วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ชาวนา ตัวตนและความหมาย

ความหมายของชาวไร่ชาวนา
ชาวไร่ชาวนาคือใคร 
          ชาวไร่ชาวนา ได้ถูกนิยามและให้ความหมายที่ค่อนข้างแตกต่างหลากหลาย ทั้งจากนักสังคมศาสตร์ นักมานุษยวิทยา นักรัฐศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่เชื่อมโยงความหมายของชาวนา เข้ากับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมวัฒนธรรม ทำให้เราเข้าใจความหมายชาวนาชาวไร่ ที่ชัดเจนและหลากหลายมากขึ้น เช่น
          วิทยากร เชียงกุล (2522:1) ให้ความหมายเกี่ยวกับชาวนา คือ คนที่มีอาชีพหลักในการทำนา พวกเขาอาจทำอย่างอื่น  เช่น ปลูกพืชไร่หรือไม้ยืนต้น เลี้ยงสัตว์ จับปลา  ทำงานฝีมือ หรือรับจ้าง แต่อาชีพหลักหรือรายได้หลักของเขามาจากการทำนา พวกเขาก็ยังเป็นชาวนา(รวมถึงพวกกึ่งชาวนา และกึ่งเจ้าของที่ดิน)
          Michael Lowy (1981: 210) บอกว่า ชาวนาเป็นองค์ประกอบของสังคมที่ใหญ่ที่สุดในกระบวนการปฏิวัติ อย่างน้อยที่สุด ก็จนกระทั่งถึงช่วงของการยึดอำนาจรัฐ กล่าวคือ ชาวนาเป็นส่วนประกอบที่ใหญ่ที่สุดทั้งพรรคปฏิวัติ และกองทัพประชาชน
          ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (2527) บอกว่า ชาวนาเป็นนายตัวเอง เป็นผู้ผลิตขนาดเล็กอิสระ ที่ครอบครัวเป็นหน่วยการผลิต แล้วโยงเข้าด้วยกันโดยสมัครใจระหว่างกันเอง เป็นระบบชุมชนหมู่บ้าน ชาวนาไม่ใช่ลูกจ้าง ระบบชาวนาเป็นอีกระบบหนึ่งต่างหาก ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทุน
ดร.ธิดา สาระยา (2544:9) บอกว่า พวกที่ทำการเพาะปลูกทำนา ที่เรียกว่าเป็นชาวนานั้น หมายความรวมถึงพวกปฐมชนหรือที่เรียกว่า “Primitive” ด้วย ชาวนาโดยพื้นฐานแล้ว ผลิตเพื่อการดำรงชีพอยู่ ไม่มีส่วนเกินมากนัก แต่สังคมดั้งเดิมหรือสังคมชาวนาก็ยังเกี่ยวพันกับสังคมที่ใหญ่กว่าตลอดเวลา เช่น การแลกเปลี่ยนสินค้าหรือผลผลิตที่ตนผลิตได้กับคนภายนอก
จอร์จ โรสเซ็น (2519) บอกว่า ชาวนาคือคนพื้นเมืองที่อยู่ในชนบท และในการจัดระเบียบชีวิตที่ดำเนินมาเป็นเวลายาวนานของชาวนานั้นเมืองหลวงถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะมีความสัมพันธ์กับชาวนาในลักษณะของการพึ่งพา  ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและศีลธรรม ชาวนามีผลผลิตที่ชาวเมืองต้องบริโภค และเมืองก็มีผลผลิตต่างๆของตัวเอง ซึ่งชาวนาได้รับจากโรงงานอุตสาหกรรมของเมือง รวมถึงการให้อำนาจเมืองในการควบคุมท้องถิ่นด้วย
Alfred Krober (1948:248) บอกว่า ชาวไร่ชาวนา (Peasant) เป็นส่วนประกอบหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรม  ที่มีความสัมพันธ์กับระบบตลาดของเมือง (Market Town)  และเป็นรูปแบบทางชนชั้นที่แยกตัวเองออกมาเป็นส่วนหนึ่งจากประชากรทั้งหมดที่ส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์กลางของเมือง พวกเขาเป็นชนชั้นที่ขาดอำนาจในการตัดสินใจทางการเมือง แต่มีอัตลักษณ์ที่เก่าแก่ มีการรวมกลุ่มกัน และมีความสัมพันธ์กับเรื่องของการเพาะปลูกโดยเฉพาะการปลูกข้าวเป็นสำคัญ
Robert RedField (1956:31) ชาวนาคือคนในชนบท (Rural People) ที่อยู่ในอารยธรรมเก่า ชาวนาเป็นผู้ซึ่งควบคุมการเพาะปลูกในที่ดินของพวกเขา สำหรับการดำรงชีพ หรือยังชีพของพวกเขา และมีวิถีชีวิตที่ยึดธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งอิทธิพลกับการติดต่อสัมพันธ์กับคนในเมือง (Town People) ที่มีวิถีชีวิตเหมือนพวกเขา แต่มีรูปแบบอารยะธรรมที่ทันสมัยกว่า
Firth (1946) บอกว่า ชุดคำของชาวไร่ชาวนา มีการอ้างอิงถึงระบบเศรษฐกิจขั้นปฐมภูมิ ที่หมายถึงการดำเนินชีวิต(livelihood) ที่สัมพันธ์กับดินและการเพาะปลูก รวมถึงผู้ผลิตในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวประมง (Fishermen) ช่างฝีมือชนบท (Rural Craftsman)
Eric Wolf (1966) ชี้ให้เห็นชาวไร่ชาวนา (Peasant) และความเป็นชาวไร่ชาวนา (Peasantry) เป็นประชากร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก และการตัดสินใจที่เป็นอิสระในกระบวนการเพาะปลูก ดังนั้นการจัดแบ่งประเภท ถูกทำให้ครอบคลุมถึงเกษตรกรผู้เช่านา (Tenants) โดยการจ่ายค่าเช่าด้วยผลผลิต (Share Croppers) รวมถึงชาวนาที่มีที่ดิน และเครื่องใช้เครื่องมือเป็นของตัวเอง ตราบที่พวกเขาอยู่ในสถานภาพ ที่สามารถตัดสินใจได้ว่าพวกเขาจะผลิตพืชผลอะไรและอย่างไร
สำหรับความหมายของชาวนาในสังคมไทย ที่รวบรวมจากข้อเสนอและความคิดเห็นของนักศึกษารายวิชา 320218 (ปีพ.ศ.2550) มีดังนี้คือ

