วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

หลังเรียนมหาวิทยาลัย(6)


หลังจากตั้งกลุ่มได้ไม่นาน ก็ได้อบรมเรื่องกฎหมาย สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และการใช้ประโยชน์จากองค์กรอิสระ มาหลายรุ่น ซึ่งโครงการนี้ ได้รับการอนุเคราะห์จากโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฎิรูป(คสร.) โดยพี่บรรจงศิริและคุณจุ๋ม เข้ามาจัดและเชิญวิทยากรที่มีความรู้มาให้ข้อมูลกับชาวบ้าน ซึ่งวิทยากรหลายคนได้เข้ามาช่วยชาวบ้าน เช่น คุณ ไพโรจน์ พลเพชร ที่เป็นนักกฎหมาย หรืออ.ศุภโชค โชติช่วงที่ลำปาง ที่ได้ช่วยทำสติ๊กเกอร์ เสื้อและกระเป๋า เพื่อหาเงินเข้ากองทุนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีในการต่อต้านโครงการเหมืองแร่โปแตช ผู้เขียนจำได้ว่า ในการประชุมครั้งหนึ่ง ได้มีการระดมทุนจากสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม ถือว่าเป็นเงินก้อนแรกในการจัดตั้งกลุ่ม และเก็บรวบรวมและเปิดบัญชีเพื่อเป็นกองทุนในการต่อสู้จนมาถึงปัจจุบัน
โดยการเปิดบัญชีของกลุ่มอนุรักษ์ถือว่าเป็นขั้นตอนแรกของการพัฒนาบริหารจัดการ การเงินของกลุ่ม ที่จะต้องมีผู้เบิกสามคนที่เป็นเหรัญญิกที่ชาวบ้านในกลุ่มฯเลือก และต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสามท่านจึงจะสามารถเบิกเงินมาใช้ได้ ซึ่งประกอบด้วย แม่มณี บุญรอด พ่อบุญมา บาริศรี และ.... ทำให้ขั้นตอนของการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่นบุญกุ้มข้าวใหญ่ จะต้องขึ้นชาร์ดแสดงและชี้แจงรายรับรายจ่ายต่างๆ ให้สมาชิกในกลุ่มได้เข้าใจและรับรู้ร่วมกัน เพราะในช่วงเวลานั้นก็มีสถานการณ์ปล่อยข่าวจากฝ่ายตรงกันข้ามว่าพวกแกนนำนำเงินไปใช้ กิจกรรมต่างๆที่ชาวบ้านบริจาคเงินข้าว ผลประโยชน์อยู่ที่กลุ่มแกนนำ เป็นต้น
ผู้เขียนจำได้ว่า ตอนที่จัดบุญกุ้มข้าวครั้งแรกในปี2545 ผู้เขียนเข้าไปทำตรายางและออกแบบซองผ้าป่า งานครั้งนั้นได้เงินสด20,000กว่าบาท ได้ข้าวเกือบ 10 ตันรวมเป็นเงินกว่าแสนบาท แต่หลังจากการไปชุมนุมใหญ่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องจ้างรถบัสถึงสิบคัน ทำให้เงินในกองทุนแทบจะไม่เหลือ ซึ่งผลที่ได้รับจากการชุมนุมก็น่าพอใจ เพราะ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ก็ได้เลื่อนพิจารณาการออกประทานบัตรให้บริษัท มีการตั้งคณะทำงานติดตามโครงการเหมืองแร่โปแตช แลที่สำคัญก็ได้ทำให้ปัญหาของโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชน ทั้งในประเด็นเรื่องกฎหมายแร่ที่ละเมิดสิทธิชุมชน เรื่องของกระบวนการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของบริษัทที่ไม่ครอบคลุมได้มาตรฐาน และปัญหาเรื่องของสัญญาที่กระทรวงอุตสาหกรรม รัฐบาลไทย ทำกับบริษัทที่ค่อนข้างเสียเปรียบ  รวมถึงการถูกกระทำของคนในพื้นที่ในเรื่องของข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ นับตั้งแต่ระยะเวลาที่ทำการสำรวจ รายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ผ่านความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม จนถึงการที่บริษัทกำลังจะขอประทานบัตรเพื่อก่อสร้างโรงงาน ตลอดระยะเวลากว่า20 ปีชาวบ้านไม่รู้เรื่อง และเพิ่งจะทราบเรื่องโครงการเมื่อองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาให้ข้อมูลเมื่อปี2545 ซึ่งแสดงให้เห็นความคลุมเครือและความไม่โปรงใสของโครงการเมกกะโปรเจคข้ามชาติดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...