วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ชีวิตเอ็นจีโอ(4)


บุญกุ้มข้าวใหญ่รวมข้าวรวมใจและตอกย้ำอัตลักษณ์ของความเป็นชาวนา
บุญกุ้มข้าวใหญ่ เป็นประเพณีของคนอีสานมาตั้งแต่ดั้งเดิม หลังจากทำการเก็บเกี่ยวพืชผลแล้วเสร็จ ผลผลิตที่ได้จากการเกษตรกรรมส่วนหนึ่งก็จะถูกแบ่งมาไว้เป็นสมบัติ/ทรัพย์สินส่วนรวมของชุมชน โดยใช้พิธีกรรมเรื่องของบุญกุ้มข้าวใหญ่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานประจำปีของหมู่บ้าน ในการเก็บรวบรวมข้าวเปลือกของแต่ละครัวเรือน นำมากองรวมกันที่ลานวัดกลางแจ้ง และทำพิธีทำบุญ สู่ขวัญข้าว ให้ขวัญกำลังใจกับเกษตรกร และถือได้ว่าเป็นงานรื่นเริงที่ช่วยผ่อนคลายเกษตรกรจากระยะเวลาของการผลิตอันยาวนาน
อีกทั้งยังทำให้คนในชุมชนได้ภาคภูมิใจในน้ำพักน้ำแรงที่ตนลงทุนไป ข้าวเปลือกแต่ละเม็ดที่แต่ละครัวเรือนนำมากองรวมกันนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และการพึ่งตนเองของชุมชน การกระจายและแบ่งปันผลผลิตตอบแทนกลับสู่ชุมชนหมู่บ้าน ซึ่งทุกครัวเรือนจะรับรู้ร่วมกันว่าผลผลิตข้าวส่วนหนึ่งจะเก็บไว้ที่ยุ้งฉาง เพื่อใช้ในการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก บางส่วนเมื่อถึงคราวจำเป็น เช่น เจ็บป่วย ลูกเข้าโรงเรียน อยากทำบุญต่างๆ ก็จะนำมาขายแลกเป็นเงิน อีกส่วนหนึ่งก็จะอยู่ในลักษณะแบบคอมมูน ในแง่ของการแบ่งปัน การช่วยเหลือและการกันผลิตผลิตส่วนหนึ่งของตัวเองให้เป็นผลผลิตร่วมกันของชุมชน เพื่อนำไปขายนำเงินมาซ่อมแซม ทำนุบำรุงวัด โรงเรียน หรือพัฒนาหมู่บ้านในด้านต่างๆ
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดเกือบ 5 ทศวรรษ ของการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การปฎิวัติเทคโนโลยีทางการเกษตรและชลประทาน ที่เรียกว่า การปฎิวัติเขียว ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ทั้งมิติทางด้านสังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะวิถีการทำการเกษตร ที่ได้ทำลายระบบความสัมพันธ์ของเครือญาติและเวลาประกอบกิจกรรมในรอบปี  จะเห็นได้ว่าการปฎิวัติเทคโนโลยีในการผลิตไม่ว่าจะเป็น รถไถนาเดินตาม แทนวัวควาย การใช้พันธ์ข้าวชนิดพิเศษที่ให้ผลอย่างรวดเร็วและใช้ระยะเวลาอันสั้น ระบบชลประทานคลองส่งน้ำ ที่ทำให้ไม่ต้องรอน้ำฝนตามธรรมชาติและสามารถทำการผลิตได้ตลอดทั้งปีในบางพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ย่าฆ่าหญ้าของเกษตรกร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพ หน้าดินเสื่อมคุณภาพ ปูปลาในน้ำในนา ปนเปื้อนด้วยสารพิษ ชาวบ้านไม่สามารถนำมาบริโภคได้ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องรูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิตอย่างมากมาย เกิดลักษณะการผลิตเชิงพาณิชย์มากขึ้น มีการจ้างแรงงาน แทนการวานแรงงาน หรือหมุนเวียนกันในหมู่เครือญาติ
ดังจะพบว่าปัญหาในปัจจุบันก็คือ การแย่งชิงแรงงานกันในการเกษตร โดยเฉพาะฤดูของการเก็บเกี่ยว การเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวไม่พร้องกัน อันเนื่องมาจากการรอคอยแรงงาน ซึ่งส่งผลกับการทำกิจกรรมหรือประเพณีร่วมกันของชุมชนเป็นอย่างยิ่ง ประเพณีและกิจกรรมบางอย่างก็ลดความสำคัญลงไป เช่นบุญคูณลาน หรือบุญกองข้าว ซึ่งจะต้องทำพิธีบริเวณที่นาที่เป็นลานตีข้าวเปลือกออกจากรวง เนื่องจากปัจจุบันไม่ต้องลงแขกตีข้าว แต่มีรถที่สามารถแยกรวงข้าวออกมาได้ ทำให้เมื่อเวลานำข้าวเป็นฟ่อนๆใส่ลงไปในเครื่องแยกเมล็ดข้าว ก็สามารถเอาใส่กระสอบและบรรทุกใส่รถมาเก็บที่ยุ้งฉางได้เลย โดยไม่ต้องกองไว้บนลานนาดังเช่นในอดีต ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านพิธีกรรมและความเชื่อของชาวบ้านในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...