มองโดยยึดอาชีพ (Occupation)และโครงสร้างหน้าที่(Functional-Structural)
มองจากอัตลักษณ์ (Identity)
1. เป็นผู้ปลูกข้าว ทำนา ทำการเกษตร
1.ตัวดำ ผิวเสีย
2.ชาวนาเป็นผู้ผลิต
2.ไม่มี สง่าราศี
3.ทำอาชีพที่หลากหลาย ทำสวน ทำไร่
3.อยู่กลางแดด กลางท้องนา
4.อาชีพที่ไม่มีเกียรติ
4.รายได้น้อย ยากจน
5.คนที่มีที่ดิน มีนา
5.ไร้ความคิด ถูกจูงจมูกได้ง่าย
6.กระดูกสันหลังของชาติ
6.ความรู้น้อย
7.นับถือพระแม่โพสพ
7.ใช้แรงงานมาก
8.เป็นแรงงานขั้นพื้นฐาน
8.ไม่กระตือรือร้น
9.คนที่อาศัยอยู่ในชนบท
9.เรียบง่าย เฉื่อยชา
10.อยู่กับธรรมชาติ มีวิถีชีวิตเรียบง่าย

11.มีประเพณี วัฒนธรรมของตนเอง

12.มีความสัมพันธ์กับระบบการผลิตและกลุ่มคนอื่นๆ

13.เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง

14.สัมพันธ์กับวัฒนธรรมข้าว ภูมิปัญญาท้องถิ่น


จากข้างต้นสรุปได้ว่า
          ชาวไร่ชาวนาคือผู้ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร รวมทั้งอาชีพอื่นๆ  ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคชนบท  ชาวไร่ชาวนาถือเป็นผู้ผลิตและแรงงานพื้นฐานที่สำคัญของสังคม  มีความสัมพันธ์กับที่ดิน มีประเพณี วิถีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติ  รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นๆ เช่นคนเมือง พ่อค้า โรงสี และเป็นฐานอำนาจทางการเมืองที่สำคัญของประเทศ
ลักษณะนิยามต่างๆเกี่ยวกับชาวไร่ชาวนาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ชาวไร่ชาวนาไม่ได้แยกตัวเองออกมาเป็นอิสระจากสังคมขนาดใหญ่ แต่สังคมของชาวไร่ชาวนา มีความสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆของสังคม โดยเฉพาะเมือง ที่เป็นเสมือนแหล่งกระจายผลผลิตทางการเกษตรของภาคชนบท รวมถึง การข้ามกรอบการมองชาวไร่ชาวนา ในความหมายกว้างกว่าเรื่องของอาชีพ  เกษตรกรหรือ ชาวนา เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างหน้าที่ และความสัมพันธ์ที่ชาวไร่ชาวนา มีต่อระบบสังคมขนาดใหญ่ และส่วนประกอบอื่นๆในสังคมเช่นเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมือง

2ความแตกต่างระหว่าง Tribeman, Primitive, Peasant และ Farmer
 ชนเผ่าและกลุ่ม Tribeman / Band
          เป็นกลุ่มคน ที่อยู่ในสังคมแบบล่าสัตว์และเก็บอาหารป่า ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบอพยพเร่ร่อน มีลักษณะเป็นกลุ่มขนาดเล็ก  ไม่มีการจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคม การแบ่งแยกชนชั้น  มีความเท่าเทียม การแบ่งงานวางอยู่บนพื้นฐานทางด้านเพศและอายุ  ไม่มีเรื่องทรัพย์สินส่วนตัว ทรัพยากรธรรมชาติคือสมบัติร่วมกันของกลุ่ม ทุดกคนมีสิทธิ์หาและใช้สอยอย่างเสมอภาค มีการแบ่งปันอาหาร และทำงานเป็นทีม หัวหน้ากลุ่ม เป็นผู้นำไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจชี้ขาด แต่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย เจรจาต่อรอง ประนีประนอม ระหว่างกัน  เช่น เรื่องความขัดแย้ง การย้ายถิ่น
ชนกลุ่มดั้งเดิม Primitive
            เป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชาวไร่ชาวนา เพราะเป็นกลุ่มที่ยังชีพด้วยการล่าสัตว์ หาของป่า ไม่ได้มีการทำการผลิตและยึดติดกับพื้นที่ในการเพาะปลูก และไม่ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับคนภายนอกมากนัก ทั้งทางด้านการซื้อขายและแลกเปลี่ยน แต่ปัจจุบันในการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบางครั้ง มักเรียกสังคมชาวไร่นาว่าชนกลุ่มดั้งเดิม เพราะสังคมแบบล่าสัตว์และหาของป่าไม่มีเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน สังคมชาวไร่ชาวนาจึงเป็นสังคมดั้งเดิมที่ยังเหลือรอดอยู่ในปัจจุบัน
ชาวไร่ชาวนา Peasant
          ในความหมายนี้ ชาวนาที่เรียกว่า Peasant เป็นกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กับการเพาะปลูกและการตัดสินใจในการเพาะปลูก ว่าพวกเขาจะผลิตอะไร จะผลิตเพื่อใคร  โดยเป็นการผลิตเพื่อการยังชีพ ผูกพันกับที่ดิน และประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิม ชาวนาในสมัยก่อนและในปัจจุบันเป็นลักษณะดังกล่าว
ชาวนายุคใหม่Farmer
          ในความหมายของ Farmer ชาวนาเป็นชาวไร่ชาวนาสมัยใหม่ ที่พัฒนามาจาก Peasants ในแง่ของการเป็นมากกว่าผู้ทำการเกษตร แต่เป็นทั้งช่างฝีมือ และพลเมืองในรัฐสมัยใหม่ (Elson: 1997)
          ดังนั้นในรายวิชานี้ จะใช้คำว่าชาวไร่ชาวนา ในลักษณะของทั้งPeasant   และ Farmer ในแง่ของชาวนาที่ทำการผลิตแบบพอยังชีพ ควบคู่กับการผลิตเพื่อการพาณิชย์ มีการติดต่อกับสังคมเมือง และสัมพันธ์กับรัฐสมัยใหม่ในฐานะเป็นพลเมืองของรัฐ ที่ต้องทำหน้าที่ทางการเมือง เป็นฐานคะแนนสำคัญของการเลือกตั้ง และเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐในเรื่องของผลผลิต การประกัน การจำนำผลผลิต และการพยุงราคาผลผลิตที่จะต้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ เป็นต้น


