วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

พัฒนาการของมนุษยชาติ กับการเติบโตทางด้านเกษตรกรรมและการก่อตัวของสังคมชาวไร่ชาวนา โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

 

พัฒนาการของมนุษยชาติ กับการเติบโตทางด้านเกษตรกรรมและการก่อตัวของสังคมชาวไร่ชาวนา

 

ความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาทางมานุษยวิทยากายภาพ ที่ศึกษาเกี่ยวกับสรีระทางกายภาพของมนุษย์ และวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดและทฤษฎีเรื่องวิวัฒนาการของมานุษยชาติ ในงานชิ้นสำคัญของชาร์ลส์ ดาร์วิน  ชื่อ On the origin of Species by means of nature Selection (1859) และ The Descent of Man (1871) โดยเขาชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ ภายใต้กระบวนการวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นจริงบนโลก และกระบวนการเลือกสรรโดยธรรมชาติ ที่ทำให้มนุษย์เหลือรอดและดำรงอยู่ได้ในปัจจุบัน

 

1.การศึกษาเกี่ยวกับไพรเมท เพื่อเปรียบเทียบกับลักษณะของมนุษย์

เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์ตระกูลเดียวกับไพรเมทประเภทหนึ่งโดยเฉพาะลิงที่ไม่มีหางและมีหาง ที่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์และมีชีวิตอยู่ได้ในโลกปัจจุบัน ซึ่งสัตว์ในแต่ละประเภทก็มีพัฒนาการและรูปแบบทางพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป ในแวดวงวิชามนุษยวิทยากายภาพ การศึกษาการเปรียบเทียบลักษณะทางกายวิภาค สรีรวิทยาและการเจริญเติบโต ของสัตว์เหล่านี้ ก็เพื่อให้เข้าใจภาพวิวัฒนาการของมนุษยชาติในปัจจุบัน โดยเฉพาะการทำความเข้าใจพัฒนาการของสังคมชาวไร่นา จึงมีความสำคัญที่จะต้องมีการศึกษาไพรเมท[1]เหล่านี้  

นักมานุษยวิทยากายภาพส่วนใหญ่จึงศึกษาไพรเมทที่มีลักษณะทางกายภาพและพฤติกรรมใกล้เคียงกับมนุษย์ โดยเฉพาะลิงที่ไม่มีหาง เช่น ลิงบาบูน ลิงกอริลล่า และลิงชิมแปนซี เป็นต้น เพื่อทำความเข้าใจรากเหง้าและความเป็นมาของตัวเอง

ทำไมจึงต้องศึกษามนุษย์เปรียบเทียบกับลิง

          เนื่องจากการศึกษาในวิชามานุษยวิทยากายภาพ มีความเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการของมนุษย์ในยุคต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากการศึกษาและขุดค้นทางโบราณคดี เช่นมีการค้นพบโครงกระดูก กะโหลก เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ เมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ซากสัตว์ต่างๆ หรือเศษฟืนที่เหลือจากการก่อไฟ เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นวัฒนธรรมของมนุษย์วานรหรือบรรพบุรุษของมนุษย์ในอดีต แต่ในบางกรณีนักโบราณคดี และนักมานุษยวิทยาก็ไม่สามารถจินตนาการไปไกลได้ถึงแบบแผนของพฤติกรรม เช่นการอยู่ร่วมกัน  การสืบพันธุ์ การหาอาหาร ความขัดแย้ง หรือระบบความสัมพันธ์ในกลุ่ม การศึกษาไพรเมทในยุคปัจจุบันที่มีความใกล้เคียงกับมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างจินตนาการให้กับนักมานุษยวิทยาร่วมกับเอกสารหลักฐานอื่นๆ แม้ว่าจะมีนักวิชาการบางส่วนตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือของความคิดเหล่านี้ จนถึงขนาดที่บางคนมีอคติกับการศึกษาแนวนี้ ด้วยความคิดที่ว่าตนเองเหนือกว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ และไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับสมองและอารยะธรรมของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ที่พัฒนาก้าวไปไกลกว่าสัตว์ได้  แต่ในความจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะพฤติกรรมของมนุษย์บางอย่างมีความคล้ายคลึงกับสัตว์ในแง่ที่แสดงออกมาตามธรรมชาติ โดยสัญชาตญาณ เช่น ความต้องการอาหาร การยอมรับในกลุ่ม ความต้องการสืบเผ่าพันธุ์ เป็นต้น เพียงแต่สัญชาตญาณและความต้องการเหล่านี้ของมนุษย์ ถูกจำกัดและควบคุมโดยบรรทัดฐานทางสังคมต่างๆ เช่น จารีตประเพณี และกฎหมาย  แต่พฤติกรรมดังกล่าวก็ไม่อาจถูกควบคุมได้อย่างสมบูรณ์ บ่อยครั้งสัญชาตญาณของมนุษย์ก็มีพลังขับดันมากกว่าบรรทัดฐานของสังคมดังกล่าว ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านการล่วงละเมิด หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งไม่แตกต่างจากสัตว์ดังกล่าว ดังนั้นการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างสัตว์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ในยุคเริ่มต้น จึงมีความสำคัญในการทำให้เราเข้าใจวิวัฒนาการและแบบแผนพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต ได้ดีขึ้น

1.การศึกษาลิงบาบูน  ในแอฟริกา นับว่า เป็นการศึกษาที่สร้างความน่าสนใจต่อนักมานุษยวิทยากายภาพเป็นอย่างมาก เนื่องจากพฤติกรรมของพวกมันที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงบนทุ่งหญ้าโล่ง ซึ่งแตกต่างจากลิงทั่วไป ที่ชอบหาอาหารและอาศัยอยู่บนต้นไม้  ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของนักมานุษยวิทยากายภาพ  ที่เชื่อว่า บรรพบุรุษรุ่นแรกๆของมนุษย์ ได้ลงจากต้นไม้  มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบป่าโปร่งและทุ่งหญ้า  การปรับตัวของลิงบาบูน ทั้งในเรื่องการหาอาหาร การป้องกันภัยอันตราย และการผสมพันธุ์ จะทำให้เราสามารถเข้าใจวิวัฒนาการของมนุษย์ได้ดีขึ้น

ลิงบาบูนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เหมือนกองทัพ เกิดกลุ่มไหนก็อยู่กับกลุ่มนั้น แต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกแตกต่างกัน ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ถึง 100 ตัวก็มี พวกลิงบาบูนจะอาศัยอยู่ในเขตแดนที่ถาวร แต่มักไม่มีการป้องกันอาณาเขต และอาณาเขตของกลุ่มต่างๆ อาจมีการทับกันบ้าง รวมทั้งมีความร่วมมือกันในบางสถานการณ์ เช่นมีบ่อน้ำในฤดูแล้งบ่อเดียวก็อาจใช้ร่วมกัน หรืออาจหลีกทางให้กับกลุ่มที่ใหญ่กว่า ที่อาศัยหลับนอนตอนกลางคืนของลิงบาบูนคือต้นไม้ เพื่อป้องกันตัวเองจากสัตว์ร้ายอาหารหลักคือหญ้า ในฤดูแล้ง นอกนั้นก็เป็นผัก เมล็ดพืช ดอกไม้ หรือสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก  บางครั้งก็กินเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก  เมื่อลิงบาบูนตัวผู้ฆ่าสัตว์ชนิดนั้นได้แล้ว ตัวผู้ที่มีสถานภาพสังคมสูง เท่านั้นจึงจะได้กินเนื้อ ตัวอื่นๆ ไม่มีส่วนร่วมในเนื้อสัตว์นั้นๆเลย

สำหรับโครงสร้างทางชนชั้นของลิงบาบูน จะมีหลายชนชั้น เริ่มจากสูงสุด คือตัวผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ รองลงมาก็คือตัวเมียที่เป็นผู้ใหญ่  ต่อมาก็ตัวผู้ที่อายุน้อยกว่า และตัวเมียที่อายุน้อยกว่า ต่อมาก็เป็นวัยรุ่น ที่ต่ำสุด คือเด็กและทารก  สำหรับตัวผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือจ่าฝูง จะมีลักษณะที่สำคัญคือ มีบุคลิกภาพความเป็นผู้นำ มีความมั่นใจในตัวเอง มีความก้าวร้าว  และความสามารถดึงดูดการสนับสนุนจากตัวอื่นๆ  สิ่งที่ลิงบาบูนผู้นำจะได้รับก็คือ การได้กินเนื้อสัตว์ที่ล่าก่อน  และเลือกตัวเมียที่ต้องการจะผสมพันธุ์ได้ก่อนตัวอื่นๆ

ความสัมพันธ์ทางเพศ ของลิงบาบูน มีระยะเวลา 35 วัน  โดยตัวผู้และตัวเมียจะมีอาการพองตัวของอวัยวะเพศ  ยิ่งมีขนาดบวมใหญ่มากเท่าใด ก็แสดงว่าตัวผู้และตัวเมียพร้อมที่จะผสมพันธุ์มากเท่านั้น  เมื่อลิงบาบูนตัวเมีย คลอดลูกออกมา ทารกที่เกิดใหม่จะเป็นที่สนใจของกลุ่ม และได้รับการคุ้มครองจากสมาชิกในกลุ่มและตัวผู้  เมื่อทารกบาบูนอายุ 2-4 ขวบก็จะเป็นวัยรุ่น และเป็นอิสระจากแม่

