วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ความน่าสนใจในงานของ Paul Farmer ในบทความชื่อ Social Inequalities and Emerging Infectious Diseases (1996) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

งาน ของ Paul Farmer ในบทความชื่อ Social Inequalities and Emerging Infectious Diseases (1996) หรือความไม่เท่าเทียมทางสังคมและการเกิดโรคติดเชื้อ Inequalities and Infectious (1999)

Farmer ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของผู้คนทุกข์ยากในประเทศเฮติเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นนี้
โดยนำเรื่องของJean เชื่อมโยงกับภาวะโรคติดเชื้อและความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม...
Jean Dubuisson ที่ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเขาอายุเท่าไหร่ เขาอาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆในที่ราบสูงของประเทศเฮติ เขาทำฟาร์มในพื้นที่ดินผืนเล็กๆ อาศัยอยู่ในกระท่อมที่พักอาศัย ที่เขาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือพื้นที่หลับนอนของเขากับภรรยาที่ชื่อ Marie ส่วนที่สองคือพื้นที่หลับนอนของลูกเขา 3 คน ที่ยังคงมีชีวิตเหลือรอดอยู่ พ่อของJean ต้องสูญเสียที่ดินของเขาในการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ชื่อว่า “Perige” ที่นำไปสู่การสูญเสียครอบครัวขนาดใหญ่ของเขาไป ญาติพี่น้องทุกคนของเขาต่างกระจัดกระจายและถูกผลักไปสู่ความทุกข์ยากลำบากของชีวิต ในช่วงก่อนที่เขาจะป่วย Jean และ Marie ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อเลี้ยงดูลูกๆของพวกเขา ลูกสองคนของเขาเสียชีวิตก่อนจะอายุครบ 5 ขวบ ลูกสองคนของเขาพ่ายแพ้ต่อความเจ็บป่วยและไม่สามารถจะอดทนกับความยากลำบากของชีวิตที่เผชิญได้...
ช่วงเวลาที่เลวร้ายของ Jean เกิดขึ้นประมาณช่วงปี 1990 โดย Jean เริ่มต้นไอติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เขาเพิกเฉยต่อภาวะของการไอเรื้อรังที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลายาวนาน และตามด้วยอาการมีไข้แบบเว้นระยะ หรือ Intermittent Fever หรืออาการที่อุณหภูมิร่างกายไม่คงที่ อุณหภูมิสูง ต่ำ ขึ้นลง ในระหว่างช่วงบ่ายหรือเย็นเสมอ หมู่บ้านที่ Jean อาศัยอยู่ที่นี่ ไม่มีคลินิกหรือร้านขายยา อีกทั้งค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการเดินทางไปคลินิกในหมู่บ้านใกล้เคียงที่อยู่ใกล้เมืองค่อนข้างสูง ก็เพียงพอที่จะห้ามผู้ชายอย่าง Jean ให้เก็บตัวนอนสั่นระริกบนพื้นที่สกปรกในกระท่อมของเขาโดยไม่เดินทางไปรักษา เขาเริ่มต้นที่จะมีเหงื่อออกตอนกลางคืน เหงื่อที่ออกตอนกลางคืนเป็นสิ่งที่เลวร้ายภายใต้ปัจจัยเงื่อนไขต่างๆมากมาย....
Marie เล่าว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ต้องเสาะแสวงหาผู้เชียวชาญมารักษาอาการป่วยของJean แต่การรักษาก็เลื่อนออกไปหลายเดือน เนื่องจาก Jean ปฏิเสธการรักษา เพราะว่าเป็นช่วงเปิดเรียน เขาจะต้องกันเงินเป็นค่าเล่าเรียนลูก รวมทั้งค่าสมุด ค่าหนังสือ ค่าเครื่องแบบนักเรียน Jean จึงไม่คิดเสาะหาการรักษาในทางชีวะการแพทย์ เขายืนกรานที่จะดื่มชาสมุนไพรในการเยียวยาอาการเจ็บป่วย ร่างกายของ Jean ค่อยๆเสื่อมลงอย่างช้าๆในระยะเวลาหลายเดือนที่เขารักษาด้วยวิธีการนี้ น้ำหนักตัวของเขาลดลงไปมาก ที่นำไปสู่เหตุการณ์ต่อมาที่Jean และ Marie เล่าถึงภาวะที่ Jean ไอเป็นเลือด (Hemoptysis) ที่ลักษณะดังกล่าวเป็นอาการร่วมกันของผู้คนในชนบทของเฮติ โดยประชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ที่นี่ไม่เชื่อว่า ความเย็นหรือ Grip เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนี้ Jean และครอบครัวของเขาสรุปว่าเขาเป็นโรควัณโรค (Tuberculosis) และพวกเขารู้ว่า Jean มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือถ้าไม่เดินทางไปคลินิกเพื่อรับการรักษาโรคก็ต้องไปรักษาโรคด้วยหมอผีวูดู (Voodoo Priest) ตามความเชื่อท้องถิ่น สุดท้าย Jean ได้ข้อสรุปด้วยตัวเองว่า วัณโรคของเขาเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับสาเหตุโดยธรรมชาติมากกว่าจะเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ ด้วยอาการผอมแห้ง (Emaciated)และอาการโลหิตจาง (Anemic) เขาเดินทางไปคลินิกที่ใกล้ที่สุดกับหมู่บ้านของเขาเพื่อจะรักษาความเจ็บป่วย...
