วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง


ความรู้และอำนาจ : ภาพสะท้อนความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมในระบบสุขภาพไทย
        ศึกษาผ่านกรณี ผู้ติดเชื้อ แรงงานข้ามชาติและชาวนาอีสานในสังคมไทย
                                                                                              โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล
                                              
บทนำ
การศึกษาระบบวัฒนธรรมสุขภาพคือการศึกษาถึงวิธีคิดเกี่ยวกับความเจ็บไข้ได้ป่วยและการเยียวยารักษาโรค โดยนักมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งที่ได้ศึกษาความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมสุขภาพ (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ 2549:15) การนำเสนอประเด็นในการศึกษาดังกล่าวของนักมานุษยวิทยาสะท้อนผ่านการถ่ายทอดงานเขียนทางวัฒนธรรม เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะมิติทางด้าน เศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมรวมถึงเรื่องของสุขภาพ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าตัวงานเขียนของนักมานุษยวิทยาและปรากฏการณ์ที่นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษาล้วนมีความสัมพันธ์กับเรื่องของความรู้และอำนาจอย่างแนบแน่น โดยเฉพาะความเกี่ยวข้องกับเรื่องของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความรุนแรงวัฒนธรรมและการตอบโต้ต่อรองกับความรุนแรงดังกล่าวที่เข้ามากระทำกับร่างกาย มุมมองและความคิดในเรื่องสุขภาพของผู้คนในบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่พวกเขาศึกษา
บทความชิ้นนี้ต้องการนำเสนอ ภาพสะท้อนของความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมในระบบสุขภาพไทย ผ่าน 3 กรณีตัวอย่าง คือ 1.เรื่องของเกลือไอโอดีน กับวาทกรรมสุขภาพ ที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาเรื่องการขาดสารไอโอดีนกับการสร้างความรู้เรื่องสุขภาพที่สัมพันธ์กับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือในภาคอีสาน 2.เรื่องของผู้ติดเชื้อ เอชไอวี กับการเข้าถึงบริการสุขภาพและการตีตราของคนในสังคม โดยยกกรณีศึกษาเรื่องราวของเครือข่ายผู้ติดเชื้อบางคนในจังหวัดอุดรธานี  3.เรื่องแรงงานข้ามชาติกับการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพในพื้นที่เขตบางแค กรุงเทพฯ ดังนั้นบทความชิ้นนี้ได้พยายาม ใช้แนวคิดหลักที่สำคัญเป็นกรอบในการศึกษาและวิเคราะห์คือ 1.ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรม 2.ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และอำนาจ   3.การตอบโต้และต่อรองกับความรุนแรง ที่จะช่วยให้เข้าใจ สภาวะความเจ็บป่วยที่เป็นสิ่งสร้างทางสังคมและทางวัฒนธรรม ที่สัมพันธ์กับการสร้างการรับรู้และประสบการณ์ของความเจ็บป่วย รวมทั้งความรู้ทางการแพทย์ที่ทำให้สิ่งเหล่านี้ได้รับการยอมรับในสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างมิติทางสุขภาพกับนโยบายการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง

 แนวคิดเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
             โจฮัน กัลตุง (Johan Galtung) นักคณิตศาสตร์และนักสังคมวิทยาชาวนอร์เวย์ ผู้วางรากฐานการศึกษาด้านสันติภาพและความขัดแย้ง เขาได้จัดตั้งสถาบันวิจัยสันติภาพที่มหาวิทยาลัยออสโล และเป็นผู้อำนวยการสถาบันแห่งนี้ตั้งแต่ปีค.ศ.1959-1970 เขาได้นำเสนอแนวความคิดเรื่อง ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) ที่สั่นคลอนวิธีคิดแบบเดิม รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์งานศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสันติภาพและความขัดแย้งในสังคม ซึ่งมีอิทธิพลต่อแวดวงการศึกษาวิจัยในประเด็นเรื่องความขัดแข้งและสันติภาพในปัจจุบันอย่างมาก แนวคิดของ โจฮัล กัลตุง นำเสนอภาพของการเอาเปรียบทางสังคม (Exploitation) อันส่งผลให้คนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “Topdogs” มีอำนาจเหนือคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ถูกเอาเปรียบ “Underdog” และทำให้สังคมมีโครงสร้างและสร้างสถาบันที่พยุงสถานะของความเหนือกว่านั้นไว้ รวมทั้งปล่อยให้ผู้คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบดำรงชีวิตอยู่ในสภาพที่ทุกข์ทรมานไร้ทางออก (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬา:2546,49) ในช่วงปีค.ศ. 1990 เขาได้นำเสนอแนวความคิดเรื่องความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (Cultural Violence) เพื่อขยายขอบเขตความคิดของความรุนแรงในเชิงโครงสร้างที่เป็นความรุนแรงที่ถูกสร้างภายในโครงสร้างของสังคมนั้น โดยผูกโยงกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับระบบอำนาจในสังคมที่แสดงออกมาให้เห็นความแตกต่างของตำแหน่งแห่งที่ในสังคมและกลายเป็นความแตกต่างทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันจนกระทั่งเกิดสิ่งที่เรียกว่าความอยุติธรรมทางสังคม ดังเช่น การพัฒนาที่สร้างปัญหาให้กับคนยากจนทุกข์ยาก การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดจากโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร :2539,7) และความรุนแรงในทางตรงที่เป็นเรื่องของความรุนแรงที่มีตัวตนจับต้องได้  เช่น การทำสงคราม การทำปฏิวัติรัฐประหาร ฆาตกรรม เป็นต้น โดยเฉพาะความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่ช่วยค้ำจุนสนับสนุนความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้างให้สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องของความเชื่อ ค่านิยม และระบบสัญลักษณ์ที่เป็นการให้ความหมายต่อสิ่งต่างๆในสังคมและใช้ตัดสินใจ หรือกำหนดทิศทางของความรุนแรงเชิงโครงสร้างและทางกายภาพได้ (Johan Gultung : 1996,103) ดังนั้นอาจกล่าวได้ง่ายที่สุดว่า ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม เป็นฐานค้ำจุนที่ทำให้ความรุนแรงโดยตรงมีความชอบธรรมและปรากฏให้เห็นรูปธรรมของความรุนแรงในชีวิตประจำวันของมนุษย์
                                                          Direct Violence