2. การศึกษากอริลล่าภูเขา ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นมนุษย์วานรหรือเอป ขนาดใหญ่ที่สุด   จากการศึกษาของชาลเล่อร์  ในป่าของประเทศคองโก ทวีปแอฟริกา และฟอสซี่  โดยใช้เทคนิคการศึกษาแบบการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม (Participant Obsevation) พบว่า กอริลล่า เป็นสัตว์กินผัก อาศัยอยู่บนพื้นดินมากกว่าอยู่บนต้นไม้ ทั้งที่ลักษณะมือและเท้ามันเหมาะกับที่จะอยู่บนต้นไม้มากว่า แต่เนื่องจากขนาดของมันที่ใหญ่มาก และน้ำหนักมาก ทำให้มันอาศัยอยู่บนต้นไม้ได้ลำบาก แต่อยู่ในพื้นดิน ได้คล่องมากกว่า สำหรับพฤติกรรมการใช้กำลังมีน้อยมากในสัตว์ประเภทนี้

 

3.การศึกษาสังคมของลิงชิมแพนซีของ ลาวิค-กูดเดอร์ ในประเทศอูกันดา โดยศึกษาลิงชิมแปนซี ที่อาศัยอยู่ในป่าโปร่ง มากกว่าป่าดงดิบ การรวมกลุ่มของสมาชิก มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางครั้งกลุ่มย่อยอาจรวมอยู่ในกลุ่มใหญ่  มีการป้องกันดินแดนที่พวกมันเดินผ่านไปมา สมาชิกในแต่ละกลุ่มจะมีตั้งแต่3 ตัวถึง 20 กว่าตัว  พวกลิงชิมแปนซี ที่เขาศึกษา จะใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งหาอาหาร หลับนอน  โดยจะเปลี่ยนที่นอนตลอดเวลา จากต้นไม้หนึ่งไปอีกต้นหนึ่ง  อาหารของพวกมันคือ ผัก ผลไม้ เมล็ดพืช แมลงตัวเล็กต่างๆ เช่น ปลวก มด  มีการล่าสัตว์และกินเนื้อสัตว์บ้างแต่ไม่บ่อย

ลิงชิมแปนซีมีลักษณะของนักล่าสัตว์  เช่น  กินทารกลิงบาบูน ลิงประเภทอื่นๆที่ตัวเล็กกว่า ลิงชิมแพนซี จะล่าเหยื่อโดนเข้ามาด้านหลังแล้วฆ่ามัน ไม่เหมือนลิงบาบูนตรงที่จะช่วยกันล่าเหยื่อเป็นอาหาร

วงจรการผลิตทารกและการสืบพันธุ์ของลิงชิมแพนซี จะเริ่มจากการบวมของอวัยวะเพศ  และจะไม่มีการจับคู่  ลักษณะความสัมพันธ์ทางเพศของลิงชิมแปนซี จึงเป็นแบบสำส่อน  มากกว่าจะเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว ตัวผู้ 10 ตัวอาจรุมตัวเมียตัวเมียตัวเดียว เป็นต้น

การค้นหาความเป็นมาของมนุษย์ โดยเทียบเคียงกับซากดึกดำบรรพ์ และลิงประเภทที่มีหางและไม่มีหาง  ซึ่งเนื่องมาจากความก้าวหน้าของการสำรวจทางชีววิทยา และสัตว์วิทยา ทำให้มีการค้นพบพืชและสัตว์ชนิดใหม่มากขึ้น มีการจัดประเภท จำแนกแยกแยะ และจัดหมวดหมู่สัตว์ประเภทต่างๆเข้าด้วยกัน เช่น เอ็ดวาร์ด ไทสัน  เปรียบเทียบส่วนต่างๆของลิงที่เขาเรียกว่า ปิ๊กมี่  (ลิงชิมแพนซี วัยรุ่น) และเปรียบเทียบลิงมีหาง ไม่มีหาง กับมนุษย์ เขาสรุปว่า ปิกมี่ อยู่ระหว่างเอป และมนุษย์ หรือนักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดน อย่าง ลินเนียส เป็นนักวิชาการคนแรกที่จัดมนุษย์รวมเข้าอยู่ในประเภทเดียวกับพวกแอปหรือลิงไม่มีหาง ในการจัดแบ่งตระกูลสัตว์ออกเป็นไพรเมทต่างๆ  ในหนังสือ Systema Naturae (System of Nature) อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเขาจะจัดมนุษย์และพวกเอปเข้าด้วยกันตามลักษณะทางกายภาพ แต่เขาก็ยังไม่เชื่อว่าทั้งเอปและมนุษย์ มีบรรพบุรุษร่วมกัน เนื่องจากความคิดพื้นฐานของเขายังอยู่บนความเชื่อในเรื่องพระเจ้า

ดังนั้นจากภาพของสัตว์ชนิดดังกล่าวข้างต้น ทำให้เราสามารถมองแนวคิดเรื่องวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ได้ว่า มนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่ง่ายไปสู่สิ่งที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่า  จากความล้าหลังไปสู่ความเจริญก้าวหน้า จากไพรเมทช่วงแรก ที่พัฒนามาเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ออสโตรโรพิเธคคัส โฮโมอีเรคตัส และโครมันยอง เป็นต้น

นักปรัชญาชาวกรีก อย่าง อาร์ซีลาอัส แห่งเมืองมิเลททัส ได้เสนอแนวความคิดในศตวรรษที่ 16 ก่อนพระเยซูเกิด ว่า มนุษย์มีวิวัฒนาการมาจากปลา อยู่ในน้ำ และขึ้นบกมาอยู่บนโลก หรือ ลูเครสติอัส ซึ่งมีอายุในช่วง 99-55 ปีก่อนพระเยซูเกิด ได้เขียนคำกลอนชื่อ “De Rerun Naturura”  เกี่ยวกับต้นตำรับของวิวัฒนาการทางชีวภาพและวัฒนธรรม  เขาบอกว่า ชีวิตพัฒนามาจากอุบัติเหตุของอะตอม มนุษย์ครั้งหนึ่งเคยแก้ผ้า อาศัยอยู่ในถ้ำ และไม่รู้จักใช้ไฟมาก่อน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในสมัยต่อมาที่คริสต์ศาสนามีอำนาจมากอย่างมหาศาล (ยุคคริสเตียน/ยุคมืด) นักบวชชื่อ ออกุสติน (Augustin) บอกว่า มนุษย์ทุกคนสืบเชื้อสายมาจากอาดัมกับอีฟ ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นเมื่อ 6,000 ปีมาแล้ว แนวความคิดดังกล่าว จัดอยู่ในประเภทที่เรียกว่า Monogenetic Conception ที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาจากแหล่งเดียวกัน ซึ่งคล้ายกับความเชื่อในเอเชียหลายประเทศ แต่แนวความคิดดังกล่าวก็ถูกคัดค้านและโต้แย้ง แนวความคิดดังกล่าว โดยนำเสนอสิ่งที่เรียกว่า Polygenetic  ที่มองว่ามนุษย์ในโลกนี้มาจากหลายแห่งแตกต่างกันไป  

          ในยุคของแสงสว่างทางปัญญา หรือยุคที่มีการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ที่มีความสนใจในเรื่องของเหตุผล และธรรมชาติ (สรรพสิ่งที่เป็นอยู่) ภายใต้ความเบื่อหน่ายกับสงครามศาสนาอันป่าเถื่อนเหี้ยมโหด คนได้หันไปให้ความสนใจกับวิทยาศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยการใช้เหตุผลโต้แย้งบทบาทของผู้มีอำนาจ และกลับมาสำรวจตรวจสอบโลกที่ตัวเองยืนอยู่ มีการค้นหาทฤษฎีในการอธิบายมนุษย์และสังคม  โดยเฉพาะงานชิ้นสำคัญของชาร์ลดาร์วิน ที่ได้ให้ภาพความเป็นมาของเผ่าพันธุ์มนุษย์ โดยเฉพาะกฎธรรมชาติ ภายใต้แนวคิดบุคคลโดยธรรมชาติในสังคม การทำสงครามระหว่างชาติในเดือนตุลาคม ค.ศ.1838 เขาได้อ่านงานชิ้นสำคัญของมัลทัส เรื่อง ประชากร   ( Population) ของ อาร์.ที.มัลทัส นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่บอกว่าประชากรโลกจะเป็น 2 เท่า ในทุกๆ 25 ปี โดยไม่นับการทำลายโดยธรรมชาติ  การเติบโตที่ไม่อาจควบคุมได้ดังกล่าว ไม่อาจทำให้เกิดความก้าวหน้าของสังคมได้  ซึ่งได้นำไปสู่แนวความคิดวิวัฒนาการของดาร์วิน ในเวลาต่อมา โดยเขาเชื่อว่า เหตุการณ์ต่างๆ ได้ก่อให้เกิดประเภททั้งหลายขึ้น และดูเหมือนว่าสภาพการณ์ต่างๆ ได้สนับสนุนให้พวกที่เหมาะสมสามารถดำรงอยู่ได้สืบต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับที่มัลทัสบอกว่า ธรรมดาผู้ที่เข้มแข็งกว่าย่อมมีสิทธิ์มากกว่า เช่นเดียวกับกฎธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งดาร์วินคิดว่า สัตว์ในธรรมชาติก็เป็นเช่นเดียวกันกับมนุษย์ และความคิดดังกล่าวก็ถูกนำมาใช้อธิบายในทางการเมืองการปกครองในยุคปัจจุบันในแง่ที่ผู้เข้มแข็งกว่าคือผู้มีอำนาจ เป็นต้น

