วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ทบทวนและวิพากษ์การศึกษาและแนวคิดเกี่ยวกับชาวไร่ชาวนาไทย โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 

ทบทวนและวิพากษ์การศึกษาและแนวคิดเกี่ยวกับชาวไร่ชาวนาไทย

1.การศึกษาหมู่บ้าน และโครงสร้างของสังคม ชาวไร่ชาวนาไทย

1.1 แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างสังคม (Social Structure)

          ในพจนานุกรมหรืองานหรืองานเขียนทางวิชาการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ให้ความหมายของโครงสร้างทางสังคมค่อนข้างครอบคลุมกว้างขวาง ว่า หมายถึง การจัดระเบียบทางสังคม (Social Order) ในรูปแบบต่างๆ ทุกอย่างของมนุษย์ที่สามารถแยกออกมาได้ เช่น สถาบัน กลุ่ม กระบวนการ ฐานะทางสังคม ตลอดจน สถานภาพบทบาทและบรรทัดฐานทางสังคม  บางครั้งนักมานุษยวิทยาก็ใช้ความหมายของโครงสร้างทางสังคม แทนที่กับ องค์กรทางสังคม (Social organization)  ซึ่งแยกไม่ออกจากความหมายของระบบสังคม

          ในอีกด้านหนึ่ง นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบางคนก็ใช้ ความหมายของโครงสร้างสังคม ที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคม ในความหมายนี้โครงสร้างทางสังคม จะไม่ใช่เรื่องของปรากฏการณ์หรือรูปแบบของการจัดระเบียบทางสังคม  แต่เป็นเรื่องของ ความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relation) ที่กำหนดรูปแบบทางสังคม และแนวปฏิบัติที่เป็นไปได้ นักมานุษยวิทยามักจะพูดถึง เรื่องของระบบเครือญาติ ดังเช่นที่ เอ็ดมัน ลีช (Edmund Leach :1954) มองว่า โครงสร้างทางสังคมเป็นกระบวนการคิดเกี่ยวกับการจัดสรรอำนาจระหว่างบุคคล

          ประเด็นที่เราจะค้นหาก็คือ ความคิดเกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคม จะให้ประโยชน์ต่อการ วิเคราะห์สังคมได้อย่างไร ในเมื่อโครงสร้างของสังคม มีลักษณะที่เป็นนามธรรม และเป็นเพียงกรอบของเหตุผล ในความคิดของผู้ศึกษา เพื่อที่จะหาคำตอบต่อปรากฏการณ์หนึ่งๆ และอาจไม่ใช่ความเป็นจริงของสังคม

          แนวความคิดเรื่องโครงสร้าง มีความเป็นมาอย่างยาวนาน ในสังคมตะวันตก ที่มีความก้าวหน้าทางด้านสถาปัตยกรรม และการออกแบบ  แต่เดิมคำว่า โครงสร้าง(Structure) ในภาษาอังกฤษ หมายถึงองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้าง ซึ่งก็เหมือนความคิดของสังคมไทย  เวลาพูดถึงโครงสร้าง ก็มักจะนึกถึงสิ่งก่อสร้างเช่น บ้าน โบสถ์ หรือวิหาร  เป็นต้น

ต่อมาในช่วงของคริสต์ศตวรรษที่16 โครงสร้างในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษ หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งหนึ่ง  โดยที่นิยมใช้กันมากในทางสรีระวิทยา  เพระความเจริญก้าวหน้าทางด้านกายวิภาค โดยเฉพาะการนำแนวความคิดนี้ไปพัฒนาของนักวิทยาศาสตร์ ชีววิทยานักสังคมวิทยามานุษยวิทยา อย่างเช่น ชาร์ล ดาร์วิน หรือ เฮอร์ เบิร์ต สเปนเซอร์ ที่บอกว่า สังคมเหมือนสิ่งมีชีวิต (Organism) ร่างกายของมนุษย์ก็ทำงานภายใต้โครงสร้างหน้าที่ ที่อวัยวะต่างๆ ทำงานและมีหน้าที่ต่อกัน ในทางรัฐศาสตร์ นักปรัชญาการเมืองในคริสต์ศตวรรษที่17 ที่ชื่อ โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbs) ใช้คำว่า โครงสร้างสังคมจริงๆ ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า Leviathan โดยเปรียบเทียบว่ารัฐ เหมือนกับองค์อินทรีย์ ซึ่งประกอบไปด้วยสถาบันและผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ แยกแยะอย่างชัดเจน (อ้างจาก Leach 1972:482 และอานันท์ 2544 : 94)

แนวความคิดเกี่ยวกับโครงสร้างสังคม ที่เหมือนร่างกาย ถูกพัฒนาขึ้นมาอีกในเวลาต่อมา ในงานของนักสังคมวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ชาวฝรั่งเศสอย่าง เอมิล เดอร์ไคม์ (Emile Durkhiem) ที่มองว่า สังคมก็เหมือนสิ่งมีชีวิต ที่มีส่วนต่างๆ สามารถแยกแยะออกได้ โครงสร้างทางสังคมก็คือ ความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆ เพื่อทำหน้าที่รักษาระบบต่างๆให้เกิดความสมดุล

คาร์ล มาร์ก (Karl marx) ก็พูดถึงเรื่องโครงสร้างในปี ค.ศ. 1859 โดยไม่ได้เปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิต แต่เปรียบกับสิ่งก่อสร้างที่คล้ายปิรามิด ที่ประกอบด้วยโครงสร้างส่วนบน ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายและระบบการเมือง และส่วนล่างซึ่งเป็นเรื่องของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ตั้งอยู่และสอดคล้องกับจิตสำนึกทางสังคม หรือชนชั้น ซึ่งเป็นพื้นฐาน ภายใต้การวิเคราะห์ระบบของการผลิต (Mode of Production)

สำหรับความเข้าใจโครงสร้างของสังคมไทย ทำไมนักวิชาการตะวันตกจึงค่อนข้างมีปัญหาในการศึกษา

