วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

เริ่มจากห้องแถว

เกิดกับหมอตำแย
ผมเกิดและอยู่รอดมาได้จากมือของหมอตำแยที่ทำคลอดให้ผม พ่อกับแม่ท่านเล่าความหลังให้ผมฟังตอนผมยังเป็นเด็ก....
ในช่วงที่พ่อของผมไปราชการทหาร ณ หมู่บ้านหนองมะเกลือ ตำบลดงชน กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนครซึ่งปัจจุบันอำเภอดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเมืองสกลนคร และพบรักกับแม่ของผมที่นี่ เป็นเรื่องราวที่พ่อแม่ของผมมักจะเล่าเล่าให้ผมฟัง เพื่ออธิบายถึงสาเหตุและที่มาของการเขียนมือซ้ายของผม พ่อผมมักจะเล่าว่า
“สมัยก่อน คนเฒ่าคนแก่ทักว่า อย่าถือหม้อใส่รกมือซ้ายเดี๋ยวเด็กเกิดมาจะเขียนหนังสือมือซ้าย แต่ท่านก็ไม่เชื่อและถือหม้อรกมือซ้ายไปฝัง” จนกระทุ่งทุกวันนี้ผมเขียนมือซ้ายผมก็อดคิดถึงสิ่งที่พ่อผมเล่าให้ฟังไม่ได้
พ่อผมเป็นคนตัดสายสะดือผมจากไม้ไผ่ที่หาได้ในป่า สมัยก่อนโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยค่อนข้างห่างไกล จึงต้องใช้บริการจากหมอตำแยในหมู่บ้าน เด็กทุกคนในหมู่บ้านล้วนเกิดจากฝีมือของหมอตำแย ซึ่งเป็นหญิงชราร่างเล็ก ที่ทำให้รอดชีวิต เติบโตและสร้างสรรค์สมาชิกในสังคมเรื่อยมาจนกระทั่งกลายเป็นชุมชน เป็นบ้านเป็นเรือนที่มั่นคง แกเคยบอกพ่อแม่ของผมว่า อยากเจอผม อยากรู้ว่าผมจะตัวใหญ่ขนาดไหน เมื่อคราวพ่อแม่ผมกลับไปเยี่ยมบ้านที่สกลนคร แต่เนื่องจากผมต้องไปเรียนหนังสือที่ต่างจังหวัดและทำงานในกรุงเทพฯจึงไม่มีโอกาสได้ไปพบท่าน จนท่านเสียเมื่อผมอายุได้สามสิบปีแล้ว มีเพียงพ่อแม่ผมที่ได้มีโอกาสไปงานศพท่าน ผมก็ได้แต่อธิษฐานให้วิญญาณของท่านไปสู่สุคติ และขอขอบคุณท่านที่ช่วยให้ผมได้เกิดและมีชีวิตอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้
ทุกครั้งที่พ่อแม่ผมเล่าถึงชีวิตในวัยหนุ่มสาว การได้มาพบรักกันของทหารหนุ่มกับสาวชาวบ้านในยุคคอมมิวนิตส์ซึ่งสร้างความสั่นคลอนและผลสะเทือนต่อความมั่นคงของหมู่บ้าน สายสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับทหาร อย่างกรณีของพ่อแม่ผมจึงไม่ใช่สายสัมพันธ์ทางการเมืองแต่เป็นสายใยของความผูกพันที่ก่อเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่าความรัก
ผมมักจะนึกถึงบรรยากาศเก่าๆของหมู่บ้านภูไทเล็กๆแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านไม้ทรงสูง มีบันไดสูงที่วางพาดกับชานบ้านเพื่อขึ้นลงและสามารถยกเลื่อนขึ้นหรือลงได้ สมาชิกในชุมชนมักอยู่รวมกันในลักษณะครอบครัวขยาย มีเรือนใหญ่ เรือนเล็กของพี่น้องแม่ที่แต่งงานแล้วขยายครัวเรือนออกไปในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง  เมื่อก่อนชาวบ้านที่นี่นิยมเลี้ยงวัวควายไว้ที่ใต้ทุนบ้านโดยทำคอก สี่เหลี่ยม ยึดโยงกับเสาบ้าน แล้วใช้ไม้ไผ่ทั้งต้นตีรอบทุกด้าน ด้านละ 3-4  ต้น ส่วนด้านหน้าทำช่องให้สามารถสอดไม้ไผ่เข้าออก เพื่อเปิดปิดได้อย่างสะดวก ในช่วงเวลาที่ต้องต้อนวัวออกไปเลี้ยงทุ่งนาและต้อนกลับเข้าคอกเมื่อยามเย็น
