วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

. ความหมายของชาวไร่ชาวนา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 

1.ชาวไร่ชาวนาคือใคร What is A Peasant ?

          ชาวไร่ชาวนา ได้ถูกนิยามและให้ความหมายที่ค่อนข้างแตกต่างหลากหลาย ทั้งจากนักสังคมศาสตร์ นักมานุษยวิทยา นักรัฐศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่เชื่อมโยงความหมายของชาวนา เข้ากับระบบเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมวัฒนธรรม ทำให้เราเข้าใจความหมายชาวนาชาวไร่ ที่ชัดเจนและหลากหลายมากขึ้น เช่น

          วิทยากร เชียงกุล (2522:1) ให้ความหมายเกี่ยวกับชาวนา คือ คนที่มีอาชีพหลักในการทำนา พวกเขาอาจทำอย่างอื่น  เช่น ปลูกพืชไร่หรือไม้ยืนต้น เลี้ยงสัตว์ จับปลา  ทำงานฝีมือ หรือรับจ้าง แต่อาชีพหลักหรือรายได้หลักของเขามาจากการทำนา พวกเขาก็ยังเป็นชาวนา(รวมถึงพวกกึ่งชาวนา และกึ่งเจ้าของที่ดิน)

          Michael Lowy (1981: 210) บอกว่า ชาวนาเป็นองค์ประกอบของสังคมที่ใหญ่ที่สุดในกระบวนการปฏิวัติ อย่างน้อยที่สุด ก็จนกระทั่งถึงช่วงของการยึดอำนาจรัฐ กล่าวคือ ชาวนาเป็นส่วนประกอบที่ใหญ่ที่สุดทั้งพรรคปฏิวัติ และกองทัพประชาชน

          ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (2527) บอกว่า ชาวนาเป็นนายตัวเอง เป็นผู้ผลิตขนาดเล็กอิสระ ที่ครอบครัวเป็นหน่วยการผลิต แล้วโยงเข้าด้วยกันโดยสมัครใจระหว่างกันเอง เป็นระบบชุมชนหมู่บ้าน ชาวนาไม่ใช่ลูกจ้าง ระบบชาวนาเป็นอีกระบบหนึ่งต่างหาก ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทุน

ดร.ธิดา สาระยา (2544:9) บอกว่า พวกที่ทำการเพาะปลูกทำนา ที่เรียกว่าเป็นชาวนานั้น หมายความรวมถึงพวกปฐมชนหรือที่เรียกว่า “Primitive” ด้วย ชาวนาโดยพื้นฐานแล้ว ผลิตเพื่อการดำรงชีพอยู่ ไม่มีส่วนเกินมากนัก แต่สังคมดั้งเดิมหรือสังคมชาวนาก็ยังเกี่ยวพันกับสังคมที่ใหญ่กว่าตลอดเวลา เช่น การแลกเปลี่ยนสินค้าหรือผลผลิตที่ตนผลิตได้กับคนภายนอก

จอร์จ โรสเซ็น (2519) บอกว่า ชาวนาคือคนพื้นเมืองที่อยู่ในชนบท และในการจัดระเบียบชีวิตที่ดำเนินมาเป็นเวลายาวนานของชาวนานั้นเมืองหลวงถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะมีความสัมพันธ์กับชาวนาในลักษณะของการพึ่งพา  ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองและศีลธรรม ชาวนามีผลผลิตที่ชาวเมืองต้องบริโภค และเมืองก็มีผลผลิตต่างๆของตัวเอง ซึ่งชาวนาได้รับจากโรงงานอุตสาหกรรมของเมือง รวมถึงการให้อำนาจเมืองในการควบคุมท้องถิ่นด้วย

Alfred Krober (1948:248) บอกว่า ชาวไร่ชาวนา (Peasant) เป็นส่วนประกอบหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรม  ที่มีความสัมพันธ์กับระบบตลาดของเมือง (Market Town)  และเป็นรูปแบบทางชนชั้นที่แยกตัวเองออกมาเป็นส่วนหนึ่งจากประชากรทั้งหมดที่ส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์กลางของเมือง พวกเขาเป็นชนชั้นที่ขาดอำนาจในการตัดสินใจทางการเมือง แต่มีอัตลักษณ์ที่เก่าแก่ มีการรวมกลุ่มกัน และมีความสัมพันธ์กับเรื่องของการเพาะปลูกโดยเฉพาะการปลูกข้าวเป็นสำคัญ

Robert RedField (1956:31) ชาวนาคือคนในชนบท (Rural People) ที่อยู่ในอารยธรรมเก่า ชาวนาเป็นผู้ซึ่งควบคุมการเพาะปลูกในที่ดินของพวกเขา สำหรับการดำรงชีพ หรือยังชีพของพวกเขา และมีวิถีชีวิตที่ยึดธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งอิทธิพลกับการติดต่อสัมพันธ์กับคนในเมือง (Town People) ที่มีวิถีชีวิตเหมือนพวกเขา แต่มีรูปแบบอารยะธรรมที่ทันสมัยกว่า

