วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

เหมืองแร่กับสิทธิชุมชน

เรื่องเหมืองแร่กับสิทธิชุมชน[1]
บทนำ
บทความชิ้นนี้พยายามสรุปให้เห็นสถานการณ์ของการประกอบธุรกิจเหมืองแร่ในปัจจุบัน ที่สัมพันธ์กับกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม กระบวนการพัฒนาดังกล่าวได้นำไปสู่ความขัดแย้งในหลายๆด้าน เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมาย ทั้งพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมปี พ.ศ 2535 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 และกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 รวมทั้งประเด็นเรื่องของการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)และการจัดทำรายงานผลกระทบทางด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) ที่เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการต่อสู้เคลื่อนไหวภาคประชาชน แต่กระบวนการดังกล่าวก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายของชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน และหลายกรณีที่กระบวนการทำรายงานเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศในการผลักดันโครงการ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งและรุนแรงในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
                                                            
การต่อสู้ที่ผ่านมา....บทเรียนของการต่อสู้ระหว่างธุรกิจเหมืองแร่กับชาวบ้าน
การพัฒนาทรัพยากรแร่ในประเทศไทย ได้เริ่มก่อเกิดและเติบโตตั้งแต่รัฐบาลเริ่มต้นจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อเป็นกรอบสำหรับการพัฒนาประเทศเมื่อปี พ.. 2504 เป็นต้นมา ทำให้ต้องใช้เทคนิคและวิธีการสำรวจทรัพยากรแร่ธาตุที่มีความทันสมัยมากขึ้น เช่นมีการสำรวจทางธรณีเคมี และการสำรวจธรณีฟิสิกส์ เพื่อแสวงหาแหล่งแร่ สำหรับวิเคราะห์ประเมินความสมบูรณ์ ปริมาณสำรองของทรัพยากรแร่และความคุ้มค่าต่อการลงทุนในทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งค้นหาและแสวงหาแหล่งแร่สำคัญ เช่น ดีบุก เหล็ก ฟลูออไรต์ โลหะพื้นฐานต่างๆ ยิปซัม โพแทช เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศและบางส่วนส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ โดยในอดีตได้มีโครงการสำรวจทรัพยากรแร่ร่วมกับต่างประเทศ ที่สำคัญคือ การสำรวจแร่กัมมันตรังสีและแร่วัตถุนิวเคลียร์ร่วมกับทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ในช่วงปี พ.. 2504 – 2506 โครงการสำรวจลุ่มแม่นํ้าโขงร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ในปี พ..2506  และโครงการสำรวจแร่นอกชายฝั่งทะเลร่วมกับ UNDP และ CCOP ในระหว่างปี พ.. 2522 – 2538[2] โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านธรณีวิทยาและเทคโนโลยีการผลิตแร่ให้กับคนไทย เช่น การเปิดสอนด้านวิศวกรรมโลหะและเหมืองแร่การเป็นครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป้าหมายของการสำรวจทรัพยากรแร่ได้เปลี่ยนแปลงหลักการจากการแสวงหาแหล่งแร่เพื่อประโยชน์ทางการพาณิชย์และชี้ชวนให้นักลงทุนมาลงทุน มาเป็นการจัดเตรียมข้อมูลธรณีวิทยาและธรณีวิทยาแหล่งแร่ รวมทั้งเชื้อเชิญให้ภาคเอกชนเข้ามาขออาชญาบัตรเพื่อทำการสำรวจแร่ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณีหน่วยงานภาครัฐด้วย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวได้นำไปสู่การเข้ามาของกลุ่มทุนต่างๆทั้งในประเทศและนอกประเทศจำนวนมาก ทยอยเข้ามาขอใช้ทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายที่เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็นการขออาชญาบัตรในการสำรวจและการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ โดยในประเทศไทยมีพื้นที่ที่เป็นแหล่งแร่จำนวนมากและอยู่ในกลุ่มแร่ 4 ประเภทหลักคือ กลุ่มแร่เชื้อเพลิง กลุ่มหินประดับและหินอุตสาหกรรมก่อสร้าง กลุ่มหินอุตสาหกรรมซีเมนต์ กลุ่มแร่โลหะและแร่อโลหะ(ดูแผนที่ ก แสดงแหล่งแร่ประเภทต่างๆในประเทศไทย)
ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 5 (พ.ศ. 2504 - 2529) รัฐมุ่งเน้นให้มีการผลิตทรัพยากรแร่เพื่อส่งออกนำเงินตราเข้าประเทศเป็นหลักและหันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการสำรวจธรณีวิทยาแหล่งแร่ในประเทศรวมทั้งสนับสนุนภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการลงทุนในกิจการเหมืองแร่โดยเฉพาะแร่ดีบุก วุลแฟรม ตะกั่ว ยิปซัม แมงกานีส ฟลูออไรต์ พลวง เหล็ก โลหะพื้นฐาน เกลือหิน และลิกไนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคพื้นฐานและพลังงาน อย่างเช่น ไฟฟ้า ในขณะที่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 ถึงฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2530 - 2549) ได้เปลี่ยนแนวทางจากการผลิตทรัพยากรแร่เพื่อการส่งออกจำหน่ายต่างประเทศมาเป็นผลิตเพื่อป้อนอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสำรวจและประเมินปริมาณสำรองแร่วัตถุดิบเพื่อเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ สนับสนุนการใช้ประโยชน์ทรัพยากรแร่อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่าการผลิต โดยเฉพาะแร่วัตถุดิบในอุตสาหกรรมก่อสร้างและเชื้อเพลิง ได้แก่ลิกไนต์ หินปูน สังกะสี ยิปซัม หินอ่อน ดินขาว เฟลด์สปาร์ ทรายแก้ว รวมทั้งแร่ที่ใช้เป็นปุ๋ย เช่น โพแทชฟอสเฟต เป็นต้น[1]
ประเด็นปัญหาของการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติจึงเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของความทันสมัยและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงโลกาภิวัตน์ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย ความรู้ ทุนและทรัพยากร ระหว่างกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเข้ามาของทุนต่างชาติมากขึ้น ที่สัมพันธ์กับเรื่องกฎหมายที่เปิดช่องให้ชาวต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินหรือเช่าที่ดินในระยะที่ยาวมากขึ้นได้ ทำให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้สามารถเข้ามาลงทุนประกอบกิจการเหมืองแร่ในประเทศไทยแบบระยะยาวได้ เช่น โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ของบริษัทเอเชียแปซิฟิกโปแตช คอร์เปอร์เรชั่นจำกัด ที่ขอสัมปทานผลิตแร่โพแทชที่แหล่งสมบูรณ์ไซด์ อุดรเหมือนและอุดรใต้ เป็นระยะเวลา 22 ปีตลอดสัญญาที่ขอประทานบัตรเป็นต้น
ในตลอดระยะเวลาของการพัฒนาประเทศไทย ทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินถูกนำขึ้นมาใช้จำนวนมาก  โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการใช้ทรัพยากรแร่ธาตุของไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับกระแสการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแร่ในกลุ่มพลังงานอย่างถ่านหินและแร่ในกลุ่มก่อสร้าง เช่นหินปูน หินก่อสร้าง ยิปซั่ม  มีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่อง ในปี2552ประเทศไทยมีมูลค่าการผลิตลิกไนต์มากกว่า 15.000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการผลิตในปี2547 ราว 5,000 ล้านบาท และการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศอีกกว่า 18,000 ล้านบาท โดยถ่านหินที่ผลิตได้ในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศถูกใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม ในปัจจุบันราว1ใน5 ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ในประเทศมาจากพลังงานถ่านหิน[2] เช่นเดียวกับแร่ในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่จำเป็นต่อการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการคำนวณข้อมูลการผลิตแร่กลุ่มหินก่อสร้างปี2546-2550 ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พบว่า ปริมาณการใช้หินก่อสร้างในปีพ.ศ.2546 เพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ6 ต่อปี จาก77.1 ล้านตัน เป็น101.0 ล้านตันในปีพ.ศ.2550 เช่นเดียวกับข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ปี2550 เกี่ยวกับการผลิต ราคาทรัพยากรแร่ ทรัพยากรแร่ที่ได้รับการอนุญาตให้ทำการผลิตได้และพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ในการผลิต ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของการตัดสินใจลงทุนของกลุ่มทุนต่างๆ(ดูรายละเอียดจากตาราง ข้างล่าง )
[1] บทความชิ้นนี้เรียบเรียงและเขียนโดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้นำเสนอในงานเสวนาสานพลังเครือข่ายและพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ ในหัวข้อธุรกิจเหมืองแร่กับสิทธิชุมชน ณ โรงแรมมิราเคิล วันที่ 20 ธันวาคม 2554 โดยสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอมาจากการศึกษารวมทั้งความเห็นบางประเด็นมาจากทัศนะผู้เขียนเอง
[2] กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ :นโยบายและแนวทางการบริหารจัดการ (กรุงเทพฯ:กรมทรัพยากรธรณี,2554)

