วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

เริ่มจากห้องแถว(3)


บ่อน้ำบาดาล น้ำซ่าง พื้นทีสาธารณะ
บริเวณบ่อน้ำซ่างหรือบ่อน้ำบาดาลซึ่งเป็นบ่อน้ำสาธารณะ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก บ่อน้ำบาดาลเป็นบ่อน้ำลึกซึ่งไม่รู้ว่าเท่าไหร่ แต่ถ้าก้มลงไปจะเห็นมีน้ำอยู่ประมาณเกือบสองเมตรได้นับจากปากหลุม ความลึกของมันทำให้ดูน่ากลัวไม่น้อยสำหรับเด็ก ผมจึงไม่ค่อยมาเล่นบริเวณนี้ถ้าไม่มาอาบน้ำ หรือเก็บมะไฟ  บริเวณปากหลุมจะเอาไม้ใหญ่ สูงและหนามาวางต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมเพื่อกันไม่ให้เด็กหรือใครพลัดเดินตกลงไป  บริเวณบ่อน้ำบาดาล มีต้นมะไฟขนาดใหญ่ออกลูกสีเหลืองเป็นช่อ ผมและเพื่อนๆมักจะมาเก็บกินกันเป็นประจำเพราะรสชาติหวานอมเปรี้ยวของมัน บริเวณต้นมะไฟมีไม้ไผ่ขนาดยาวที่ตรงปลายจะมีไม้เหมือนตะขอ ไว้เกี่ยวตะคุหรือถังน้ำหย่อนลงไปข้างล่าง จากนั้นก็สาวไม้ที่มีถังน้ำอยู่เต็มขึ้นมา ถังแรกสู่ถังที่สอง จากนั้นก็เอาไม้หาบที่ทำจากไม้เผ่าขนาดยาว ทำก้านทั้งสองถากให้นูนเพื่อให้ถังเกี่ยวได้และไม่เลื่อนตกลง มา สอดเข้าไปบนหู(สายที่จับ)ของถังหรือตะกร้า ให้อยู่บนไม้ที่ถากทั้งสองด้านและใช้ไหล่วางพาดตรงกลางไม้หาบ กะให้มันพอดีสมดุลกับการรับน้ำหนักของร่างกาย แล้วก็ทยอยกันเดินกลับบ้านเวลาเดินก็จะโยกไปมาเป็นจังหวะขึ้นลงซ้ายขวาตามขาที่ก้าว จนถึงบริเวณบ้านก็จะนำน้ำมาใส่ในตุ่ม หากไม่เต็มก็กลับมาตักใหม่จนเต็ม  ซึ่งบ่อน้ำใช้กับบ่อน้ำกินจะไม่เหมือนกัน เพราะบางครั้งชาวบ้านบอกมาน้ำบ่อนี้ไม่อร่อย ก็จะไปตักที่อื่นเป็นกิโลมาไว้เป็นน้ำกิน
บ่อยครั้งผมจะเห็นบ่อน้ำบาดาลเป็นพื้นที่สาธารณะ ชาวบ้านจะมาพบปะกันบริเวณนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงและเด็กที่จะมาตักน้ำและอาบน้ำบริเวณนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเที่ยวสุดท้ายที่จะนำน้ำไปใส่ตุ่มหรือโอ่งให้เต็ม ก็จะตักน้ำขึ้นมาอาบก่อน น้ำสีขาวขุ่น บางครั้งต้องใช้สารส้ม แต่ถ้าหน้าฝนปริมาณน้ำจะมากและใสมากกว่า ชาวบ้านก็จะอาบบริเวณใกล้ๆบ่อน้ำ บางคนเอาถังมาอาบที่ต้นมะไฟ เตรียมสบู่กลิ่นหอมก้อนสีชมพู สีเขียวมาอาบ บางคนซักผ้า เสร็จแล้วก็ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งกลับบ้านไปพร้อมกับถังที่มีน้ำเต็ม ชีวิตของชาวชนบทสัมพันธ์กับธรรมชาติในลักษณะของการพึ่งพาอาศัย รวมถึงการอยู่ร่วมกันในชุมน การแบ่งปันข้อมูลข่าวสารในชุมชน ลูกคนนั้นคนนี้ไปเรียนหนังสือในเมือง ไปทำงานกรุงเทพฯ คนในหมู่บ้านตาย จะแต่งงาน หรือเจ็บป่วย ก็จะสื่อสารบอกข่าวกัน ก่อนที่หอกระจายข่าวจะเข้ามา และหมู่บ้านก็อาศัยโทรโข่งจากหอกระจายข่าวรับรู้ข่าวสารอยู่กับบ้านในเรื่องสำคัญของชุมชน แต่สิ่งที่หอกระจายข่าวทำไม่ได้ก็คือ เรื่องที่ลึกซึ้ง เป็นความลับหรือการซุบซิบในชุมชน ซึ่งชาวบ้านก็จะใช้พื้นที่สาธารณะตรงนี้มากกว่า น่าเสียดายว่าปัจจุบันบ่อน้ำนี้ได้ถูกถมและปิดไปแล้วทำให้บรรยากาศแบบเดิมๆเลือนหายไป
นี่อาจจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าความเจริญ ที่ทำให้พื้นที่ส่วนตัวเข้ามามีความสำคัญและลดทอนความหมายของพื้นที่สาธารณะลงไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...