วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2564

โควิดกับการมองการแก้ปัญหาและปัญหาเชิงพฤติกรรมและโครงสร้าง

 ระหว่างสนทนากับพ่อที่ต่างจังหวัด เราคุยกันเกี่ยวกับเรื่องโควิดถามข่าวกันด้วยความเป็นห่วงใยกัน..คำถามของพ่อคือ ทำไมงบประมาณมากมายของรัฐบาล ถึงไม่เอามาแก้ปัญหาโควิดเช่นการซื้อวัคซีนมาฉีดให้คนอย่างทั่วถึง..คำพูดที่พ่อมักพูดกับผมคือดูแลตัวเองให้ดี เพราะฟ้าใสยังเล็กอยู่ ส่วนพ่อแม่แก่แล้วไม่ต้องเป็นห่วง...คำพูดนี้กระแทกหัวใจของผมและคิดเกี่ยวกับประเด็นเรื่องนี้ที่อยากสะท้อนความคิดของตัวเอง โดยเอาเลนส์มานุษยวิทยากับสุขภาพมามองต่อปรากฏการณ์นี้ ได้ดังนี้

   ท่ามกลางภาวะวิกฤตสุด...คนที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลจะออกมาเผชิญหน้าอย่างกล้าหาญและจัดการปัญหาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ...

   ท่ามกลางภาวะวิกฤต คนที่ขี้ขลาดจะไม่ทำอะไรและจัดการปัญหาอย่างไร้ประสิทธิภาพและไร้ทิศทาง...

   ท่ามกลางภาวะวิกฤต เรามักจะเห็นผู้กล้าที่เป็นคนเล็กคนน้อยที่พยามเอาตัวรอด และแก้ปัญหาด้วยต้นทุนและศักยภาพที่ตัวเองมี พร้อมจะช่วยเหลือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ในภาวะนี้ เราจะเห็นองค์กรภาคีต่างๆทั้งรัฐและเอกชน สื่อสารมวลชน มาร่วมมือกันในการหาทางออกแก้ไขปัญหา ทั้ง พ่อเมือง ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ ที่วางเงื่อนไข กฏเกณฑ์ในการควบคุมดูแลพี่น้องของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องรอคอยความหวังจากผู้มีอำนาจบริหารสูงสุดแห่งรัฐ อย่างชุมชนที่ผมอยู่พวกเราบอกต่อกันในเฟสชุมชนคนสามพรานในการดูแลกันเองไม่ต้องรอประกาศใครทั้งการใส่หน้ากาก การอยู่ในบ้านตั้งแต่ช่วงเวลา 21.00-05.00น. ที่ไม่ออกจากบ้านไปเที่ยวหรือพบปะกันข้างนอก เกิดเป็นประเด็นการสร้างการป้องกันร่วมกันเพื่อสกัดโควิด19..เป็นต้น

   เราจะเห็นการทำงานของเครือข่ายในระดับต่างๆเพื่อนำเสนอปัญหาและทำความเข้าใจปัญหาอย่างรอบด้านเพิ่มมากขึ้น ..ที่ยิ่งตอกย้ำความไร้ประสิทธิภาพขององค์กรที่ประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ..

  มิติทางระบาดวิทยาให้ความสำคัญกับ ตัวเชื้อโรค ตัวพาหะ สิ่งแวดล้อม (Host , Agent and environment) ดังนั้นการทำความเข้าใจบริบทวิถีชีวิตของแรงงาน การกิน การพักอาศัย  การทำงาน จึงมีความสำคัญ เหมือนที่ตัวเองเคยลงแหล่งชุมชนที่แออัดและเต็มไปด้วยแรงงานหาเช้ากินค่ำ ตึกหลังหนึ่งสองชั้น สามารถซอยเป็นห้องได้มากกว่า10ห้อง บางห้องแรงงานอยู่ด้วยกัน3-5 คน ห้องน้ำเป็นห้องน้ำรวมที่ใช้ร่วมกัน ระหว่าง..ลักษะของตึกที่มืดทึบ แต่ละห้องและทางเดินเต็มไปด้วยของระเกะระกะ ไม่มีแสงสว่างเล็ดลอด คนเหล่านี้ต้องออกไปทำงานหาเข้ากินค่ำ รับจ้าง งานบริการ ทำงานโรงงาน.. ไม่แปลกที่ภาวะการติดเชื้อของกลุ่มคนในพื้นที่เหล่านี้มีเพิ่มสูงขึ้น...มุมมองพวกนี้ต้องถูกสะท้อนให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนที่สัมพันธ์กับโรคและความเจ็บป่วย..การแก้ปัญหาต้องแก้รอบด้าน ไม่ใช่เรื่องความเจ็บป่วยอย่างเดียว ต้องมองภาวะระหว่างเจ็บป่วยและหลังเจ็บป่วยด้วย..

