วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การศึกษาเรื่องเล่าเกี่ยวกับเพศ (Sexual story telling) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

เรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องเพศ (Sexual Story Telling)
          Ken Plummer ให้ความสนใจกับภาวะความทันสมัย(modernity)และแนวคิดหลังโครงสร้างนิยม โดยเน้นไปที่บทบาทที่สำคัญของเรื่องเล่า คำพรรณนา(stories and narrative)ที่เกิดขึ้นในช่วงทันสมัย(modern)และทันสมัยตอนปลาย(late modern)ที่ชี้ให้เห็นบทบาทของเรื่องเล่าและวาทกรรมที่สร้างความเข้าใจและประสบการณ์เกี่ยวกับเพศวิถี(Plumme,1995:12) ในการสร้างรูปแบบและแบบแผนเกี่ยวกับเรื่องชีวิตทางเพศ(the forms and patterns of sexual life) สภาวะที่มนุษย์เป็นมนุษย์ผู้เล่าเรื่อง(story-telling beings) ที่เรื่องราวที่เราสร้างนำไปสู่การสร้างโลกของเรา โดยเรื่องราวทางเพศ(the sexual story) ที่ถูกบอกเล่ามีความเกี่ยวข้องอย่างลึกในการเปลี่ยนแปลงทางศีลธรรมและการเมือง และการก้าวข้ามเรื่องราวเกี่ยวกับตัวตน(self) และอัตลักษณ์(identity) ที่นำไปสู่ศักยภาพและความสามรถในการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางสังคม เรื่องราวที่หลากหลายที่ผู้คนต่างๆบอกเล่า ได้ทำหน้าที่เปิดเผย และสร้างความหลากหลายของโครงการใหม่(new project) สิทธิของประชาชนใหม่ (new constituencies) ความเป็นไปได้ใหม่สำหรับอนาคต(new possiblilities for the future) โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับหนทางที่เป็นไปได้ในชีวิตของมนุษย์(human life chances) ที่เกี่ยวกับอารมณ์และประชาธิปไตยทางเพศ (emotional and sexual democracy) ในงานของ Ken Plummer เขาใช้คำว่าพลเมืองของความผูกพัน ( Intimate citizenship) โดยมองว่ามันมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกับความผูกพันใกล้ชิด ความปรารถนา ความพึงพอใจและวิถีทางของการดำรงอยู่ในโลกของเราในสังคมสมัยใหม่ ที่ได้สร้างให้เกิดพื้นที่ใหม่ ข้อถกเถียงใหม่และเรื่องราวใหม่ ที่ปะทะประสานทั้งการควบคุม (Control)ที่อยู่เหนือร่างกาย ความรู้สึกและความสัมพันธ์ ความสามรถในการเข้าถึง (Access) ภายใต้การเป็นตัวแทน ความสัมพันธ์และพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งทางเลือกที่ถูกจัดวางจากพื้นฐานทางสังคม (Socially grounded choice) ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอัตลักษณ์ ประสบการณ์ทางเพศสภาพ(Gender experience )และประสบการณ์เชิงกามรมณ์ (Erotic experience) ที่จัดวางเกี่ยวกับเรื่องเล่าของปัจเจกบุคคลที่อาจจะบอกเล่าเกี่ยวกับความผูกพันใกล้ชิดที่เกิดขึ้น เรื่องเล่าที่จะแนะนำเกี่ยวกับชีวิตใหม่ ครอบครัวใหม่ วิถีทางของการคิดใหม่เกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก ร่างกาย การแสดงออกและอัตลักษณ์ รวมทั้งรูปแบบใหม่ของความอีโรติก (New mode of erotic) ที่เราจะสามารถมองเห็นความหลากหลายของเรื่องเล่าในอดีตของปัจจุบัน อีกทั้งความประสานสอดคล้องกลมกลืนและความขัดแย้ง ซึ่งทุกๆเรื่องเล่าใหม่มันเป็นสิ่งที่ต่อสู้กับสิ่งเก่าอยู่ตลอดเวลา เช่นเรื่องเล่าเกี่ยวกับร่างกายใหม่ (tales of new bodies)  เป็นสิ่งที่ต่อต้านกับค่านิยมแบบจารีตและความเป็นธรรมชาติ หรือเรื่องเล่าใหม่ของเพศวิถีส่งผลให้เกิดความเคร่งเครียดอย่างเข้มข้นกับมาตรฐานดั้งเดิมของเพศวิถี เป็นต้น นี่คือการเมืองของเรื่องเล่า ( Plummer,2003:39)
            สิ่งที่น่าสนใจคือการทำความเข้าใจเพศวิถีในปัจจุบัน พวกเราจะต้องทำความเข้าใจบริบทที่มีความหลากหลายที่ซึ่งความหมาย(meaning)เป็นสิ่งที่ถูกแจกจ่ายไปยังเรื่องของความผูกพัน(intimacy)และเรื่องของกามรมณ์(Erotic)และความซับซ้อนของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ซึ่งให้ภาพของวัฒนธรรมอีโรติกของสังคมที่แตกต่าง (Jeffrey week ,2003:6) เพศวิถีเป็นสิ่งที่ถูกจัดการและถูกทำให้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมในวิถีทางที่แตกต่างรวมทั้งสร้างแบบแผนที่เป็นระบบให้กับความเป็นอัตวิสัยของมนุษย์ ภายใต้วิถีทางที่มนุษย์จัดการความรู้สึกของเราเองเกี่ยวกับความปรารถนา ความต้องการและการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องเพศ สิ่งที่น่าสนใจคือ การสะท้อนเรื่องเล่าทางเพศ (Sexual Stories) ซึ่งสะท้อนให้เห็นการสร้างองค์ประธานในเรื่องเพศใหม่ (New sexual subject)
            สังคมสมัยใหม่ทำให้เกิดเรื่องราวของเพศวิถีที่มีความหลากหลาย ทั้งลักษณะของการสร้างการมณ์ด้วยตนเอง(autoeroticism)ที่สัมพันธ์กับการเติบโตของธุรกิจหนังโป๊ วีดีโอโป๊ ภาพโป๊เปลือยต่างรวมถึง sex toy การเกิดขึ้นของ cybersex ผ่านการแชท ไลน์ การสนทนาในเรื่องเพศผ่านพื้นที่ออนไลน์ การเขียนประสบการณ์ ความตื่นเต้น(excitement)และการผจญภัย(adventure)ในชีวิตทางเพศของตัวเอง รวมถึงการซื้อขายบริการทางเพศทางออนไลน์ หรือการใช้ mobile-eroticism ในกิจกรรมทางเพศเช่น เซ็กส์โฟน หรือการแชร์ภาพ กดไลค์ เขียนเล่าประสบการณ์ ส่งสติ๊กเกอร์ และแสดงอารมณ์ทางเพศวิถีผ่านพื้นที่เฟสบุ๊ค ไลน์ รวมทั้งการเติบโตของเพศเชิงพาณิชย์ (commercial sex) ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตทางเพศของผู้คนในสังคม และการปฏิบัติในแง่ของความสุขเพลิดเพลิน (hedonistic)และความเร่าร้อน (passion)  ในเรื่องของเพศวิถีที่ได้สร้างประสบการณ์ทั้งที่แท้จริง (authentic)และไม่จริง(unreal) กระแสของโพสต์โมเดิร์น เชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกับเพศวิถีในลักษณะของการเป็นผัสสะที่ล่องลอยอย่างอิสระ(free-floating sensation) ที่สามารถจะเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงได้อย่างง่ายดายกับเรื่องราว วัตถุ สสาร ร่างกาย กิจกรรมและอารมณ์ที่หลากหลาย (Bauman 1991:26) สิ่งเหล่านี้ได้สร้างให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆและเรื่องเล่าใหม่ๆในวิถีชีวิตของผู้คนเกี่ยวกับเรื่องของเพศวิถี ที่มีทางเลือก(choice) ความหลากหลาย(variety) ภาวะชั่วคราว(transient) ที่นำไปสู่ความพึงพอใจที่สามารถเกิดขึ้นได้ใหม่อยู่ตลอดเวลา (renewable pleasure)
            เรื่องเล่าสมัยใหม่เกี่ยวกับเพศวิถี (Modern narrative of sexuality) ที่อยู่บนความเป็นเหตุเป็นผล (causal) ความต่อเนื่องเป็นเส้นตรง (linear) ที่สร้างเรื่องของเซ็กส์เช่นเดียวกับประเภทของความจริงที่ชัดเจนที่แน่นอนตายตัวและรอการค้นพบ  (Plummer,1995:132) แต่สำหรับเรื่องเล่าแบบโพสต์โมเดิร์น (Postmodern narrative)  เรื่องของเพศวิถีถูกเชื่อมโยงสัมพันธ์กับความไม่แน่นอน (uncertainly) มากกว่า มีลักษณะของการแปรปรวนและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา (variable)และเป็นวิถีทางของการสำนึกรู้ด้วยตัวเอง (self-conscious way) ซึ่งพึ่งพาอยู่บนการหยิบยืม (borrowing ) จากสื่อต่าง (Mass media) ที่แสดงออกมาอย่างหลากหลายผ่านสื่อและวิธีการสื่อสารรูปแบบต่าง

            เรื่องเล่าได้กลายเป็นสิ่งที่คลุมเครือไม่ชัดเจน (blur) ระหว่างความเป็นเรื่องจริง (fact) กับเรื่องแต่ง (fiction) ความเป็นส่วนตัว (private) กับสาธารณะ (public) และระหว่างของจริง(the real) กับภาพตัวแทน (the representation) ที่ไม่สามารถระบุให้ชัดเจนหรือแยกกันได้อย่างเด็ดขาด (Plummer,1995:137) ภายใต้สภาวะของความยุ่งเหยิงและสับสนของเรื่องเล่า ที่เกิดขึ้นในมิติของพื้นที่ เวลา ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เครือข่ายทางสังคม ความผูกพันใกล้ชิด และความสัมพันธ์ระหว่างความจริงกับภาพตัวแทน (Plummer,1995:161) ซึ่งเชื่อมโยงความเป็นปัจเจกของบุคคลที่เพิ่มขึ้นในสังคมปัจจุบันผ่านการเชื่อมโยงเพศวิถีแบบพลาสติก (plastic sexuality) ได้ชื้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลไปมาของอัตลักษณ์(Gidden,1992:58) ซึ่งเรื่องของเซ็กส์กลายเป็นคำถามที่เกี่ยวกับข้องกับความปรารถนาของปัจเจกบุคคล (individual desire) ความเป็นฉากหรือตอนคล้ายบทละคร(episode)และเป็นเรื่องเล่าของตัวเอง (self-narration) โดยเพศวิถีไม่มีจุดศูนย์กลาง(discentered) ไม่อยู่กับที่ (dislocated) ที่ทำให้มีสถานะที่ไม่มั่นคงของความหมายทางสังคมและบุคคล (social and personal meaning)


อ้างอิง
Plummer,Ken. (1995). Telling Sexual Storries, Power,Change and Social Worlds.London : Routedge.
 Plummer,Ken.    (2003). Intimate Citizenship. University of Washington Press.pp.192.
Week ,Jeffrey (2003). Sexualities and Society A reader .UK : Polity Press.