3.ลักษณะของการผลิตในสังคม
- การเปลี่ยนผ่านจากสังคมล่าสัตว์และหาของป่าHunter and Food Gathering เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์และเทคโนโลยีทางการผลิตชุมชนเหล่านี้จึงไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ เช่นแถบทะเลทราย แถบขั้วโลก แต่เขาสามารถหาอาหารจากสิ่งที่มีอยู่ธรรมชาติได้  เช่น พวกคอปเปอร์เอสกิโม ในแคนาดา ล่าแมวน้ำ (Maupok) เพื่อใช้ทำเป็นอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งการหาปลาใต้น้ำแข็ง  หรือล่ากวางคาริบู ในช่วงที่อากาศอบอุ่นเพื่อเป็นอาหารให้กับครอบครัว
          ชาวยิวารา ชนพื้นเมืองหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย เดินทางอพยพร่อนเร่ (Nomadic) เดินทางไปเรื่อยไม่มีที่พักอย่างถาวร สร้างกระโจมด้วยไม้และหนังสัตว์ เพื่อสะดวกต่อการเดินทาง ซึ่งมักจะอพยพไปกันเป็นกลุ่ม (Band) ประมาณ 4-5 ครอบครัว  ในช่วงเช้าผู้หญิงจะเข้าป่าเก็บอาหาร พืชผัก ผลไม้ หัวเผือกหัวมัน ผู้ชายก็จะล่าสัตว์ เป็นต้น

 - การเปลี่ยนแปลงมาสู่กสิกรรมแบบหมุนเวียน ที่เริ่มจากการเพาะปลูกบนที่ดินแปลงเล็ก ใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ ใช้แรงงานสัตว์  อาจมีการพัฒนาระบบชลประทานแบบง่ายๆ เช่น ฝาย  การทำการเกษตรมักเป็นแบบโค่นและเผา Slash and Burn มีการหักล้างถางพง และปลูกข้าวไร่ โดยจะมีการหมุนเวียนเพาะปลุกไปเรื่อยๆ เนื่องจากที่ดินที่เพาะปลูกติดต่อกันหลายปี เริ่มขาดความอุดมสมบูรณ์ก็จะย้ายพื้นที่เพาะปลูกใหม่ จนเมื่อเวลาผ่านไปช่วงหนึ่งก็กลับมาที่เดิมอีก  ตัวอย่างเช่น ชาวจิวาโร (Jivaro) ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา  ที่อาศัยอยู่แถบเทือกเขาแอนดีส (Andes) รวมถึงชนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย
          สิ่งที่น่าสนใจ ชุมชนเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียน อาจมีลักษณะของชุมชนล่าสัตว์และหาของป่าอยู่ด้วย  แต่ข้อแตกต่างคือชุมชนแบบนี้จะมีการใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่าแบบแรก คือ มีปืน มีฉมวก และมีมีดในการล่าสัตว์ไม่ใช่เพียงแค่การใช้เครื่องมือล่าสัตว์แบบง่ายอย่างหอกหรือคันธนูยุคแรก

- การทำกสิกรรมแบบเข้มข้น (Intensive Agriculture)
          การทำกสิกรรมแบบเข้มข้นมีลักษณะที่แตกต่างจากสังคมเกษตรแบบหมุนเวียน คือการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและก้าวหน้ามากกว่า เริ่มมีการนำระบบชลประทานมาใช้ มีการใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิต มีการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์  มีการใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงานสัตว์ ส่วนใหญ่จะมีการใช้พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่นประเทศในแถบเอเชีย ลาตินอเมริกา อาจกล่าวได้ว่า การทำกสิกรรมแบบเข้มข้น เป็นระบบการผลิตที่พบเห็นในสังคมชาวไร่ชาวนา (Peasant Society)ในยุคปัจจุบันหรือในสังคมสมัยใหม่

