วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

Clude Levi-Strauss กับโครงสร้างนิยมในทางมานุษยวิทยา.. โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

Clude Levi-Strauss กับโครงสร้างนิยมในทางมานุษยวิทยา..

การแพร่ขยายของกระแสแนวคิดทฤษฎีภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างของเฟอดิน็องต์ เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Suassure) ที่มองว่าระบบของโครงสร้าง ครอบคลุมอยู่เหนือกระบวนการทางวัฒนธรรมทั้งหมด เช่น ระบบเครือญาติ นิยายปรัมปรา ตำนาน นิทาน การแต่งกาย การทำอาหาร ซึ่งนำไปสู่การขยายตัวของคำจัดกัดความทางสัญญะ ดังนั้นวัฒนธรรมก็เช่นเดียวกับภาษา สเตร๊าท์ ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองดั้งเดิมพบว่า การปฏิบัติในชีวิตประจำวันของมนุษย์อยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่าโครงสร้าง ดังนั้นการศึกษาแบบแผนทางวัฒนธรรมของเขา เป็นสิ่งที่คล้ายกับการศึกษาภาษาศาสตร์ ดังเช่นที่วลาดิเมียร์ พ็อพ (Vladimir Propp) ได้พบรากฐานของระบบและหน้าที่ 31 อย่าง (ในเหตุการณ์หรือการกระทำ)จากการศึกษานิทานพื้นบ้านรัสเซีย ที่แสดงให้เห็นถึงไวยากรณ์(Grammar)ของนิทานพื้นบ้าน (Morphology of the Russian folk tale,1928) สิ่งดังกล่าวสะท้อนรูปแบบของโครสร้างในความคิดของมนุษย์(Human Mind) ที่แสดงให้เห็นโครงสร้างทางความคิดพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ที่เรียกว่า คู่ตรงกันข้าม (Binary Opposition)
งานเขียนสำคัญของเลวี่ สเตร๊าท์
— The Elementary structures of kinship
— Structural Anthropology
— “Introduction History and Anthropology” P.1-27 “Effective of Symbol”P.187-205and “Structural Analysis in Linguistics and in Anthropology” P.31-79 In Structural Anthropology Volume 2
— Anthropology and Myth รวบรวมนิทานของชนเผ่าอินเดียแดงมากกว่า100เรื่อง
— Totemism ที่แสดงให้เห็นโครงสร้างและความคิดของมนุษย์ผ่านระบบโทเทมของชนพื้นเมือง
— Savage Mind สิ่งที่น่าสนใจคือแนวคิดเรื่อองศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม (Science of the concrete) ที่มองว่าไม่ว่าจะเป็นคนป่า คนศิวิไลต์ แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ แนวคิดแบบชาวบ้าน การคิดแบบวัตถุวิสัย การคิดแบบอัตตวิสัย ต่างก็เป็นความรู้เหมือนกันเพียงแต่เป็นความรู้คนละชุด คนละบริบท คนพื้นเมือง คนป่ามักคิดในเชิงรูปธรรมที่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิตและประสบการณ์มากกว่าคนสมัยใหม่ นักวิชาการ ที่คิดแบบนามธรรม
— Introduction to a Science of Mythology ภาคแรกคือ Raw and Cooked สะท้อนให้เห็นคู่ตรงกันข้ามระหว่างธรรมชาติ(Nature)และ วัฒนธรรม (Culture) สิ่งที่น่าสนใจคือการพูดถึงตัวเชื่อม (Medium/Mediation)
อาจกล่าวได้ว่าภาษาเป็นระบบที่เอื้ออำนวยให้เกิดการคิด เราคิดผ่านภาษา การคิดถือเป็นผลผลิตจากระบบ ซึ่งเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ (ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรม)กับสภาพแวดล้อม(ธรรมชาติ)ที่เป็นวัตถุแห่งความคิด ซึ่งนำไปสู่แม่แบบคู่แย้งสำคัญ ระหว่าง ธรรมชาติ (ไม่ใช่มนุษย์) กับ วัฒนธรรม (ตัวมนุษย์) ดังนั้นความคิดจึงเกิดขึ้นได้เพราะภาษาช่วยให้เรา สามารถสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และจัดประเภทสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา โดยใช้สัญลักษณ์เป็นตัวแทน