จากข้อมูลข้างต้นสามารถคาดคะเนได้ว่า ยิ่งประเทศมีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติชนิดไหนมากขึ้นเท่าไหร่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเภทของแร่ชนิดนั้นก็จะมีการสำรวจและขอสัมปทานในการผลิตเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเงื่อนไขในแง่ของราคาและความคุ้มทุนของการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ก็เป็นตัวแปรสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นกลถ่มแร่อื่นๆที่มีความสำคัญในเรื่องของการเกษตร เช่น โพแทช ที่นำมาใช้ผลิตปุ๋ยและผลพลอยได้จากเกลือที่นำไปสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆก็มีแนวโน้มที่จะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นและมีการลงทุนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาสำรวจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่มีโดมเกลือมหาศาลใต้พื้นดินของแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร[1] เช่น การขออาชญาบัตรสำรวจพื้นที่โพแทชในจังหวัดสกลนคร มหาสารคาม และจังหวัดขอนแก่น
สถานการณ์ของปัญหาเรื่องเหมืองแร่จึงไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่แต่มีการสะสมอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษของการพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของปัญหาในเรื่องเหมืองแร่กับสิทธิชุมชนพบเห็นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยดังที่สรุปเป็นตารางได้ดังนี้[2]