เนื่องจากความสลับซับซ้อนของสังคม ทำให้แนวคิดในการศึกษาโครงสร้างของสังคมไทย ในช่วงเวลาแรกนั้น ยังยึดอิงอยู่กับแนวคิดที่มองโครงสร้าง เหมือนโครงร่างของสิ่งก่อสร้าง  ส่วนกฎเกณฑ์ จารีต ระเบียบของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มในสังคมไทยนั้น คนไทยมักจะไม่มองเห็นว่าเป็นเรื่องของโครงสร้าง  เพราะคนไทยมักคิดว่า เป็นเรื่องของความเชื่อ พรมลิขิต จารีต ประเพณีต่างๆ มากว่า ซึ่งเป็นลักษณะนามธรรม ทำให้สังคมอื่นยากที่จะทำความเข้าใจได้ชัดเจน ดังเช่นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2  ทีกระแสความคิดเกี่ยวกับโครงสร้างนิยมหรือโครงสร้างสังคม กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักมานุษยวิทยาอังกฤษ แม้ว่านักวิชาการที่เข้ามาศึกษาสังคมไทยจะเป็นนักวิชาการสายอเมริกัน (โดยเฉพาะกลุ่มคอร์แนล) ก็ยังคงมองว่า สังคมไทยมีโครงสร้างแบบหลวมเท่านั้น

ข้อถกเถียงเรื่องของโครงสร้างทางสังคม

1. การมองโครงสร้างในลักษณะความจริงเชิงประจักษ์ ในพฤติกรรมที่เห็นได้ ที่เป็นจริงในชีวิตสังคม

อิทธิพลของนักมานุษยวิทยาสายหน้าที่นิยมและโครงสร้างหน้าที่นิยม อย่าง มาลีนอฟสกี้ (Bronislaw Malinowski ) และแรดคลิฟ-บราวน์ (Radcliffe –Brown 1940)  มาลีนอฟสกี้ มองวัฒนธรรมอย่างรวมๆว่า ประกอบไปด้วยวัฒนธรรมทางวัตถุ ระบบคุณค่าและพฤติกรรมที่เป็นจริง 

อัลเฟรด แร็ดคริฟ-บราวน์ แยกวัฒนธรรมออกจากระบบสังคมและโครงสร้างทางสังคม เขาเห็นว่า วัฒนธรรมเป็นมาตรฐานของพฤติกรรมและความรู้สึก แต่โครงสร้างทางสังคมคือภาพรวมของความสัมพันธ์ของผู้คนในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะหยุดนิ่งของระบบสังคม ดังนั้นโครงสร้างทางสังคมใช้แทนองค์กรทางสังคมได้

Robert K.Merton (1968) มองโครงสร้างสังคมว่า ให้ภาพสถานภาพและบทบาท เขาเห็นว่า การมีอำนาจ อิทธิพลและเกียรติยศจะเป็นโครงสร้างในการควบคุมทางสังคมและโครงสร้างของคนในตำแหน่งฐานะต่างๆ นั่นก็คือการให้ความสำคัญเนื้อหาของโครงสร้าง

2.ความจริงนั้นไม่ใช่ความจริงที่แท้ หากแต่เป็นเพียงรูปแบบนามธรรมที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ทางมานุษยวิทยา

โครงสร้างทางสังคมไม่ใช่ภาพรวม ที่สามารถมองเห็นได้ตามแบบอย่างของส่วนต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต แต่เป็นลักษณะทางนามธรรม หรือตรรกะที่เป็นรากฐานส่วนลึกของชีวิตสังคม   นักมานุษยวิทยาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เช่น โคล้ด เลวี สเตราส์  (Clude Levi-Strauss :1963)  นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส เรียกสภาวะดังกล่าวว่า โครงสร้างส่วนลึก (Deep Structure)

สอดคล้องกับมานุษยวิทยาชาวอังกฤษหลายคน อี.อี อีแวน-พริตชาร์ด   (E.E Evans-Pritchard) ก็มีความเห็นว่า โครงสร้างสังคมคือ หลักการที่อยู่พื้นที่อยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งตรงกับสิ่งที่แรดคลิฟ-บราวน์ เรียกว่า รูปแบบทางโครงสร้าง (Structure Forms) หรือเอ็ด มัน ลีช มองว่า โครงสร้างทางสังคมก็คือ สิ่งที่นักมานุษยวิทยาสร้างขึ้นมาตามตรรกะเพื่อใช้ในการวิเคราะห์สังคม

ทาลค็อต พาร์สัน (Talcott Parson) มองว่า โครงสร้างทางสังคม ประกอบด้วยระบบที่เป็นสถาบัน บรรทัดฐานและคุณค่า ซึ่งควบคุมโลกทัศน์ของคน ซึ่งไม่ใช่เรื่องทางอารมณ์ หรือทัศนคติขอปัจเจกบุคคล แต่เป็นคุณค่าทางสังคมที่มีพื้นฐานอยู่ในสถาบันทางสังคม (Parson and Neil :1965)

ดังนั้นนักมานุษยวิทยาไทย นิยมศึกษาโครงสร้าง สังคม ในแง่มุมของเนื้อหา สถาบัน องค์กรทางสังคม สถานภาพ และบทบาทของผู้คนในสังคม มากกว่าการให้ความสนใจในเรื่องรูปแบบของความคิดที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมทางสังคม

การใช้โครงสร้าง เป็นเครื่องมือของการวิเคราะห์สังคม จากข้างต้น แนวความคิดเกี่ยวกับโครงสร้างสังคมข้างต้น อาจไม่มีประโยชน์อันใดในการถกเถียง แต่ความสำคัญในการนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาสังคมชาวนาคือ เราจะสามารถนำแนวความคิดนี้ มาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สังคมชาวไร่ชาวนามากกว่า ในลักษณะสำคัญ 2 ประการ

1.แนวความคิดเกี่ยวกับการแยกแยะหรือจำแนก (Differentiation) ออกเป็นกลุ่ม หรือประเภทภายในสังคมที่ศึกษา เช่น ชนชั้น ชุมชน รัฐ และรัฐชาติ เป็นต้น

2.แนวความคิดที่บ่งชี้ให้เห็นถึงพลังทางสังคม ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การได้มาและหารเข้าถึงซึ่งปัจจัยในการผลิต (Acess to Means of Production)

ตัวอย่างเช่น การแยกแยะชาวนาออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้อุปถัมภ์ กับผู้ใต้อุปถัมภ์ แต่ที่สำคัญคือ  การแยกแยะออกเป็นชนชั้น ซึ่งในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 5 ชนชั้น คือ

1.ชนชั้นนายทุนและเจ้าที่ดินที่ไม่ได้ทำการผลิตเอง อาจจะมีการให้คนอื่นเช่าหรือให้ทำการผลิตโดยแลกกับผลผลิตหรือเงินจากการขายผลผลิตเป็นค่าตอบแทน

2.ชาวนาขั้นรวย คือชาวนาที่มีที่ดินมากและทำการผลิตเอง

3.ชาวนาขั้นกลาง คือชาวนามีที่ดินทำกินในระดับปานกลาง ทำการผลิตเองหรือจ้างแรงานบ้างและผลผลิตสามารถพอเลี้ยงตัวเองได้