  สิ่งหนึ่งคือเราต้องยอมรับเรื่องความไม่เท่าเทียม ความไม่ยุติธรรม หรือความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริงในสังคมของเรา.. การมองประเด็นเรื่องโควิดเป็นเรื่องเฉพาะตัว ใครมีเงิน ใครมีโอกาสที่ดีกว่าย่อมเข้าถึงบริการสุขภาพ สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ก่อนคนอื่น นอกจากจะเป็นความเข้าใจที่บิดเบี้ยว ผิดร่องผิดรอยหรือแยกส่วนของการมองปัญหาแล้วนั้น ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างองค์รวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องเอาเรื่องการถอดบทเรียนอิสราเอลมาใช้ในประเทศเรา. เพราะแค่การใช้งบประมาณให้คนในประเทศเข้าถึงวัคซีนในทุกกกลุ่มอย่างทั่วถึงยังไม่สามารถทำได้หรือทำได้ยาก..รวมถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับทั้งโรงพยาบาล มาตรฐานของโรงพยาบาลสนาม ความพร้อมของอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ เตียงคนไข้ หรือจำนวนบุคลากรทางการแพทย์  ความสามารถในการจ่ายเงินของคนไข้ในการตรวจวินิจฉัยโรค และอื่นๆ

   ที่กล่าวมาคือปัญหาในเชิงโครงสร้าง ที่มีความสำคัญพอๆกับปัญหาเรื่องพฤติกรรมส่วนบุคคลของคน ในการเที่ยวสถานบันเทิง การจัดปาร์ตี้ การรวมกลุ่มกัน การไม่สวมหน้ากาก การแพร่เชื้อ หรือการเคลื่อนย้ายของผู้คนฯลฯ ที่มีส่วนในการแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้อย่างปฎิเสธไม่ได้ ยังรวมถึงการขาดความรู้เกี่ยวกับโรค หรือความเชื่อและความไม่รู้สึกเกี่ยวกับความร้ายแรงของโรค การมีมุมมองว่าโควิดคือไข้หวัด เป็นแล้วเดี๋ยวก็หาย เป็นต้น..เพราะเป็นโรคใหม่

  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันคงไม่ใช่แค่ความเจ็บป่วยทางกาย แต่ยังรวมถึงความเจ็บป่วยและความทุกข์ทางสังคม(social suffering) ที่เกิดจากความไม่ยุติธรรมธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความ้จ็บป่วย การเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ สิทธิทางสุขภาพที่ควรได้รับ การต้องรักษาตัวเองทีทำให้ขาดรายได้ในการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว โดยเฉพาะคนในระดับล่างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือมีประกันทางสุขภาพ ยังไม่นับภาวะการถูกตีตราจากคนรอบข้างภายหลังจากออกจากโรงพยาบาล เพราะโควิดถือเป็นโรคใหม่ หลายคนยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้น้อย อีกทั้งโรคนี้ยังไม่มียารักษา รวมถึงข่าวสารข้อมูลที่ได้รับอย่างหลากหลายได้ขยายไปสู่ความรู้สึกกลัวต่อความรุนแรงของโรค ในทางตรงกันข้ามยังส่งผลให้คนเหล่านี้ปกปิดอาการของโรค ไม่เข้าสู่กระบวนการรักษาที่เหมาะสม

  การทำความเข้าใจความเจ็บป่วยหรือมิติทางสุขภาพ จึงจะต้องทำความเข้าใจในเชิงวัฒนธรรม ที่เกี่ยวกับความเชื่อที่เขื่อมโยงกับการให้ความหมายและการปฏิบัติต่อความเจ็บป่วย  โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง  รวมทั้งสถาบันทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับโรคความเจ็บป่วย ทั้งรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์  สังคม ชุมชน  จนถึงตัวปัจเจกบุคคลแต่ละคน

  สังคมไม่ได้ต้องการผู้บริหารที่อ้างตัวเองว่ามีอำนาจเหนือมนุษย์คนอื่น ไม่ยอมรับฟังคนอื่น แต่ต้องการมนุษย์ธรรมดาที่เข้าใจธรรมชาติของความเป็นมนุษย์และอ่อนโยนต่อความเป็นมนุษย์ มองมนุษย์ทั้งผองที่เท่ากันมาบริหาร..

**ห่วงใยทุกคน โดยเฉพาะพ่อแม่นะครับ...

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564

ร่างกายและการสัก โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ผมได้หนังสือจากน้องชายที่เป็นอัยการส่งมาให้ เกี่ยวกับเรื่องของการสักอีสาน ที่เป็นหนังสือนิทรรศการภาพถ่ายการสักขาลาย ที่ศิลปะดังกล่าวปรากฏผ่านเรือนกายของผู้สูงอายุที่เป็นเจ้าของร่างกาย หนังสือเล่มนี้สวยและให้ภาพถ่ายเพื่อเก็บเป็นเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่น่าเสียดายคือลวดลายที่ปรากฏในภาพ ที่สามารถนำไปวิเคราะห์เชื่อมโยงถึงความหมายในเชิงสัญลักษณ์ได้หากมีการศึกษาที่ลึกซึ้ง ผมเองเลยอยากเขียนเชื่อมโยงกับสิ่งที่ตัวเองเคยอ่านเรื่องราวของการสักในทางวิชาการมาบ้าง...

        ประวัติศาสตร์ของการสัก เป็นสิ่งที่หาร่องรอยชัดเจนได้ยาก แม้ว่าคำศัพท์ของคำว่าการสัก (Tattoo) เป็นสิ่งที่ไม่ได้ปรากฏจนกระทั่ง James Cook เดินทางไปที่เกาะโพลีนีเซียนในช่วงศตวรรษที่18 (Jill A. Fisher,2002) โดยการนำน้ำหมึกมาประทับลงบนเรือนร่างมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

    Jones (2000) เสนอว่าคำศัพท์ในสมัยกรีก มีการใช้คำว่าการตีตราหรือStigma(ta) ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นเกี่ยวกับการสักและบ่งชี้ว่าการสักคือสิ่งที่มีมาอย่างยาวนานและถูกส่งผ่านไปยังยุคโรมัน โดยการเชื่อมโยงระหว่างคำว่า tattooing กับ Stigma คือสิ่งที่มีคุณค่ายึดโยงกันอยู่ในปัจจุบัน โดยความหมายของคำว่าStigmaในอังกฤษ คือเครื่องหมายของการสัก (Mark of Tattooing)พร้อมกับการตีความหมายของมัน สะท้อนให้เห็นว่าการให้ความหมายของการตีตราในทุกวันนี้อาจจะมาจากการปฏิวัติเกี่ยวกับเรื่องของการสักในยุคโบราณ วัฒนธรรมของการสักปรากฏในที่ต่างๆทั่วโลก ทั้งวัฒนธรรมการสักในอียิปต์ วัฒนธรรมการสักของโรมัน วัฒนธรรมการสักของชวอะบอริจิ้นและเมารี และอื่นๆที่สะท้อนให้ความหมายและความเชื่อที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องของการสัก

   วิถีทางของการสักเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับในสังคมกรีก ที่เป็นเรื่องของการลงโทษ(punitive)และการกระทำในเชิงของความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ในสังคมของกรีกเชื่อมโยงคำว่า Stigma กับการแข่งขันกันในกลุ่มของเพื่อนบ้าน ที่บ่งชี้ให้เห็นความสำคัญและลำดับชั้นทางสังคม ที่เกี่ยวข้องกับการลดระดับทางสังคม(Degrade) และการตีตรารวมทั้งการเป็นเครื่องหมายที่ถูกใช้สร้างความเป็นอื่น(Others)ภายในวัฒนธรรมของกรีกเช่นเดียวกับความเป็นอาชญากร(Criminal)และการเป็นทาส(Slaves)...

   หากจะลองใช้แนวคิดร่างกายทางสังคม (The Social body) มาเป็นกรอบของการวิเคราะห์  ที่มีมุมมองต่อร่างกายในฐานะที่เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ (natural symbol) ของเรื่องต่างๆทั้งมิติทางสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง โดยมีความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติ สังคมและวัฒนธรรม โดยการตีความวิพากษ์จะเน้นที่การหาความหมายระหว่างโลกทางสังคมและธรรมชาติ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงความเป็นมาและความสัมพันธ์ทางสังคมในบริบทต่างๆ ดังเช่น งานศึกษาของ Terence Turner (1935–2015) ในงานที่มีชื่อเสียงของเขาเกี่ยวกับการศึกษาผิวหนังของสังคมในหนังสือ The Social Skin (1980) ที่เขาได้ทำการอฝหยิบยกวลีสำคัญของ ชอง ชาร์ค รุสโซ ที่กล่าวว่า มนุษย์คือสิ่งที่เกิดมาอย่างเปล่าเปลือยแต่ในทุกๆที่ล้วนมีเสื้อผ้า “Man is born naked but is everywhere in clothes” นั่นคือความสำคัญของวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ สำหรับเทอร์เนอร์นั้น พื้นผิวของร่างกายแสดงประเภทหรือขอบเขตที่มีร่วมกันทางสังคมที่กลายมาเป็นกระบวนการทางสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับภาพสะท้อนของการขัดเกลาทางสังคม คุณค่าทางสังคมที่ปรากฏออกมาผ่านเนื้อตัวร่างกาย (Turner, 1980: 112)

   การสักในแต่ละสังคมวัฒนธรรม จะมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปและมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เช่น ในคริสต์ศาสนาห้ามมีการสัก เพราะพระเจ้าไม่ได้สร้างมนุษย์มา การสักทำให้เกิดการหลงใหล(Fetishism) และการบูชาวัตถุ ในสังคมกรีกสักเฉพาะใบหน้าของทาส ชาวเมารีในออสเตรเลียมักมีรอยสักในใบหน้าหรือในอดีต คนไทยสักเลขข้อมือเพื่อระบุมูลนาย กับการสักท้องแขน หน้าผาก เพื่อความอยู่ยงคงกระพันป้องกัน ป้องกันภันตรายจากหอกอาวุธ การลักขาลายเพื่อแสดงถึงความเป็นชายชาตรี รวมถึงใช้ในทางเมตตามหานิยม เป็นต้น ดังที่ปรากฏในบันทึกเรื่องราวของชนเผ่าต่างๆในโลก

    เรื่องการสัก ที่เป็นเสมือนภาพวาด บาดแผล หรือแผนที่ ที่จำลองลกทัศน์แบบจักรวาลวิทยา ความคิดความเชื่อของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สัญลักษณ์ทางศาสนา พระพุทธรูป ไม้กางเขน สัญลักษณ์สัตว์ เช่น เสือ มังกร หรือในสังคมไทยก็นิยมสักพวกเสือเผ่น ฉัตรเก้ายอด หนุมาน งู และอื่นๆ  กรณีที่พอเป็นหลักฐานชัดเจนในสมัยโบราณ ก็เช่น ลายของพวกคนไตกลุ่มอ้ายลาวในแถบมณฑลยูนาน  ทีมีบันทึกในจดหมายเหตุราชวงศ์ฮั่น ที่ระบุถึงประเพณีการสักรูปมังกร ซึ่งสอดคล้องกับตำนานนิทานปรัมปราเกี่ยวกับเรื่องการกำเนิดจากบรรพบุรุษที่เป็นพี่น้องมังกรเก้าตัว (พรชัย ตระกูลวรานนท์ ,2541:163) ที่เป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มบรรพบุรุษ เชื้อสาย เครือญาติหรือ Totem เดียวกันของกลุ่มชาติพันธุ์ ...