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปลายนิ้วสัมผัสเป็นสัมผัสตาย โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ปลายนิ้ว : สัมผัสเป็นสัมผัสตาย
“เทคโนโลยีที่ทันสมัยก้าวหน้าทำให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างรวดเร็วและคนสามารถแชร์แบ่งปันข้อมูลข่าวสาร อารมณ์ความรู้สึกระหว่างกัน..แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัส”
ในเวลาหนึ่งวัน การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารบนหน้าเฟสบุ๊คของเราในพื้นที่โซเชียลมีมากมายหลากหลาย ทั้งข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ข่าวสด มติชน ไทยรัฐ CNN BBC หรือข่าวสารข้อมูลเหตุการณ์ เรื่องราว กิจกรรมของเพื่อๆของเราในแต่ละวัน ...ที่ได้สร้างธรรมเนียมหรือวัฒนธรรมของการกดไลน์ กดแชร์  แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่เราหรือคนอื่น UPDATE, UP STATUS หรือ POST ในแต่ละวัน หรือความสามารถที่จะโหลด แชร์ ดูคลิปแบบ Real Times ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีก็อาจจะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่วยเตือนคนอื่น หรือให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว จนไปถึงการสามารถติดตามตัวผู้กระทำความผิดได้ เป็นต้น แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน หากคลิปหรือข้อความนั้นถูกลดทอนความจริงลงไปจนแทบจะไม่เหลือ (หรือบางทีมันไม่มีความจริงอยู่แล้วตั้งแต่ต้น) หรือเอาความจริงบางส่วน หรือเล็กๆ มาตัดต่อ  ขยายความและผลิตซ้ำเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ เพื่อนำไปสู่การตีตรา การกล่าวหา การด่าทอ การเยาะเย้ยถากถางและความรู้สึกเกลียดชังอื่นๆมากมาย ซึ่งปรากฏให้เห็นบ่อยในโลกของสังคมออนไลน์.....
การเห็นบางส่วนโดยไม่เห็นทั้งหมดจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะมันทำให้เราจินตนาการ สร้างเรื่อง ปะติดปะต่อ ประกอบสร้างเรื่องราว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความคิด อุดมคติและความรู้สึกของเราต่อเรื่องนั้นประกอบเข้าไปด้วย มันสามารถกลายเป็นเครื่องมือที่มีพลังอำนาจในการกระทำต่อคนอื่นได้ เหมือนกรณีตัวอย่างเช่นเราเห็นคนนอนอยู่หน้าบ้านเราแต่งตัวมอมแมมเสื้อผ้าขาด เราก็ตัดสินเบื้องต้นแล้วว่าคนคนนี้ต้องเป็นคนเมาและคนบ้า โดยที่เราอาจจะไม่ตั้งคำถามว่า เขาถูกทำร้ายหรือหนีออกมาจากบ้านหรือเปล่า  เมื่อเราคิดว่าเขาเป็นคนเมาหรือคนบ้า เราก็เลยปล่อยให้เป็นแบบนั้นหรือไล่เขาออกไปโดยสนใจที่จะพูดคุยไถ่ถามความเป็นมา ..... “
ย้อนกลับมาที่สังคมโซเชียล สิ่งที่น่าสนใจคือ เครือข่ายของความสัมพันธ์ดังกล่าวที่กระจายอย่างกว้างขวางไม่รู้จบ เริ่มต้นจากเราสู่เพื่อน จากเพื่อนเราสู่เพื่อนของเพื่อนเราอีกที และจากเพื่อนของเพื่อนเราสู่เพื่อนของเพื่อนของเพื่อนเราอีกทีไปเรื่อยๆ ดังกรณีของข่าวที่มีการแชร์ต่อกัน เป็นเรื่องของพ่อเลี้ยงข่มขืนลูกเลี้ยง โดยลูกกล่าวหาว่าแม่แท้ๆมีส่วนรู้เห็นและยินยอมให้พ่อเลี้ยงกระทำกับตัวเอง และยังทำร้ายโดยการใช้น้ำร้อนลวก เพราะความหึงหวง ในช่วงแรกที่มีการนำเสนอข่าวในวันแรกมียอดคนกดไลน์เกือบหนึ่งหมื่น ยอดแชร์อีกหลายร้อย ซึ่งในปัจจุบันน่าจะมากกว่านี้ และอีกหลายๆกรณีที่ความจริงยังต้องรอการพิสูจน์สืบค้นกันต่อไป แต่หลายคนก็ได้ตัดสินและให้คำตอบกับเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นแล้ว.... “กด ฉันต้องกดไลค์  ฉันต้องแชร์” ..... “เสพข่าว...ฟังมัน...อ่านมัน...กดไลน์...ไม่ต้องคิดอะไรมาก”....
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารนับเป็นการพัฒนาที่ก้าวหน้าไปไกลมาก...จากหนังสือพิมพ์รายวันแบบกระดาษมาสู่หนังสือพิมพ์ออนไลน์ในปัจจุบันที่เราสามารถอ่านได้จากสมาร์ทโฟน ไอโฟน แท๊ปเล็ต และอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถเก็บรวบรวมและบันทึกข่าวและเหตุการณ์ต่างๆรวมถึงคลิปภาพและเสียงได้มากกว่าหนังสือพิมพ์ธรรมดาอย่างมหาศาลกว่าหลายเท่าตัว....และเราสามารถย้อนกลับมาอ่านเมื่อไหร่ก็ได้
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความรวดเร็วของการตัดสินคุณค่า พิจารณาเรื่องราวต่างๆ โดยไม่ต้องค้นหาพยานหลักฐานและสืบค้นข้อมูลหาความจริงใดๆทั้งสิ้น แต่เราสามารถใช้อำนาจบนปลายนิ้วมือตัดสินผู้คน เหตุการณ์ได้ผ่านปลายนิ้วสัมผัส ผ่านการกดไลค์ กดแชร์ แสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือดเผ็ดร้อนต่อฝั่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับเรา...
กระบวนการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นไม่ใช่แค่การส่งผ่านข้อความ ภาษาแต่เกี่ยวโยงกับความคิด อารมณ์ความรู้สึกของเราที่มีต่อสิ่งเหล่านี้ด้วย.....
การกดไลน์ กดแชร์มันอาจจะรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันข้อมูลข่าวสารก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและถูกประกอบสร้างความจริงอยู่ตลอดเวลา วันนี้อาจใช่ พรุ่งนี้อาจไม่ใช่ วันนี้เป็นเรื่องจริง พรุ่งนี้เป็นเรื่องลวง เรื่องโอละพ่อ อย่างกรณีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งถูกข่มขืนและฆ่าที่ปาละเมาะ ซึ่งตอนเช้าเธอไปส่งพ่อของเธอที่ไร่มันสำปะหลังก่อนจะพบว่าเป็นศพ พ่อเธอคือผู้ต้องสงสัยและโดนกล่าวหาว่าข่มขืนลูกสาวตัวเอง สุดท้ายตำรวจตามจับคนร้ายได้ แต่สิ่งที่เขาเผชิญก็คือสายตาคนอื่นที่มองเขาเป็นอาชญากรเลวร้าย เพื่อนบ้านที่ไม่ยอมคบหาสมาคมด้วย หรือกระแสในโลกโซเชียลส่วนหนึ่งที่วิพากษ์และด่าทอพ่อเด็กอย่างสาดเสียเทเสียว่าอำมหิต ฆ่าข่มขืนลูกของตัวเองในช่วงที่ถูกกล่าวหา ถึงตอนนี้แม้จะจับตัวคนร้ายได้แต่บางอย่างมันได้ทำลายชีวิตและความรู้สึกของเค้าที่สูญเสียไปแล้วไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้เหมือนเดิมครับ....
                                                                                                                        


ความซับซ้อนของปัญหา นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ความซับซ้อนของปัญหา
ฟังและอ่านข่าวสังคม เกี่ยวกับความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิงอายุ12 ปีโดยพ่อเลี้ยงที่จังหวัดแห่งหนึ่ง
เริ่มต้นจากแม่ที่ทำงานขายบริการ แล้วท้องไม่มีพ่อ ต้องเลี้ยงลูกผู้หญิงที่เกิดมาโดยลำพัง ต่อมาแต่งงานกับผู้ชายคนหนึ่ง ที่พิการทำงานได้ไม่เต็มที่ ตัวแม่เองต้องออกไปทำงานกลางคืนเลี้ยงครอบครัว ทิ้งลูกสาวให้นอนตามลำพังกับพ่อเลี้ยงภายในบ้าน...
เวลาพ่อเลี้ยงเมาแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศ  ก็จะล่วงละเมิดทางเพศลูกสาว กระทำหลายครั้ง  ตลอดระยะเวลา 4 เดือน ต่อมาแม่รู้ถึงการกระทำของสามีตัวเอง จึงแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีกับพ่อเลี้ยงและพาลูกไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล....
หมอบอกว่ามีร่องรอยของการข่มขืน และเด็กติดเชื้อเอช ไอ วี ....
ตัวพ่อเลี้ยงยืนว่าเด็กไม่ได้ติดเชื้อกับตัวเอง แม่เด็กจึงเปิดปากบอกว่า เด็กเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยเพื่อนบ้านตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และรอบข้างของเธอ เพื่อนบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนจะเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี
บางครั้งคนในชุมชนรู้และมองเห็นเหตุการณ์แบบนี้ แต่ก็มองเป็นเรื่องปกติธรรมดา ...เป็นความคุ้นชิน
ฟังข่าวแล้ว รู้สึกว่าปัญหามันซับซ้อนหลากหลายมาก ทั้งปัญหาของโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรม ปัญหาในระดับปัจเจก ระดับชุมชน สังคม ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางอำนาจ หรือแม้แต่ภูมิหลังเรื่องราวประสบการณ์ในชีวิตของแม่ ตัวเด็กและพ่อเลี้ยง และอื่นๆ ดังนั้นการจะทำความเข้าใจและแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่สามารถทำความเข้าใจหรือแก้ไขในมิติเดียวได้ ต้องจัดการในหลายๆมิติไปพร้อมๆกัน เพราะปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงและเด็กแบบนี้กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่และทุกๆวันของสังคมไทย
“เราย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการใช้ระดับสติระดับเดียวกับผู้ที่สร้างมัน(สร้างปัญหานั้นขึ้นมา)”  ไอสไตน์เค้ากล่าวไว้

ร้านโชว์ห่วยกับร้านสะดวกซื้อ ในกระแสวัฒนธรรมการบริโภค นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ตั้งใจว่าวันนี้จะไม่เข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อนม ขนมปัง ซาลาเปา แฮม ไส้กรอก อย่างที่เคยทำในช่วงเวลาที่ไม่ได้ทำกับข้าวและอยากกินอะไรง่ายๆ เลยตั้งใจจะอุดหนุนร้านโชว์ห่วยในหมู่บ้านสักหน่อย พอเดินเข้าร้าน เจ้าของร้านบอกว่า "ไส้กรอก แฮมเบอร์เกอร์ เกี๊ยวน้ำ มีนะ บริการอุ่นให้ด้วย" ผมเลยเดินเข้าไปข้างในจนสุดร้าน ก็มองเห็นตู้จำหน่ายสินค้าของบริษัทยักษ์ใหญ่รายหนึ่งวางอยู่ ข้างๆมีเตาไมโครเวฟสำหรับอุ่น ทั้งการวางชั้น สิ่งของในร้าน ไม่ต่างจากร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่อย่างดาษดื่นในเมืองไทย หรือนี่คือเรื่องของการปรับตัวหรือเป็นกลยุทธ์ใหม่ของบริษัทธุรกิจสินค้าและอาหารยักษ์ใหญ่ ที่ทำให้กลุ่มทุนขนาดเล็ก ขนาดกลางที่มีศักยภาพสามารถผันตัวเองจากร้านชำเล็กๆขยับเข้ามาใกล้ร้านสะดวกซื้อมากขึ้น
ผมไม่ได้มีอะไรมาก แค่รู้สึกว่าวัฒนธรรมของสินค้าและอาหารการกินที่เคยหลากหลายมันลดน้อยลงไป และเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ในครั้งหนึ่งวัยเด็กผมเดินเข้าร้านชำ ผมได้กินขนมแป้ง ขนมโก๋ ถั่วตัด  วันนี้อยากกินขนมแบบนี้ต้องขับรถไปกินที่ตลาดน้ำดอนหวาย นี่ยังไม่นับความสัมพันธ์ของผู้คนในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย การใช้บาร์โค๊ด การติดราคาสินค้า ที่ทำให้อำนาจต่อรองของเรากับผู้ขายน้อยลง
ทุกอย่างล้วนต้องเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และการกระทำทุกอย่างย่อมส่งผลถึงกันเสมอ นี่คือสัจธรรมที่ยอมรับ ก็ต้องโยนกลับมาที่ตัวเราซึ่งเป็นผู้บริโภค เราจะเป็นผู้บริโภคแบบเฉื่อยชา มีอะไรก็กินไปไม่ต้องคิดมาก อิ่มท้อง อร่อยพอ ไม่ต้องตั้งคำถามต่อสิ่งใดๆ ไม่ต้องสนใจเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อมหรือเรื่องสังคม หรือจะเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาดรู้เท่าทัน เป็นผู้บริโภคที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการเลือกและซื้อ รวมถึงรู้อะไรที่ไปให้ลึกกว่าตัวสินค้าที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

