำนอง โดยการเอาทรัพย์สินที่เหลืออยู่ในบั้นปลายชีวิตมาเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต...
ข้อเท็จจริงคือผู้สูงอายุแต่ละทุนมีทุนที่ไม่เท่ากัน
ผมชอบแนวคิดเรื่อง field หรือสนามของ ปิแอร์ บูดิเยอร์ เพราะมันทำให้เราสามารถทำความเข้าใจผู้คนและสังคมที่เชื่อมโยงกับวิธีคิดแบบ มาร์กซ์เรื่องชนขั้นและการตัดสินใจทางชนชั้น ที่สัมพันธ์กับทุน (capital) สนาม (field) และจริต (habitus) ...
การวิเคราะห์สังคมในชุดของชนชั้น บูดิเยอร์ใช้แนวคิดว่าด้วยสนาม ในลักษณะของพื้นที่แข่งขันหรือสนามทางสังคม (social arena) เป็นเสมือนพื้นที่ของเกมส์ สนามคือกลยุทธ์ของผู้คน เป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาและเป็นแหล่งทรัพยากรที่ปรารถนา
สนามจึงเกี่ยวโยงกับทั้งการศึกษา (academic field) สนามของศาสนา (religious field) สนามทางเศรษฐกิจ (economic field) และสนามของอำนาจ (the field of power)
สนามอาจถูกนิยามเช่นเดียวกับเครือข่าย (net work) หรือ สนามคือระบบของการจัดวางตำแหน่งทางสังคม ( a system of social position) กระบวนทำให้เป็นโครงสร้างอยู่ภายในของชุดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าทุกสนามคือสถานที่ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกิดขึ้น
อำนาจดังกล่าว สัมพันธ์กับสนามที่แตกต่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับการชี้ขาดหรือตัดสินในรูปแบบของทุน (capital)ที่มีอยู่ อย่างค่อนข้างจะมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสัญลักษณ์
พ่อแม่ให้เด็กหรือลูกของพวกเขาด้วยทุนทางวัฒนธรรม ที่สร้างรสนิยม (taste) สร้างการรับรู้เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่สวยงาม มีคุณค่า เป็นอุดมการณ์หลัก และสร้างความแตกต่างระหว่างชนชั้นซึ่งสร้างระยะห่างในรสนิยมของตัวเองกับรสนิยมของคนอื่นๆทั่วไป
คำถามคือ ทุนทางวัฒนธรรมที่คือสิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของผู้คนไปยังความได้เปรียบ ภายใต้ชุดของคำว่าการศึกษาได้อย่างไร
บูดิเยอร์ได้พิจารณาร่างกายในฐานะทุนทางกายภาพที่สามารถแปรไปเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมได้ในภายหลัง โดยให้ความสนใจกับความหมายทางสัญลักษณ์ที่ประทับอยู่ในร่างกายของแต่ละคนรวมถึงกระบวนการที่ผู้คนทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและสมาชิกของชนชั้นลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของทุนที่มีอยู่ในร่างกายของตน ด้วยวิธีการต่างๆ เช่นการศึกษา การใช้แรงงาน การใช้ความสามารถพิเศษ เช่นกีฬา ดนตรี การแสดง หรือการคบหากับคนที่สังกัดชนชั้นเดียวกัน ที่ทีสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมใกล้เคียงกันและมีรสนิยมคล้ายคลึงกัน
ร่างกายของผู้สูงอายุในสังคมเกษตรกรรม ที่ทำงานอย่างหนักเพื่อส่งลูกเรียนในระดับที่สูงเพื่อไม่ให้ลำบากเหมือนตัวเอง ซึ่งดูเหมือนว่าทักษะความชำนาญในด้านเกษตรกรรมจะถูกเก็บรักษาไว้ในตัวผู้สูงอายุ ในขณะที่ลูกหลานรุ่นใหม่ถูกตัดขาดจากทักษะเหล่านี้ ภายใต้อุดมคติใหม่และการสะสมทุนทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นผ่านระบบการศึกษา ในขณะที่ร่างกายของความชราถูกตัดออกจากมิติทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันบ้านของพ่อแม่ก็เป็นสิ่งที่ลูกหลานจะไม่เข้าไปยุ่งหรือครอบครอง เมื่อพ่อแม่มีขีวิตอยู่ ก็ดำรงสถานะความเป็นเจ้าบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นทุนชีวิตของผู้สูงวัย ที่ยังคงดำรงภาวะของการครอบครองอำนาจอยู่ ในขนบทจะชัดเจนมากในเรื่องนี้