     ดั้งนั้นในการสักบนเรืองร่าง เราสามารถพิจารณาและตีความการสักได้ 4 ลักษณะคือ ลักษณะแรก การสักเป็นงานศิลปะชาวบ้าน (Folk Art) ที่รับอิทธิพลจากประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้าน และแรงบันดาลใจส่วนตัวของผู้สักกับลักษณะที่สอง รอยสักเป็นเครื่องดึงดูดและแสดงออกซึ่งความหมายของการกระตุ้นเร้าอารมณ์ทางเพศ (Erotic Significance) เช่น การสักบนแผงหน้าอกของผู้ชาย หรือสักสีสดบนผิวกายของผู้หญิง ที่นิ่มนวลและไวต่อการสัมผัส ลักษณะที่สาม การสักมีฐานะเป็นเครื่องบ่งชี้ทางสังคม (Social Significance) เช่น การสักเครื่องหมายทาส ไพร่ว่าสังกัดไหน หมู่ทหาร โสเภณี นักโทษ ลักษณะที่สี่ ที่การสักเป็นเครื่องรางเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ (Shamanist Significance)สุดท้ายคือลักษณะที่ห้า เป็นการสักในสังคมร่วมสมัย ที่เกี่ยวข้องกับใจรัก (Passion) และความสวยงาม (Beauty) ที่เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล

การสักจึงเชื่อมโยงกับความหมายของตัวปัจเจกบุคคลและการให้คุณค่าในทางสังคมวัฒนธรรม

อ้างอิง

The Social Skin in HAU: Journal of Ethnographic Theory

Article  by Terence Turner 1980

ความรักผ่านมุมมองนักมานุษยวิทยา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ความรักในทัศนะของข้าพเจ้า

“รักนั้นเป็นฉันใด ใคร ใครบ้างจะรู้..”(คำขึ้นต้นในเพลงรัก ของ ธีร์ ไชยเดช)

    ความรักคืออะไร คำถามนี้ค่อนข้างตอบยาก หากจะตอบแบบโรแมนติกก็คงบอกว่ารักคือการให้ รักคือความสวยงามรักคือการไม่ครอบครอง ถ้าหากตอบแบบพวกลัทธิสงสัยนิยมหรือ ก็คงตั้งคำถามเกี่ยวกับความรักว่า รักแท้มีจริงหรือไม่. ..บางพวกที่ต่อต้านความคิดแบบแก่นสารนิยม (essentialism) อาจปฏิเสธว่ารักแท้ไม่มีมีแต่สิ่งที่เกิดจากการประกอบสร้าง .. แต่หากเรามองว่ามันเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกที่มันแกว่งไปมา ขึ้นลง เดี๋ยวมี เดี๋ยวหาย เดี๋ยวรัก เดี๋ยวเลิก มันคือสิ่งที่อยู่ภายใน วัดยาก เข้าใจยาก..มันก็ยิ่งตอบยากไปอีกเมื่อมันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เป็น self experience คนมีความรักเท่านั้นถึงจะเข้าใจความรัก คนอกหักเท่านั้นถึงจะรู้ถึงสิ่งที่เรียกว่าความเจ็บปวด..

     เอาเป็นว่าในทัศนะของผมความรักมันคือส่วนประกอบที่อาจจะเล็กหรือใหญ่ในชีวิตของคนทุกคน ไม่ว่าคุณจะรักตัวเอง  รักคนอื่น รักสัตว์ รักต้นไม้ รักพ่อแม่  รักโลก รักธรรมชาติ หรือรักข้างเดียว รักสังคม รักประเทศ รักสถาบัน มันก็คือความรักทั้งสิ้น..

    หากจะลองเรามิติทางวัฒนธรรมมาอธิบายเรื่องความรักก็คงจะน่าสนใจไม่น้อย ว่ามันจะทำให้เราเข้าใจต่อความรักได้มากน้อยขนาดไหน..

      ตั้งแต่ยุคโบราณ ในสังคมกรีก โรมัน อินเดีย ต่างมีการอธิบายความรักเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ (sacred) อย่างศอพระศิวะ ( ถูกเรียกว่าความรักสีดำเนื่องจากการที่พระศิวะกลืนกินพิษเพื่อไม่ให้ตกบนโลกทำลายมนุษย์ในช่วงกวนเกษียรสมุทรเพื่อสร้างน้ำอมฤต เลยทำให้คอมีสีดำและมีงูพันรอบคอ) การก่อเกิดเทพที่เกี่ยวข้องกับความรักชื่อว่ากามเทพของอินเดีย กรือเทพเจ้าคิวปิดของกรีก ...ความคิดเหล่านี้เชื่อมโยงกับอภิปรัชญาของนักปราชญ์ ชนชั้นสูง หรือขุนนาง  ที่พยายามสร้างและเชิดชูความสัมพันธ์ทางเพศของตนไว้บนฐานปิระมิดอันสูงสุด  ความพยามที่จะต้องสร้างให้เกิดนิยามความรักในเผ่าพันธ์ุหรือฐานันดรเดียวกัน เพื่อสิ่งที่สมบูรณ์ ดีงามและบริสุทธิ์  ในทางตรงกันข้ามหากเป็นความสัมพันธ์ทางเพศที่คนเหล่านี้มีกับคนที่ต่ำกว่าเช่นทาส เชลย หรือคนรับใช้จะเป็นเรื่องของการกดขี่ และมองคู่ความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นไปเพื่อการบำบัดกามรมณ์หาใช่ความรักแต่อย่างใดไม่...