Firth (1946) บอกว่า ชุดคำของชาวไร่ชาวนา มีการอ้างอิงถึงระบบเศรษฐกิจขั้นปฐมภูมิ ที่หมายถึงการดำเนินชีวิต (livelihood) ที่สัมพันธ์กับดินและการเพาะปลูก รวมถึงผู้ผลิตในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวประมง (Fishermen) ช่างฝีมือชนบท (Rural Craftsman)

Eric Wolf (1966) ชี้ให้เห็นชาวไร่ชาวนา (Peasant) และความเป็นชาวไร่ชาวนา (Peasantry) เป็นประชากร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูก และการตัดสินใจที่เป็นอิสระในกระบวนการเพาะปลูก ดังนั้นการจัดแบ่งประเภท ถูกทำให้ครอบคลุมถึงเกษตรกรผู้เช่านา (Tenants) โดยการจ่ายค่าเช่าด้วยผลผลิต (Share Croppers) รวมถึงชาวนาที่มีที่ดิน และเครื่องใช้เครื่องมือเป็นของตัวเอง ตราบที่พวกเขาอยู่ในสถานภาพ ที่สามารถตัดสินใจได้ว่าพวกเขาจะผลิตพืชผลอะไรและอย่างไร

สำหรับความหมายของชาวนาในสังคมไทย ที่รวบรวมจากข้อเสนอและความคิดเห็นของนักศึกษารายวิชา 320218 (ปีพ.ศ.2550) มีดังนี้คือ

มองโดยยึดอาชีพ (Occupation)และโครงสร้างหน้าที่(Functional-Structural)

มองจากอัตลักษณ์ (Identity)

1. เป็นผู้ปลูกข้าว ทำนา ทำการเกษตร

1.ตัวดำ ผิวเสีย

2.ชาวนาเป็นผู้ผลิต

2.ไม่มี สง่าราศี

3.ทำอาชีพที่หลากหลาย ทำสวน ทำไร่

3.อยู่กลางแดด กลางท้องนา

4.อาชีพที่ไม่มีเกียรติ

4.รายได้น้อย ยากจน

5.คนที่มีที่ดิน มีนา

5.ไร้ความคิด ถูกจูงจมูกได้ง่าย

6.กระดูกสันหลังของชาติ

6.ความรู้น้อย

7.นับถือพระแม่โพสพ

7.ใช้แรงงานมาก

8.เป็นแรงงานขั้นพื้นฐาน

8.ไม่กระตือรือร้น

9.คนที่อาศัยอยู่ในชนบท

9.เรียบง่าย เฉื่อยชา

10.อยู่กับธรรมชาติ มีวิถีชีวิตเรียบง่าย

 

11.มีประเพณี วัฒนธรรมของตนเอง

 

12.มีความสัมพันธ์กับระบบการผลิตและกลุ่มคนอื่นๆ

 

13.เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง

 

14.สัมพันธ์กับวัฒนธรรมข้าว ภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

 

จากข้างต้นสรุปได้ว่า

          ชาวไร่ชาวนาคือผู้ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร รวมทั้งอาชีพอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคชนบท  ชาวไร่ชาวนาถือเป็นผู้ผลิตและแรงงานพื้นฐานที่สำคัญของสังคม  มีความสัมพันธ์กับที่ดิน มีประเพณี วิถีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติ  รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นๆ เช่นคนเมือง พ่อค้า โรงสี และเป็นฐานอำนาจทางการเมืองที่สำคัญของประเทศ

ลักษณะนิยามต่างๆเกี่ยวกับชาวไร่ชาวนาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ชาวไร่ชาวนาไม่ได้แยกตัวเองออกมาเป็นอิสระจากสังคมขนาดใหญ่ แต่สังคมของชาวไร่ชาวนา มีความสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆของสังคม โดยเฉพาะเมือง ที่เป็นเสมือนแหล่งกระจายผลผลิตทางการเกษตรของภาคชนบท รวมถึง การข้ามกรอบการมองชาวไร่ชาวนา ในความหมายกว้างกว่าเรื่องของอาชีพ  เกษตรกรหรือ ชาวนา เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างหน้าที่ และความสัมพันธ์ที่ชาวไร่ชาวนามีต่อระบบสังคมขนาดใหญ่และส่วนประกอบอื่นๆในสังคมเช่นเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมือง

2.ความแตกต่างระหว่าง Tribeman, Primitive, Peasant และ Farmer

2.1ชนเผ่าและกลุ่ม Tribeman / Band

          เป็นกลุ่มคน ที่อยู่ในสังคมแบบล่าสัตว์และเก็บอาหารป่า ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบอพยพเร่ร่อน มีลักษณะเป็นกลุ่มขนาดเล็ก  ไม่มีการจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคม การแบ่งแยกชนชั้น  มีความเท่าเทียม การแบ่งงานวางอยู่บนพื้นฐานทางด้านเพศและอายุ  ไม่มีเรื่องทรัพย์สินส่วนตัว ทรัพยากรธรรมชาติคือสมบัติร่วมกันของกลุ่ม ทุดกคนมีสิทธิ์หาและใช้สอยอย่างเสมอภาค มีการแบ่งปันอาหาร และทำงานเป็นทีม หัวหน้ากลุ่ม เป็นผู้นำไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจชี้ขาด แต่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย เจรจาต่อรอง ประนีประนอม ระหว่างกัน  เช่น เรื่องความขัดแย้ง การย้ายถิ่น

2.2 ชนกลุ่มดั้งเดิม Primitive

          เป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชาวไร่ชาวนา เพราะเป็นกลุ่มที่ยังชีพด้วยการล่าสัตว์ หาของป่า ไม่ได้มีการทำการผลิตและยึดติดกับพื้นที่ในการเพาะปลูก และไม่ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับคนภายนอกมากนัก ทั้งทางด้านการซื้อขายและแลกเปลี่ยน แต่ปัจจุบันในการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบางครั้ง มักเรียกสังคมชาวไร่นาว่าชนกลุ่มดั้งเดิม เพราะสังคมแบบล่าสัตว์และหาของป่าไม่มีเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน สังคมชาวไร่ชาวนาจึงเป็นสังคมดั้งเดิมที่ยังเหลือรอดอยู่ในปัจจุบัน

2.3 ชาวไร่ชาวนา (Peasant)

          ในความหมายนี้ ชาวนาที่เรียกว่า Peasant เป็นกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กับการเพาะปลูกและการตัดสินใจในการเพาะปลูก ว่าพวกเขาจะผลิตอะไร จะผลิตเพื่อใคร  โดยเป็นการผลิตเพื่อการยังชีพ ผูกพันกับที่ดิน และประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิม ชาวนาในสมัยก่อนและในปัจจุบันเป็นลักษณะดังกล่าว

2.4 ชาวนายุคใหม่ Farmer

          ในความหมายของ Farmer ชาวนาเป็นชาวไร่ชาวนาสมัยใหม่ ที่พัฒนามาจาก Peasants ในแง่ของการเป็นมากกว่าผู้ทำการเกษตร แต่เป็นทั้งช่างฝีมือ และพลเมืองในรัฐสมัยใหม่ (Elson: 1997)

          ดังนั้นคำว่าชาวไร่ชาวนาในความคิดของผู้เขียน จึงรวมลักษณะของทั้งPeasant   และ Farmer ในแง่ของชาวนาที่ทำการผลิตแบบพอยังชีพ ควบคู่กับการผลิตเพื่อการพาณิชย์ มีการติดต่อกับสังคมเมือง และสัมพันธ์กับรัฐสมัยใหม่ในฐานะเป็นพลเมืองของรัฐ ที่ต้องทำหน้าที่ทางการเมือง เป็นฐานคะแนนสำคัญของการเลือกตั้ง และเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐในเรื่องของผลผลิต การประกัน การจำนำผลผลิต และการพยุงราคาผลผลิตที่จะต้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ เป็นต้น

3.ลักษณะของการผลิตในสังคม

 3.1 การเปลี่ยนผ่านจากสังคมล่าสัตว์และหาของป่าHunter and Food Gathering เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์และเทคโนโลยีทางการผลิตชุมชนเหล่านี้จึงไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ เช่นแถบทะเลทราย แถบขั้วโลก แต่เขาสามารถหาอาหารจากสิ่งที่มีอยู่ธรรมชาติได้  เช่น พวกคอปเปอร์เอสกิโม ในแคนาดา ล่าแมวน้ำ (Maupok) เพื่อใช้ทำเป็นอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งการหาปลาใต้น้ำแข็ง  หรือล่ากวางคาริบู ในช่วงที่อากาศอบอุ่นเพื่อเป็นอาหารให้กับครอบครัว

          ชาวยิวารา ชนพื้นเมืองหนึ่งของประเทศออสเตรเลีย เดินทางอพยพร่อนเร่ (Nomadic) เดินทางไปเรื่อยไม่มีที่พักอย่างถาวร สร้างกระโจมด้วยไม้และหนังสัตว์ เพื่อสะดวกต่อการเดินทาง ซึ่งมักจะอพยพไปกันเป็นกลุ่ม (Band) ประมาณ 4-5 ครอบครัว  ในช่วงเช้าผู้หญิงจะเข้าป่าเก็บอาหาร พืชผัก ผลไม้ หัวเผือกหัวมัน ผู้ชายก็จะล่าสัตว์ เป็นต้น