ดังนั้นถือเป็นประเพณีของบรรดาชนพื้นเมืองแต่ละเผ่าหรือตระกูลที่ต้องนำของจากธรรมชาติมาเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวหรือเครื่องหมายประจำเผ่า (Totem)เครื่องหมายนี้อาจจะเป็นสัตว์หรือพืช ไม้แกะสลักหรือหินก็ได้ โดยเชื่อว่าจะช่วยปกป้องเผ่าที่มันเป็นตัวแทน ชนเผ่าที่มีสัญลักษณ์เป็นสัตว์ชนิดใดจะไม่ฆ่าสัตว์นั้น ขณะที่เผ่าที่ใช้พืชเป็นสัญลักษณ์ก็เช่นเดียวกัน เสาที่แกะสลักรูปประหลาดตั้งอยู่ใกล้กลุ่มกระโจมของอินเดียนแดงในอเมริกาเหนือในฐานะสัญลักษณ์ประจำเผ่า ขณะที่ชาวอะบอริจิ้นในออสเตรเลียมักมีสัญลักษณ์ประจำเผ่าเป็นสากล อาจกล่าวได้ว่า “การนำพืชสัตว์สิ่งของมาเป็นสัญลักษณ์ประจำเผ่า ไม่ใช่ความเชื่อ งมงาย ประหลาด ในเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่เป็นตัวอย่างพื้นฐานของตรรกะในการคิด”
สัญลักษณ์ประจำเผ่าก็คือรูปแบบการจัดแบ่งประเภทของธรรมชาติ และใช้เป็นสัญลักษณ์สำหรับการคิด พูดง่ายๆคือ การจัดแบ่งประเภทเป็นคู่ตรงกันข้าม ระหว่างอะไรที่กินได้ กับกินไม่ได้ (ทำไม)ใครที่แต่งงานด้วยได้หรือแต่งไม่ได้ (และทำไม)
ความคิดเหล่านี้ถือเป็นการจำลองแบบแผนทางสังคม ดังที่ปรากฏผ่านสัญลักษณ์ประจำเผ่า (Totemism) ที่มีคู่แย้งระหว่างมนุษย์กับไม่ใช่มนุษย์ ดังเช่นมุมมองของมนุษย์ในวัฒนธรรม ที่มองเรื่องของสูง ของต่ำ เชื่อมโยงจากสูงลงต่ำ จากเทพเจ้า สัตว์ พืช ที่ปรากฏในนิทานปรัมปรา และสัญลักษณ์ประจำเผ่า
จิตของมนุษย์ทำงานโดยอิงกับแม่แบบคู่แย้ง ดัง/เงียบ ดิบ/สุก เปลือย/สวมเสื้อผ้า สว่าง/มืด ศักดิ์สิทธิ์/สามัญ และอื่นๆ ซึ่งจิตของมนุษย์ทำงานอย่างเป็นตรรกะ (ซึ่งเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรม) ได้ลอกเลียนธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่นทำไมเราเลือกสีเขียว เหลืองและแดง มาใช้ในระบบสัญญาญจราจร โดยอิงกับข้อเท็จจริงของธรรมชาติ ที่ว่ารหัสสีสัญญาณสำหรับ ไป-ระวัง-หยุดนั้น เลียนแบบโครงสร้างของสีสเปรคตรัม ที่จัดระดับของสีตามความยาวและสั้นของคลื่น สีแดงมีความยาวของคลื่นยาว สีเขียวมีความยาวของคลื่นสั้น ส่วนสีเหลืองอยู่ตรงกลาง เป็นต้น
แนวคิดแบบ Structuralism เสนอว่า การเดินทางจากธรรมชาติเข้าสู่วัฒนธรรมนั้นมนุษย์อยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ที่เขาไม่ได้สร้างขึ้นเอง กฏเกณฑ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ที่ไหนก็เหมือนกันเพราะมันเป็นกลไกลของสมองมนุษย์ ดังที่เขากล่าวว่า The Human mind is everywhere one and the same and that it has the same capacities. (Levi-Strauss : 1978 หน้า 19)
การศึกษาเกี่ยวกับวิถีคิดของชนเผ่าดั้งเดิมผ่านแนวคิดเรื่องศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม มองว่าวิธีการขบคิดปัญหาของชนดั้งเดิม ความปรารถนาที่จะเข้าใจจักรวาล ธรรมชาติ โลกและสังคม เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งในสังคมดั้งเดิมและปัจจุบันมีร่วมกัน ชนดั้งเดิมพยายามจะเข้าใจว่า มนุษย์มาจากไหน ธรรมชาติกับมนุษย์แยกกันตรงไหน เช่น เดียวกับที่พวกเราพยายามจะเข้าใจ ไม่แตกต่างจากการใช้สติปัญญาของนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาสิ่งที่แตกต่างกนก็คือ กระบวนการในการหาคำตอบ ชนชั้นดั้งเดิมต้องการเข้าใจจักรวาลอย่างเป็นสากลด้วยวิธีลัดที่สุดดังที่เลวี่ สเตร๊าท์บอกว่า “.... It aim is to reach by the shortest possible means a general understanding of the universe…” (Levi-Strauss :1978,17)