     ความรักเคลื่อนตัวพร้อมกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมหรือพัฒนาการทางสังคม ที่ทำให้ความหมายและการปฏิบัติต่อเรื่องความรักเปลี่ยนแปลงไป  เอาตั้งแต่ยุคก่อนเกิดรัฐ สังคมล่าสัตว์หาของป่า ความสัมพันธุ์ของผู้คน ซึ่งไม่แน่ใจได้ว่ามีสิ่งที่เรียกว่าความรักหรือไม่ อาจมีไม่มีก็ได้ หรือเป็นความต้องการแรงขับทางเพศที่เป็นกลไกตามธรรมชาติ แต่มีเรื่องของเพศสัมพันธ์แน่ๆการมีความสัมพันธ์ทางเพศเป้าหมายเพื่อผลิตสมาชิกเป็นแรงงานในการล่าสัตว์หาของป่า  เด็กส่วนใหญ่ถือเป็นสิ่งร่วมกันของสังคม ระบบครอบครัวและระบบเครือญาติ ในขณะที่สังคมแบบศักดินา ความสัมพันธ์ของคนในสังคม ทำให้เกิดความเป็นเจ้าของที่เฉพาะ  เช่นลูกมีฐานะเป็นสมบัติของพ่อแม่ ไพร่ห้าจ้าแผ่นดินคือสมบัติของประชาชน..ความรักของหนุ่มสาวกลายเป็นสิางต้องห้าม ในด้านหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดการปฏิเสธการคลุมถุงชนแบะการขัดขืนการเป็นเมียของเต้านายหรือขุนนาง การให้อิสระกับความรักของคนหนุ่มสาวที่เน้นอารมณ์มากเกินไปมันจึงไม่เป็นการดีนัก เพราะมันควรจะเป็นของที่คนบางกลุ่มเท่านั้นที่จะโปรดปรานได้..

     ดังนั้นความรัก ในสังคมศักดินาจึงกลายเป็นค่านิยมของการเป็นเครื่องประดับเสริมบารมีของชนขั้นนำ ที่เชื่อมโยงกับการกดขี่ทางเพศของผู้ชาย รักในแบบที่ต้องเป็นรักต่างเพศเท่านั้น เพราะถ้าไม่ใช่รักต่างเพศก็ไม่สามารถบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ทางสายเลือดของผู้ชายเข้าไปผสมกับผู้หญิง เพื่อสร้างสมาชิกใหม่ได้ ..ความคิดดังกล่าวสร้างมาตรฐานต่อเรื่องความรัก และทำให้ความรักบางอย่างกลายเป็นสิ่งน่าขยะแขยง ปกปิดและซ่อนเร้น 

   จนกระทั่งสังคมได้ก้าวเข้าสู่ทุนนิยมเสรี ที่นับเนื่องจากการพังทลายลงของศักดินาในยุโรป ทำให้วิธีคิดและการปฏิบัติเรื่องของความรักและกามรมณ์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอุดมคติและการเสพสุขของผู้คนในสังคมทุนนิยมเสรี  ความรักเป็นเรื่องของการร่วมเพศและเป็นทุกอย่างในชีวิต ความต้องการความรัก ก็นำไปสู่ธุรกิจ การทำให้ความรักและกามรมณ์กลายเป็นสินค้าที่สามารถหาซื้อได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โดยไม่ต้องใช้เวลาเพื่อบ่มเพาะความรักได้ ความรักคือวาทกรรม เพราะมันคือสิ่งที่มีทั้งความรู้และอำนาจ มันทำให้คนมีอำนาจ ไร้อำนาจ สยบยอม เป็นคนที่เชื่องหรือเชื่อฟัง มองไม่เห็นความจริงบางอย่าง ดังที่ว่าความรักทำให้คนตาบอด

   ความรักเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ที่ต้องมีการจัดการและการวางท่าที หากเราแสดงหรือปลดปล่อยความรู้สึกออกมามากเกินไป  ย่อมจะเกิดปัญหา เช่น การแสดงความรักฉันท์ชู้สาวที่มากจนเกินงาม การแสดงความรักต่อบุคคลที่ไม่ถูกยอมรับทางสังคม เช่น พระกับฆาราวาส อาจารบ์กับลูกศิษย์ พี่กับน้อง  และอื่นๆ ในสังคมบ้านเรา ความรักถูกจัดการภายใต้ระบบคิดเรื่องกาละและเทศะ ความเหมาะสมในเชิง บุคคล เวลาและสถานที่

   ความรัก มักถูกอ้างเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง เข่น ความเป็นรักเดียวใจเดียว รักพวกพ้อง รักลูกน้อง รักประชาชน เพียงแต่หากมองให้ลึก เราจะเห็นว่า ความรักที่เอ่ยออกมาเช่นนี้ ได้สร้างวาทกรรมและความชอบธรรมเพื่อให้เกิดการยอมรับและอ้างสิทธิ์ในการจัดการชีวิตคนอื่น

    ความรักไม่ใช่คำถามเชิงปรนัย คำตอบของความรักจึง ไม่ได้มีแค่ คำตอบว่า รักกับไม่รัก  ความรักเป็นกระบวนการที่มีการพัฒนาตัวเองไม่ใช่แค่เชิงปริมาณว่า รักมาก รักน้อย รักเท่าไหร่ รักกี่คน แต่มันคือ เรื่องเชิงคุณภาพหรืออัตนัยด้วย ปัญหาคือคนส่วนหนึ่งไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้  มักเร่งเร้าเอาคำตอบเกี่ยวกับความรักที่เขื่อว่ามีอยู่จริงภายใต้การวัดหรือจับต้องได้ ว่ารักหรือไม่รัก. การแสดงออกซึ่งความรักที่มองเห็น ...  ในขณะเดียวกันเขาคนนั้นก็อาจสับสน และไม่เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง ดังที่เราจะเจอบางคนที่มักจะบอกว่า  “จะว่ารักก็ใช่ หรือจะไม่รักก็ไม่เชิง” ความสับสนเหล่านี้เลยเป็นปัญหาของสิ่งที่เรียกว่าความรักที่เกิดจากการไม่รู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง  ความรู้สึกที่ว่ามันก็ไม่ใช่แค่ระดับของความพึงพอใจมากน้อย แต่ยังเกี่ยวพันถึงความพอใจในคุณภาพด้วย..

