วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

พื้นที่ชีวิตและการเมืองในสนามหลวง โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 พื้นที่ชีวิตและการเมืองในสนามหลวง

ในเชิงสัญลักษณ์ของพื้นที่ทางการเมือง เริ่มเห็นการใช้พื้นที่ในทางการเมืองในช่วงพ.ศ. 2475 ที่มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประชาชน ในช่วงปี พ.ศ. 2489-2490 สนามหลวงถูกใช้เพือชุมนุมและสะท้อนปัญหาของประชาชน เช่นร้องทุกข์เรื่องข้าวที่หาซื้อไม่ได้ หรือราคาสินค้าแพงจนนำไปสู่การเปิดตลาดนัดเพื่อลดค่าครองชีพที่สนามหลวง โดยเฉพาะเป็นพื้นที่ขายสินค้าต่างๆ สินค้าพื้นบ้าน สัตว์เลี้ยง ข้าวสาร ไข่ไก่ หนังสือ รวมถึงพระเครื่อง ซึ่งในช่วงสงครามอินโดจีนจะมีทหารเข้ามาหาเช่าพระกันจำนวนมาก (ภายหลังจากการประกาศกรมศิลปากรปี พ.ศ.2520 ให้สนามหลวงเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งชาติ และการสมโภชพระนครครบ200 ปี ในปี พ.ศ.2525 ตลาดนัดสนามหลวงก็ถูกย้ายไปอยู่ที่สวนจัตุจักรในปัจจุบัน ซึ่งได้นำไปสู่การสร้างอำนาจในการครอบครองพื้นที่ของสภากรุงเทพฯ การจะต้องขออนุญาตใช้งาน การใช้เป็นที่จอดรถของกรุ๊ปทัวร์ การเป็นพื้นที่รอรถประจำทางและการล้อมรั้วทุกด้านของสนามหลวง ที่ได้ตัดชีวิตของผู้คนต่างๆออกจากพื้นที่ดังกล่าวในปัจจุบัน) ....
โดยทั้งนี้การใช้พื้นที่สนามหลวงเพื่อเป้าหมายทางการเมืองจะเห็นได้ชัดเจนมากในช่วงปีพ.ศ. 2498ในช่วงสมัยจอมพลป.พิบูลย์สงคราม ที่ได้จัดให้มีสภาประชาชนขึ้นที่ท้องสนามหลวง โดยจัดให้มีการไฮปาร์คขึ้นครั้งแรกที่นี่ (รูปแบบการไฮปาร์คคล้ายโต้วาทีที่มีฝ่ายค้าน ฝ้ายสนับสนุนเอาข้อมูลมาถกเถียงกันให้ประชาชนฟัง) โดยนำแบบอย่างมาจากประเทศอังกฤษและประเทศประชาธิปไตยอื่นๆทั้งหลายปฎิบัติกัน...
หลังจากนั้นคนกลุ่มต่างๆก็มีการผลัดกันขึ้นไฮปาร์คที่สนามหลวง ตั้งแต่นักการเมือง นักศึกษา ชาวนา กรรมกรยันคนหาบเร่ คนขับสามล้อ ต่างผลัดกันขึ้นเวทีปราศรัยทั้งเรื่องการหาเสียงเลือกตั้ง การโจมตีเรื่องการทำงานของรัฐบาล และพฤติกรรมของตำรวจ ปัญหาหาบเร่ โสเภณีจนถึงแบบเรียนพื้นฐาน อย่างดุเดือดเผ็ดร้อน ...
จนกระทั่งจอมพลป.พิบูลย์สงคราม ได้มีขู่จะยกเลิกการไฮปาร์คที่สนามหลวง รวมถึงให้กระทรวงมหาดไทยออกข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดไฮปาร์คใหม่ เนื่องจากหวั่นเกรงถึงพลังของประชาชน แต่นั่นก็ทำให้วิธีการไฮปาร์คแบบสนามหลวงถูกกระจายไปในพื้นที่ต่างๆตามหัวเมืองต่างๆ เช่นการอภิปรายชุมนุมที่โรงลิเกบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีในกรณีการกักกั้นแม่น้ำเพชรที่ส่งผลต่อชาวนาและชาวประมง ไฮปาร์คครั้งนี้ได้รับการอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดและเป็นที่แรกในภูมิภาคที่เอารูปแบบไฮปาร์คที่สนามหลวงมาใช้ เป็นต้น...
สนามหลวงจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงความเห็นและพลังของประชาชนในหลายๆเรื่อง เช่น การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในช่วงปีพ.ศ.2516 การเดินขบวนคัดค้านคำตัดสินกรณีเขาพระวิหาร ช่วงพ.ศ.2504-2505 การโจมตีรัฐบาลในการตั้งฐานทัพอเมริกาในประเทศไทย พ.ศ 2517 การรวมตัวของชาวนาให้รัฐบาลช่วยเหลือจากการถูกขูดรีดค่าเช่านาและทำนาไม่พอกิน จนนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์กลางเกษตรกรชาวนาแห่งประเทศไทยขึ้นที่นี่ รวมถึงเหตุการณ์สำคัญ ในช่วงปี พ.ศ. 2516 2519 2535 2540 2550 และ2552...ที่สนามหลวงเป็นพื้นทีแสดงออกของกิจกรรมทางการเมืองและสร้างความทรงจำทางการเมืองด้วย
“สมัยเดินขบวนเดือนตุลา คนเดือนตุลา ตั้งใจจะเดินขบวนที่สนามหลวง ถือเป็นสัญลักษณ์ของการไฮปาร์คทางการเมือง ความเป็นพื้นที่สาธารณะของสนามหลวงเพื่อท้าทายอำนาจรัฐ “ (สัมภาษณ์อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี,2546)
“การที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ ขอให้งดใช้พื้นที่สนามหลวงเพื่อจัดงานรำลึก 30 ปี 14 ตุลานั้น เป็นการสะท้อน..วิธีการจัดเก็บประวัติศาสตร์แบบหนึ่งของฝ่ายปกครอง โดยใช้การประชุมเอเปคเป็นข้ออ้าง” (สุริยะใส กตะศิลา ,2546)
ภาพของสนามหลวงค่อยๆเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ทางการเมืองในช่วงเกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆของประเทศ จนถึงช่วงเวลาปกติที่มีการจัดงานสำคัญทั้งของกษัตริย์ในงานพระราชพิธีต่างๆ งานกิจกรรมทางพุทธศาสนา กิจกรรมที่จัดตามนโยบายของภาครัฐ หรือวิถีชีวิตของสามัญชนคนธรรมดา การเป็นตลาดนัด การเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจนั่งเล่น การเล่นกีฬาเล่นว่าว การเตะตะกร้อลอดห่วง ขายน้ำอัดลม ให้เช่าเสื่อ ขายอาหาร ดูดวงกับหมอดู วนิพกที่เล่นดนตรีแลกเงิน การให้อาหารนกพิราบ การขายของต่างๆ การขายพระเครื่อง การขายหนังสือ รวมถึงชีวิตของคนชายขอบที่ซุกซ่อนตัวในพื้นที่เหล่านี้ คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน คนขายบริการทางเพศและอื่นๆ....
พื้นที่เหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่เรียนรู้ทางมานุษยวิทยา เป็นสนามที่ผมพานักศึกษามานุษยวิทยาลงสำรวจเรียนรู้ชีวิตผู้คนในพื้นที่แห่งนี้...ชีวิตของวณิพกทั้งวงดนตรีและเดี่ยวที่หัวมุมถนนตรงท่าช้างและท่าพระจันทร์ที่ไม่มีโอกาสพบเห็นอีกแล้ว..
คิดถึงงานเก่าๆของตัวเอง ภาพเก่าๆที่ถ่ายไว้ ทำให้นึกถึงสมัยเป็นนักศึกษา...เสียดายฟิล์มภาพหายไปส่วนหนึ่ง แต่ความทรงจำไม่เคยหายไป..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...