วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของชาวนาไทย โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 

ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของชาวนาไทย

ประวัติศาสตร์การเพาะปลูกในประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากการศึกษาของนักพฤษศาสตร์ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับพันธุ์พืชชนิดต่างๆในโลก บอกว่า ข้าวและธัญพืชที่มนุษย์เราบริโภคอยู่ในปัจจุบันในที่ต่างๆของโลกไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวโอ๊ค ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และไม้ไผ่  และพืชชนิดอื่นๆอีกหลายชนิด จัดอยู่ในตระกูลเดียวกันกับหญ้า ที่เรียกว่า กรามิเนีย (Graminea) ที่มีลักษณะลำต้นเป็นข้อ ปล้อง เหมือนต้นไผ่ มีใบเรียวและยาว ซึ่งแตกต่างจากพืชที่มีใบแตกแขนงอื่นๆ เช่น ต้นเมเปิล ต้นสน เป็นต้น รวมทั้งมีลักษณะของดอกที่รวมกันเป็นช่อ และมีเมล็ดหรือผลที่เติบโตขึ้นจากดอก ตรงยอดของต้น (ลูเซียน แฮงค์,2527:18)

โดยเฉพาะลักษณะของข้าว จะมีลักษณะคล้ายเมล็ดข้าวสาลีหรือข้าวโอ๊ด เปลือกสีน้ำตาลห่อหุ้มเมล็ด ซึ่งสามารถรับประทานได้ ถ้าเขย่าแรงๆจะทำให้เมล็ดข้างในหลุดออกมาจากเปลือกได้ด้วยการตำหรือสีข้าว ซึ่งในประกาศแถบเอเชียอาคเนย์ผู้หญิงจะทำหน้าที่ฟัดข้าว  โดยนำเอาข้าวที่ตำจากครกใส่ในกระด้ง แล้วโยนขึ้นให้ลมพัดเปลือกและฝุ่นออกไป  เมล็ดข้าวที่เอาเปลือกออกแล้วจะทำให้สุกโดยการต้มและนึ่งเพื่อบริโภค

 นักพฤกษศาสตร์ ในศตวรรษที่ 18  ซึ่งเป็นผู้จัดประเภทของพืชได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังในการตั้งชื่อประเภทของข้าว เป็นภาษาลาตินว่า  โอรีซา (Oryza) ต่อมาในศตวรรษที่19 นักจัดประเภทของพืชก็ได้พบข้าวพันธุ์ต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะพอที่จะจัดประเภทออกเป็นชนิดต่างๆได้ ภายใต้ พืชประเภทโอรีซา (Oryza) ซึ่งสามารถขยายออกได้เป็นสิบเป็นร้อยชนิด  โดยการศึกษาถึงยีนของพันธุ์ข้าวชนิดต่างๆ พร้อมไปกับท้องถิ่นที่มีความเฉพาะจึงทำให้นักพฤกษศาสตร์รู้จักประวัติของข้าว และร่องรอยของมันจากการนำเอาข้าวพันธุ์ต่างๆมาผสมพันธุ์กัน ทั้งจาก จีน ญี่ปุ่น อินเดีย  ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร  จากการศึกษาพบว่า จีนตอนใต้และเอเชียอาคเนย์เป็นแหล่งกำเนิดข้าวชนิดโอรีซา แซททิฟวา  ซึ่งนักโบราณคดีส่วนใหญ่มีความเห็นสนับสนุนกับนักพฤกษศาสตร์  โดยในประเทศอินเดียตอนเหนือ รับประทานข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี และข้าวฟ่าง ส่วนใหญ่  เช่นเดียวกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในนครรัฐไทกรีสยูเฟรตีส  หรือในญี่ปุ่นสมัยโชมอน  มีการเพาะปลูกข้าวร่วมกับการล่าสัตว์ จับปลา ส่วนวัฒนธรรมข้าวในหมู่เกาะชายฝั่ง เช่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์  และอินโดนีเซีย จะเข้าไปหลังมันเทศและเผือกที่เป็นพืชที่ให้แป้งในการบริโภคและเกิดตามป่าธรรมชาติทั่วไป (Lucian Hank:1972)

          ในอารยธรรมของจีน  พวกลุงชาน (Lung Shan) ซึ่งเป็นพวกที่อยู่ในยุคสมัยถัดจากชาวหยางเชา ได้รับการยกย่องว่าเป็นพวกแรกที่ทำการเพาะปลูกข้าว โดยทำการเพาะปลูกรอบๆหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นอย่างถาวร รู้จักประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในการเพาะปลูกเช่นจอบ เสียม และอาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจค้นพบระบบชลประทาน การใช้ปุ๋ยและการไถคราดพื้นดิน เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับร่องรอยที่สอดคล้องกับชาวฮัวบินห์ ในเวียดนามเหนือ และจีนตอนใต้ ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบพื้นบ้าน และมีร่องรอยหลงเหลืออยู่ไปทางทิศตะวันตกถึงมณฑลเสฉวน คนเหล่านี้เป็นนักล่าสัตว์ และนักเก็บอาหาร  อีกทั้งโครงกระดูกที่ขุดพบได้มีลักษณะเป็นชาติพันธุ์นิกรอยด์ ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพเหมือนพวกที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะเมลานีเซียน ในปัจจุบัน และถูกพวกมองโกลอยด์ เข้ามาอาศัยอยู่แทนในพื้นที่แผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชีย  คนพวกนี้จึงมีความเก่าแก่ และอาจเป็นพวกแรกที่ผลิตข้าว  ซึ่งอาจเก็บมาจากป่าทางเวียดนามเหนือ  สรุปแล้ว วัฒนธรรมข้าวอาจเริ่มจากทางตอนใต้ของฮัวบินห์และแพร่กระจายไปสู่ทางเหนือโดยความสามารถของชาวนาลุงชาน

          วรรณกรรมและบทกวีจีนหลายยุคหลายสมัยได้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของข้าวต่อมนุษย์ โดยเฉพาะพิธีกรรมในรอบปี ดังเช่นบทกวีของเชียชิง (Shih Ching) ในหนังสือ แห่งบทเพลง (The Book of Song,1954) อันเป็นวรรณกรรมที่รวบรวมในสมัยโจว ประมาณ 1,100-500 ปี ก่อนคริสตกาล บรรยายว่า

 

ข้าวฟ่างและข้าวมีมากมายดุจเวลาแห่งขวบปี,

แต่เรามียุ้งฉางที่จะเก็บข้าวเหล่านี้ได้มากมาย,

นับล้านนับแสนเม็ด.