 

2.ทำไมลิงจึงลงจากต้นไม้มาอยู่บนพื้นดินและมนุษย์เริ่มที่จะล่าสัตว์ในทุ่งหญ้าและป่าดงดิบ

          สิ่งที่เป็นข้อสมมติฐานเบื้องต้นก็คือ

1.       ข้อจำกัดทางด้านอาหาร เมื่อผลไม้บนต้นไม้ลดน้อยลง แต่บริเวณทุ่งหญ้าที่มีพืชพรรณ และสัตว์ป่าอยู่มากมายมากกว่า เมื่อแหล่งอาหารบริเวณนี้มีมากกว่า ลิงและแอปก็ต้องลงมาอาศัยอยู่บนพื้นดิน แทนการอยู่บนต้นไม้

2.       เมื่อมือและเท้าของลิงถูกออกแบบให้สามารถ ปีน ป่ายอยู่บนต้นไม้ได้ อย่างคล่องแคล่วและยาวนานมากกว่าปกติ เมื่อลงมาอยู่บนพื้นดิน หน้าที่ของมือและเท้าก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย จุดนี้เองที่เป็นวิวัฒนาการที่สำคัญของมนุษยชาติ ในการพัฒนาเรื่องมือและเท้า ในการเดินบนพื้นโลก และการหยิบจับอาหาร นักโบราณคดี และนักมานุษยวิทยากายภาพ เชื่อว่า พัฒนาการในเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วง 1-35 ล้านปี

3.       พัฒนาการด้านสมอง  ด้วยความที่มนุษย์ในยุคสมัยใหม่ เช่นโครมันยอง มีขนาดของสมองโตกว่า มนุษย์ในช่วงเริ่มแรก ไม่ว่าจะเป็น ออสโตรโลพิเธคตัส  โฮโมอีเรคตัส  ทำให้มนุษย์มีการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรมได้ก้าวหน้ามากกว่า ทำให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์ ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ไม่ว่า จะเป็นการใช้สัญลักษณ์ ในการติดต่อสื่อสาร เริ่มมีการพัฒนาภาษาพูด และภาษาเขียน มากกว่า การใช้สัญญะ ในการสื่อความต่อกัน หรือการได้รับสิ่งต่างๆ จากยีนส์ทางพันธุกรรม และสัญชาตญาณเท่านั้น แม้ว่าสัตว์จะถูกสอนให้เกิดการเรียนรู้ แต่ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง เท่ากับมนุษย์ เช่น นกแก้วแม้จะสามารถพูดภาษามนุษย์ได้ แต่ไม่สามารถแปลความหมายหรือเข้าใจความหมายของสิ่งที่พูดได้

ประเด็นสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม ก็คือ การเริ่มที่จะรู้จักใช้ไฟ ที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการบริโภค การเริ่มรู้จักรสชาติของอาหารมากกว่า การกินแบบสดสดดังเช่นที่ทำมา และการรู้จักไฟทำให้มนุษย์ในช่วงแรกรู้จักการนำเอาวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มาใช้บริโภคมากขึ้น เช่น การนำหัวเผือกหัวมันมาเผ่า การนำเอาข้าวไร่ ข้าวบาร์เล่ย์ มาหุงต้ม เป็นต้น รวมถึงการใช้พลังงานความร้อนในการถนอมอาหาร เป็นต้น มนุษย์ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด คือ มนุษย์โครมันยอง ที่รู้จักใช้ไฟ ทำเครื่องนุ่งจากขนสัตว์ที่ล่ามาได้ รวมถึงเริ่มมีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ และพัฒนาตัวเองจนกลายมาเป็นมนุษย์โฮโมเชเปียนส์- เชเปียนส์ และคนในชาวไร่ชาวนาในปัจจุบัน

 

 

วิวัฒนาการของมนุษยชาติ  Pliopithecus, Pronconsul, Dryopithecus,  Australopithecus, Paranthropus, Advanced Australopithecus, Homo Erectus, Early Homo Sapiens, Solo Man, & Rhodesian Man , Neanderthal Man, Cro-Magnon Man, Modern Man.


ดังนั้นอาจสรุปว่า สิ่งที่มนุษย์มีร่วมกับสัตว์อื่นๆ  มีดังนี้คือ

1.มีวงจรชีวิตเหมือนสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นๆ ที่มีการเจริญเติบโต การสืบพันธ์ การเจ็บป่วย การแก่เฒ่า และการตาย

2.ความสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากอาณาจักรพืช ที่มักจะอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งถาวร ไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองได้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ทำระหว่างกัน เช่น หาอาหารล่าสัตว์ ป้องกันศัตรู หาหมัดให้กัน  เป็นต้น

3. มนุษย์มีสิ่งที่คล้ายสัตว์ที่มีหลายเซลล์ เพราะมนุษย์มีอวัยวะที่ทำหน้าที่เฉพาะอย่าง เช่น แขน ขา หัวใจ  ตา สมอง เป็นต้น

4. มนุษย์มีลักษณะร่วมกันกับสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง  มีลักษณะภายในกระดูกและกล้ามเนื้อที่ยืดหยุ่น มีระบบประสาทไวต่อความรู้สึก  มีระบบเลือด หัวใจ ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดเลี้ยงร่างกาย

5.มนุษย์มีลักษณะร่วมกับสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม  แต่มนุษย์มีวิวัฒนาการขั้นสูงกว่า  โดยมีการเจริญเติบโตของทารก หรือตัวอ่อนโดยผ่านทางรก เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเอง เป็นสัตว์เลือดอุ่นมีขนตามลำตัว  มีคางที่ตรงจากกะโหลกศีรษะ  มีกระดูก 7 ชิ้นที่คอต่อมาจากกระดูกสันหลัง มีเส้นประสาทสมอง 12 คู่  หัวใจมี 4 ห้อง  มีฟัน2 ชุด ฟันน้ำนมและฟัน

6.มนุษย์มีลักษณะร่วมกับไพรเมท ในการมีสมองขนาดใหญ่กว่าสัตว์ทั่วไป ซับซ้อน มีสายตาดี โดยเฉพาะมิติในการมอง กว้าง ลึก ยาว รวมทั้งมีมือในการใช้จับยึดสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะต้นไม้

3.การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และมานุษยวิทยา

การแบ่งยุคสมัยทางโบราณคดี ออกเป็น 2 สมัย คือ(อ้างจากชิน อยู่ดี : 2512)

1.       สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Pre-Historic Period)  แบ่งออกเป็นยุคหิน (Stone Age)

            สมัยหินเก่า (palaeolithic) สมัยหินกลาง (Mesolithic) สมัยหินใหม่ (Neolithic) ยุคโลหะ (Metal Age)

            สมัยทองแดง (Copper Age) สมัยสำริด (Bronze Age) และสมัยเหล็ก (Iron Age)

2.สมัยประวัติศาสตร์ (Historical Period) เป็นช่วงของการเกิดอารยธรรมต่างๆ เช่น อารยกรรมกรีก อารยธรรมอินเดีย อารยธรรมจีน เมโสโปเตเมีย แถบลุ่มแม่น้ำไทกริส ยูเฟติส เป็นต้น ที่มีการพัฒนาภาษาและการบันทึกเรื่องราว ความรู้ต่างๆ

นอกจากนี้อาจแบ่งจากลักษณะของวัสดุที่นำมาใช้เครื่องมือ เช่น หินหรือโลหะ หรือการพัฒนาการทำเครื่องมือเครื่องใช้ จากหยาบไปสู่ละเอียดประณีต เช่น ขวานหินกะเทาะ มาสู่ ขวานหินขัด เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาในเรื่องของการตั้งถิ่นฐาน เทคโนโลยี การดำรงชีวิตและการเพาะปลูกซึ่งมีความแตกต่างกัน

การแบ่งยุคสมัยตามสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

โดยพิจารณาจากสภาพสังคม การดำเนินชีวิต การตั้งถิ่นฐาน สภาพแวดล้อม ความเจริญทางเทคโนโลยี และทางวัฒนธรรม โดยแบ่งออกเป็นดังนี้