                     Structural violence                          Cultural violence


ภาพสามเหลี่ยมของความรุนแรง โดยมีความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมเป็นฐานสำคัญ
ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง คือเรื่องของความรู้และอำนาจ
ในหนังสือ Archaeology of Knowledge ฟูโกกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่า “Statement” หรือสิ่งที่ถูกพูดถึง(รวมทั้งการพูดและการเขียน) ที่แสดงให้เห็นการทำงานของระบบภาษา โดยการปฏิบัติการของวาทกรรม ซึ่งมนุษย์ถูกกำกับและกำหนดด้วยวาทกรรมต่างๆที่ครอบคลุมอยู่รายรอบการดำรงชีวิตของพวกเขา ว่าเขาจะพูด สื่อความ แสดงออกซึ่งความรับรู้และเข้าใจของเขาต่อสิ่งต่างๆได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ได้ปรากฏและเปิดเผยตัวมันเองในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ปัจจุบัน  ที่สะท้อนว่าภาษาได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการปฏิบัติของมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน เพราะภาษาเป็นสิ่งที่ผลิตความรู้ ถือเป็นการเชื่อมต่อความคิดดังกล่าวของฟูโก ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความรู้ เช่นเดียวกับที่เขาบอกว่า ไม่ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่อยู่นอกเหนือการประกอบสร้างของสนามหรือพรมแดนแห่งความรู้ (Foucault :1979, 27 ,Visker:1995,57 Deleuze:1986,39 )
ความคิดดังกล่าวแสดงให้เห็นการเคลื่อนตัวของแนวความคิดเรื่องของปฏิบัติการของวาทกรรมและสิ่งที่ไม่ใช่ปฏิบัติการของวาทกรรม หรือสิ่งที่อยู่ภายนอกวาทกรรม (Discursive and Non- Discursive practices) มาสู่เรื่องของอำนาจ และความรู้  และเมื่ออำนาจสัมพันธ์กับความรู้ การขยายตัวของความรู้คือการขยายตัวของอำนาจแห่งวาทกรรม (Visker:1995,67) ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ของอำนาจไม่สามารถแยกตัวเองออกจากระบอบของความรู้  (Regime of Knowledge) ที่ถูกทำให้มีลักษณะเฉพาะโดยการปฏิบัติและการสร้างความเป็นไปได้ของวาทกรรม ความต้องการสร้างความรู้ ขยายความรู้ และสร้างความเป็นไปได้ของความรู้หลักในสังคม
ดังนั้นการทำความเข้าใจและศึกษากระบวนการทางอำนาจจึงต้องทำงานไปพร้อมกับการวิพากษ์อำนาจไปพร้อมกันด้วย คำถามเกี่ยวกับอำนาจจึงไม่ใช่การถามว่าอำนาจคืออะไรและอำนาจมาจากแหล่งใด แต่ควรที่จะถามว่า อำนาจถูกปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้เรามองเห็นลักษณะของอำนาจและเข้าใจวิธีการหรือกระบวนการทำงานของอำนาจ (Deleuze,1986;71)
ด้วยลักษณะของอำนาจที่เป็นทั้งเรื่องของการผลิตสร้างและการควบคุม ดังนั้นการทำงานของอำนาจจึงทำงานไปพร้อมกันสองส่วน คืออำนาจผลิตความจริง และสร้างความรู้มุมมองในเรื่องต่างๆของเรา ก่อนที่จะบีบบังคับควบคุมอยู่เหนือตัวของเราทั้งในแง่ความคิดและการใช้ชีวิต (อ้างจาก Deleuze ,1986;29)  นั่นก็คืออำนาจเป็นสิ่งที่ถูกผลิตและบีบบังคับในช่วงเวลาเดียวกัน อำนาจจึงทำงานไปพร้อมกับการผลิตความรู้ความจริง เมื่อเรารับรู้เข้าใจต่อเรื่องนั้นๆ เราก็ตกอยู่ภายใต้ขอบเขตของอำนาจนั้นไปพร้อมกันด้วย
ดังนั้นเราจะเห็นการต่อสู้ระหว่างกันของอำนาจที่ผ่านกระบวนการผลิตสร้างความรู้ ดังที่ฟูโก มองว่า ความรู้เป็นผลผลิตของอำนาจ ที่ปิดบัง สกัดกั้น หรือเบียดขับ ความรู้ย่อยๆให้อยู่ภายในขอบเขตของความไม่น่าเชื่อถือ และไม่ถูกยอมรับ  ซึ่งฟูโกต้องการให้ความรู้เหล่านั้นเปิดเผยและแสดงตัวตนออกมาจาการถูกขุมขัง การถูกกำหนดจากวาทกรรมที่ได้รับการยอมรับในสังคม นั่นคือสิ่งที่ฟูโกเน้นย้ำถึงการต่อต้าน การต่อรอง การขัดขืน และมองอำนาจในลักษณะหมุนเวียนอยู่ในสังคม อำนาจเป็นเรื่องของการช่วงชิงความหมายและการสถาปนาความรู้ชุดอื่นๆขึ้นมาตอบโต้ต่อรองกับวาทกรรมกระแสหลักของสังคม โดยเฉพาะกรณีศึกษาที่นำเสนอในบทความชิ้นนี้ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมในเรื่องของสุขภาพและการเจ็บป่วยผ่าน ประสบการณ์การเคลื่อนไหวของชาวนาในภาคอีสาน ภาคเหนือที่ถูกมองว่าเป็นต้นตอปัญหาของภาวะทุพโภชนาการ การขาดสารไอโอดีน การมีสติปัญญาต่ำกว่าปกติ หรือกรณีผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ที่ไม่ยอมบอกว่าตัวเองเป็นโรคเอดส์เพราะสายตาและการปฏิบัติต่อคนในสังคมที่ตีตราพวกเขาในภาพลักษณ์ของผู้ป่วยโรคเอดส์ สุดท้ายแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยที่เป็นชายขอบของความรู้และอำนาจ ที่ทำให้เขาถูกเอาเปรียบและเข้าไม่ถึงบริการและสิทธิต่างๆที่พึงได้รับในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่จะทำให้เราเข้าใจปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมในสังคมไทยปัจจุบันมากขึ้น ดังกรณีศึกษาต่อไปนี้
1.เกลือไอโอดีนและวาทกรรมโรคเอ๋อกับการถูกทำให้เป็นประเด็นปัญหาสุขภาพ