เราทำไวน์ ทำเหล้าหวาน,

เรานำเอาไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษหญิงชาย

เราใช้ในพิธีกรรมทุกอย่าง

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบความสวัสดิมงคล (อ้างจาก ลูเซียน แฮงค์ ,หน้า 26)

 

ข้าวจึงมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนในเอเชียอาคเณย์ ซึ่งมากไปกว่าเรื่องราวของการบริโภค แต่ยังมีความหมายในแง่ของสัญลักษณ์ทางพิธีกรรม และความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ วิญญาณบรรพบุรุษมาตั้งแต่โบราณกาล และพิธีกรรมดังกล่าวก็ยังคงหลงเหลือและสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันในทุกๆสังคม ที่มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือในสังคมของชาวไร่ชาวนา แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหรือรับเอาวัฒนธรรมจากที่อื่นเข้ามาก็ตาม

          ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยหรือสยาม  การเพาะปลูกข้าวในประเทศไทย นั้นมีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากการศึกษาของนักโบราณคดี อย่าง เชสเตอร์ เอฟ กอร์มัน (Chester F.Gorman) ที่ได้ทำการขุดค้นที่ถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ได้พบหลักฐานที่สำคัญจากซากและเมล็ดพืชหลายชนิดหลายตระกูล เช่น หมาก น้ำเต้า ถั่ว แตงกวา กระจับ  ฟัก บวบ ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่า ระบบเศรษฐกิจจากยุคแสวงหาอาหารด้วยการล่าสัตว์และหาของป่า ได้เปลี่ยนแปลงมาสู่การผลิตอาหาร เมื่อประมาณ 7,500 ปีมาแล้ว หรือการขุดพบที่โนนนกทา จังหวัดขอนแก่น ได้พบแกลบข้าว ที่เป็นพันธุ์ข้าวซึ่งคนเพาะปลูก ไม่ใช่ข้าวป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แกลบข้าวนี้เป็นพวก โอลิซา ซาติวา (Oryza Sativa) ซึ่งปลูกกันในแถบเอเชีย  จึงสันนิษฐานกันว่า เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาลมีปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

          ในขณะที่มีการค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญในการปลูกข้าวของคนที่อยู่ในดินแดนสยาม ซึ่งพบที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี จากร่องรอยของแกลบที่พบในภาชนะเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสี อายุตั้งแต่ 5,000-2,000 ปี รวมถึงการพบเศษแกลบข้าวติดอยู่ที่เครื่องมือเหล็ก ทำให้สันนิษฐานได้ว่า การปลูกข้าวในระยะแรกคงเป็นการปลูกข้าวเลื่อนลอย ที่โค่นต้นไม้แล้วเผาไฟ จนนั้นก็รอให้ฝนตกเพื่อให้ดินชุ่มชื้น ก็สามารถขุดรูหรือหลุมได้ด้วยไม้หรือเสียมและนำเมล็ดข้าวหย่อนลงไป หรืออาจใช้วิธีการหว่านเมล็ดข้าวลงในพื้นที่ลุ่ม ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยแล้วปล่อยให้ข้าวเจริญเติบโตต่อไป การเพาะปลูกข้าวก็จะมีอยู่หลายวิธี ทั้งทำนาหยอด  ทำนาดำ นาหว่าน เป็นต้น

 

วิวัฒนาการของชาวนาไทย

 

          คำว่า ชาวนา ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีสถานภาพทางสังคมอย่างไร ในอาณาจักรสยามยุคโบราณ แต่อาชีพการทำนาเพาะปลูกน่าจะมีมานานแล้ว เพราะจากหลักฐานจารึกในพุทธศตวรรษที่15-16 ซึ่งพบที่เมืองละโว้ หรือลพบุรี ได้มีการกล่าวถึงการถวายข้าวสารแด่เทวสถาน เช่นเดียวกับที่ปราสาทเขาพนมรุ้ง ก็พบจารึกเกี่ยวกับการถวายสิ่งของเพื่อบูชาแก่เทพ เทวะ ซึ่งประกอบด้วย ข้าทาส ข้าวสาร สัตว์พวกวัวควาย เหล้าและเกลือ  ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การบูชาเซ่นสรวง  ซึ่งส่งผ่านมาถึงสมัยสุโขทัย ในการจัดการแรงงานทางด้านการเกษตร ให้แก่เทวะอันศักดิ์สิทธิ์ในทางศาสนา ศาสนสถาน องค์เทวรูป หรือวัตถุสิ่งเคารพต่างๆ โดยผ่านทางอำนาจของผู้มีบุญบารมี หรือมีอำนาจในทางการเมือง  ที่จะต้องอุทิศคน วัตถุสิ่งของ หรือสัตว์ให้เป็นแรงงานและทรัพยากรในพื้นที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งรียกว่า ข้าคนทานพระกัลปนา  ข้าพระ ศีลปาล ทาส  ที่กล่าวถึงการบันทึกตามจำนวน ครัว และ ครอก ให้แก่พระศาสนา ทำให้คนเหล่านี้ได้เป็นแรงงานเลี้ยงพระศาสนาและสร้างผลผลิตทางด้านเกษตรกรรม

อาจสันนิษฐานได้ว่า ชาวนาเป็นแรงงานส่วนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นระหว่างที่ดินและรัฐ ในแง่ที่ต้องกลายเป็นแรงงานรับใช้สังคม เป็นกลุ่มคนที่ต้องสังกัดกษัตริย์ หรือมูลนาย ซึ่งเราเรียกว่า ไพร่ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายประเภท ทั้งไพร่หลวง ไพร่สม และไพร่ส่วย

          ในอดีตชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่อาจจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นกลุ่มคนที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นเฉลยในช่วงของสงคราม เช่นอาจเป็นชาวลาว ชาวพม่าหรือมอญ เพราะแต่เดิมก่อนที่กลุ่มคนจะพัฒนาและจัดระบบระเบียบจนกลายเป็นราชอาณาจักร การรบราแย่งชิงพื้นที่ระหว่างกลุ่ม ก็มักจะสังหารเฉลยและฆ่าเฉลยทิ้งเสียทั้งหมด จนเมื่อมีการพัฒนาการปกครองเป็นอาณาจักรใหญ่ขึ้นมา คนได้มีความสำคัญในฐานะกำลังของราชอาณาจักร  เป็นเสมือนกองกำลังทหารที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับเมืองเมื่อเวลามีศึกสงคราม และในขณะเดียวกันในยามปกติก็เป็นชาวนาชาวไร่ ที่จะต้องจัดหาเสบียงไว้ให้กับอาณาจักรเพื่อเตรียมพร้อมกับสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น เชลยศึกในการทำสงคราม จึงมีความสำคัญในฐานะในฐานะของการเป็นแรงงานในภาคการผลิตทางด้านการเกษตรกรรม  และเริ่มมีการบุกเบิกที่ดินทำกินเพิ่มมากขึ้น

          การจัดการแรงงานของประชาชนโดยกษัตริย์ จึงมีความสำคัญ ที่จะนำเอาประชาชนภายในอาณาจักร มาใช้เป็นแรงงานในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านโยธา ด้านการเกษตรกรรม ผ่านทางระบบการจัดแรงงาน โดยแบ่งออกเป็นไพร่และทาส รวมทั้งการเป็นทหารในบางสถานการณ์เมื่อมีข้าศึกเข้ามารุกราน หรือบางครั้งก็ต้องส่งเงินให้กับรัฐส่วนกลางที่เรียกว่า ส่วย แทนการเข้าเวรหรือเกณฑ์แรงงาน หรือถ้าเป็นกรณีของไพร่มีครัว โดยส่วนใหญ่ไพร่แบ่งออกเป็น 4ประเภท คือ

1.ไพร่หลวง สังกัดกษัตริย์ มีการเข้าเวรแบบเข้าเดือน เพื่อมารับราชการ และออกเดือน เพื่อไปทำมาหาเลี้ยงชีพตัวเอง ซึ่งจะถูกเกณฑ์ให้เข้ามารับราชการทุกปี

2.ไพร่สม เป็นไพร่สังกัดเจ้านาย เชื้อพระวงศ์ เป็นไพร่ส่วนตัว แม้จะทำงานให้มูลนายแต่ก็ไม่ใช่ทาส บางครั้งก็ถูกเกณฑ์มาเป็นแรงงานพิเศษ เช่น สร้างถนน สะพานบ้าง

3.ไพร่ส่วย เป็นไพร่ที่ส่งเงินสิ่งของ มาให้ราชการแทนตัวเองที่จะต้องมาเกณฑ์แรงงาน ส่วยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จากป่า ของป่า ข้าว แร่ทองคำหรือเงิน