1.       สังคมล่าสัตว์และหาของป่า (Hunting and Food Gathering Society) 

2.       สังคมเกษตรกรรม (Village Farming Society)

3.       สังคมเมือง (Urban Society)

เราอาจแบ่ง สังคมมนุษย์ในสังคมต่างๆทั่วโลก  ออกเป็น 3 ระดับ ในแง่ของวิวัฒนาการ

1.สังคมดั้งเดิม (Primitive Society) นับเป็นสังคมแบบแรกที่สุดของมนุษยชาติ ผู้คนจะอาศัยอยู่บริเวณป่าดงพงไพร ตามริมทะเล หมู่เกาะ หรือตามภูเขา ไหล่เขาต่างๆ ผู้คนในสังคมจะเป็นสมาชิกของเผ่าพันธุ์หรือชาติวงศ์ (Tribe or Band) เป็นระยะแรกก่อนพัฒนาการและการปฏิวัติทางการเกษตรครั้งแรก ผู้คนหากินตามธรรมชาติล่าสัตว์ หาของป่า ยังไม่สามารถนำเอาสัตว์มาเลี้ยง เอาพืชมาปลูก  กิจกรรมการล่าสัตว์เป็นแบบมีส่วนร่วม  ผู้นำทางศาสนามีส่วนร่วมในแง่พิธีกรรม หรือเสริมโชคในการล่าสัตว์  หัวหน้าของสังคมเป็นนักล่าสัตว์ที่เข้มแข็งและมีฝีมือ เมื่อล่าสัตว์ได้แล้วก็นำมาชำแหละแบ่ง โดยให้ส่วนดีๆ แก่หัวหน้าและผู้นำทางศาสนา  ส่วนที่กินไม่ได้พวกหัวก็เอาไว้สังเวยให้กับพระเจ้าประจำเผ่า ส่วนอื่นก็แบ่งแจกจ่ายตามครอบครัวต่างๆ  ความรู้ของคนกลุ่มนี้ เป็นความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ ตามที่ เอ็ดวาร์ด บี ไทเลอร์ พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า Animism หรือ ลัทธิวิญญาณ เพื่อคลายความหวั่นวิตก เกี่ยวกับความกลัว เภทภัยธรรมชาติต่างๆ  ซึ่งกลุ่มชนเผ่าได้ผลิตซ้ำผ่านพิธีกรรม (Ritual) นิทานปรัมปราท้องถิ่น (Mythology) สัญลักษณ์ประจำเผ่า (Totem)

2.สังคมชาวไร่ชาวนา (Peasant Society) เกิดขึ้นหลังจาการปฏิวัติทางเกษตรกรรมครั้งที่1 (The First Agricultural Revolution) เมื่อประมาณเกือบหมื่นปีมาแล้ว ลักษณะสำคัญของสังคมแบบนี้ก็คือ การที่มนุษย์เริ่มเปลี่ยนวิถีการดำรงชีพ จากการล่าสัตว์และหาของป่า มาเป็นการนำพืชบางชนิดมาเพาะปลูก และเอาสัตว์มาเลี้ยง (Plant and Animal Domestication )

โดยการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เป็นเสมือนกับหลักประกันในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การป้องกันความอดอยาก การรวมกันอยู่เป็นชนเผ่า (Band) ได้ค่อยๆพัฒนาและเปลี่ยนมาเป็นการตั้งชุมชนเป็นหมู่บ้าน (Village)  ทำให้การครอบครองที่ดินเริ่มมีความสำคัญ เนื่องจากที่ดินกลายเป็นสิ่งที่มีราคาแพง ทำให้เศรษฐกิจแบบล่าสัตว์และหาของป่าเริ่มหมดความสำคัญลงไป มนุษย์เริ่มอยู่เป็นที่เป็นทาง ทำการเพาะปลูก เพื่อแลกเปลี่ยน และยังชีพเป็นหลัก และมีช่วงเวลาทำการเกษตรตามฤดูกาล ทำให้คนมีเวลามากขึ้น ในการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้  และทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน  เช่นการจักสาน ทอผ้า ปั้นหม้อ เป็นต้น

การมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องมีการหาอาหารเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการถากถางพื้นที่ป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการเพาะปลูก ทำให้มีผลผลิตส่วนเกินเพิ่มสูงขึ้น มีการแลกเปลี่ยนกับภายนอกมากขึ้น ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาการค้าขายโดยใช้เงินเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนมากขึ้น ทำให้สังคมชาวไร่ชาวนา เข้าไปมีความสัมพันธ์กับระบบตลาดของเมือง และรัฐมากขึ้น ตลาดจึงเป็นพื้นที่สำคัญในการเป็นศูนย์กลางของการติดต่อแลกเปลี่ยน ระหว่างพ่อค้า กับชาวไร่ชาวนา ซึ่งเป็นผู้ทำการผลิต

ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างชาวไร่ชาวนา เป็นความสัมพันธ์ที่ยังมีลักษณะของความเป็นเครือญาติค่อนข้างสูง มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน ยังมีความเชื่อในสิ่งที่เหนือธรรมชาติ การนับถือผี มีพิธีกรรม เกี่ยวกับชีวิต และการเพาะปลูก  มีการใช้เทคโนโลยีทั้งในระดับที่ง่ายถึงระดับสูง บางครั้งมีการผสมผสานระหว่าง แรงงานคน สัตว์ และเครื่องจักร  ต่อมาเมื่อมีวิวัฒนาการทางด้านการเมืองการปกครอง มีการรวมตัวกันภายใต้สังคมแบบนครรัฐ (City-State) ชุมชนหมู่บ้านชาวนาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐนคร หรือรัฐชาติสมัยใหม่  และอยู่ภายใต้การควบคุม ปกครองจากรัฐเหล่านั้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  นักสังคมวิทยาส่วนใหญ่มองว่า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นชาวไร่ชาวนา เช่น ประเทศไทย จึงเรียกว่า เป็นสังคมเคร่งประเพณี (Traditional Society) เพราะยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเหนียวแน่น   ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันก็คือ การที่สังคมเคร่งประเพณี  พยายามหาหนทางพัฒนาสังคมของตนให้เจริญก้าวหน้า เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว การพัฒนาประเทศ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะสังคมจากสังคมเกษตรกรรมโบราณ มาสู่สังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ หรืออาจเรียกว่า สังคมที่กำลังเปลี่ยนรูปหรือเปลี่ยนแปลง (Transition Society)

3.สังคมสมัยใหม่ (Modern Society) เป็นสังคมที่เกิดขึ้นในระยะหลังสุด การกำเนิดสังคมแบบนี้ก็เมื่อประมาณ 200 กว่าปี  สาเหตุของการเกิดมีสังคมสังคมสมัยใหม่ก็คือ การเกิดขึ้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ซึ่งเกิดขึ้นในทวีปยุโรป คือ ประเทศอังกฤษก่อนเป็นประเทศแรก แล้วจึงค่อยแพร่กระจาย ขยาย ไปในยุโรปตะวันตก และในอเมริกาเหนือ คือ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา โดยการอพยพของคนยุโรปเข้าไปในประเทศนั้น  เช่น ภาพยนตร์ใบ้ขาวดำอย่าง ชาลี แชบปลิน  ที่สะท้อนให้เห็นการทำงานของระบบอุตสาหกรรม การตอกบัตร การแยกระบบการผลิตออกเป็นส่วนๆ  การกำหนดเวลาทำงาน เวลาหยุดพัก เวลาเลิกงาน และสภาวะการว่างงาน รวมถึงการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานในการเรียกร้องสิทธิจากการถูกนายจ้างไล่ออก หรืองานเขียนของ ชาร์ล ดิกเก้น ในเรื่อง Two City และ Oliver Twist  ที่สะท้อนให้เห็นภาพของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ที่สร้างความเสื่อมโทรม ไร้ศีลธรรมให้กับคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาอาชญากรรม การว่างงาน การไร้สวัสดิการ เป็นต้น ในขณะเดียวกันการปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้ทำให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรม (Factory) ที่ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้มากมาย ภายในระยะเวลาอันสั้น  รวมถึงมีความสะดวกในการติดต่อระหว่างกัน และการคมนาคมขนส่งสะดวกมากขึ้น การค้าขายพัฒนาไปสู่เรื่องของพันธสัญญาระหว่างกันมากกว่า การติดต่อโดยการเผชิญหน้ากัน เพราะความก้าวหน้าของระบบการสื่อสารแบบไร้สาย เป็นต้น

ในช่วงนี้อาจเรียกได้ว่า เป็นช่วงของการปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งที่ 2 โดยมีการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น เพื่อรองรับการผลิตในเชิงพาณิชย์ ความแตกต่างระหว่างสังคมสมัยใหม่ กับสังคมชาวไร่ชาวนาก็คือ สังคมสมัยใหม่ คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและให้บริการ ได้รายได้เป็นรายเดือน คนส่วนน้อยเท่านั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม

เมื่อรวมแนวความคิด การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี เข้ากับ ทางมานุษยวิทยา สามารถแสดงได้ดังนี้คือ (อ้างจากปรีชา กาญจนาคม,2540 : 72)