4.ชาวนายากจน คือชาวนามีที่ดินทำกินน้อย ทำการผลิตเอง บางครั้งอาจต้องเช่านาคนอื่นเพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอกับการบริโภค

5.ชาวนารับจ้าง คือชาวนาที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองและทำงานรับจ้างในภาคเกษตรกรรมเนื่องจากไม่สามารถทำการผลิตในที่ดินของตัวเองได้

แนวความคิดในการแยกแยะ อาจเกิดจากสำนึกของชาวนาเอง ที่แบ่งกลุ่มโดยอาศัยหลักจากเรื่อง การยังชีพ โดยที่ชาวนารวย คือ คนที่มีเหลือกิน ชาวนากลางคนคือ คนที่มีพอกิน ชาวนาจน คือ คนที่มีไม่พอกิน หรืออาจใช้เกณฑ์ทางวิชาการในเรื่องของการได้มาซึ่งปัจจัยการผลิต

1.ชาวนารวยคือ ผู้มีนามากพอให้คนอื่นเช่า

2.ชาวนากลาง คือ ผู้ทำนาด้วยตนเอง

3.ชาวนายากจน คือผู้มีนาไม่พอทำ แต่ต้องเช่าผู้อื่นทำ

เมื่อแยกแยะส่วนต่างๆออกเป็นกลุ่มแล้ว ในกรณีของสังคมชาวไร่ชาวนาไทย เราจะพบว่า มีปัจจัย อยู่ 3 อย่างที่ทำให้เกิดมีชนชั้นชาวนาขึ้น

1.พลังของระบบทุนนิยม ในกรณีของชาวนาที่เป็นนายทุนเจ้าที่ดิน ซึ่งสะสมทุนจากการค้า และชาวนารับจ้างซึ่งมีรายได้จากการเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ

2.พลังของระบบอุปถัมภ์หรือระบบศักดินา ในกรณีของชาวนารวยนั้น ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับระบบศักดินาหรืออุปถัมภ์ โดยการให้เช่านาแก่ชาวนายากจน

3.พลังของระบบเครือญาติ โดยชาวนาชั้นกลางดำรงอยู่ได้เพราะพลังของความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ที่ช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนแรงงาน โดยไม่ต้องพึ่งพาการจ้างงานมากนัก

โครงสร้างทางสังคม จึงเป็นมากกว่าภาพทางสังคมกว้างๆแต่ทำให้เราเห็นกระบวนการทางอำนาจ พลังทางสังคม การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของสังคม

 

1.2 แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องหมู่บ้าน

การศึกษาหมู่บ้าน ในฐานะหน่วยหนึ่งของโครงสร้างทางสังคม วิถีชีวิตของคนไทย ผูกติดกับหมู่บ้าน คนไทยส่วนใหญ่ในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ กลายเป็นพื้นที่ศึกษาของนักวิชาการตะวันตก ในฐานะเป็นหน่วยทางสังคม  และทำให้หมู่บ้านกลายเป็นภาพแสดง หรือตัวแทนของความจริงในสังคมไทย เพราะในช่วงเวลานั้น (อ้างจาก อานันท์ กาญจนพันธ์: 2544) สังคมไทย คนไทยส่วนใหญ่ถือตัวเองเป็นชาวบ้านมากกว่าชาวกรุง ซึ่งเป็นเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเวลาพูดถึงความเป็นไทย ก็มักจะพูดถึงชาวบ้าน และวิถีชีวิต วัฒนธรรมแบบชาวบ้าน ซึ่งเป็นเหตุให้รัฐ จะต้องสร้างและตอกย้ำความเป็นชาติไทย เมืองไทย ผ่าน หมู่บ้าน ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างรัฐชาติ ในยุคปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่5  หมู่บ้านจึงกลายเป็นพื้นที่ หรือสถานที่ ทางอุดมคติของคนไทย ในความเป็นเครือญาติ ความสามัคคี ความเป็นพี่น้อง และความร่วมมือระหว่างกัน เข่นเดียวกับการนิยามความเป็นคนไทยและรัฐไทยในลักษณะเช่นนั้น (นิธิ 2538 : 50-59) ความรู้สึกแบบนี้ก็ยังคงตกทอดมาสู่นักวิชาการ และนักพัฒนา ที่มองหมู่บ้านในภาพที่งดงาม โรแมนติก และเป็นรากเหง้า ทางสังคมวัฒนธรรมของไทย

ในอีกด้านหนึ่งภาพหมู่บ้าน ก็ยังเป็นสิ่งที่ต่ำต้อย และแปลดประหลาด ในสายตาของชนชั้นปกครอง ที่อยู่เมืองกรุงหรือท่ามกลางความศิวิไลซ์ ได้ไปพบเห็น ดังที่เราจะได้ยินคำพูดเสมอว่า บ้านนอกคอกนา บ้านป่าเมืองเถื่อน  ไร้ความเจริญ  บางครั้งเมื่อคนเหล่านี้ต้องเดินทางจากบ้านจากเมืองมา ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ใช่บ้านของตัวเอง ดังที่อาจารย์ดร. ธงชัย วะนิจกูล พูดถึง สภาวะต่างบ้านต่างเมือง ที่ทำให้ความเป็นหมู่บ้านในฐานะภาพตัวแทนของรัฐชาติ  กลายเป็นสิ่งที่ถูกลดถอน ตัดขาด ออกจากรัฐชาติ เสมือนหนึ่งว่า หมู่บ้านนั้นไม่ใช่เมืองไทย หรือไม่ได้อยู่ในเมืองไทย สิ่งเหล่านี้ เป็นภาพสะท้อนให้เห็นความหล้าหลังและด้อยพัฒนา  พร้อมกับจินตนาการของหมู่บ้านเหล่านี้ ว่าเต็มไปด้วยโจร ชอบการพนัน อบายมุข พึ่งพาโชคชะตาราศี เป็นต้น

ความเป็นหมู่บ้าน จึงกลายเป็นพื้นที่ของการศึกษา ตรวจสอบ จ้องมอง  ของ เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน รวมถึงตัวชาวบ้านเอง มุมมองของคนกลุ่มต่างๆเหล่านี้ก็มองหมู่บ้านแตกต่างกันไป ตามจุดเน้นที่ต้องการ เช่น การใช้เศรษฐกิจและการพึ่งตัวเองเป็นแกนในการมองก็จะแบ่งได้เป็น 1.มองว่าหมู่บ้านมีเศรษฐกิจแบบยังชีพและมีความสามารถพึ่งพาตนเองได้ 2.มองว่าหมู่บ้านต้องพึ่งพาการค้าและความทันสมัยทางด้านเทคโนโลยีจากเมืองหรือพื้นที่ที่พัฒนามากกว่า

