วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

ผังเมืองกับการจัดการพื้นที่บนฐานของความจริง?(6)


การอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนมีหลายสาเหตุ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในด้านที่มาแต่ก็อยู่ร่วมกันมาได้อย่างยาวนาน สิ่งที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ดังกล่าว เป็นผลมาจากการพัฒนาและขับเคลื่อนในด้านพลังงานของระบบทุนนิยม ที่ใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติ ในเรื่องที่ดิน ป่าไม้ ในเรื่องของการขนส่ง การคมนาคม การสร้างทางรถไฟเพื่อเป็นเส้นทางติดต่อค้าขายและเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาและความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อระหว่างเมืองศูนย์กลางก็คือกรุงเทพมหานครกับจังหวัดอื่นในภาคอีสาน การอพยพเข้ามาหักร้างถางพง เพื่อจับจองเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรก็เกิดขึ้นจากสาเหตุเหล่านี้ด้วย ดังเช่นคำบอกเล่าของชาวบ้านว่า
ทรัพยากรเปลี่ยนแปลงไป ป่าไม้ถูกตัดไปหมด เนื่องจากการพัฒนาประเทศ การสร้างทางรถไฟ และใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ราวๆปี 2510 นาใคร เป็นโคกเป็นป่าก็ตัดขายเป็นฟืน ให้รถไฟ นายไสว บ้านหนองตะไกร้ เป็นคนประมูลให้รถไฟ และสร้างโรงเลื่อย[1]
ช่วงปี 2494-2495 มีการตัดไม้หมอนรถไฟทำฟืน นายไสว รับซื้อทำฟืน ฟืนคิดหลาละ 5 บาท ทั้งไม้กรุง ไม้จิก ไม้เต็ง ไม้รัง ถ้าว่ารถไฟไม่มา ไม้ฟืนก็ไม่หมด ป่าลดลงเนื่องจากคนมาหลาย จับจองถากถาง ตัดฟืนทำรางรถไฟ บ้านป่าก้าว ก็ตัดหมด ฟืนรถไฟกองอยู่บ้านป่าก้าว นายไสวมาประมูลหลาละ3 บาท[2]
ทรัพยากรป่าไม้ลดลง เนื่องจากการถากถางของชาวบ้านเพื่อจับจองพื้นที่ทำกิน รวมทั้งการประกาศการให้สัมปทานป่าไม้ และการสร้างทางรถไฟ จากนั้นต่อมาในพื้นที่ก็มีโครงการพัฒนาต่างๆเข้ามาตั้งแต่การพัฒนาแหล่งน้ำภายใต้โครงการโขงชีมูล จนถึงโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานีที่มีความสัมพันธ์กับทรัพยากรใต้พื้นดินคือเกลือและโพแทช ภายใต้นโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ
ดังนั้นทรัพยากรใต้แผ่นดินของจังหวัดอุดรธานี จึงไม่ได้เป็นของคนอุดรธานีเท่านั้น แต่ได้กลายมาเป็นทรัพยากรของชาติ ของคนในประเทศ ที่เป็นเจ้าของร่วมกัน ในการสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติ ภายใต้การลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ที่มีศักยภาพและความพร้อมทางด้านการเงิน การลงทุน ความรู้และเทคโนโลยีอันทันสมัย ในการนำทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวมาใช้ประโยชน์และแจกจ่ายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับคนกลุ่มต่างๆ ในฐานะผู้ใช้ทรัพยากรกับเจ้าของทรัพยากร โดยการใช้ประโยชน์จากดินเค็มของภาคอีสานที่มีทรัพยากรเกลือและแร่โพแทชใต้พื้นดินอันมีค่ามหาศาล ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสร้างผลกระทบให้กับชาวนาอีสาน[3]  ในช่วงของการพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือและการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเกลือจากชายฝั่งทะเลเข้ามาสู่ดินแดนที่ราบสูงในช่วงปี พ.ศ.2514 เป็นต้นมา[4]   มาเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ทำให้เกลือใต้พื้นดินของภาคอีสานมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ดังเช่นที่นายประจวบ ไชยสาส์น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการพลังงาน ได้เคยกล่าวว่า

...การพัฒนาเพื่อพลิกฟื้นแผ่นดินที่มีความยากจนให้กลับเป็นพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ ทำอย่างไรจะให้ดินเลวทำให้เกษตรกรร่ำรวย สำหรับที่ว่าทำอย่างไรจะให้ดินเลวทำให้เกษตรกรร่ำรวยในที่นี้หมายถึง เกลือของภาคอีสานที่สามารถทำให้เกษตรกรร่ำรวยขึ้นมาได้...[5]