3.2 การเปลี่ยนแปลงมาสู่กสิกรรมแบบหมุนเวียน ที่เริ่มจากการเพาะปลูกบนที่ดินแปลงเล็ก ใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ ใช้แรงงานสัตว์  อาจมีการพัฒนาระบบชลประทานแบบง่ายๆ เช่น ฝาย  การทำการเกษตรมักเป็นแบบโค่นและเผา Slash and Burn มีการหักล้างถางพง และปลูกข้าวไร่ โดยจะมีการหมุนเวียนเพาะปลูกไปเรื่อยๆ เนื่องจากที่ดินที่เพาะปลูกติดต่อกันหลายปี เริ่มขาดความอุดมสมบูรณ์ก็จะย้ายพื้นที่เพาะปลูกใหม่ จนเมื่อเวลาผ่านไปช่วงหนึ่งก็กลับมาที่เดิมอีก  ตัวอย่างเช่น ชาวจิวาโร (Jivaro) ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา  ที่อาศัยอยู่แถบเทือกเขาแอนดีส (Andes) รวมถึงชนพื้นเมืองกลุ่มต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย

          สิ่งที่น่าสนใจ ชุมชนเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียน อาจมีลักษณะของชุมชนล่าสัตว์และหาของป่าอยู่ด้วย  แต่ข้อแตกต่างคือชุมชนแบบนี้จะมีการใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่าแบบแรก คือ มีปืน มีฉมวก และมีมีดในการล่าสัตว์ไม่ใช่เพียงแค่การใช้เครื่องมือล่าสัตว์แบบง่ายอย่างหอกหรือคันธนูยุคแรก

3.3 การทำกสิกรรมแบบเข้มข้น (Intensive Agriculture)

          การทำกสิกรรมแบบเข้มข้นมีลักษณะที่แตกต่างจากสังคมเกษตรแบบหมุนเวียน คือการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและก้าวหน้ามากกว่า เริ่มมีการนำระบบชลประทานมาใช้ มีการใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิต มีการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์  มีการใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงานสัตว์ ส่วนใหญ่จะมีการใช้พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่นประเทศในแถบเอเชีย ลาตินอเมริกา อาจกล่าวได้ว่า การทำกสิกรรมแบบเข้มข้น เป็นระบบการผลิตที่พบเห็นในสังคมชาวไร่ชาวนา (Peasant Society)ในยุคปัจจุบันหรือในสังคมสมัยใหม่

3.4การเลี้ยงสัตว์ (Pastoralism)

          การเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อนเป็นวิถีการผลิตแบบพอยังชีพหรือเพื่อยังชีพ รูปแบบหนึ่งที่พบเห็นในสังคมหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยที่อาหารส่วนใหญ่ในสังคมที่มีวิถีการผลิตแบบเลี้ยงสัตว์นั้น ก็คือผลผลิตที่ได้จากสัตว์ที่เลี้ยงทั้งสิ้น เช่น ชาวบาสเสรี (Basseri)  ทางตอนใต้ของประเทศอิหร่าน ชาวมองโกลในแถบที่ราบสูงธิเบต มีการเลี้ยงม้า เลี้ยงแพะ เป็นชนกลุ่มหนึ่งซึ่งดำรงชีพด้วยการอพยพเร่ร่อนเพ่อเลี้ยงสัตว์ (Pastoral Nomads)ตามทุ่งหญ้าต่างๆ สัตว์เลี้ยงของกลุ่มคนเหล่านี้ประกอบด้วยแพะและแกะ  นอกจากนี้ก็มี ลา อูฐ เป็นต้น สัตว์เหล่านี้มีความสำคัญต่อการให้พลังงานและความอบอุ่น โดยเฉพาะนม สามารถมาทำโยเกิร์ตและเนย เป็นต้น

          สังคมทั่วโลกล้วนมีการผลิตในรูปแบบต่างๆข้างต้น แม้ในปัจจุบันเราก็ยังคงพบเห็นรูปแบบการผลิตเหล่านี้ในพื้นที่ต่างๆของโลก แม้ว่าบางสังคมจะพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่วิถีของการเกษตรกรรมก็ยังมีความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์ในประเทศต่างๆใช้บริโภค ถึงแม้จะผลิตเองไม่ได้เนื่องจากข้อจำกัดทางกายภาพภูมิศาสตร์ แต่ก็ยังต้องพึ่งพาผลผลิตของการเกษตร ในรูปของพืชผัก ผลไม้ โดยเฉพาะแป้งที่ใช้ทำขนมปัง น้ำนมที่ใช้ทำไอศกรีม เนยแข็ง โยเกิร์ต ขนมหวานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของมนุษย์บนโลก