สิ่งที่ถือว่าเป็นคุณูปการของแนวคิดเชิงโครงสร้างนิยม คือการให้ความสำคัญกับความคิดของคนชายขอบ ความคิดของคนพื้นเมืองดั้งเดิม ที่ถูกมองว่าล้าหลัง เป็นวิธีคิดแบบไสยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์ ดังความคิดเกี่ยวกับศาสตร์เชิงรูปธรรม (Bricolage)ที่เลวี่ สเตร๊าท์ศึกษา พบว่า ผู้ชายเผ่าเนกริโท(Negrito)สามารถจดจำและจำแนกชื่อต้นไม้ได้อย่างสบายๆถึง 450 ชนิด นก 75 ชนิด และ มด 20 ชนิด เด็กจากเผ่าตุยกุย (Tyukyu) สามารถบอกชนิดและเพศของต้นไม้จากเศษเปลือกไม้ที่พบ หรือบอกได้จากการดมกลิ่นหรือดูจากความแข็งของเนื้อไม้ว่าเป็นต้นไม้ชนิดใด อินเดียนเผ่าโคฮุยลา (Coahuila) ที่รู้จักพืชที่กินได้ถึง 60 กว่าชนิด และสมุนไพรที่เป็นยาอีก 28 ชนิด ชนเผ่าโฮปี(Hopi)รู้จักพืชถึง 350 ชนิด และเผ่านาวาโฮ (Navaho)รู้จักพืชที่ 500 ชนิด เป็นต้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าสนใจว่า คนดั้งเดิมเหล่านี้ สามารถคิดได้ไกลกว่าเรื่องประโยชน์ใช้สอยอย่างแคบๆ สามารถคิดถึงสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอยโดยตรงรวมอยู่ด้วย คนเผ่าโบราณดั้งเดิมมีความรอบรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางชีวภาพเป็นอย่างมาก คือ รู้จักธรรมชาติและอยู่กับธรรมชาติ จึงสามารถพัฒนาความรู้เป็นมากกว่าเรื่องของประโยชน์ใช้สอยเฉพาะหน้า (Use)รวมถึงตอบความอยากรู้ของชุมชนที่สั่งสมถ่ายทอดกันมาหลายชั่วคนเช่น เผ่าเฮ็ลมีนี(Helmene)และเผ่าไอคูเท (Iakoute)รู้ว่า หากกินแมงมุมกับหนอนขาวก็จะแก้ปัญหาเรื่องเป็นหมันได้ หรือรู้จักใช้อุจจาระหมีแก้โรคท้องผูก เป็นต้น
สิ่งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การเป็นหนึ่งเดียวและการอยู่ร่วมกันของคนกับธรรมชาติ มากกว่าการทำลายล้าง การอยู่เหนือ หรือความต้องการเอาชนะธรรมชาติอย่างที่นิยมคิดกันในระบบความคิดของคนสมัยใหม่ ดังนั้นคนสมัยใหม่จึงมองว่าความคิดของคนดั้งเดิม ล้าหลัง ไม่ก้าวหน้า เพราะไม่เอาชนะธรรมชาติ ทั้งที่ความจริง คนโบราณดั้งเดิมก็มีระบบคิด มีภูมิปัญญาของตัวเอง เพียงแต่เป็นคนละระบบระเบียบกับคนสมัยใหม่ ในที่นี้พูดถึง ความคิดของคนดั้งเดิม ที่ยังปราศจากวาทกรรมจากภายนอกเข้ามาเพราะชุมชนหมู่บ้าน สมัยนี้ อยู่ภายใต้กรอบวาทกรรม ความรู้ความจริงของคนกลุ่มต่างๆที่เข้ามาปะทะประสาน โดยมีเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ต่างกัน ภายใต้Reason Choice เบื้องหลังที่แตกต่าง ความสำคัญคือ สิ่งเหล่านี้ทำให้ชุมชนอยู่ได้จริงหรือหรือเป็นมายาคติชุดหนึ่งที่ปิดบังความจริงอีกชุดหนึ่ง เป็นนิทานปรัมปราเรื่องหนึ่งของใคร? สุดท้ายความรู้ชุดนี้อาจทำให้ชุมชนอยู่ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านจะไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อมายาคติชุดดังกล่าวกลายเป็นความจริงและส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
ความคิด ความเชื่อที่ว่าคนเผ่าโบราณดั้งเดิมล้าหลังเนื่องจากไม่มีวิธีการหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์ หรือวิธีการหาความรู้แบบวัตถุวิสัย (Objective Knowledge)ซึ่งเลวี่ สเตร๊าท์ไม่เห็นด้วย เนื่องจากความคิดของคนโบราณอยู่บนฐานของการสังเกต เปรียบเทียบ เป็นความรู้เชิงรูปธรรมที่มีโลกแห่งความเป็นจริงรองรับไม่แตกต่างจากองค์ความรู้ของคนสมัยใหม่ เป็นการจัดประเภทแยกแยะธรรมชาติรอบตัวอย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ว่าพืช สัตว์ สิ่งของ คุณจะบอกอย่างไรว่ามนุษย์ปัจจุบันแทนดาวเป็นแฉกเมื่อวาดภาพหรือติดเครื่องหมายแสดงยศบนบ่ากับดาวจริงๆบนท้องฟ้า