ดังนั้น ความหมายของเกลือและโพแทชที่เกิดขึ้นในพื้นที่จึงสัมพันธ์กับวิถีเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ในลักษณะที่ภาคเกษตรกรรมจะต้องพึ่งพาปุ๋ยโพแทชเซียมเพื่อใช้บำรุงดินและเพิ่มผลผลิต โดยนำเอาแร่โพแทชซึ่งอยู่ใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ ดังที่เอมอร จงรักษ์ นักวิชาการด้านธรณีวิทยา ได้กล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนา ประชาชนมักไม่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องประสิทธิภาพในการผลิต ทำการเพาะปลูกไปตามธรรมชาติ การใช้ปุ๋ยมีน้อย[6]  หรือคำกล่าวของไสว สุนทโรทก ที่ชี้ว่า อีสานรวยโปแตชแต่ดินกลับขาดปุ๋ยโปแตชเซียม[7] เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีความหมายในแง่ของผลประโยชน์ ที่จะต้องประสานผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่างๆเข้าด้วยกัน ภายใต้แนวคิดการนำแร่โพแทชขึ้นมาใช้ประโยชน์ต่อประเทศชาติและคนไทย โดยเฉพาะคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้มีการพยายามค้นหาและสำรวจทางธรณีวิทยาเพื่อเสาะหาแหล่งแร่โพแทชใต้พื้นดินของประเทศไทย ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในอนาคต  โดยไสว สุนทโรทก ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับแร่โพแทชในทางเศรษฐกิจว่าคือ แร่โพแทชชนิดซิลไวท์ที่มีค่าโพแทชเซียมปริมาณสูงซึ่งเหมาะกับการทำปุ๋ยและใช้ในอุตสาหกรรมเคมีต่างๆ รวมทั้งเป็นแร่ที่มีมูลค่าสูงในตลาดและคุ้มค่าต่อการลงทุน  ว่า

ความจริงเรามีแหล่งเกลือโปแตช มหาศาลจริงๆด้วย แต่ความหมายของเกลือโปแตช ในที่นี้ก็คือ คาร์นาไลท์ แต่อนิจจาเกลือโปแตชที่เราอยากได้ คือ ซิลไวท์ เพราะคาร์นาไลท์แม้จะมีโปแตชเซียมแต่ก็มีปริมาณคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วยังต่ำอยู่คือมีปริมาณโปแตช เซียมออกไซค์เพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น กรรมวิธีในการแยกออกจากเกลือหินก็ยาก สรุปแล้วในขณะนี้ขืนผลิตออกไปก็มีหวังขาดทุน[8]



[1] สัมภาษณ์แม่บุญล้อม อ้อมนอก วันที่ 5 สิงหาคม 2546
[2] สัมภาษณ์แม่สา ดวงปาโคตร  วันที่
[3]ปัญหาดินเค็มเป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากพื้นที่เหล่านั้นทำการเพาะปลูกไม่ค่อยได้ผลและได้ผลผลิตต่ำประมาณกันว่าพื้นที่กว่า 70 เปอร์เซนต์ของอีสานเป็นดินเค็มถึง 77,000 ตารางกิโลเมตร
[4] สัมพันธ์ เตชะอธิกและคณะ ,   เอกาสารการสัมมนาผลกระทบของสิ่งแวดล้อมปัญหาทรัพยากรธรรมชาติภาคอีสาน และผลประโยชน์มหาศาลที่ชาวบ้านไม่ได้ครอบครอง วันที่ 15-16 ธันวาคม  พ.ศ.2532 , (ขอนแก่น: สถาบันวิจัยและพัฒนา, 2532), น. 1-45.
[5] นายประจวบ ไชยสาส์น, โอกาสทองของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาภาคอีสาน,” เอกสารการสัมมนาเรื่องโอกาสทองของการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาภาคอีสาน วันที่28-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ,(อุดรธานี:สถาบันวิทยาศาสตร์ฯ), น. 19-30.
[6] เอมอร จงรักษ์ สถานการณ์แร่โปแตชปี 2515-2519}” ข่าวสารการธรณี  24 (กรกฎาคม 2522) :43-53.
[7]  ไสว สุนทโรทก โปแตชอยู่หนใด,  ข่าวสารการธรณี  22 (พฤศจิกายน 2520) :37-43.
[8] ไสว สุนทโรวาท โปแตชอยู่หนใด,” ข่าวสารการธรณี  22 (พฤศจิกายน.2520) : 37-43.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...