4.1ชาวนาเช่นเดียวกับความล้าหลังในโลกสมัยใหม่

4.1.1 อิทธิพลของแนวคิดวิวัฒนาการสายเดียว

นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยา ได้จำแนกแยกแยะชาวไร่ชาวนาออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ชาวไร่ชาวนาแบบดั้งเดิมที่ใช้เครื่องมือในการผลิตแบบง่ายๆ ที่ไม่สลับซับซ้อน กับชาวไร่ชาวนาสมัยใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิต หรือชาวนาในประเทศตะวันตก กับชาวไร่ชาวนาในประเทศตะวันออก ดังเช่น คาร์ล มาร์ก เรียกระบบการผลิตของประเทศในแถบเอเชียว่า Asiatic Mode of Production ที่พัฒนาตั้งแต่การร่วมกลุ่มของการทำการผลิตตั้งแต่บุพกาล ผ่านระบบศักดินา ระบบทุนนิยม  ทำให้มีนักวิชาการบางกลุ่มมองว่า สังคมชาวไร่ชาวนา เป็นสังคมประเพณีวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ที่หลงเหลือตกค้างมาจากอดีต เป็นสังคมที่หล้าหลังและหล้าสมัย ภายใต้ระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีความเจริญก้าวหน้า ดังเช่นปรากฏการณ์ที่นักมานุษยวิทยา เรียกว่า วัฒนธรรมล้า (Cultural Lag) ที่ชาวไร่ชาวนาดั้งเดิม (Peasant) เปลี่ยนผ่านไปสู่ สิ่งที่เรียกว่า ชาวไร่ชาวนายุคสมัยใหม่ (Post-peasants) ที่มีความสัมพันธ์ติดต่อกับเมืองมากขึ้น และเปลี่ยนผ่านจากชนบทไปสู่การเป็นสังคมเมืองสมัยใหม่ด้วย

หากพิจารณาในแง่ของชุมชนชาวไร่ชาวนา ชุมชนชาวไร่ชาวนา เป็นชุมชน ที่อยู่กึ่งกลางหรือชุมชนที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม ชุมชนชาวไร่ชาวนา (Peasant community) ไม่ใช่ชุมชนที่มีวิถีการผลิตเพื่อพอยังชีพเท่านั้น แต่เข้าไปมีความสัมพันธ์กับระบบตลาดและเมืองมากขึ้น

4.1.2 นักคิดเชิงวิวัฒนาการสายเดียว ( Uni-Lineal Evolution )

          Herbert Spencer (1820-1903) ได้เขียน ในหนังสือ The Principle of Sociology (1856) เปรียบเทียบลักษณะวิวัฒนาการของสังคมเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิต หรือร่างกายมนุษย์ที่ประกอบด้วยอวัยวะส่วนต่างๆที่มีหน้าของตัวเอง และการทำหน้าที่ของอวัยวะส่วนต่างๆ ทำให้ร่างกายมนุษย์สามารถเคลื่อนไหวหรือดำรงอยู่ได้ เช่นเดียวกับสังคม ที่มีการพัฒนาจากความเรียบง่ายไปสู่ความสลับซับซ้อน

Edward B. Tylor ในหนังสือชื่อ Research into The Early history of Mankind and  the Development of Civilization (1865)  และหนังสือ Primitive Culture (1871) เขาได้อธิบายวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม โดยพัฒนาความเชื่อและศาสนา แบบเส้นตรง ที่เริ่มจาก ความเชื่อในภูตผีปิศาจ ก่อนที่จะมีพระเจ้า มาสู่การนับถือเทพเจ้าหลายองค์ และเทพเจ้าองค์เดียวซึ่งเป็นลักษณะของสังคมสมัยใหม่ นอกจากนี้เขายังแบ่งวิวัฒนาการทางสังคมออกเป็นสามขั้นตอนคือ สังคมในยุคของคนป่า สังคมยุคอนารยะชน และสังคมยุคอานายธรรม 

Sir James Frazer ในหนังสือชื่อ Golden Bough (1890) ได้นำเอาแนวคิดของเทย์เลอร์ มาประยุกต์ใช้ เกี่ยวกับการอธิบายความเชื่อของมนุษย์ ที่เริ่มจากสิ่งที่เหนือธรรมชาติ  มาสู่เรื่องศาสนา และท้ายที่สุดมาสู่ความเป็นเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ (Magic---- Religious---- Science)



 


 