    เอาเป็นว่าความรักเป็นทั้งสิ่งสวยงาม สร้างสรรค์ ให้พลังในการดำรงชีวิต ในแง่หนึ่งความรักก็มีอานุภาพในการทำลาย การสูญเสียตัวเอง  การสูญเสียเวลา ทุนทรัพย์ ภายใต้ความรู้สึกเต็มใจที่จะเสียเพื่อแลกกับความรัก บางคนใช้ความรักในการสร้างการเรียนรู้ ร่วมกัน รักสร้างอำนาจในการต่อรอง เราสองเท่ากัน ไม่มีใครเหนือกว่าใครในความรัก รักไม่มีเจ้าชายเจ้าหญิงมีแต่มนุษย์ธรรมดา  รักคือการเรียนรู้ความไม่สมบูรณ์เพื่อทำให้มันสมบูรณ์มากขึ้นเช่นนั้นเอง รักไม่มีพรมแดน ไม่มีเพศ ไม่เฉพาะมนุษย์ รักกับกามรมณ์ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่เชื่อมโยงกันได้ ในทางหนึ่งความรักมันก็มีได้โดยปราศจากกามรมณ์...เช่นกัน

ความสกปรก ความสะอาดและข้อห้าม โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 ระหว่างนั่งอ่านหนังสือของแมรี่ ดักลาส เพื่อร่างประเด็นที่จะสอนในเทอมหน้า...ทำให้เห็นมุมมองในประเด็นเกี่ยวกับมนุษย์และเชื้อโรคที่น่าสนใจและสามารถขบคิดกับประเด็นเหล่านี้ต่อได้อีกหลากหลายแง่มุม เลยร่างความคิดไว้เดี๋ยวลืม ...เพราะนึกถึงกะลาตาเดียวที่เจ้าวัดกะเหรี่ยงแจกพี่น้องในช่วงโควิด กรณีสลัมคลองเตย ความเกลียดกลัวคนเป็นโควิด..เป็นต้น

  ขอเริ่มจากคำกล่าวของแมรี่ ดักลาสที่ว่า  “The human body is alway treated as an image of society”. หรือร่างกายมนุษย์ได้รับการปฏิบัติในฐานะภาพลักษณ์ของสังคมเสมอมา....

      ร่างกายมนุษย์สัมพันธ์กับเรื่องของความสะอาดและความสกปรกที่เชื่อมโยงกับภาวะชายขอบ ความเป็นอันตรายและความเจ็บป่วย ในฐานะของสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความคิดและการปฏิบัติที่มีต่อเรื่องดังกล่าว ดังที่แมรี่ ดักลาสบอกว่า  “ที่ใดมีสิ่งสกปรก (Dirt) ที่นั่นย่อมมีระบบ(System) สิ่งสกปรกถือเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการจัดลำดับและการจำแนกแยกประเภทของสสารหรือสิ่งต่างๆอย่างเป็นระบบ ไปจนถึงการสร้างกฏเกณฑ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิเสธองค์ประกอบบางอย่างที่ไม่เหมาะสม”....

     เมื่อร่างกายคือสิ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของสังคมวัฒนธรรม เป็นอุดมคติของสังคม ดังนั้นการจะเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรม เราต้องเปลี่ยนแปลงระบบวิธีคิด ในการจัดการสิ่งต่างๆ ดังที่แมรี่ ดักลาสได้กล่าวว่า “If you want to change the culture, you will have to start by changing the organization” หรือ ถ้าคุณต้องการจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม คุณจะต้องเริ่มต้นโดยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดระเบียบทางสังคมวัฒนธรรมเสียก่อน

       ในหนังสือของ แมรี่ ดักลาว เรื่อง  Purity and Danger: An Analysis of the Concepts of Pollution and Taboo (1966) หากพิจารณาจากสังคมในอดีต สังคมดั้งเดิม (Primitive Societies) จัดเป็นสังคมที่ไม่ได้มีการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างความบริสุทธิ์ (Purity) และความเป็นมลทิน( Pollute)อย่างชัดเจน แต่สำหรับสังคมตะวันตกมีความแตกต่างอย่างชัดเจนมากกว่า ระหว่างสิ่งที่สกปรกและสิ่งที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นกฎศักดิ์สิทธิ์ (Sacred rules) จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ปกป้องความเป็นพระเจ้า ความบริสุทธิ์ของพระเจ้าและความไม่สะอาดที่เป็นอันตรายในการติดต่อสื่อสารกับพระเจ้าหรือตัวแทนของพระเจ้าแบบสองทาง...

