วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

จิตวิทยาว่าด้วยความเครียด โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 วิชาหนึ่งในมานุษยวิทยาการแพทย์ที่เรียนมา วิชาย่อยที่ผมชอบคือจิตวิทยา...ส่วนหนึ่งจากการอ่านทบทวนงานที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดแต่ก็มีมุมมองให้วิพากษ์และตั้งคำถามเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมและความเป็นมนุษย์ หากว่างจะะยอยเอาแนวคิดมานุษยวิทยาการแพทย์ที่เรียนและอ่านมาลง

...ความเครียด (Stress) สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเจ็บป่วยได้อย่างไร...
ความเครียดเป็นแนวความคิดที่มีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต ที่มองว่า ความรู้สึกหรืออารมณ์สามารถส่งผลต่อสุขภาพหรือความเจ็บป่วยทางร่างกายได้ ยิ่งในปัจจุบันแบบแผนของความเจ็บป่วยได้เปลี่ยนแปลงจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อ (Infectious disease) มาสู่การเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดเชื้อและโรคเรื้อรัง ( Non-infectious and Chronic Illness) ที่ทำให้ประเด็นในเรื่องของความเครียดถูกนำมาอธิบายอย่างกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งความเครียดมีข้อสมมติฐานว่า เกี่ยวข้องกับคุณภาพของสิ่งเร้าหรือสิ่งที่มากระตุ้นจากภายนอก เช่น ภาวะกดดันจากการทำงาน หรือความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการอ้างอิงกับเรื่องของการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น การทำงานที่เป็นสาเหตุของความเครียด รวมทั้งการมองว่าความเครียดเป็นผลลัพธ์จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้า (Stimulas)และการตอบสนอง (Response) ดังนั้นความเครียดจึงมีความสัมพันธ์กับสุขภาพและความเจ็บป่วยใน 2 ลักษณะคือ
1. ความเครียดมีผลทางตรงโดยผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ที่นำไปสู่ความเจ็บป่วย
ความเครียดเป็นเรื่องของอารมณ์เชิงลบที่มีผลโดยตรงต่อกระบวนการทำงานของร่างกาย ในสภาวะความเครียดร่างกายของมนุษย์จะมีการตอบสนองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการกระทำที่อาจเกิดขึ้นในรูปของการหนีหรือต่อสู้ กระบวนการตอบสนองทางร่างกายในสภาวะเครียดมีอยู่ 2 ระบบที่สัมพันธ์ควบคู่กันคือ The sympathetic-adrenal medullary system และ The pituitary adrenocoetical system ที่เป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติและระบบต่อมไร้ท่อ โดยการทำงานของสมองส่วนที่เรียกว่า Hipothalamus ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการตอบสนองต่อความเครียด หรือเป็นศูนย์กลางทำงานในสภาวะเครียด โดยการควบคุมการทำงานของระบบอัตโนมัติและกระตุ้นการทำงานของต่อม Pituitaryที่มีผลต่อการยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ดังนั้น ความเครียดจึงเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย (Stress as a cause of Illness) โดยความเครียดทางจิตใจมีผลกับระบบการทำงานของร่างกายโดยเฉพาะระบบฮอร์โมน ตัวอย่างเช่น เวลาเกิดความเครียด ร่างกายจะมีกลไกที่ทำให้ฮอร์โมนไหลออกมาจากส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อให้เกิดพละกำลังความสามารถหรืออะไรบางอย่างที่มากกว่าในภาวะปกติมาขับดันตัวเราเพื่อให้เอาชนะความกดดันนั้นไปได้ แต่ผลจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในร่างกายจะส่งผลต่อต่อมไร้ท่อ ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายตามมา เช่น อาการหัวใจเต้นแรง ใจสั่น นอนไม่หลับ น้ำหนักลดรวมทั้งอารมณ์ที่แปรปรวนบ่อยๆ
2.ความเครียดเป็นผลทางอ้อมโดยผ่านทางพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับความเจ็บป่วย
ความเจ็บป่วยเกิดขึ้นจากพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลจากความเครียด ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรื่องของสุขภาพ เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด เป็นต้น บางครั้งพฤติกรรมเหล่านี้จะมีเพิ่มสูงมากขึ้นเมื่อมนุษย์ต้องประสบกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เครียด (สิ่งเร้าที่กระตุ้นจากภายนอกที่นำไปสู่กระบวนการตอบสนองต่อสิ่งเร้า) ที่นำไปสู่ความเจ็บป่วยของร่างกาย เช่น การดื่มสุราอย่างหนัก จนไม่รับประทานข้าว ไม่หลับนอนหรือไม่ออกกำลังกายก็จะนำไปสู่ความทรุดโทรมของร่างกายและความเจ็บป่วยขึ้นได้ นอกจากนี้ความเครียดมีความสัมพันธ์กับการลดลงของความเจ็บป่วย (Stress and the reduction of morbidity) เช่น การลดความเครียดจะช่วยลดระดับอารมณ์และพฤติกรรมตัวอย่างเช่น ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่มีความเครียดร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้นกันได้มากขึ้นกว่าผู้ป่วยที่มีความเครียดสูง ดังนั้นการสนับสนุนทางสังคมจึงมีผลกับการลดความตึงเครียดและลดอาการเจ็บป่วยในขณะเดียวกันความเจ็บป่วยเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด (Illness as a stressor)ด้วยได้เช่นกัน เช่นการต้องนอนพักรักษาตัวเป็นเวลานานๆ หรือการรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเคมีบำบัดจะพบว่าผู้ป่วยจะมีความทุกข์ทรมานและความเครียดสูง เป็นต้น
ตัวอย่างงานศึกษา เช่น Hinkle และ Plummer (1952 ) พบว่า พนักงานในบริษัทขายโทรศัพท์ ที่ขาดงานบ่อยๆเนื่องจากเจ็บป่วย มักพบว่าไม่ค่อยมีความสุขในชีวิต เครียดและเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ไม่รุนแรงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ค่อยขาดงานบ่อยถึง 12 เท่า งานศึกษาของ Grossarth-Maticek และคณะ(1985,1988)พบว่าผู้ที่มีบุคลิกที่มีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งมีลักษณะคือ มีการเก็บกดอารมณ์ เป็นคนที่ไม่สามารถจะแก้ไขความเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้ นำมาซึ่งความสิ้นหวัง หมดทางเยียวยา และตามมาด้วยความซึมเศร้า และเจ็บป่วย เขาและคณะยังพบด้วยว่า คนที่มีเหตุมีผล ไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงอัตราตายของ คนไข้มะเร็ง คนไข้โรคหัวใจ และคนไข้เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก Williums (1989 : 13) พบว่าความก้าวร้าวของคนที่มีบุคลิกแบบเอ เป็นตัวชี้ถึงการเป็นโรคหัวใจ และเพิ่มอัตราตายจากมะเร็งและโรคต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้นเรื่องของการตอบสนองต่อความเครียดของร่างกายเป็นเรื่องสลับซับซ้อน การศึกษาส่วนใหญ่จะอยู่ในสาขาวิชา Psychoneuroimmunology ที่จะศึกษาในแง่มุมต่างๆเช่น ความสัมพันธ์ของอารมณ์ในด้านลบ ความซึมเศร้า (Depression) ความโดดเดี่ยว (Loneliness) ความสิ้นหวัง(Hopelessness)ต่อการเกิดโรค การศึกษาที่ได้ให้คำตอบต่อคำถามต่างๆ เช่น สิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดจะต้องเป็นสิ่งที่เผชิญอย่างเรื้อรัง ซ้ำซาก เป็นประจำ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หรือเป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว การตอบสนองทางสรีระวิทยาต่อความเครียดจะมีลักษณะของความจำเพาะนอกจากนั้นยังมีปัจจัยเรื่องเพศ อายุ สถานะทางเศรษฐกิจ ทางสังคม รวมทั้งการมีโรคต่างๆที่เกิดขึ้นร่วมด้วย การศึกษาส่วนใหญ่จึงยังไม่สามารถแสดงความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเหตุการณ์ในชีวิตที่ทำให้เกิดความเครียดต่อการเกิดโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างลึกซึ้งเท่าใดนัก
***หนังสืออ้างอิง***
สุรีย์ กาญจนวงศ์ 2551 จิตวิทยากับสุขภาพ นครปฐม :คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Grossarth-Maticek, R., Eysenck,H. J. and Vetter, H.1988. Personality type, smoking habit and their interaction as predictors of cancer and coronary heart disease, Personality and Individual Differences,9:479.
Grossarth-Maticek, R., Bastiaans, J. and Kanazir, D.T. 1985. Psychosocial factors as strong predictors of mortality from cancer, ischemic heart disease and stroke: The Yugoslav prospective study, J. Psychosom. Res., 29:167.
Hinkle,L.E.,Jr. and Plummer, N. 1952. Life stress and industrial absenteeism, Ind.Med.Surg.,21:363
Willium, R. 1989. The Trusting Heart: Great News About Typ


