วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

เรียนมหาวิทยาลัย(2)


ผมจำได้ว่าในการออกภาคสนามครั้งนั้น ผม หนิง อ้อมน้อย ร่วม และอ้อมช่าช่า พวกเราเลือกที่จะไปฝึกงานที่ไกลๆบนเขา อาจารย์แนะนำพี่พิพัฒน์ชัย พรหมทิน ผู้จัดการโครงการของแดนเสส ซึ่งมีพื้นที่ทำงานกับชุมชนที่อยู่ในเขตป่า ตั้งแต่ขอนแก่นจนถึงเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นรอยต่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พวกเราสามารถจะลงไปศึกษาได้
ผมและหนิงเลือกสถานที่ที่ไกลจากเพื่อนที่สุด คือผมจะอยู่บนยอดเขาสูงสุด ชื่อบ้านตาดฟ้า และหนิงจะอยู่บ้านที่ลงไปจากผมประมาณ1-2 กิโลเมตรชื่อบ้านดงสะคร่าน ที่จริงสองหมู่บ้านนี้คือบ้านเดียวกัน แต่บ้านตาดฟ้าจะอยู่สูงสุด มีน้ำตกตาดฟ้าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ มีโขดหิน มีสัตว์หายากประกอบด้วย ปลาผา ปลาจล และปูหิน บ้านตาดฟ้าไม่มีโรงเรียน ไม่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีประปา มีสำนักสงฆ์ที่มีฤษีชีปะขาวจำวัดอยู่ หมู่บ้านนี้มีจำนวนครัวเรือนประมาณ 15 ครัวเรือน ส่วนบ้านดงสะคร่านจะอยู่ด้านล่างถัดลงมา หมู่บ้านนี้จะค่อนข้างใหญ่กว่าตาดฟ้าแต่มีไม่เกิน 50 ครัวเรือน มีฝายทดน้ำ มีตู้โทรศัพท์ของชุมชน มีป่าชุมชน มีโรงเรียนบ้านดงสะคร่าน มีวัดขนาดใหญ่เป็นศูนย์รวมของจิตใจ มีผู้ใหญ่บ้านและมีหอกระจายข่าวของชุมชนอยู่กลางหมู่บ้าน ส่วนบ้านตาดฟ้าจะมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านดูแล
ลักษณะของหมู่บ้านทั้งสองจะมีอาชีพเหมือนกัน คือปลูกข้าวไร่ตามที่ราบและเนินเขา มีปลุกข้าวโพด ปลูกปอสลับบ้าง พิธีกรรมสำคัญทางศาสนาก็ใช้วัดร่วมกันคือ วัดบ้านดงสะคร่าน เวลามีประเพณีสำคัญทางศาสนา 
บริเวณตาดฟ้าถือว่า มีความน่าสนใจ คือใช้แผงโซล่าเซลล์รวบรวมแดดจากแสงอาทิตย์เพื่อให้กำเนิดพลังงานไฟฟ้า โดยชาวบ้านจะมีหม้อแบ็ตเตอร์รี่เอาไว้ชาร์จไฟให้เต็ม เพื่อใช้ดูโทรทัศน์และให้แสงสว่าง ส่วนใหญ่จะใช้ตะเกียงให้แสงสว่าง เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าหมู่บ้านนี้จึงไม่มีโรงสี แต่จะมีการใช้ครกกระเดื่องตำข้าว ตอนเย็นๆจะได้ยินเสียงครกตำข้าวดังป๊อกๆๆ เป็นจังหวะ ของบรรดาผู้หญิงจะช่วยกันตำข้าวสารไว้เพื่อหุงกิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...