   ในสังคมดั้งเดิม แนวความคิดเรื่องข้อห้าม ความสะอาด ความสกปรกและความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่ถูกบรรจุเข้าไปในตัวตนของผู้คน  ภายใต้แนวคิดที่มีการแบ่งแยกเกี่ยวกับวัตถุ บุคคลหรือสถานที่ มีความเกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ หรือภาวะของความไม่สะอาดที่ถูกส่งออกหรือถ่ายทอดจากผู้คนที่ไม่บริสุทธิ์หรือมีมลทินที่ร่างกายจะต้องมีการสัมผัสกับผู้คนหรือวัตถุนั้นทำให้ผู้คนหรือวัตถุนั้นแปดเปื้อนหรือสกปรก ในขณะเดียวกับหากตัววัตถุนั้นมีคุณลักษณะที่สกปรก มีการสัมผัสกับร่างกายทางกายภาพที่สะอาดกับวัตถุที่สกปรกนั้น ก็จะที่ถือว่าร่างกายนั้นไม่สะอาด รวมทั้งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของความไม่สะอาดจากวัตถุหรือการกระทำนั้นไปยังร่างกายของคนนั้นหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บางอย่างได้ ตัวอย่างเช่น ในศาสนาคริสต์นั้น ความไม่สะอาดดังกล่าวจะไม่แทรกซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งผ่านเข้าไปสู่วิญญาณข้างในของมนุษย์ด้วย  แมรี่ ดักลาสเน้นย้ำว่าเพื่อที่เราจะเข้าใจสังคมอื่น ๆ ในเรื่องของสิ่งต้องห้ามและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเต็มที่นั้น เราต้องหันมาพินิจพิเคราะห์หรือทำความเข้าใจสิ่งที่ตัวเราเองทำก่อนหรือปฏิบัติอยู่ก่อนเริ่มต้นด้วย...เราจะมองเห็นระบบที่มันจัดการควบคุมตัวเราอยู่

    แมรี่ ดักลาส ได้ทำการรื้อถอนความเข้าใจผิดที่มีทัศนะแบบเน้นยุโรปเป็นศูนย์กลางที่เป็นสากลว่า   พิธีกรรมต่างๆและพิธีกรรมเพื่อความสะอาดถูกกำหนดขึ้นโดยมีสุขอนามัย สุขวิทยาหรือสุขลักษณะเป็นเป้าหมาย การหลีกเลี่ยงเนื้อหมูในศาสนาอิสลามมักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ถูกสุขลักษณะเป็นสิ่งที่พึงกระทำ หรือการใช้น้ำหอม กลิ่นของธูปเทียนหรือเครื่องจุดในพิธีกรรม เป็นไปเพื่อการปกปิดกลิ่นตัว แทนที่จะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของควันแห่งการบูชายัญหรือการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่า ดักลาสยังยอมรับว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมากระหว่างพิธีกรรมในยุโรปกับพิธีกรรมดั้งเดิมโดยหลักการละเว้นหรือการห้ามปฏิบัติ ในขณะเดียวกันก็มีรากฐานที่แตกต่างกันด้วย หากแยกพิธีกรรมในยุโรปตามความคิดเรื่องสุขอนามัย (hygiene) และพิธีกรรมดั้งเดิมตามระบบความเชื่อทางสัญลักษณ์ (symbolism) นั้น  พิธีกรรมความสะอาดของยุโรป (European rituals)พยายามที่จะฆ่าเชื้อโรค ในขณะที่พิธีกรรมความสะอาดแบบดั้งเดิม (primitive rituals) พยายามขับไล่วิญญาณชั่วร้าย อย่างไรก็ตามดักลาสระบุว่าคงไม่เพียงพอที่เราจะจำกัดความแตกต่างระหว่างพิธีกรรมแบบยุโรปและพิธีกรรมดั้งเดิมให้เป็นเพียงประโยชน์ด้านสุขอนามัยเท่านั้น...

    เธออ้างว่าแนวคิดสมัยใหม่เกี่ยวกับสิ่งสกปรกนั้นมีความหมายเหมือนกันกับการสร้างความรู้ในเรื่องเชื้อโรคและแบคทีเรีย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะนึกถึงสิ่งสกปรกในบริบทอื่นๆยกเว้นในบริบทของการเกิดโรค แต่หากเราขจัดความคิดของแบคทีเรียและสุขอนามัยออกจากแนวคิดเรื่องสิ่งสกปรกสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือสัญลักษณ์ของสิ่งสกปรก ที่เป็นผลผลิตของระบบกฎเกณฑ์  (The product of a systematic order) และการจำแนกแยกประเภทของวัตถุสสาร (classification of matter)ในสังคม ..หากเราสามารถมองให้มากกว่าเรื่องเชื้อโรคและสุขอนามัยในความคิดและคำอธิบายเกี่ยวกับความสกปรก เราก็จะก้าวข้ามคำจำกัดความของสิ่งที่เรียกว่า “ความสกปรก” และเห็นมันในมิติที่หลากหลายซับซ้อน..

          ดักลาสเริ่มสร้างความคิดที่ว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะจัดโครงสร้างวัตถุและสถานการณ์รอบตัวให้เป็นแบบแผนระบบที่มีการจัดระเบียบอย่างดี คนที่มีอายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีความมั่นใจและประสบการณ์มากขึ้นในโครงสร้างของพวกเขา ตามหลักการนี้แล้วยิ่งประสบการณ์มีมากขึ้น ภาวะของความสอดคล้องกันภายในโครงสร้างก็จะยิ่งมีมากขึ้น เพราะพวกเขามีความมั่นใจมากขึ้นในประสบการณ์ที่มีมากขึ้นนั้น ส่งผลให้เมื่อแต่ละคนพบข้อเท็จจริงหรือแนวโน้มที่ขัดขวางต่อโครงสร้างที่พวกเขายอมรับ พวกเขาส่วนใหญ่จะเพิกเฉยต่อสิ่งนั้น สิ่งที่ถือว่าไม่บริสุทธิ์คือวัตถุหรือปรากฏการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับโครงสร้างทางสังคมหรือสัญลักษณ์ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ภายใต้ภาวะของความเสี่ยง ความเป็นชายขอบ ความคลุมเครือ และอันตราย ดักลาสจึงเชื่อมโยงสิ่งสกปรกในฐานะของการเป็นรูปแบบหนึ่งที่สร้างการขัดจังหวะ ยับยั้งหรือทำลายระบบกฏเกณฑ์ ดังนั้นจึงต้องกีดกันสิ่งเหล่านั้น เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของระบบเอาไว้ ภายใต้การสร้างข้อห้ามหรือวิถีของการปฎิบัติที่เป็นระบบระเบียบขึ้นมาควบคุม...