หรือการมีมุมมองหมู่บ้านในแง่บวกกับแง่ลบ ที่แบ่งแยกออกเป็น 1.ในแง่บวกก็มองว่า หมู่บ้านมีวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตที่ดีงาม อยู่กับธรรมชาติและไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง 2.ในแง่ลบก็มองว่า หมู่บ้านเป็นแหล่งซ่องสุมของยาเสพติด อาชญากรรม การค้าประเวณี เช่น กรณีหมู่บ้านทางภาคเหนือของประเทศไทยที่มีค่านิยมเรื่องของการล่องใต้หรือตกเขียวที่นำเด็กผู้หญิงในชุมชนไปสู่การค้าประเวณี เป็นต้น

การศึกษาหมู่บ้านในสังคมไทย แบ่งออกเป็น 4 แบบ ในฐานะของเครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์ ในการศึกษาของนักมานุษยวิทยา ของรัฐ นักพัฒนาเอกชน

1.การศึกษาในเชิงคุณค่า  มีทั้งการนำเสนอของรัฐ ในการมองหมู่บ้าน จากสายตาคนเมือง หรือขุนนางในกรุงเทพฯ พร้อมๆกับกระแสของความทันสมัยของลัทธิล่าอาณานิคม ทำให้หมู่บ้าน มีฐานะเป็น บ้านนอกคอกนา บ้านป่าเมืองเถื่อน บ้านป่าบ้านดง ในลักษณะของภาพความล้าหลังและด้อยพัฒนา โดยเปรียบเทียบกับศูนย์กลางอาณานิคม มหานครที่ทันสมัย กรุงเทพฯมีความเจริญ ในขณะที่บ้านนอกมีความล้าหลัง (อ้างจากธงชัย 2000) ภาพของหมู่บ้านจึงเปลี่ยนไปเสมอ ตามคุณค่าของผู้นำเสนอ โดยเฉพาะภาครัฐ  อย่างเช่น  ความต้องการส่งเสริมกระบวนการสร้างรัฐชาติ  ภาพของหมู่บ้านก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามคุณค่า ในการสร้างหมู่บ้านให้เป็นชุมชนแบบอุดมคติ คือมีเอกภาพและความกลมกลืน เช่นเดียวกับชาติ ซึ่งถือว่าหมู่บ้านเป็นรากเหง้าของความเป็นไทยแท้ ดังที่พบในบทเรียนประถมศึกษา (อ้างจากนิธิ : 2538)

ในขณะเดียวกันการนำเสนอของนักวิชาการ นักมานุษยวิทยาได้เริ่มเข้ามาศึกษาหมู่บ้านไทย โดยเริ่มจาก ที่กู่แดง จังหวัดเชียงใหม่ (Konrad Kingshill : 1965)  มีการใช้วิธีการศึกษาชุมชน (Community Study) แต่ภาพของหมู่บ้านของคนเมือง ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากภาพชุมชนพื้นบ้าน (Folk Society)  ในคุณค่าหรืออุดมคติของนักสังคมศาสตร์ชาวอเมริกัน เช่น  Robert Redfield (1974) ที่มองหมู่บ้านในเชิงอุดมคติ และเป็นหน่วยอิสระ มีความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน มีวัฒนธรรม วิถีชีวิตของตนเอง ให้ความสำคัญกับจิตใจ ตลอดจนให้คุณค่ากับความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น บนฐานของความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ลักษณะเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านเป็นหน่วยที่อิสระจากอิทธิพลภายนอก  หมู่บ้านที่โดดเดี่ยว

ภาพหมู่บ้านดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจ หรืออิทธิพลจากนักปรัชญาการเมือง อย่าง เจ เจ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau)  ที่พูดถึง คนป่าที่มีคุณค่า (Noble Savage) และวิถีชีวิตแบบธรรมชาติ มากกว่าสะท้อนข้อเท็จจริง เนื่องจากเอาภาพของหมู่บ้านในฐานะหน่วยพื้นที่ไปรวมกับความเป็นชุมชน (Community) ซึ่ง Ferdinand Tonnies (1887) ถือว่า เป็นเรื่องของจิตใจ (Spirit) และความรู้สึก แบบหนึ่ง ที่วางอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในหมู่บ้านชนบทเท่านั้น แต่มีอยู่ในเมืองด้วย

ดังนั้น  ภาพของหมู่บ้าน ในฐานะหน่วยของพื้นที่ในชนบท ถูกยืนยันผ่านการศึกษาชุมชน แม้ว่าหน่วยของหมู่บ้านจะไม่เคยมีมาก่อนปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่5  การเกิดขึ้นของหมู่บ้าน เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของกระบวนการสร้างรัฐชาติ  หมู่บ้านถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองตามแผนที่ แผนผัง ตามจำนวนประชากร พื้นที่ตั้งบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร จนทำให้หมู่บ้านกลายเป็นพื้นที่จริงของรัฐ ต่อมาในยุคภาพหมู่บ้านถูกเชื่อมโยงเข้ากับรัฐ  ตามกระบวนการพัฒนาชนบทและกระบวนการทำให้ทันสมัย ตามระบบคุณค่าชนิดนี้ หมู่บ้านกลายเป็นความไร้เหตุผล ไม่มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองและเชื่อโชคลาง จึงต้องมีการพัฒนาด้วยพลังทางการเมืองเท่านั้น (Vandergeest :1993)

การนำเสนอของนักพัฒนา ที่ต่อต้านภาพการมองหมู่บ้านในสายตาของรัฐ ว่า โง่ จน เจ็บ  และมองว่าหมู่บ้านจะถูกทำลายจากรัฐและระบบทุนนิยม  จึงนำไปสู่การวิพากษ์นโยบายการพัฒนาของภาครัฐ ว่านำไปสู่ความไม่เท่าเทียมและเสมอภาคในสังคม ละนำเสนอว่า การพัฒนาควรริเริ่มจากชุมชนหมู่บ้าน เกิดแนวความคิดสายวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งเน้นว่า หมู่บ้าน มีวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่เป็นอิสระจากรัฐ มีลักษณะเศรษฐกิจแบบยังชีพ พึ่งตนเอง และมีวัฒนธรรมที่เน้นคุณค่า การช่วยเหลือกัน และเชื่อว่าค่านิยมดังกล่าวเป็นรากเหง้าและความดั้งเดิมของสังคมไทย ภาพหมู่บ้านจากการศึกษาชุมชน จึงสะท้อนคุณค่า อุดมการณ์ และภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของหมู่บานไทย เช่นเดียวกับที่ฉัตรทิพย์ นาคสุภา  อธิบายแนวความคิดวัฒนธรรมชุมชนว่า แนวความคิดวัฒนธรรมชุมชนมีลักษณะอนาธิปัตย์ คือ ต่อต้านการใช้อำนาจของรัฐ  รวมถึงต่อต้านสังคมเมืองและการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่คล้ายกับ การศึกษาของเจมส์ สก็อตต์ (James C.Scott) มองว่า หมู่บ้านเอเชียมีระบบเศรษฐกิจแบบมีศีลธรรม บนพื้นฐานของมโนธรรมแบบยังชีพ นั่นคือ การให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ส่วนรวมและการร่วมมือกัน มากกว่าผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล ซึ่งคล้ายกับแนวความคิดแบบทวิลักษณะ (Dichotomy) ของนักสังคมศาสตร์ อย่างเดอร์ไคม์ (Emile Durkheim)  ,ทอนนี่ (Ferdinand Tonnies)หรือ เรดฟิลด์ (Robert Redfield) ที่ให้ภาพชนบทตรงกันข้ามกับเมือง