โครงการ
จุดเริ่มต้น
การเคลื่อนไหว
สถานการณ์ปัจจุบัน
โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี
ปีพ.ศ.2539-40 บริษัทAPPC  เข้ามาสำรวจและลงทุน
ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เมื่อปี พ.ศ.2545
บริษัทอิตาเลียนไทยเข้ามาร่วมลงทุนกับAPPC ขณะนี้อยู่ในช่วงของการทำอีไอเอ ใหม่และเอชไอเอเพิ่มเติมในการขอประมานบัตร รวมทั้งพยายามเร่งรัดให้มีการรังวัดปักหมุด ในพื้นที่ขอประทานบัตรทำการขุดเหมืองแร่และพื้นที่โรงงานแต่งแร่
โครงการทำเหมืองแร่ทองแดง
บริษัทภูเทพ จำกัดในเครือ ผาแดง อินดัสทรีและไทยออสจำกัด ทำการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ในปีพ.ศ.2549
ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟประมาณปีพ.ศ  2551-52
บริษัทภูเทพ จำกัด พยายามเปิดเวทีเพื่อจัดทำรายงานอีไอเอ และเอชไอเอซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอประทานบัตร
โครงการเหมืองแร่ตะกั่ว คลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
เกิดโรงแต่งแร่คลิตี้ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2510และบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทยจำกัด) ทำเหมืองแร่ตะกั่ว และเกิดผลกระทบต่อลำห้วยคลิตี้เมื่อปีพ.ศ.2541 และตรวจพบปริมาณสารตะกั่วในเลือดของชาวบ้านสูง นอกจากนี้บริเวณโดยรอบเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวรยังมีบริษัทต่างๆที่ได้รับสัมปทานประกอบกิจการเหมืองแร่จำนวนมาก เช่น บริษัทเคมโก้ และบริษัทผลแอนด์ซัน จำกัด (เมืองพลวง) รวมทั้งการลักลอบทำแร่ถื่อน
ปีพ.ศ.2541 ชาวบ้านเขียนจดหมายร้องทุกข์ถึงอธิบดีควบคุมมลพิษ เกิดการนำเสนอประเด็นสู่สาธารณะ และเมื่อปีพ.ศ.2543องค์กรพัฒนาเอกชนและวุฒิสภาเรียกร้องสิทธิชุมชนให้กับชาวบ้านในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสารตะกั่ว
ปัจจุบันมีการยกเลิกและยังยั้งการทำเหมืองในพื้นที่แต่ก็ยังมีการพยายามสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการทำเหมืองขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งการคัดค้านการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงูทับที่ทำกินชาวบ้านในพื้นที่คลิตี้บนและคลิตี้ล่าง จำนวนกว่า 4000 ไร่  และเตรียมฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นการละเมิดสิทธิชุมชน
โครงการเหมืองลิกไนต์ แม่เมาะ จังหวัดลำปาง
มีแนวคิดสำรวจแร่ลิกไนต์บริเวณพื้นที่แม่เมาะจังหวัดลำปางตั้งแต่ปีพ.ศ.2460 และสำรวจพบถ่านหินลิกไนต์ในปีพ.2496-97 และสร้างเหมืองแม่เมาะขึ้นเพื่อขุดแร่ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงและตั้งโรงงานไฟฟ้าขึ้นโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ปีพ.ศ.2527 เกิดมลพิษทางด้านฝุ่นควัน และปีพ.ศ.2535 เกิดปัญหาการรั่วไหลของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ ประชาชนล้มป่วยไม่ทราบสาเหตุและรวมตัวกันภายใต้ชื่อเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ
ช่วงปีพ.ศ.2547 2549 และ2551 มีมติให้คนอพยพออกจาพื้นที่รัศมีโรงไฟฟ้า 5 กิโลเมตร ชาวบ้านมีทั้งส่วนที่สมัครใจย้ายกับไม่ยอมย้ายออก
ชาวบ้านเครือข่ายสิทธิผู้ป่วย เดินทางมาศาลปกครองสูงสุดแจ้งวัฒนะเมื่อ 22 กันยายน 2554 เพื่อให้ศาลเร่งรัดคดีค่าชดเชยเยียวยาจาก กฟผ. ที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้จ่ายเงินเยียวยาให้ชาวบ้านเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ปีพ.ศ.2552 แต่กฟผ.ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดซึ่งยังไม่ได้พิจารณาตัดสิน
โครงการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน
ปีพ.ศ.2539 พื้นที่ป่าบริเวณผาจันได ตำบลดงมะไฟ ถูกกำหนดเป็นพื้นที่แหล่งอุตสาหกรรม บริษัทศิลาโชคชัยภัทร จำกัด ขอประทานบัตรทำเหมืองหินเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง
เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 แกนนำถูกยิงเสียชีวิตรวม4 คน และปีพ.ศ.2542 พระสงฆ์และชาวบ้านรวมตัวกันตั้งชมรมอนุรักษ์ภูผาป่าไม้
ปัจจุบันศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมาสั่งให้ระงับโครงการจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะชี้ขาด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดให้ยกเลิกโครงการ รวมทั้งชาวบ้านที่คัดค้านถูกบริษัทฟ้องร้องดำเนินคดี และถูกตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา นายเอกชัย ศรีพุทธา และนายสุพัฒน์ ถมทองวิจิตร เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม ปีพ.ศ. 2554
โครงการเหมืองแร่สังกะสี ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก
และตำบลพระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก
บริษัทผาแดงอินดัสทรี จำกัด และบริษัทตาก ไมน์นิ่ง จำกัด ได้ขอประทานบัตรทำเหมืองสังกะสีที่ตำบลแม่ตาว จังหวัดตากเมื่อปี พ.ศ. 2525 (ก่อนหน้านั้นบริษัทไทยซิงจำกัดได้รับประทานบัตรทำเหมืองเมื่อปีพ.ศ./2515-2518) และเตรียมจัดทำแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของพื้นที่ใหม่ในคอยผาแดง ตำบลพระธาตุผาแดงเพื่อขอประทานบัตรต่อ
เกิดการปนเปื้อนของสารแคดเมียม ตั้งแต่ปีพ.ศ.2541-2546 และชาวบ้านในพื้นที่ได้ทำการเคลื่อนไหวต่อสู้ในพื้นที่
ปัจจุบันมีการตรวจสอบและกำกับดูแลและเผ้าระวังการทำเหมืองสังกะสี บริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตากให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแร่ปีพ.ศ. 2510
โครงการเหมืองแร่ทองคำ ในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก
ปีพ.ศ.2543 บริษัทอัคราไมน์นิ่ง จำกัด จัดทำรายงานอีไอเอและขอประทานบัตรทำเหมืองทองคำในตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์รวมทั้งได้รับสิทธิสำรวจสายแร่ทองคำเพิ่มเติมครอบคลุมพื้นที่3 จังหวัด ร่วมกับบริษัทริชภูมิไมนิ่ง และบริษัทไทยโกลบอลเวนเจอร์ส จำกัดในปีพ.ศ. 2549
เกิดภาวะน้ำธรรมชาติแห้ง ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร เกิดมลพิษทางฝุ่นและเสียง รวมทั้งกาปนเปื้อนสารไซยาไนด์และสารหนูลงสู่น้ำบนดินและใต้ดิน ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เจ็บป่วยและเคลื่อนไหวต่อต้านในพื้นที่
ปัจจุบันบริษัทอัครา ไมนิ่ง  จำกัด อยู่ในช่วงของการขออาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจเพิ่มเติม
โครงการเหมืองแร่ทองคำ ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
ปีพ.ศ.2548 บริษัททุ่งคำ จำกัด ได้ขอประทานบัตรทำเหมืองทองคำที่ภูทับฟ้า ภูซำป่าบอนและภูเหล็ก ครอบคลุมพื้นที่หมู่บ้านนาหนองบง บ้านกกสะทอน บ้านแก่งหิน บ้านโนนผาพุงพัฒนาบ้านห้วยผุกและบ้านภูทับฟ้าพัฒนา ในตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
ปีพ.ศ.2549 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตรวจและวิเคราะห์น้ำในลำน้ำฮวย แม่น้ำสาขาของลำน้ำเลย พบปริมาณสารแคดเมียม สารหนูและสังกะสี ปนเปื้อนในแหล่งน้ำเกินค่ามาตรฐาน จนนำไปสู่การตั้งกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2550 เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในเรื่องสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
บริษัทขอประทานบัตรเพื่อเปิดพื้นที่ทำเหมืองเพิ่มเติม
โครงการสำรวจและเหมืองแร่เหล็ก อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
กลุ่มนายทุนในและนอกประเทศ เข้ามากว้านซื้อพื้นที่ตามป่าและไหล่เขาในบริเวณภูเขาแก้ว ในเขต ต.เขาแก้ว อ.เชียงคาน จ.เลย และ ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย  โดยบางกลุ่มลักลอบตัดไม้และทำแร่เหล็กเถื่อน
ชาวบ้านยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกองค์การบริหารส่วนตำบลธาตุและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดให้ตรวจสอบและสั่งปิดเหมืองดังกล่าว และคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่บนพื้นที่สาธารณะประโยชน์ป่าภูเหล็ก และสัมปทานที่ทับที่ดินทำกินชาวบ้าน

โครงการสำรวจแร่โพแทช จังหวัดมหาสารคาม
บริษัทไทยสารคาม อะโกร โปแตช จำกัด ยื่นขออาชบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแทชในจังหวัดมหาสารคาม เมื่อปีพ.ศ.2548
ชาวบ้านยังไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการ และยังไม่มีการรวมกลุ่มที่ชัดเจนในการเคลื่อนไหวในพื้นที่
บริษัทกำลังดำเนินการขอต่ออาชญาบัตรพิเศษเพิ่มเติมหลังจากสำรวจมาแล้ว 5 ปี
โครงการสำรวจแร่โพแทช จังหวัดขอนแก่น
ปีพ.ศ.2548 บริษัทกรุงเทพโยธาอุตสาหกรรม ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทช จำนวน 10 แปลงที่ ตำบลบ้านทุ่ง ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และ ตำบลบ้านฝาง ตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น


