วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

หลังเรียนมหาวิทยาลัย(2)


        จนมาถึงช่วงประมาณเดือนตุลาคนในช่วงก่อนออกพรรษาปีพ.ศ.2545 ที่ผมต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจากคนที่ชอบนั่งเขียนและพูดคุยกับผู้คนต่างๆ  มาเป็นคนที่ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองแร่โปแตช ซึ่งเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนและผมก็ไม่เคยเห็นเหมืองแบบนี้มาก่อน เพิ่งจะรู้ข้อมูลต่างๆจากรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ทางบริษัทเอเชียแปซิฟิกโปแตช ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2539 ซึ่งจะต้องนำมาแยกย่อยและสรุปให้ชาวบ้านสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ โดยนำศัพท์ทางเทคนิค มาแปลเป็นภาษาชาวบ้านให้ชาวบ้านเข้าใจ เช่นRoom and Pillar ซึ่งเป็นการขุดช่องสลับเสาค้ำยัน ก็ต้องเปรียบเทียบถึง ตัวบ้านที่มีเสาค้ำเพดาน มีฝาห้อง ข้างในว่างๆ ก็เหมือนการขุดเจาะแร่ที่ต้องมีการขุดเอาแร่ออกไป และเหลือเกลือเพื่อเป็นเสาค้ำแผ่นดินไว้ ส่วนที่เอาเกลือออกก็จะเหลือเป็นช่องว่างๆ เหมือนห้องที่ยังไม่มีเฟอร์นิเจอร์  เป็นต้น นี่เป็นงานชิ้นแรกที่ผู้เขียนต้องทำ คือทำความเข้าใจกับตัวโครงการเหมืองแร่โปแตช ทั้งเทคนิค วิธีการขุด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องกฎหมายแร่ที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เช่นกรณีของเรื่องแดนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ที่รัฐพยายามจะเข้ามาจัดการและทับซ้อนสิทธิเหนือพื้นดินของชาวบ้าน โดยมีบริษัทข้ามชาติชักใยอยู่เบื้องหลัง และเรื่องการแก้ไขเรื่องเทคโนโลยีการผลิต การทำเหมืองแร่ แบบอุโมงค์ใต้ดินเข้าไว้ในนิยามความหมายของการขุดแร่ และเพิ่มความหมายของแร่โปแตชและเกลือหินในนิยามความหมายของแร่ 
อาจถือได้ว่าเป็นความโชคดีของผม ที่ได้เข้ามาในหมู่บ้านโนนสมบูรณ์ที่ผู้เขียนไม่เคยรู้จัก และขับมอเตอร์ไซค์ เก่าๆ เข้าไปนั่งในร้านก๋วยเตี๋ยว เพื่อจะถามถึงบ้านผู้นำในหมู่บ้าน คือผู้ใหญ่บ้านเพื่อจะขอนัดเปิดประชุม ซึ่งผู้เขียนก็ได้เตรียมหนังสือมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งตรงนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญ บางคนอาจมองว่าเรื่องจดหมายขอนัดประชุม มันเป็นเรื่องของทางราชการ ไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในการทำงานพัฒนาของเอ็นจีโอหรือชาวบ้าน แต่ผมมีความคิดเห็นที่แตกต่างว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในเบื้องต้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายยังไม่เริ่มต้น ในประการแรกถือว่าเป็นการให้เกียรติผู้นำที่เป็นทางการ และถูกกระแสความคิดแบบทางการเข้าครอบงำ ต้องมีรูปแบบมีธรรมเนียม มีหลักฐานเพื่ออ้างอิงชัดเจน ซึ่งตอนที่ผู้เขียนทำงานอยู่ที่บ้านอุ่มจาน ในการประชุมกลุ่มประมง การใช้จดหมายทำให้มีผู้ประชุมเข้าร่วมมากขึ้นโดยเฉพาะผู้นำที่เป็นทางการ จนเมื่องกลุ่มเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่เข้มแข็งและทุกคนมีความไว้เนื้อเชื่อใจและสนิทสนมกันดีแล้ว การใช้จดหมายก็ไม่จำเป็น ที่สำคัญก็คือการบอกด้วยวาจา ผู้รับสารอาจลืมได้
กลับมาที่ร้านก๋วยเตี๋ยว ผมนั่งกินก๋วยเตี๋ยวและก็ถามแม่ค้าเกี่ยวกับเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ว่าเคยได้ยินหรือรู้บ้างไหม ซึ่งแม่เขียว(คนขายก๋วยเตี๋ยว) ก็ตอบว่ารู้ สามีแกเคยต่อต้านเรื่องนี้มา และเป็นสมาชิกอบต.ห้วยสามพาดบ้านโนนสมบูรณ์ม.3 ผมจึงได้มีโอกาสพบกับพ่อประจวบ แสนพงษ์ ซึ่งต่อมาก็ได้กลายมาเป็นหัวหน้าแกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี และปัจจุบันเป็นนายกอบต.ห้วยสามพาด หลังจากนั้นผู้เขียนก็ได้นำข้อมูลมาพูดคุยกับพ่อประจวบและขอเปิดประชุมที่บ้านโนนสมบูรณ์เป็นหมู่บ้านแรก และพ่อประจวบ ก็บอกว่าให้เอาวันออกพรรษา เพราะเป็นวันที่คนเฒ่าคนแก่และคนในหมู่บ้านมารวมกันมากที่สุดเป็นวันที่นัดประชุมให้ข้อมูลชาวบ้าน จุดเริ่มต้นนี้เองที่ทำให้ผู้เขียนได้พบกับบรรดาแกนนำที่ต่อสู้ร่วมกันในปัจจุบัน...
        หลังจากที่ได้วันเวลาที่จะเริ่มต้นประชุมให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตช ผู้เขียนได้ประสานงานไปยังพี่เลี้ยงและองค์กรพัฒนาที่รับผู้เขียนเข้ามาทำงาน โดนผ่านกระบวนการอาสาสมัครของมอส. คือพี่สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ซึ่งในช่วงนั้นแกเป็นเลขาเครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน และทำงานอยู่ภายใต้ร่มของโครงการอนุรักษ์ลำน้ำพอง ซึ่งมีพี่ยอร์ช(อกนิษฐ์ ป้องภัย)เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีทีมงานอย่างพี่โก้ เนตร พี่หยู พี่เก๋และแอนดริว รวมถึงแกนนำชาวบ้านน้ำพอง อย่างพี่สำเนา และพี่ฉวาง แกนนำชาวบ้านที่ต่อต้านเรื่องโรงงานกระดาษฟินิกส์ที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่น้ำพอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...