วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

หลังเรียนมหาวิทยาลัย(1)


ผมเริ่มต้นจากการไปขอข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบล เนื่องจากในช่วงแรกผม ได้ลงไปอยู่ในพื้นที่ต.อุ่มจาน ซึ่งเป็นตำบลใกล้เคียงกับโครงการเหมืองแร่โปแตช อุดรธานี ซึ่งในตำบลนี้มีแหล่งน้ำที่สำคัญสาขาหนึ่งของลำชี คือหนองหานกุมภวาปี ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิด ของลำปาว ซึ่งไหลลงแม่น้ำชีที่จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งในช่วงนั้นหนองหานกำลังได้รับผลกระทบจากการทำคันคูดินรอบหนองหานตามโครงการโขล ชี มูล ทำให้กระทบต่อพันธ์พืช พันธ์ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ในหนองหานที่ลดจำนวนลงโดยเฉพาะปลาที่มักจะขึ้นมาวางไข่ตามไร่นา ไม่สามารถข้ามคันคูดินขึ้นมาวางไข่ได้  หรือการกักน้ำให้นิ่ง และตัดเส้นทาวงของลำห้วยสาขาตามธรรมชาติที่ไหลลงสู่หนองหาน ทำให้เกิดปัญหาการเจริญเติบโตและทับถมของวัชพืช จำนวนมาก ซึ่งทำให้หนองหานมีสภาพตื้นเขิน และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมขังในไร่นาของชาวบ้าน เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน เพราะมีวัชพืชอุดตันท่อน้ำ 
รวมทั้งผลกระทบจากสภาวะดินเค็มที่เกิดจากการปรับภูมิทัศน์ของหนองหานให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ โดยมีประตูเปิดปิด บริเวณบ้านดงเมือง เรียกว่า ฝายกุมภวาปี สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่ผู้เขียนได้เข้าไปศึกษาและเก็บข้อมูล โดยการวาดแผนที่ลุ่มน้ำ และหมู่บ้าน การเชื่อมโยงกันระหว่างลุ่มน้ำสาขา รวมถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านหนองหาน ไม่ว่าจะเป็นการทำนา เลี้ยงสัตว์ ประมง ทำเกลือ หรือปลาร้า ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในการนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน และเป็นของฝากระหว่างเครือญาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำความเข้าใจสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่
หลังจากที่ผมทำความเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ประมาณ 2 เดือน เมื่อเข้าสู่เดือนที่3และเดือนที่4 จึงเป็นเดือนที่ผมเริ่มหันมาสนใจและเน้นที่เรื่องของการปกครอง การบริหารจัดการในหมู่บ้าน หาข้อมูลว่าใครเป็นผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกอบต. และเริ่มที่จะขยับเข้าไปสู่งานเชิงเคลื่อนไหว โดยผ่านการทำงานวิจัย ร่วมกับคุณเกรียงศักดิ์ สุขวาสนะ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุน จากสกว. ชื่อ โครงการฟื้นฟูและพัฒนาระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำหนองหาน ซึ่งได้มีการนำโครงการเสนอต่ออบต.อุ่มจาน เพื่อขอมติในการให้ความร่วมมือและสนับสนุนโครงการ จุดนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนได้เริ่มทำงานร่วมกับผู้นำชาวบ้าน อย่างอบต.ไกรสร บุดดี (ปัจจุบันเป็นนายกอบต.ฯ)ซึ่งเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีหัวคิดก้าวหน้าและเป็นผู้นำในประสานงานกับแกนนำบ้านต่างๆในพื้นที่ต.อุ่มจาน และต.เชียงแหว ซึ่งเป็นพื้นที่วิจัย รวมถึงรวมเป็นผู้วิจัย ในการเก็บข้อมูลเรื่องชนิดของปลา และปริมาณปลาที่จับได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านได้พัฒนา จนก่อตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำหนองหาน มีการทำเขตอนุรักษ์พันธ์ปลา การออกกฎระเบียบข้อบังคับเรื่องการจับปลาและยิงนกบริเวณหนองหาน และขยับไปสู่การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น มีการไปศึกษาดูงานบริเวณอื่นๆ เช่นบึงโขงโลง หรือกว๊านพะเยา และมีการล่องเรือเก็บข้อมูลเรื่องหนองหาน
นี่คือประเด็นแรกเริ่มที่ทำให้ผู้เขียนมีความสนใจในเรื่องของหนองหาน วิถีประมง การทำปลาร้า และการทำเกลือ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งผู้เขียนดูจะมีความชอบที่จะนั่งสนทนากับชาวบ้าน บริเวณทุ่งนา เถียงนา หรือริมหนองหาร เพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อของชาวบ้าน ที่มีต่อหนองหาน โดยเฉพาะเรื่องของผาแดงนางไอ่ และผู้เขียนก็มีโอกาสได้รู้จักกับครอบครัวของพ่อสุวรรณและแม่ใจ ที่มีอาชีพ ทำเกลือ ทำปลาร้าและหาปลา ซึ่งครอบครัวนี้เองที่ผู้เขียนได้เรียนรู้วิธีทำปลาร้า การเอาปลาออกจากดาง(เครื่องมือหาปลาชนิดหนึ่งทำเป็นตาข่าย) การขอดเกล็ด เอาไส้ปลาออกเพื่อเตรียมทำปลาร้า และส่วนผสมต่างๆในการหมักปลา รวมถึงได้ลิ้มรสชาติจากปลาหนองหานของสองตายายผู้ใจดีและมีมิตรภาพทุกครั้งที่ผู้เขียนผ่านบ้านและสัมภาษณ์ข้อมูล แต่ผู้เขียนก็มีเวลาอยู่ที่ต.อุ่มจานเพียง6 เดือน(ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม2545) เท่านั้น เพราะต้องมาขยับเรื่องของเหมืองแร่โปแตชในอีกตำบลหนึ่ง
        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...