แนวคิดทฤษฎีมานุษยวิทยาการแพทย์เชิงวิพากษ์ (Critical Medical Anthropology Approach) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 แนวคิดทฤษฎีมานุษยวิทยาการแพทย์เชิงวิพากษ์ (Critical Medical Anthropology Approach)

พัฒนามาจากการวิพากษ์จุดอ่อนของมานุษยวิทยาการตีความ ซึ่งเน้นอยู่ที่การมองระบบวัฒนธรรมสุขภาพในลักษณะดุลยภาพภายใต้องค์ประกอบที่ก่อร่างเป็นระบบวัฒนธรรมสุขภาพ โดยละเลยความสัมพันธ์ในเชิงของอำนาจที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความจริงทางการแพทย์ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมา รวมทั้งขาดการพิจารณาการดำรงอยู่ของการครอบงำอุดมการณ์ทางการแพทย์ในสังคม เพราะอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบบวัฒนธรรมสัมพันธ์กับโครงสร้างที่กำหนดให้กลุ่มหรือสถาบันในสังคมมีอำนาจแตกต่างกัน (โกมาตร,2549:27) ดังเช่นที่ Bear (1997) ยืนยันถึงการขาดความใส่ใจในการพิจารณาโครงสร้างเชิงสังคมของประสบการณ์และการตีความหมายที่เป็นปัญหาในการอธิบายของ Byran Good การมองที่ยึดมั่นความเป็นองค์ประธานของความรู้ (Subject of Knowledge) มากกว่าที่จะมองว่าความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างให้มีสถานะเป็นวัตถุแห่งความรู้ (Object of Knowledge)และขุมขังเอาไว้ในประสบการณ์ของมนุษย์ ที่ทำให้การตีความการเจ็บป่วยมีลักษณะของประสบการณ์การตีความภายในตัวขององค์ประธานหรือตัวผู้ป่วยเอง(Inter-Subjectivity Interpreted Experience) ดังนั้นมุมมองเชิงวิพากษ์จึงมีความน่าสนใจในการเชื่อมโยงจุดบกพร่องของการศึกษาแนวการตีความและเน้นถึงบทบาทหรือพลังอำนาจทางสังคม และความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจ การเมืองที่กำหนดความเป็นไปได้ต่างๆที่สร้างความหมาย และกำหนดเงื่อนไขให้กับประสบการณ์ร่วมของสมาชิกในสังคมในเรื่องสุขภาพ อนามัยและความเจ็บป่วย (พิมพวัลย์,2555:17)
วิธีการแบบวิพากษ์ ในมานุษยวิทยาการแพทย์ถูกแนะนำโดย Sohier Morsyในบทความของเขาเรื่อง “The Missing link in medical anthropology:the political Economy and health”ในช่วงปี 1979 ที่เป็นความพยายามเริ่มแรกในการนำการวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองของสุขภาพไปยังมิติทางมานุษยวิทยา มานุษยวิทยาการแพทย์แนววิพากษ์ เน้นย้ำเกี่ยวกับการเชื่อมโยงประเด็นทางด้านสุขภาพที่สัมพันธ์กับกฏเกณฑ์ทางเศรษฐกิจและอิทธิพลทางสังคม(The economic Order and Social Force) รวมทั้งการเน้นย้ำอยู่บนปัจเจกบุคคล ที่เชื่อมโยงการกระทำของปัจเจกบุคคล (Individual Action) กับสังคมหรือโครงสร้าง (Social /Structural) เสมือนการถูกกำหนดทางวัฒนธรรมในปฎิสัมพันธ์ระหว่าง ผู้กระทำทางสังคม (Social Actor)และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมือง (Morsy,1979:22) ดังนั้น วัฒนธรรมหรือค่านิยมที่สังคมสร้างขึ้นมีลักษณะในเชิงของอำนาจที่ซ่อนตัวอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนโดยมองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยไม่ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกับสุขภาพและความเจ็บป่วยที่ถูกทำให้เป็นปัญหาทางการแพทย์ (Medicalization) มากกว่าจะทำความเข้าใจเรื่องความไม่เป็นธรรม การกดขี่หรือความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ การเมือง (โกมาตร,2545:30) มุมมองในเชิงวิพากษ์จึงเป็นมุมมองที่ต้องตั้งคำถามและสงสัยในอำนาจเหล่านี้ เพื่อให้เห็นประเด็นทางวัฒนธรรม การควบคุมเรื่องอำนาจ การต่อต้านขัดขืน และท้าทายประเด็นทางสุขภาพ ความเจ็บป่วยและการรักษาในชีวิตประจำวันของมนุษย์ (Morsy ,1979:23)
Merrill Singer และ Hans Baer ได้ให้แนวคิดสำคัญเบื้องต้นในการนำมิติทางทฤษฎีมานุษยวิทยากรแพทย์เชิงวิพากษ์ไปใช้ ตรวจสอบความหมายดั้งเดิมในสังคมเกี่ยวกับโรคและความเจ็บป่วยทางสุขภาพ การวิเคราะห์โนโยบายด้านสุขภาพ การจัดสรรทรัพยากรทางสุขภาพ และบทบาทของรัฐในเรื่องสุขภาพและการดูแลรักษาสุขภาพ รวมทั้งสำรวจความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างปฎิสัมพันธ์ของรูปแบบการแพทย์ในระดับชาติและระดับนานาชาติ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของระบบการแพทย์กับบริบททางเศรษฐกิจและการเมือง การค้นหาประสบการณ์ของผู้ทุกข์ทรมานภายในกรอบความคิดเกี่ยวกับการครอบงำและการต่อต้านขัดขืน (Singer and Baer,1995:61) โดยเขาเสนอการวิเคราะห์ในแบบมานุษยวิทยาการแพทย์เชิงวิพากษ์ ที่เกี่ยวข้องกับระดับที่แตกต่างที่เริ่มจากระดับความสำนึกรู้ของคนไข้ (Consciousness of the patient) ระดับการจัดการของชุมชน (Community organization) ระดับขอบเขตภูมิภาคทางเศรษฐกิจและการเมือง (regional political and economy) ระดับการรวมตัวและความร่วมมือของอำนาจในระดับสากล (International coporate power) ที่ขยายความได้ว่าเขาเสนอให้พิจารณาผลกระทบของความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่อบริการสุขภาพนั้นๆ ที่ดำรงอยู่ในระดับที่ต่างกันในสังคมทุนนิยมทั้งประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศสังคมนิยมก็ตาม ซึ่งแต่ละระดับมีความแตกต่างกันตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล (Individual Level) เป็นเรื่องของผู้ป่วยและประสบการณ์ของผู้ป่วย ระดับจุลภาค (Micro-social level) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ระดับกลาง (Intermidiate-Social Level) คือบริบทของโรงพยาบาลและสถาบันทางการศึกษา และระดับมหภาค (Macro-Social Level) เป็นเรื่องของชนชั้น ระบบจักรวรรดินิยมและทุนนิยมโลก โดยที่ระดับต่างๆไม่ได้แยกขาดออกจากกันเด็ดขาดแต่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในลักษณะของความสัมพันธ์ทางอำนาจ ทั้งตัวของระบบทุนนิยมโลก โรงพยาบาล แพทย์และผู้ป่วยต่างสะท้อนให้เห็นการครอบงำของอำนาจและการต่อต้านขัดขืนต่อรองจากอำนาจที่บดหลั่นกันลงมาในระดับต่างๆดังกล่าวข้างต้น
นอกจากนี้แนวคิดมานุษยวิทยาการแพทย์เชิงวิพากษ์ยังได้นำเอาแนวความคิดของ Michel Foucault มาใช้วิเคราะห์เกี่ยวกับอำนาจและการต่อต้านอำนาจ เพราะอำนาจผลิตความรู้ ความจริง ดังนั้นหน้าที่ของเราคือการค้นหา และรื้อสร้าง ความไม่เท่าเทียม รวมถึงอำนาจหรือบรรทัดฐานบางอย่างที่มีเพียงมิติเดียวเพื่อให้เห็นความแตกต่างหลากหลายและความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ โดยเฉพาะความหลากหลายของวัฒนธรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่มี การปะทะ ประสาน การต่อรอง และประนีประนอมระหว่างกันของระบบการแพทย์แบบต่างๆในสังคมสมัยใหม่ รวมถึงการต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์ การให้ความหมาย อารมณ์ความรู้สึกภายใต้ร่างกายที่เต็มไปด้วยความรู้สึก (mindful body ) ที่เป็นประเด็นที่ถูกนำมาซึ่งการศึกษาความซับซ้อนของร่างกาย ทั้งระดับปัจเจก สังคมและการเมืองของร่างกายโดยมีอารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวเชื่อมโยง


มองชุมชนกะเหรี่ยงผ่านแนวคิดทางมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 Sherry B. Ortner (1984) เขียนใน Theory in Anthropology since the Sixties กล่าวถึงแนวโน้มของแนวคิดทางทฤษฎีที่ก่อต่อขึ้นในงานศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในช่วงศตวรรษที่ 21 ที่ถูกเรียกว่าเป็นแนว ปฏิบัติการหรือการกระทำการ ( Practice, Action หรือ Praxis ) ที่นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาหันมาให้ความสนใจกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำการและโครงสร้าง...