4.นอกจากนี้ ยังมีเลกไพร่และเลกทาส ที่สงวนไว้เพื่อเข้ารับราชการในพระบรมวงษานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งจะมีครอบครัวดูแลตั้งแต่ 1,000-500 ครอบครัว ซึ่งจะเรียกมาใช้งานได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น  และต้องเสียเงินค่าราชการเป็นรายปีต่อท้องพระคลัง ถ้าไม่มี เจ้านายที่สังกัดต้องออกให้ก่อนและมาเก็บทีหลัง ซึ่งส่งผลให้เลกที่ยากจนกลายเป็นทาสในที่สุด

          ตัวตนของชาวไร่ชาวนา จึงมีความสัมพันธ์กับรัฐ และมูลนายที่ตัวเองสังกัด  โดยหลักฐานที่ปรากฏอย่างชัดเจนก็คือ  ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่มีการจัดแบ่งไพร่ออกเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ ตามที่สังกัด (ธิดา สาระยา ,2544)

1.ฝ่ายมหาดไทย โดยมีอัครมหาเสนาบดี  สมุหนายก ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ

2.ฝ่ายกลาโหม โดยมีอัครมหาเสนาบดี สมุหกลาโหม ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้

แม้ว่าไพร่ จะต้องสังกัดอยู่ฝ่ายกลาโหมหรือมหาดไทยเพื่อการเกณฑ์แรงงาน แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับมูลนายดั้งเดิมของไพร่ที่สังกัด เพราะกำลังคนถือได้ว่าเป็นที่มาของอำนาจ ซึ่งมีความสำคัญต่อการขยายพื้นที่ โดยไพร่และทาสเป็นภาพสะท้อนของอำนาจบุญบารมีของมูลนาย ในขณะเดียวกันไพร่ยังอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลความสงบเรียบร้อยทั้ง 4 ด้าน ที่เรียกว่า  จตุสดมภ์ 4 คือ กรมเวียง ซึ่งดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพระนคร กรมวัง มีหน้าที่ดูแลความเป็นไปในพระราชสำนัก  กรมคลัง  มีหน้าที่ดูแลพระคลังหลวงและแต่งสำเภาไปค้าขาย  และกรมนา  ทำหน้าที่ทำนุบำรุงการเพาะปลูกและการเก็บค่านา

โดยการตั้งกรมคือการควบคุมกำลังไพร่พล  ไพร่ที่เป็นชายทุกคนจะต้องสักชื่อมูลนายที่ตนสังกัด และเมืองที่ตนอยู่   กรมทุกกรมจะต้องมีบัญชีจำนวนไพร่ในกรม และสมุหบัญชี ผู้ถือบัญชี ถือเป็นข้าราชการสำคัญในกรมนั้น ในยุคนั้นยังไม่มีอาวุธที่ทันสมัย การปกครองไพร่พลก็ย่อมเป็นฐานของอำนาจทางการทหารและอำนาจทางการเมืองด้วย ความมั่งคั่งของราชบัลลังก์จึงขึ้นอยู่กับจำนวนไพร่พลในสังกัดต่างๆ จนถึงกับมีการออกกฎห้ามข้าราชการหรือขุนนางระดับสูง พบปะพูดคุยกันสองต่อสอง เพื่อป้องกันการสมคบแย่งชิงราชบัลลังก์  รวมทั้งกำหนดโทษความคิด โดยการใช้พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาทุกปี เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์

ระบบการควบคุมแรงงานจึงมีความสำคัญ ภายใต้ระบบที่เรียกว่า ศักดินา  ซึ่งแยกออกเป็นคำว่า นา หมายถึงพื้นที่ปลูกข้าว และ ศักดิ์ คือ อำนาจ (ในความหมายเกี่ยวกับทรัพยากรและกำลังคน) เมื่อรวมกันเข้าศักดินาก็หมายถึง อำนาจที่ได้มาจากการถือครองที่ดิน (Wales 1934: 49)  

คนที่มีสถานภาพสูง เรียกว่าเป็นผู้มี ยศศักดิ์ ยศเป็นสิ่งที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ส่วนศักดิ์คืออำนาจหรือพลัง ซึ่งก็จะปรากฏผ่านวิธีการบรรยายถึงฐานะ สถานภาพอันสูงส่งของคนคนหนึ่ง เช่น บอกว่าคนคนนั้นมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่  เพราะผลบุญได้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป จากการที่บุคคลผู้นั้นแสดงอำนาจให้ผู้อื่นเห็น

สำหรับกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่า สมัยโบราณ ศักดินาคงจะหมายถึง จำนวนที่นา (ไร่) สูงสุดเท่าที่คนหนึ่งๆ จะพึงครอบครองได้ ซึ่ง ควอริชท์ เวลส์ เรียกว่า แต้มเกียรติยศ

การถือครองที่ดินถูกกำหนดด้วยศักดินา ตั้งแต่จำนวน 5 ไร่ขึ้นไปจนถึงแสนไร่ โดยนับจากทาส วนิพก ยาจก ไปจนถึงพระมหาอุปราช ซึ่งไม่รวมถึงกษัตริย์  เพราะถือว่าที่ดินทุกตารางนิ้วของแผ่นดินก็คือของพระมหากษัตริย์โดยชอบธรรม ซึ่งบรรดาลูกหลาน ผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากษัตริย์ ก็จะลดทอนฐานะหรือสถานภาพของลูกหลานลงไปเมื่อมีการแต่งงาน เช่น พระยศของเจ้า ตั้งแต่เจ้าฟ้าลงไปจนถึงหม่อนเจ้าจะถูกลดทอนลงไปในแต่ละชั่วอายุคน และโอรส ธิดาของหม่อนเจ้านั้น มีสถานะที่คลุมเครือเนื่องจากไม่ถือว่าเป็นเจ้า แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องถูกสักเช่นไพร่ เพราะสามารถนำเข้าไปถวายตัวต่อกษัตริย์ เพื่อให้ทรงแต่งตั้ง เป็นข้าราชการมียศ เป็นขุนนาง ซึ่งแตกต่างจากไพร่ ที่เป็นสามัญชนธรรมดา ก็สามารถเลื่อนฐานะได้ด้วยการทำความดีความชอบได้เหมือนกัน เช่น การไปรบในสงครามด้วยความหกล้าหาญ ก็อาจได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางได้เช่นกัน ในขณะเดียวกันไพร่ก็อาจจะลดฐานะตัวเองลงมาเป็นทาสได้ เพราะไม่พอใจขุนนางหรือมูลนายที่ตัวเองสังกัด ก็อาจขายตัวเองให้กลายเป็นทาสได้

ดังนั้นทาสในสังคมไทยจึงมีลักษณะพิเศษ ที่แตกต่างจากสังคมตะวันตก ในลักษณะที่ทาสส่วนใหญ่สมัครใจที่จะเป็นทาส ไม่ใช่การถูกบีบบังคับให้มาเป็นทาส ดังเช่นคนตะวันตกผิวขาว ไปเอาคนผิวดำจากทวีปแอฟริกามาเป็นทาส โดยวิธีการลักพาตัว หรือ การบังคับให้ขึ้นเรือมา เป็นคนงานในไร่นาของเจ้าของที่ดิน (Land Lord)  ทาสในสังคมไทยจึงมีลักษณะของ ทาสขัดดอก ซึ่งมีสิทธิที่จะไถ่ถอนตัวเองได้ด้วยราคาที่ถูกขายมาครั้งแรก หรือในราคาที่กฎหมายกำหนด  นายไม่มีสิทธิฆ่าทาสของตนเอง เมื่อทำให้ทาสพิการ ค่าตัวของทาสที่จะไถ่ตัวเองก็จะลดลงไปด้วย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ไพร่สังกัดมูลนาย ทาสสังกัดนายเงิน ต่างมีพันธะที่ต้องรับผิดชอบส่งส่วยหรือรับใช้ต่อเจ้านาย การกำหนดสถานภาพของคนซึ่งอาศัยระบบศักดินา กลายเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระบบการปกครองประเทศไปด้วย พร้อมกับการสร้างอำนาจ ความผูกพัน ของคนที่มีต่อรัฐ และเจ้านาย