จากกรณีวันที่ 21 กันยายน ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดงานรวมพลังสร้างชาติแม่และเด็กไม่ขาดไอโอดีน  จุดสำคัญของงานดังกล่าวคือพิธีการลงนามข้อตกลงหรือMOUระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับชมรมผู้ประกอบการเกลือไอโอดีนภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ เพื่อให้เด็กไทยมีสุขภาพแข็งแรงพร้อมทั้งประกาศเจตนารมณ์ส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์และเด็กให้ได้รับไอโอดีนที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ โดยถือว่าเป็นกลยุทธ์ในการเสริมสร้างสติปัญญาเด็กไทยให้เฉลียวฉลาดและเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพและมีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การที่นายวิทยา บูรณพงษ์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข อ้างอิงถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องเกลือบริโภค ว่า กฎหมายได้มีการกำหนดให้เกลือบริโภคทั้งคนและสัตว์ทุกชนิด ต้องเป็นเกลือเสริมไอโอดีน โดยให้เกลือบริโภคต้องมีปริมาณเกลือไอโอดีน 20-40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม รวมทั้งสร้างศูนย์การเรียนรู้ผลิตเกลือไอโอดีในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากกรณีดังกล่าวข้างต้นผู้เขียนพยายามคิดและตั้งคำถามต่อสิ่งที่เรียกว่า “เกลือไอโอดีน” ว่าความรู้ในเรื่องนี้ของคนกลุ่มต่างๆให้ความหมายว่าคืออะไรบ้าง มีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังทั้งในแง่โครงสร้างทางความรู้และอำนาจ รวมทั้งการเชื่อมโยงประเด็นดังกล่าวกับมิติสุขภาพ มิติวัฒนธรรม มิติเชิงนิเวศวิทยาและมิติทางเศรษฐกิจและการพัฒนา รวมทั้งมิติทางการเมืองในแง่ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
            มุมมองของรัฐบาลในฐานะผู้บริหารประเทศ เป็นประเด็นเริ่มต้นที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอในบทความชิ้นนี้ เนื่องจากยุทธศาสตร์และนโยบายดังกล่าวสิ่งที่สะท้อนให้เห็นวาทกรรมหรือชุดความรู้และอำนาจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน ความเป็นพลเมืองของประเทศ ร่างกายหรือองค์อธิปัตย์ภายใต้การปกครองชุมชนแบบชีวญาณ การจัดการร่างกายในระดับจุลฟิสิกส์ของอำนาจ(Bio-Power/Microphysic of Power) ดังเช่นมุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องเกลือของรัฐกับของชาวบ้านในพื้นที่หนองหานกุมภวาปีที่เป็นแหล่งผลิตเกลือแบบพื้นบ้านที่มีความสำคัญในจังหวัดอุดรธานี
            ในขณะที่รัฐมองเรื่องเกลือไอโอดีนกับปัญหาทางด้านสุขภาพของคนไทยโดยเฉพาะภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่ในมุมกลับกันวิธีคิดของชาวบ้านจะมองเกลือที่ใช้แตกต่างจากสิ่งที่รัฐมอง เกลือมีมิติในเชิงวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับความเชื่อ กระบวนการผลิต การต้มเกลือ การถนอมอาหาร การทำปลาร้า และเป็นเครื่องปรุงอาหารประเภทต่างๆ ดังที่แม่ใจ ระเบียบโพธิ์ ชาวประมงบ้านอุ่มจานแห่งลุ่มน้ำหนองหานกุมภวาปีบอกว่า
“เกลือขายกะขาย เหลือกะขาย หมื่นละ 130 บาท  แม่ต้มเกลือ เอาเกลือมาทำปลาร้า แลกข้าวกิน ไม่ได้อึดข้าวกินสักครั้ง คนมาถามซื้อไปทำปลาร้าส่วนใหญ่”
ในแง่ของเกลือไอโอดีน สิ่งที่น่าสนใจคือ ชาวบ้านมองว่าเกลือดังกล่าวทำปลาร้าไม่ได้ กินไม่อร่อย และสามารถทดแทนได้ด้วยการรับประทานอาหารทะเลต่างๆ เช่น  กุ้งทะเล ปลาหมึก ปลาเค็ม ปลาทูนึ่ง ดังนั้นแม้ว่ารัฐบาลจะเข้าไปส่งเสริมหมู่บ้านไอโอดีน โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล(รพสต.)เข้ามาแจกเกลือถุงไอโอดีนสำหรับชาวบ้าน แต่ประเด็นปัญหาดังกล่าวชาวบ้านส่วนหนึ่งก็มองว่า ไม่ใช่ปัญหาสำคัญของพวกเขา พวกเขาไม่ได้เป็นโรคคอพอก เป็นคนโง่หรือปัญญาอ่อน(โรคเอ๋อ) ดังเช่นที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องด้านโภชนาการพยายามสร้างให้เป็นปัญหาสำคัญและนโยบายการพัฒนาเร่งด่วน ในขณะเดียวกันกลุ่มทุนผู้ผลิตเกลือสินเธาว์ในภาคอีสานก็ได้ส่วนแบ่งจากนโยบายดังกล่าวในการเร่งกระบวนการผลิตและเพิ่มพื้นที่ผลิตเกลือสินเธาว์เพื่อสร้างโรงงานเติมสารไอโอดีนลงในเกลือสินเธาว์ เพราะสัดส่วนของเกลือไอโอดีนส่วนใหญ่มาจากเกลือสินเธาว์มากกว่าเกลือสมุทรที่ปริมาณการผลิตลดลงและไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคเกลือไอโอดีน ซึ่งในภาตะวันออกเฉียงเหนือจะเห็นการเคลื่อนย้ายของนายทุนจากภาคตะวันออกเข้ามาทำการผลิตเกลือแบบต้มและตากมากขึ้น
ประเด็นสำคัญก็คือ ความสัมพันธ์ของการบริโภคเกลือไอโอดีนกับประเด็นเรื่องสุขภาพ ที่ถูกรับรองโดยสถาบันทางด้านสุขภาพของประเทศ คือ กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ผลักดันในเรื่องของเกลือบริโภค ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 153 (พ.ศ.2537) เรื่อง เกลือบริโภค ที่กำหนดให้เกลือบริโภคก็คือเกลือที่มีไอโอดีนเป็นส่วนผสม และใช้ปรุงแต่งอาหาร ที่จะต้องมีปริมาณไอโอดีนไม่น้อย30 มิลลิกรัมต่อเกลือ1 กิโลกรัม และให้ความหมายของเกลือบริโภคว่า
เกลือบริโภค หมายความว่า เกลือแกงที่ใช้ปรุงแต่งรสอาหารซึ่งบรรจุอยู่ในภาชนะที่พร้อมจำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค เกลือบริโภคต้องมีปริมาณไม่น้อยกว่า 30 มิลลิกรัมต่อเกลือบริโภค 1 กิโลกรัม