โครงการทำเหมืองเกลือแบบละลายและสูบน้ำเกลือใต้ดิน จังหวัดนครราชสีมา
บริษัทไทยสินทรัพย์ ยื่นขออาชญาอาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่ อำเภอคง อำเภอบัวใหญ่ อำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา และบริษัทธนสุนทร (1997) ขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจที่ตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
การดูดน้ำเกลือ ส่งผลกระทบต่อการเกษตร และเกิดหลุมยุบ รวมทั้งฝุ่นละอองเกลือในอากาศ จนนำไปสู่การเรียกร้องของชาวบ้านและทางการสั่งให้มีการหยุดดำเนินการดังกล่าว  รวมทั้งชาวบ้านชนะคดีจากการฟ้องศาลปกครองในปีพ.ศ.2552
ปัจจุบันยังมีการยุบตัวของผิวดินอย่างต่อเนื่องในพื้นที่
โครงการทำเหมืองหินเขาคูหา ต.รัตภูมิ จ.สงขลา
บริษัทพิรพลมายนิ่ง จำกัด และนายมนู เลขะกุล ขออนุมัติประทานบัตรทำเหมืองหินเพิ่มเติม ในปีพ.ศ.2552-2553
ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และเครือข่ายคัดค้านการต่อสัญญาเหมืองหินเขาคูหา เพื่อเรียกร้องสิทธิและเรียกร้องความเป็นธรรมกรณีที่บริษัทละเมิดสิทธิชุมชน และผลกระทบต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม โดยที่หินที่ได้ไม่ได้นำมาใช้ในกิจการของจังหวัดสงขลาและประเทศไทยแต่ส่งไปจำหน่ายยังอินเดีย
บริษัทยังคงดำเนินการผลิตเหมืองหินในพื้นที่ต่อไป และชาวบ้านก็คงยังต่อสู้เรียกร้องในพื้นที่
โครงการเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าถ่านหิน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีแผนจะขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ในปีพ.ศ.2549ถึงปีพ.ศ.2551 ที่ตำบลทุ่งพอและตำบลคอลอมูดอ อ.สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
ชาวบ้านยังรับรู้ข้อมูลน้อย
สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ยังไม่มีการดำเนินการตามแผน

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่เหล็ก ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง, พื้นที่ศักยภาพแร่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่  ,พื้นที่ศักยภาพแร่ลุ่มน้ำแม่สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ,พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหินแอ่งงาว อ.งาว จ.ลำปาง,พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่   ,พื้นที่ขอสำรวจแร่โปแตช จ.สกลนคร ,พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน ต.พะวอ อ.แม่สอด จ.ตาก ,พื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน อ.ลี้ จ.ลำพูน ,พื้นที่ลำเลียงและลานกองแร่ถ่านหินจากพม่า จ.เชียงราย และพื้นที่อื่นๆในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ดังข้อมูลของกลุ่มตรวจสอบและพิจารณารายงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนมกราคม 2554 พบว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA)ที่ได้รับความเห็นชอบแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคม 2552 จำนวน 27 โครงการที่ยื่นขอประทานบัตร เดือนมกราคมถึงธันวาคม 2553 จำนวน 50 โครงการที่ยื่นขอประทานบัตร ที่น่าสนใจคือข้อมูลของโครงการที่ยังไม่ได้จัดส่งรายงานประเภทโครงการเหมืองแร่ มีจำนวนถึง515โครงการที่มีผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทั่วประเทศ[3] นั่นแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มของปัญหาในการดำเนินการพัฒนาธุรกิจเหมืองแร่ของประเทศไทยในอนาคตอาจจะทวีความรุนแรงและสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในพื้นที่มากขึ้น เพราะโครงการจำนวนหลายโครงการที่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้ว่าจะมีโครงการหรือธุรกิจเหมืองแร่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองเสมือนการตัดชาวบ้านออกจากกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจดำเนินโครงการตั้งแต่แรกเริ่ม โดยปัญหาใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นและปัญหาเก่าในประเด็นเรื่องเหมืองแร่ที่ยังคั่งค้างและแก้ไขปัญหาไม่ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาหลายประการของการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชนและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฏหมายรัฐธรรมนูญ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องทำการต่อสู้เคลื่อนไหวด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งที่ถูกจังดำเนินคดี ทั้งที่ประสบความสำเร็จในแง่ของการชะลอโครงการ ยกเลิกหรือยับยั้งโครงการ หรือประสบความล้มเหลวในการต่อสู้และต้องจำยอมต่อกระแสการพัฒนาที่พวกเขาไม่มีโอกาสเลือก
ประเด็นที่น่าสนใจของการเคลื่อนไหวกรณีเหมืองแร่ในประเทศไทย พบประเด็นที่น่าสนใจหลากหลายประเด็นตั้งแต่พัฒนาการของการต่อสู้ที่มีความยาวนานแตกต่างกัน เช่น เหมืองคลิตี้ที่ดำเนินการทำเหมืองมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2510 ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติแร่และพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ทำให้สถานการณ์ของปัญหาค่อนข้างรุนแรงและสั่งสมมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งปีพ.ศ.2541 จึงจะเริ่มเป็นข่าวสู่สาธารณะในวงกว้าง เมื่อมีการตรวจพบสารตะกั่วในกระแสเลือดของชาวบ้านในพื้นที่ ที่น้ำจากลำห้วยคลิตี้มาใช้ในการอุปโภคบริโภค  มีการเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้เห็นการเติบโตของกระบวนการต่อสู้ เช่น การรวมกลุ่ม การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้าน การทำให้เป็นข่าวสาธารณะที่ทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้านสามารถนำเสนอแนวนโยบายหรือการตัดสินใจในทิศทางการพัฒนาของตัวเองสู่สาธารณะ รวมทั้งการเปิดเวทีวิชาการระหว่างนักวิชาการภาครัฐ สถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายและพันธมิตร และนำเสนอปัญหาสู่สาธารณะเพื่อให้เกิดแรงสนับสนุนและข้อมูลในการตัดสินใจในการพัฒนา โดยกระบวนการเคลื่อนไหวของเหมืองคลิตี้หรือแม่เมาะที่ลำปาง กลายมาเป็นบทเรียนให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ เช่น เหมืองแร่โพแทชที่อุดรธานี เหมืองแร่ทองคำและทองแดงที่เลยเป็นต้น ภายใต้กระบวนการรุกคือบของกลุ่ทุนที่ใช้มายาคติหรือภาพลวงเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าของการพัฒนาที่คนในพื้นที่อยากจะสัมผัสแม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม




[1] ผู้สนใจสามารถอ่านได้ในงานแอ่งอารยธรรมอีสาน(2533) ของ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่พูดถึงพัฒนาการการตั้งถิ่นฐาน สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆแถบลุ่มแม่น้ำ โขง ชีและมูลโดยการขุดค้นทาและสำรวจทางโบราณคดีซึ่งพบแหล่งผลิตเกลือโบราณกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆของภาคอีสาน หรือเอกสารการเสวนา ทุ่งกุลา อาณาจักรเกลือ 2,500ปี ภูมิหลังนิเวศวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ซึ่งจัดที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546

[2] ส่วนหนึ่งรวบรวมจากงานรายงานการศึกษาชุดโครงการพัฒนาการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ด้านสิทธิที่เชื่อมโยงกับสุขภาพ โครงการพัฒนาฐานข้อมูลเครือข่ายและงานวิชาการ






มานุษยวิทยากายภาพ : วิวัฒนาการของมนุษยชาติ

วิวัฒนาการของมนุษยชาติ
 การศึกษาทำความเข้าใจความเป็นมาของมนุษยชาติ ถึงต้นกำเนิดและพัฒนากรของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย ยังไม่มีความสมบูรณ์มากนัก แม้ว่าเราจะพบคำตอบว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาขึ้นมาจากสัตว์เซลล์เดียวชั้นต่ำ ที่ยังไม่สามารถพัฒนาความสลับซับซ้อนของอวัยวะในการทำหน้าที่ต่างๆ เหมือนมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ที่ประกอบด้วยเซ,ล์หลายเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะอย่าง รวมทั้งความเกี่ยวดองทางโครงสร้างทางร่างกายบางอย่างของมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) บางประเภทที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ เช่น สัตว์ในกลุ่ม Primate Order ที่มีกระดูกสันหลัง(Vertebrate) ที่รวมถึงลิงขนาดใหญ่ที่ไม่มีหาง (Ape)[1] และลิงมีหางชนิดอื่นๆ (Monkeys)
ดังนั้นเราน่าจะพิจารณาความรู้ทางด้านธรณีวิทยา (Genealogy)ที่ได้แบ่งลักษณะของโลกมนุษย์ในยุค (Era)ต่างๆที่สัมพันธ์กับสภาพทางกายภาพ พื้นดิน พื้นน้ำและวิวัฒนาการ การก่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกดังนี้ คือ
ERA
Period
Epoch
Million of year
Forms of Life
Cenozoic
(ยุคแห่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม)
Quartenary
Recent
1/40
คนปัจจุบัน
Pleistocene
1
Sinanthropus,Pithecanthropus, Homo sapiens.etc
Tertiary
Pliocene
12

สัตว์ที่มีรูปร่างใกล้คนอาจจะเริ่มปรากฏขึ้นในตอนปลายของยุคสมัยนี้
Miocene
28
สัตว์ประเภท Anthropoid Apes ปรากฏขึ้นแพร่หลาย
Oligocene
39
สัตว์ประเภท Anthropoid แบบที่มีรูปร่างล้าหลัง (Primitive) เริ่มมีขึ้น
Eocene
58
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเริ่มมีปรากฏแพร่หลายทั่วไป
Paleocene
75
เริ่มมีปรากฏสัตว์แบบ Insectivorous preprimateและprimate ระยะต้น
Mesozoic
(ยุคแห่งสัตว์เลื้อยคลาน)
Secondary
Creteceous
135
เริ่มมีปรากฏสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกแบบโบราณ ไดโนเสาร์ นกมีฟันและสัตว์โบราณบางชนิดเริ่มสูญพันธุ์
Jurassic
165
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแบบล้าหลังเริ่มมีปรากฏแพร่หลาย นกมีฟันเริ่มมีขึ้น
Triassic
205
ไดโนเสาร์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแบบล้าหลังเริ่มปรากฏมีขึ้น
Paleozoic
(ยุคแห่งชีวิตแบบโบราณ)