ผมว่าผมสนุกกับการเข้าไปในร้านค้าต่างๆ ดูว่ามีสินค้าอะไรบ้าง มาจากไหน มีส่วนประกอบอะไร ต้นทางมันมาอย่างไร กระบวนการผลิตเป็นแบบไหน ใครเทกโอเวอร์ใคร จีเอ็มโอไหม น้ำตาลเยอะไหม เค็มไหม ส่งออกหรือนำเข้า อื่นๆ มันทำให้การซื้อสินค้าและการกินมีรสชาติ สนุกและมีชีวิตชีวากับการคิดและตั้งคำถามกับสิ่งที่เราบริโภค แม้ว่าเป้าหมายสุดท้ายคือการบริโภคอาหารเหล่านี้เข้าปากแล้วก็ตัดสินให้คุณค่ากับมันว่า อร่อยไหม ครั้งหน้าจะซื้อไม่ซื้ออีก แต่ถ้าเราสามารถบอกตัวเองได้ว่านอกเหนือจากความอร่อยมันมีอะไรที่ทำให้เราต้องซื้ออีก เช่น สะดวกกับช่วงเวลาที่เร่งรีบ เหมาะกับเงินที่มีในกระเป๋า หรือเป็นสินค้าของท้องถิ่นที่มาวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อต้องอุดหนุน สินค้าเหล่านี้เพื่อสุขภาพและอื่นๆ มันทำให้การบริโภคของเรามีความหมายมากขึ้นครับ

วาทกรรมการพนัน โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

วาทกรรมการพนัน
เมื่อเวลาอ่านข่าวหรือบทสัมภาษณ์ของกลุ่มคนต่างๆเกี่ยวกับประเด็นเรื่องของการเปิดบ่อนคาสิโน ผมรู้สึกหงุดหงิดและตะขิดตะขวงใจทุกครั้ง กับคำพูดหรือวาทกรรมหลายชุดที่มักพบคือ
1.การพนันอยู่ในสายเลือดของคนไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นรากเหง้าความคิดแบบชีววิทยาที่ให้ความสำคัญกับยีนส์และพันธุกรรม ซึ่งสามารถถ่ายทอดลักษณะเด่นและลักษณะด้อยไปยังบุคคล  เมื่อการพนันอยู่ในสายเลือดของคนไทย มันฝังรากลึกในจิตวิญญาณ วิธีคิด วิถีชีวิต เนื้อตัวร่างกายของคนไทย ซึ่งเหมือนจะบอกนัยว่ามันแก้ยาก ก็ปล่อยๆมันไปเถอะ ความคิดแบบนี้มีลักษณะแบบสารัตถะนิยม และสากลนิยมที่พยายามจะอธิบายแบบเหมารวมถึงลักษณะ คุณสมบัติบุคลิกภาพและอัตลักษณ์ประจำชาติ จริงๆแล้วการพนันอยู่ในสายเลือดของคนไทยจริงหรือ? มันมีอยู่กับทุกคนหรือเฉพาะบางคนเท่านั้น? อย่าเหมารวม...
2.เมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนาไม่สมควรเปิดบ่อนคาสิโน เพราะการเปิดบ่อนคาสิโนเป็นการขัดต่อหลักธรรมคำสอนและศีลธรรมจรรยาอันดีงาม(ซึ่งที่จริงในประเทศไทยมีความหลากหลายทางศาสนาและหลักการของทุกศาสนาก็สอนให้คนเป็นคนดี) ซึ่งคำพูดแบบนี้ไม่อาจใช้ได้กับทุกกรณี บางประเทศที่เป็นเมืองพุทธศาสนาเหมือนกันกับไทย อย่างลาว พม่า กัมพูชา ต่างก็มีบ่อนคาสิโนเกิดขึ้น การอ้างแบบนี้ก็คงสรุปเหมารวมทั้งหมดไม่ได้เช่นกัน และควรแยกระหว่างพุทธศาสนาซึ่งเป็นเรื่องโลกุตรธรรม กับการพนันซึ่งเป็นเรื่องโลกียธรรม ซึ่งเป็นที่รวมของกิเสส ตัณหา ความโลภ ความหลงทั้งปวง ที่นำมาซึ่งปัญหาต่างๆที่กระทบกับวิถีชีวิต ทรัพย์สินและความปลอดภัยของพลเมืองในประเทศ อีกทั้งเรื่องการพนันมีความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ ประเด็นการตัดสินใจเชิงนโยบาย ประเด็นทางเศรษฐกิจและประเด็นทางการเมือง ที่ประเทศไทยควรมีจุดยืนในเรื่องนี้ชัดเจน ที่สำคัญถ้าคนไทยทุกคนมีศีล มีธรรมมะ ยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักศาสนาแล้ว เราก็คงไม่ต้องถกเถียงเรื่องการตั้งบ่อนคาสิโนในประเทศ
3.การเปิดบ่อนการพนันจะนำมาซึ่งรายได้อันมหาศาลเข้าประเทศและสามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการให้ความสำคัญกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ สิ่งที่วัดเป็นตัวเงิน มากกว่าคุณค่าในเชิงจิตใจและผลกระทบทางสังคมซึ่งไม่สามารถคำนวณและวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างแท้จริง เพราะค่าของมันสูงมากๆ บางอย่างเมื่อสูญเสียไปแล้วไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ ทั้งภาวะหนี้สิน อาชญากรรม การลักขโมย การฆ่าตัวตาย การล่มสลายของครอบครัว ยาเสพติดและอื่นๆที่เป็นผลสืบตามมามากมายเนื่องจากพฤติกรมของการเล่นการพนัน
4.การจัดระเบียบธุรกิจที่ผิดกฎหมายให้เข้าสู่ระบบและทำให้ถูกกฏหมาย ซึ่งเชื่อว่าสามารถจะควบคุมได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความน่าสะพรึงกลัวที่รัฐพยายามจะทำให้ทุกอย่างที่ดำหรือเทาให้ขาวสะอาดและยอมรับได้ในสังคม บางอย่างเมื่อเข้าสู่ระบบมักลายเป็นสิ่งที่ถูกผลิตซ้ำและทำให้เราคุ้นชินโดยไม่ตั้งคำถามเพราะคิดว่ามันถูกต้อง มันกลายเป็นเรื่องของความต้องการบริโภค อย่างเช่น สิ่งที่เรียกว่าการแถมพกและเสี่ยงโชค  ในเครื่องดื่มบางยี่ห้อ ที่มีการใช้รหัสที่อยู่ใต้ฝาแลกรางวัลต่างๆ คนก็แห่กันซื้อ เปิดขวด ส่งรหัสใต้ฝาไปชิงโชคชิงรางวัล กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่เหมือนเจ้ามือรับแทงหวย บางคนส่งเป็นร้อยๆฝาก็มี อย่างนี้เราจะเรียกว่าเป็นลักษะที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการพนันหรือไม่ และรัฐควบคุมสิ่งเหล่านี้อย่างดีพอหรือยัง
5.การมองว่าการพนันในประเทศไทยมีมากมายหลากหลายอยู่แล้วในสังคม ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นขึ้นไป บ่อนไก่ ปลากัด ไฮโล หวยใต้ดิน หวยหุ้น และอื่นๆ ซึ่งพยายามจะบอกว่าเราควรยอมรับว่าเรื่องของการพนันว่ามันแก้ไม่ได้ ในพื้นที่ต่างๆมีการลักลอบเล่นการพนันซึ่งไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และเงินพวกนี้ไหลเวียนอยู่นอกระบบไม่เข้าสู่รัฐ ความคิดที่เปิดบ่อนคาสิโนที่ถูกกฏหมายก็คงไม่มีอะไรเสียหาย ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นการไร้ประสิทธิภาพและความไม่พร้อมของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่จะจัดการกับเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง
6. การมองว่าการพนันสัมพันธ์กับปัญหาทางเศรษฐกิจ แท้จริงแล้วคนเล่นการพนันไม่ได้มีปัญหาจากความยากจนทางเศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียมกัน เพราะคนไทยทุกชนชั้นต่างก็เล่นการพนันได้ทุกคน ไม่ว่าจะคนรวยหรือจน การพนันมันเกิดขึ้นมาพร้อมกับความอยากส่วนตัว ทั้งอยากได้ตังค์ อยากรวย อยากต่างๆ ของผู้คนในสังคม
7.การพนันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม อันนี้เป็นประเด็นสำคัญเหมือนกัน เมื่อวัฒนธรรมหมายถึงความเจริญงอกงาม ความดีงาม การบ่มเพาะ ดังนั้นการพนันก็ย่อมมีความหมายดังกล่าวข้างต้น เป็นแบบแผนที่ผู้คนในสังคมยอมรับ การพนันอาจจะเป็นวัฒนธรรมในแง่ของการเป็นเครื่องมือในการผ่อนคลายความตึงเครียดต่างๆ และสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของชุมชน เช่น การเล่นพนันในช่วงฤดูรอกาลเก็บเกี่ยว  การเล่นไฮโลในงานศพ หรือการพนันบั้งไฟในช่วงเทศกาลบุญบั้งไฟ แต่ในแง่หนึ่งเมื่อความหมายทางวัฒนธรรมมันถูกบิดเบือนหรือทำให้เปลี่ยนแปลงไป การพนันไม่มีนัยหน้าที่ในเชิงพิธีกรรม หรือการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของชุมชน แต่เป็นเรื่องของการพนันขันต่อ การแข่งขันเพื่อเงิน การจัดการพนันขึ้นซึ่งไม่สอดรับกับบริบทในเชิงพื้นที่และพิธีกรรม เช่น เล่นบั้งไฟนอกฤดูกาล หรือไม่มีการจุดบั้งไฟเพื่อบวงสรวงพญาแถนเพื่อขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล แต่แข่งขันกันชิงถ้วยและพนันเอาเงินกันของนักเล่น อย่างนี้การพนันมันกลายเป็นเรื่องของพฤติกรรมมากกว่าวัฒนธรรม

....ทุกอย่างต้องคิดและหาข้อมูลรอบด้าน ข้อดี ข้อเสียมาใช้ในการตัดสินใจที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด....

วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การเชื่อมโยงระหว่างสังคมศาสตร์กับปรัชญาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

การเชื่อมโยงสังคมศาสตร์ กับ ปรัชญาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ (วิทยาศาสตร์แบบเดการ์ต และ ฟิสิกส์ แบบนิวตัน
                หนังสือจุดเปลี่ยนหรือ Turning Point ของ Frijof Capra สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก คือส่วนแรก เขาต้องการชี้ให้เห็นว่า ภาวะวิกฤติ(Crisis)เป็นหัวใจหรือโอกาสของการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ วิกฤตที่ว่า ทั้งเทคโนโลยี พลังงาน การบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงโครงสร้างทางวัฒนธรรม และระบบคุณค่าที่ผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวไป ที่ทำให้เกิดทัศนะการมองสิ่งต่างๆแบบแยกส่วน ซึ่งเป็นต้นตอของสิ่งที่เรียกว่าวิฤตการณ์ของมนุษยชาติและโลกอย่างแท้จริง ส่วนที่สอง เข้าให้ความสำคัญกับการก่อกำเนิดและลักษณะของกระบวนทัศน์ 2 แบบ ได้แก่วิทยาศาสตร์แบบเดิมตามแบบเดการ์ตและฟิสิกส์แบบนิวตันกับวิทยาศาสตร์ใหม่ตามหลักของควอนตัมฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์แบบเก่าที่ทำให้เกิดการมองโลกแบบแยกส่วน การมองโลกเป็นเครื่องจักรที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆที่รวมกัน ในขณะที่ฟิสิกส์แบบควอนตัม มองปรากฏการณ์ต่างๆที่ปราศจากการดำรงอยู่ของตัวตนที่แน่นอนและเชื่อมกันอยู่โดยไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ที่ทั้งสองแบบให้คำอธิบายความจริงที่ต่างกัน และมนุษย์สามารถใช้ความรู้ทั้งสองแบบในการเข้าถึงความจริงได้เล่มสุดท้าย เขาเสนอทัศนะแม่บทที่ไม่ใช่แค่การปฏิวัติวัฒนธรรมใหม่แต่เป็นเรื่องของจุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษที่หันมาสนใจกระบวนการของความเป็นตะวันออก (Esternization) ซึ่งแตกต่างจากทัศนะแบบดั้งเดิมที่สร้างวิกฤตการณ์ต่างๆและรับใช้การแผ่ขยายอำนาจของตะวันตก (Westernization)ซึ่งครอบงำทางการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยีและวัฒนธรรม โดยเฉพาะความรู้ต่างๆที่มนุษย์ใช้ในการดำรงชีวิตและสร้างความเจริญก้าวหน้า  
โดย ในส่วนที่สองได้พูดถึงทัศนะและลักษณะของปรัชญาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่เป็นแม่แบบที่มีอิทธิพลต่อความรู้ของมนุษย์และความก้าวหน้าของโลก อยู่ 2 แบบคือ วิทยาศาสตร์แบบเดการ์ต และฟิสิกส์แบบนิวตัน ที่มีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้
                วิทยาศาสตร์แบบเดการ์ต เริ่มต้นจากการตั้งข้อสงสัยอย่างถึงรากถึงโคน การตั้งข้อสงสัยกับทุกสิ่งทั้งความรู้ต่างๆที่สืบทอดต่อกันมา หรือการรับรู้จากประสาทสัมผัสต่างๆ หรือแม้แต่ข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวตนของตัวเองว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เขาสงสัยจนถึงจดที่ไม่สามารถสงสัยได้อีกต่อไป ซึ่งนำไปสู่ความคิดเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของตัวเขาเองในฐานะผู้คิด ดังที่เขากล่าวว่า เพราะฉันคิดจึงมีตัวฉัน ที่เดการ์ตนำไปสรุปธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ก็คือความคิด และสิ่งต่างๆที่เรารับรู้อย่างแจ่มชัดและแน่นอนเท่านั้นคือความจริง ที่เรียกว่า “ญาณทัศนะ” วิธีการหาความรู้ของเดการ์ตใช้วิธีการของญาณทัศนะและการนิรนัยโดยการวิเคราะห์จำแนกแจกแจง ความคิดและปัญหาออกเป็นชิ้นๆและจัดเรียงขึ้นใหม่ภายใต้ระเบียบวิธีการเชิงตรรกะหรือเรียกว่าทัศนะแบบลดส่วนซึ่งเป็นแก่นแกนของความคิดแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ที่สามารถทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนด้วยการย่อส่วนลงมาศึกษาองค์ประกอบย่อยต่างๆของปรากฏการณ์นั้นๆ
                ความคิดแบบเดการ์ตจึงให้ความสำคัญกับความคิดที่ช่วยทำให้ความหมายของจิตใจมีความสำคัญและเด่นชัดเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นวัตถุโดยเฉพาะกาย ซึ่งทำให้เขาแยกระหว่างกายกับจิตซึ่งเป็นอิทธิพลของวิธีคิดแบบทวิลักษณ์นิยมที่สำคัญของเขา ที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกความคิดและการปฏิบัติในสังคม เช่น จิตแพทย์ที่สนใจจิตมากกว่าร่างกาย แพทย์ที่ละเลยจิตใจโดยให้ความสำคัญกับการรักษาทางร่างกาย งานที่ใช้สมองสำคัญกว่างานที่ใช้ร่างกาย แรงงาน หรือความรู้ทางวิชาการที่แบ่งแยกระหว่างเรื่องของวัตถุกับจิตใจ เช่น วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของวัตถุ จิตใจเป็นเรื่องของมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นต้น หรือแยกระหว่าง Hard Science กับ Soft Science หรือแนวคิดแบบ Atomistic Model และ Organic Model
                นอกจากนี้แนวคิดแบบเดการ์ต มองว่าเอกภพของวัตถุคือเครื่องจักร ไม่มีอะไรนอกเหนือเครื่องจักร ไม่มีชีวิตและจิตวิญญาณ ธรรมชาติก็ดำเนินไปตามกฎทีมีลักษณะเป็นกลไก มีลำดับขั้น มีระเบียบ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยวิธีการสังเกตอย่างเป็นระบบ มีการทดลอง มีทฤษฎีที่กำหนดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติทุกอย่าง ดังนั้นธรรมชาติจึงเป็นเหมือนเครื่องจักรที่สมบูรณ์และถูกควบคุมด้วยกฏเกณฑ์แบบกลไกที่แน่นอน(กฏเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์) ซึ่งทำให้วิทยาศาสตร์มีอำนาจในการควบคุมและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ จึงรวมทั้งพืช สัตว์และมนุษย์ก็ถูกลดทอนเป็นเพียงเครื่องจักรชนิดหนึ่ง เช่นร่างกายทางชีวิวทยาของมนุษย์ถูกลดทอนให้เห็นการทำงานแบบเครื่องจักร ผ่านการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆและการเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่สะท้อนให้เห็นว่าร่างกายของมนุษย์มีส่วนที่เป็นวิญญาณแห่งเหตุผลที่อยู่ในร่างกายเชิงวัตถุที่ห่อหุ้มด้วยเนื้อหนังและอวัยวะต่างๆ
                ในเวลาต่อมาแนวคิดฟิสิกส์แบบนิวตัน ได้สร้างความก้าวหน้าและความแม่นยำในทางคณิตศาสตร์ที่มากกว่าวิทยาศาสตร์แบบเดการ์ตและกาลิเลโอ โดยเฉพาะการค้นพบกฏของการเคลื่อนที่ของวัตถุที่เป็นของแข็งภายใต้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงที่สามารถใช้กฏดังกล่าวนี้อธิบายวัตถุต่างๆในระบบสุริยะจักรวาล ตั้งแต่ผลไม้ ก้อนหินจนถึงดาวเคราะห์ นิวตันได้ผสมผสานวิธีการของฟรานซิส เบคอน ที่เน้นวิธีแบบประจักษ์นิยมและอุปนัย กับแนวคิดของเดการ์ตที่ใช้วิธีการของเหตุผลและนิรนัย ที่เน้นความสำคัญของการทดลองที่ต้องตีความอย่างเป็นระบบและกฏเกณฑ์หลักที่มาจากการนิรนัยจะต้องมีหลักฐานของการทดลองมารองรับ
                ความคิดแบบนิวตันในเรื่องกลศาสตร์ มองว่าปรากฏการณ์ทางกายภาพจะถูกลดส่วนเหลือเพียงการเคลื่อนที่ของอนุภาคซึ่งเกิดจากแรงดึงดูดระหว่างกัน ที่สัมพันธ์กับแรงโน้มถ่วง ผลจากแรงนี้ที่มีต่ออนุภาคและวัตถุต่างๆสามารถอธิบายด้วยหลักคณิตศาสตร์ ผ่านสมการการเคลื่อนที่ของนิวตัน ทั้งการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ กระแสน้ำขึ้นน้ำลง หรือปรากฏการณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับแรงโน้มถ่วงของโลก ระบบคณิตศาสตร์แบบนิวตันเกี่ยวกับโลกได้กลายเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับความจริงที่ถูกต้องที่สุดและมีอิทธิพลต่อวิธีคิดทางวิชาการแขนงต่างๆในยุคนั้น
                เมื่อมองย้อนลงไปที่ประวัติศาสตร์ของยุโรปและประวัติศาสตร์ของโลกจะพบว่า การปฏิวัติทางการเมือง เศรษฐกิจ และทางสังคม (ปฏิวัติเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อวิถีชีวิต รสนิยมและการบริโภครวมถึงชนชั้นทางสังคม) ทำให้ประชาชนมีตัวตน เสรีภาพและมีอำนาจมากขึ้น พร้อมๆกับปัญหาและความขัดแย้งที่มีมากขึ้น วิธีคิดแบบเดิมไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งกฏเกณฑ์ที่ครอบงำสิ่งเหล่านี้ ที่ต้องสร้างพื้นที่และต้องการการอธิบายสังคมในเชิงลึกมากกว่าเดิม ที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของสังคมศาสตร์ ดังนั้นสังคมแบบใหม่ต้องการความรู้แบบใหม่ที่มีความแม่นยำถูกต้อง (Positive) ภายใต้การรับเอารูปแบบวิธีคิดแบบฟิสิกส์นิวตัน (Newtonian Physics) ที่ทรงอิทธิพลทางความรู้ในช่วงเวลานั้น มาประยุกต์ใช้กับศาสตร์แห่งสังคม (Science of Society) โดยเฉาะสิ่งที่นักสังคมวิทยาอย่างออกุส ก๊อมต์ (August Comte) เรียกว่าฟิสิกส์สังคม (Social Physic) โดยการสร้างกฎของสังคมที่เป็นสากล (universal laws of society) ที่สะท้อนให้เห็นอิทธิพลความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่สัมพันธ์กับความรู้และการก่อตัวของศาสตร์ที่เรียกว่าสังคมศาสตร์ ทั้งการศึกษา การวิจัย รวมถึงสาขาวิชาต่างๆ เช่น จิตวิทยา สังคมวิทยา มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์