-การเลี้ยงสัตว์ (Pastoralism)
          การเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อนเป็นวิถีการผลิตแบบพอยังชีพหรือเพื่อยังชีพ รูปแบบหนึ่งที่พบเห็นในสังคมหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยที่อาหารส่วนใหญ่ในสังคมที่มีวิถีการผลิตแบบเลี้ยงสัตว์นั้น ก็คือผลผลิตที่ได้จากสัตว์ที่เลี้ยงทั้งสิ้น เช่น ชาวบาสเสรี (Basseri)  ทางตอนใต้ของประเทศอิหร่าน ชาวมองโกลในแถบที่ราบสูงธิเบต มีการเลี้ยงม้า เลี้ยงแพะ เป็นชนกลุ่มหนึ่งซึ่งดำรงชีพด้วยการอพยพเร่ร่อนเพ่อเลี้ยงสัตว์ (Pastoral Nomads)ตามทุ่งหญ้าต่างๆ สัตว์เลี้ยงของกลุ่มคนเหล่านี้ประกอบด้วยแพะและแกะ  นอกจากนี้ก็มี ลา อูฐ เป็นต้น สัตว์เหล่านี้มีความสำคัญต่อการให้พลังงานและความอบอุ่น โดยเฉพาะนม สามารถมาทำโยเกิร์ตและเนย เป็นต้น
          สังคมทั่วโลกล้วนมีการผลิตในรูปแบบต่างๆข้างต้น แม้ในปัจจุบันเราก็ยังคงพบเห็นรูปแบบการผลิตเหล่านี้ในพื้นที่ต่างๆของโลก แม้ว่าบางสังคมจะพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่วิถีของการเกษตรกรรมก็ยังมีความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์ในประเทศต่างๆใช้บริโภค ถึงแม้จะผลิตเองไม่ได้เนื่องจากข้อจำกัดทางกายภาพภูมิศาสตร์ แต่ก็ยังต้องพึ่งพาผลผลิตของการเกษตร ในรูปของพืชผัก ผลไม้ โดยเฉพาะแป้งที่ใช้ทำขนมปัง น้ำนมที่ใช้ทำไอศกรีม เนยแข็ง โยเกิร์ต ขนมหวานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของมนุษย์บนโลก

สังคมชาวไร่ชาวนาคือ
โรเบิร์ต เรดฟิลด์ (Robert Redfield) เขียนใน Peasant Society and Culture  (1950) สังคมประกอบด้วยชนชั้นใหญ่ๆ 2 ชนชั้น
1. ชาวนาที่ควบคุมทำการเพาะปลูกในที่ดินของตนเอง และเลี้ยงชีพในฐานะที่เป็นวิถีชีวิตแบบเก่า ตลอดจนเป็นผู้ซึ่งหมายพึ่งพาและอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนอื่นโดยเฉพาะนายทุน พ่อค้า และผู้มีอำนาจทางการเมืองและนโยบาย

2.   ชาวเมืองซึ่งมีวิถีชีวิตเหมือนกับพวกเขาแต่มีรูปแบบที่เจริญกว่า ทั้งทางด้านวัตถุและสาธารณูปโภค
ธีโอดอร์ ชาลิน ( Theodor Shalin) มองว่าสังคมชาวนามีลักษณะดังนี้ (Theodor Shanin,1973:14-15)
1.ที่ทำกิน(ที่ดิน) และครอบครัว /ครัวเรือน (Household) เป็นหน่วยพื้นฐานในการจัดระเบียบต่างๆทางสังคม ส่วนไร่นาจะเป็นดัชนีที่แสดงถึงฐานะอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองและการบริโภค การแบ่งงาน และเป็นสิ่งที่กำหนดแนวทางการเรียนรู้ทางสังคมต่อสมาชิกในครอบครัว
2.อาชีพหลักในสังคมแบบนี้ คือ การเกษตรกรรม เป็นอาชีพหลักของสมาชิกในครอบครัว การเพาะปลูกส่วนใหญ่ใช้เพื่อเลี้ยงชีพ
3เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผูกพันกับขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น
4.มักอยู่ภายใต้อาณัติของสังคมภายนอกไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ  วัฒนธรรม ต้องติดต่อพึ่งพา แลกเปลี่ยนกับสังคมภายนอกเสมอ
ดังนั้นสังคมชาวไร่ชาวนาในความหมายนี้จึงเป็นเรื่องของชนชั้นล่างสุดของสังคมที่เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพาะปลูกในที่ของตนเองหรือเช่าที่ดินคนอื่น ที่เราเรียกว่า ชาวไร่ชาวนา โดยวิถีชีวิตเกษตรกรรมจะอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติและชลประทาน ในเขตที่ราบลุ่มต่ำและที่ดอนสูง ซึ่งชาวนาชาวไร่เหล่านี้ล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบตลาด และการเมืองในวิถีการผลิตของพวกเขา ซึ่งน่าสังเกตว่าในกรณีของประเทศไทยอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเรายังพบเห็นการทำการเกษตรแบบพอเพียง หรือการรวมกลุ่มเพื่อพึ่งตนเอง เช่น สันติอโศก มากกว่าจะพึ่งพาระบบทุนนิยมภายนอก