ณ คลินิก Jean ใช้จ่ายเงินไป 2 ดอลลาร์สำหรับวิตามินบีรวม และตามมาด้วยคำแนะนำเกี่ยวกับการกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ (แม้ว่าเขาจะอดอยากและไม่มีกินก็ตาม) การดื่มน้ำสะอาด (แม้ว่าสาธารณูปโภค การจัดการระบบน้ำในชุมชนของเขามีปัญหา) การนอนหลับในห้องที่เปิด (ทั้งที่ความจริงสภาพห้องของเขาแออัดและปิดมิดชิด) และอยู่ให้ห่างไกลจากคนอื่นๆ (เขามีบ้านหลังเดียวและต้องอยู่ร่วมกันกับครอบครัว) และสุดท้ายเขาต้องไปที่โรงพยาบาล (เขาต้องเดินทางไปไกลและเสียค่าใช้จ่ายมาก) สิ่งที่ตามมาจากคำแนะนำนั้นคือครอบครัวของเขาจะต้องขายไก่ ขายหมู และบางทีอาจจะต้องขายที่ดินแปลงเล็กๆของพวกเขาออกไปด้วย พวกเขารู้สึกลังเลใจและเริ่มสัมผัสรับรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตของพวกเขาจากความเจ็บป่วย
สองเดือนต่อมา ปริมาณเลือดที่ออกมามากเกินปกติจากการไอ(massive hemoptysis) เขาจึงถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลในเครือของโบสถ์ที่เมือง Port -au-prince ที่ซึ่ง Jeanต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งนี้ 2 เดือน ก่อนที่จะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลของรัฐ ในระหว่างที่เขารักษาตัวที่โรงพยาบาล เขาต้องเสียค่าใช้จ่าย 4 ดอลลาร์ต่อวันเป็นค่าเตียงคนไข้ ในขณะที่รายได้ต่อหัวของคนชนบทในเฮติ อยู่ที่ 200 ดอลลาร์ต่อปี(ประมาณ 7,000บาทต่อปี) เมื่อเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเขียนใบสำคัญรับเงินให้เขา เขาต้องไกล่เกลี่ยกับโรงพยาบาลในการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นงวดๆ ...
ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว Jean ไม่สามารถบอกเล่าบางสิ่งได้ว่า การรักษาที่เขาได้รับจากบริการทางการแพทย์น้อยกว่าค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายมาก รวมทั้งโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในเฮติไม่มีการบริการอาหารสำหรับผู้ป่วยร่างกายของเขาผอมโซ และมันว่ายมากที่เขาจะปลดปล่อยตัวเองออกจากโรงพยาบาล เมื่อครอบครัวของเขาต้องขาดแคลนเงินและผลผลิตสำหรับการบริโภคที่หมดไปกับการรักษา เขาตัดสินใจออกจากโรงพยาบาล..เขาบอกว่าในช่วงที่กลับบ้านแม้ว่าเขายังไอและมีเหงื่อออกในตอนกลางคืน แต่ยังโชคดีที่เขาไม่ไอเป็นเลือด เขายืนยันถึงความโชคดีของตัวเองแม้ว่าจะไม่ได้หายจากโรคนี้
สำหรับคนเฮติก็เผชิญชะตากรรมช่นเดียวกับ Jean ที่ความยากจนและความหิวโหยได้มาพร้อมกับวัณโรค รวมทั้งการได้รับการดูแลรักษาที่ไม่ดีพอเมื่อพวกเขาไปยังโรงพยาบาล ที่กลายเป็นประสบการณ์ร่วมกัน
สุดท้าย Jean และMarie ก็ย้ายบ้าน พวกเขาและลูกย้ายไปที่เมือง Boris Joli ที่นั่นพวกเขาไม่มีทั้งหลังคาบ้านและผืนแผ่นดินที่เคยมี มันกลายเป็นสิ่งเลวร้ายที่พวกเขาต้องเผชิญ ร่างกายที่ซูบผอมของJeanและสายตาที่ดูครุ่นคิดกังวลและการมีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง ทำให้เขาเริ่มต้นกระบวนการรักษาช่วงเดือนพฤษภาคม 1991 น้ำหนักเขาเพิ่มขึ้น 18 ปอนด์ ในช่วง3 เดือนแรกของการรักษา แต่ในขณะเดียวกันลูกสาวคนโตของเขาก็พบว่าเป็นวัณโรคในต่อมน้ำเหลืองและต้องได้รับการรักษาด้วยเช่นกัน แม้ว่าJean จะเริ่มต้นทำการรักษา แต่บางอย่างก็สายเกินไป เรื่องจากปอดข้างซ้ายของเขาถูกทำลายอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่Marie ภรรยาของเขาก็กลายเป็นผู้ใช้แรงงาน Jean ก็ต้องพึ่งพาการดูแลของลูกสาวผู้ซึ่งเธอก็ต้องรักษาตัวเองด้วย Jean บอกว่าเขาทำอะไรเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว มันยากและเลวร้ายมากแค่การที่เขาจะปีนเขา...