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภาพของชาวนาในฐานะแรงงานในการผลิตที่สำคัญของประเทศ ไม่ค่อยมีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรมากนัก เท่าที่มีปรากฏก็จะอยู่ในโครงทวราทศมาศ ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยาตอนต้น ที่กล่าวถึงประเพณีในรอบ 12 เดือนของชาวอยุธยาว่า ในเดือน6 เป็นเดือนที่ราษฏรเริ่มไถนา เพื่อรอน้ำฝนในช่วงเดือน7  ดังที่บอกว่า (อ้างจาก สุกัญญา สุจฉายา,2546:6)

พระพรุณรายเรื่อยฟ้า เฟ็ดโพยม

อกราษฎรชนบทเทา  ทั่วหล้า

เริ่มการสมเร็จโถม  ไถแล่น

เจียรอนุชน้องถ้า ไป่เห็น

ดังที่ มรว.อคิน รพีพัฒน์ ศึกษาสังคมกรุงเทพฯสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ร.1-ร3) ชี้ให้เห็นว่าระบบอุปถัมภ์   เป็นเครือข่ายโยงใยที่เหนียวแน่น เกินกว่าพันธะของมูลนายกับไพร่ แม้เมื่อระบบมูลนายและไพร่สลายไปแล้ว แต่สายใยของระบบอุปถัมภ์ก็ยังคงดำรงอยู่ แต่แปรเปลี่ยนไปสู่สัมพันธภาพภายนอกระบบราชการของกลุ่มคนในสังคม

ประเทศสยามกับการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศการค้าที่รุ่งเรืองที่สุด เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เมื่อได้มีการทำสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ โดยเฉพาะพระเจ้าหลุยส์ที่14 แห่งฝรั่งเศส การค้าขายกับชาวตะวันตกผิวขาวมีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่ไม่ได้มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร  ดังเช่นสิ่งที่บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ได้บันทึกเกี่ยวกับประชากรส่วนใหญ่ของสยามที่ประกอบอาชีพทำนาทำสวนในช่วงสมัยรัชกาลที่3 ว่า

ชาวนาเหล่านี้แข็งแรง  ทนทานต่อความเหนื่อยอยากจะต้องทำงานหนักในระยะ 5 หรือ 6 เดือนในฤดูทำนา แต่ก็คุ้มกับ 6 เดือนหลังที่พวกเขาใช้เวลาให้สิ้นไปในการเล่นพนันงาน นักขัตฤกษ์และการเล่นอย่างอื่นๆ ส่วนใหญ่ของราษฎรเป็นผู้ยากจน แต่ไม่ถึงกับอดอยาก เพราะในประเทศสยามนั้นไม่เห็นคนเป็นขอทานเลย นอกจากครอบครัวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยบางครอบครัวเท่านั้น (หน้า215)

เช่นเดียวกับ เอกสารของนายฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง ชื่อ Histoire du Royaume de Siam (ค.ศ.1771) ที่บันทึกในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยนั้น โดยเขาเขียนว่า

แม่น้ำไนล์ทำให้ประเทศอียิปต์อุดมสมบูรณ์อย่างไร แม่น้ำเจ้าระยาก็ทำให้พระราชอาณาจักรนี้อุดมสมบูรณ์อย่างนั้นไม่ผิดกันเลย เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวข้าวได้มาก ชาวไร่ชาวนาไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำมารดดินเลย เพียงแต่คุ้ยหน้าดินเล็กน้อยหยอดเมล็ดพืชลงไป น้ำก็จะไหลมาท่วมทำให้งอกขึ้น ....แต่เนื่องจากผลิตผลที่เกิดจากทุ่งนาของเขาไม่ใช่ผลที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรง เขาจึงนอนคุดคู้อยู่ในความเกียจคร้าน และดูเหมือนจะมีชีวิตอยู่ก็เพื่อกินเท่านั้น...

ดังนั้นความอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในทัศนะของชาวตะวันตก ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ชาวตะวันตกมองว่าชาวสยามเกียจคร้าน และชอบการละเล่นสนุกสนาม เนื่องจากมีเวลาว่างจากการทำการเกษตรมาก

นอกจากนี้ชาวนา ไม่ได้ประสบความสุขรื่นรมย์กับธรรมชาติ ดังที่เราได้ยินได้ฟังมาแต่อย่างใด เพราะในจดหมายเหตุปูมโหรของ จดหมายเหตุรัชกาลที่2 จดหมายเหตุรัชกาลที่3 เราจะเห็นความทุกข์ยาก ขัดสนของชาวนาสยามอันเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ข้าวแพง น้ำมาก วัวควายตาย เกิดโรคระบาด เกิดภัยธรรมชาติ ที่ส่งผลให้การผลิตข้าวไม่ได้ผล

 

 

 

การเปลี่ยนแปลงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrail Revolution)[1]

การปฎิวัติอุตสาหกรรมถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่ในประเทศอังกฤษ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมและเทคโนโลยี ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ถึง ศตวรรษที่19 โดยมีจุดกำเนิดจากการประดิษฐ์รถจักรไอน้ำ ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก และการทำงานด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ  ซึ่งนำไปสู่การผลิตจำนวนมหาศาลและการติดต่อค้าขายระหว่างประเทศ ทำให้มีการสร้างเรือกำปั่นและทางรถไฟ ที่อาศัยพลังงานเครื่องจักรไอน้ำ เพื่อขยายความเจริญก้าวหน้าสู่ยุโรปตะวันตกและทวีปอเมริกาเหนือ ก่อนที่จะแพร่กระจายและส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆทั่วโลก

ปรากฏการณ์ดังกล่าว เราเรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงและขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นอานิสงส์จากการค้นพบทรัพยากรถ่านหินราคาถูกที่มีคุณค่าต่อการพัฒนานวัตกรรมของเครื่องจักรไอน้ำ ที่เริ่มด้วยการปั่นฝ้าย ทอผ้าจากฝ้ายและขนสัตว์ ที่ผลักดันให้เกิดการขยายตัวของแรงงานจำนวนมหาศาล เกิดการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี การจัดการระบบโรงงานรูปแบบใหม่ ปรากฏการณ์ต่างๆทำให้เมืองอังกฤษ กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่แออัด และบ่มเพาะปัญหาต่างๆทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังที่จอห์น รัสกิน (ค.ศ.1890-1900) มองว่า แม่น้ำในอังกฤษ กลายเป็นจักรกลชนิดหนึ่ง ที่ชาวอังกฤษไม่อาจนำมาใช้ในพิธีรับศีลมหาสนิทได้โดยปราศจากกลิ่นเหม็น หรือแม้กระทั่งจะอาศัยน้ำฝนแทนก็ยังไม่พ้นความสกปรก

การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในอังกฤษก่อนระหว่างช่วงพ.ศ. 2293-2393 ในฐานะประเทศเจ้าอาณานิคม และมีเมืองรองรับผลิตภัณฑ์อยู่รอบทวีปยุโรป และมีแหล่งวัตถุในทวีปอื่นๆ โดยเฉพาะในเอเชีย ออสเตรเลีย จนกระทั่งถึงช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงที่สอง ประมาณ พ.ศ. 2337 ซึ่งเคลื่อนจากเรื่องของเครื่องจักรำไอน้ำ และสิ่งทอ มาเป็นเรื่องเหล็ก หลังจากมีการค้นพบแร่เหล็ก บทบาทของการตลาด ความมั่นคงทางการเมือง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเกิดการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม  รวมทั้งเกิดนักประดิษฐ์คิดค้นมากมาย เช่น เจมส์วัตต์  และเริ่มที่จะมีกฎหมายเกี่ยวกับผังเมือง และการจัดสร้างสวนสาธารณะขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการปฎิวัติอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน

ภาพวาดผู้รับเคราะห์ (The Scape goat) เขียนโดยวิลเลี่ยม โฮลแมน ฮันต์ (ค.ศ.1827-1910) ในช่วงนั้นศิลปินชาวอังกฤษหลายคนซึ่งเป็นพวกชนชั้นกลางมีปฏิกิริยาต่อต้านการเติบโตของอุตสาหกรรม ดังเช่น ภาพเขียนข้างล่าง ที่ชี้ให้เห็นมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของอุตสาหกรรม ควันเสียของโรงงานที่ปล่อยขึ้นสู่อากาศ ความแออัดยัดเหยียดในเมืองที่เพิ่มมากขึ้น จากผู้คนที่อพยพเข้ามาเป็นแรงงานในเมือง ซึ่งส่งผลต่อสภาพสังคมในยุคนั้น ปัญหาคนเร่ร่อนไร้บ้าน ปัญหาชุมชนแออัด และปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากสภาวะการตกงาน การว่างงาน ที่เกิดขึ้นจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเครื่องจักรกล เข้ามาแทนที่แรงงานจากมนุษย์  ซึ่งถูกมองว่าเป็นแรงงานไร้สมรรถภาพและฝีมือ  เช่นเดียวกับสวัสดิการต่างๆ ที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้ร่างกายของคนงานเหล่านี้ อ่อนแอและเจ็บป่วย

นอกจากนี้ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังทำให้เกิดวัฒนธรรมของมวลชน ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้ปริมาณมากขึ้น และมีหลากหลายชนิดมากขึ้น มีการจัดแบ่งประเภทของสินค้า เพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม ที่เป็นการก้าวขึ้นมาสู่ระบบทุนนิยมสมัยใหม่ ที่ปัจเจกบุคคลมีเสรีในการเลือกรับและเสพมากขึ้น กระแสการผลิตและการบริโภค ดังกล่าว ได้นำไปสู่การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมมวลชน (Mass Culture) ภายใต้กระบวนการผลิตซ้ำแบบต่อเนื่อง (Mass Product) สุดท้ายมันได้นำไปสู่พฤติกรรมและวัฒนธรรมการบริโภคของประชาชนในสังคมปัจจุบัน (Popular Culture) ซึ่งในช่วงแรกกระบวนการของวัฒนธรรมมวลชน ได้สร้างข้อจำกัดของการบริโภค ให้กับประชาชน เมื่อผลิตสินค้าเช่นใดก็บริโภคอย่างนั้นไป ไม่มีสิทธิจะเลือก คนจึงมีฐานะเป็นผู้ถูกกระทำ (Passive)จากกระบวนการผลิต ที่ทำให้ต้องจำใจบริโภคสินค้าที่ผลิตขึ้นมา ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระบวนการเลือกหรือตัดสินใจปัจเจกชนนิยมเสรียังไม่ชัด จนกระทั่งถึงช่วงของการพัฒนากระแสวัฒนธรรมประชา หรือ Pop-Culture ที่สร้างอัตลักษณ์ ตัวตนให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในการผลิต มีรสนิยมในการบริโภคมากขึ้น สินค้าต่างๆที่ผลิตก็ดูเหมือนจะออกมาเพื่อลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น  ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้เส้นแบ่งของ วัฒนธรรมชั้นสูง และวัฒนธรรมพื้นบ้าน ถูกทำให้เลือนหายและพร่ามัวมากขึ้น เพราะอิทธิพลของวัฒนธรรมมวลชนและวัฒนธรรมประชา  เราไม่สามารถจะบอกว่า อันไหนคือวัฒนธรรมชั้นสูง อันไหนเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่น เพราะผู้คน ต่างก็บริโภคสินค้าชนิดเดียวกัน  เช่น งานศิลปะที่เป็นแบบMaster Peice กับ Copy Art คุณไม่สามารถรู้ได้ว่าภาพไหนคือภาพดั้งเดิมเริ่มแรกแต่คุณก็สามารถมีไว้ครอบครองได้ ซึ่งทำให้นักวิชาการหลายคน อย่าง Dwright Macdonal มองว่า ศิลปะชั้นสูงถูกลดทอนพลังอำนาจในตัวเอง และถูกทำลายความสูงส่งลงไป เมื่อภาพโมนาลิซา ของลีโอนาโด ดาวินชี่ไม่ได้มีภาพเดียวแต่มีเป็นล้านๆภาพในโลก และถูกล้อเลียนโดยพวกลัทธิศิลปะสมัยใหม่ หรือโพสต์โมเดิร์นอย่าง Dadism ที่ต้องการโต้แย้งว่าความงามหรือศิลปะที่เป็นหนึ่งหรือสูงส่งแท้จริงแล้วไม่มี เป็นเพียงกระบวนการลอกเลียนแบบและผลิตซ้ำ ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนชั้นสูง พวกอนุรักษ์นิยม ที่เชื่อมั่นในความสูงส่งของศิลปะและวัฒนธรรม ที่เรียกว่า High Culture ในปัจจุบัน หรือเพลงJass Hip-Hop  ซึ่งไม่ว่าคนขาวคนดำ คนยุโรป คนเอเชีย ก็ร้อง และนิยมฟังเพลงประเภทนี้ วัฒนธรรมแจ๊สแม้ว่าจะเกิดจากคนดำ แต่จากอุตสาหกรรมเทปและแผ่นเสียง ทำให้แจ๊สกลายเป็นเพลงที่ได้รับการยอมรับ และเป็นศิลปะคลาสสิค หรือแม้แต่พระเจ้าอยู่หัวของไทยก็ทรงโปรดเพลงแจ๊สเช่นกัน  ดังที่บอกว่า คุณจะไม่สามารถหาต้นตอของสินค้าเริ่มต้นดั้งเดิมแท้จริงได้ แต่สิ่งที่คุณบริโภคก็คือสิ่งที่ถูกจำลองเลียนแบบและผลิตซ้ำ สินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง เช่นเดียวกับที่ออร์ดอร์โน พูดถึงว่า วัฒนธรรมมวลชนก็คือ อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมนั่นเอง 

ภาพศิลปะที่ชื่อว่าผู้รับบาป แม่น้ำเทมที่เป็นสีดำสนิท มลพิษจากปล่องไฟโรงงาน ควันไฟสีดำที่พวยพุ่งออกจากโรงงานสู่ชั้นบรรยากาศเป็นภาพแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ภาพการปฏิวัติอุตสาหกรรม การใช้เครื่องจักรเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ การแบ่งงาน ภาพที่อยู่อาศัยที่แออัดยัดเยียดในเมือง การเกิดปัญหาสังคมต่างๆ เช่น สลัม อาชญากรรม เป็นต้น

 

         

 

 

 

ชาวนาไทยบนรอยต่อของช่วงเวลา ระหว่างความทันสมัย การปฏิวัติอุตสาหกรรมและการพัฒนาการเกษตร

