วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

ผังเมืองกับการจัดการพื้นที่บนฐานของความจริง?(3)

เกลือกับคนอุดรธานี

ประวัติศาสตร์เมืองอุดรธานี มีความสัมพันธ์กับเกลือมาอย่างช้านาน เกลือสำหรับคนอุดรธานีจึงมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรม เช่นเดียวกับคนอีสานในพื้นที่อื่นๆ เช่น วัฒนธรรมการผลิตเกลือสินเธาว์ในแถบลุ่มน้ำชี บริเวณหนองหานน้อยหรือหนองหานกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี หรือแถบลุ่มแม่น้ำมูลในเขตอีสานตอนล่าง บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเกลือขนาดใหญ่ที่เรียกว่า อาณาจักรเกลือ เมื่อประมาณ 2,500 ปี แต่ในปัจจุบันได้กลายมาเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่มีความสำคัญในระดับประเทศและระดับโลก แม้ว่าบริเวณนี้ในอดีตจะเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมเกลือขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมสายปลาแดกและเส้นทางการค้าขายเกลือในภูมิภาคนี้  ระหว่างที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมรต่ำ  ความสัมพันธ์ของคนไทย ลาวและเขมร  ความอุดมสมบูรณ์ของปลาจากทะเลสาบเขมร และเกลือสินเธาว์ที่ผลิตอย่างมหาศาลในแถบทุ่งกุลาร้องไห้  ที่มาเชื่อมโยงกันกับวิถีการผลิตปลาร้า การถนอมอาหารและวัฒนธรรมการค้าขายแลกเปลี่ยนของคนในภูมิภาคนี้
ในความเป็นจริงแล้ว การค้นพบว่าอุดรธานี เป็นแหล่งแร่โพแทชและเกลือหิน  ไม่ใช่เพิ่งจะเริ่มต้นปรากฏมาเมื่อ30-40 ปีเท่านั้น ดังที่ปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนว่ากรมทรัพยากรธรณีได้ทำการสำรวจ เมื่อปีพ.ศ.2516 แต่ลักษณะมิติทางกายภาพและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติของอุดรธานีเป็นพื้นที่ที่ถูกจ้องมองจากศูนย์กลางทางอำนาจ ว่าเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะเกลือดังที่ได้มีการบันทึกไว้ เมื่อครั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการและประพาสหัวเมืองในแถบมณฑลอีสาน  ได้ทรงบันทึกถึงสภาพพื้นที่ การประกอบอาชีพ การผลิตและลักษณะของกลุ่มคนที่อาศัยตามหัวเมืองที่เสด็จผ่านไว้ ดังตัวอย่างบางตอนว่า

กล่าวถึงเมืองกุมภวาปี ที่ตลอดการเดินทางจากกุดหว้า บ้านห้วยเสือเต้น ถึงเขตเมืองกุมภวาปี ต.ห้วยกองสี ห้วยดงปะโค และผ่านมาพบหนองน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า หนองหานที่บริเวณของกลางหนองหาน จะมีทุ่งเนินเล็กๆ ที่ชาวบ้านปล่อยโคกระบือและม้าออกมากินหญ้า มีชาวบ้านมาตั้งเพิงหาปลาอยู่รอบ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางรอบหนองหานประมาณ2 วัน และมีท่าลงหนองที่บ้านเชียงแหว มีเกาะอยู่กลางหนองเรียกว่าเกาะดอนแก้ว น้ำหนองหาร ไหลลงลำปาวและลำชี...เวลาเก้าโมงครึ่งถึงหนองขอนกว้างระยะทาง200เส้น มีที่พักร้อนสักครู่หนึ่งแล้วเดินไปตามทางซึ่งมีนาข้าวและนาเกลือไปจนถึง ต.ห้วยโซ....(ในเขตจังหวัดอุดรธานีปัจจุบัน) ...มณฑลได้ตัดถนนตั้งแต่หลังที่ว่าการไปจนถึงหนองนาเกลือเพิ่มขึ้นอีกสายหนึ่ง  และเมื่อรื้อที่ว่าการอำเภอบัดนี้ไปตั้งบนเนินใกล้หนองนาเกลือตามความตกลงใหม่ ถนนสายนี้จะบรรจบกับถนนเก่าเป็นถนนยาว...หนองนาเกลือเป็นหนองน้ำใหญ่ เพราะบัดนี้คล้ายทุ่งสร้างเมืองขอนแก่นขนานนามว่า หนองประจักษ์...”

หนองนาเกลือหรือหนองประจักษ์ ในอดีตเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านใช้ต้มเกลือ ปัจจุบันชาวบ้านได้เลิกต้มไปนานแล้วและหนองประจักษ์ก็กลายเป็นสวนสาธารณะและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุดรธานีในปัจจุบัน ความสำคัญของเกลือสินเธาว์ที่นี่ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เมืองอุดรธานีได้ยกฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน ดังหลักฐานที่ปรากฏในบันทึกของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้บัญชาการมณฑลลาวพวนในขณะนั้น ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี  และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมกองทัพไปปราบฮ่อที่เมืองหนองคาย ได้มีจดหมายไปถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น  เมื่อวันที่ 2 มกราคม         ร.ศ. 113 ในเรื่องของการขอย้ายที่พักจากหนองคายมาตั้งอยู่ที่บ้านเดื่อหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี จนนำไปสู่การยกฐานะของบ้านหมากแข้งมาเป็นเมืองอุดรธานี เมื่อปีพ.ศ. 2450  ดังใจความตามจดหมายที่ปรากฏบางตอนว่า
...ที่นี่ ที่พระพุทธเจ้าสังเกตดูตามปัญญาที่คิดเห็นว่าจะดีกว่าที่อื่นด้วยเป็นที่ที่มีเกลือมาก จนคนที่อยู่ที่นั้น ถ้าเป็นคนที่มัธยัสถ์ ถึงไม่ซื้อเกลือรับพระราชทาน ออกไปหลังบ้านเก็บเอาส่า มาทำให้สะอาดแล้วต้มขึ้นมาก็ไม่ต้องซื้อ และสังเกตดูว่าการที่คนผิดน้ำไม่มีและตั้งแต่หนาวมานี้ไข้เรื้อรังก็ดูหายไปมาก
เกลือจึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินที่มีความสำคัญสำหรับคนอุดรธานี และคนภาคอีสาน มาตั้งแต่อดีต  ดังจะเห็นได้จากพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ที่มีการทำเกลืออยู่สองรูปแบบ คือแบบเกลือพื้นบ้านที่เป็นการผลิตเกลือตั้งแต่โบราณและกระทำอยู่แถบทุกจะพื้นที่ เพื่อการบริโภคในครัวเรือนและการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน แหล่งสำคัญเช่นหมู่บ้านบริเวณรอบหนองหานน้อย หรือหนองหานกุมภวาปี และแบบการผลิตเชิงพาณิชย์ ที่บ้านดุง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเกลือที่สำคัญในทางเศรษฐกิจของจังหวัด และเริ่มผลิตเมื่อ20 กว่าปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันที่สถานการณ์ของการช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสานนั้นเริ่มที่จะมีความซับซ้อนและปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในแง่ของการเข้ามาของนายทุนระดับประเทศ และบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ภายใต้โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ซึ่งต้องการเข้ามาลงทุนในเชิงพาณิชย์และการสร้างอุตสาหกรรมของสิ่งที่เรียกว่าโพแทชและเกลือหินในพื้นที่แห่งนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...