เรื่องของ Jean สะท้อนให้เห็นว่าความน่ากลัวของโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมต่างหาก ที่ชักนำผู้คนไปสู่ความเจ็บป่วยและความตายอย่างเลี่ยงไม่ได้ เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยที่เพิ่งเข้ามา ต่างมีวิธีการในการรักษา และมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการทำให้ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน ทุเลาเบาบางลงได้ แต่ความยากจนที่ฝังแน่นถาวร ทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึง เพิกเฉย ปฏิเสธ กระบวนการรักษาหรือการเข้ารับบริการทางสุขภาพ...สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้พวกเขากลายเป็นคนป่วยอย่างถาวร
ชีวิตของคนป่วยคนหนึ่ง จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของปัจเจกชน แต่ยังผูกโยงกับคนรอบข้าง ครอบครัว ชุมชนด้วย การรักษาอาการความเจ็บป่วยของเขา อาจบำบัดเพียงตัวเขา แต่ต้องแลกด้วยความยากลำบากของชีวิตคนรอบข้าง...
ประเด็นเรื่องของโรคติดเชื้อมีความน่าสนใจ ทั้งโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (new infectious diseases) หมายถึงโรคติดเชื้อชนิดใหม่ๆที่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระยะประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา หรือ โรคติดเชื้อที่มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ โรคอุบัติซ้ำ (Re-emerging Infectious Diseases) คือโรคที่อาจพบในอดีตเคยเกิดการระบาดและสงบมาช่วงหนึ่งและกลับมาระบาดใหม่เช่น กาฬโลกรวมไปถึงโรคที่เกิดขึ้นใหม่ในที่ใดที่หนึ่ง หรือโรคที่เพิ่งจะแพร่ระบาดเข้าไปสู่อีกที่หนึ่งละยังรวมถึงโรคติดเชื้อที่เคยควบคุมได้ด้วยยาปฏิชีวนะแต่เกิดการดื้อยา ตัวอย่างโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เช่น โรคเอดส์ ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และวัณโรคดื้อยา โรคซารส์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกี่ยวกับการดื้อยา (Antimicrobial resistant organism) อาวุธชีวภาพ (Deliberate use of bio-weapons) หรือโรคที่พบในประเทศ ทวีปอื่นแล้วแพร่กระจายการระบาด (new geographical areas)...
มุมมองในเชิงมานุษยวิทยาการแพทย์ น่าจะเข้าไปทำการเชื่อมโยงมิติทางการแพทย์ การอธิบายในมิติที่เกี่ยวข้องกับผู้คน วิธีคิด การให้ความหมาย การตีความ พฤติกรรม การปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวพันกับมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบและผลักพวกเขาให้เข้าไปสู่ความเจ็บป่วยและความตาย เชื้อโรคอาจดำรงอยู่ของมันในธรรมชาติ แต่ตัวเร่งเร้าความเจ็บป่วยและสร้างการเข้าถึงความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยมากกว่าก็คือเรื่องโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมและเป็นธรรม
ความไม่เท่าเทียมของผู้คนไม่ได้แค่มีความสัมพันธ์กับการกระจายของโรคเท่านั้น แต่มันยังเป็นเส้นทางเดินหลักที่นำไปสู่ความเจ็บป่วยที่สร้างส่งผลกระทบต่อผู้คนที่ยากไร้
ความเจ็บป่วยเกี่ยวโยงกับเรื่องของ class, Racism และ sexism ชนชั้นเชื้อชาติและเพศ...
พื้นที่ชีวิตของคนยากไร้และคนชายขอบ กลายเป็นพื้นที่ที่เปิดรับเชื้อโรคอย่างไม่จำกัด แต่ขณะเดียวกันก็กลับเป็นพื้นที่ปิดสำหรับโอกาสในการรักษาที่เป็นธรรม เท่าเทียม เสมอภาคและการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ครอบคลุม.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...