                ตัวอย่างเช่น ในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ การศึกษาสิ่งที่เป็นอัตวิสัย(Subjectivity)และวัตถุวิสัย (Objectivity) ในการศึกษาวิจัย ความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้กับผู้ที่ถูกรู้ ความจริงที่มีตัวตนที่วัดได้ ปรากฏการณ์ทางวัตถุที่จะเชื่อได้ว่าเป็นความจริงแท้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตัดอคติของผู้สังเกตออกไป ซึ่งเป็นการแยกผู้สังเกตออกจากสิ่งที่สังเกต แยกผู้รู้จากสิ่งที่ถูกรู้ และการทำให้เกิดสภาวะความเป็นวัตถุวิสัยที่สามารถจะวัดได้ ด้วยการตัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ หรือตัดส่วนที่เป็นอัตวิสัยที่เป็นเรื่องของตัวจิต อารมณ์ ความรู้สึกออกไป ซึ่งวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เดการ์ตและนิวตันเข้ามามีอิทธิพลในเรื่องของการทดลอง (Experiment) การสร้างและออกแบบสอบถาม ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างโดยผู้ศึกษาไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มตัวอย่างหรือสิ่งที่ศึกษาโดยตรง
                วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์แบบนิวตันและเดการ์ต ทำให้การศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆถูกลดทอนให้เหลือหนึ่งสาเหตุหนึ่งผลกระทบ (one cause one effect) และสร้างหรือกำหนดตัวแปรอิสระตัวแปรตามเพื่อทดสอบสมมติฐาน โดยใช้สูตรการวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อหาความสัมพันธ์ของตัวแปร ทั้งการสร้างไดอะแกรมเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ ที่เป็นการมองความสัมพันธ์แบบเส้นตรงซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของการวิจัยเชิงปริมาณ
                มโนทัศน์หลักที่ได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์แบบเดการ์ตและฟิสิกส์แบบนิวตันได้ก่อร่างสร้างสังคมศาสตร์ภายใต้กรอบคิดดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็ได้ถูกโต้แย้งโดยฟิสิกส์สมัยใหม่ที่มองว่าสสารไม่ได้คงที่หรือหยุดนิ่งเหมือนวิธีคิดวิทยาศาสตร์แบบเดการ์ตหรือฟิสิกส์แบบนิวตัน ที่มองว่าถ้าเป็นคลื่นก็คือคลื่น ถ้าเป็นอนุภาคก็คืออนุภาค แต่มองลักษณะที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เป็นพลวัตรและไม่ได้มีโครงสร้างที่ตายตัวในธรรมชาติ เช่น อิเลคตรอนไม่ได้มีคุณสมบัติในตัวมันเองที่ปราศจากจิตของมนุษย์ ที่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกต ซึ่งปรากฏในงานวิจัยเชิงคุณภาพในการศึกษาสังคมและวัฒนธรรม
                วิธีคิดวิทยาศาสตร์แบบเดการ์ตหรือฟิสิกส์แบบนิวตัน มีอิทธิพลต่อความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในวิชาการทางจิตวิทยา ความคิดทางจิตวิทยาของฟรอยด์ เน้นอยู่บนอิทธิพลทางชีววิทยา สัญชาตญาณและจิตใต้สำนึก โดยฟรอยด์แบ่งแยกออกเป็น 3 ส่วนคือ จิตไร้สำนึกที่เป็นสัญชาตญาณคือ อิด (Id) ส่วนที่เป็นเหตุผลของจิตคืออีโก้ (Ego)หรืออัตตะ และส่วนที่เป็นสติสัมปชัญญะหรืออยู่เหนืออัตตะ (Super Ego) หรือเมื่อฟรอยด์อธิบายเกี่ยวกับแรงขับดันทางสัญชาตญาณโดยเฉพาะแรงขับดันทางเพศ และแรงต้าน(แรงกิริยาและแรงปฏิกิริยา) ก็สะท้อนให้เห็นวิธีคิดฟิสิกส์แบบนิวตันที่วัตถุต่างๆมีปฏิกิริยาและผลกระทบต่อกันและกันโดยผ่านแรงต่างๆ เช่น ฟรอยด์พูดถึงแรงขับทางเพศ ที่คล้ายคลึงกับนิวตันที่พูดถึงแรงโน้มถ่วง ซึ่งทำให้เห็นอิทธิพลของแบบจำลองทฤษฎีกลไกตามแบบของนิวตัน หรือในแง่ของประเด็นเรื่องจิตวิเคราะห์ที่สัมพันธ์กับการรักษาความเจ็บป่วยทางจิตด้วยกระบวนการทางจิตวิเคราะห์ (Psycho-analysis) ที่แยกผู้รักษากับผู้ป่วยออกจากกัน ที่เป็นกระบวนการแบ่งแยกจิตกับวัตถุออกจากกันภายใต้อิทธิพลทางความคิดแบบเดการ์ต แนวคิดวิทยาศาสตร์แบบวัตถุวิสัย ที่ใช้วิธีการเฝ้าสังเกตและแยกตัวเองออกจากผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์กระบวนการของจิตโดยไม่สนใจเกี่ยวกับร่างกายของผู้ป่วย เช่นเดียวกับหมอที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับร่างกายมากกว่าเรื่องของจิตใจของผู้ป่วย เป็นต้น
                ขณะเดียวกัน จิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ก็มุมมองในลักษณะของความจริงที่ถูกกำหนดด้วยกฏบางอย่าง เช่นเดียวกับแนวคิดฟิสิกส์แบบนิวตัน ที่ทองว่าเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาทุกอย่างล้วนมีสาเหตุที่แน่นอน และมีผลที่แน่นอนตามมาด้วย  โดยสภาวะทางจิตทั้งหมดของปัจเจกบุคคลถูกกำหนดจากสภาพเงื่อนไขแรกเริ่ม ที่พัฒนาเริ่มต้นในวัยเด็กในขั้นต่างๆ เช่น ขั้นของปาก ขั้นของทวารหนักๆความขัดแย้ง สัญชาตญาณการมีชีวิต สัญชาตญาณความตาย หรือปมขัดแย้งต่างๆในวัยเด็ก เช่น ปมออดิปุส เป็นต้น
                อิทธิพลแนวคิดช่วงหลังฟรอยด์ เริ่มมองว่า สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมช่วยกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งคล้ายกับการศึกษาและการค้นพบของนักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยา ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับมุมมองมนุษย์ในสองลักษณะคือ
                1.ความสนใจมนุษย์ในเชิงปัจเจกบุคคล ที่ถูกนิยามความหมายเช่นเดียวกับ ตัวตน (Self) และกฏแห่งพฤติกรรมมนุษย์ (Rule of Behavior) สอดคล้องกับวิธีคิดหรือสมมติฐานของฟิสิกส์แบบนิวตัน (Newtonian physics) ในช่วงก่อนศตวรรษที่17 การศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ สามารถยอมรับและให้พื้นที่กับนักสังคมศาสตร์ในการศึกษา ทำความเข้าใจ ทำนายและควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้
                2. มนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลที่เป็นผลผลิตของสังคม ชุมชนของเขา และพวกเขาสามารถตระหนักเกี่ยวกับตัวตนของเขาในบริบทของสังคมชุมชนนั้น ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเพลโต (Plato) อริสโตเติล( Aristotle) และ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx)    
วิชาการทางสังคมศาสตร์(เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่หมายรวมถึงวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมถึงวิชาประวัติศาสตร์ด้วย) ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ที่อ่อนที่สุดในบรรดาศาสตร์ทั้งหลาย แม้ว่าสังคมศาสตร์พยายามจะทำให้แนวคิดและทฤษฎีของตัวเองได้รับการยอมรับโดยนำเอาทัศนะ กรอบความคิดแม่บทแบบเดการ์ตและนิวตันมาใช้ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการลดส่วน แยกย่อยและการมองแบบกลไก ส่งผลให้ศาสตร์ทางด้านสังคมศาสตร์แยกขาดออกจากกันเป็นส่วนๆ เช่นเศรษฐศาสตร์ที่สนใจมิติทางเศรษฐกิจที่แยกขาดจากการเมืองและสังคม หรือการเมืองที่เน้นการเมืองการปกครองมากกว่าจะสนใจพลังทางเศรษฐกิจพื้นฐาน ทำให้นโยบายการพัฒนาประเทศก็แยกขาดระหว่างนโยบายทางการเมือง นโยบายทางเศรษฐกิจ และนโยบายทางสังคม ทั้งๆที่สังคมศาสตร์ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ บริบททางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่เฉพาะ แต่สิ่งเหล่านี้กับถูกครอบงำด้วยกระบวนทัศน์หลักของนิวตันและเดการ์ต
                วิชาเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวข้องกับการผลิต การกระจาย และการบริโภค โดยกำหนดว่าสินค้าชนิดใดมีคุณค่า และสร้างมูลค่าของการแลกเปลี่ยนที่สัมพันธ์ของสินค้าและบริการ ดังนั้นคุณค่าที่สามารถวัดปริมาณได้ ที่อยู่ในรูปของเงินตราจึงทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์มีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่กำหนดได้อย่างแม่ยำภายใต้สูตรทางคณิตศาสตร์ ผ่านความต้องการซื้อ(Demand) และความต้องการขาย(Supply) สินค้าและบริการในระบบตลาดเสรีที่กำหนดราคา ซึ่งสัมพันธ์กับแนวคิดของอดัม สมิธ ในทฤษฎีมูลค่าที่กำหนดแรงงาน ความสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งเป็นทฤษฎีทางเศรษฐกิจที่ได้รับอิทธิพลจากฟิสิกส์แบบนิวตัน ภายใต้แนวคิดว่าด้วยความสมดุลระหว่างแรง (แรงผลักดันของความต้องการซื้อและความต้องการขาย) กฎแห่งการเคลื่อนที่ (การเคลื่อนไหวของราคาสินค้าในทางเศรษฐศาสตร์ ยิ่งราคาสูงความต้องการก็จะยิ่งน้อยลง) และวิทยาศาสตร์แบบภววิสัยแบบนิวตัน (ในทางเศรษฐศาสตร์ก็จะมองว่า มูลค่ากำหนดแรงงาน) ที่มองว่ากลไกตลาดมีดุลยภาพที่สมบูรณ์เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย สินค้าและราคา ซึ่งมีการปรับตัวที่สอดคล้องกันอย่างมีดุลยภาพ โดยแสดงการอธิบายผ่านเส้นกราฟของอุปสงค์และอุปทาน ที่นำไปสู่การทำนายและพยากรณ์พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ได้
                วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์คลาสสิคในทัศนะแม่บทของเดการ์ตและนิวตัน คือเรื่องของ กฎธรรมชาติ (Law of nature) หรือ กฎของเหตุและผล (Causal Laws) ระบบที่มีดุลยภาพ โลกที่คงที่มั่นคง เที่ยงตรงภายใต้กฏเกณฑ์ที่เป็นสากล ปัญหาคือ ถ้าความทันสมัยคือความสุขและความเจริญก้าวหน้า ทำไมความไม่เท่าเทียมและการทำสงครามจึงยังดำรงอยู่ แสดงว่าโลกที่ดำรงอยู่ไม่แน่นอน มีพลวัตร เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นโลกที่หลากหลายมิติและเป็นโลกที่ซับซ้อน โลกที่ไม่ใช่โลกของตะวันตกอย่างเดียว แต่เป็นโลกของตะวันออก รวมถึงโลกที่ไม่ใช่ของคนผิวขาวแต่เป็นโลกของคนผิวสี ชนพื้นเมือง คำอธิบายที่พยายามสรุปรวมอย่างเป็นสากล จึงไม่สามารถอธิบายได้ในบริบทที่มีความเฉพาะ
                ในช่วงศตวรรษที่19 เกิดสิ่งที่เรียกว่าสังคมศาสตร์ในสาขาต่างๆคือประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา และรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ซึ่งรองรับการการพัฒนาและเติบโตของยุโรป ในขณะเดียวกันชาวยุโรปก็พบว่า ในโลกยังมีกลุ่มคนและโครงสร้างทางสังคมที่แตกต่างจากตัวเอง โดยเฉพาะคนกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นชนเผ่า (Tribe) กลุ่มชาติพันธุ์(Ethnic Group) หรือเชื้อชาติ(Race) ลักษณะทางชีวภาพ ที่มีความแตกต่าง  เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีการบันทึก การเขียน และอารยะธรรมยังหล้าหลังกว่าชาวยุโรปตะวันตก  ส่งผลให้คนยุโรปเริ่มหาประสบการณ์ใหม่กับผู้คนนอกสังคมยุโรป ทำให้ต้องมีสาขาวิชาที่เรียกว่ามานุษยวิทยา ที่เริ่มต้นจากการปฏิบัติเชิงสำรวจ การเดินทาง และการเป็นเจ้าหน้าที่ของประเทศอาณานิคมที่รองรับกับอำนาจของชาวยุโรป มานุษยวิทยาในช่วงเวลานั้นจึงอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาร์ล ดาร์วิน ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในทฤษฎีทางสังคม เขาได้สร้างแนวคิดเรื่องของการดำรงอยู่ของคนที่เหมาะสมที่สุด หรือการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดที่ไปไกลมากกว่าเรื่องของการกำเนิดและประเด็นทางชีววิทยาของมนุษย์ แต่ถูกใช้ในทางสังคมและการเมือง โดยเฉพาะ แนวคิดแบบอาณานิคม ที่เชื่อมโยงประเทศทั้งหลายเข้าสู่การพัฒนาโดยมีสังคมยุโรปเป็นต้นแบบ ประเทศที่ไร้อารยะธรรม หรือชนพื้นเมืองจึงต้องพัฒนาและก้าวสู่ความศิวิไลซ์ อันนำไปสู่การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม เพื่อก้าวเข้าสู่ความทันสมัย
                มานุษยวิทยาในช่วงแรกจึงสัมพันธ์กับทฤษฎีแบบวิวัฒนาการที่เป็นเส้นตรง ประวัติศาสตร์สากลของมนุษยชาติที่มีกฏเกณฑ์แบบเดียวกันคือ ขั้นตอนของการพัฒนาที่เริ่มต้นจากง่ายไปสู่ความซับซ้อน จากความล้าหลัง ป่าเถื่อน อนารยะไปสู่สังคมแบบอารยะธรรมหรือศิวิไลซ์ หรือแม้แต่หัวใจสำคัญของการศึกษาทางมานุษยวิทยา โดยเฉพาะการทำงานสนาม (Field work) หรือการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม ก็อยู่บนฐานของความรู้เชิงประจักษ์ ดังนั้นความรู้และความเข้าใจสังคม วัฒนธรรมเหล่านี้สัมพันธ์กับการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการขยายตัวของเทคโนโลยีการเดินเรือ การสร้างเข็มทิศ แผนที่ เพื่อสำรวจ และแผ่ขยายทุนนิยม ที่สัมพันธ์กับเรื่องของวัตถุดิบ ตลาดและแรงงาน โดยเฉพาะการสร้างสิ่งที่เรียกว่า อาณานิคม  โดยอิทธิพลแบบดาร์วิน  ที่ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตพันธุ์ต่างๆ โดยการเชื่อมโยงกับความเป็นมาของมนุษย์ โดยเฉพาะการแปลงหรือกลายพันธุ์ตามหลักวิวัฒนาการและการคัดเลือกพันธุ์โดยธรรมชาติ ได้สร้างความคิดว่าด้วยตะวันตกกับไม่ใช่ตะวันตก ผู้ชายผิวขาวกับผู้หญิง  ที่แสดงให้เห็นลักษณะที่แตกต่างในแง่ความแข็งแรง เฉลียวฉลาด และกล้าหาญ กับ ความอ่อนแอ โง่ และเฉื่อยชา ที่คนกลุ่มแรกสามารถเข้ามาควบคุมจัดการและมีอำนาจเหนือคนกลุ่มที่สองได้ ดังเช่น บรอลินอว์มาลีนอฟสกี้ที่ไปศึกษาชนพื้นเมืองในหมู่เกาะโทรเบียน เพื่อประโยชน์ในการวางนโยบายของเจ้าอาณานิคม โดยเฉพาะอาณาจักรของอังกฤษที่กำลังแพร่ขยายอาณานิคมในแอฟริกา (British’s African Empire)
                แนวคิดทฤษฎีทางมานุษยวิทยาในระยะแรกเริ่มสะท้อนให้เห็นวิธีคิดแบบลดทอนและแยกส่วนแบบเดการ์ต ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดทางชีววิทยา ที่มองเรื่องขององคาพยพที่มีชีวิตทำงานคล้ายเครื่องจักรซึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆที่แยกขาดออกจากกัน เช่นทฤษฎีแบบโครงสร้างหน้าที่นิยม ที่มองสังคมและปรากฏการณ์ต่างๆออกเป็นส่วนๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ลักษณะทางกายภาพ ชีวภาพซึ่งดูเหมือนว่าจะมีลักษณะการมองแบบองค์รวมแต่ก็ยังคงแยกส่วนในการอธิบาย แม้แต่การศึกษาวัฒนธรรมก็มีลักษณะแยกส่วน กระจัดกระจาย  เช่น วัฒนธรรมตะวันตก วัฒนธรรมตะวันออก วัฒนธรรมญี่ปุ่น วัฒนธรรมเกาหลี วัฒนธรรมอเมริกัน ที่ไม่ได้แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงหรือการดำรงอยู่ร่วมกัน ความไม่สมดุลทางวัฒนธรรม นำไปสู่ความขัดแย้งและปัญหาต่างๆ ดังเช่น การแพทย์แบบสมัยใหม่ กับการรักษาแบบพื้นบ้าน กลายเป็นคนละส่วน คนละโลกทัศน์ที่แยกขาดจากกัน ทำให้มองไม่เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงอย่างสมดุลกันของกาย จิตและวิญญาณ การแพทย์เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์แบบวัตถุวิสัย(objectivity)ซึ่งไม่เกี่ยวกับการตัดสินคุณค่าในทางศีลธรรม เป็นต้น ดังนั้นให้คุณค่ากับบางสิ่งหรือมีทัศนะของการมองเพียงมิติเดียวหรือด้านเดียว ย่อมส่งผลกระทบต่อประเด็นทางด้านสุขภาวะ สุขภาพและความเจ็บป่วยของมนุษย์
                สิ่งที่น่าสนใจคือกระแสปัจจุบันของสังคมศาสตร์สมัยใหม่ ที่สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของควอนตัมฟิสิกส์ ฟิสิกส์ใหม่ โต้แย้งกับวิทยาศาสตร์แบบเดการ์ตและฟิสิกส์แบบนิวตัน ได้ตั้งคำถามกับวิธีคิดในเชิงกลศาสตร์แบบเก่าที่เน้นลักษณะและพฤติกรรมของส่วนย่อยที่กำหนดความเป็นไปของส่วนทั้งหมดที่เป็นผลมาจากวิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์แบบลดทอนและแยกส่วนของเดการ์ต แต่กลศาสตร์แบบควอนตัมมองว่าองค์รวมทั้งหมดจะกำหนดพฤติกรรมของส่วนย่อย ตัวอย่างเช่น การศึกษาฟิสิกส์เกี่ยวกับอะตอม มองว่าความสำนึกของมนุษย์ มีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในกระบวนการสังเกตทดลอง มีความสัมพันธ์กับการกำหนดคุณสมบัติของปรากฏการณ์ที่ถูกสังเกต ผู้สังเกตไม่ใช่ส่วนสำคัญในการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ของอะตอมเท่านั้น แต่มีส่วนสำคัญอย่างจำเป็นและปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนทำให้เกิดคุณสมบัติเหล่านั้นขึ้นมาด้วย เช่นเดียวกับการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมที่ญาณวิทยาของความรู้เชื่อมโยงกับกระบวนการรู้ ว่าเราอยากรู้อะไรแล้วเราใช้เครื่องมืออะไรในการเข้าใจหรือรับรู้สิ่งเหล่านั้น ความรู้ที่เกิดขึ้นก็จึงเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้และวิธีการในการรู้  ดังนั้นการมองแบบฟิสิกส์ใหม่ทำให้เรามองปรากฏการณ์ต่างๆที่ไม่หยุดนิ่งคงที่ อยู่โดดและเป็นอิสระจากสิ่งอื่นๆ แต่มอว่าปรากฏการณ์นั้นๆมีการเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง มีปฏิกิริยาต่อกันเป็นเครือข่ายโยงใยที่ซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆและสามารถเปลี่ยนแปลงรูปไปมาได้
                จากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เราเห็นว่าวิชาการทางสังคมศาสตร์มีความสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์แบบเดการ์ตและฟิสิกส์แบบนิวตัน ที่ถูกนำมาเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และตัวตนและพฤติกรรมของมนุษย์ รวมทั้งอิทธิพลของวิทยาศาสตร์แบบเดิมที่กำลังถูกท้าทายด้วยวิทยาศาสตร์ใหม่ โดยเฉพาะควอนตัมฟิสิกส์ซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนวิธีคิด ความเข้าใจและการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีความซับซ้อนในปัจจุบัน ซึ่งโลกทัศน์เชิงกลไกแบบเดการ์ตอธิบายไม่ได้หรือไม่ครอบคลุม ผ่านการมองสิ่งต่างๆอย่างเป็นองค์รวมและเป็นระบบ มองความแตกต่างที่สัมพันธ์สอดคล้องซึ่งกันและกัน โดยอธิบายความแตกต่างในแต่ละด้านแต่ละระดับโดยไม่ลดส่วนปรากฏการณ์ของระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่ง ตัวอย่างเช่น การอธิบายปรากฏการณ์การบริโภค ในระดับครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่นและโลก ความเป็นตะวันออก ตะวันตกที่เชื่อมโยงกัน โดยท้องถิ่นอาจต่อสู้ต่อรอง หรือเป็นส่วนหนึ่งของโลก หรือท้องถิ่นก็อาจเป็นตัวแทนของโลกก็ได้ เช่นเดียวกับโลกที่ครอบงำท้องถิ่น หรือในขณะเดียวกันโลกก็ประกอบด้วยท้องถิ่น ต้องพึ่งพาท้องถิ่น และโลกอาจเป็นภาพสะท้อนความเป็นท้องถิ่นที่ประกอบสร้างความเป็นโลก ดังนั้นโลกและท้องถิ่นจึงไม่สามารถแยกออกจากการได้อย่างเด็ดขาด เป็นต้น