ดังนั้นเกลือบริโภคจึงมีความหมายถึงเกลือที่ผสมไอโอดีนและบรรจุในผลิตภัณฑ์เพื่อวางจำหน่าย ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ผูกขาดการผลิตจำนวนไม่มาก ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สำคัญก็คือ กรมอนามัยของกระทรวงสาธารณสุข  กับบริษัทอุตสาหกรรมเกลือบริสุทธิ์ จำกัด หรือบริษัทพิมายซอลต์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเกลือปรุงทิพย์ ที่ใช้ในการบริโภคและอุตสาหกรรมอาหารต่างๆโดยเป็นการนำเกลือสินเธาว์มาผสมสารไอโอดีน รวมถึงบริษัทรายย่อย ในพื้นที่ภาคอีสานอื่นๆที่นำน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมาต้มและตาก เพื่อผสมสารไอโอดีน เพื่อการบริโภค เช่น ในพื้นที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังได้ออกกฎหมาย เพื่อแยกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกลือบริโภค ออกเป็นสองระดับ คือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์เกลือบริโภค ที่มอก.2085/2544 และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกลือบริโภคบริสุทธิ์ ที่มอก.2086/2544 เพื่อจำแนกคุณภาพ และรูปแบบการผลิตเกลือบริโภคทั้งแบบเกลือผสมไอโอดีน และเกลือสมุทรที่มีสารไอโอดีนเป็นองค์ประกอบที่สูง ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้คนของต่อการบริโภคเกลือ และทำให้ธุรกิจเกลือสินเธาว์เข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากขึ้น และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ดินและน้ำในพื้นที่ทำการผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนาปลูกข้าวของเกษตรกรภาคอีสานในอนาคต
2.คนปกติ  คนป่วย ผู้ติดเชื้อ  คนเป็นโรคเอดส์กับวาทกรรมความเจ็บป่วย
            กรณีนี้มาจากสิ่งที่ผู้ศึกษาได้ลงไปพูดคุยกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อที่ทำหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้กับเครือข่ายเกี่ยวกับโรคเอดส์และเพศศึกษา ทำให้ได้เห็นแง่มุมของวิถีชีวิต การกลายเป็นผู้ติดเชื้อและการต่อสู้เพื่อหาพื้นที่ แสดงตัวตนของพวกเขากับคนในสังคม  ความน่าสนใจอยู่ที่เรื่องราวของการต่อสู้จากคนปกติ มาสู่ผู้ติดเชื้อ จากผู้ติดเชื้อไวรัสเอดส์มาสู่ผู้ติดเชื้อธรรมดา ซึ่งความรู้เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการใช้ชีวิตและการเปิดเผยตัวตนของผู้ติดเชื้อในพื้นที่สาธารณะเรื่องเล่าของพี่จัย (นามสมมติ)วัย 40 ปี ที่ทำงานเครือข่ายด้านเอดส์ในจังหวัดแห่งหนึ่งของภาคอีสาน จึงเป็นสิ่งสะท้อนได้ดีถึงประเด็นดังกล่าว  ตั้งแต่การใช้ชีวิตในวัยเด็กที่มีความแตกต่างจากเด็กผู้ชายทั่วไปเพราะพี่จัยมักจะเล่นกับผู้หญิงและมีลักษณะบุคลิกภาพโน้มเอียงไปในทางผู้หญิง ที่ชาวบ้านในหมู่บ้านเรียกว่าเป็นกระเทย จึงเป็นภาพลักษณ์ที่สัมพันธ์ต่อทัศนคติในเรื่องเพศ ไม่ใช่แค่บวชไม่ได้ แต่มีลักษณะการปฎิบัติผิดเพศยังสัมพันธ์กับจารีต ฮีต คองของชุมชนหมู่บ้านในสมัยนั้นด้วย ความเป็นกระเทยของพี่จัยจึงเป็นสิ่งที่ถูกตีตราเบื้องต้น ก่อนที่เมื่อพี่จัยเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จึงตัดสินใจออกจากชุมชนเพื่อไปใช้ชีวิตและหางานทำในกรุงเทพฯ จนกระทั่งประสบชะตากรรมติดเชื้อเอช ไอ วี และกลับมารักษาตัวอยู่กับครอบครัวที่บ้านเกิดในจังวัดอุดรธานี พี่จัยเล่าความหลังให้ผู้ศึกษาฟังว่า
“ประมาณปีพ.ศ.2547 เริ่มมีอาการป่วย ช่วงนั้นพี่จัยทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ  จึงกลับมาอยู่ที่บ้านไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ตอนแรกไปหาหมอ ก็ตรวจเลือด แต่ตรวจหาไม่เจอ จึงไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร แต่ก็กลับมาคิดทบทวนตัวเอง พฤติกรรมตัวเอง เมื่อครั้งทำงานที่กรุงเทพฯ เรารู้ตัวว่าเราพยายามSave ตัวเองตลอด เรื่องผิดพลาดไม่น่าจะมี เพราะเราใส่ใจ รู้ว่าตัวเองทำอาชีพนักร้องบางทีออกไปกับแขก แขกอ๊อฟออกไป เราก็ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน แต่คู่ของเรา เราไว้ใจเขา คู่ของเราไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย เราก้าวพลาดไป เราไปกับแขกก็ต้องป้องกัน พกถุงยางตลอด  เรายิ่งกลับมาคิดตึกตรองสิ่งที่ผ่านมา”
หลังจากพี่จัยรู้ตัวเองว่าติดเชื้อและไปนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ก็พยายามต่อสู้กับโรคดังกล่าวท่ามกลางการไม่ยอมรับของคนในชุมชนด้วยความเชื่อว่า โรคดังกล่าวเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ โรคเอดส์ ความสำส่อนและที่สำคัญคือพฤติกรรมที่ผิดเพศ แต่ครอบครัวของพี่จัยก็ให้กำลังใจในการต่อสู้กับโรคร้าย จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้ามาทำงานเครือข่ายด้านเอดส์เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับตัวเองและเพื่อนที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับตัวเอง
การไม่ยอมรับของคนในชุมชนนำไปสู่การเปิดเผยตัวเองของผู้ติดเชื้อในระดับที่แตกต่างกันตั้งแต่วงที่แคบไปจนถึงวงที่กว้าง ตั้งแต่พื้นที่ส่วนตัวถึงพื้นที่สาธารณะ เช่นเดียวกับเพื่อนของพี่จัยบางคนที่เลือกตัดสินใจเปิดเผยตัวเองกับครอบครัว บางคนเปิดเผยตัวเองในระดับเครือข่ายผู้ติดเชื้อด้วยกันเอง บางคนกล้าที่จะเปิดเผยตัวเองต่อชุมชนตัวเอง หรือชุมชนรอบข้าง หรือบางคนเก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวเองไม่กล้าบอกคนอื่นเพราะกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อตัวเองและครอบครัว อันเกิดจากความรุนแรงของการเลือกปฎิบัติหรือการถูกปฎิเสธจากสมาชิกอื่นๆในสังคมนั้น   เมื่อพวกเขาถูกมองว่าเป็น”โรคเอดส์” ในขณะที่ความต้องการของพวกเขาคือการทำให้สิ่งที่เรียกว่าโรคเอดส์หายไปจากตัวพวกเขาและหายไปจากการรับรู้ของคนในสังคม โดยผ่านกระบวนการเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงยาต้าน ดังเช่นพี่จัยเล่าว่า