 

แบบที่หนึ่ง

แบบที่สอง

 สมัยหินเก่า (Palaeolithic)

 สมัยหินกลา(Mesolithic)

 สมัยหินใหม่ (Neolithic)

 

ยุคสังคมล่าสัตว์และหาของป่า (Hunting and Food Gathering Society)

 

 

 

  ยุคโลหะ (Metal Age)

   ยุคสังคมเกษตรกรรม

(Village Farming Society)

-สมัยก่อนใช้โลหะ (Premetal Period)

-สมัยที่มีการใช้โลหะ (Metal Period)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สมัยก่อนประวัติ  ศาสตร์

ยุคโลหะ

ยุคหิน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


อาจกล่าวได้ว่าสังคมชาวไร่ชาวนาหรือสังคมเกษตรกรรม เป็นสังคมที่เกิดขึ้นบนรอยต่อระหว่างปลายยุคหินใหม่และยุคโลหะ ที่มนุษย์เริ่มมีการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ โดยเฉพาะเครื่องทุ่นแรงในการทำการผลิต มีการตั้งชุมชนอยู่เป็นหลักแหล่งมากขึ้น โดยมีการทอผ้า ทำเครื่องนุ่งห่ม และมีการหลอมโลหะทำเครื่องประดับ อาวุธ ในยุคนี้เองที่มนุษย์เริ่มมีการเพาะปลูกและนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง อย่างเช่นอารยะธรรม 5,000 กว่าปี ของบ้านเชียงที่ขุดพบที่จังหวัดอุดรธานี มีการพบเครื่องปั้นดินเผา กำไลที่ทำจากสำริด เครื่องประดับ และการฝังศพแบบเหยียดตรง (Primary Burial) รวมถึงการพบซาก กระดูกวัวควาย ไก่  หรือเศษข้าวเปลือก ที่ทำให้นักวิชาการบางส่วนเชื่อว่าอารยะธรรมในยุคบ้านเชียง น่าจะมีความเจริญก้าวหน้า ในเรื่องของการเพาะปลูก มีการทำการเกษตรแบบเลี้ยงชีพและเลี้ยงสัตว์  ซึ่งก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานและการตีความของนักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยา  ดังที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม(2546 : 86) บอกว่า ไม่มีการค้นพบคันไถและผาลไถนา แต่จากการค้นพบภาพสลักอิฐบนผนังเจดีย์พระธาตุนครพนม ซึ่งมีอายุราวพุธศตวรรษที่14-15 ที่ปรากฏภาพควายกำลังถูกล่า  ก็สะท้อนได้ว่าควายอาจจะถูกนำมาเลี้ยงและใช้ในงานอื่นที่ไม่ใช่การไถนาก็เป็นได้

นักโบราณคดีส่วนหนึ่งมองว่า การพัฒนาการเพาะปลุกของมนุษย์ เริ่มในปลายยุคน้ำแข็งหรือสมัยไพลสโตซีน[2] เข้าสู่สมัยโฮโลซีนตอนต้น (ประมาณ 11,000 ปี)หรือยุคที่เรียกกันว่า ยุคหินใหม่ (Neolithic Age) โดยกลุ่มคนบางกลุ่มเริ่มเปลี่ยนแบบแผนจากการล่าสัตว์ ตกปลา และหาเก็บพืชป่า มาเป็นการผลิตอาหารเอง (Food Producing)  เช่น ข้าวไรย์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าว ข้าวฟ่าง และข้าวโพด  รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ สุกร วัว ควาย แพะและแกะ  นักโบราณคดีบางคนเรียกว่า เป็นการปฏิวัติยุคหินใหม่ (Neolithic Revolution) พื้นที่ทีพบหลักฐานการเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีพจากการหาอาหาร มาผลิตอาหารเอง คือ บริเวณตะวันออกใกล้ (Near East) ตะวันออกกลางและเอเชียไมเนอร์ หรือยูโรเชีย แถบประเทศตุรกีในปัจจุบัน  ซึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่ก็มีปัจจัยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน อย่างในแถบดินแดนโลกใหม่ (New World) เช่น ทวีปอเมริกา รวมถึงอเมริกากลางและอเมริกาใต้ การเพาะปลูกได้กำเนิดและพัฒนาขึ้นมาอย่างอิสระในช่วง 7,000 ปี และน่าสนใจว่า กลุ่มคนล่าสัตว์และเก็บของป่าคือผู้ริเริ่มทำการเพาะปลูก ไม่ใช่กลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร(อ้างจากธนิก เลิศชาญฤทธ์ : 2550)

โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตามมาจากการเพาะปลูกก็คือ การเกิดชุมชนขนาดใหญ่และการจัดระเบียบมีความซับซ้อนมากขึ้น มีการแบ่งหน้าที่บทบาทชาย-หญิง มีการตั้งเป็นหมู่บ้าน และกลายเป็นชุมชนเกษตรกรรม มีการพัฒนาการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต ทั้งการใช้พื้นที่มากขึ้น และคิดค้นเทคโนโลยีทางการเกษตร การพัฒนาระบบชลประทาน ตั้งแต่แบบง่ายไปจนถึงซับซ้อน จนเมื่อมีผลผลิตมากขึ้น ผลผลิตส่วนเกินก็มีมากขึ้น มีการติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยน  เริ่มมีการจัดแบ่งชนชั้นทางสังคม จากการสะสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่การสร้างการยอมรับ บารมี และสถานภาพทางสังคม รวมถึงการแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เพียงสินค้าสำหรับบริโภค แต่ยังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยด้วย อันนำไปสู่แบบแผนของการบริโภคของมนุษย์ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสถานภาพและบทบาทของพวกเขาในสังคม

ดังนั้นสรุปได้ว่าการพัฒนาของชุมชนเกษตรกรรมในโลกเริ่มขึ้นเมื่อ 11,000 ปี ก่อนหน้านั้น ประมาณ 100,000-12,000 ล้านปี ซึ่งเป็นช่วงที่บรรพบุรุษมนุษย์เกิดขึ้นมา และดำรงชีพด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์ รวมถึงพัฒนาวัฒนธรรมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ประเพณีการฝังศพ การทำเครื่องประดับ เครื่องใช้ จำพวกขวานหิน  ซึ่งแบบแผนการบริโภคก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ในแถบเอเชีย เริ่มจากแถบเอเชียตะวันออกกลางเมื่อประมาณ 5,000 ปี และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาเมื่อ 1,500-1,000 ปี โดยเฉพาะอารยธรรมโบราณที่สำคัญของโลก เช่น อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ อารยธรรมอียิปต์ อารยธรรมฮวงโห และแยงซีเกียง อารยธรรมกรีก อารยธรรมอเมริกากลาง และอารยธรรมแถบเทือกเขาอินดีสในอเมริกาใต้ ซึ่งมีวิวัฒนาการต่อยอดมาจากสังคมเกษตรกรรม จนเมื่อชุมชนเกษตรกรรมพัฒนามาสู่การเป็นรัฐ ทำให้มีคนชนชั้นต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ทั้ง กษัตริย์  ขุนนาง พ่อค้า นักบวช ช่างฝีมือ ทาส และอื่นๆ ซึ่งมีบางกลุ่มไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตอาหาร แต่เป็นผู้บริโภคและขูดรีดเอาผลผลิตส่วนเกินของชาวนาชาวไร่มาเป็นของตัวเอง บางกลุ่มก็ทำหน้าที่ผลิตอาหารและเอาผลผลิตบางส่วนหรือทั้งหมดมาบริโภคหรือแลกเปลี่ยนกับผลผลิตชนิดอื่นที่ตัวเองผลิตไม่ได้

4.สังคมชาวไร่ชาวนา กับนิทานปรัมปรา ที่สัมพันธ์กับเรื่องของการเพาะปลูก

ตำนานที่สัมพันธ์กับการสร้างโลก การเกิดของมนุษย์ และความอุดมสมบูรณ์

          ส่วนใหญ่แล้วสังคมเกษตรกรรม โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์ จะมีตำนานความเชื่อที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชผล  ความอุดมสมบูรณ์ การก่อกำเนิดของมนุษย์และการสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ในที่ต่างๆของโลก รวมถึงการก่อกำเนิดของโลกที่เราอยู่ ตำนานต่างๆ เป็นส่งที่ถูกบอกเล่าทางมุขปาถะ (Oral Tradition) หรือบอกเล่าโดยปากต่อปากต่อกันมา และการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (Literary Tradition) ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในเรื่องของเนื้อหา ชื่อบุคคล หรือ เหตุการณ์ต่างๆ ของเรื่อง แต่ทุกๆเรื่องมีประเด็นหลักหรือแกนหลักร่วมกันคือ เป็นเรื่องของความอุดมสมบูรณ์  การกำเนิดชาติวงศ์มนุษย์ การกำเนิดของข้าว วิธีการทำนา การตั้งบ้านเมืองและการกำเนิดและการสร้างโลก (Creation Myth) ซึ่งสะท้อนให้เห็นโลกทัศน์ ความเชื่อ ของผู้คนในวัฒนธรรมนั้นๆ โดยเฉพาะชนชาติไทกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไทยวน-ล้านนา ไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ ลาว-อีสาน  ไทดำ ไทขาว ไทจ้วง ไทอาหม ที่มีวัฒนธรรมพื้นฐานสัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ที่ดิน น้ำและแร่ธาตุและการเกษตรกรรม จนอาจเรียกได้ว่าเป็นสังคมชาวไร่ชาวนาในปัจจุบันตำนานต่างๆที่สำคัญมีดังนี้คือ