ปฏิบัติการที่ว่า ไม่ได้แค่หมายถึงสิ่งที่ผู้คนกระทำ แต่ทว่าปฏิบัติการหรือการกระทำเหล่านั้นล้วนมีนัยทางการเมือง ทั้งที่เจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ ปฏิบัติการนั้นๆได้ทำการก่อรูประบบ การผลิตซ้ำระบบ และสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบ...
ในอดีตการศึกษาทางมานุษยวิทยานั้น ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมในฐานะพื้นที่ของการผลิตซ้ำเชิงคุณค่าและบรรทัดฐานของสังคม ดังที่ออทเนอร์ก็มองว่าพิธีกรรมดังกล่าว ก็คือการกระทำของมนุษย์แบบหนึ่ง แต่ทฤษฎีปฏิบัติการ สนใจศึกษาการผลิตซ้ำวัฒนธรรมในชีวิตปกติประจำวันของมนุษย์ ไม่ใช่แค่เพียงในพิธีกรรมเท่านั้น...
ความน่าสนใจคือวิถีปฏิบัติของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมีมาก่อนมาตรฐานทางสังคมหลักและกฏหมายที่ถูกกำหนดในปัจจุบัน โดยเฉพาะนโยบายป่าไม้ที่ดินของรัฐ พร้อมกับการกระทำต่างๆที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตามวิถีดั้งเดิมครั้นบรรพบุรุษ และปรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศราษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม รวมทั้งการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในสถานการณ์ปัจจุบันจึงอาจเป็นการกระทำที่สร้างสังคมหรือวัฒนธรรมหรือทางเลือกใหม่ๆท่ามกลางวิกฤตการณ์ปัจจุบัน....
เช่นเดียวกับบิแอร์ บูดิเยอร์ (Bourdieu,1977) กล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่ายุทธวิธีหรือยุทธศาสตร์ (Strategy) ที่มองว่าจริงอยู่ที่สังคมมีบรรทัดฐานเป็นกรอบทั่วไป แต่ในระดับปฏิบัติการแล้วนั้น ผู้กระทำการอาจต่อรองที่จะไม่ทำตามข้อกำหนดหลักของสังคม แต่แสวงหาหนทางที่แตกต่างหรือใกล้เคียงกับแนวทางหลักของสังคม ซึ่งเชื่อมโยงกับเงื่อนไขเฉพาะและการสร้างสรรค์ของผู้กระทำการเอง...
ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในพื้นที่รอยต่อของเขตป่าภายใต้โครงสร้างของอำนาจ ทั้งในระดับรัฐ อาทิ นโยบายเรื่องป่าไม้ที่ดิน การรุกคืบของระบบทุนนิยมกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนไปถึงโครงสร้างในระดับโลกที่เชื่อมโยงกับสภาวะโลกร้อน ความมั่นคงปลอดภัยทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวิภาพและอื่นๆ.....
ในขณะที่ชีวิตประจำวันของชาวกะเหรี่ยง อาศัยและดำรงอยู่ในพื้นที่ป่า เป็นทั้งผู้อาศัย ผู้ใช้ประโยชน์และพึ่งพิงป่าอย่างเกื้อกูล มีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง ทั้งการทำไร่หมุนเวียน การทำพิธีกรรมไหว้เจดีย์และนับถือเจ้าวัดที่สัมพันธ์กับความเชื่อดังเดิมและเชื่อมโยงกับความเคารพเป็นมิตรกับดิน น้ำและป่า ซึ่งการปฎิบัติการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องดำเนินตามกรอบกำหนดของนโยบายหรือแผนแม่บทด้านป่าไม้ที่ดินและนโยบายชาติพันธุ์ของรัฐเสมอไป แต่พวกเขาสามารถสร้างสรรค์ ตีความใหม่ และสร้างลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมในแบบของตัวเอง และวัฒนธรรมดังกล่าวก็สามารถเป็นต้นแบบและรูปแบบให้กับชุมชนชาติพันธุ์อื่นๆและกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน หันมาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ในการจัดการ ฟื้นฟู ดูแลรักษาวัฒนธรรมของตัวเอง และสามารถอยู่ร่วมกันกับป่า ที่จะนำไปสู่กระบวนการจัดการป่าและพัฒนาอย่างยั่งยืน....
วัฒนธรรมใหม่อาจเกิดขึ้นโดยนำเอาวัฒนธรรมเก่ามาปรับเปลี่ยนและไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนโดยการเปลี่ยนแปลงอำนาจของกลุ่มสังคม เพราะวัฒนธรรมไม่ได้ผูกติดกับพื้นที่หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างตายตัวอีกต่อไป
ดังเช่นคำพูดชาวกะเหรี่ยงภูเหม็นที่พูดว่า "บ้านภูเหม็นเปิดรับทุกคนที่จะเข้ามาแลกเปลีย่นเรียนรู้และอยากศึกษาวัฒนธรรม ใครจะเข้ามาเรายินดีต้อนรับ ถ้าเคารพในวัฒนธรรมและอยากเรียนรู้วัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยง"
****
ผมดีใจและภาคภูมิใจกับวันพรุ่งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญของชุมชนกะเหรี่ยงภูเหม็นและชื่นชกับภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันทำงาน ภายใต้การจัดการด้วยรูปแบบพิเศษภายใต้มติครม. 3 สิงหาคม 2553 เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน และฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง ภายใต้พื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ...ในไม่ช้าผมจะได้กลับลงไปขอความรู้และเรียนรู้กับพ่อแม่พี่น้องกะเหรี่ยงที่ภูเหม็นอีกครับ


Who Gets to Study Whom? ในงานศึกษาทางมานุษยวิทยา โดยนัฐุวุฒิ สิงห์กุล

 Who Gets to Study Whom?