เลวี่ สเตร๊าท์ บอกว่า หากไม่เอาความคิดหรือมาตรฐานของวิทยาศาสตร์มาเป็นตัวกำหนดตัดสินแล้ว ไสยศาสตร์คือระบบความคิดแบบหนึ่งที่มีฐานะไม่แตกต่างไปจากวิทยาศาสตร์ ไสยศาสตร์ไม่ใช่รูปแบบแรกของวิทยาศาสตร์ เป็นคนละประเภทกับวิทยาศาสตร์แต่เป็นระบบคิด วิธีคิดที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่อาจเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ได้
วิธีคิดแบบคู่ตรงกันข้ามถือได้ว่าเป็นวิธีการศึกษาที่อยู่เรื่องของโครงสร้างทางภาษาที่คิดภายใต้ตรรกะของความแตกต่างหรือคู่ตรงกันข้ามที่ก่อให้เกิดความหมายหรือความเข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆ มนุษย์สามารถคิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆภายใต้ตรรกะของความแตกต่างและการเปรียบเทียบในระบบเสียง ของภาษา ของรูปสัญญะ เช่นดียวกับภาษาที่จะมีทั้งเรื่องของโครงสร้างทางภาษาที่เป็นเสมือนด้านสังคม กับส่วนที่เป็นด้านของปัจเจกบุคคล ที่เกี่ยวกับ ภาพประทับของเสียง การเปล่งเสียง การรับฟังเสียง เป็นต้น เช่นเดียวกับการศึกษานิทานของเลวี่ สเตร๊าท์ ที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนิทานปรัมปรา ว่าสามารถแปลได้ง่ายมาก แม้ว่าข้อความจะมีการตกหล่นไม่สมบูรณ์ หรือแปลตกหล่นก็พอปะติดปะต่อได้ ข้อนี้เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ นิทานปรัมปรา เป็น “ภาษา” หรือ “รหัส” พิเศษ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการ “อ่าน” หรือ “ถอดรหัส” ด้วยวิธีการเฉพาะเช่นเดียวกัน แม้ว่าคุณูปการของการวิเคราะห์แบบโครงสร้างนิยมเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ขณะเดียวกันเราก็ปฏิเสธจุดอ่อนของการวิเคราะห์แบบโครงสร้างนิยมไม่ได้เช่นกัน
บรรณานุกรมภาษาไทย
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2545) สัญวิทยา ,โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์ . กรุงเทพฯ : วิภาษา.
ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (2527) ไม่มีสังคมใดเหนือกว่าสังคมอื่น:ทรรศนะในการศึกษามานุษยวิทยาของ Claude Levi Strauss” วารสารสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. ปีที่2 ฉบับที่2 (กุมภาพันธ์) 60-76.
ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (2533) “เค้าโครงความคิดเรื่องโครงสร้าง ในการศึกษานิทานปรัมปรา ของโคลด เลวี่-เสตราส์” วารสารธรรมศาสตร์. ปีที่17 ฉบับที่1 (มิถุนายน)45-79.
บรรณานุกรมภาษาต่างประเทศ
Hawkes Terence[1977]. “ Linguistic and Anthropology” “Science of Sign” In Structuralism and Semiotics ,Methuen and co Ltd.
Hugh J.Silverman[1994] “French Structuralism and After De Saussure,Levi-Strauss,Barthes,Foucault” P.391-408.In Continental Philosophy in The 20th Century edited by Richard Kearney,Routledge history of Philosophy volume8
Levi-Strauss,Claude[1987] “Introduction to the work of Marcel Mauss” Transleted by Felicity Baker Routledge and Kegan Paul London.
Levi-Strauss,Claude[1976] “Structural Anthropology Volume1 Transleted from the French by Monique Laution ,Basic Book Inc Publisher Newyork.
Levi-Strauss,Claude [1963]. “ Introduction History and anthropology”P.1-27 “Effective of Symbol”P.187-205and “Structural Analysis in Linguistics and in Anthropology” P.31-79 In Structural Anthropology Volume 2 Transleted from Franch by Claire Jacobson and Brooke Grundfest Schoepf,Basic Book.
Levi-Strauss Claude[1984] “Anthropology and Myth Lecture 1951-1982” Transleted by Roy Willish,Basil Blackwell



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...