Permian
230
สัตว์ประเภทครึ่งบกครึ่งน้ำ (Amphibians)
และแมลงต่างๆเริ่มปรากฏอย่างแพร่หลาย
Carboniferous
255
สัตว์แบบล้าหลังประเภทเลื้อยคลาน  แมลง แมงมุม มีปรากฏขึ้น ป่าเฟิร์นและป่าไม้อื่นๆเริ่มมีปรากฏเพิ่มมากขึ้น
Devonian
325
ปลาและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมีปรากฏขึ้นและป่าไม้เริ่มขยายตัวแพร่หลายขึ้น
Silurian
360
สัตว์ทะเลประเภทปลาหมึกยักษ์และแบบชีวิตในทะเลที่ใกล้เคียงกันเริ่มมีปรากฏ พืชต่างๆก็เริ่มปรากฏขึ้นบนดิน
Ordovician
425
ปลาแบบล้าหลังและชีวิตในทะเลบางแบบได้เริ่มปรากฏขึ้น
Cambrian
505
ยังไม่พบหลักฐานของสิ่งมีชีวิตบนพื้นดิน แต่ในทะเลมีชีวิตแบบง่ายๆปรากฏอยู่แล้ว
สิ่งที่น่าสนใจจากตาราง เกี่ยวกับบรรพบุรุษของมนุษย์เราก็คือ ในยุคของซีโนนอย (Cenozoic Era)  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทนี้เริ่มปรากฏอยู่แล้วในตอนปลายของยุคก่อนหน้านี้ แต่ยังมีความสำคัญน้อย ยุคนี้แบ่งเป็นหลายยุค ทั้งอีโอซีน (Eocene Period) สมัยโอลีโกซีน (Oligocene Period) สมัยไมโอซีน (Miocene Period) สมัยไพลโอซีน (Pliocene Period) สมัยไพลสโตซีน (Pleistocene Period)และสมัยรีเซ็นต์ (Recent Period ) ซึ่งเป็นสมัยปัจจุบันที่เราดำรงชีวิตอยู่ ดังนั้นสัตว์กลุ่มไพรเมท ได้เริ่มปรากฏในโลกสมัยอีโอซีน และได้แตกแยกย่อยออกเป็นครอบครัวในตอนต้นของสมัยโอลิโกซีน ที่มีหลักฐานจากการขุดพบโครงกระดูกคล้ายลิงใหญ่ โครงหนึ่งที่ถูกตั้งชื่อว่า โพรพิโอพิเธคัส (Propliopetecus) ที่ถูกสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์เราและสัตว์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ (Anthropoid) ซึ่งได้ถูกค้นพบจำนวนมาก โดยไม่อาจทราบว่าในช่วงปลายสมัยโอลิโกซีนและตอนต้น ตอนกลางของสมัยไมโอซีนลงมา มันจึงหายไป แต่ก็พิสูจน์ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว เริ่มมีสัตว์ที่คล้ายมนุษย์ดำรงอยู่วิตอยู่แล้วพอสมควร
ไพรเมทในระยะแรกๆ เป็นสัตว์ประเภทเล็กๆ สมาชิกของกลุ่มนี้เริ่มต้นจากการอาศัยอยู่บนต้นไม้ก่อน มีขนาดเล็กน้ำหนักตัวเบา เหมาะสมกับการห้อยโหนโยนตัวบนอากาศ จากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นไม้อีกต้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีวิวัฒนาการพัฒนาทางด้านขนาดรูปร่าง ดังเช่นกอริลล่า ที่ตัวผู้ใหญ่อาจมีน้ำหนักถึง 1,000 ปอนด์ ซึ่งการที่น้ำหนักตัวมากขนาดนี้ ทำให้ยากลำบากในการอาศัยและห้อยโหนบนต้นไม้อย่างที่เคยเป็น ทำให้มันต้องลงมาอยู่บนพื้นดินแทน ในตอนแรกอาจจะอยู่ระหว่างต้นไม้กับพื้นดิน เช่นหาอาหารบนพื้นดิน นอนบนต้นไม้ อาจกล่าวได้ว่าลิงขนาดใหญ่เป็นสัตว์บรรพบุรุษรุ่นแรกที่คล้ายคน ได้ลงมาจากต้นไม้มาอยู่บนดิน  ก็เนื่องจากร่างกายมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น และการลงมาอยู่บนพื้นดินก็ได้ทำให้สัตว์เหล่านี้พัฒนาโครงสร้างที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตอยู่บนพื้นดิน ขาของพวกมันค่อยๆยาวขึ้น ข้อต่อของสะโพกมีความกระชับและแกร่งมากขึ้น เท้าไม่ได้ใช้เกาะต้นไม้อีกต่อไป แต่ใช้พยุงน้ำหนักของร่างกาย ดังเช่นกอริลล่าภูเขา ที่อาศัยอยู่บนพื้นดินเกือบตลอดเวลาและมีลักษณะของเท้าใกล้เคียงกับคนมากกว่าไพรเมทชนิดอื่นๆ
นอกจากการเปลี่ยนลักษณะทางโครงสร้างแล้ว สัตว์เหล่านี้ยังเปลี่ยนนิสัยในเรื่องของอาหารด้วย เช่น สัตว์ไพรเมทต้นๆ ส่วนมากเป็นสัตว์ประเภทกินแมลงเป็นอาหาร และกินสัตว์กินพืชเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่นิยมกินเนื้อสัตว์ พวกเขาดรงชีพด้วยหน่อไม้อ่อน  ผลไม้และพืชเกิดใหม่ ในขณะที่มนุษย์ดูจะเป็นไพรเมทประเภทเดียวเท่านั้นที่เป็นนักล่า นักฆ่าและกินสัตว์มากมายหลายชนิด
อาจจะเป็นไปได้ว่า เพราะขนาดร่างกายที่ใหญ่ทำให้มันขาดความคล่องแคล่วว่องไวในการไล่จับสัตว์ จึงถนัดกับการจับหรือหาผลไม้บนต้นที่ออกผลอยู่นิ่งๆบนกิ่งมากกว่าการล่าสัตว์ที่เคลื่อนที่ แต่เมื่อลงมาจากต้นไม้ และขนาดของร่างกายกระชับกระเฉงมากขึ้น ทำให้พวกเขาลงมาหาเลี้ยงชีพตามพื้นดินมากขึ้นและมีวิวัฒนาการใกล้เคียงกับมนุษย์ปัจจุบันมากขึ้น ในสมัยไมโอซีน ดังนั้นอาจกล่าวว่า สัตว์คล้ายคน (Anthropoid) และคน (Hominoid) เริ่มมีเส้นแบ่งทางวิวัฒนาการที่ชัดเจนในระยะนี้ สัตว์คล้ายคนขนาดใหญ่ในสมัยไมโอซีน มีความโน้มเอียงที่จะดำรงชีวิตบนพื้นดินและกินเนื้อสัตว์อื่นเป็นอาหารมากยิ่งขึ้น
