วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

หลังเรียนมหาวิทยาลัย(5)


การประชุมในวันนั้นถือว่าได้ผลอย่างมาก ผมได้รู้จักผู้เฒ่าหลายคนที่รักชาติบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นแม่เบ้า แม่สา(ซึ่งต่อมาผู้เขียนได้มาอาศัยอยู่บ้านยายสา และได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องผ้าไหม การหากบ และยังไปมาหาสู่กันด้วยความเคารพเสมอ)รวมถึงคนอื่นๆที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องเหมืองแร่โปแตชและไม่ต้องการให้มันเกิด รวมทั้งแม่มณี ที่เป็นอบต.บ้านสังคม(ตอนหลังเป็นรองประธานกลุ่มอนุรักษ์ ปัจจุบันเป็นประธานสภาอบต.ห้วยสามพาดและได้รับรางวัลสตรีดีเด่นจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ที่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับโครงการและอยากร่วมต่อต้าน รวมถึงการจะช่วยประสานกับผู้นำหมู่บ้านอื่นๆ ที่แม่มณีรู้จักเนื่องจากท่านเคยประกอบอาชีพขายหวยและส่งขนมทองม้วนขายทำให้รู้จักคนมากและกว้างขวางทั้งในระดับหมู่บ้านและนักการเมืองท้องถิ่น
หลังจากนั้นผู้เขียนก็เริ่มต้นที่จะทำตารางการประชุมหมู่บ้านต่างๆ ทุกวันไม่ได้หยุด ซึ่งการประชุมก็จะมีทั้งที่ไปคนเดียวบ้าง ไปกับพี่สุวิทย์และพี่เกรียงศักดิ์ บ้าง แต่ในช่วงหลังๆที่สามารถประชุมหมู่บ้านต่างๆเกือบ20 หมู่บ้าน และประมาณ 15 หมู่บ้าน ที่มีคณะกรรมเข้าร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จนสามารถที่จะจัดการประชุมเพื่อตั้งคณะกรรมการและจัดตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าระยะเวลาในการทำงานนี้ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนกว่า ซึ่งถือว่าเร็วมากเพราะสถานการณ์ช่วงนั้นกดดันหลายด้าน ทั้งในแง่รายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ของบริษัทAPPCจากแคนาดา กำลังจะผ่าน รวมถึงเรื่องกฎหมายแร่ฉบับแก้ไขด้วย
ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวทำให้เราต้องมีการสร้างกลุ่มองค์กรที่เป็นทางการเข้ามาขับเคลื่อนและต่อรองทางนโยบาย ซึ่งในวันที่ 17 มกราคม 2545 ถือได้ว่าเป็นวันที่เริ้มก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งตอนแรกมีผู้เสนอว่าให้เอากลุ่มต่อต้าน แต่เนื่องจากชื่อกลุ่มต่อต้าน มันมีความหมายโจ่งแจ้งและมีทิศทางตรงอย่างเดียวเลยมีมติว่าให้เอากลุ่มอนุรักษ์ ฯซึ่งเป็นกลุ่มที่ตัวแทนชาวบ้าน 16 หมู่บ้าน 3ตำบลร่วมสนับสนุน และมีสีประจำกลุ่มคือเขียวใบตอง ซึ่งได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มรวงข้าวสีเขียว ธงเขียวเพื่อบ่งบอกความเป็นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและต่อต้านโครงการของบริษัทข้ามชาติที่จะเข้ามาทำลายสิ่งแวดล้อมและกอบโกยเอาทรัพยากรของชุมชน
        อันที่จริงแล้วแล้ว กระบวนการที่สามารถทำให้เกิดกลุ่มองค์กรชาวบ้านได้ ไม่ใช่เพียงแค่การจัดประชุมให้ข้อมูลความรู้ หรือถามความเห็นของชาวบ้านต่อโครงการ ความสนใจที่จะร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเพื่อติมตามเรื่องเหมืองแร่โปแตช เท่านั้น ซึ่งยังต้องมีกระบวนการต่างๆก่อนหน้านั้น ที่จะทำให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจ ในตัวของคนทำงานในพื้นที่ และเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการต่อสู้เคลื่อนไหวต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวทีให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิของชุมชน  การเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาการร่วมในกรณีของกฎหมายแร่การยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพรบ.แร่ในช่วงนั้น กับพ..สมคิด สีสังคม อ.จอน อึ้งภากรณ์ รวมถึงการลงพื้นที่เหมืองบำเหน็จณรงค์ ที่ชัยภูมิ ร่วมกับวุฒิสภา ทำให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อมั่นว่ายังมีหลายๆองค์กรช่วยเหลือชาวบ้าน ชาวบ้านไม่ได้โดดเดี่ยว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...