“การคุยกันในช่วงนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องยาที่ยังไม่เข้าสู่หลักประกันสุขภาพ พี่น้องเครือข่ายไปชุมชนประท้วง เรียกร้องสิทธิของพวกเขา เพื่อบางคนเข้าไปผลักดัน  ให้เกิดการเรียกร้องสิทธิตั้งแต่รุ่นกินคางคก และเสนอให้ยาต้านเข้าสู่หลักประกันสุขภาพ ให้เข้าถึงผู้ติดเชื้อทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม บางคนเสียชีวิต ล้มหายตายจากไป จากเมื่อก่อนที่เราไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้ คุยกับหมอ ที่บางคนไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นอะไร ลำบากแค่ไหน เพื่อนเราเจออะไรมาบ้าง ทำไมเขาต้องออกมาเรียกร้องอย่างนี้  ในช่วงแรกที่มีโควตา มีการจับฉลากว่าใครจะได้กิน ไม่ได้กินและต้องรอไปก่อน  ทำให้เราเริ่มตระหนักถึงคุณค่าของสิทธิ การดิ้นรนที่จะให้ได้ยา ยาเป็นสิ่งที่ค่ากับเรา กว่าจะได้มา เพื่อนที่ร่วมต่อสู้ต้องเสียชีวิตจากกันไป เพราะโรคเหล่านี้พรากชีวิตไปก่อน ถ้าได้ยาเราก็จะไม่เป็นเอดส์”
ดังนั้นการได้รับยาต้านไวรัสจึงไม่ใช่การทำให้โรคเอดส์หายไปจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ แต่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง และที่สำคัญยังทำให้คำพูดที่คนในสังคมตีตราพวกเขาเกี่ยวกับโรคเอดส์ก็จะลดน้อยลงไปด้วย  สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าการเรียกร้องการเข้าถึงยาต้าน ในอีกด้านหนึ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้เป็นโรคเอดส์ แต่เป็นผู้ติดเชื้อ (ไวรัสเอชไอวี) นั่นคือสุขภาพของพวกเขายังสมบูรณ์แข็งแรง (Healthy) ไม่ใช่การเป็นคนป่วยหรือคนเป็นโรค(Illness) ดังเช่นที่พี่จัยสะท้อนให้ฟังว่า
“หลายคนได้กินยาต้าน ร่างกายเขาก็ไมแตกต่างจากคนปกติ เขาก็ไม่บอกใครว่าเขาเป็นเอดส์ หรือแม้แต่บอกว่าเป็นผู้ติดเชื้อ เพราะเขาคิดว่าเขาเหมือนคนปกติ เขาไม่ได้เป็นคนป่วย ร่างกายไม่ผอม หมองคล้ำและไม่มีตุ่มตามตัว พวกเขาแข็งแรงเหมือนคนปกติ”
ดังนั้นความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงกายภาพที่เกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อจึงเป็นความรุนแรงที่เกิดจากภาพลักษณ์ของคนที่เป็นโรคเอดส์ในการรับรู้เข้าใจของคนทั่วไปคือ ร่างกายที่ซูบผอม ผิวดำซีด มีตุ่มขึ้นตามร่างกายที่สามารถรับรู้และเห็นได้จากภายนอก ที่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากความรู้ ความเชื่อ การให้ความหมายต่อผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเปิดเผยตัวเองต่อสาธารณะและเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่อาจส่งผลกระทบตามมากับตัวเขาเอง ครอบครัวและญาติพี่น้องของเขาในอนาคต ดังเช่นพี่จัยที่เลือกจะเปิดและแสดงตัวตนกับบางคน บางกลุ่มและบอกคนอื่นว่าตัวเองไม่ได้เป็นเอดส์เป็นแค่ผู้ติดเชื้อที่มีเลือดแตกต่างจากคนปกติเท่านั้นเองที่สำคัญคือ เขาสามารถที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน
3.แรงงานต่างด้าว ชายขอบและการเข้าไม่ถึงความรู้และอำนาจ
            ผู้ศึกษาได้มีโอกาสลงไปเก็บข้อมูลที่ชุมชนหลังตลาดบางแค ที่เป็นย่านตลาดซึ่งมีสามตลาดอยู่ติดกันตั้งแต่ฝั่งคลองราชมนตรีมาจนถึงห้างวันเดอร์ฟูลที่เป็นห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ในย่านนั้น ด้านหลังจะมีตลาด ท่ารถและมีตึกอาคารพาณิชย์แบ่งให้เช่า โดยซอยแบ่งเป็นห้องๆให้แรงงานต่างด้าวทั้งชายและหญิงเข้ามาอาศัย  ส่วนใหญ่จะเป็นคนมอญ มีคนพม่าอยู่กันเป็นส่วนน้อย และส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างในตลาดทั้งขายของและเข็นของส่งแม่ค้าและผู้ซื้อของในตลาด ผู้ศึกษาได้พบกับชายหนุ่มชาวยะไข่ ที่มาจากเมืองเมียวดี ชื่อเล่นว่าเอ็ม  อายุประมาณ 27 ปี เขาดูเป็นแรงงานข้ามชาติที่แต่งตัวดีมากที่สุดในละแวกนี้ ใส่สูทผูกเน็คไท สะพายเป้สีดำ ผู้ศึกษาพบว่า เขาเป็นเซลล์ขายสินค้าของบริษัทซูเลียนประเทศไทย ที่ขายสินค้าให้กับเพื่อนแรงงาน ทั้งเครื่องดื่มสำเร็จรูป สบู่ ยาสีฟัน และอื่นๆ สิ่งที่สะดุดตาไม่ใช่การแต่งกายของเขาเท่านั้น แต่เป็นมือข้างซ้ายของเขาที่นิ้วหายไป 4 นิ้ว ผู้ศึกษาจึงได้ถามเขาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับมือของเขา คำตอบที่ได้จากเอ็มทำให้ผู้ศึกษาหยุดนิ่งไปครู่หนึ่งและเริ่มตั้งคำถามต่อเรื่องของแรงงานต่างด้าว สุขภาพและความยุติธรรมในสังคม เอ็มเล่าให้ฟังว่า
            “ผมมาจากเมืองเมียวดี ทิ้งแม่และน้องอยู่ที่นั่น เพราะต้องการมาเผชิญโชคในเมืองไทย ผมมาตั้งแต่อายุ 22 ปี ตอนนี้ 5 ปีแล้ว ยังไม่ได้กลับบ้าน เข้ามาทางแม่สอดจังหวัดตาก และเข้ามาอยู่ที่สมุทรสาคร แถวมหาชัย ย้ายโรงงานบ่อยมากในช่วงแรก เพราะไม่มีบัตร  จนกระทั่งมาบริษัทสุดท้ายก่อนลงมากรุงเทพฯเป็นโรงงานอาหารทะเล นายจ้างไม่จ่ายค่าแรง 3 เดือนกว่า เขายึดบัตรไว้หมดทั้งประกันสังคม ผมไม่ไหวเลยออกมาและเข้ากรุงเทพฯ ร่วมกับเพื่อนๆ4-5 คน มาหางานทำแถวบางบอน บางขุนเทียน ได้เข้ามาโรงงานทำกระดาษ จนกระทั่งช่วงก่อนน้ำท่วมกรุงเทพฯผมเจออุบัติเหตุ ที่รีดกระดาษดูดมือเข้าไป ทำให้ผมสูญเสียนิ้วมือไป 4 นิ้ว ช่วงเกิดอุบัติเหตุใหม่ๆนายจ้างก็เข้ามาดู แต่ให้เงิน 5,000 บาทแล้วก็หายไปเลย บัตรประกันสังคม บัตรต่างๆอยู่กับนายจ้างหมด ผมไม่รู้จะทำยังไง กลับบ้านก็ไม่ได้ ไม่กล้าบอกทางบ้านกลัวแม่พ่อเป็นห่วง” นี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เอ็มมาทำงานขายนี้ในปัจจุบัน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือในเรื่องของแรงงานข้ามชาติจากข้อมูลของทีดีอาร์ไอในปี พ.