กลับมาที่มุมมองเรื่องของความมั่นคงของผู้สูงอายุกับการมีบ้าน คือสถานที่ที่พึ่งที่พักพิงสุดท้ายของมนุษย์ ทุกคนอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ดังนั้นรัฐ สถาบันการเงินใช้อุดมคติเรื่องนี้ ในการส่งเสริมให้คนมีบ้านที่อยู่อาศัยในบั้นปลายชีวิต การเปิดช่องให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อทางการเงิน สามารถแปรทรัพย์สินที่มีอยู่หรือเป็นเจ้าของให้กลายเป็นเงินรายได้ต่อเดือนได้ เพื่อเปิดโอกาสให้คนกลุ่มเหล่านี้มีคุณภาพชัวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตัวเองมากขึ้นตามวิธีคิดเรื่องนโยบายสวัสดิการ ภายใต้รูปแบบการกู้เงินรูปแบบหนึ่งของคนสูงวัยหรือผู้เกษียณ โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันตามระยะเวลาที่กำหนด
ในความจริงบางคนผ่อนบ้านมาทั้งชีวิต จนถึงวัยเกษียณ อายุ 60 ปี ตามระยะเวลาที่กู้เงินซื้อบ้าน พอหมดหนี้สินเรื่องบ้าน ก็มีความต้องการจะปลดแอกตัวเองจากภาระต่างๆทั้งการทำงาน หนี้สิน การเกิดความรู้สึกในความเป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของทรัพย์สิน ที่สามารถใช้ดอกผลจากน้ำพักน้ำแรงและความเป็นเจ้าของบ้านของตัวเองในช่วงบั้นปลาย แต่วิธีคิดการแปลงบ้านเป็นทรัพย์สินให้กับผู้สูงอายุ ได้สร้างภาระเงื่อนไขผูกพันอีกครั้งในช่วงบั้นปลายชีวิตของผู้สูงอายุ...
อีกประเด็นหนึ่ง ธรรมชาติของความจำเป็นในการใช้เงิน ภาวะความผันผวนทางการเงินที่ไม่แน่นอน ทำไมผู้สูงอายุในชนบทออมเงินในกองทุนต่างๆค่อนข้างน้อย แต่นิยมกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ ความต้องการค่าทำศพ เพราะกลัวลูกหลายจะไม่มีเงินจ่ายค่าจัดงานศพให้ตัวเอง รวมทั้งการไม่มีเงินจัดงานแต่งงาน หรืองานบวช การจัดการของชาวบ้านคือ การกู้เงินนอกระบบ ในระบบ การเอาข้าวในยุ้งไปขาย สิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรมที่เฉพาะ เนื่องจากมุมมองหรือทัศนคติว่าการออมแบบมีเงื่อนไขในกองทุนต่างๆคือข้อจำกัดที่ไม่ยืดหยุ่นในการตั้งรับกับสถานการณ์ปัญหาที่มีความผันผวนตลอดเวลา....
การใช้เงินของครอบครัวไม่ได้มีอัตราคงที่ในแต่ละเดือน บางเดือนไม่ใช้เลย บางเดือนใช้มาก บางเดือนใช้น้อยตามเงื่อนไขของครอบครัว เข่นฤดูกาลเพาะปลูก เจ็บป่วยหรือมีงานศพ งานแต่ง งานบวชของสมาชิกในครอบครัว การจัดการทรัพย์สินมี ผู้สูงอายุที่อายุมาก เจ็บป่วย มักทำพินัยกรรมไว้ หรือจัดการแบ่งมรดกให้กับลูกหลานของตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเวลาเสียชีวิต...
ผู้สูงอายุไม่ว่าจะอยู่ในเมือง ชนบท ผู้สูงอายุที่เป็นชาวนา ผู้สูงอายุที่เป็นข้าราชการเกษียณ มีสถานะทางสังคมและรายได้ที่แตกต่างกัน ย่อมมีวิธีคิดมุมมองต่อการใช้ขีวิตในบั้นปลายที่ต่างกันแน่นอน คำถามที่ท้าทายก็คือเราจะทำนโยบายอย่างไรให้สามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมแบะสอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงของผู้สูงอายุนสังคมไทย
ในชนบทบางแห่ง แม้ว่าที่ดินจะถูกแบ่งให้กับลูกๆ แต่บ้านของพ่อแม่ยังคงเป็นศูนย์กลางของลูกหลาน และส่วนใหญ่บ้านของพ่อแม่จะตกเป็นมรดกของผู้ดูแลพ่อแม่ หรือลูกสาวคนสุดท้อง...