การศึกษาในด้านนี้ จึงเป็นการสร้างภาพชนบทที่ดี สูงส่งแบบอุดมคติ เป็นการจัดระบบความคิดของผู้ศึกษาที่มีลักษณะหยุดนิ่ง ตายตัว  โดยหันกลับมามองที่ตัวชาวบ้าน ความคิดโลกทัศน์แบบชาวบ้าน ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขประวัติศาสตร์ และสังคม

สิ่งที่ อัทสุชิ คิทาฮารา (Atsushi Kitahara) นักสังคมวิทยาชาวญี่ปุ่น มองนักคิดแนวสายวัฒนธรรมชุมชน ที่มองชุมชนอย่างมีคุณค่า ว่าเป็นอุดมคติทางศีลธรรม มากกว่าการศึกษาความ เป็นจริงเชิงประจักษ์ที่เน้นโครงสร้างทางสังคม ทั้งนี้เพื่อการวิจารณ์นโยบายของรัฐบาล นโยบายการพัฒนาชนบทของรัฐ หรือการต่อต้านการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ทุนนิยม โดยหันมาเน้นบทบาทของชาวบ้านแทนข้าราชการในการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง

2.การศึกษาในเชิงประจักษ์

1.กลุ่มที่มองว่าหมู่บ้านมีโครงสร้างแบบหลวม เป็นกลุ่มที่ศึกษาสังคมไทยยุคแรกสุด เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่2 เมื่อนักสังคมศาสตร์อเมริกันกลุ่มหนึ่ง (สายโครงการไทย-คอร์แนล) มาศึกษาเชิงประจักษ์แบบนักมานุษยวิทยา ด้วยการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในหมู่บ้านในหมู่บ้านบางชัน ในเขตมีนบุรี ของกรุงเทพฯ  ได้ให้ภาพชุมชนในทางตรงกันข้ามกับกลุ่มที่ศึกษาเชิงคุณค่า ของความเป็นชุมชน ว่า ในหมู่บ้านไม่มีความเป็นกลุ่มก้อน ความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะความสัมพันธ์ทางสังคมที่ปรากฏในชุมชนมีลักษณะเป็นโครงสร้างแบบหลวม (Lossely Structure Social System) โดยที่หมู่บ้านมีระบบคุณค่าที่ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกบุคคลสูง ทำให้ไม่ยึดมั่นต่อพันธะทางสังคม  เหมือนสุภาษิต ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ และมีความผูกพันทางเครือญาติค้อนข้างสูง มีเงินนับว่าเป็นน้องมีทองนับว่าเป็นพี่ มีการรวมกันเฉพาะกิจเช่น การลงแขก  มีความสัมพันธ์ทางโครงสร้างแบบอุปถัมภ์ ผู้ใหญ่ผู้น้อย นักทฤษฎีเหล่านี้หลายคนดำเนินรอยตามทฤษฎีวัฒนธรรมและบุคลิกภาพ ของรูธ เบเนดิก (Ruth Benedict)

อีกกลุ่มหนึ่งมองหมู่บ้านชุมชนในแง่ร้าย   เนื่องจากปัจจัยในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเต็มรูปแบบ การผนวกรวมเศรษฐกิจแบบชาวบ้านเข้าไปสู่ระบบตลาดมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตคนชนบทไทย ในสายตาของนักวิชาการ และนักพัฒนาในภาครัฐเปลี่ยนไป  จนไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆในโลกที่3 ที่เป็นสภาวะของความเลวร้ายของวิถีชีวิตชุมชนหมู่บ้าน ภายใต้วัฒนธรรมของความยากจน ซึ่งทำให้ชาวบ้านกลายเป็นคนที่ไร้เหตุผล โดยอิทธิพลของนักวิชาการตะวันตก 2 คน คือ Edward C. Banfield (1958) และ George M.Poster (1965)  ที่มองวัฒนธรรมของความยากจน (Culture of Poverty ) ทำให้ชาวบ้าน หมกมุ่นกับโชคชะตา ขี้เกียจ ชอบการพนัน ไม่ชอบรวมกลุ่ม  เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ทำให้เกิดการแก่งแย่งทรัพยากร ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอของการให้มีการพัฒนาการศึกษา มากกว่าการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมือง

จนกระทั่งช่วงหลังปี พ.ศ.2510 จึงได้มีนักวิชาการที่ศึกษาในเชิงประจักษ์ อย่าง Potter (1976) ที่ศึกษาชาวบ้านในจังหวัดเชียงใหม่ออกมาโต้แย้งแนวคิดโครงสร้างหลวม โดยมองว่า ชาวบ้านที่เชียงใหม่ที่เขาศึกษา เป็นคนมีเหตุผล และรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากมาย ไม่ได้ไร้เหตุผลหรือเห็นแก่ตัวแต่อย่างใด

กลุ่มสุดท้าย กลุ่มที่มองว่า ชาวบ้านมีเหตุผล ตั้งแต่ Michael  M. Calavan (1977) มองว่า ชาวนาในเชียงใหม่ตัดสินใจในการผลิตพืชอย่างมีเหตุผล โดยคำนึงถึงผลตอบแทนสูงสุดในระบบตลาด เพราะชาวนาสามารถปรับตัวเข้ากับระบบตลาดได้แล้ว แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยังมองชาวนาเป็นปัจเจกบุคคล ตามแบบโครงสร้างหลวมอยู่ หรือ Jack M.Potter (1976) ศึกษาบ้านกู่แดงที่เชียงใหม่ พบว่า มีความแตกต่างจากการศึกษาที่บางชัน เพราะชาวบ้านมีการรวมกลุ่มกันนานแล้ว เช่น การรวมกลุ่มเหมืองฝาย ซึ่งความแตกต่างนี้ไม่ได้เกิดจากบริบทของระบบนิเวศน์และประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของวิธีการศึกษาและมุมมองในการมองทางวิชาการที่แตกต่างกัน