          1.ตำนานการสร้างโลก เช่น ปู่สังกะสาย่าสังกะสี  เกี่ยวกับการสร้างมนุษย์คู่แรกชาย-หญิง คล้ายกับเรื่องอดัม กับอีฟที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนา ในตำนานนี้ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี ก็คือมนุษย์คู่แรกของโลก ที่พระอินทร์ หรือพระพรหม ส่งลงมาเกิด หรือบางตำนานก็บอกว่า ไฟไหม้โลก7 วัน 7 คืน แล้วเกิดฝนตก กลิ่นดินหอมไปถึงเมืองสวรรค์ พวกเทวดาและพรหม ลงมากิน พรหมชายชื่อสังสี พรหมหญิงชื่อสังไส้  ต่อมาได้เป็นผัวเมียกัน มีลูกชาย 1 คน พ่อสังสีแม่สังไส้ ก็เอาดินมาปั้นเป็นลูกสัตว์ให้ลูกเล่น ต่อมาก็มีลูกอีก 12 คน 12 ราศี ก็ปั้นเป็นรูปสัตว์อีก 12 ชนิด  ปู่แถนย่าแถนสร้างโลก

          ในตำนานอีสาน จากมูลปฐมพันนา หนังสือก้อม ของวัดบ้านหนองล่ม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เล่าว่า พระพุทธเจ้าอธิบายว่าเดิมทีจักรวาลมีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีดวงอาทิตย์ วงจันทร์ พระพุทธเจ้าบริกรรมคาถาจนเหงื่อไคลไหล เอาเหงื่อไคลผสมน้ำและดิน ปั้นเป็นรูปปู่สังกะสาย่าสังกะสี ทั้งคู่กินอาหารทิพย์ ไม่มีราคะ ต่อมากินข้าว เกิดตัณหา ร่วมประเวณี มีลูก 8 คน ทั้งสองเอาสัตว์ 8 ชนิดให้ลูกเล่น สัตว์เหล่านี้เป็นพาหนะประจำทั้ง 8 ทิศ พระพุทธเจ้าแนะให้ปู่ย่าประกอบความดี พระพุทธเจ้าเอาเหงื่อไคลผสมดินปั้นเขาพระสุเมรุ

2.ตำนานเกี่ยวกับการกำเนิดชาติวงศ์ของมนุษย์ เช่น ตำนานน้ำเต้าปรุง ในพงศาวดารล้านนา แถนซึ่งเป็นใหญ่อยู่บนฟ้า ได้สั่งให้คนหาข้าวปลามาถวาย คนทั้งหลายไม่ยอมทำ จึงสั่งให้เกิดน้ำท่วม  ปู่ลางเซิง ขุนคาน จึงเอาไม้มาทำแพ เอาลูกเมียไว้บนแพ แล้วหนีไปอยู่เมืองฟ้า ต่อมาแถนบันดาลให้น้ำแห้ง และส่งควาย ลงมาที่นาน้อยอ้อยหนูให้คนทำนา ต่อมาควายตาย เกิดมีน้ำเต้าปรุงที่ซากควายตาย ปู่ลางเซิงเอาเหล็กมาจี้ที่น้ำเต้าปรุง คนไหลออกมา 3 วัน 3 คืน เป็นคนชาติพันธุ์ต่างๆ ปู่ลางเซิงสอนให้คนทำนาทอผ้า ปู่ส่งท้าวบูลมมาปกครอง ท้าวบูลมมีลูก 7 คน ส่งลูกไปครองในดินแดนต่างๆ

หรืออีกสำนวนหนึ่ง ของชาวหลวงพระบาง (อ้างจากศิราพร ณ ถลาง ,2545 :64 ) มีน้ำเต้าใหญ่ มีเสียงดัง แถนอยากรู้ว่ามีอะไรในน้ำเต้า ทีแรกเอาสิ่วมาเจาะ คนเบียดกันออกมา เป็นพวกผิวดำ คือ พวกลาวเทิง ต่อมาเอาเหล็กจี้ คนผิวขาวออกมา เป็นพวกลาวลุ่ม คือ ลาว ไทดำ ลื้อ

สำนวนจาก ความโทเมือง จากเมืองม้วย ของ J.R.Chamberlaine (1975) บอกว่า  แต่เดิมฟ้าดินอยู่ใกล้กัน แต่ปู่เจ้าตัดเครือเขากาด(เถาวัลย์) ที่พันฟ้าดินออก ฟ้าดินจึงอยู่ไกลกันดังทุกวันนี้ ปู่แถนทำให้โลกแล้ง และทำให้ฝนตกน้ำท่วม  สัตว์และคนตายหมด แถนให้ปู่แถนเอา 8 หมากน้ำเต้าปรุง มายังโลก ในหมากเต้าปรุงมี 330 แบบตัวคน 3330แบบข้าว 330 แบบตัวปลา ท้าวเงินเอาหมากเต้าปรุงมาเมืองลอ ท้าวเงินมีลูก 7 คน คนโตคือท้าวลอ ท้าวลอ มีลูก 7 คน ท้าวเจืองเป็นลูกคนที่7 เป็นปู่เชื้อของไทดำเวลานี้

          ในอีกตำนานหนึ่ง ของชาวไท-ขาว เกี่ยวกับย่าบ่มย่าบาย หมากเต้าปรุง บอกว่า แต่ก่อนฟ้าดินอยู่ใกล้กัน ต่อมาน้ำท่วมโลก แถนให้ย่าบ่มย่าบาย ลงมายังโลก ย่าบ่มย่าบายเอาดินมาปั้นเป็นตัวคน ต้นไม้ และสัตว์ แล้วเอาใส่หมากเต้าปรุง แถนจี้หมากเต้าปรุง คนรุ่นแรกออกมาเป็นข่า ขมุ ต่อมาเป็นญวน ลาว ไทลื้อ

          3.ตำนานการทำการเกษตร ในตำนานของชาวจ้วง เรื่องปู้โล่โถ เล่าว่า ไข่หินมหึมาหล่นจากฟ้า เกิดเป็นชายสามพี่น้อง พี่คนโตเป็นเทพแห่งสายฟ้า คนรองเป็นเจ้าทะเล คนเล็กอยู่บนดินชื่อปู้โล่โถ ปู้โล่โถ ปั้นดินเหนียวเป็นรูปควาย สอนให้ชาวจ้วงปลูกข้าวทำนา สอนให้จับปลา เลี้ยงสัตว์ พวกเป็ด ไก่ สร้างบ้านเรือน เมื่อปู้โล่โถมีลูกชื่อ ปู้เผก ต่อมาน้ำท่วมโลก ปู้เผกจมน้ำตายเกิดเป็นดาวคู่ท้องฟ้า

ตำนานปู่สังกะสาย่าสังกะสี ของชาวไทลื้อในมณฑลยูนาน เล่าว่า แผ่นดินโล่งเตียน ทะเลเวิ้งว้างว่างเปล่า จอมแถนฟ้าส่งปู่สังกะสา ย่าสังกะสี นำน้ำเต้าวิเศษมายังพื้นโลก ปู่ย่าทุบน้ำเต้าแตก แล้วเอาเมล็ดพืชโยนขึ้นฟ้าและหว่านบนดิน ร้อยปีต่อมา ปู่ย่าเอาดินเหนียวมาปั้นรูปคน ปู่ปั้นผู้ชาย ย่าปั้นผู้หญิง และให้จิตวิญญาณ ปู่-ย่าปั้นรูปสัตว์ต่างๆและให้ชีวิต รวมทั้งสอนให้ทำนาและหาอาหารกิน

ตำนานพระแม่โพสพ การบูชาลึงค์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ โดยใช้ข้าวเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่เทียบเคียง หรือเป็นสัญลักษณ์ของพระแม่โพสพ ที่ให้ความอุดมสมบูรณ์  ในช่วงที่ข้าวเริ่มออกรวง หรือเริ่มตั้งท้องออกดอก ก็จะต้องมีการทำพิธีกรรมเช่นบุญข้าวประดับดิน เพราะพระแม่โพสพก็เหมือนกับผู้หญิงมีครรภ์ทั่วไป (ลูเซียน แฮงส์,2527 : 26) ท่านจะโปรดแป้งหอมและผลไม้ที่มีรสฝาดขม  ข้าวจึงเหมือนกับมนุษย์ที่ต้องมีขวัญ ซึ่งเราเรียกว่า ขวัญข้าว หรือลูกของพระแม่โพสพ การเก็บเกี่ยวต้องมีพิธีกรรมเก็บขวัญและนำไปไว้ที่ยุ้งข้าว เมื่อมีการขายข้าว ผู้ซื้อที่มาจากโรงสี ก็จะเอาข้าวไปทั้งหมด แต่ต้องคืนขวัญข้าวให้กับชาวนาเต็มกำมือเพื่อให้มีข้าวเพาะปลูกและตั้งท้องในปีต่อไป

จากตำนานดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นความเป็นสากลของนิทานปรัมปรา เมื่อเราพูดถึงเรื่องของการสร้างโลก ที่เริมต้นจากเภทภัยครั้งใหญ่ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ไฟไหม้โลก น้ำท่วม ซึ่งมักจะเกิดขึ้นจากผู้ควบคุมโลก หรือผู้ยิ่งใหญ่บนฟ้า เช่นพญาแถน ซึ่งเป็นความเชื่อของคนในอุษาคเนย์ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของชาติตะวันตกที่นับถือคริสต์ศาสนา ที่มีการระบุไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการสร้างมนุษย์คู่แรกของโลกที่เต็มไปด้วยบาป คือ อดัมกับอีฟ และการสร้างโลก  โดยเฉพาะการกล่าวถึงเหตุการณ์ไฟไหม้เมือง Soldom ซึ่งเป็นเมืองแห่งบาป และการเกิดน้ำท่วมโลก ทำให้โนอาห์ (Noar Arh) ได้สร้างเรือขนาดใหญ่ เพื่อพาผู้คนที่บริสุทธิ์จากบาป ซึ่งก็คือครอบครัวของโนอาห์ ที่ประกอบด้วย โนอาห์และภรรยา ลูกชาย2 คน ลูกสะใภ้2 คน และสัตว์ทุกชนิดบนโลกที่อนุญาตให้ขึ้นเรือได้ชนิดละ 2 ตัว ตัวผู้กับตัวเมียเท่านั้น จนกระทั่งโนอาห์ต้องล่องลอยในทะเลนานหลายเดือน ทั้งการต้องถูกทดสอบความเชื่อมั่นต่อตัวพระเจ้า จนกระทั่งหมดข้อสงสัยและโนอาห์และลูกก็มาพบเกาะที่จะสามารถทำการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ และลูกๆของเขาก็แยกย้ายกันออกไปตั้งที่อยู่ใหม่สร้างครอบครัวใหม่

นอกจากนี้เรายังเห็นเรื่องของการกำเนิดของมนุษย์ ไม่ว่าจะถูกสร้างโดยพระเจ้า หรือแถนสร้างมนุษย์ พืชและสัตว์และนำเอามาบรรจุไว้ในน้ำเต้า หรือปั้นเป็นก้อนดินเหนียว ปั้นจากคราบ เหงื่อไคล หรืออาจไม่ได้เกิดจากพระเจ้าหรือแถนบนฟ้า แต่อาจเกิดขึ้นจากธรรมชาติ เช่น จากน้ำเต้า หรือ ฟักทอง  หรือ เป็นเทวดา ชายหญิง 10 องค์ที่จะจุติไปเป็นต้นชาติมนุษย์ ที่ได้เข้าไปอยู่ในน้ำเต้า ต่อมาน้ำเต้าไปตกบนเขาแล้วแตกออก คนชาติพันธุ์ต่างๆ ออกมาตามลำดับ ข่า ไทดำ ลาวพุงขาว ฮ่อ แกว  พวกนี้ไม่อาบน้ำ ร่างกายจึงหมองคล้ำ ซึ่งแตกต่างจากผู้ไทและลาวที่อาบน้ำจึงมีผิวขาวนวล ผู้ไทไปตั้งเมืองแถง พวกข่าเกียจคร้านไปอยู่ตามภูเขา เป็นต้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดจากสภาวะน้ำท่วม ที่ทำให้ผู้คนและสัตว์ล้มตาย พร้อมๆกับการก่อกำเนิดชีวิตใหม่ เช่นเดียวกับไฟไหม้ป่าของแอฟริกาในฤดูแล้ง และการเกิดฝนตกใหญ่ในช่วงฤดูมรสุม ที่ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆที่เคยถูกเปลวไฟเผาไหม้ ได้ฟื้นตัวเองและเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เริ่มงอกขึ้นมาบนพื้นดิน กลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญกับมนุษยชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นวัฏจักรของธรรมชาติ

สังคมในอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีพื้นฐานการดำรงชีพ ภายใต้เรื่องของเกษตรกรรม การทำนาปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ รวมถึงวัฒนธรรมในที่ต่างๆ ของโลก ที่พัฒนามาจากการขุดหาหัวเผือกหัวมัน ตามธรรมชาติมาทำการเพาะปลูกแบบติดที่ดิน ดังเช่นอารยธรรรมในแถบลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟติส  ที่มีการเพาะปลูกข้าวบาร์เล่ ข้าวสาลีและข้าวฟ่าง  จนกระทั่งมีการพัฒนาเป็นพันธุ์ข้าวในปัจจุบัน ซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต ที่เริ่มจากง่ายสุด คือ การหว่านให้เกิดตามธรรมชาติ มาสู่การใช้ไม้ขุดเป็นหลุมและยอดเมล็ดลงไป จนกระทั่งมีการค้นพบโลหะมีการทำคราดและไถเหล็ก จอบ เสียม ทำให้เทคโนโลยีของการผลิตก้าวหน้ามากกว่าเดิม และพัฒนามาเป็นเกษตรกรรมแบบเข้มข้น ที่มีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือในการเกษตร รวมทั้งมีการใช้แรงงานจากเครื่องจักรกลแทนแรงงานจากสัตว์และคน

5.ความสัมพันธ์ของชาวไร่ชาวนากับรัฐสมัยใหม่

สังคมชาวนากับพัฒนาการเป็นรัฐ

ความเจริญก้าวหน้าและพัฒนาการของมนุษยชาติในที่ต่างๆของโลกล้วนมีความแตกต่างกัน สิ่งที่เป็นลักษณะร่วมกันของมนุษย์บนโลกก็คือ การเป็นมนุษย์ (Homosapiens-sapiens) ซึ่งแตกต่างจากสัตว์โลกอื่นๆ ในแง่ที่เป็นสัตว์สังคม (Social Animal) ทำให้มีความสามารถในการเรียนรู้ในเรื่องของการใช้ภาษา และระบบสัญลักษณ์ ในการสร้างสรรค์สังคมและวัฒนธรรม

ดังที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้อ้างถึงนักโบราณคดีชาวอังกฤษ ชื่อ กอร์ดัน ชายด์ (Gordon Childe,1952 :23) ในการเสนอขั้นตอนหรือวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ออกเป็น 3 ขั้นคือ

1.การเปลี่ยนแปลงจากยุคหินเก่ามาสู่ยุคหินใหม่ (Neolithic revolution)

2.การพัฒนาการเข้าสู่สังคมเมือง (Urban revolution)

3.การปฏิวัติอุตสาหกรรม ( Industry revolution)

โดย กอร์ดอน ชายด์ (Gordon Child) อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างทางสังคม และวัฒนธรรม ที่เป็นพื้นฐานในการศึกษาพัฒนาการของรัฐ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนผ่านจากยุคหินเก่าไปสู่ยุคหินใหม่ ที่เรียกว่า การปฏิวัติสมัยหินใหม่ (Neolithic Revolution)เป็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแบบการแสวงหาอาหารตามธรรมชาติ(Food Gathering economy) โดยการเก็บผลหมากรากไม้ และการล่าสัตว์จับปลา ด้วยข้อจำกัดในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ และการควบคุมปริมาณการผลิตไม่ได้  ทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นเศรษฐกิจแบบการผลิตอาหาร (Food Producing economy) ซึ่งได้แก่ การเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ ทำให้มนุษย์สมารถควบคุมและผลิตอาหารได้ปริมาณหนึ่ง มีการสะสมอาหาร ซึ่งถือเป็นผลผลิตส่วนเกิน (Surplus) ที่ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้ ในนัยหนึ่งก็เพื่อเป็นแรงงานในการผลิต ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับการขยายพื้นที่การเพาะปลูกเพิ่มขึ้น และเนื่องจากระยะเวลาในการเพาะปลูกคงที่ และเป็นไปตามฤดูกาล ทำให้คนกลุ่มต่างๆ สามารถพัฒนาความชำนาญเฉพาะของตน  เช่นงานฝีมือต่างๆ อย่างปั้นหม้อ แกะสลัก งานไม้ หลอมโลหะ ทอผ้า เป็นต้น ทำให้เกิดลักษณะของการแบ่งหน้าที่กันในหมู่บ้าน เช่นทำหน้าที่ดูแลป้องกันภัยจากข้าศึกศัตรู เป็นหมอรักษาโรคพื้นบ้าน เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม เป็นหมอผี หมอธรรม หมอทรง เป็นต้น