            การเปิดประเทศให้ก้าวเข้าสู่ความทันสมัย ให้เทียบเท่ากับอารยะธรรมตะวันตกเป็นสาเหตุให้ประเทศไทยต้องปฏิวัติเปลี่ยนแปลงตัวเองทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองการปกครอง ที่ต้องมีการทำแผนที่ อาณาเขตพรมแดนที่ชัดเจนและจัดระบบการปกครองประเทศออกเป็นมลฑลเทศาภิบาล ดังเช่นตะวันตกในสมัยรัชกาลที่5โดยแต่งตั้งผู้มีอำนาจจากส่วนกลางเข้าไปดูแล เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมดูแลพลเมืองของรัฐ รวมทั้งการพัฒนาทางด้านการเกษตร ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตขั้นพื้นฐานของสังคมไทย ทำให้เกิดการปฎิรูประบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน มีการออกโฉนด ให้ประชาชนได้มีการจับจองที่ดิน และเกิดกลุ่มชนชั้นทางสังคม (Social Class) ใหม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ และนายทุนเจ้าของโรงสี พ่อค้าคนกลางขึ้น อีกทั้งการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริ่งทำให้ประเทศไทยต้องส่งข้าวให้ได้ปริมาณมากตามความต้องการของตลาด ทำให้ที่ดินต้องมีการปฏิรูป และสร้างระบบกรรมสิทธิ์ การออกโฉนดที่ดิน ซึ่งในสมัย ร.5 มักเรียกว่า การออกโฉนดแผนที่  ซึ่งส่งผลให้ที่ดินเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูง

 

 

 

การเปลี่ยนแปลงในฐานะปัจจัยการผลิต

1.การเปลี่ยนแปลงด้านแรงงาน ไพร่และทาสในสังคมสยามได้ถูกดึงเข้าสู่วงจรทางเศรษฐกิจของโลกโดยตรง ภายหลังช่วงการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษในช่วงปี พ.ศ. 2398 ในสมัยรัชกาลที่4 จนมาถึงรัชกาลที่5 ที่ได้ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ปลูกข้าวเพื่อส่งออกเป็นสินค้าสำคัญ ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ในการเพาะปลูก และขุดคลองเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งชาวนาได้กลายเป็นแรงงานสำคัญในการทำการผลิต ส่งผลให้อาชีพชาวนาได้เพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากที่มีการเลิกทาส ในปีพ.ศ.2448 ซึ่งเป็นไปได้ว่า ชาวนาที่เพิ่มขึ้น ก็คือคนที่เคยเป็นไพร่ ทาสเดิมหรือพวกมูลนายบางส่วน ดังที่ J.C Ingram (1964)  ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการพังทลายของระบบไพร่และทาสในสยาม ว่า ภายหลังจากการประกาศเลิกทาส ได้มีชาวนาเพิ่มสูงขึ้นในสยามประเทศ  ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ Ernest Young นักเขียนชาวอังกฤษ อดีตข้าราชการกระทรวงธรรมการในสมัยรัชกาลที่5 ได้เขียนเรื่อง Peeps at Many Lands: Siam (1908) ได้เล่าถึงวิถีชีวิตของผู้คนสมัยนั้นว่า

...ผู้คนที่มีฐานะร่ำรวยมักจะนำเงินไปลงทุนกับการทำนา ศาลยุติธรรมใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพิพากษา ข้อพิพาทระหว่างเจ้าของนา ประชาชนโดยทั่วไปมักจะพูดคุยกันถึงผลผลิตข้าวในฤดูกาลหน้า เช่นเดียวกับที่ผู้คนในอังกฤษนิยมพูดถึงเรื่องดิน ฟ้า อากาศ เรือที่แล่นขึ้นล่องในแม่น้ำลำคลองส่วนใหญ่ เป็นเรือบรรทุกข้าว เรือกลไฟลำใหญ่ๆ ก็มักก็มักจะบรรทุกสินค้าที่สำคัญและมีค่านี้ออกจากท่าเรือไปยังดินแดนส่วนต่างๆอยู่เสมอ

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั้งประเทศ  และเป็นเจ้าชีวิตของประชาชนทุกคนในประเทศ เนื่องจากแรงงานในประเทศถือเป็นผู้ผลิตขั้นพื้นฐานที่สร้างรายได้ให้กับรัฐ  การปลดปล่อยทาสให้เป็นไท และการเพิ่มขึ้นของคนที่ประกอบอาชีพชาวไร่ ชาวนา จึงไม่ได้เป็นผลดีต่อชาวนาชาวไร่เสมอไป ในทางตรงกันข้ามการถูกตัดออกจากสายสัมพันธ์ของระบบอุปถัมภ์ ได้สร้างผลกระทบให้กับไพร่ละทาสเหล่านี้ ดังที่ Herbert Warington Smyth เจ้ากรมเหมืองแร่ในสมัยรัชกาลที่ 5  ได้บ่งบอกถึง สภาวะของทาสในช่วงของการถูกปลดปล่อยว่า

ในยามที่ประสบภาวะขาดแคลน พวกเขาก็ถูกปล่อยให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่ ในยามที่มีปัญหาก็ไม่รู้จะเข้าไปอุทธรณ์ร้องขอกับใครได้ ระบบเก่านั้นดูเหมือนจะให้การปกป้องพวกเขา ช่วยให้ปลอดโปร่งโล่งใจหมดความวิตกกังวลกับเรื่องอนาคต ดังนั้นหลายๆคนก็ยังทรงขายตนเองให้กับกลุ่มนายหัวที่มั่งคั่งร่ำรวย (หน้า 308)

2.การเปลี่ยนแปลงด้านที่ดิน  การพัฒนาระบบชลประทานในแถบลุ่มน้ำภาคกลาง โดยเฉพาะโครงการรังสิต ในแถบตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อประมาณ พ.ศ. 2432-2433 โดยบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม (The Siam Canals ,Land and Irrigation Company) โดยมี    พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์  เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท และทำให้เกิดการบุกเบิกพื้นที่ทำการเกษตร ถึง 1,2500,000- 1,500,000 ไร่ เป็นที่น่าสังเกตว่า ที่ดินส่วนใหญ่ในบริเวณที่ขุดคลองได้กลายเป็นของนายทุน ซึ่งเป็นชนชั้นขุนนาง ดังเช่นการจับจองที่ดินของสองฝั่งคลอง ในเขตพื้นที่ขยายใหม่ เพื่อทำนาปลูกข้าวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่4 และการแบ่งสรรที่ดินเพื่อพัฒนาและขายของบริษัทพัฒนาที่ดินต่างๆ เช่น บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามในเขตรังสิต และบริษัทโครงการพระยาบรรฤา เป็นต้น  เกิดคลองต่างๆ ในกรุงเทพฯทั้งคลองใหม่ คลองเก่า เช่น คลองแสนแสบ คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก คลองมหาสวัสดิ์ คลองเปรมประชากร คลองนครเนื่องเขตร์ คลองประเวศบุรีรมย์ คลองรังสิต หรือคลองพระยาบรรฤา เป็นต้น ทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกบริเวณสองฝั่งคลอง พร้อมๆกับการก่อตั้งสถาปนากรมคลองในปีพ.ศ.2446 และก่อตั้งกรมเพาะปลูก

          เมื่อเริ่มมีการจัดระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างเป็นทางการโดยรัฐ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นก็คือ การเปลี่ยนอำนาจในการถือครองที่ดิน จากพระเจ้าแผ่นดิน มาสู่รัฐ และประชาชนมีสิทธิที่จะจับจองซื้อขายที่ดินได้มากขึ้น ตั้งแต่สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พ.ศ. 2398  โดยมีเรื่องของการออกโฉนด เพื่อให้สิทธิในการจับจองที่ดินกับประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ถือครองในฐานะผู้ใช้ที่ดินแทนกษัตริย์ ภายใต้โฉนด ตราครุฑ ตราแดง ตราเขียว หรือตราดำ  ประชาชนเป็นผู้มีพันธะกับพระเจ้าแผ่นดิน ในการใช้ประโยชน์จากที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ กษัตริย์หรือรัฐอาจเรียกคืนเมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อการสาธารณประโยชน์ หรือเมื่อผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินไม่ได้ทำประโยชน์ ก็อาจถูกเวนคืนให้ผู้อื่นเข้าทำประโยชน์แทนได้ เช่น  การทำถนน คูคลอง กำแพง เป็นต้น โดยมีการออกโฉนดที่ดินแบบใหม่ ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) ที่แบ่งประเภทของกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินออกเป็น ตราแดง ตราจอง ใบเหยียบย่ำ โฉนดสวน โฉนดป่า และหนังสือสำคัญสำหรับที่บ้าน เป็นต้น