ศ. 2554  พบว่า ประเทศไทยมีแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศเพียง 0.26 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดของประเทศ เนื่องจากสถานะของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกิจไทยเปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นผู้ส่งออกแรงงานกลายเป็นผู้นำเข้าแรงงานขนาดใหญ่ จากข้อมูล ของสำนักบริหารงานแรงงานต่างด้าวที่ทำการสำรวจแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานทั่วราชอาณาจักร เมื่อเดือนมีนาคม 2554 พบว่ามีจำนวนถึง 912,624 คน โดยเฉพาะแรงงานสามสัญชาติคือ ไทย พม่า และลาว ที่เป็นแรงงานระดับล่างหรือไร้ฝีมือ ซึ่งสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องแรงงานข้ามชาติ ทั้งการจัดระเบียบ การควบคุมแรงงานที่ผิดกฎหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์  เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เพียงปัญหาในระดับนโยบายการพัฒนาประเทศเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากอคติและมุมมองที่คนในประเทศมีต่อคนกลุ่มน้อย ซึ่งจะต้องปรับทัศนคติและมุมมองใหม่เกี่ยวกับแรงงานเหล่านี้ โดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันและความสำคัญของแรงงานเหล่านี้ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้เข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างแท้จริง และสร้างความคิดเกี่ยวกับแรงงานใหม่ว่าแรงงานเหล่านี้ไม่ใช่แรงงานต่างด้าวที่อิงกับความคิดเรื่องแรงงานผิดกฎหมาย อาชญากรรม โรคระบาด แต่เป็นแรงงานอาเซียนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียน
บทส่งท้าย
จากรณีตัวอย่างข้างต้นเราจะเห็นความสัมพันธ์ของภาพลักษณ์และความคิดทางวัฒนธรรมที่สร้างชุดความรู้สำหรับการรับรู้ของคนในสังคมต่อกลุ่มคนเหล่านี้ ทั้งในแง่ของผู้ติดเชื้อ ที่ดูน่ากลัว ตัวแพร่เชื้อโรคร้าย หรือคนน่าเกียจ ภาพลักษณ์ของความน่ากลัวของเขา มาจากตุ่มฝีที่เกิดตามร่างกาย ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของสิ่งที่เรียกว่าโรคเอดส์ในความเข้าใจของคนในสังคม โดยองค์กรด้านสุขภาพและสาธารณสุขเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้ถึงสิทธิความเป็นมนุษย์และการเข้าถึงยาต้านที่จะทำให้เขาเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ติดเชื้อไม่ใช่ผู้ป่วยโรคเอดส์และอยู่ในสังคมได้เหมือนคนปกติ หรือภาพลักษณ์ของแรงงานต่างด้าว ที่มาพร้อมกับความคิดเรื่องความน่ากลัว ปัญหาอาชญากรรม โรคระบาด ที่เชื่อมโยงกับภาวะของการเข้ามาที่ถูกกฎหมายกับผิดกฎหมาย ที่ความเป็นแรงงานต่างด้าวถูกจัดการผ่านสถาบันและกลไกทางกฏหมาย แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายจึงเป็นแรงงานที่อยู่นอกชายขอบของอำนาจ และถูกกระทำจากนายจ้าง และระบบประกันสุขภาพของสังคมไทย ที่ตอกย้ำว่าพวกเขาไม่ได้ถูกปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์หรือเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ที่นำไปสู่การไม่ได้รับความยุติธรรมทางสังคมและการถูกเลือกปฏิบัติ ดังนั้นนิ้วที่ขาดของเขาไม่ได้เป็นเพียงภาพสะท้อนความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานทางด้านร่างกายและจิตใจเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์และการถูกกระทำจากโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เรื่องของเขาไม่ถูกรับรู้และเป็นความรุนแรงที่ชอบธรรม สุดท้ายเรื่องของเกลือไอโอดีน ที่ไม่ใช่เพียงภาพลักษณ์ของชาวอีสาน ชาวเหนือที่ยากจน อยู่ไกลจากทะเล จนนำไปสู่ภาวการณ์ขาดสารไอโอดีน ที่นำไปสู่ภาวะโรคเอ๋อ ปัญญาอ่อนหรือโง่กว่าคนทั่วไปและนำไปสู่นโยบายการพัฒนาที่เป็นวาระแห่งชาติ การโยงเรื่องสุขภาพของประชาชน เข้ากับนโยบายการพัฒนาของรัฐและกลุ่มทุนจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจในสังคมปัจจุบัน ที่สวนทางกับความคิดของชาวบ้านระดับล่างที่มีมุมมองแตกต่างจากรัฐที่มองว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหา ความรุนแรงดังกล่าวจึงเป็นความรุนแรงที่เกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่ทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นปัญหาทางสุขภาพของชาวบ้าน แต่ในอนาคตสิ่งเหล่านี้ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือเติมไอโอดีนในอีสาน
หนังสืออ้างอิง(ภาษาไทย)
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
                2549 พหุลักษณ์ทางการแพทย์กับสุขภาพในมิติสังคมวัฒนธรรม กรุงเทพฯ:ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร
ชัยวัฒน์ สถาอนันต์
                2539 สันติทฤษฎี วิถีวัฒนธรรม กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โกมลคีมทอง
                2546  อาวุธมีชีวิต? แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน
Books and Articles
Deleuze Gillles
1988       Foucault. (Trans.)by Sean Hand.The university of Minnesota Press.
Dreyfus,L. Hubert and Rabinow paul
1982                   Michel Foucault : Beyond Structuralism and Hermerneutics With an   Afterword by Michel Foucault. Chicago : The University of Chicago Press.