การขุดค้นซากโครงกระดูกของมนุษย์ในหลายพื้นที่ ที่มีอายุในช่วงไมโอซีนและไพลโอซีน เช่น มนุษย์ชวา (Java Man)และพิเธคันโทรปัส อีเลคตัส (Pithecanthropus Erectus) ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ หรืออาจเรียกว่าเป็นสัตว์คล้ายคน ที่มีกระดูกด้านหน้าของหัวกะโหลกยาวและแคบ มีสันคิ้วที่ใหญ่และหนาอยู่บนด้านบนของช่องดวงตา และมีกระบอกตาค่อนข้างต่ำ ช่องมันสมองแสดงให้เห็นขนาดของสมองประมาณ 900 คิวบิดเซนติเมตร ที่ใหญ่โตกว่ามันสมองของลิงใหญ่ทุกชนิดแต่ยังมีขนาดสมองเล็กกว่าคนธรรมดามาก และลักษณะกะโหลกคล้ายคลึงกับของลิงใหญ่ (Apes)มากกว่ามนุษย์ปัจจุบัน แต่มีลักษณะฟันใกล้เคียงกับคนมากกว่า แสดงว่าพวกนี้กินอาหารและเคี้ยวอาหารแบบคนในสมัยปัจจุบันได้
หลังจากนั้นไม่นานก็ได้มีการค้นพบโครงกระดูกของวิวัฒนาการมนุษย์ที่เรียกว่า นีแอนเดอทัล (Neanderthal Man) ที่เป็นเชื้อชาติที่ได้ครอบครองบริเวณส่วนใหญ่ของยุโรป ที่อยู่ระหว่างตอนกลางและตอนปลายของยุตไพลสโตลีน คนพวกนี้ยังมีลักษณะคล้ายลิงใหญ่และคล้ายมนุษย์ยุคปัจจุบันบางอย่าง ลักษณะที่เด่นชัดคือ รูปร่างเตี้ย ล่ำสันและมีขนดกหนา รวมทั้งมีกล้ามเนื้อแขนชาที่แข็งแรงมาก แต่ยังไม่สามารถเหยียดเข่าให้ตั้งตรงได้เต็มที่ การก้าวเดินค่อนข้างช้า หัวยังไม่ตั้งตรง ค่อนข้างจะหงายไปข้างหลังมากกว่า มีขนาดหัวใหญ่ มีขนรุงรังบริเวณใบหน้ามาก จมูกแบนและราบ ดวงตาถูกปกป้องด้วยหัวคิ้วที่ยื่นออกมามาก มีคิ้วดก หนาผากต่ำ หัวยาว  ขนาดของสมองมีความใหญ่เท่าๆกับคนปัจจุบันแต่ยังมีคุณภาพด้อยกว่ามาก ในแง่ของวิถีชีวิต พวกนี้รู้จักใช้ไฟ และใช้เครื่องมือตั้งแต่เริ่มแรกหลายชนิดเหมือนกัน
นอกจากนี้ยังค้นพบโครงกระดูก พิเธคันโทรปัส (Pithecanthropus) ซินันโทรปัส (Sinanthropus) หรือ มนุษย์ปักกิ่ง (Peking Man)ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมนุษย์นีแอนเดอทัลมาก ดังนั้นถึงแม้ว่านีแอนเดอทัล จะคล้ายลิงใหญ่หรือAPE มากกว่ามนุษย์ แต่ก็ปฎิเสธถึงลักษณะบางอย่างที่มีความคล้ายคลึงกันไม่ได้ อาจกล่าวได้ว่าคนสองชนิดนี้มีบรรพบุรุษร่วมกันมาในอดีตก็ว่าได้
สิ่งหนึ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่แตกต่าง มีผลต่อวิวัฒนาการของมนุษย์ชาติและการตั้งถิ่นฐาน เช่น มนุษย์นีแอนเดทัล ที่ครอบครองยุโรป มีความชอบในอากาศที่เย็นจัด เป็นน้ำแข็ง ที่เป็นลักษณะเฉพาะของซีกโลกฝั่งยุโรปและด้วยความหนาของขนตามร่างกายทำให้พวกนี้ดำรงอยู่ได้ ในขณะที่มนุษย์ปัจจุบัน (Homo Sapiens) เป็นสัตว์ชนิดที่เคยชินกับอากาศร้อนและอบอุ่นเป็นส่วนมาก เพราะไม่ได้มีขนมาก และทนความหนาวเย็นได้ไม่นาน ซึ่งยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีลักษณะคล้ายพวกเอสกิโมที่ล่าแมวน้ำ ล่าหมี เพื่อทำเป็นเครื่องนุ่งห่มกันหนาว เพราะไม่มีหลักฐานเรื่องของการตัดเย็บเสื้อหนัง เสื้อกันหนาวของมนุษย์ยุคนีแอนเดอทัล และคนพวกนี้ใส่เสื้อผ้าหรือเปล่าหรือเนื้อตัวเปลือยเปล่า อาศัยขนที่หนาเป็นเครื่องปกป้องพวกเขาจากความหนาว
ในขณะเดียวกันอาจเป็นไปได้ว่ามีมนุษย์อยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งที่อยู่บนเส้นศูนย์สูตรที่อบอุ่น ได้เคลื่อนย้ายตัวเองจากโลกเก่าสู่โลกใหม่ในทวีปยุโรป เพื่อค้นหาแหล่งทรัพยากรและต่อสู้เพื่อดำรงชีวิตอยู่ก็เป็นไปได้ว่าการขยายอาณาเขตของกลุ่มมนุษย์ปัจจุบันออกไปในเขตน้ำแข็งเมื่อน้ำแข็งละลาย อาจมีการสังหารชีวิตสัตว์กึ่งมนุษย์หรือมนุษย์ด้วยกันเพื่อแย่งชิงดินแดนและทรัพยากร จนทำให้มนุษย์บางชนิดสูญพันธ์ไปก็เป็นได้ แม้ว่ายังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า มีการผสมพันธุ์ข้ามกลุ่มสายพันธุ์หรือเปล่า
แต่กระนั้นก็ตามซากโครงกระดูกของไพรเมทและมนุษย์ประเภทต่างๆที่ค้นพบ ทำให้เราทราบถึงสายวิวัฒนาการที่เชื่อมโยงกับคนสมัยใหม่แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นบรรพบุรุษของเราโดยตรงก็ตาม