นอกจากนี้ มีการจำแนกที่ดินตามลักษณะการถือครองเพื่อเอาประโยชน์จากที่ดินนั้นๆ เช่น ที่บ้านเรือน ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ ที่ศาลเจ้า ที่หลวง ที่สวน ที่ไร่ และที่นา รวมทั้งมีการเก็บค่านาโดยคิดเป็นข้าวเปลือก หรือหางข้าว โดยคิดอัตราการเก็บเข้าฉางหลวงในอัตราไร่ละ 2 ถัง (ยกเว้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เก็บเงินแทนข้าวเปลือก) ต่อมาจึงมีการยกเลิกเก็บอากรค่านาในปีพ.ศ. 2482 ปัจจุบันก็เป็นเรื่องของการเก็บเงินภาษีที่ดิน  พร้อมกับการเติบโตของระบบธุรกิจการค้าที่ดิน (Land Transaction) ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง เกิดกลุ่มเจ้าของที่ดินรายใหญ่ เช่น เชื้อพระวงศ์ต่างๆ โดยเฉพาะตระกูลบุนนาค  ที่ดินกลายเป็นสินค้าหรือโภคทรัพย์ (Commodity)  บริเวณทุ่งรังสิตมีผู้คนอพยพเข้ามาทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก ทั้งแรงงานชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาตากภาคอีสานและลาว เข้ามาทำงานรับจ้างในแถบทุ่งรังสิต และมีคนอพยพมาอยู่มากมาย จนเกิดเป็นเมือง 2 เมือง คือ ธัญญบุรี และมีนบุรี (อ้างจากธิดา สาระยา,2544: 56)

          การควบคุมที่ดินโดยรัฐและพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณแล้ว เช่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ในพระไอยการเบ็ดเสร็จ บทที่52 บอกเกี่ยวกับที่ดินทั้งหลายในแผ่นดินเป็นของพระมหากษัตริย์ ว่า

ในแว่นแคว้นกรุงศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ เปนที่แห่งพระเจ้าอยู่หัว หากให้ราษฎรทั้งหลายผู้เป็นข้าแผ่นดินอยู่ จะเปนที่ราษฎรหามิได้

โดยสอดคล้องกับคำกล่าวของพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ว่า ที่ดินทั้งหมดเป็นที่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หาได้ทรงเป็นเจ้าชีวิตอย่างเดียว ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วย

ดังนั้นการถือครองที่ดินจึงตกอยู่ในมือของชนชั้นปกครอง เช่น กษัตริย์ เจ้านายและขุนนาง แม้ว่ากษัตริย์จะสามารถพระราชทานที่ดินหรือริบคืนได้ แต่ก็ไม่ง่ายนัก เนื่องจากว่า การควบคุมกำลังไพร่ในสังกัดของมูลนายที่อาจสร้างความกระทบกระเทือน และอาจลดทอนพระราชอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์  ดังนั้นจึงไม่ค่อยพบบ่อยนักที่กษัตริย์จะริบที่ดินคืนจากบุคคลเหล่านี้ แม้แต่สามัญชนธรรมดา อย่างเช่น พวกไพร่ ก็ไม่ค่อยพบเช่นกัน เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ก็ครอบครองที่ดินจำนวนน้อยมากจำนวน10-25 ไร่ และถือได้ว่าเป็นแรงงานผลิตที่สำคัญของรัฐ ดังนั้นกษัตริย์จึงได้รับผลประโยชน์จากการทำการผลิตของคนกลุ่มนี้ การริบคืนที่ดินจึงไม่มีผลดีต่อรายได้ของพระคลังแต่อย่างใด 

เศรษฐกิจในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แม้จะเริ่มมีการก่อตัวของระบบทุนนิยมบ้าง แต่ระบบกรรมสิทธิ์ก็ยังไม่ก่อตัวขึ้นอย่างจริงจังนัก ยังคงมีการใช้สิทธิถือครองประโยชน์ลดหลั่นกันไปในระบบศักดินาของแต่ละบุคคล และในทางทฤษฎี แม้ว่ากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของกำลังคนหรือแรงงานของไพร่ทั้งหมดในราชอาณาจักร แต่ในทางปฏิบัติแล้วพระองค์ไม่สามารถควบคุมไพร่ทั้งหมดด้วยพระองค์เองไม่ แต่ทรงให้ขุนนางซึ่งเป็นชนชั้นปกครองเป็นผู้ดูแล  และควบคุมปัจจัยการผลิตแทน ดังนั้น  การควบคุมกำลังคนในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงดำเนินการภายใต้ระบบของมูลนาย หรือระบบไพร่เป็นสำคัญ และพระมหากษัตริย์ได้ใช้ระบบศักดินา ในการควบคุมกำลังคนและแจกจ่ายแรงงานด้านการผลิตให้แก่มูลนายต่างๆ  การเติบโตของระบบทุนนิยมของไทยในช่วงแรก จึงเป็นแบบทุนนิยมกึ่งศักดินา  เมื่อระบบทุนนิยมได้เติบโตและพัฒนาตัวเองอย่างสมบูรณ์แล้ว  บทบาทของชนชั้นศักดินาก็ลดน้อยลง  มาอยู่ในมือของพวกนายทุนเจ้าของที่ดิน เจ้าของโรงสีและพวกพ่อค้ามากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพวกศักดินาเดิมนั่นเอง และมารเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและการใช้ประโยชน์จากที่ดินมากกว่าเรื่องของการเกษตร ดังเช่น การหายไปของทุ่งนา บริเวณเขตรังสิต ซึ่งกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจบ้านจัดสรร และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่

 

3.การเปลี่ยนแปลงเรื่องการเกษตร เป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการนำเอาแนวความคิดและแนวทางปฏิบัติเรื่องปฏิวัติเขียวมาใช้ในประเทศไทย  ซึ่งแนวความคิดนี้เริ่มใช้ในตะวันตกก่อนในช่วงก่อนปี พ.ศ.2500 มาเป็นเป้าหมายและนโยบายหลักของการพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่1(พ.ศ.2504-2509) เป็นต้นมา  โดยมีการนำวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องจักร เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง มีการส่งเสริมอาชีพหลักคือการทำนา จนถึงกับมีการประกาศยกย่องชาวนาว่า เป็นกระดูกสันหลังของชาติ การทำไร่ทำนา ของชาวไร่ชาวนา กลายเป็นเรื่องของการรับใช้ระบบการผลิตแบบทุนนิยม การค้าขายในเชิงพาณิชย์ มากกว่า เป็นการผลิตแบบพอยังชีพดังเช่นในอดีต ชาวไร่ชาวนา จึงกลายเป็นเรื่องของอาชีพ มากกว่าจิตวิญญาณและวิถีชีวิตของชาวไร่ชาวนา เพราะประเพณีบางอย่างเริ่มสูญหายไป จากสังคมเกษตรกรรม ที่สัมพันธ์ระหว่างชาวนา กับดิน กับน้ำหรือกับควาย ที่เป็นแรงงานสำคัญในการผลิตในอดีต พิธีกรรม ที่เป็นเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ เช่นเลี้ยงผีตาแฮก ทำพิธีแฮกนา เลี้ยงปู่ตา บุญบั้งไฟ แห่นางแมว ไหว้พระแม่โพสพหรือแม้แต่ทำขวัญควาย เริ่มสูญหายไป  หรือพิธีกรรมที่สร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่างประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว บุญคูณลานก็หายไปจากท้องถิ่น กลายเป็นเรื่องของการจ้างงาน และการเน้นความเป็นปัจเจกชนในโลกสมัยใหม่มากขึ้น อีกทั้งปัญหาของชาวนาชาวไร่ ก็มีมากขึ้น ทั้งปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สิน รวมถึงการเข้าถึงรัฐสวัสดิการต่างๆ ทางด้านการศึกษา และสุขภาพ ก็ยังคงมีปรากฏอยู่ ดังที่ เสถียร จันทิมาธร ได้สัมภาษณ์ ม.จ. สิทธิพร กฤดากร ในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เกี่ยวกับชาวไร่ชาวนาไทยว่า