 อ้างอิง
Capra Fritjof  (1982)  The Turning point : Science,Society and Rising Culture. USA: Bantam Book.
Hollinger Robert (1994) Posmodernism and The Social Sciences A Thematic Approach. SAGE Publication Thosand Oasks New Delhi.
Mudimbe V.Y (1996) Open the social sciences : report of the Gulbenkian commission on the restructuring of the Social Sciences. California : Standford University Press.
Roger Backhouse and Philippe Fontaine (2010) The History of Social Sciences since 1945. New York:  Cambridge university press.
Thomas  F.X  Noble et al. (2011) Western Beyond Boundaries Civilization. USA : Wadsworth Cengage learning.



การเกิดขึ้นของสังคมศาสตร์กับบริบททางประวัติศาสตร์ (การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์) โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

จากคำกล่าวของ Hollinger (1994)  ที่ว่า “สังคมศาสตร์  เกิดขึ้นภายในบริบทสังคมและวัฒนธรรมที่ใหญ่มากที่เรียกว่ากระบวนการเข้าสู่ภาวะความทันสมัย (Modernization) และ สังคมศาสตร์สมัยใหม่โดยเฉพาะสังคมวิทยาคือสิ่งที่กำเนิดขึ้นจากความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเข้าใจและการเข้ามายึดจับกับภาวะความทันสมัย(Modernity)”
“The social sciences arose within a larger social and cultural context called modernization (p.1). และ “Modern social science, especially sociology, is born out of a concern to understand and come to grips with modernity (p. 25) 
                ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจคำว่า  กระบวนเข้าสู่ภาวะความทันสมัย (Modernization) ที่อธิบายถึงกระบวนการที่ซึ่งสังคมแบบดั้งเดิมเป็นสิ่งที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปยังสังคมทันสมัย เมื่อพูดถึงสังคมแบบดั้งเดิมหรือก่อนยุคสมัยใหม่(Pre-modern)ก็จะเริ่มตั้งแต่ยุคที่มนุษย์เริ่มอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มและมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติและ พึ่งพาธรรมชาติ เป็นสังคมแบบชนเผ่า รวมกันเป็นกลุ่ม มีวิถีชีวิตแบบล่าสัตว์หาของป่าที่ใช้เทคโนโลยีแบบง่ายที่ไม่ซับซ้อน แต่ก็ค่อยๆพัฒนาและสร้างสรรค์วัฒนธรรมและอารยะธรรมของตัวเองขึ้นมา เนื่องจากความสัมพันธ์กับธรรมชาติทำให้สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความคิดและการปฎิบัติเกี่ยวกับตัวเองของมนุษย์ เช่น ความเชื่อในสิ่งที่มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ  มีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกและความอุดมสมบูรณ์ การสร้างระบบคุณธรรมและศีลธรรมในการอยู่ร่วมกันแล้วค่อยๆพัฒนาไปสู่ศาสนา ระบบเศรษฐกิจ การเมืองที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
                ความน่าสนใจของการพัฒนาระบบความคิดของมนุษย์ คือการเริ่มสำนึกเกี่ยวกับตัวเองในลักษณะของปัจเจกชน ที่เกิดจากการสั่งสมเรียนรู้โลกและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ดังเช่นประวัติศาสตร์ของมนุษย์สะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางความคิดของมนุษย์ ที่เริ่มปลดปล่อยตัวเองจากสิ่งที่มองไม่เห็นซึ่งมีอำนาจเหนือชีวิตของพวกเขา เช่น ศาสนา พระเจ้า อันเริ่มต้นจากนักปรัชญาในยุคของกรีกที่เริ่มตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ เช่น ธรรมชาติของมนุษย์ ความเป็นมนุษย์  โดยเฉพาะประเด็นเรื่องกายกับจิต ชีวิตกับจิตวิญญาณ ชีวิตหลังความตาย  รวมถึงเรื่องทางสังคม เช่น ความเป็นพลเมือง การค้า การเมืองการปกครอง และเสรีภาพ  ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนตัวของสังคมเข้าไปสู่สังคมแบบทันสมัยหรือสังคมสมัยใหม่ ตั้งแต่ยุคแสงสว่างทางปัญญา ยุคพื้นฟูศิลปวัฒนธรรม การเกิดขึ้นของตลาดทุนนิยม การเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ในยุโรป การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์  การปฏิวัติเกษตรกรรมและการปฏิวัติอุตสาหกรรม รวมทั้งกระบวนการกลายเป็นเมืองที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรม ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การเมืองแบบประชาธิปไตย การให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเติบโตของจำนวนประชากร วัฒนธรรมบริโภค และความหลากหลายของความเชื่อทางศาสนา ดังที่กล่าวกันว่ายุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) เป็นยุคสมัยที่ได้สร้างกรอบแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับมนุษย์ สังคมและธรรมชาติซึ่งท้าทายความคิดพื้นฐานเดิม โลกทัศน์แบบเดิมที่ครอบงำมนุษย์โดยเฉพาะความเชื่อทางศาสนาในยุคคริสต์เตียน การสงสัยต่อบทบาทของผู้มีอำนาจ การปลดปล่อยตัวเองออกจากศาสนา เริ่มต้นสำรวจโลกเพื่อตัวเอง รวมถึงความสนใจในเรื่องของเหตุผลและธรรมชาติ(ภาวะของสิ่งต่างๆที่เป็นอยู่)  ดังนั้นการใช้เหตุผลสามารถสร้างธรรมชาติของมนุษย์และสังคมได้ ประสบการณ์ที่โหดร้ายและป่าเถื่อนของสงครามศาสนา(สงครามครูเสด)ได้ทำให้มนุษย์หันความสนใจมาที่วิทยาศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยการใช้เหตุผลและข้อโต้แย้งจะทำให้มนุษย์มองเห็นความจริงของสิ่งต่างๆ สังคมก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของมนุษย์ก็จะดีมากขึ้น เกิดการสร้างแนวคิดต่างๆที่ให้ความสำคัญกับจิตที่เป็นอิสระ เช่น เดการ์ต ที่พูดถึงจิตที่คิดได้ สำนึกรู้ได้ดำรงอยู่ได้โดยปราศจากร่างกายเพราะร่างกายคือสิ่งที่กินที่ หรือจอห์นล็อค ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเดการ์ตที่มองเรื่องประสาทสัมผัสที่ช่วยในการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกและ การสะท้อนกลับ (Reflection)ที่ช่วยในการเกิดความรู้ภายในจิตเอง เป็นต้น
                ในความคิดดังกล่าวข้างต้นได้ถอดรื้อเจตจำนงที่อยู่ภายใต้ความรู้และอำนาจของพระเจ้ามาสู่เจตจำนงที่อิสระของมนุษย์ มีการพูดถึงประเด็นเรื่องของเจตจำนงเสรีที่นำมาใช้ในทางการเมือง เริ่มตั้งคำถามกับระบบศักดินา ระบบกษัตริย์ที่อ้างถึงอำนาจที่ชอบธรรมที่สัมพันธ์กับศาสนาและพระเจ้า เกิดการปฏิวัติทางการเมืองของประชาชน เช่น การปฏิวัติในฝรั่งเศส ทำให้ช่วงหลังปฏิวัติฝรั่งเศสส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในทุกๆด้านของมนุษย์ เช่น ศิลปะ ความคิด สังคม อุตสาหกรรม ศาสนา ที่สัมพันธ์กับลักษณะสำคัญร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงคือ ลักษณะของความเป็นปัจเจกบุคคล ที่เน้นประสบการณ์และอารมณ์ ส่งผลให้เกิดลัทธิปัจเจกชนนิยมและโรแมนติก แต่ในความเป็นจริงเสรีภาพและความเจริญทางวัตถุในสังคมอุตสาหกรรมไม่ได้ช่วยทำให้มนุษย์มีความสุข  รวมทั้งวีถีชีวิตแบบใหม่ที่สร้างความขัดแย้งแตกต่างกัน การอธิบายหรือทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงต้องหาความรู้ ปรัชญาและวิธีการอธิบายใหม่ที่มีความลุ่มลึกและซับซ้อนกว่าวิธีคิดแบบเดิม
จนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่19 ที่ความคิดทุกอย่างในโลกถูกสร้างให้เป็นทฤษฎีและจัดระบบหมวดหมู่แยกย่อยออกจากกัน ทั้งเรื่องศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมและการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างให้เป็นแนวคิดและทฤษฎีเพื่อให้สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่มีความซับซ้อนได้ การเปลี่ยนแปลงของสังคมแบบดั้งเดิมสู่สังคมสมัยใหม่ที่เริ่มประมาณศตวรรษที่  17 ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเฟื่องฟูอย่างมากในช่วงของศตวรรษที่19 ส่งผลอย่างมากต่อการปฏิรูปทางสังคม โดยใช้ความรู้หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาชีวิตมนุษย์และสังคม ทั้งแนวคิดทางจิตวิทยา การเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยและศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
การเกิดขึ้นของสังคมศาสตร์จึงเกิดขึ้นจากความต้องการทำความเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย (Modernization) ที่สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของระบบตลาดแบบทุนนิยม (Capitalism) การเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ (New Nation State) และอิทธิพลของการเติบโตเฟื่องฟูของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอิทธิพลของฟิสิกส์แบบนิวตัน (Newtonian Physics) ที่สามารถพยากรณ์ ทำนายสิ่งต่างๆได้อย่างมั่นคงและแม่นยำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญจากอิทธิพลจากวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์แบบนิวตันในยุคของความทันสมัย ที่มีพื้นฐานความคิดในลักษณะดังนี้
1.             กระบวนการในยุคสมัยใหม่ ผลิตความคิดเกี่ยวกับภววิสัย (Objectivity)และอัตตวิสัย (Subjectivity) เพื่อสร้างคุณค่าหรือมาตรฐานที่เป็นกลาง
2.             ความเชื่อในเรื่องของเหตุผล (Reason) ที่เป็นแนวทางหรือวิถีทางของการจัดการเกี่ยวกับความรู้
3.              ความรู้เชิงประจักษ์ (Empiricism) ที่ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและโลกทางสังคมของมนุษย์มีพื้นฐานอยู่บนความจริงเชิงประจักษ์ สิ่งต่างๆที่มนุษย์รับรู้ผ่านผัสสะของอวัยวะในร่างกาย (Sense Organ)ของพวกเขา
4.             ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Science) ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของวิธีการทดลอง (Experiment) ที่เกิดจากการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่17 ที่ช่วยแผ่ขยายความรู้ของมนุษยชาติ
5.             ความเป็นสากลนิยม (Universalism) ที่เหตุผลและวิทยาศาสตร์สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ด้วยกฏและหลักการเดียวกัน โดยวิทยาศาสตร์ทำหน้าที่ผลิตกฏเกณฑ์ทั่วไปที่ใช้อธิบายทุกอย่างได้อย่างเป็นสากลโดยปราศจากข้อยกเว้นต่างๆ ซึ่งเป็นอิทธิพลจากฟิสิก์แบบนิวตัน และเชื่อว่าวิทยาศาสตร์คือความก้าวหน้า ที่จะสร้างความสุขและความสมบูรณ์ให้กับมนุษยชาติ
6.             ความเป็นปัจเจกชนนิยม (Individualism) ที่มีอิทธิพลและทำลัทธิปัจเจกชนนิยมถูกใช้ในทางการเมือง ศิลปะและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจแบบปัจเจกชนนิยมสมัยใหม่ (Modern economic individualism)
7.             การเน้นเรื่องทางโลก ความสุขทางกาย (Secularization) โดยเฉพาะขั้วที่เน้นเรื่องร่างกายหรือขั้วทางกาย การพัฒนาทางวัตถุที่ครอบงำหรือมีอิทธิพลต่อขั้วทางจิตที่ไม่สามารถพัฒนาได้ เกิดประเด็นทางศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรม
ข้อเท็จจริงก็คือ ภาวะของความทันสมัยไม่ได้นำมนุษย์ไปสู่ความก้าวหน้า ความสุขและความสมบูรณ์แบบอย่างที่มนุษย์คาดหวังต่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่าเป็นความรู้ที่มีเหตุผล ถูกต้องแม่นยำและใช้ได้อย่างเป็นสากล แต่ในทางตรงกันข้ามปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม ปัญหาความเลื่อมล้ำความไม่เท่าเทียมกัน ปัญหาการทำสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคของโมเดิร์น ทำให้เกิดการวิพากษ์ โต้แย้ง ถกเถียงและเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่ายุคของแสงสว่างทางปัญญาหรือยุครู้แจ้ง (Enlightenment) ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อลักษณะทางการเมืองและวัฒนธรรมของยุโรปตั้งแต่ช่วงค.ศ. 1800  ทำให้ความรู้แบบเดิมมีข้อจำกัดและไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นได้ ส่งผลให้เกิดความต้องการความรู้แบบใหม่ที่มีพลังอำนาจในการอธิบายมากกว่าความรู้ ปรัชญาแบบเดิมที่อธิบายปรากฏการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันไม่ได้ ทำให้เกิดการพัฒนาวิธีการ แนวคิดและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์เพื่อรองรับกับบริบทที่เฉพาะรวมทั้งการออกแบบความรู้เหล่านี้เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาและปรากฏการณ์ในบริบทที่มีความเฉพาะนี้
ดังนั้นสังคมศาสตร์จึงถูกพัฒนาในยุคโมเดิร์น ในบริบทของสังคมสมัยใหม่ และการทำความใจเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของสังคมศาสตร์จึงต้องทำความเข้าใจผ่านบริบทของกระบวนการก้าวเข้าสู่ความทันสมัย (Modernization) ที่สัมพันธ์กับการสร้างวิธีคิด แนวคิด ทฤษฎี สมมติฐาน และความคาดหวังที่จะสร้างความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์และสังคมวิทยา เพื่อสนับสนุนความเข้าใจและการควบคุมของสังคมสมัยใหม่