ใครควรเข้าไปศึกษาใครกันแน่?
สนามของนักมานุษยวิทยา สะท้อนการพยามยามทำความเข้าใจผู้คน สังคม วัฒนธรรมอื่น ผ่านการปะทะกันของผู้คนสองวัฒนธรรม ภายใต้ความเป็นพวกเขา พวกเรา หรือความเป็นพวกเขาในพวกเรา ทั้งผู้ศึกษาตะวันตกผิวขาว กับคนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ในซีกโลกอื่น ตั้งแต่ยุคของการล่าอาณานิคม...ในปัจจุบันแม้ว่าในอดีตจะมีงานที่ซึกษาคนอื่น เพื่อเข้าใจคนอื่นและตัวเรา เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างหลากหลาย ในฐานะของเพื่อนมุษย์ แต่ทว่าวิธีคิดแบบอาณานิคม การเลือกปฎิบัติ การเหยียดผิว เหยียดเพศ ก็ยังคงดำรงอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย
ดังเช่นกรณีของ นักศึกษาปริญญาเอกชื่อ Chisomo Kalinga ที่ศึกษาแผนกมานุษยวิทยาการแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจน์ ลอนดอน ตัวเธอต้องการศึกษาวิจัยและได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัย เกี่ยวกับเรื่องเล่าในประเด็นเอดส์และเอชไอวีในอเมริกา แต่ก็ไม่มีใครหรือแหล่งทุนไหนที่สนใจและให้ทุนกับเธอ จนกระทั่ง วันหนึ่งมีแหล่งทุนหนึ่งในมหาวิทยาลัย สนใจที่จะให้ทุนเธอทำวิจัย แต่มีเงื่อนไขว่าเธอต้องไปศึกษาที่ Malawi ในแอฟริกา ไม่ใช่ที่อเมริกาซึ่งเป็นประเทศในตะวันตก ทำให้เธอต้องปรับเปลี่ยนงานวิจัยมาสู่การศึกษาเปรียบเทียบสองประเทศแทน...
ย้อนกลับไปที่ตัวของ Kalingma เธอย้ายตามพ่อแม่จากมาลาวี มาสหรัฐอเมริกาเมื่ออายุได้ 8 เดือน เธอเติบโตที่อเมริกา และมีฐานะเป็นพลเมืองอเมริกา เธอจึงต้องการศึกษาวิจัยในประเทศอเมริกา แต่อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำเธอว่า เธอควรศึกษากับกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนขาว หรืออยู่ในชุมชนคนขาว แต่เป็นกลุ่มคนดำในมาลาวีที่บ้านเกิดของพ่อแม่เธอจะดีกว่าและเหมาะสมกว่า เธอก็พยายามโต้แย้งและเน้นว่าการให้ทุนทำวิจัยควรเปิดกว้างและหลากหลาย มากกว่าจะสร้างข้อจำกัดเพียงเพราะเธอเป็นนักศึกษาปริญาเอก ผิวดำและเป็นผู้หญิง....
ข้อถกเถียงของเธอ ได้นำไปสู่การพินิจพิเคราะห์ กฏเกณฑ์และภาระหน้าที่ทางวิชาการของหน่วยงานทางการศึกษาว่า สิ่งที่เราเชิดชูความเป็นมนุษย์และคุณค่าทางวัฒนาธรรม แท้จริงแล้วยังคับแคบมาก และตอกย้ำอคติและความไม่เท่าเทียม รวมถึงวิธีคิดแบบcolonialism...ทำไมคนดำจะศึกษาคนขาวไม่ได้และคนดำที่เป็นคนที่อาศัยอยู่ในประเทศของคนขาว เป็นพลเมืองในปะเทศนั้น ทำไมต้องถูกกีดกันกับการศึกษาและทำความเข้าใจคนขาวในประเทศที่พวกเขาอยู่...
ย้อนกลับไปกับคำว่ากล่าวว่า แท้จริงแล้วใครควรจะเข้าไปศึกษาใคร การศึกษานั้นเขามองชุมชนและกลุ่มคนที่เขาลงไปศึกษาอย่างไร การไปศึกษามุ่งเน้นการทำความเข้าเพื่ออะไร เป็นการเคารพ แก้ปัญหาหรือใช้อำนาจเข้าไปครอบงำ จัดการ ตามวิธีคิดแบบอาณานิคม
งานของนักมานุษยวิทยาคนสำคัญ อย่างเช่น มาลีนอฟสกี้ นักมานุษยวิทยาชาวโปแลนด์ในช่วงปี 1922 เรื่อง Agonault of western pacific ที่อธิบายถึงงานชาติพันธุ์วรรณนาบนดินแดนที่ห่างไกลระหว่างชนพื้นเมืองกับคนขาวชาวยุโรป ต่อมาเมื่อประเทศอเมริกาเติบโตและเป็นผู้นำในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 พวกเขาได้ใช้ประโยชน์จากมานุษยวิทยาวัฒนธรรมทางด้านการเมืองและการทหาร บ่อยครั้งก็สร้างการคุกคามที่เลวร้ายและไร้จริยธรรมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2 เช่น กรณีสงครามเวียดนาม ในช่วงต่อมาการศึกษาทางมานุษยวิทยาถือว่าเติบโตภายใต้แนวคิดแบบ Area study ซึ่งก็ปฎิเสธไม่ได้ว่ามรดกทางความคิดแบบยุคล่าอาณานิคมก็ยังคงแทรกตัวอยู่จนปัจจุบัน...
ในขณะเดียวกัน ความรู้ที่เคยถูกผูกขาดโดยนักวิจัย ผิวขาว ตะวันตก ได้ถูกท้าทายและตั้งคำถาม เกิดกระแสแบบสะท้อนย้อนคิด วิพากษ์ เกิดกระบวนการสร้างความรู้จากท้องถิ่น มากกว่าคนนอก หรือมีลักษณะร่วมกันระหว่างคนนอกคนใน ชาวบ้านกับนักวิจัย ที่เปลี่ยนฐานคิดจากการมองชาวบ้านเป็นผู้ถูกศึกษามากกว่าผู้ศึกษา “the studied not the studier” หรือ ชาวบ้าน กลุ่มคนพื้นเมือง ได้กลายเป็นทั้งผู้ถูกศึกษาและผู้ศึกษาไปพร้อมกันด้วย “Both researchers and researched” ซึ่งเป็นการพยายามทำให้เห็นการทำลายความคิดแบบอาณานิคม....
ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านมานุษยวิทยาในอเมริกา แม้ว่าเราจะพบความหลากหลายของคนดำ คนลาตินอเมริกา คนเอเชีย คนที่เป็นคนพื้นเมืองอินเดียนแดงที่เข้ามาเรียนเพิ่มมากขึ้น แต่เพียงแค่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือกว่า80 เปอร์เซ็นต์ก็คือคนอเมริกันผิวขาวหรือคนยุโรปผิวขาวมากกว่า และแน่นอนว่านักมานุษยวิทยาเหล่านี้ต้องการไปศึกษาสังคมอื่นที่แตกต่างและล้าหลังกว่าตัวเอง
ในขณะที่ kalinga บอกถึงสิ่งนี้ว่า เธอไม่เคยพบนักเรียนผิวขาวบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองและสังคมวัฒนธรรมของตัวเอง จริงอยู่ที่เธอเกิดในมาลาวีในช่วงอายุ 1-8 เดือน แต่ชีวิตในประเทศที่เธอถูกเลี้ยงดูและเติบโตมาคือเมริกา .....
ปัจจุบันกระแสการศึกษาทางมานุษยวิทยา ย้อนกลับมาทำสนามในสังคมที่ตัวเองเติบโตคุ้นชิน หรือเรียกว่ามานุษยวิทยาทีบ้าน (บ้านเกิดเมืองนอน) บ้านที่มีวัฒนธรรมซึ่งเรามักจะคิดว่าตัวเองรู้ดีที่สุด เข้าใจที่สุดแต่แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามและเราไม่ได้เข้าใจบ้านของเราทั้งหมดอย่างแท้จริง ภายใต้กระบวนทัศน์ที่ก้าวข้ามจากการศึกษาสังคมอื่นด้วยสายตาของคนอื่น กับการหันเหมาสู่การศึกษาสังคมของตัวเองด้วยความเข้าใจและวิพากษ์สังคมของตัวเองน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจความซับซ้อนของปัญหา และทำให้นักมานุษยวิทยามีฐานะที่เป็นคนในแท้จริง มากกว่าการเป็นคนในเทียม...
กรณีของ Kalinga การมองว่า Kalinga เป็นคนผิวดำมีต้นกำเนิดจากประเทศมาลาวี น่าจะดีสำหรับการทำวิจัยที่ตัวเธอถูกมองว่าเป็นคนใน ทั้งที่ในความจริงเธอเติบโตในอเมริกา หรือนักศึกษาบางคนที่อยู่ในกัมพูชาและต้องการทำวิจัยที่บอร์เนียว อินโดนีเซีย ก็จะโดนคำถามว่ามีคนรู้จักหรือครอบครัวอยู่ที่บอร์เนียวไหม รวมถึงความจริงที่นักศึกษามานุษยวิทยาผิวสี หรืเอเชียมักจะโดนตั้งคำถามเหล่านี้ มากกว่านักศึกษาผิวขาว อเมริกาหรือยุโรปที่มักจะได้ทุนไปทำงานวิจัยในวัฒนธรรมที่แตกต่างจากตัวเอง...
กรณีข้างต้น นำไปสู่ข้อถกเถียงกันได้เยอะ ในเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และวาทกรรม สิ่งเหล่านี้ถ้าเรามองด้วยแนวคิดแบบอาณานิคมที่บอกว่ามันคือสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดมาในปัจจุบัน แม้แต่การให้ทุนศึกษาทางมานุษยวิทยา ระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายที่เข้ามาเรียนในคณะที่ศึกษาและทำความเข้าใจ สังคม วัฒนธรรมและความเป็นมนุษย์...
เอาเป็นว่าคำถามที่ว่าใครควรจะศึกษาใคร ไม่ควรจะไปตกกับดักวิธีคิดแบบคู่ตรงกันข้ามระหว่างการวิจัยของตะวันตกกับไม่ใช่ตะวันตก แต่การวิจัยมันควรจะต้องมองทั้งสองด้าน อย่างที่เราเคยบอกว่า “เราศึกษาคนอื่น วัฒนธรรมสังคมอื่น เพื่อทำความเข้าใจ วัฒนธรรม สังคมเราและตัวเอง” การอ่อนน้อมถ่อมตน เรียนรู้และเชื่อมโยงเพื่อสร้างพลังของการอธิบาย สุดท้ายเราต้องวิพากษ์ ให้เห็นพลวัตรของอำนาจ ความแตกต่าง และความไม่เท่าเทียมที่เป็นความจริงของโลกใบนี้....

Sujira Singkul, ร.ต.ชำนาญ สิงห์กุล และคนอื่นๆ อีก 18 คน

แด่หนุมสาวนักต่อสู้ โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 แด่หนุ่มสาว...