 เสน่ห์ของบ้านไม้ทรงสูงมีคอกวัวอยู่ใต้ถุนบ้านแบบนี้ ก็คือเมื่อเวลาเรานอน หากเราเอาหูแนบกับพื้นบ้านที่เป็นไม้กระดาน และระหว่างกระดานแต่ละแผ่นจะมีช่องไม้ที่สามารถส่องลงไปใต้ถุนข้างล่างได้ เราก็จะได้ยินเสียงวัวควายใช้หางปัดไล่แมลงและพลิกตัวในคอกที่มีขี้วัวชื้นแฉะ และเสียงกระดิ่งสั่นกริ๊งๆเป็นระยะตลอดเวลา พร้อมกับกลิ่นขี้วัวลอยขึ้นมาตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตที่เป็นหนึ่งเดียวกับชาวบ้าน ไม่มีความรำคาญ ไม่มองว่าเป็นความสกปรก เพราะวัวควายมีบุญคุณในการทำนาและการทำเกษตรกรรม ก่อนที่หลังจากนั้นไม่กี่ปี คอกวัวบริเวณใต้ถุนบ้านไม่มีอีกต่อไปแล้ว ใต้ทุนบ้านแต่ละหลังจึงดูโล่งเตียนสะอาดหูสะอาดตา คอกวัวถูกแยกห่างจากบ้าน ตามที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและปศุสัตว์แนะนำ เกี่ยวกับโรคติดต่อที่มาจากวัวและสามารถติดต่อสู่คนได้ เช่น โรคสมองอักเสบ ทำให้พื้นที่ที่เรียกว่าคอกวัว คอกควาย ซึ่งครั้งหนึ่งวัวควายเคยได้อาศัยหลับนอน หลังจากถูกต้อนกลับมาจากทุ่งหญ้า ถูกแทนที่ด้วยควายเหล็กหรือรถไถนาแบบเดินตาม จอดสงบนิ่งไร้เสียงกระดิ่ง และเสียงหางของวัวควายที่กวัดแกว่งฟาดบนลำตัวของมันเองเพื่อปัดแมลงที่บินมาตอมอย่างที่เคยเป็น
เมื่อเครื่องจักรกลที่ไร้ชีวิต แต่ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยกับการทำงาน เข้ามาแทนที่สัตว์เลี้ยงที่มีพลังชีวิตและมีบุญคุณต่อชาวนามาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ นี่อาจเป็นสิ่งที่เรียกว่าความเจริญที่ผู้นำประเทศพูดถึงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่เปลี่ยนแปลง
กลางคืนยามลมหนาวพัดพลิ้วไหว สายลมพัดต้นมะพร้าวให้เอนลู่ตามสายลมแรงที่ลอยมากระทบ ปลุกให้เหล่าก้านมะพร้าวสยายใบกวัดไกวทักทายกันตามสายลมหนาวที่เข้ามาปะทะ เสียงไม้ไผ่จากกอไผ่ที่อยู่รอบหมู่บ้าน ลั่นเอี๊ยดสนั่นหวั่นไหว ราวกับเสียงกรีดร้องที่ลึกลับดูน่ากลัว ยามเมื่อเดินผ่านซุ้มกอไผ่ที่ลู่ไปตามลม ใบไผ่ร่วงโรยลงมาสู่พื้นดิน พร้อมเสียงเสียดสีของลำต้นดังเอี๊ยดอาด บางครั้งเสียงสูงดูคล้าเสียงกรีดร้องของผู้หญิง สร้างจินตนาการและบรรยากาศที่ดูน่ากลัวทุกครั้ง เมื่อผมกับพ่อแม่ต้องเดินเข้ามาในหมู่บ้านหนองมะเกลือ ตั้งแต่ปากทางบ้านทามไฮ ที่เป็นจุดลงรถ และบริเวณนั้นไม่มีรถประจำทางหรือรถรับจ้างผ่าน ผมและครอบครัวซึ่งประกอบด้วยพ่อแม่และน้องชาย ต้องเดินเข้าไปในหมู่บ้านเป็นระยะทางหลายกิโลบนเส้นทางลูกรัง ผ่านวัด ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำและต้นยางสูงใหญ่ ที่มีศาลเพียงตาตั้งอยู่ข้างๆดูน่าขนลุก ผ่านพื้นที่ป่าไผ่และป่าโคกป่าแพะ เพื่อเข้าสู่หมู่บ้าน จนกระทั่งเห็นหนองน้ำสาธารณะที่เรียกว่า หนองแฝก ผมดีใจแทบจะวิ่งเพราะบ้านของตายายผมอยู่ติดกับหนองแฝกตรงปากทางเข้าหมู่บ้าน  ภาพเหล่านี้ประทับอยู่ในความทรงจำผมเสมอทุกทีที่มาที่นี่ การมาเยือนถิ่นที่เกิดกายกระตุ้นจิตวิญญาณบางอย่างในตัวผม ความต้องการโหยหาบางอย่างที่ไม่อาจกลับคืนได้แล้ว