Farmer Paul
                2002          “On Suffering and Structural Violence : A View from Below” The anthropology of politices. A reader in ethnography,Theory and Critique. (Ed.) by  Vincent Joan . Malden/Oxford,Blackwell,p.424-437.

Focault, Michel
1979           The Archaeology of  Knowledge and the Discourse on Language. (trans.)  by Alan Sheridan. New York:Pantheon Books.
Gultung Johan
                1996        Peace By Peaceful  Means : Peace and Conflict, Development and Civilization. Oslo : PRIO; London: SAGE.
                1990   “Cultural Violence ,” Journal of Peace Research .Vol.27No.3 pp.291-305.
Visker, Rudi
1995   Michel Foucault Genealogy as Critique.(Trans.) by Chris Turner.London: Verso.
                                                                                                                                                                       



Foucault กับการประยุกต์ใช้


การประยุกต์ใช้วิธีการแบบโบราณคดีของความรู้ (Archaeology of Knowledge)สู่การศึกษาแบบวงศาวิทยา(Genealogy)ของมิเชล ฟูโก (Michel Foucault) เพื่อเปิดพรมแดนทางความรู้และอำนาจ
                                                                                                 โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล
                                               





หนังสือสำคัญของมิเชล ฟูโก
            Madness and civilization  (พิมพ์ 1961 แปล 1965) ประวัติศาสตร์ของสิ่งที่เรียกว่าความบ้าในปัจจุบันไม่ใช่การมองวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของความบ้าจากอดีตถึงปัจจุบัน แต่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เรารู้จักว่าเป็นความบ้า ในปัจจุบันกลับมีสถานะต่างจากยุคก่อนๆ และผันแปรเป็นมาต่างๆกันอย่างไม่ต่อเนื่องเพราะ Discourse ที่ทรงอิทธิพลกว่า ครอบงำปริมณฑลที่ใช้อธิบายลักษณะที่เราเรียกว่า บ้าในปัจจุบัน
         ประวัติศาสตร์ยุโรปในยุคกลาง ลักษณะที่เราเรียกว่า บ้า ในปัจจุบัน ถูกถือว่า เป็นลักษณะของความพิเศษในเชิงศักดิ์สิทธิ์ คือ แหล่งสถิตของสัจจะของพระผู้เป็นเจ้า(การเข้าถึงความจริงหรือการเข้าถึงพระเจ้า เพราะพระเจ้าคือความจริง) ตอนปลายยุคกลาง ในราวศตวรรษที่ 16 ความบ้าถือเป็นภูมิปัญญาหรือญาณพิเศษแบบหนึ่งของมนุษย์ท่ามกลาง วาทกรรม ที่ถือกันว่า ภูมิปัญญาแบบที่ต่างไปจากปกติธรรมดา คือความเหนือธรรมดา เหนือผู้อื่น การมีในสิ่งที่ผู้อื่นไม่มี การเห็นพระเจ้า ได้ยินเสียงพระเจ้า(การที่คนบ้าพูดคนเดียว) สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมาให้ และเป็นแหล่งที่มาจากอาณาจักรไกลโพ้นมหาสมุทร
         ศตวรรษที่17-18 ยุคแห่งการปฎิวัติทางภูมิปัญญาที่ให้ความสำคัญและเชื่อมั่นในเหตุผลนิยมของมนุษย์ เหตุผลกลายเป็นแบบแผนของการคิดที่ถือว่าดีที่สุด ภายใต้วาทกรรมเช่นนี้ ความบ้าจึงเป็นสิ่งที่อยู่พ้นขอบเขตของความเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่อยู่ในซับเซตของเหตุผล(และความเป็นมนุษย์) ความบ้าถูกอธิบายว่าเป็นความไร้เหตุผล ไม่มีเหตุผลหรืออยู่นอกเหนือเหตุผล ( เรียกว่า Unreason แม้ว่าจริงๆแล้วคนบ้าหรือความบ้าก็อาจมีเหตุผลชุดหนึ่งของตัวเองที่แตกต่างจากชุดของเหตุผลของคนปกติ) แต่ในช่วงเวลานี้ความบ้ายังไม่ถูกถือว่าเป็นอาการป่วย คงเป็นเพียงลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจาก ความปกติ ดังนั้นคนบ้าจึงถูกควบคุมและดูแลปนไปกับพวกผิดปกติอื่นๆ เช่น ขอทาน อาชญากร
         ศตวรรษที่19 ความบ้าถูกจำแนกออกจากความผิดปกติอื่นๆ กลายเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่ง เพราะเกิดชุดความรู้หรือวาทกรรม (Discourse)ใหม่ที่เกี่ยวกับโรคทางจิตที่ไม่เคยมีมาก่อน ความบ้าถูกมองว่าเป็นความบกพร่องในพัฒนาการบางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจและสมอง แต่พวกเขาก็ยังเป็นคน ดังนั้นคนบ้าถูกถือว่าเป็นคนเช่นกันกับคนอื่นในสังคม  ที่เป็นผลมาจากวาทกรรมของพวกมานุษยนิยม (Humanism) สิ่งที่แตกต่างระหว่างคนบ้ากับคนปกติเป็นแค่เพียงการบกพร่องทางด้านชีววิทยา ดังนั้นจึงต้องได้รับการรักษาแบบเฉพาะ(จากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชและประสาท)และในที่เฉพาะของคนบ้า(โรงพยาบาลบ้า โรงพยาบาลจิตเวช)
         การค้นพบของซิกมันด์ ฟรอยด์ ในความก้าวหน้าของวิชาการด้านจิตวิเคราะห์ ทำให้ความบ้ากับความปกติไม่แตกต่างกันอย่างที่เคยคิดหรือเชื่อมาก่อนหน้า แต่ทว่าทั้งสองสิ่งมีลักษณะร่วมกันมากกว่าแตกต่างกัน ทำให้เราตระหนักว่า ความบ้า ไม่ใช่ Unreason หรือป่วย แต่เป็นเหตุผลอีกระบบหนึ่งที่แตกต่างจากคนอื่น ดังนั้นฟรอยด์จึงปลดปล่อยพวกเขาจากสถานกักกัน  แต่กระนั้นก็ตามความมีอิสระของพวกเขา(คนบ้า)มีได้ตราบเท่าที่พวกเขายังอยู่ภายใต้อำนาจหรือความรู้ของจิตแพทย์





ภาพการทรมานนักโทษผู้ผิดปกติจากมาตรฐานสังคม    ภาพคนบ้าที่มีสถานะศักดิ์สิทธ์ การติดต่อกับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ     ภาพเรือบรรทุกคนบ้าไปโยนทิ้งทะเล

        The Birth of Clinic (พิมพ์ 1963 แปล 1973)
        The Order of Thing (พิมพ์ 1966 แปล 1970)
ฟูโก เขียนประวัติศาสตร์ของวิชาความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ 3 แขนง คือ ชีววิทยา เศรษฐศาสตร์ และนิรุกติศาสตร์ ที่แสดงให้เห็นว่า แต่ละวิชาไม่ได้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในอดีตแต่อย่างใด ก่อนศตวรรษที่ 18 ไม่มีวิชาเหล่านี้ เพราะมนุษย์ไม่เคยเอาตัวเองเป็นวัตถุหรือหน่วยในการศึกษา มนุษย์วางตัวเองไว้ในฐานะองค์ประธาน (Subject) ของสิ่งต่างๆเสมอ
หนังสือถ้อยคำและสรรพสิ่ง (The Order of thing ) มุ่งหมายที่จะสืบค้นดูความเป็นมาของการสถาปนาศาสตร์ที่หันมาจัดวางมนุษย์ให้เป็นวัตถุแห่งการศึกษา ฟูโกเรียกวิธีการของเขาว่า โบราณคดีของความรู้ (Archeaology of knowledge) หรือการขุดค้นลงไปที่ชั้นของความรู้ (Layer of knowledge)เช่นเดียวกับเขาสำรวจชั้นของเอกสารต่างๆ (Archive) เพื่อค้นหาโครงสร้างความคิดของแต่ละยุคสมัย โครงสร้างดังกล่าวเรียกว่า กรอบทางความรู้ (Episteme) สิ่งเหล่านี้เรียกว่า เป็นเบ้าหลอมคำพูดและข้อเขียนในเรื่องต่างๆที่ไหลเวียนไปมาในสังคม ที่เรียกว่า วาทกรรม เป็นแหล่งอ้างอิงของผู้คนในยุคนั้นๆที่จะหยิบยื่นความหมายละคุณค่าของสรรพสิ่ง
ความรู้ของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยมีความแตกต่างกัน ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ กรอบความรู้อิงกับกรอบความคล้ายคลึง (La Ressemblance)ระหว่างสิ่งต่างๆ ศตวรรษที่17 และ18 ก็เกิดการตัดขาดในโลกความรู้ ความรู้แบบใหม่เกิดขึ้นมา เน้นการแยกแยะความแตกต่างระหว่างสรรพสิ่ง โดยอาศัยการชั่ง ตวง วัด และจัดประเภท(La Differance) ศตวรรษที่19 เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับสาเหตุ (La Cause)ไม่ใช่ อะไรแตกต่างจากอะไรแต่เป็น อะไรกำหนดให้เกิดอะไร
          ผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือ
1. ประวัติศาสตร์กลายเป็นกรอบแม่บททางความรู้ทั้งปวงในฐานะคำอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุ
2.มโนทัศน์เกี่ยวกับมนุษย์ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นวัตถุแห่งการศึกษา ในฐานะเป็นตัวการก่อให้เกิดโภคทรัพย์ สังคมและภาษา นี่คือ ที่มาของศาสตร์ที่ว่าด้วยมนุษย์ (Les Sciences Humaines) ซึ่งมนุษย์ดำรงตนในฐานะอัตบุคคลผู้กระทำและวัตถุที่ถูกกระทำ