  ดังนั้นในแง่หนึ่ง สิ่งที่เรียกว่าข้อห้าม สะท้อนให้เห็นความพยามที่จะสร้างคำนิยามหรือการให้คำจำกัดความต่อสิ่งที่เรียกว่าข้อห้ามหรือ Taboo ที่สามารถกล่าวจากการอ่านงานต่างๆได้ว่า Taboo ไม่ใช่แค่สิ่งที่ไม่สามารถนิยามได้อย่างชัดเจนหรือสิ่งที่ไม่สามารถทำได้เท่านั้น แต่มันยังรวมถึงสิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถคิดเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างได้ด้วย ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อห้ามและความรู้สึกกลัวที่จะกระทำหรือละเมิดเกี่ยวกับมัน..

   คำว่า Taboo เป็นสิ่งที่ถูกหยิบยืมมาจากภาษาของเผ่า Tonga  ในกลุ่มของพันธมิตรของชนชาติพันธ์ุในหมู่เกาะแถบโพลีนีเซียน และเป็นสิ่งที่ถูกอ้างถึงในวาทกรรมหรืองานเขียนของชาวยุโรปที่ต้องขอบคุณกัปตันคุ้ก (Cook) ที่ถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ที่เขาพบจากชนพื้นเมืองออกมา..ทุกสิ่งเกี่ยวกับTaboo มักถูกบรรจุไปด้วยเรื่องเล่าของอำนาจของเวทมนต์ (Magical Power)  ในศตวรรษที่ 18  คำว่า Taboo เป็นสิ่งที่บ่งชี้เกี่ยวกับ Cult Ban หรือลัทธิพิธีเกี่ยวกับข้อห้ามหรือข้องดเว้น ที่เกี่ยวข้องกับการไม่สามารถสัมผัส การไม่สามารถทำ  ไม่สามารถกิน ไม่สามารถอยู่ รวมถึงเพศวิถีที่ไม่สามารถยอมรับได้ ที่เชื่อมโยงกับศักดิ์สิทธิ์ ความชั่วร้ายและคำสาปแช่ง โดยคำศัพท์และคำอธิบายเกี่ยวกับ Taboo ได้ถูกปะทะและเผชิญหน้า กับนักเดินทาง นักสำรวจที่หลากหลายที่เข้ามาในเกาะต่างๆของโอเชียเนียและกลายเป็นข้อค้นพบเริ่มแรกที่สุดของนักสำรวจชาวยุโรป ที่กลายเป็นสิ่งที่ตื่นเต้นน่าแปลกใจ แปลกประหลาดสำหรับคนต่างถิ่นโดยเฉพาะนักมานุษยวิทยา 

    Tabu / Taboo คือการรับรู้ ความเข้าใจและการควบคุมเกี่ยวกับพฤติกรรม การกำหนดเกี่ยวกับรูปแบบของการประพฤติปฎิบัติ และในท้ายที่สุดมันจะกลายเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของกลุ่มสังคม กัปตันคุ้ก ประสบความสำเร็จกับการบ่มเพาะเมล็ดพันธ์ของชนพื้นเมืองบนดินแดนของชาวยุโรปแต่ในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างออกไป นี่คือสิ่งที่ถูกซึมซับย่างรวดเร็วไปยังสังคมที่เจ้าระเบียบ (Puritan society) ในยุควิกตอเรียน ของอังกฤษ สิ่งที่น่าสนใจคือ Taboo ถูกเชื่อมโยงกับความคิดแบบ Protestantism, Colonialism, Bourgeoisie ที่ผลิตชุดคำของข้อห้ามที่แตกต่างหลากหลายจากความหมายดั้งเดิมของคนพื้นเมือง

  ซิกมันด์ ฟรอยด์ เชื่อว่า คำศัพท์เกี่ยวกับ Taboo มี 2 ความหมายที่ตรงกันข้ามกันคือ อย่างแรก มันถูกนิยามเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ (Sacred) ที่จะต้องเสียสละอุทิศตนเพื่อเข้าถึงความศักดิ์สิทธิ์ มันคือสิ่งที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ เป็นทั้งอันตรายและเป็นข้อห้ามกับความไม่บริสุทธิ์ (เน้นพื้นที่ทางศาสนาและพิธีกรรม) อย่างที่สอง  Taboo มีลักษณะเป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่เป็นสากล (พบได้ในที่ต่างๆทั่วโลก) ที่แสดงตัวมันเองเกี่ยวกับข้อห้าม ข้อปฏิบัติและความเคร่งครัดที่ไม่ถูกลดทอนกับเรื่องของเทพเจ้า ความศักดิ์สิทธิ์ และข้อห้ามทางศีลธรรม แต่มันคือข้อห้ามในชีวิตประจำวันทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องศาสนา

    ประเด็นเหล่านี้สามารถนำมาใช้อธิบายกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคและความเจ็บป่วยของผู้คนในยุคปัจจุบัน ทั้งการสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง การใช้เจลแออลกอฮอล์ การล้างมือ ล้างผัก การปรับเปลี่ยนหรือควบคุมพฤติกรรมจากการบริโภค ผลผลิตที่สะอาด ไม่สะอาด มีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ ที่สร้างให้เกิดTaboo แบบใหม่ๆและการปฎิบัติของผู้คนในยุคNew Normal

อ้างอิงจาก  Mary Douglas In Purity and Danger: An Analysis of the Concepts of Pollution and Taboo (1966)

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...