เมื่อผู้ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายการพัฒนาที่ถูกกล่าวอ้างและถูกปฎิบัติในนามของชาติ พวกเขานั้นไม่ได้รู้สึกถึงสิ่งที่ตัวเองได้รับ ดังนั้นพวกเขาอาจไม่ได้รู้สึกผูกพันหรืออินกับคำว่าชาติเสียแล้ว...และมันก็คงเป็นเรื่องยากในการบอกให้ประชาชนเหล่านั้นเสียสละหรือเข้าร่วมพันธกิจต่างๆที่ถูกกล่าวอ้างว่าจะช่วยสร้างความเจริญเติบโตและมั่นคงต่อสิ่งที่เรียกว่าชาติอีกต่อไป....
การลดน้อยถอยลงของอุดมคติหรืออุดมการณ์ จินตนาการว่าด้วยความเป็นชาตินั้น คงไม่ได้เกิดจากปัญหาทางด้านวัฒนธรรมหรือจิตสำนึก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่คือ เรื่องของความชอบธรรมแห่งรัฐและระบอบการเมืองนั่นเอง...
การเคลื่อนไหวของประชาชนในทางการเมือง นับแต่ชาวบ้านในชนบทที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา การถูกอำนาจรัฐและทุน ทำให้พวกเขาหายไปจากพื้นที่การต่อสู้ด้วยวิธีการที่รุนแรง ป่าเถื่อน ดังกรณีที่เกิดขึ้นในยุคที่อ้างถึงภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 6 และ14 ตุลาคม ที่แสดงให้เห็นความต้องการเปลี่ยนแปลงของประเทศและสังคมแบบประชาธิปไตย หรือการเคลื่อนไหวในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ถือว่าเป็นการขุมนุมของชนชั้นกลาง ที่เรียกว่าม๊อบมือถือ จนมาถึงการเคลื่อนไหวหลังฟองสบู่ช่วงปี 2540 ที่ประเทศไทยเกิดภาวะวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ก็มีสิ่งที่น่าคิดว่าในช่วงเวลาดังกล่าว การเคลื่อนไหวกับน้อยและไม่มีพลังอำนาจมากเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะความล่มจมทางเศรษฐกิจเกิดกับชนชั้นที่ร่ำรวย เศรษฐี ไม่ใช่คนชนบท ชาวไร่ชาวนา ผลกระทบกับคนชนชั้นกลางและเศรษฐี ไม่ได้เป็นผลกระทบเดียวกับพวกเขา เพราะพวกเขาก็ยังคงจน ถูกกดขี่ และถูกอำนาจที่เกิดจากรัฐและกลุ่มทุนในนโยบายการพัฒนาตลอดเวลา...
ยิ่งในช่วงหลังๆ การแบ่งแยกกลุ่มคน ที่สัมพันธ์กับปัญหาและภาพของความเหลื่อมล้ำในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบเหลือง แดง ยิ่งช่วยตอกย้ำให้เห็นความห่างไกลจากความเป็นชาติ ในฐานะที่ทุกคนยึดเป็นสังกัด เป็นจินตนาการร่วมและเป้าหมายร่วมแห่งผลประโยชน์ที่ควรกระจายอย่างสมดุลและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
การเคลื่อนไหวของหนุ่มสาวในปัจจุบัน ...น่าสนใจว่าพวกเขาเป็นผลผลิตของพ่อแม่ที่มาจากชนชั้นที่หลากหลาย ที่มีประสบการณ์และล้วนก็ต่างเผชิญหน้ากับปัญหาอันหลากหลายในช่วงยุคสมัยของพวกเขาที่เปลี่ยนผ่านมา ลูกของพวกเขาจึงเป็นผลผลิตจากกลุ่มคนที่หลากหลายในชาติ ลูกของชนชั้นกลาง ลูกของนักธุรกิจ ลูกของนักการเมือง ลูกของพ่อค้าแม่ค้า ลูกของแรงงานในโรงงาน ลูกของขาวไร่ชานา ลูกของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากชนชั้นไหนก็ตาม แต่พวกเขาก็รับรู้ถึงปัญหาทางสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองที่กระทบกับตัวเขาและครอบครัวไปจนถึงประเทศชาติ สิ่งที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการแลกเปลี่ยน รับรู้ข้อมูลข่าวสารในเรื่องต่างๆระหว่างกัน ก็คือโซเชีย มีเดีย มีการใช้ไลน์ ทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค เพจต่างๆ ในการแชร์ข่าว ข้อมูลระหว่างกัน...สิ่งเหล่านี้คงจะตอบคำถามได้ประการหนึ่งว่า พวกเขาเติบโตมาจากการสัมผัสชีวิตและปัญหาของครอบครัว สังคมที่อยู่รายล้อมพวกเขาในคลื่นของยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน การเห็นความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ การจำกัดเสรีภาพหลายๆอย่างในชีวิตการเรียนและการทำงาน ระเบียบกฏเกณฑ์บางอย่างที่ไม่เคยถูกตั้งคำถามในคนรุ่นพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เสื้อผ้า หน้าผม ค่าเทอม จริยธรรมของผู้สอน เรื่องเพศและอื่นๆ แต่คนรุ่นใหม่เริ่มมีคำถาม...
ความน่าเบื่อในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ก็คือการกล่าวอ้างผลประโยชน์ของชาติและการถ่วงดุลอำนาจ ที่ไม่เคยมีอยู่จริง นำไปสู่การแสวงหาแนวทางการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยแบบตรงๆ ที่สามารถแสดงออกถึงการมีอำนาจของประชาขนโดยไม่ผ่านตัวแทน การเมืองแบบชาวบ้าน การเมืองในออนไลน์ การเมืองข้างถนนหรือฟุตบาธและอื่นๆ...
ปัจเจกชนเสรี ย่อมไม่ต้องการดำรงตำแหน่งใดๆ หรือต้องสร้างองค์กร ต้องสร้างพรรค เข้ามาช่วงชิงอำนาจกับพรรคการเมืองเก่าๆ หากแต่เพียงต้องการแสดงออกซึ่งเจตจำนงและสิทธิในการรักษาวัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งสิทธิอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต โดยไม่ถูกละเมิดหรือรุกล้ำ
ดังนั้นคำว่าชาติ อาจต้องนิยามใหม่ว่าชาติคือ พื้นที่ที่ประกอบด้วย ความแตกต่างหลากหลาย คนที่หลากหลาย ชุมชนที่หลากหลาย เพศที่หลากหลาย ไม่ใช่คนเพียงบางกลุ่มที่ผูกขาดสิ่งที่เรียกว่าชาติ...
ผมว่าสังคมเรายังมีความหวัง เราไม่เคยละทิ้งความหวัง แม้บางครั้งดูเหมือนว่ามันจะมืดมน อับแสงไปบ้าง แต่เราต้องหวังและสร้างสังคมให้มีความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์...
เราอยู่ในสังคมอุดมปัญญา การใช้เหตุผล เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างสำคัญ... เสียงชาวบ้าน เสียงชนชั้นกลาง เสียงคนจน เสียงคนไร้บ้าน เสียงLGBTQ+ เสียงของหนุ่มสาว และเสียงอื่นๆ ....ผู้มีอำนาจจงรับฟังเถิด หากเสียงนั้นจะมากหรือน้อย ดังหรือไม่ดัง ฟังเขาหน่อยว่าเขาพูดอะไร คิดอะไร ชัยชนะในการเลือกตั้ง ที่ท่านอ้างถึงความชอบธรรมในการตัดสินใจ การพัฒนาเชิงนโยบายในทุกเรื่อง บางครั้งพบว่าสร้างปัญหาต่างๆตามมา หรือส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนไม่ว่าจำนวนมาก หรือจำนวนน้อยก็ตาม ท่านก็ต้องรับฟัง ปรับปรุง แก้ไขและยอมถอยเพื่อให้ชาติดำเนินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
แด่หนุ่มสาว....
****ภาพประกอบ อาจไม่เกี่ยวกับที่แสดงพลังกันเมื่อวาน แต่โยงกับวิถีคิดของตัวเองตอนทำงานพัฒนากับชาวบ้านในพื้นที่ ตอนเรียนจบใหม่ๆ

สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือ The turning point..ของคาปร้า โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 Capra เขียน The turning point...ที่พูดถึงและวิพากษ์ทัศนะแม่บทหรือกระบวนทัศน์แบบตะวันตกที่ส่งผลต่อวิธีคิด มุมมองต่อโลก และการนำไปใช้สำหรับจัดระเบียบวัฒนธรรม สังคมและการเมือง...กระบวนทัศน์ดังกล่าวในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในช่วงศตวรรษที่19-20 ท้ายที่สุดได้นำพามนุษย์ไปสู่ส่งคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ ในเอเชีย แอฟริกา ความขัดแย้งและความรุนแรงต่างๆที่ไม่มีวันสิ้นสุดตลอดประวัติศาสตร์ของโลก