ปัญหาของกลุ่มทั้งสามคือ การมองสังคมชนบททั้งชีวิตที่ดีและเลวร้ายนั้น อยู่ภายใต้ความคิดพื้นฐานว่า สังคมชนบท เป็นหน่วยทางวัฒนธรรมที่เป็นอิสระอย่างโดเดี่ยว โดยไม่สนใจโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับภายนอก โดยเฉพาะกับรัฐซึ่งมีความสลับซับซ้อนในปัจจุบัน  โดยที่ประวัติศาสตร์ชุมชนที่ยาวนาน สะท้อนให้เห็นการแลกเปลี่ยนกับภายนอกตลอดเวลา และชุมชนก็กำลังถูกผนวกเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและการค้ามากขึ้น

ภายใต้กรอบดังกล่าว การที่นักวิชาการเคยมองว่า ชาวนาไร้เหตุผล ขี้เกียจ ที่จริงแล้ว James C.Scott (1976) มองว่า เป็นผลมาจากการที่ชาวนายังไม่คุ้นเคยกับการผลิตเพื่อขายมากกว่า จึงไม่สนใจผลิตมาก มุ่งผิตเพื่อยังชีพเป็นหลัก หลีกเลี่ยงความเสี่ยง ทั้งหลาย ที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของตลาด  ดังนั้น ชาวนาก็จะรักษาจริยธรรมแบบยังชีพ (Subsistence Ethic) ซึ่งเป็นอุดมการณ์แบบมีศีลธรรม (Moral Economy) ของชาวนาเอาไว้ ในรูปของสถาบันชุมชนที่ช่วยเหลือกัน เช่น ระบบอุปถัมภ์ แต่ปัญหาก็คือ การมองสังคมชาวนาอย่างค่อนข้างคงที่ ตายตัว ทำให้สก็อตต์ มองไม่เห็นความขัดแย้ง การต่อสู้ของชาวนา ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีคนโต้เถียงสก็อตต์ มาก ถึงจิตสำนึกแบบรวมหมู่ในสังคมชาวไร่ชาวนา  อย่างเช่น Samuel L. Popkin ไม่เชื่อว่าชาวนาจะมีจิตสำนึกแบบรวมหมู่  โดยเขามองว่าชาวนามีเหตุผลแบบธุรกิจ  และลงทุนในการผลิตเพื่อการค้ามากกว่า ซึ่งตลาดเอื้ออำนวยให้เขาหลุดออกจากพันธะเดิมคือระบบอุปถัมภ์ ซึ่งไม่ได้เอื้อประโยชน์ดังเช่นอดีต  ไปมีความสำคัญกับระบบตลาดมากขึ้น  แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธว่า ในอดีตอาจมีการรวมหมู่ก็ได้ แต่ก็เพื่อความสะดวกในการเก็บภาษีของรัฐ หรือปกป้องสิทธิประโยชน์ของชุมชน การร่วมมือกันก็อาจเป็นแบบรวมหมู่ แต่ก็เป็นการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นครั้งคราวเท่านั้น  มากกว่าจะเป็นจิตสำนึกร่วมกันในความเป็นชุมชน

สรุปการศึกษาเชิงประจักษ์ก็มีปัญหาและข้อจำกัด

1.แม้ว่าจะไม่ได้มองชุมชนเป็นหน่วยอิสระที่สมบูรณ์ในตัวเอง เช่นการศึกษาเชิงคุณค่า แต่ก็ยังคงเน้นที่มองความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านกับภายนอก  ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือตลาด เฉพาะในด้านดีมากกว่าความขัดแย้ง และชี้ให้เห็นว่าปัจจัยภายนอกจะช่วยผลักดันให้หมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย แม้ว่า ความจริงในประวัติศาสตร์อาจไม่ใช่อย่างนั้นและอาจเป็นในด้านลบ

2.ขาดมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่ช่วยอธิบาย เงื่อนไข และระยะเวลาของการเกิดความรู้สึกเป็นปัจเจกบุคคลในหมู่บ้าน   ตลอดจนกระบวนการในความสัมพันธ์กับสังคมภายนอก  ทำให้ไม่สนใจกระบวนการเปลี่ยนผ่านของสังคมหมู่บ้านที่ถูกดึงเข้าสู่กระแสทุนนิยม ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง  การเหลื่อมล้ำ และการแตกสลายของความผูกพันทางสังคมในหมู่บ้าน

3.การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์

เริ่มต้นจากการศึกษาประวัติศาสตร์ด้านสังคม โดยเน้นกลุ่มที่ทำการศึกษา เพื่อทำการเชื่อมโยงความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  โดยแบ่งเป็นประวัติศาสตร์ประชาชน  ประวัติศาสตร์หมู่บ้าน  หรือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ที่มองเศรษฐกิจในระดับหมู่บ้าน  เช่น งานของฉัตรทิพย์ นาคสุภา เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต  หรือ David Bruce Johnston (1975) เรื่อง Rural Society and the Rice Economy in Thailand (1880-1930)  อาจสรุปว่า เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีตมีการผลิตแบบยังชีพ ที่สะท้อนการยึดติดกับภาพอุดมคติของชุมชน ทำให้เห็นภาพหมู่บ้านชุมชนที่หยุดนิ่ง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เช่นงานของอ.ศรีศักร วัลลิโภดม ในแอ่งอารยะธรรมอีสาน ที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนอีสานในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้าน การเพาะปลูก ด้านการผลิตเกลือ ถลุงเหล็ก การตั้งบ้านเรือนถิ่นฐาน ซึ่งเป็นการศึกษาจากหลักฐานทางโบราณคดีและการสำรวจพื้นที่ รวมทั้งข้อมูลภาคสนามทางมานุษยเฃวิทยา อาจแบ่งได้เป็นดังนี้คือ ประวัติศาสตร์แบบนักประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์แบบนักมานุษยวิทยา ที่ได้รับอิทธิพลจากมิเชล ฟูโก้ เรื่องวงศาวิทยาหรือGenealogy ในการสืบค้นประวัติศาสตร์แห่งความรู้และอำนาจที่ไม่ใช่แบบประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือประวัติศาสตร์แบบเส้นตรง แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