6.กรอบการศึกษาชาวไร่ชาวนาที่เคลื่อนจากตะวันตกสู่ตะวันออก
Firth (1946:22)ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวคิดการศึกษาชาวไร่ชาวนาที่กว้างขวางมากขึ้น  โดยไม่จำกัดขอบเขตของชาวไร่ชาวนาในชุมชนตะวันตกหรือยุโรป (European Community) แต่เขาเสนอให้พิจารณาชุมชนในแถบตะวันออก (Oriental Community) โดยยกตัวอย่าง ชาวประมงในแถบมาเลเซีย (Malay Fisherman) ซึ่ง Firth มองว่า ไม่ว่าจะชุมชนชาวไร่ชาวนาของตะวันตกและตะวันออก ต่างก็เป็นชุมชนของผู้ผลิตที่อยู่บนหน่วยเล็กๆ พร้อมกับการใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีแบบง่ายๆ และระบบการจัดการของตลาด(Market Organization)  รวมทั้งการผลิตที่อยู่บนพื้นฐานของการดำรงชีพ (Subsistence) ของพวกเขา
สรุป สังคมชาวนาและชาวนา มีความหมายที่หลากหลายตามทัศนะและมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆและกรณีที่นักวิชาการเหล่านั้นลงไปศึกษาชาวนาในที่ต่างๆที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของสังคม ทำให้กรอบในการศึกษาชาวนามีความแตกต่างหลากหลายกันไป แต่ไม่ว่าความหมายของสังคมชาวนาและความเป็นชาวไร่ชาวนาจะเป็นอย่างไรคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญคือ การตั้งคำถามต่อประเด็นปัญหาชาวนาในปัจจุบันและการหาคำตอบต่อปัญหาที่นักวิชาการกำลังตั้งคำถามว่า สังคมชาวนามีหรือไม่ มันหายไปจากสังคมสมัยใหม่แล้ว ถ้าเช่นนั้นชาวนาหายไปไหน หรือชาวนาไม่หายไปยังเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการเพาะปลูกอาหารสำหรับครอบครัว ชุมชนประเทศชาติ รวมทั้งการกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและการกลายเป็นพลเมืองของรัฐชาติในสังคมสมัยใหม่ หรือกลายเป็นแรงงานในภาคการผลิตของเมืองคือสิ่งที่เราต้องหาคำตอบ

บรรณานุกรมและหนังสืออ้างอิง
Gamst C. Frederick (1974)
Peasants in  Complex Society. America : Holt,Rinehart and winston ,inc.
Potter M. Jack (1967)
Peasant Society A Reader.(Ed.) Little, Brown and Company Boston.
          Redfield Robert (1956)
                   Peasant Society And Culture An Anthropological Approach to Civilization. London: The university of Chicago Press.
          Wolf R. Eric (1966)
                   Peasants . Prentice-Hall,Inc Foundations of Modern Anthropology Series.
          ยศ สันตสมบัติ  (2544)
                   มนุษย์กับวัฒนธรรม .กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

โควิดกับมุมมองของนักมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 นักมานุษยวิทยา นักมานุษยวิทยาการแพทย์ทำอะไรภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว? ผมคิดสิ่งที่นักมานุษยวิทยาทำ และผมในฐานะนักมานุษยวิทยาควรทำคือการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ ผ่านการสังเกต การเข้าไปมีประสบการณ์แบบมีส่วนร่วม การเขียนอธิบายพรรณนาข้อมูลจากสนาม ทั้งประสบการณ์ ทัศนะ มุมมอง อารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ แสวงหาวิธีที่จะนำข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญในสถานการณ์เหล่านี้มาเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจและเสนอมุมมองต่อปัญหาดังกล่าว