ความคิดภายใต้ตรรกะแบบครอบงำของตะวันตก เมื่อหันกลับมามองที่วิธีคิดแบบตะวันออก ที่มุ่งเน้นการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ สรรพสิ่งต่างๆและโลกและเติบโตไปพร้อมกัน จริงๆแล้วทัศนะแบบตะวันออก ก็ไม่ได้ต้องการสถาปนาตัวเองเป็นทัศนะแม่บทใหม่ที่เข้ามาแทนที่ทัศนะแบบตะวันตก หากแต่ขอเป็นทัศนะทางเลือกแห่งอนาคต...
คาปร้า พูดถึงวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรม ว่าการที่เราจะเข้าใจเรื่องนี้ เราต้องใช้ทัศนะมุมมองที่กว้างที่สุด ลึกที่สุด ทั้งการเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโครงสร้างสังคมที่อยู่นิ่งตายตัว เป็นการมองโลกและโครงสร้างทางสังคมในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตรไม่หยุดนิ่ง....
การปรับมุมมมอง ในเรื่องวิกฤตการณ์ว่าคือเหรียญอีกด้านหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ในปรัชญาตะวันออก ปรัชญาจีนคำว่าเหว่ยจี้ Wei-Ji หมายถึงวิกฤตการณ์ที่มีสองส่วนประสานสอดคล้องแบบหยินหยาง ในสิ่งที่เรียกว่าวิกฤตการณ์ นั่นคือในวิกฤตการณ์มีลักษณะที่เป็นทั้ง อันตราย และโอกาสในตัวเอง...
คาปร้า อ้างงานของ Toynbee (1972) ในหนังสือ A Study of History ที่ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมใดๆก็ตาม มักจะเริ่มจากการเปลี่ยนผ่านจากสภาพความหยุดนิ่งตายตัวไปสู่การกระทำที่ยืดหยุ่น มีพลัง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่ว่าอาจเป็นไปโดยธรรมชาติ หรือการได้รับอิทธิพลของบางอารยธรรมที่ดำรงอยู่ก่อนหน้า หรือเกิดจากการแตกสลายของอารยธรรมเดิมของคนรุ่นก่อนก็ได้ ดังนั้นการกำเนิดของอารยธรรม จึงเป็นลักษณะของการท้าทายและตอบโต้ ความท้าทายทั้งกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ การเมือง เศรผษฐกิจ วัฒนธรรมและสังคม ที่นำไปสู่การตอบโต้อย่างสร้างสรรค์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม....
วิธีคิดแบบสลายขั้วและการมองถึง ภาวะของการประสานสอดคล้องอย่างเกื้อกูลระหว่างสองสิ่ง ดังเช่นวิธีคิดเรื่องหยินหยาง สิ่งที่ดีไม่ใช่ทั้งหยินและหยาง แต่สิ่งที่ดีคือภาวะความสมดุลที่เป็นพลวัตระหว่างสองสิ่ง อย่างขาดกันไม่ได้ ส่วนสิ่งที่ไม่ดีและเลวร้ายคือสิ่งที่เกิดจากความไม่สมดุล...
การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการทำความเข้าใจและมองสังคมวัฒนธรรม ภายใต้การถกเถียงแนวคิดทางปรัชญาว่าด้วย วัตถุ (เชื่อว่าวัตถุคือความจริงขั้นสุดท้ายและเป็นจริงที่สุด) จิต (จิตเป็นเพียงการแสดงออกของวัตถุ)มาจนถึงสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ (ความจริงแท้มีทั้งด้านที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสและด้านที่อยู่เหนือขึ้นไป แต่อยู่ร่วมกันอย่างมีเอกภาพ) ที่เชื่อมโยงสองสิ่งที่เป็นคู่ตรงกันข้ามเข้าด้วยกัน ดังเช่นแนวคิดของ Sorokin (1937) ที่พูดถึงการเหวี่ยงกลับของระบบคุณค่า 3 อย่างที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อารยธรรมโลก...
ในวิธีคิดแบบแยกส่วน วัตถุคือสิ่งที่มีอยู่จริง มีตัวตน สัมผัส วัดมันได้ ส่วนจิต คือ สิ่งที่เป็นอัตวิสัย subjectivity เกี่ยวโยงกับเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก การจะวัดสิ่งเหล่านี้จึงต้องทำให้มันเป็น วัตถุวิสัย objectivity เสียก่อน แต่ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแบบนั้น ก็เสมือนตัดสายสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ต้องตัดตัวแปรที่เป็นด้านอารมณ์ความรู้สึกออกไป หรือทำให้อารมณ์ ควมรู้สึกสามารถวัดได้ ....
แนวคิดแบบควอนตัม connecting of thing ระหว่างผู้สังเกตกับสิ่งที่สังเกต โลกไม่สามาถถูกจำแนกแยกออกเป็นส่วนๆ ที่อยู่ได้อย่างอิสระและอยู่รอดด้วยตัวมันเอง การมองสรรพสิ่งที่ไม่แยกขาดจาก แต่พึ่งพิงซึ่งกันและกัน
เหตุอย่างหนึ่งเกี่ยวเนื่องกับอีกอย่างหนึ่ง เช่น การใช้ยาแก้ปวด มันทำให้เราปวดน้อยลง หรือทำให้เราอดทนกับความเจ็บป่วยน้อยลงกันแน่ หรือ การมีสิ่งอำนวยความสะดวกทำให้เราทุ่นเวลาและรวดเร็ว หรือทำให้เราใช้เวลาอีกแบบหรือส่งผลต่อชีวิตในเรื่องการใช้เวลา สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่า interconnection ที่ทำให้เราไม่มองสิ่งใดเพียงมิติเดียวหรือแยกส่วนออกจากกัน อย่างเด็ดขาด
***ในระหว่างช่วงเวลาที่มีคำถามกับสิ่งต่างๆเริ่มหันมาอ่านงานปรัชญามากขึ้นเพื่อเข้าใจตัวเองและสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะปรัชญาตะวันออก หนังสือเล่มนี้ผมเคยอ่านเมื่อสมัยตอนเรียนปริญญาเอก สามสี่ปีที่แล้ว วันนี้เอากลับมาอ่านอีกครั้ง ในระหว่างหาหนังสือที่เกี่ยวกับแนวคิดทางปรัชญาที่เกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ที่ส่งผลต่อมิติทางเศรษฐกิจ การเมืองสังคมและวัฒนธรรม ในวิชาการเปลี่ยนแปลง ผมว่าเล่มนี้มีครบ ทั้งเดการ์ตและนิวตัน หยินหยางและอื่นๆ ได้เห็นแง่มมุมการปะทะกันของแนวคิดแบบตะวันตกและตะวันออกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลก ความสำคัญจึงอยู่ที่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่...


บ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยง โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 บ้านเรือนและสถาปัตยกรรมของชุมชนกะเหรี่ยงมีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติ ทั้งการใช้วัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ง่ายนำมาใช้เป็นโครงสร้างของบ้าน ผนัง ฝ้าเพดาน หลังคา รวมถึงบันได และพื้นบ้าน ในขณะเดียวกันพื้นที่ปลูกบ้าน หรือการปลูกบ้านก็จะต้องเสี่ยงทายโดยการบอกับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ เช่นเดียวกับการหาพื้นที่เพาะปลูก..