4.การศึกษาเชิงวาทกรรม ที่สะท้อนให้เห็นการเคลื่อนไหวและการต่อสู้ในเชิงสังคมและวัฒนธรรม  โดยเฉพาะงานศึกษาหมู่บ้านในเชิงวาทกรรมในงานของ Andrew Turton (1984)   เป็นการศึกษาที่ไม่ผูกติดกับเนื้อหาทางสังคมและกายภาพของหมู่บ้าน แต่พัฒนามาสู่เรื่องของการให้ความหมาย ว่าสังคมนิยามความหมายของหมู่บ้านได้อย่างไร และชาวบ้านใช้ความหมายดังกล่าวในการต่อสู้ เคลื่อนไหว เพื่อแสดงอัตลักษณ์และตัวตนของพวกเขาอย่างไร

คำถามเกี่ยวกับหมู่บ้านเปลี่ยน ในกรณีที่หมู่บ้านกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ และประวัติศาสตร์กระบวนการสร้างความเป็นรัฐชาติ  นโยบายการปฏิรูปการศึกษา นโยบายการพัฒนาประเทศ ดังที่ ธงชัย วนิจกุล (2000) พูดถึงเรื่องของแผนที่สยามที่เพิ่งถูกร่าง หรือขีดขึ้นมาในสังคม ในช่วงยุคสมัยของการสร้างความทันสมัย  หมู่บ้านในชนบท ถูกมองว่าเป็น บ้านนอกคอกนา บ้านป่าเมืองเถื่อน  เพื่อเปรียบเทียบกับศูนย์กลาง หรือเมืองกรุง การรื้อฟื้น       อัตลักษณ์ตัวตนของชาวบ้าน จึงเป็นประเด็นสำคัญ  ผ่านการสร้างนิยาม และช่วงชิงความหมาย หมู่บ้าน ไม่ใช่พื้นที่หยุดนิ่ง แต่กลายเป็นพื้นที่ของการนิยามช่วงชิงความหมาย  การต่อสู้กันระหว่างวาทกรรม ในการสร้างความรู้ ความจริงและอำนาจ ที่สัมพันธ์กับเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง รวมถึงเรื่องวัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ถูกนำมาใช้ในการศึกษา เป็นเรื่องของพิธีกรรม ประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ในการใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของหมู่บ้าน ชุมชน

 

ความเข้าใจเรื่องโครงสร้างทางสังคมไทยของชาวตะวันตก อิทธิพลของแนวความคิดโครงสร้างหลวม

          จอห์น เอ็มบรี (1950) วัฒนธรรมที่ระบบสังคมมีโครงสร้างแบบหลวม โดยคนไทยเปิดโอกาสให้ปัจเจกบุคคล      มีพฤติกรรมที่แปรผันอย่างไรก็ได้  เช่น ขาดการให้ความสำคัญกับสิทธิและหน้าที่ของกันและกัน ขาดความสม่ำเสมอ ระเบียบวินัย และไม่มีความรู้สึกจริงจัง ต่อหน้าที่ ข้อผูกพัน ในความสัมพันธ์ในครอบครัว ชาวไทยในชนบทมีสิทธิหน้าที่คลุมเครือ และมีระบบการแลกเปลี่ยนแรงงานที่ประสานกันอย่างใกล้ชิดน้อยกว่า และความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านก็มิได้เน้นถึงข้อผูกพันระยะยาวแต่อย่างใด ลักษณะสังคมไทยไม่เป็นรูปเป็นร่างและแทบจะขาดโครงสร้าง ดังที่สะท้อนให้เห็นในชุมชนบางชัน

          ลอริสตัน ชาร์ป (ผู้ริเริ่ม โครงการไทย-คอร์แนล) ในงาน Siamese Rice Village (1953) มองว่าโครงสร้างหละหลวมของเอ็มบรี เป็นแม่พิมพ์ที่สะท้อนลักษณะอย่างหนึ่งในสังคมไทย ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเอาตัวเองเป็นใหญ่ และยอมรับภาระความรับผิดชอบต่อสังคม น้อยที่สุด  ดังนั้น ความเป็นปัจเจกบุคคลนิยมของคนไทย คือ การเน้นทางพุทธศาสนา ถึงการหลุดพ้น ด้วยการสะสมคุณงามความดีของแต่ละบุคคล  เขาแสดงลักษณะของชุมชนชนบทไทยว่า  ความผูกพันต่อหมู่บ้าน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชนนั้น มีความหย่อนยาน ขาดเอกลักษณ์ของการร่วมมือกันหรือสถานภาพทางกฎหมาย และไม่มีสาธารณะสมบัติร่วมกัน  เขาให้เหตุผลว่า ทำไมหมู่บ้านจึงมีการจัดระเบียบอย่างหละหลวม  คือ มีที่ดินเหลือเฟือ และความหนาแน่นของประชากรในประเทศในระดับต่ำ รวมถึงบุคลิกภาพแบบตัวใครตัวมันขอคนไทย เข้าได้ดีกับการเคลื่อนย้ายตามภูมิศาสตร์ และการเคลื่อนไหวทางสังคม ทำให้สถาบันต่างๆชองชุมชนมีความอ่อนแอ ระบบสังคมอ่อนตัว ได้สร้างปัญหาให้กับการวิเคราะห์โครงสร้างทางชนชั้น

          เดวิด เอ วิลสัน  (1962) ใน Politics in Thailand บรรยายถึงชาวบ้านบางชัน  ว่า เป็น 1,771 บุคคล ซึ่งสุภาพ อ่อนนุ่ม ไม่ก้าวร้าว แต่ก็มีความเป็นปัจเจกบุคคล ต่างคนต่างดำเนินไปตามเจตนารมณ์ของตน ชุมชนมีความสงบ และไม่มีความเป็นฝักเป็นฝ่ายหรือการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ อย่างที่ชุมชนชาวนาอื่นๆ เป็น มีหน่วยทางสังคมเพียงห้าหน่วยคือ ครอบครัวเดี่ยว  ญาติใกล้ชิดอย่างหลวมๆ  วัดและโรงเรียนประจำหมู่บ้าน และประเทศ ในบางชัน ไม่มีชนชั้น กลุ่มอายุ กลุ่มอาชีพ กลุ่มเพื่อนบ้าน หรือกลุ่มที่จะแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่บ้าน(กรรมการสภา หรือกรรมการปกครอง) ที่จะเป็นเครื่องมือทำให้ชาวบ้านเกิดพันธะผูกพัน หรือเป็นบรรทัดฐานหรือเป็นหน้าที่ที่ชาวบ้านจะได้ปฏิบัติ ชาวบ้านบางชันไม่จำเป็นต้องอุทิศแรงงานให้กับชุมชนของตน เพื่อเป็นผู้คอยพิทักษ์หมู่บ้าน ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อาวุโสในหมู่บ้าน หรือแม้แต่การร่วมมืออย่างแข็งขันกับเพื่อนชาวบ้านด้วยกัน ครอบครัวเดียวในบางชันมีลักษณะโครงสร้างที่หละหลวม คือ มีความต่างกันในรูปแบบและไม่ค่อยจะคงที่ เครือญาติในหมู่บ้านไม่ค่อยมีรูปร่างที่แน่นอน และความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติก็คาดการณ์และสม่ำเสมอ