      ภาพ Las Meninas  by Diego Valasquez
          จากภาพนำมาสู่คำถามว่า
         ใครกำลังมองใคร?
         เรามองภาพเขียน?
         ภาพเขียนมองเรา?
         จิตรกรมองคนที่เป็นแบบ?
         ใครมีอำนาจ?
         ใครเป็นSubject?
         ใครเป็น Object?
ความหมายของภาพ
ภาพดังกล่าวเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนระหว่างการปรากฏกับการไม่ปรากฏ สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่มองไม่เห็น ความหมายจึงเป็นเรื่องของการแทนที่สวมรอย ภาพจึงไม่มีศูนย์กลางเดียวและไม่ใช่วัตถุที่นำเสนอเพียงชนิดเดียว ความหมายจึงเป็นเรื่องของการกำลังจะเกิด ความหมายสุดท้ายที่ยุติเด็ดขาดยังมาไม่ถึง
วาทกรรมที่ปรากฏ
         วาทกรรมว่าด้วยการจ้องมอง (Gaze)
         วาทกรรมของภาพเขียน


การมองภาพทำให้เราตกเป็นวัตถุร่างทรงของวาทกรรมว่าด้วยภาพเขียน ในทำนองเดียวกัน วัตถุของภาพเขียน Las Meninas คือ พระราชา พระราชินี ที่เป็นเจ้าชีวิตในโลกของความเป็นจริงกลับถูกทำให้กลายเป็นวัตถุของวาทกรรมว่าด้วยภาพเขียน
ในขณะเดียวกันภาพเขียนไม่ได้มีความหมายที่หยุดนิ่งตายตัวรอให้คนมองค้นหา แค่คนมองทำปฏิสัมพันธ์กับภาพให้เกิดเป็นความหมายขึ้นมา เป็นปฏิสัมพันธ์ภายใต้การกำกับของวาทกรรมว่าด้วยภาพเขียน
          The Disappearance of man
          ปรากฏในหนังสือThe order of thing ในบทที่1 Las Meninas และบทที่3 Representing
บรรยายอากัปกริยาและตำแหน่งของตัวจิตรกรในภาพเขียนที่นำเสนอตัวเองปรากฏอยู่ พร้อมทั้งบรรยายให้รายละเอียดลักษณะขององค์ประกอบทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในภาพ ตำแหน่งแห่งที่ อาการของบุคคล ช่องว่าง ทิศทางแสงเงา รวมทั้งจินตนาการทางความคิดของเขาเองที่มีต่อเรื่องราวและโครงสร้างของภาพ(เชิงศิลปะการจัดวาง) นำเสนอความเป็นภาพนี้ออกมา
สรุปได้ว่า คนดู จิตรกรและภาพ ต่างเป็นSubject Object ซึ่งกันและกัน

        The Archaeology of Knowledge (พิมพ์ 1969 แปล 1972)
วิธีการศึกษาที่เทียบเคียงกระบวนการขุดค้นทางโบราณคดี แต่มีความแตกต่างกัน โบราณคดีศึกษาร่องรอยอารยะธรรมของมนุษย์จากซากวัตถุต่างๆที่กระจายอยู่ในอาณาบริเวณหนึ่งหรือวัฒนธรรมหนี่ง และโดยมากจะฝังตัวอยู่ในระดับชั้นดินต่างๆกัน ตามแต่อายุและความยาวนานของอารยะธรรม ณ ที่แห่งนั้น หลักฐานในแต่ละชั้นดิน เป็นผลผลิตเฉพาะยุคสมัยหนึ่ง จึงมีความสมบูรณ์ในตัวเองและเป็นอิสระจากหลักฐานยุคสมัยอื่นๆ แต่คำอธิบายเกี่ยวกับมนุษย์ต้องพิจารณาจากหลักฐานหลายยุคประกอบกันความรู้ต่างๆและตัวตนของมนุษย์ก็เป็นเช่นนั้น
ดังนั้นจะเข้าใจตัวมนุษย์ว่าประกอบขึ้นมาจากความรู้ได้อย่างไรและเข้าใจความรู้ว่าแประกอบขึ้นมาจาก Discourse ได้อย่างไร ก็ต้องใช้วิธีการ Archaeology
          Discourse ของฟูโก คือการดำรงอยู่ในเชิงระนาบต่างๆจำนวนมากมาย แต่ละระนาบมีความเป็นอิสระในตัวเอง หรือมีความเป็นมาและเวลาของตนเอง ดังนั้น Discourse เป็นเครือข่ายของ Possibility of Knowledge ที่ทำให้ Discourse ต่างๆสามารถประสาน บรรจบกันเป็นครั้งคราวเฉพาะสถานการณ์จนเกิดเป็น Discursive Practice และเกิดความหมายความรู้ขึ้น
Discourse ก็เหมือนวัตถุสิ่งของในชั้นดิน กล่าวคือ ก่อตัวขึ้นและดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขและดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แบบหนึ่ง แต่ละDiscourse มีความเป็นมาเฉพาะของตน เป็นผลผลิตของสภาวการณ์เฉพาะเจาะจง มีอายุเงื่อนไขของการดำรงอยู่หรือมีเวลาเฉพาะของตัวเอง
ประเด็นในหนังสือฟูโก ปฏิเสธ สิ่งที่เรียกว่าความดั้งเดิมเริ่มแรก การสรุปรวบยอดและความต่อเนื่อง ( Origin ,Total ,Continous ) ที่ดูเหมือนราบเรียบและเป็นปกติของสังคม



สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...