วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ว่าด้วยการทำงานสนาม ตัวเรา ตัวเขา ปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลสนาม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 

ว่าด้วยการทำงานสนาม ตัวเรา ตัวเขา ปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลสนาม
งานของ Goffman เรื่อง the representation of self in everyday life ได้เปิดพื้นที่ให้ผมทำึวามเข้าใจเรื่องself ก่อนเป็นเบื้องต้น เพราะมันมีความซับซ้อน จะเรียกว่าตัวตนหรืออัตตาก็แล้วแต่.. ในขณะที่อัตวิสัยหรือsubjectivity ที่มีลักษณะที่แตกต่าง เหมือนกันหรือเชื่อมโยงกันค่อยอธิบายทีหลัง..เพราะนิยามที่ใช้อยู่ที่การเลือก เราอ่านงานของใคร เอาของใครมาใช้ ทำไมต้องแนวคิดอันนี้และต้องบอกให้ได้ว่ามันดีกว่าคนอื่นว่าไว้อย่างไร เอามาอธิบายกับปรากฏการณ์ของเราได้มากน้อยเพียงไหน..
ในส่วนของของกระบวนการบ่มเพาะของอัตตา (embodied self) มีสองส่วนที่น่าสนใจ ส่วนแรก เรียกว่า subject of experience หรือองค์ประธานของประสบการณ์ ที่สร้างการตระหนักเกี่ยวกับตัวเองและโลก ที่เรียกว่า “I “ในส่วนที่สองคือ Object of experience ที่เรียกว่า การเป็นวัตถุแห่งประสบการณ์ต่อตัวเองและโลก ที่อาจเรียกว่า “me” หากเชื่อมโยงกับภาวะอัตตวิสัยหรือ subjectivity มันก็มีลักษณะสองด้านคือ มันสามารถถูกให้ลักษณะและสร้างลักษณะบางอย่างได้ในทางกลับกัน อัตวิสัยจึงเป็นกระบวนการทั้ง individualizations และ socialization
ย้อนกลับมาที่งานของ Goffman ชี้ว่าตัวตนและการนำเสนอตัวตนของเราอยู่ภายใต้การจัดการความประทับใจ ในการเลือกหรือตัดสินใจที่จะนำเสนอตัวตน ที่เราต้องการให้คนอื่นรับรู้หรือจดจำ และแสดงออกให้ตรงกับความคาดหวังของสังคมที่พวกเราเป็นสมาชิกอยู่ ...ในทางตรงข้ามเราก็ยังมีตัวตนที่ไม่อยากให้คนอื่นรับรู้ หรือไม่ต้องการแสดงออก ตัวตนเหล่านั้นก็จะไม่ถูกเปิดเผยหรือแสดงออกมาให้คนภายนอกเห็น หรืออาจแสดงออกมาไม่ตรงกับตัวตนที่แท้จริง...
เช่นเดียวกับการแสดงละครเวทีที่กอฟแมนนำเสนอ ที่จะมีทั้งสิ่งที่แสดงหน้าเวที (front stage) ที่เป็นตัวตนแสดงตามบทบาท(fake self) และชีวิตหลังเวที(back stage) พื้นที่หลังเวทีหรือหลังม่านตรงนี้ถือเป็นพื้นที่อิสระ ที่ใช้เก็บรักษาตัวตนที่ซ่อนเร้นเอาไว้ ซึ่งอาจจะเป็นตัวตนที่แท้จริง ไม่ใช่ตัวตนที่แสดงในเวทีตามบทละคร การตีบทแตกของเขาทำให้คนดูเชื่อว่าเจาเป็นตัวละครตัวนั้นจริงและได้รับการยอมรับ
สิ่งที่น่าสนใจคือถ้าตัวตนที่ผู้คนซ่อนเร้นอยู่ (hidden self) อาจเป็นตัวตนที่แท้จริงก็ได้ (real /actual self) ในขณะที่ตัวตนที่นำเสนอออกมาอาจเป็นเพียงผลผลิตของการปรับแต่ง เลือกสรร ในการแสดงออกมาก็เป็นได้
ดังนั้นเราจะเห็นการปะทะกันของตัวตนที่เป็นจริง ตัวตนที่พึงปรารถนา(ideal self ) ตัวตนในจินตนาการ (self image) ตัวตนดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของร่างกาย และการควบคุมทางสังคม รวมถึงความคาดหวังของคนอื่นๆในสังคม สิ่งที่น่าคิดต่อคือ ตัวตนที่เป็นตัวตนจริง (actual self) ไม่ใช่ตัวตนที่ถาวร แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อลักษณะทางกายภาพถูกจัดการ ปรับเปลี่ยน ปรับรูปให้เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อนำมาอธิบายเชื่อมโยงกับโลกในพื้นที่ออนไลน์ การใช้แอพหาคู่ การสื่อสารกันบนโลกออนไลน์ ในสถานการณ์ที่ตัวตนของเรานิรนาม และการเผชิญหน้ากับบุคคลที่เราไม่รู้จัก และคนเหล่านั้นก็ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับตัวเราเท่าใดนัก การนำเสนอตัวตนของเราต่อคนเหล่านี้ย่อมมีอิสระเสรีภาพมากขึ้น และนำเสนอตัวตนในรูปแบบใหม่ๆที่สร้างสรรค์มากขึ้น โลกออนไลน์ทำให้ร่างกายทางกายภาพไม่เป็นกำแพงหรืออุปสรรคในการนำเสนอตัวตนเพื่อสร้างความสัมพันธ์อีกต่อไป ทั้งรูปร่าง หน้าตา ชื่อ อายุ สถานภาพ ความสามารถ ประสบการณ์ชีวิต การทำงาน เพศวิถี ไลฟ์สไตล์และอื่นๆ ที่สะท้อนความสัมพันธ์ของตัวตน การเลือกแสดงตัวตนที่มีความซับซ้อนหลากหลายมากขึ้นกว่าตัวตนที่ดำรงอยู่จริง
ในวาทะของเชอรี่ ออทเนอร์ ทำให้เราเห็นว่าการมองลงไปที่เรื่องของอัตวิสัย ทำให้เราเข้าใจการดำรงอยู่ของมนุษย์ อัตวิสัยเสมือนหนึ่งพื้นฐานของผู้กระทำการ ภายใต้ความกระเสือกกระสนดิ้นรนของผู้กระทำการที่กระทำ ภายใต้สภาวะที่ถูกกระทำจากโครงสร้างที่กดทับอยู่ ผู้กระทำการถูกกหนดจากความปรารถนาที่ตั้งใจและเชื่อมโยงกับอัตวิสัย อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความหมายที่โยงใยอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อน
งานสนามเรื่องเพศมีความซับซ้อนและยาก การจะเข้าใจความซับซ้อนนั้นได้ ขึ้นอยู่กับปฎิสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับผู้ที่เราศึกษา (ผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้) ความเชื่อถือ ความไว้วางใจ การเปิดเผยความจริง การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง จึงจะนำไปสู่ความรู้ในสนามที่เรานำไปเขียนและวิเคราะห์ได้อย่างสมบูรณ์ถูกต้อง โดยเฉพาะการสะท้อนหรือนำเสนอเรื่องเล่าของชีวิต ที่อาจจะเป็นความจริงบางส่วน ตัวตนบางลักษณะที่ผู้ใก้ข้อมูลเลือกที่จะแสดงออกและนำเสนอ การสะท้อนย้อนคิดกับปฎิสัมพันธ์ในสนามจึงเป็นสิ่งจำเป็น...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...