ต่อมาเมื่อมนุษย์ค้นพบโลหะ และสามารถนำโลหะชนิดต่างๆมาใช้ประโยชน์ เช่น ทองแดง ดีบุก ตะกั่ว และเหล็ก ทำให้ยุคหินใหม่ได้พัฒนามาสู่ ยุคโลหะ ที่ไม่ได้สะท้อนให้เห็นเพียงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังปรากฏว่าวิถีการผลิตแบบพอยังชีพก็ยังคงมีเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงนี้ได้นำไปสู่กระบวนการกลายเป็นสังคมเมือง และการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะลักษณะการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงตามสถาพภูมิศาสตร์ ลักษณะทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติที่เปลี่ยนไป

นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยา ได้ให้คำอธิบาย ถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ว่ามีอยู่ 2 ลักษณะหลัก ดังนี้คือ

1.  การตั้งถิ่นฐานในเขตที่สูง หรือ High Land  ชุมชนมนุษย์บนพื้นที่แห่งนี้ ก็ต้องพึ่งพาการเพาะปลูกเป็นหลัก  โดยส่วนใหญ่เป็นการเพาะปลูกแบบไร่เลื่อนลอย (Slash and Burn Cultiivation) ส่งผลให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ต้องมีการอพยพตั้งถิ่นฐานใหม่ตลอดเวลาเพื่อโยกย้ายหาที่ทำกินอันอุดมสมบูรณ์ โดยทิ้งระยะเวลา8-10 ปี จึงจะโยกย้ายกลับมาอยู่ที่เดิมอีกครั้ง ด้วยลักษณะเหล่านี้ ทำให้สังคมของมนุษย์ในกลุ่มนี้ไม่ตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างถาวร (Sedentary Settlement) มีการเคลื่อนย้ายอยู่เสมอ และมักจะกลับมาอยู่ที่เดิมอีกครั้ง เมื่อพื้นที่บริเวณนั้นฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ อาจเรียกได้ว่า เป็นพวก Semi-Nomadic สังคมแบบนี้จึงไม่สามารถพัฒนาไปได้เกินระดับ สังคมแบบชนเผ่าหรือเผ่าพันธุ์ (Tribal Society) มีความสัมพันธ์ภายในกลุ่มเดียวกันอย่างใกล้ชิด ภายใต้ระบบเครือญาติ

2. การตั้งถิ่นฐานในเขตที่ลุ่มต่ำ (Low Land) ซึ่งเอื้ออำนวยให้มนุษย์ตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นหลักแหล่ง (Sedentary Settlement) ไม่ต้องอพยพโยกย้าย เนื่องจากที่ราบลุ่มต่ำ มีน้ำท่วมถึงโดยธรรมชาติ รวมถึง การมีแม่น้ำตามธรรมชาติหลายสาย ที่พัดพาและถับถมเอาตะกอนดิน ที่มีความอุดมบูรณ์ เหมาะกับการเพาะปลูก โดยเฉพาะดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ  ทำให้มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่มากและพัฒนาจนเป็นชุมชนใหญ่  การเพาะปลูก นอกจากพึ่งพาธรรมชาติแล้ว มนุษย์ยังต้องร่วมมือกันควบคุมธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำในการอุปโภคและการเพาะปลูก หรือการป้องกันภัยจากน้ำท่วม มีการพัฒนาระบบเหมืองฝาย การทำเขื่อนกั้นน้ำ คลองระบายน้ำ และคลองชลประทาน การใช้กฎเกณฑ์โครงสร้างทางสังคมจึงมีความสำคัญ เช่น การออกกฎการใช้น้ำ หรือการแบ่งปันน้ำ รวมถึงการแบ่งหน้าที่ตามความชำนาญเฉพาะอย่างเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และสม่ำเสมอ สามารถเลี้ยงคนในชุมชนขนาดใหญ่ได้ ทำให้สังคมสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นสังคมเมืองที่ซับซ้อนกว่าได้

อาจารย์  ศรีศักร วัลลิโภดม สรุปว่า สังคมที่อยู่บนที่สูงและที่ราบลุ่ม มีการปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก (Stable Food) โดยพวกที่อยู่ในเขตที่สูงก็จะปลูกข้าวแบบทำไร่เลื่อนลอย ที่เรียกว่า ดราย ไรซ์ (Dry Rice) ซึ่งคนกลุ่มนี้ ยังมีความล้าหลัง และอยู่ในรูปของกลุ่มทางชาติพันธุ์ในท้องถิ่นต่างๆ ส่วนพวกที่อยู่ในเขตที่ราบลุ่ม ก็จะทำนาแบบน้ำฝนและแบบทดน้ำ ที่เรียกว่า เวต ไรต์ (Wet Rice) พวกนี้จะมีพัฒนาอยู่ในสังคมแบบบ้านเมือง ที่มีการผลิตเพื่อยังชีพ เลี้ยงคนในชุมชนแล้ว ยังมีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนกับวัฒนธรรมหรือกลุ่มชนภายนอกด้วย

ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า  สังคมในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเพาะปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก และเป็นการทำการเพาะปลูกกันบนที่สูงและที่ราบลุ่ม

ในบทต่อไปเราจะเริ่มมองปรากฏการณ์ในสังคมไทยและภูมิภาคใกล้เคียง ว่า ข้าวเริ่มปลูกกันตั้งแต่เมื่อใด และมีความสัมพันธ์กับการก่อกำเนิดจนกลายเป็นบ้านเมือง และรัฐในปัจจุบันได้อย่างไร

 

หนังสืออ้างอิง

งามพิศ สัตย์สงวน (2543) มนุษยวิทยากายภาพ วิวัฒนาการทางกายภาพและวัฒนธรรม.  กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชิน อยู่ดี (2512) คนก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย.กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

นฤจร อิทธิจีระจรัส  (2527) ข้าวกับมนุษย์ นิเวศวิทยาทางการเกษตรในเอเชียอาคเนย์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ธนิก เลิศชาญฤทธ์ การดำรงชีพและแบบแผนการบริโภคของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในสู่พรมแดนความรู้เรื่องวัฒนธรรมบริโภค.กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

ลูเซียน เอ็ม แฮงส์ (2527). นฤจร อิทธิจีระจรัส (แปล) ข้าวกับมนุษย์นิเวศวิทยาทางการเกษตรในเอเชียอาคเนย์ กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2527.

ศิราพร ณ ถลาง (2545) ชนชาติไทยในนิทาน แลลอดแว่นคติชนและวรรณกรรมพื้นบ้าน.  กรุงเทพฯ: มติชน.

ศรีศักร วัลลิโภดม (2546) แอ่งอารยธรรมอีสาน. พิมพ์ครั้งที่4, กรุงเทพฯ:มติชน

Childe, V. Gordon (1952). New light on the most ancient East. Publisher: Routledge & Paul.

Lucien M. Hanks (1972) Rice and Man : Agricultural Ecology in Southeast Asia.

Chamberlain, James R. 1975. "A new look at the history and classification of the Tai dialects." In J. G. Harris and J. R. Chamberlain, eds, Studies in Tai Linguistics in Honor of William J. Gedney, pp. 49-60. Bangkok: Central Institute of English Language, Office of State Universities.

 

 


[1] ไพรเมท คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่มีการปรับตัวเพื่อมีชีวิตอยู่บนต้นไม้ได้ดี ซึ่งสัตว์ในตระกูลไพรเมทมีมากมายหลายชนิด แต่มีลักษณะที่ร่วมกันหลายอย่าง เช่น มีมือที่พัฒนา สามารถจับสิ่งของต่างๆได้ มีสายตาที่ดี มีสมองใหญ่ และอายุยืน ส่วนใหญ่ให้ลูกครั้งละหนึ่งตัวเท่านั้น และอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

[2] การแบ่งประเภทยุคสมัยเหล่านี้แบ่งตามตารางเวลาทางธรณีวิทยา ที่อยู่ในมหายุค ซีโนโซอิค ที่แยกออกเป็น6 สมัย 1.ไพรลสโตซีน เมื่อ 1.6 ล้านปี -10,000 ปี มนุษย์รู้จักช้ไฟ ควบคุมการใช้ไฟ  2.ไพลโอซีน ระยะเวลา 5-1.6 ล้านปี เกิดมนุษย์ที่แท้จริง โฮโมแฮบิลิส เป็นยุคของออสตราโลพิเธคคัส 3. ไมโอซีน เกิดโฮมินิดส์เป็นครั้งแรก เกิดเอปที่เหมือนมนุษย์ครั้งแรก 4.โอลิโกซีน 35-25 ล้านปี เกิดสัตว์ประเภทก่อนเอปเป็นครั้งแรก 5.อีโอซีน 58-35 ล้านปี มีบรรพบุรุษของลิงมีหางแยกออกเป็นหลายกลุ่มที่แตกต่างกันออกไป 6. พาลีโอซีน 65-58 ล้านปี เกิดสัตว์ประเภทไพรเมทเป็นสัตว์ประเภทพรอสซิเมียนส์หรือสัตว์ประเภทก่อนลิงมีหาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...