 เฮนรี่ มอร์แกน (Louis Henry Morgan) ที่ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญของขั้นตอนการวิวัฒนาการก็คือ เทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพื่อเลี้ยงชีพ (SubsistenceTechnology) เนื่องจากมอร์แกนนำเอาเรื่องของเทคโนโลยีทางการผลิตมาเป็นเกณฑ์ในการจัดแบ่งวิวัฒนาการในทางสังคมและวัฒนธรรม ที่มีอิทธิพลต่อมาร์กซ์ในเวลาต่อมา ในการนำเอาข้อมูลทางมานุษยวิทยามาค้นหากระบวนการหรือเงื่อนไขปัจจัย ที่ทำให้สังคมมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลง จากระบบการรวมหมู่เข้าสู่ระบบปัจเจกชนตามแนวทางของระบบทุนนิยม โดยเขาได้ศึกษาสังคมอินเดียนเผ่าอีราควอยส์ (Iraquois) ในรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้แบ่งวิวัฒนาการของมนุษย์ในทางประวัติศาสตร์เป็น 7 ขั้น 

วิธีคิดการมองแบบล้าหลังสู่ความก้าวหน้า โลกทัศน์ของการมองสังคมชาวไร่ชาวนาแบบนี้ มักจะมีการแบ่งแยกขั้วของวังคมชาวนากับลักษณะอื่นๆ เช่น สังคมชาวนา ออกจากสังคมเมือง และวัฒนธรรมประเพณีหลักหรือวัฒนธรรมของชนชั้นนำ หรือสถาบันชั้นสูง  กับวัฒนธรรมย่อย หรือวัฒนธรรมประเพณีแบบชาวบ้าน โดยมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เรียกว่าประเพณีหลักและประเพณีย่อย ซึ่งมีลักษณะดังนี้

1.ประเพณีหลัก หรือ Great Traditions ที่เป็นของสังคมเมือง หรือสังคมใหญ่ ( City /Town /Urbun) โดยมองว่า ประเพณีหลักมีอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสังคมเมือง สังคมเมืองหลวงที่คนระดับผู้นำอยู่ หรือคนที่มีบทบาทชี้นำทางสังคม ซึ่งเป็นสังคมที่มีความสลับซับซ้อนสูง( Lager society complex) ประเพณีหลักจึงเป็นประเพณีส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นประเพณีที่อ้างถึงความเป็นชาติ หรืออาจจะเป็นประเพณีของคนชั้นสูง (High Culture)ที่สร้างประเพณีหลักให้เป็นประเพณีของคนทั้งชาติ

2.ประเพณีย่อย หรือประเพณีท้องถิ่น little Traditions / Mass tradition ของชนบท (rural) ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมหลัก (part-society  or part of a larger  social unit )  หรืออาจเรียกได้ว่าสังคมชาวไร่ชาวนา คือสังคมพื้นถิ่นพื้นบ้าน (folk-society / half -society ) หรือสังคมเกษตรกรรม (Agrarian Social)ซึ่งมีคนในอีกระดับหนึ่งอยู่มีวัฒนธรรมประเพณีที่เฉพาะเป็นของตัวเอง ในบางครั้งประเพณีย่อยเหล่านี้อาจยกฐานะเป็นประเพณีของคนส่วนใหญ่หรือมวลชนได้

          สังคมชาวไร่ชาวนา (Peasant Society) จึงไม่ได้แยกตัวเป็นอิสระจากสังคมใหญ่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ และมีความสัมพันธ์กับเมือง ในแง่ของการผลิต การแจกจ่ายผลผลิตและการบริโภค รวมถึงการพัฒนาสังคมชาวไร่ชาวนา ให้ไปสู่ความทันสมัยเช่นเดียวกับสังคมเมือง มีการผสมผสาน การรับวัฒนธรรมต่างๆเข้ามา ในขณะเดียวกันก็มีการธำรงรักษาประเพณีของตัวเองไว้ด้วย

4.2ชาวนาเช่นเดียวกับชนชั้นล่างสุดของสังคม  (Peasants as Class)

4.2.1 อิทธิพลของกลุ่มมาร์กซิสต์

          นักคิดกลุ่มนี้ อภิปรายและถกเถียงในประเด็นเกี่ยวกับชาวไร่ชาวนา ที่สัมพันธ์กับเรื่องของการต่อสู้เคลื่อนไหว และการปฏิวัติ ที่เชื่อมโยงชาวนาเข้ากับชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งแนวโน้มการปฏิวัติ ของชนชั้นชาวนา เกิดขึ้นพร้อมกับการก่อตัวและพัฒนาการของระบบทุนนิยม ซึ่งกดดันให้พวกเขากลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพในสงครามปฏิวัติ (Gramsci, 1971)

          ในนัยนี้ ชาวนาจึงไม่ใช่เพียงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ท่ามกลางกลุ่มอื่นๆ แต่เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญและเป็นพลังทางการเมือง และการต่อสู้ทางการเมืองสมัยใหม่ รวมถึงการต่อสู้กับกลุ่มทุนและรัฐสมัยใหม่ ตั้งแต่เรื่องระบบการศึกษา เศรษฐกิจ เป็นต้น ชาวนาจึงมีฐานะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (New Social Movement) โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม หรือ นิเวศวิทยาการเมือง