ความสัมพันธ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์มิติทางจิตวิญญาณกับธรรมชาติ ชาวกะเหรี่ยงมีวิธีการเลือกพื้นที่ปลูกบ้านที่เชื่อมโยงกับความอ่อนน้อมถ่อมตนของพวกเขาต่อธรรมชาติ การเลือกทำเลตั้งบ้านหรือเพาะปลูกขึ้นอยู่กับสิ่งเหนือธรรมชาติยินยอมหรืออนุญาต มากกว่าที่ตัวเองจะสามารถกำหนดได้เอง การเลือกพื้นที่ปลูกบ้านจะต้องไม่ปลูกทับลําห้วย (ที่คี่ขวาจุ) ต้นน้ํา (ทีคี่) จอมปลวก หรือการปลูกบ้านใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่เกิดขึ้นบริเวณบ้านจนเงาทับตัวบ้าน ชาวกะเหรี่ยงก็มักจะขยับขยายออกไปอยู่ในท่ีแห่งใหม่เพื่อให้ไม่เบียดเบียนต้นไม้ จนมีคํากล่าวว่ากะเหรี่ยงมีความรู้สึกต่อธรรมชาติ ส่ิงแวดล้อมเป็นอย่างมาก ไม่เหมือนคนในยุค ปัจจุบันท่ีถ้าจะสร้างบ้านก็จะตัดต้นไม้ทิ้งไปไม่ว่าต้นไม้ใหญ่หรือเล็กก็ตาม...
จากคําบอกเล่าของชาวกะเหรี่ยงที่อุทัยธานีบอกว่าในอดีต ไม้ท่ีนํามาใช้ในการสร้างบ้านจะมีอยู่ 2 ลักษณะ ลักษณะท่ี 1 คือ ต้นไม้ท่ีอยู่ในป่าเบญจพรรณ (เมย์เผ่อ) และป่าดิบ (เมย์ หละก่า) ในไร่ของตัวเอง โดยพืชพันธ์ุไม้จํานวนมากท่ีพบในป่า เช่น ไม้หว้า ไม้ตะเคียน ไม้ยาง ไม้ประดู่ ไม้รัก ฯลฯ ชาวกะเหรี่ยงมักเลือกใช้ไม้ขนาดกลางในการสร้างบ้านเรือนมากกว่าจะเป็นไม้ขนาดใหญ่ หรือพวกตระกูลไม้สูง ไม้ท่ีชาวกะเหรี่ยงใช้สร้างบ้านส่วนมากจะเป็นพวก ไม้ตีนเป็ด ไม้สวอง ไม้เสลา ไม้ยางดง เป็นต้น
ลักษณะที่2 คือ การสร้างบ้านจากไม้ไผ่ โดยชาวกะเหรี่ยงมีคํากล่าวว่า “สมัยก่อนแม้ไม่มีเงิน สักบาทก็สามารถสร้างบ้านด้วยตัวเองได้ ผู้ชายกะเหรี่ยงมีมีดโต้เล่มเดียว ปลูกบ้านได้หน่ึงหลัง สามารถ ฟันไร่ได้จํานวนหลายสิบไร่” เนื่องจากไผ่เป็นพันธ์ุพืชที่ข้ึนอยู่มากมายในพื้นท่ีเพาะปลูกของชาว กะเหรี่ยงรวมถึงบริเวณท่ีอยู่อาศัยก็จะมีการปลูกไผ่เอาไว้หลากหลายชนิดและใช้ประโยชน์ในลักษณะท่ี แตกต่างกัน เช่น ไผ่รวก ไผ่หนาม ไผ่บง ไผ่นวล ไผ่ผาก โดยพื้นที่ในป่าจะมีแหล่งไม้ไผ่จํานวนมาก เช่น “ว๊าบองกล่า” หรือพื้นที่ผ่าท่ีมีไผ่รวกข้ึนอยู่มากมาย “ว๊ามิกล่า” คือพื้นที่ท่ีมีไผ่นวล สองพื้นที่นี้จะต้อง ข้ึนไปบนท่ีสูงหน่อย ส่วนพื้นท่ีใกล้นํ้าจะพบไผ่จําพวก ว๊ามิกล่าหรือไผ่นวลเช่นกัน รวมถึงไผ่ตระกูลใหญ่ อย่าง “ว๊าซู๊กล่า”หรือไผ่หนาม หรือ “ว๊ากะกล่า” คือ พวกไผ่ผาก ไม้จําพวกไผ่จะถูกนํามาใช้ในการสร้าง บ้านและซ่อมแซมบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงท่ีสามารถหาได้ในไร่นาและในป่า
ไม้เนื้อแข็งและเน้ืออ่อนเช่นตีนเป็ดกับยางดงท่ีลําต้นกลมสูงจะถูกนํามาใช้เป็นเสาและคาน บางส่วน ในส่วนต้นไผ่ชนิดต่างๆ ชาวกะเหรี่ยงนิยมนํามาทําเป็นส่วนประกอบต่างๆของบ้าน เช่น คาน ผนัง พื้นบ้าน ตามคุณสมบัติต่างๆของไผ่แต่ละชนิด เช่น ไผ่หนามแม้ว่าลักษณะจะไม่ค่อยสวยเพราะกิ่ง ก้านหนามค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับไผ่ชนิดอื่น แต่เนื่องจากต้นใหญ่เนื้อแข็งมักนิยมนํามาทุบให้เป็น แผ่นยาวใช้รองทําพื้นบ้านท่ีใช้สําหรับนั่ง นอน เดิน เพราะเนื้อแข็ง มีความยืดหยุ่นสูง ส่วนไผ่นวลนิยม นํามาใช้ทําส่วนของผนังหรือฝาบ้าน เนื่องจากเน้ือของไผ่นวลมีความเหนียว เน้ือไม้อ่อนตัดและเหลาง่าย ส่วนใหญ่นิยมนํามาจักตอกทําเครื่องจักสาน ไม้ไผ่รวกลําต้นตรงขนาดไม่ใหญ่มาก เน้ือแข็งและมีความ เหนียวจะนํามาทําหลังคาเช่นเดียวกับไผ่นวล หรืออาจจะใช้ลําของไผ่รวกสามารถใช้เป็นโครงของพื้นบ้านก่อนใช้แผ่นไม้ไผ่มาวางเป็นพื้นบ้านได้เช่นเดียวกัน ภูมิปัญญาในการสร้างบ้านของกะเหรี่ยงจะไม่ นิยมใช้ตะปูตอก พวกเขาใช้เพียงการเจาะหรือเซาะไม้ให้เป็นร่องเพื่อนําเอาไม้อีกท่อนมาสอดหรือประกบให้เข้ากัน หรือการใช้เส้นตอกของไม้ไผ่ที่มีความเหนียวมามัดเท่าน้ัน ส่วนหลังคานิยมใช้ใบตองตึง หญ้าคาในการมุง โดยหลังคาจะ 3 ปี เปลี่ยนทีหน่ึง ชาวกะเหรี่ยงด้ังเดิมมักทําใต้ทุนเอาโล่งเอาไว้ซึ่งไม่สูงมากนักประมาณ 1 เมตร ส่วนบันได อาจใช้ไม้ไผ่หรือไม้เน้ือแข็งทําก็ได้ สามารถยกขึ้นลงได้
ในส่วนของพื้นท่ีใช้สอยภายในบ้าน ชาวกะเหรี่ยงสวนมากมักจะจัดพื้นที่ออกเป็นสามส่วน ส่วนแรก คือ ห้องนอนจะอยู่สูงกว่าพื้นที่ส่วนอื่นๆอาจมีประมาณ 1 – 2 ห้อง โดยพ่อแม่อาจนอนรวมกับลูกห้องหนึ่ง หรือลูกๆผู้ชาย ผู้หญิงอาจจะมีการแยกห้องนอนออกไปต่างหาก ส่วนพื้นท่ีที่สองจะเป็นส่วนนั่งเล่น ห้องสำหรับทํากิจกรรมต่างๆ เช่น จักสาน พูดคุย กินอาหาร เป็นต้น ส่วนสุดท้ายจะเป็นห้องครัวท่ีเป็นพื้นที่แยกออกต่างหาก จากห้องอื่นๆ อาจจะอยู่ด้านช้าง ด้านหน้า หรือด้านหลังก็ได้ มักมีการใช้ไม้ไผ่วางเป็นช้ันไว้เก็บอุปกรณ์ต่างๆ ในการประกอบอาหาร ด้านล่างจะทําเป็นเตาท่ีมีไม้ทําเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วเอาทรายหรือขี้เถ้ามาใส่ให้เต็มเพื่อวางหินสาม เส้า หรือเตาไฟทําอาหาร เป็นต้น บ้านไม้แบบดั้งเดิมยังนิยมทํากันในส่วนของบ้านเจ้าวัด และในศาลาที่ ใช้ในพิธีกรรมบริเวณเจดีย์เจ้าวัดก็จะเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ใช้วัสดุด้ังเดิมเป็นหลัก..,.
ผมสนใจเรื่องพื้นที่ว่าง ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษระหว่างห้องที่แบ่งสัดส่วนและปกปิดมิดชิด พื้นที่ระหว่างห้องระเบียน ชานบ้าน พื้นที่นั่งเล่น ทำกับข้าว หรือกิจกรรมในครอบคร้ว รวมไปถึงพื้นที่ว่างภายนอกบ้าน ที่ใช้รวมกลุ่ม ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างเครือญาติ ชุมชน พื้นที่ก่อไฟปิ้งปลา ทำขนมจีน ตำข้าว ทำเทียน ทอผ้า ที่แสดงให้เห็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของพี่น้อง เครือญาติ พื้นที่ว่างจึงไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวแต่เป็นพื้นที่ใช้สอยร่วม การแชร์อำนาจในการใช้สอยร่วมกันได้...ความหมายของพื้นที่จึงเกิดจากกิจกรรมของผู้คนในพื้นที่ ที่ก่อรูปความหมายและความสำคัญให้กับตัวพื้นที่ดังกล่าว ตัวพื้นที่หาได้มีความหมายด้วยตัวมันเองไม่...ที่ว่างจึงเป็นการแสดงตัวตนและความหมายที่ไร้ข้อจำกัดและอยู่นอกเหนือโครงสร้างกรอบอาคาร ถ้าในทางสถาปัตยกรรมพื้นที่ว่างคือพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่เฉพาะเจาะจง...
ในพื้นที่ว่างในเมือง ก็มีหลายพื้นที่ที่เราแชร์การใช้สอยร่วมกัน เช่น ลานหน้าห้าง สวนสาธารณะ สนามกีฬา เป็นต้น ในทางตรงกันข้ามเราก็จะเห็นพื้นที่ว่างหลายพื้นที่ ที่ไม่ได้มีการแชร์การใช้พื้นที่ร่วมกัน กลายเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของ มีผู้มีอำนาจเข้ามาครอบครอง ทำให้พื้นที่ว่างเหล่านี้ ไม่อาจสร้างกิจกรรมที่นำไปสู่ความหมายให้กับพื้นที่...
Rene Decart นักปรัชญาฝรั่งเศส บอกว่าที่ว่างไม่ใช่ความว่างเปล่า แต่เป็นพื้นที่ที่ถูกบรรจุด้วยสรรพสิ่ง
ที่ว่าง เป็นพื้นที่นอกเหนือหรือเหลือจากรูปร่าง เป็นองค์ประกอบที่สามารถรับรู้ได้ด้วยความรู้สึก..ความหมายที่ถูกวางสัมพันธ์กับประสบการณ์ของมนุษย์ สิ่งที่สร้างได้ รู้สึกได้และออกแบบได้...

วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ความเจ็บป่วยกับสังคม โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ร่างกาย : ความเจ็บป่วยทางร่างกายและความเจ็บป่วยทางสังคม

บทความเรื่องบนความเจ็บป่วยและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง มุมมองจากข้างล่าง( On Suffering and Structural Violence : A View from Below) เขียนโดยนายแพทย์และนักมานุษยวิทยา อย่าง Pual Farmer ซึ่งปรากฏในหนังสือชื่อ The anthropology of politics. A Reader in Ethnography,Theory and Critique (2002) ที่มี Joan Vincent เป็นบรรณาธิการ บทความชิ้นนี้เป็นงานของ Paul Farmer แพทย์และนัก มานุษวิทยาที่สนใจมองลงไปที่ความเจ็บป่วยที่ไม่ได้มีสาเหตุหรือเกิดจากตัวเชื้อโรค อย่างที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในเชิงกายภาพและชีววิทยา พยายามอธิบายเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของร่างกายและอวัยวะต่างๆ ที่เรียกภาวะความผิดปกติ โดยมีเชื้อโรค ทั้งจากไวรัสและแบคทีเรีย เป็นตัวแปร สําคัญที่ทําให้เกิดภาวะการเจ็บป่วยของมนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว....
แต่ Paul Farmer กลับมองว่า สาเหตุของโรคภัยเจ็บที่มนุษย์กําลังเผชิญอยู่ มีนัยทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย และเป็นสาเหตุ สําคัญที่ทําให้คนตกอยู่ในสภาวะผิดปกติ มีเชื้อโรคและเกิดภาวะที่เรียกว่าความ “เจ็บป่วย” ซึ่งถือเป็นการอธิบายความเจ็บป่วยที่มีมิติทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ที่ไม่ใช่วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว ........
Pual Farmer กล่าวว่า คนทุกคนบนโลกรู้ว่าความทุกข์ทรมานมีอยู่จริงในชีวิตประจําวันของเรา ตัวอย่างเช่น เวลาเราปวดท้องหรือปวดหัว จนแทบทําอะไรไม่ได้ อาการเหล่านี้ปรากฏให้เห็นทางร่างกาย ไม่ว่าการยืนทรงตัวไม่อยู่น้ำตาไหลพราก นอนบิดตัวไปมา ด้วยความรู้สึกปวดที่อยู่ข้างใน นอกจากนี้ยังมีทุกข์ทางจิตใจที่ส่งผลต่อร่างกาย เช่นการพลัดพรากจากคนที่เรารัก จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือความ ทุกข์ทรมานที่มนุษย์ทุกคนล้วนต้องเผชิญ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือแม้ว่าเราจะรู้ว่าความทุกข์ ทรมานมีอยู่และดํารงอยู่ในชีวิตของมนุษย์ แต่คําถามที่ยากจะตอบก็คือ เราจะนิยามมันอย่างไร ว่าความทุกข์ทรมานที่แท้จริงนั้นคืออะไรกันแน่ ในเมื่อแต่ละคนก็มีความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีสาเหตุเบื้องหลังของความทุกข์ทรมานที่แตกต่างกันด้วย ....
ดังนั้น ระดับของความจริงสําหรับคนแต่ละคนในเรื่องดังกล่าวก็ย่อมไม่เหมือนกัน มันจึงยากที่จะหาวิธีการที่แน่นอนมาอธิบายสิ่งที่เรียกว่าความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็สามารถทําความเข้าใจกับปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษาประสบการณ์ของปัจเจกบุคคลและความเชื่อมโยงกับมิติต่างๆทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง ที่สะท้อนให้เห็นพลังอํานาจหรืออิทธิพลของสังคมที่ประกอบสร้างประสบการณ์ความโศกเศร้า ทุกข์ทรมาน และการรับรู้ต่อโรคหรือความเจ็บป่วยของตัวปัจเจกบุคคล....
ดังตัวอย่างเช่น ความเจ็บป่วย ความยากจนกับประเด็นทางเชื้อชาติ การเหยียดสีผิว กลายเป็นสิ่งที่ถูกทําให้ปรากฏในประสบการณ์ของปัจเจกบุคคล ข้อความดังกล่าวในบทความชี้นนี้ของ Paul Farmar ถือเป็นข้อ ถกเถียง (Argument) ที่สําคัญ เพราะเขาไม่ได้มองเรื่องของโรคและความเจ็บป่วยในแนวคิดแบบการแพทย์ที่มองผ่านเรื่องของเชื้อโรค ร่างกายที่เป็นพาหะ การติดต่อของโรค แต่สิ่งที่เขาทําคือการเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้ากับโครงสร้างในระดับมหภาค โดยการตั้งสมมติฐานว่า ทําไมผู้คนทุกข์ยากจึงเจ็บป่วยและทุกข์ทรมาน โดยเขาได้ใช้กรณีงานศึกษาวิจัยเรื่องเอดส์ เอชไอวีในประเทศเฮติ (Haiti) เป็นปรากฏการณของการอธิบายข้อถกเถียงของเขา ซึ่งสะท้อนให้เห็น ความสัมพันธ์ของพลังอํานาจและอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่เป็นโครงสร้างของความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคเอดส์และวัณโรค รวมทั้งโรคติดเชื้ออื่นๆ ดังนั้นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง เกี่ยวข้องกับรูปแบบของความทุกข์ทรมาน (Suffering) อย่างมากที่สุด ที่เกิดจากปัญหาความหิว ความทุกข์ทรมานและความรุนแรงจากการถูกข่มขืน ที่สัมพันธ์กับกระบวนการทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์และเอชไอวีในประเทศเฮติ .....
สิ่งที่ Farmer กล่าวไว้น่าสนใจว่า ความรุนแรง ทางโครงสร้างมีความสัมพันธ์กับประสบการณ์ความทุกข์ทรมานของมนุษย์ เพราะประสบการณ์หรือเรื่องราว ในชีวิตของพวกเขา โดยเฉพาะความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานสะท้อนให้เห็นโครงสร้างและความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กระทํากับร่างกายและจิตใจของพวกเขา การจะมองเห็นหรือเข้าใจความทุกข์ทรมานดังกล่าว ควรต้องย้อนไปสู่การตั้งคําถามเกี่ยวกับความหมายและความจริงในประวัติศาสตร์ของมานุษยชาติ ดังที่Farmer ชี้ให้เห็นผ่านเรื่องราวชีวิต กรณีตัวอย่างความตายของผู้ชายผู้หญิงชาวเฮติที่ชื่อ Acephie (ผู้หญิงเสียชีวิตเพราะการเป็นเอดส์ในสังคมชายเป็นใหญ่) และ Chou Chou (ผู้ชายที่เสียชีวิตจากประเด็นการเมือง) ที่ทำให้เห็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างและทางวัฒนธรรม ความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่มีต่อความเจ็บป่วยและความตาย.... ...
Paul Farmer พิจารณาถึงสิ่งที่เรียกว่าแกน (axis) ของการวิเคราะห์ที่หลากหลาย โดยไม่เลือกพิจารณาแค่แกนใดแกนหนึ่งเพียงแกนเดียว แต่มองแบบเชื่อมโยงให้เห็นแกนต่างๆที่ เชื่อมโยงกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างนั้นๆ เช่น เรื่องเพศสภาพ เพศสภาวะ (Gender) เรื่องความเป็นชาติพันธ์(Ethnicity)หรือเชื้อชาติ(Race) ที่ได้สร้างการแบ่งแยกลักษณะทางสังคม ทางชีวิวิทยา ชนชั้น บทบาททางเพศที่นําไปสู่ความไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติและการครอบงําทางอํานาจที่เป็นสาเหตุของความทุกข์ทรมาน รวมถึงความเจ็บป่วยของผู้คนในสังคม......
***สังคมเราก็เป็นแบบนี้ คนจนถูกใช้อำนาจ คนรวยเป็นผู้ใช้อำนาจ คนจนมักจะติดคุกเร็วกว่าคนรวย หากมีกรณีการกระทำความผิด ความรุนแรงของการกระทำความผิดก็ต่างกัน คนจนเท่านั้นที่ผิดแต่คนรวยบางคนรอดคุกหรือถูกชี้ว่าไม่ผิด ....เช่นเดียวกับความทุกข์ทรมานและความเจ็บป่วยของคนจน คนไร้อำนาจ ที่ถูกกระทำจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม และตอกย้ำโครงสร้างของความไม่เท่าเทียมแบบปกติ ที่ทำให้ผู้คนในสังคมมองเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นปกติ ไร้ความรู้สึก ไร้คำถาม ไร้การต่อสู้ต่อรองต่อเรื่องของอำนาจและความไม่เท่าเทียมในสังคม...

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...