การระบาดใหญ่ของCovid 19 ทั่วโลกและการระบาดจะเป็นระลอก 3 ระลอก 4 ของสังคมไทย ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับปัจเจกบุคคล สังคม การใช้ชีวิต อารมณ์ความรู้สึก ความหวาดกลัว ที่เกี่ยวโยงกับสภาวะของการสูญเสียคนที่รัก สูญเสียวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ทางสังคมบางอย่าง การทำงานแบบเดิม การใช้ชีวิตที่เคยอยู่อย่างอิสระ ความเสี่ยงในการทำงานการใช้ชีวิตและความรู้สึกถึงปลอดภัยของตัวเอง รวมถึงการแสวงหาองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่หลากหลายในการจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทั้งในแง่ของภูมิปัญญาพื้นบ้าน ภูมิปัญญาสากล รวมถึงการมองลงไปในประสบการณ์ การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนต่อความเจ็บป่วย การฉีดวัคซีน การรังเกียจทางสังคมและอื่นๆ ผลกระทบของเชื้อโรคไม่ได้เข้าไปโจมตีหรือกระทำต่อร่างกายมนุษย์เท่านั้นแต่กำลังโจมตีสังคมของเราให้อ่อนแอลงไปด้วย มุมมองของผมต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดระลอก 4 มีดังนี้
1. ความไม่สามารถจัดการกับชีวิตส่วนบุคคลได้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยและความเป็นความตายจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความคาดหวังต่อบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะช่วยรักษาชีวิตของพวกเขาที่นอกเหนือการควบคุมได้ เช่น ยา วัคซีน เครื่องช่วยหายใจ เตียงผู้ป่วย ระบบส่งต่อ รวมถึงกระบวนการทางอำนาจในการตัดสินใจต่อเรื่องเร่งด่วนของชีวิตและสุขภาพของประชาชนอย่างถูกต้องเหมาะสม ที่สำคัญก็คือ ประเด็นในเรื่องของมนุษยธรรมที่เชื่อมโยงกับตลาดเสรีทางการแพทย์ (Free Market Medical) โดยเชื่อมโยงกับประเด็นความเร่งด่วนฉุกเฉินทางแพทย์ที่ต้องคำนึงถึงชีวิตมนุษย์และมนุษยธรรม ดังนั้นระบบเสรีนิยมใหม่ไม่ได้ทำให้เห็นสิ่งเหล่านี้ แต่เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับธุรกิจและการระบาดที่เพิ่มขึ้น ภายใต้เรื่องของการค้าภายใต้ทรัพย์สินทางปัญญาของวัคซีนที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายและการตายที่ไม่เท่าเทียมกันของผู้คนในภูมิภาคต่างๆของโลก
2. การมองประเด็นทางสุขภาพเชื่อมโยงกับมิติต่างๆอย่างเป็นองค์รวมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นคำถามที่ท้าทายและสำคัญคือ “ความเสี่ยงและความรุนแรงของโควิด 19 มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เพิ่มมากขึ้น” การมองประเด็นที่เฉพาะที่เชื่อมโยงกับการระบาด การเข้าถึงบริการสุขภาพ การเข้าถึงวัคซีน การจัดการการดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน กลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง ผู้สูงอายุ ผู้หญิงและเด็กและอื่นๆ รวมถึงการใช้อำนาจของผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องและนโยบายด้านสาธารณสุขที่ไม่มีประสิทธิภาพ ที่สร้างเส้นแบ่ง หรือตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรมในทางสังคมและสุขภาพ
3.ผมมองว่าในปัจจุบันความเข้าใจชีววิทยาของไวรัสมันนำไปสู่การหลอมรวมหรือการรับรู้ทางการเมืองของผู้คนเพิ่มมากขึ้น ทั้งประเด็นของความไม่เท่าเทียมกัน ความอยุติธรรม การแบ่งแยก ความขัดแย้งแตกแยก ที่สะท้อนผลกระทบชองการระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ไม่ใช่ทางชีววิทยาแต่เป็นผลกระทบทางสังคมด้วย ดังนั้นความขัดแย้งทางสังคม และความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นจากสภาวะการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ทำให้เห็นสิ่งที่เรียกว่าความไม่ยุติธรรมทางสังคม ที่สร้างความสิ้นหวังให้กับผู้คนในสังคม ภายใต้กระบวนการสร้างระยะห่างทางสังคมและความเสี่ยงในพื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันเราจะเห็นด้านของความร่วมมือขององค์กรภาคเอกชน ประชาชนทั่วไปที่มีจิตอาสาในการทำงานช่วยเหลือกันในชุมชน ทั้งการแจ้งข่าว การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย การจัดหาโรงพยาบาล จัดหาเตียง การดูแลเรื่องอาหารการกินให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย เป็นต้น ในด้านหนึ่งก็สะท้อนความเข้มแข็งขององค์กรทางสังคมและความอ่อนแอของภาครัฐในปัจจุบัน