                พวกนักคิดทฤษฎีหลังสมัยใหม่มีข้อวิจารณ์ว่า สังคมศาสตร์ที่ถูกพัฒนาในศตวรรษที่17-18 ล้าสมัยเกินไปที่จะอธิบายความซับซ้อนของสังคมในปัจจุบัน เพราะแนวคิดและทฤษฎีต่างๆทางสังคมศาสตร์ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้บริบททางสังคมและวัฒนธรรมในสมัยนั้นซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันมาก การเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนทำให้ความรู้เดิมที่มีอยู่อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมไม่ได้ เช่น วิกฤตการณ์ของโลกและสังคม ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต การทำสงคราม ที่ไม่ทำให้สังคมก้าวหน้าและสันติสุข จิตวิทยาที่ไม่สามารถอธิบายส่วนที่ปราศจากเหตุผลและไร้จิตสำนึกที่มีบทบาทต่อพฤติกรรมของมนุษย์  สังคมวิทยาที่ไม่สามารถอธิบายความเลื่อมล้ำและความมั่งคั่งที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะชนชั้นหนึ่งได้  หรือเศรษฐศาสตร์ที่ก้าวมาถึงจุดที่ระบบทุนนิยมเติบโตจนไม่สามารถควบคุมได้
                สิ่งที่น่าสนใจคือ การเกิดระบบ ระเบียบวิธีของสาขาวิชา(Discipline) ในการศึกษาสังคมศาสตร์ช่วงปลายศตวรรษที่19 ที่ได้แยกแนวทางออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือ สังคมศาสตร์แบบ Nomothetic Social Sciences ซึ่งความคิดทางสังคมศาสตร์ช่วงแรกจะอยู่ภายใต้อิทธิพลทางความคิดแบบนิวตันในการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Phenomena) บางทีเรียกว่า “Hard Science” แบบที่สอง การพัฒนาสังคมศาสตร์แบบใหม่ ที่เน้นย้ำการศึกษาที่ไม่เป็นเส้นตรง(Nonlinearity) การศึกษาที่มีความซับซ้อน(Complexity) การปฏิเสธการวัดค่าหรือกำหนดจากสูตรทางคณิตศาสตร์ รวมทั้งให้ความสำคัญกับจุดเด่นของการตีความในเชิงคุณภาพมากกว่าความแม่นยำในเชิงปริมาณ ซึ่งเรียกว่า “Soft Sciences”  ซึ่งเป็นแนวทางหรือความรู้ใหม่ทางสังคมศาสตร์ที่เข้ามาท้าทายความรู้แบบเดิมในช่วงหลังปีค.ศ.1945 เกิดการศึกษาและพัฒนาความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ เช่นการศึกษาอดีตในแง่ของประวัติศาสตร์ การศึกษาระบบตลาดหรือเศรษฐศาสตร์ การศึกษารัฐหรือรัฐศาสตร์ การศึกษาประชาสังคม หรือสังคมวิทยา เกิดการเรียนการสอนสังคมวิทยาในมหาวิทยาลัยต่างๆ
ดังนั้นการเรียนรู้บริบททางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจแนวคิดทางสังคมศาสตร์อย่างมาก โดยมีคำอธิบายใน 3 ประเด็นดังนี้คือ
ประเด็นแรก บริบททางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม ทำให้เรามองเห็นการก่อร่างและการก่อกำเนิดของความคิดทางด้านสังคมศาสตร์ที่วางอยู่บนปัจจัยและพื้นฐานของบริบททางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมที่มีความเฉพาะ เราไม่สามารถทำความเข้าใจสังคมศาสตร์ได้โดยละเลยหรือมองข้ามบริบททางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมที่สนับสนุน ส่งเสริม การประกอบสร้างวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคมโลกได้
ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 18 ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1700 ยุโรปถือว่าเป็นประตูเริ่มต้นของกระบวนการก้าวเข้าสู่ความทันสมัย (Modernization) ที่เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านจากเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรมของยุโรป ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติเกษตรกรรมที่พัฒนาเครื่องจักรแลเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับจำนวนประชากร จนกระทั่งเกิดการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่2 ในยุโรปที่เรียกว่าเป็นยุคของเหล็ก (Age of Steel)  มีการนำเหล็กมาใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ  เช่น การทำรางรถไฟเพื่อการขนส่งที่รวดเร็ว การสร้างเรือและสิ่งก่อสร้างในอุตสาหกรรม เพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงปีค.ศ. 1850 ประเทศต่างๆในยุโรปเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของกระบวนการผลิตสินค้าชนิดใหม่และการค้นพบทรัพยากรและพลังงานแบบใหม่ เช่น การค้นพบกระแสไฟฟ้าที่เข้ามาแทนที่พลังงานความร้อนจากไอน้ำที่ได้จากถ่านหิน ที่สัมพันธ์กับความก้าวหน้าและการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยพัฒนาและปรับปรุงวิธีการและรูปแบบการผลิต รวมทั้งการปฏิวัติระบบการขนส่งที่รวดเร็วมากขึ้น เกิดระบบโทรเลข ไปรษณีย์ โทรศัพท์ การขนส่ง ที่สามารถติดต่อสื่อสารอย่างรวดเร็วและทะลายระยะห่างของโลกในเชิงพื้นที่และเวลา ทำให้สินค้าและบริการสามารถส่งต่อและเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็วแม้ในพื้นที่ห่างไกล การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ในหลายๆประเทศของยุโรป แต่ในขณะเดียวกันการเติบโตดังกล่าวก็ส่งผลกระทบทางด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม กระบวนการกลายเป็นเมือง รวมทั้งการเกิดขึ้นของชนชั้นทางสังคม เช่นชนชั้นกรรมาชีพที่รวมตัวเป็นสหภาพที่เข้มแข็ง และชนชั้นกลางที่เริ่มมีบทบาทในทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง ในศตวรรษที่19 ถูกมองว่าเป็นศตวรรษของชนชั้นกลาง ( Bourgeois Century )โดยเฉพาะในยุโรปตะวันตก ที่สร้างมาตรฐานใหม่ของชีวิตสัมพันธ์กับความสะดวกสบายและสุขภาพที่แข็งแรงซึ่งสัมพันธ์กับบทบาทของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่สำคัญอย่างเช่น พ่อค้าและแพทย์ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เกิดการพึ่งพากลุ่มวิชาชีพต่างๆในสังคม เช่น วิศวกร นักกฎหมาย  นักบัญชีและนักการธนาคารมากขึ้น ที่ส่งผลต่อทั้งการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงและผู้ชายในการทำงาน บทบาทของคนจากภาคเกษตรกรรมที่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมในเมือง  ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนและความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถจะทำความเข้าใจและอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างชัดเจน
ดังนั้นบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไปที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องหาความรู้ใหม่ๆที่จะมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่านทางสังคม อย่างเช่น August Comte ที่อธิบายพัฒนาการและประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่มีความแตกต่างและการก้าวผ่านจากสังคมที่เรียบง่ายไปสู่สังคมที่มีความซับซ้อน หรือสังคมแบบล้าหลังไปสู่สังคมแบบศิวิไลซ์ จากความเชื่อภูตผีเวทมนต์ ศาสนาไปสู่วิทยาศาสตร์ โดยความรู้ทางสังคมศาสตร์ในช่วงต้นก็ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของวิทยาศาสตร์ ที่พวกเขาเชื่อว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) จะช่วยยืนยันถึงความก้าวหน้าของมนุษยชาติ อิทธิพลของวิทยาศาสตร์ที่มีพลต่อความคิดเรื่องชีววิทยา โดยเฉพาะความคิดเรื่องวิวัฒนาการ การเลือกสรรโดยธรรมชาติของชาร์ล ดาร์วินที่มองเรื่องของการดำรงอยู่ของผู้ที่เหมาะสมหรือสมบูรณ์ที่สุด  เกิดแนวคิดแบบ Social Darwinism ที่มองว่าสังคมของมนุษย์ก็เหมือนกับสังคมของพืชและสัตว์ ความอ่อนแอและความยากจนในสังคมจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงอยู่ ซึ่งนำไปสู่ลัทธิล่าอาณานิคมในแอฟริกา และเอเชีย รวมทั้งแนวคิดเรื่องเชื้อชาตินิยมที่มีความแตกต่างของเชื้อชาติและสีผิวที่ด้อยกว่าคนตะวันตกผิวขาว รวมถึงความเป็นผู้ชายและผู้หญิงที่นำไปสู่ความแตกต่างและไม่เท่าเทียมกันในบทบาทหน้าที่ทางสังคม เป็นต้น
ประเด็นที่สอง บริบททางประวัติศาสตร์สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ ปัญหาและวิกฤตการณ์ของมนุษย์และสังคม สังคมศาสตร์เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจสังคม เช่นในช่วง ปีค.ศ.1900 ที่มนุษย์เริ่มกระอักกระอ่วน สับสนกระวนกระวายใจเกี่ยวกับตัวเอง สังคมยุโรปความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ที่เริ่มจากอิทธิพลทางศาสนา คริสต์ศาสนาที่มองว่าตัวมนุษย์มีสองสภาพ คือ มนุษย์ที่สร้างขึ้นจากวิญญาณอันอมตะ ความเมตตาจากพระเจ้าที่สูงส่ง มีเลือดเนื้อ มีความเห็นแก่ตัวและมีบาปกับอิทธิพลของยุครู้แจ้งหรือยุคแสงสว่างทางปัญญาที่มองว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่สามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปสู่ความสมบูรณ์ได้ ด้วยเหตุผลและความรักในตัวเองเป็นพื้นฐาน ปัญหาสำคัญในช่วงยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม ยุคสงครามโลกสองครั้ง ที่สะท้อนความล้มเหลวและเสื่อมถอยของสังคม  นักทฤษฎีทั้งหลายพยายามตั้งคำถามและหาคำตอบว่า มนุษย์จะปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมและสภาพแวดล้อมที่กำลังเสื่อมถอยได้อย่างไร ปัญหาต่างๆที่มนุษย์เผชิญ ได้นำมนุษย์ไปสู่ภาวะของความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะความเครียด โรคประสาท และโรคจิตประเภทต่างๆ ดังนั้นการทำความเข้าใจตัวมนุษย์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้เกิดการพัฒนาความคิดทางด้านจิตวิทยาของนักจิตวิทยาสำคัญ ตัวอย่างเช่นซิกมันด์ ฟอรยด์ที่พัฒนาเรื่องจิตวิเคราะห์ ภายใต้การมองมนุษย์ในแง่ของสิ่งมีชีวิตที่ถูกกำหนดด้วยอวัยวะต่างๆเหมือนเครื่องจักรกลที่ซับซ้อน เช่นเดียวกับความรู้สึกของมนุษย์ที่ถูกกำหนดโดยไม่รู้สึกตัวจากประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นเด็กทารก หรือนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่ทำความเข้าใจว่ามนุษย์มีความคิดและการกระทำที่เป็นผลกระทบจากสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่ภายนอกตัวมนุษย์แต่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของมนุษย์ เช่นเดียวกับการเจริบโตของอุตสาหกรรมในลิเวอร์พูลของอังกฤษที่ดึงดูดให้หนุ่มสาวชาวนาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ความแออัดในเมืองและปัญหาสังคมต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะต้องหาคำอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวจากแนวคิดและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์
ประเด็นที่สาม การทำความเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคมที่ก่อร่างสร้างความรู้และทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ สามารถทำให้เราวิพากษ์และทบทวนทฤษฎีและความรู้เหล่านั้นว่ามันถูกสร้างในบริบทเงื่อนไขที่เฉพาะของใคร สังคมไหน ยุคสมัยไหน และเพื่ออะไร และสามารถนำมาปรับใช้กับบริบททางสังคมที่มีความเฉพาะหรือแตกต่างจากบริบทและช่วงเวลาที่สร้างทฤษฎีเหล่านี้ขึ้นมาได้หรือไม่ เช่น แนวคิดของมาร์กซิสต์ในบริบทของสังคมที่กำลังเกิดกระแสแบบสังคมนิยม(Socialism) ที่วิพากษ์โต้แย้งสังคมแบบทุนนิยม การขูดรีดแรงงาน ความไม่เท่าเทียม เมื่อเปรียบเทียบกับบริบทของสังคมไทย วิถีการผลิตแบบเอเชียติก (Asiatic Mode of production) ที่เป็นสังคมเกษตรกรรม มากกว่าจะเป็นกลุ่มชนชั้นกรรมมาชีพหรือแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือแนวคิดแบบประชาธิปไตยที่พัฒนาขึ้นในฝรั่งเศส เป็นประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศสแต่อาจไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทย หรือช่วงปลายศตวรรษที่20 ต่อต้นศตวรรษที่21 ที่โลกอยู่ในสภาวะไร้พรมแดนของพื้นที่และเวลา ภายใต้กระแสของโลกาภิวัตน์ ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ในการอธิบายสังคมจึงต้องมีความซับซ้อนและลึกมากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
อ้างอิงจาก
Capra Fritjof  (1982)  The Turning point : Science,Society and Rising Culture. USA: Bantam Book.
Hollinger Robert (1994) Posmodernism and The Social Sciences A Thematic Approach. SAGE Publication Thosand Oasks New Delhi.
Mudimbe V.Y (1996) Open the social sciences : report of the Gulbenkian commission on the restructuring of the Social Sciences. California : Standford University Press.
Roger Backhouse and Philippe Fontaine (2010) The History of Social Sciences since 1945. New York:  Cambridge university press.
Thomas  F.X  Noble et al. (2011) Western Beyond Boundaries Civilization. USA : Wadsworth Cengage learning.

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...