          แนวความคิดแบบมาร์กซิสต์ยุคแรกที่พูดถึงเรื่องของจิตสำนึกทางชนชั้น ที่มีนัยของชนชั้นกรรมาชีพ แต่ไม่ใช่ชาวนา โดยเฉพาะชาวนาในประเทศโลกที่สามและประเทศลาตินอเมริกา ที่มีวิถีการผลิตที่แตกต่างจากตะวันตก รวมถึงพัฒนาการและเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ทำให้มาร์กซ์ ต้องมาพูดถึงเรื่องวิถีการผลิตแบบเอเชีย Asiatic Mode of Production ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญคือ

          1. ไม่มีสิ่งที่เรียกว่ากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเหนือที่ดิน (Private Ownership)

          2. ชุมชนแห่งหมู่บ้านต่างๆในสังคมเอเชียเหล่านี้ สามารถรักษาความเป็นอยู่ดั้งเดิมและเอกภาพของหมู่บ้านไว้ได้ แม้จะถูกรุกรานจากภายนอก

          3. ลักษณะความเชื่อมแน่น ที่มีอยู่ระหว่างสมาชิกในหมู่บ้านดังกล่าว ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้เหนียวแน่น จากการที่การเกษตรและอุตสาหกรรมในครัวเรือนถูกรวมอยู่ภายในหมู่บ้าน

4. ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ และอุทกศาสตร์ ความเจริญของเกษตรกรรมของภูมิภาคนี้ จึงขึ้นอยู่กับระบบชลประทาน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางกสิกรรม โครงการในด้านการชลประทานขนาดใหญ่ จึงต้องมีอำนาจจากส่วนกลางควบคุมอย่างใกล้ชิด

5. รัฐจึงมีอำนาจเด็ดขาดละสามารถสะสมรวบรวมเอาผลผลิตส่วนเกิน (Surplus –Product) ทำให้ชนชั้นในสังคมดังกล่าวมีอำนาจควบคุม และมีกรรมสิทธิ์เหนือผลิตผลส่วนเกิน กลายเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในสังคม

          ดังนั้น เหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นสิ่งที่ส่งเสริมความมั่นคงให้กับสังคมจากความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานด้านการผลิต ซึ่งคาร์ล มาร์กซ์ ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับโครงสร้างสังคมที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือโครงสร้างส่วนบน(Superstructure) เป็นเรื่องของสถาบัน การเมืองการปกครอง ค่านิยม อุดมการณ์ โครงสร้างส่วนใน (Substructure) หรือโครงสร้างส่วนล่าง (Infrastructure) ซึ่งเป็นเรื่องของระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของการผลิต ซึ่งเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนล่างจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนบนตามมา

5. สังคมชาวไร่ชาวนาคืออะไร

โรเบิร์ต เรดฟิลด์ (Robert Redfield) เขียนใน Peasant Society and Culture  (1950) มองว่าสังคมประกอบด้วยชนชั้นใหญ่ๆ 2 ชนชั้น

1.ชาวนาที่ควบคุมทำการเพาะปลูกในที่ดินของตนเอง และเลี้ยงชีพในฐานะที่เป็นวิถีชีวิตแบบเก่า ตลอดจนเป็นผู้ซึ่งหมายพึ่งพาและอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนอื่นโดยเฉพาะนายทุน พ่อค้า และผู้มีอำนาจทางการเมืองและนโยบาย

2. ชาวเมืองซึ่งมีวิถีชีวิตเหมือนกับพวกเขาแต่มีรูปแบบที่เจริญกว่า ทั้งทางด้านวัตถุและสาธารณูปโภค

ส่วน ธีโอดอร์ ชาลิน ( Theodor Shanin) มองว่าสังคมชาวนามีลักษณะดังนี้ (Theodor Shanin,1973: 14-15)

1.ที่ทำกิน (ที่ดิน) และครอบครัว /ครัวเรือน (Household) เป็นหน่วยพื้นฐานในการจัดระเบียบต่างๆทางสังคม ส่วนไร่นาจะเป็นดัชนีที่แสดงถึงฐานะอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองและการบริโภค การแบ่งงาน และเป็นสิ่งที่กำหนดแนวทางการเรียนรู้ทางสังคมต่อสมาชิกในครอบครัว

2.อาชีพหลักในสังคมแบบนี้ คือ การเกษตรกรรม เป็นอาชีพหลักของสมาชิกในครอบครัว การเพาะปลูกส่วนใหญ่ใช้เพื่อเลี้ยงชีพ

3. เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผูกพันกับขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น