เฮอร์เบอร์ต พี  ฟิลลิปส์  ใน Thai Peasant Personality (1962) ได้ให้ลักษณะโครงสร้างหละหลวมของชุมชนชนบทบางชันอย่างสมบูรณ์ เขาบอกว่า คนไทยสร้างบ้านไม้ไผ่ธรรรมดา เพื่อว่าจะได้พร้อมเสมอที่จะปรับปรุงหรือรื้อถอนอย่างรวดเร็ว ในทำนองเดียวกับที่สร้างกลุ่มของตน เขาแปลคำไทยคำว่า ครอบครัว เป็นครัวเรือน (Househokd) มากกว่าเป็นครอบครัว (Family) เพื่อหลีกเลี่ยงการระบุลักษณะกลุ่มคนที่มีขอบเขตจำกัดและค่อนข้างคงที่ ความสัมพันธ์ทางครอบครัว และเครือญาติ เป็นไปในลักษณะของข้อตกลงกันมากกว่าเป็นข้อกำหนด คือ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบิดาและบุตร มากกว่าจะเป็นเรื่องของหน้าที่ การเป็นพี่น้องก็เป็นข้อผูกพนโดยสมัครใจ ตรงกันข้ามกับครอบครัวตะวันตกที่เข้มงวด

หมู่บ้านเป็นหน่วยที่เกิดขึ้นจากการบริหารหรือจัดแบ่งโดยรัฐบาลกลาง ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

ลูเซียน แฮงส์ ในหนังสือ Rice and Man (1972) ไพเกอร์ ในหนังสือ Loose Structure and the Analysis of Thai Social Organization (1969) ได้เอาแนวคิดโครงสร้างทางสังคมที่เรียกว่า กลุ่มสมัครพรรคพวก เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าใจโครงสร้างทางสังคมไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญเรื่องของระบบเครือญาติและระบบอุปถัมภ์ ในสังคมไทย หมู่บ้านไม่ได้ดำเนินไปในฐานะเป็นหน่วยทางสังคมที่แยกต่างหาก เพราะมีบางสิ่งที่ชาวบ้านทำร่วมกันคือการเลือกหัวหน้าหมู่บ้าน รวมทั้งทั้งโรงเรียนและวัดไม่ได้เป็นศูนย์รวมเฉพาะของชุมชนชนบทเท่านั้น เพราะแต่ละแห่งก็มีผู้ร่วมจากหมู่บ้านอื่นๆด้วย ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านไม่มีความภักดีต่อหมู่บ้านอย่างจริงจัง กลุ่มในชุมชนไม่มีความยืดยาว นอกเหนือจากครอบครัวเดี่ยว เครือญาติและความเป็นพระสงฆ์แล้ว ก็เกือบไม่มีกลุ่มที่สำคัญ คงทน ยืนยาวเลยในชนบท

แนวคิดโครงสร้างหลวมเป็นแนวคิดหลักที่ใช้อธิบายและกำหนดภาพลักษณ์ของสังคมไทยมาอย่างยาวนานและกลายเป็นข้อถกเถียงสำคัญของนักมานุษยวิทยาไทยในช่วงต่อมาที่ต้องการวิพากษ์หักล้างวิธีคิดว่าด้วยโครงสร้างหลวมผ่านกรณีศึกษาของสังคมหมู่บ้านไทยที่มีความแตกต่างหลากหลายและข้อเท็จจริงที่หักล้างกับแนวคิดโครงสร้างหลวมที่มองด้วยสายตานักวิชาการชาวตะวันตกต่อคนไทยและสังคมไทย

หนังสืออ้างอิง

นฤจร อิทธิจีระจรัส (แปล) Jack M. Potter (เขียน) , โครงสร้างสังคมของชาวนาไทย กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2526

 Lauriston, Sharp. (1953) Siamese Rice Village: A preliminary study of Bang Chan 1948-1949  Cornell university ;USA ,1953.

David, A. Wilson.(1962). Politics in Thailand.  Ithaca :Cornell University press,1962.

Herbert, P. Phillips.(1962).Thai Peasant Personality: The Patterning of Interpersonal Behaviour in the village of Bang Chan. University of California Press,1965.

Lauriston Sharp and Lucien M. Hank,(1978) Bang Chan: Social History of a Rural community. Cornell University Press.

John Fee Embree. (1969). Loosely Structured Social Systems: Thailand in comparative perspective. Volume 17,Yale University South East Asia Studies.

S.J.Tambieh. (1970). Buddhism and The Spirit cults in North-East Thailand. Cambridge University Press.

Steven Piker (1969), Loose  Structure and The Analysis of Thai Social organization. in, Loosely Structured Social Systems : Thailand in comparative perspective, ed. by Hans-Dieter Evers.New Haven : Yale University South East Asia Studies(cultural Report Series No.17).pp.61-76.

Lucien, M. Hank. (1992). Rice and Man: Agricultural Ecology in South East Asia. University of Hawaii Press.

Andrew Turton. (1989)  Thailand : Agrarian Bases of State Power.in Agrarian Transformation : Local Processes and the State of Southeast Asia, ed. Gillian Hart, Andrew Turton,and Benjamin White (Berkeley: University of California Press,1989).

Thongchai Winichakul. (1994). Siam Mapped: a history of geo-body of a nation. Chiang Mai: Silkworm Books.

_____________________. (2000). “The Others Within: travel and ethno-spatial differentiation of Siamese subjects 1885-1910.” in Civility and Savagery: Social Identity in Tai States, edited by Andrew Turton, 38-62. London: Curzon.

Friedmann, Harriet. (1980). “Household Production and the National Economy: Concepts for the Analysis of Agrarian Formation”. Journal of Peasant studies 7, no. 2: 158-84.

Turton, Andrew. (1984). History and Peasant Consciousness in South East Asia (co-edited with Shigeharu Tanabe). Osaka: National Museum of Ethnology. 1984.

Johnston, David Bruce.(1975). Rural Society and Rice Economy in Thailand, 1880-1930. New Haven : Yal University.

Michael M. Calavan, Decision Against Nature. Center for Southeast Asian Studies, Northern Inllinois University, 1977.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...