ภาวะความเป็นผู้สูงอายุที่ประสบความสำเร็จ ผู้สูงอายุที่ปลดแอกจากพันธนาการทางสังคม รวมถึงเศรษฐกิจการมีเสรีภาพและอิสระทางเศรษฐกิจ การเงินในช่วงบั้นปลายของชีวิต มีเงินในการดำรงชีพ ไม่พึ่งพาลูกหลาน ไม่มีหนี้สิน พึ่งตัวเองได้ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี..
อาจกล่าวว่า เมื่อเราพูดถึงวัตถุในทางสังคมวัฒนธรรมันมีความหมายหลากหลาย ทั้งมิติเชิงกายภาพ มิติทางจิตวิญญาณ เช่นเดียวกับ Macel Mauss นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้เคยเสนอความคิดในเรื่องการให้ของขวัญของกำนัล ( the gift ) ดังนั้นในแง่นี้วัตถุต่างๆล้วนเต็มไปด้วยความหมายการแลกเปลี่ยน ความสัมพันธ์และพันธะสัญญา ที่ทำให้เราเห็นความน่าสนใจระหว่างวัตถุกับความมีเอเจนซี่ในตัวของมันเอง ที่สามารถกำหนดโครงสร้างของความสัมพันธ์กับผู้คน เช่นเดียวกับของขวัญ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการแลกเปลี่ยน มารยาททางสังคมเมื่อได้รับของแล้วก็จำเป็นต้องตอบแทนหรือให้กลับคืน
ผมยกตัวอย่างวัตถุทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น เสื้อฮี ของชาวไทดำที่ใช้ในพิธีกรรมว่าด้วยชัวิตและความตายของชาวไทดำ การสวมใส่เสื้อฮีในพิธีกรรมต่างๆทั้งเสนเรือน แต่งงาน หรืองานศพ สะท้อนให้เห็นว่าตัวเสื้อของชาวไทดำในฐานะของวัตถุ (object) มันมีสิ่งที่เขื่อมโยงกับจิตวิญญาณ(spiritual) ความเชื่อเรื่องขวัญ เรื่องผีพ่อแม่ การส่งต่อเสื้อเหล่านี้ให้กับลูกชายคนโตที่จะต้องใส่ในพิธีเลี้ยงผีเรือนของบรรพลุรุษในฐานะของเจ้าเสื้อ....
สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ของวัตถุ(object) กับความเป็นอัตตภาวะ(subjectivity) การเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับ วัตถุและสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ ที่ได้สร้างการรับรู้และการเปลี่ยนแปลงของตัวตน และส่งผ่านความหมายของตัวตนที่อาจจะเปลี่ยนรูป หรือผสมความหมายเดิมกับความหมายใหม่ หรือสร้างความหมายใหม่ขึ้นมาเลย ซึ่งมีความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ลูกหลานไทดำ ผู้สืบทอดสืบต่อในการดูแลห้องผี (ตะล่อห่อง) ผู้รักษาปั๊บผีเฮือน ผู้สืบล้ำก่ำผี....
วัตถุจึงไม่ได้แยกขาดออกจากความเป็นมนุษย์ แต่ได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ระหว่างมนุษย์กับวัตถุหรือสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ ตัวอย่างเช่น คนข้างนอกสังคมไทดำที่ไม่ได้นับถือผีเดียวกันห้ามเข้ามาในห้องผี หรือการที่คนต่างสายตระกูลจะมานอนในบ้านไทดำต้องบอกกล่าวบรรพบุรุษในตะล่อห่อง(ห้องผีเรือน)ก่อนเสมอ...
ประเด็นทางสังคม มีมุมมองทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้ให้ข้อขบคิด วิพากษ์ และศึกษาได้อยู่เสมอที่สำคัญต้องชี้ให้เห็น 3 ส่วนสำคัญคือแนวคิดทฤษฎีและระเบียบวิธี( Discipline ), พื้นที่ศึกษาหรือสนาม(Area )และ ประเด็นปัญหาหรือสถานการณ์ปัญหา ( Issue ) ที่เป็นพื้นฐานที่ทำให้วัตถุไม่ว่างเปล่าหรือไร้ความหมาย ความคิดไม่ได้ลอยๆหรือมืดบอดเพราะไม่มีรูปธรรมมารองรับการอธิบาย..

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...