4.มักอยู่ภายใต้อาณัติของสังคมภายนอกไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ  วัฒนธรรม ต้องติดต่อพึ่งพา แลกเปลี่ยนกับสังคมภายนอกเสมอ

ดังนั้นสังคมชาวไร่ชาวนาในความหมายนี้จึงเป็นเรื่องของชนชั้นล่างสุดของสังคมที่เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพาะปลูกในที่ของตนเองหรือเช่าที่ดินคนอื่น ที่เราเรียกว่า ชาวไร่ชาวนา โดยวิถีชีวิตเกษตรกรรมจะอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติและชลประทาน ในเขตที่ราบลุ่มต่ำและที่ดอนสูง ซึ่งชาวนาชาวไร่เหล่านี้ล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบตลาด และการเมืองในวิถีการผลิตของพวกเขา ซึ่งน่าสังเกตว่าในกรณีของประเทศไทยอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเรายังพบเห็นการทำการเกษตรแบบพอเพียง หรือการรวมกลุ่มเพื่อพึ่งตนเอง เช่น สันติอโศก มากกว่าจะพึ่งพาระบบทุนนิยมภายนอก

 

6.กรอบการศึกษาชาวไร่ชาวนาที่เคลื่อนจากตะวันตกสู่ตะวันออก

Raymond Firth ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวคิดการศึกษาชาวไร่ชาวนาที่กว้างขวางมากขึ้น  โดยไม่จำกัดขอบเขตของชาวไร่ชาวนาในชุมชนตะวันตกหรือยุโรป (European Community) แต่เขาเสนอให้พิจารณาชุมชนในแถบตะวันออก (Oriental Community) โดยยกตัวอย่าง ชาวประมงในแถบมาเลเซีย (Malay Fisherman) ซึ่ง Firth มองว่า ไม่ว่าจะชุมชนชาวไร่ชาวนาของตะวันตกและตะวันออก ต่างก็เป็นชุมชนของผู้ผลิตที่อยู่บนหน่วยเล็กๆ พร้อมกับการใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีแบบง่ายๆ และระบบการจัดการของตลาด(Market Organization)  รวมทั้งการผลิตที่อยู่บนพื้นฐานของการดำรงชีพ (Subsistence) ของพวกเขา (Raymond Firth, 1946: 22)

สรุปได้ว่า สังคมชาวนาและชาวนา มีความหมายที่หลากหลายตามทัศนะและมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆและกรณีที่นักวิชาการเหล่านั้นลงไปศึกษาชาวนาในที่ต่างๆที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของสังคม ทำให้กรอบในการศึกษาชาวนามีความแตกต่างหลากหลายกันไป แต่ไม่ว่าความหมายของสังคมชาวนาและความเป็นชาวไร่ชาวนาจะเป็นอย่างไรคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญคือ การตั้งคำถามต่อประเด็นปัญหาชาวนาในปัจจุบันและการหาคำตอบต่อปัญหาที่นักวิชาการกำลังตั้งคำถามว่า สังคมชาวนามีหรือไม่ มันหายไปจากสังคมสมัยใหม่แล้ว ถ้าเช่นนั้นชาวนาหายไปไหน หรือชาวนาไม่หายไปยังเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการเพาะปลูกอาหารสำหรับครอบครัว ชุมชนประเทศชาติ รวมทั้งการกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและการกลายเป็นพลเมืองของรัฐชาติในสังคมสมัยใหม่ หรือกลายเป็นแรงงานในภาคการผลิตของเมืองคือสิ่งที่เราต้องหาคำตอบ

 

บรรณานุกรมและหนังสืออ้างอิง

Gamst C.Frederick (1974). Peasants in Complex Society. America : Holt,Rinehart and winston ,inc.

Potter M. Jack (1967).Peasant Society A Reader.(Ed.) Little, Brown and Company Boston.

          Redfield Robert (1956). Peasant Society And Culture An Anthropological Approach to Civilization. London: The university of Chicago Press.

          Wolf R. Eric (1966). Peasants . Prentice-Hall,Inc Foundations of Modern Anthropology Series.

          ยศ สันตสมบัติ  (2544). มนุษย์กับวัฒนธรรม .กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Firth, Raymond. (1946). Malay  fisherman: Their peasant economy. London: Routledge & Kegan Paul.

Shanin, Theodor (1973). Peasants and Peasant societies: Selected reading. Harmondworth: penguin.

Elson Edward Robert (1977). The End of the Peasantry in Southeast AsiaA Social and Economic History of Peasant Livelihood, 1800-1990. London: Macmillan.

Gramsci, Antonio (1971). "Introduction". In Hoare, Quentin; Smith, Geoffrey Nowell. Selections from the Prison Notebooks. New York: International Publishers. pp. xvii–xcvi. ISBN 0-85315-280-2.

 

 

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...