4. จากกรณีประเทศไทย เช่นเดียวกับการศึกษาวิจัยหรือตัวอย่างในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเช่น ในอเมริกาใต้ บราซิล เม็กซิโก ชี้ให้เห็นว่า ภาวะผู้นำที่ไม่ดีส่งผลในการตอบสนองต่อการระบาดขนาดใหญ่ อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพรวมทั้งความอ่อนแอในทางแศรษฐกิจ ล้วนส่งผลต่อภาวการณ์ระบาดที่รุนแรง ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวคงต้องมองสุขภาพที่ไม่ใช่เรื่องของเชื้อโรค ยา วัคซีน เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจและการเมืองด้วย ทั้งในแง่ของผู้คนที่ติดเชื้อโควิด หรือผู้คนที่ไม่ได้ติดเชื้อแต่ใช้ชีวิตในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 การแสดงความช่วยเหลือประชาชนของภาครัฐไม่ใช่การผลักภาระให้ประชาชน ที่ผู้มีอำนาจจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นจาก 4 ข้อ ล้วนเชื่อมโยงกับการมองปัญหาอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดมันไม่สามารถแก้ได้เพียงมิติเดียว แต่ต้องทำความเข้าใจอย่างรอบด้าน มองปัญหาทางสุขภาพเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆการเชื่อมโยงกับมิติในทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมวัฒนธรรม ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ด้วยมุมมองว่า “โรคมันเป็นของโลก” ที่ต้องเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ โลกาภิวิวัตน์ การท่องเที่ยว การอพยพข้ามแดน รวมทั้งการให้ความสำคัญกับกลไกลสำคัญในการดูและสุขภาพที่เป็นคนหน้าด่าน แพทย์ พยาบาลและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ รพสต. เจ้าหน้าที่อสม.ในชุมชนที่รับคนกลับบ้านและต้องดูแลผู้ป่วยในชุมชน คนเหล่านี้ควรเข้าถึงวัคซีนและสร้างภูมิคุ้นกันให้ตัวเองในการดูแลคนอื่น
สิ่งหนึ่งที่ผมคิดมาตลอดก็คือ การแก้ปัญหาไวรัสโควิด 19 ที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน ต้องแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วย ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของปัญหา ประเทศจะดีและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐหรือผู้มีอำนาจ จะต้องไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้คนในสังคม รัฐต้องไม่รวบอำนาจ รัฐที่ไม่ผลักภาระให้กับประชาชน รัฐที่ไม่ทำลายความเป็นประชาธิปไตย หรือสร้างความขัดแย้งแตกแยก รัฐที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน รัฐที่มีผู้นำที่มีความสามารถและมีวิสัยทัศน์ รัฐที่เข้าใจบริบททางสังคมวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริงในการแก้ไขปัญหา
***ปัญหาวิกฤตการณ์โควิด 19 คงจะแก้ไม่ได้หากทุกคนไม่ร่วมมือกันฝ่าฟัน ความรู้จากทุกศาสตร์ จะต้องถูกนำมาใช้การแก้ปัญหาสุขภาพอย่างเดียวโดยไม่แก้ไขเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรมไปพร้อมกันคงไม่ได้ ที่จะช่วยเติมเต็มและให้ภาพของการแก้ไขปัญหาที่สมบูรณ์
***โลกและสังคมไทย ยังมีความหวังและผมในฐานะนักเรียนมานุษยวิทยา นักเรียนสังคมศาสตร์สุขภาพเชื่อมั่นเสมอถึงความเท่าเทียมและความยุติธรรมทางสังคมในมิติทางสุขภาพ การให้คุณค่าคนและการมองทุกคนอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ และเชื่อว่าปัญหาทางสุขภาพตอนนี้ต้องแก้ที่การเมืองสำคัญที่สุด การให้ประชาชนก่นด่าเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาไม่ใช่ทางแก้ที่ดี แต่ต้องเกิดจากจิตสำนึกและความรับผิดชอบด้วยตัวเองของผู้มีอำนาจ..ประชาชนส่วนหนึ่งเขาดูแลตัวเองได้ ซื้อหน้ากากเอง ซื้อเจลเอง พยายามหาวัคซีนเอง ยังพอมีเงินในการดำรงชีวิต. แต่นั่นไม่ใช่ทุกคน.. ดังนั้นรัฐก็ควรสนับสนุนหรือช่วยเหลือประชาชนที่หลากหลายแตกต่างให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียม


ร.ต

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...