สิ่งที่ผมชอบสำหรับที่นี่นอกจากบรรยากาศของธรรมชาติคือความสัมพันธ์ของเครือญาติซึ่งหมู่บ้านนี้สมัยก่อนจะมีไม่กี่สายตระกูล เช่นเมามีจันทร์ คำตลบ เวลามีพี่น้องมาจากต่างจังหวัด พวกเราก็จะกินข้าวพร้อมกันหมดบริเวณแคร่ไม้ไผ่ ที่บ้านของน้าสังข์ ซึ่งเป็นน้องชายของแม่ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพี่น้องในครัวเรือนเดียวกันแต่รวมถึงญาติพี่น้องที่ทราบข่าวต่างพากันมาถามข่าวและกินข้าวด้วยกันอย่างสนุกสนาน
นี่คือความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่เป็นรากฐานสำคัญของความเป็นเครือญาติและชุมชน ไม่ว่าเรื่องไหน ใครทำอะไร ทุกคนในชุมชนจะรู้หมด และนั่นเป็นโอกาสที่เราจะได้พบกับคนเฒ่าคนแก่ ได้มีโอกาสพูดคุยและตำหมากให้คนแก่เคี้ยว ผมกับพ่อแม่มักจะไปบ้านยายกา บ้านป้าบุญเสมอ ทำให้มีโอกาสได้ตำหมากในระบอกทองเหลือเรียวยาว มีฝาปิดเป็นทรงแหลมแกะลายสวยงาม เอาหมาก ปูนแดง ปูนขาว ใบพลูและยาสูบใส่ ตำให้ละเอียดเพราะคนแก่อายุมากฟันไม่ดีต้องตำให้ละเอียด หมากเป็นสิ่งสำคัญในวงสนทนาและหลังอาหาร
บ้านส่วนใหญ่จะเป็นบ้านทรงสูง  ด้านล่างโล่งหรือเป็นคอกวัว ด้านข้างๆทางทิศตะวันออกจะเป็นยุ้งข้าว ใหญ่เล็กตามจำนวนพื้นที่นา หน้าบ้านมีโอ่งดินเล็กๆแขวนกระบวนตักน้ำด้ามโค้งไว้ให้ที่ผ่านไปผ่านมาได้ดื่มดับกระหาย โอ่งดินเผาสีน้ำตาลใบใหญ่มีฝาปิดทรงแหลม ดูชื้นเย็นตามระดับน้ำที่อยู่ในตุ่ม ทำให้น้ำที่อยู่ในตุ่มเย็นโดยธรรมชาติไม่ต้องมีตู้เย็นเหมือนในปัจจุบัน ส่วนครัวบางบ้านก็ปลูกต่างหากหรือต่อกับตัวบ้านด้านบน จะมีโอ่งน้ำที่ตักจากบ่อน้ำบาดาล ไว้ใช้ทำกับข้าว พื้นส่วนใหญ่จะเป็นไม้ไผ่ทุบ หรือ ผ่าเป็นซีก เวลาเดินจะยวบยาบบ้างแต่แข็งแรง โดนไม้ไผ่ที่เรียงกันเป็นพื้นจะมีช่องว่าง เมื่อเวลาทำกับข้าวหรือล้างผัดล้างปลา น้ำจะไหลลงสู่พื้นด้านล้าง ส่วนฝาบ้านก็จะทำจากไมไผ่สานเป็นลายสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆเหมือนตางรางหมากรุก อาจใช้ถุงปู หรือใบกุงมาปิดให้ทึบ ด้านที่เป็นตารางสามารถเหน็บมีด เขาควาย ไม้พายข้าว หรือแขวนหม้อ แขวนหวดนึ่งข้าว มีเตาที่ให้ก้อนหินทำเป็นสามเส้า หรือเหล็กมีขาตั้งแล้วมีรูกลมตรงกลางสำหรับวางหม้อหรือกาพอดี ด้านล่างก็ใช้สอดฟืน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ฟืนแห้งที่หาได้ในป่า มากกว่าถ่านและใช้ขี้เถ้าหรือยางไม้เป็นเชื้อเพลิง ช่วงตีสี่ตีห้าเราจะเห็นควันไฟพวยพุ่งออกมาจากครัวเป็นสัญญาณบอกว่าเช้าแล้วและชาวบ้านกำลังทำอาหารเพื่อเตรียมใส่บาตรและออกไปนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...