ตัวอย่าง 1.Pliopithecus, Pronconsul, Dryopithecus


 
ตัวอย่าง 2 . Australopithecus, Paranthropus, Advanced Australopithecus, Homo Erectus, Early Homo Sapiens, Solo Man, & Rhodesian Man , Neanderthal Man, Cro-Magnon Man, Modern Man.
ดังนั้นอาจสรุปว่า สิ่งที่มนุษย์มีร่วมกับสัตว์อื่นๆ  มีดังนี้คือ
1.มีวงจรชีวิตเหมือนสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นๆ ที่มีการเจริญเติบโต การสืบพันธ์ การเจ็บป่วย การแก่เฒ่า และการตาย
2.ความสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากอาณาจักรพืช ที่มักจะอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งถาวร ไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองได้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ทำระหว่างกัน เช่น หาอาหารล่าสัตว์ ป้องกันศัตรู หาหมัดให้กัน  เป็นต้น
3. มนุษย์มีสิ่งที่คล้ายสัตว์ที่มีหลายเซลล์ เพราะมนุษย์มีอวัยวะที่ทำหน้าที่เฉพาะอย่าง เช่น แขน ขา หัวใจ  ตา สมอง เป็นต้น
4. มนุษย์มีลักษณะร่วมกันกับสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง  มีลักษณะภายในกระดูกและกล้ามเนื้อที่ยืดหยุ่น มีระบบประสาทไวต่อความรู้สึก  มีระบบเลือด หัวใจ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดเลี้ยงร่างกาย
5.มนุษย์มีลักษณะร่วมกับสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม  แต่มนุษย์มีวิวัฒนาการขั้นสูงกว่า  โดยมีการเจริญเติบโตของทารก หรือตัวอ่อนโดยผ่านทางรก เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเอง เป็นสัตว์เลือดอุ่นมีขนตามลำตัว  มีคางที่ตรงจากกะโหลกศีรษะ  มีกระดูก 7 ชิ้นที่คอต่อมาจากกระดูกสันหลัง มีเส้นประสาทสมอง 12 คู่  หัวใจมี 4 ห้อง  มีฟัน2 ชุด ฟันน้ำนมและฟัน
6.มนุษย์มีลักษณะร่วมกับไพรเมท ในการมีสมองขนาดใหญ่กว่าสัตว์ทั่วไป ซับซ้อน มีสายตาดี โดยเฉพาะมิติในการมอง กว้าง ลึก ยาว รวมทั้งมีมือในการใช้จับยึดสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะต้นไม้
สิ่งแวดล้อมกับความแตกต่างของมนุษยชาติ
                มนุษย์ในแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะอยู่ในโลกเก่าหรือโลกใหม่ ได้แยกย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานในสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ต่างกันออกไป และมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้มากน้อยแตกต่างกัน  มนุษย์ในกลุ่มหนึ่งอาจจะถูกกับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นหนึ่งมากกว่าอีกท้องถิ่นหนึ่ง  และสิ่งแวดล้อมสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับร่างกายของสิ่งมีชีวิต ได้ โดยแสดงออกมาให้เห็นว่า ชีวิตรูปร่างลักษณะที่มุ่งไปในทิศทางอย่างหนึ่ง ย่อมมีโอกาสดีกว่าที่จะอยู่รอด และถ่ายทอดลักษณะดังกล่าวให้กับสมาชิกรุ่นหลัง เช่น การมีปอดขนาดใหญ่ เพราะต้องอาศัยอยู่บริเวณที่สูงที่มีออกซิเจนค่อนข้างน้อย และเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ทุกเมื่อ เช่นคนที่หิมาลัย คนที่ธิเบตหรือชาวมองโกลเลีย เป็นต้น ในขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมก็อาจจะลดโอกาสในการอยู่รอดของมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะของร่างกายบางอย่างที่มุ่งไปในทิศทางอื่นหรือทิศทางตรงกันข้าม เช่น คนที่มีปอดน้อย แต่ไปอาศัยอยู่ในที่ที่มีอากาศเบาบาง มีออกซิเจนน้อย ก็อาจหายใจลำบากหรือเสียชีวิตได้เร็วกว่าคนที่มีปอดใหญ่ สิ่งนี้คือกฎที่เรียกว่า การเลือกสรรโดยธรรมชาติ (Natural Selection)
                ในเรื่องของลักษณะอากาศกับลักษณะทางกายภาพ ยังมีความน่าสนใจประการหนึ่งว่า คนที่อยู่ในบริเวณโลกเก่า มกจะมีสีผิวคล้ำกว่าเนื่องจากอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ในขณะที่คนผิวขาวจะอยู่บริเวณเขตอบอุ่นหรือหนาว เช่นเดียวกับพวกที่อาศัยอยู่ริมทะเล และภูมิเขา ปริมาณการได้รับแสงแดด ก็อาจส่งผลต่อสีผิวของร่างกายได้ด้วยเหมือนกัน นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงรูปพรรณและลักษณะทางร่างกาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวพันกับการเลือกสรรของสังคมด้วย (Social Selection) ซึ่งจะแสดงผลดีต่อร่างกายบางแบบเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ชาวทานาล่า (Tanala) ในหมู่เกาะมาดากัสการ์ (Madagascar Island) ซึ่งมีอยู่สองกลุ่มที่มีสีผิวแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่ารูปร่างลักษณะอื่นๆจะมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ภาษาและวัฒนธรรมก็แบบเดียวกัน ชนสองกลุ่มนี้แยกออกเป็นสองประเภทคือ กลุ่มสายตระกูลแดง (Red Clan) ที่มีสีผิวน้ำตาลอ่อน สีแดงระเรื่อตามผิวหนัง กลุ่มสายตระกูลดำ (Black Clan) ที่มีสีน้ำตาลคล้ำและดำแบบเดียวกับสีผิวของนิโกร โดยทั้งสองกลุ่มมีประเพณีบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับผิวพรรณและรูปร่างของคนสองกลุ่มอยู่มาก เช่น ถ้าเกิดเด็กผิวดำ ขึ้นมาในหมู่สายตระกูลแดง  ก็เชื่อว่าเด็กคนนั้นเมื่อโตขึ้น จะเป็นพ่อหมดหมอผี (Sorcerer) ที่มีอำนาจในการสาปแช่ง ให้โทษผู้อื่น  เป็นขโมยหรือเป็นคนเจ้าชู้ประพฤติผิดในกาม หรือเป็นคนขี้เรื้อน จึงควรจะฆ่าตายตั้งแต่เกิด
                ในขณะเดียวกันกลุ่มสายตระกูลดำก็มีกฏเกณฑ์กับเด็กที่เกิดมามีผิวค่อนข้างขาวและแดงระเรื่อเช่นเดียวกัน ทำให้การแต่งงานของกลุ่มคนเหล่านี้ จะอยู่ในสายตระกูลเดียวกันไม่ข้ามสายตระกูลอื่น ซึ่งถือเป็นการเลือกสรรทางสังคมที่ส่งผลถึงลักษณะรูปพรรณ ร่างกายของมนุษย์ รูปพรรณที่เปลี่ยนแปรไปในลักษณะที่สังคมไม่พึงปรารถนาก็จะถูกกำจัดออกไป
                ดังนั้นทิศทางของการเลือกสรรทางสังคม ขึ้นอยู่กับตัวแปรและองค์ประกอบทางวัฒนธรรมของแต่ละสังคม เช่น นักล่าที่มีความสามารถย่อมได้รับอาหารที่ดีและมากกว่าคนที่ด้อยความสามารถ และมีโอกาสอยู่รอดได้มากกว่านักล่าที่ไร้ฝีมือ อีกตัวอย่างหนึ่งคนที่มีรูปร่างสวยงาม หน้าตาสวยงาม เป็นที่ต้องตาต้องใจหรือหมายปองของเพศตรงกันข้ามมากว่า พวกนี้ก็มีแนวโน้มรักษาแบบแผนทางรูปพรรณและลักษณะของตัวมากกว่า ทำให้ในยุคปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงรูปพรรณเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตามค่านิยมทางวัฒนธรรม เช่น  การนิยมโชว์ส่วนเว้าของสตรีอย่างเต็มที่ในสมัยหนึ่ง ในสมัยหนึ่งก็มีข้อห้ามข้อจำกัด มาสมัยหลังก็เริ่มกลับมาโชว์ส่วนเว้ามากขึ้น หรือการนิยมผู้ชายมีนวดมีเคราหนๆ มาเป็นเกลี้ยงเกลา และอื่นๆ ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวประพฤติของคนในกลุ่มไปในทิศทางที่มุ่งพัฒนาความสมบูรณ์ของร่างกายไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้


[1] ลิงขนาดใหญ่ไม่มีหางที่ว่าแบ่งออกเป็น 4 ชั้น (Genera) ประกอบด้วย ชิมแปนซี(Chimpanzee) อุรังอุตัง(Orangutan) กอริลล่า(Gorilla) และชะนี(Gibbon) สัตว์ประเภทนี้ถูกเรียกว่า Anthropoid หรือสัตว์คล้ายคน (Sub-human) เพราะมีลักษณะบางอย่างใกล้เคียงกับมนุษย์  แต่มีเพียงชิมแปนซี กับกอริลล่า เท่านั้นที่รูปร่างเหมือนคนมากที่สุด  ทั้งอวัยวะ โครงกระดูก และลักษณะของสมองที่เหมือนมนุษย์แต่มีขนาดเล็กกว่าเท่านั้น รวมทั้งประสาทการฟัง การดมกลิ่นและสายตา มีความเหมือนมนุษย์มากที่สุด จึงทำให้มีนักวิชาการบางกลุ่มมองว่าลิงพวกนี้เป็นญาติหรือมีเชื้อสายเดียวกับมนุษย์เราปัจจุบัน หรืออาจเป็นบรรพบุรุษของเราก็ได้ (Divergent lines of Evolution)

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...