          เมื่อเลิกสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ดินยังเป็นของชาวนาอยู่ถึง 85 เปอร์เซ็นต์  เดี๋ยวนี้ภาคกลางเหลือเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ และกลายเป็นของคนอื่นหมด เพราะอะไร เพราะราคาข้าวต่ำ เรื่องนี้ไม่มีคนคิด ......เดี๋ยวนี้กลายเป็นตรงกันข้ามไป คนมีเงินกลายเป็นเจ้าของที่ คนจนกลายเป็นคนเช่า ....

 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของที่ดินในกลุ่มของนายทุน ที่พัฒนาตัวเองมาจากระบอบศักดินา หรือเจ้าขุนมูลนายมาก่อน เกิดธุรกิจการเกษตรที่สัมพันธ์กับข้าวอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะการเกิดกิจการโรงสี ในพื้นที่เมืองที่มีการปลูกข้าว ประมาณ พ.ศ. 2433  หลังจากมีการจัดตั้งบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการตื่นตัวในการพัฒนาที่ดิน  และยอมรับกระบวนการประกอบธุรกิจและการลงทุนของภาคเอกชน ที่เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐ  ที่แตกต่างจากระบบเจ้าขุนมูลนายเดิม โดยเป็นนายทุนกลุ่มใหม่ และเป็นแหล่งสะสมทุนที่มีบทบาทมากขึ้นในสังคม  ซึ่งกิจการนี้ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยคนจีน

โรงสีข้าว เครื่องจักรของชาวยุโรป เพื่อแปรรูปข้าวเปลือก เริ่มตั้งในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2401 และเพิ่มจำนวนโรงสีขึ้นเรื่อยๆ ประมาณปี พ.ศ. 2459 โดยเฉพาะที่จังหวัดอยุธยาแห่งเดียวมีโรงสีถึง 17 แห่ง ต่อมาเจ้าจีนก็มาดำเนินกิจการแทนชาวยุโรป โดยมีคนไทยเป็นหุ้นส่วน และเป็นแรงงานในโรงสี ส่งผลให้เกิดผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ตามาในโรงสี เช่น เจ้าของโรงสี หลงจู้หรือผู้จัดการ ช่างเครื่องยนต์ เสมียนพนักงานและพวกกุลีหรือกรรมกร กุลีในช่วงแรกส่วนใหญ่เป็นคนจีนแต้จิ๋ว แต่คนจีนไม่ใช่ชาวไร่ชาวนา

ดังนั้นเจ้าของกิจการโรงสี จึงมักเป็นผู้ที่ขยายและครอบครองพื้นที่ดินออกไป ในการปลูกสร้างสิ่งต่างๆ ได้แก่ เครื่องจักร โกดังข้าวเปลือก โรงกุลี ท่าเรือ ที่จอดเรือ ทำให้เจ้าของกิจการโรงสี กลายสภาพเป็นนายทุนรายใหม่ ทั้งในแง่ของการเป็นเจ้าของที่ดิน การเป็นเจ้าของเงินทุนให้ชาวไร่ชาวนากู้ยืม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตร โดยแลกเปลี่ยนกับผลผลิตข้าวที่ชาวไร่ชาวนาผลิตได้  ทำให้เกษตรกรต้องผลิตข้าวให้ได้ปริมาณมากขึ้น ด้านหนึ่งก็เพื่อส่งดอกเบี้ยที่กู้ยืมมาจากแหล่งทุนต่างๆ ทั้งจากโรงสี หรือ ธกส.  ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องหันมาใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับตัวเอง หรือบางรายก็หันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีมูลค่าในตลาด เช่น อ้อย ปอ มันสำปะหลัง ตั้งแต่ปีพ.ศ.2500 เป็นต้นมา ที่ชาวไร่ชาวนาไทยเปลี่ยนจากการเพาะปลูกแบบพอยังชีพ มาเป็นการเข้าสู่ระบบการผลิตเชิงพาณิชย์ กลายเป็นกรรมกรชาวนา หรือผู้ประกอบอาชีพชาวนาในปัจจุบัน

สรุป ดังนั้นประวัติศาสตร์และพัฒนาการของสังคมชาวนาไทย รวมถึงชาวไร่ชาวนาไทยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอยู่บนเงื่อนไขทางการเมือง และเศรษฐกิจ เป็นสำคัญ ชาวนาในแง่หนึ่งนอกจากการผลิตอาหารสำหรับครอบครัว เครือญาติและชุมชนแล้ว ยังสัมพันธ์กับรัฐอาณาจักร โดยที่รัฐและอาณาจักรต้องการใช้สังคมชาวนาและชาวนาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ผลผลิตและแรงงานถูกเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐ ทำให้แรงงานเข้าไปสัมพันธ์กับข้างนอกมากขึ้น จนกระทั่งการเข้ามาของอังกฤษและสนธิสัญญาเบาว์ริ่งทำให้ชาวนาสัมพันธ์กับระบบที่ใหญ่มากคือ ระบบเศรษฐกิจและทุนนิยม ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตจากแบบพอยังชีพมาสู่ระบบการค้าที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวนาชาวไร่ในปัจจุบันและนำไปสู่การเกิดชนชั้นในสังคมชาวนาท่ามกลางการผลิตเกษตรอุตสาหกรรมที่เข้มข้น ชาวนาสัมพันธ์กับตลาด พ่อค้าและรัฐมากขึ้นในปัจจุบัน

 

หนังสืออ้างอิง

ธิดา สาระยา(2544). ประวัติศาสตร์ชาวนาสยาม กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล.(2538). พินิจปัจจัยการผลิตในเศรษฐกิจไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และ การเกษตรแบบพอยังชีพในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในรวมบทความประวัติศาสตร์ ฉบับที่17(ก.พ.2538),หน้า 8-22.

อคิน รพีพัฒน์ .ระบบอุปถัมภ์และสังคมไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในเจ้าชาวบ้าน

ลูเซียน เอ็ม แฮงส์ (2527). นฤจร อิทธิจีระจรัส (แปล) ข้าวกับมนุษย์นิเวศวิทยาทางการเกษตรในเอเชียอาคเนย์ กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

 

 

 



[1] ผู้ใช้วลี การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นคนแรกคือทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเบอร์ลินชื่อหลุยส์ Guillaume เมื่อปี พ.ศ. 2342 แต่ผู้ที่นำมาใช้จนเริ่มแพร่หลายเป็นนักเขียนคอลัมน์หนังสือพิมพ์ชื่อ Auguste Blanqui เมื่อปี พ.ศ. 2380 รวมทั้ง Engels ในหนังสือเรื่อง สภาพของชนชั้นกรรมกรในประเทศอังกฤษ (พ.ศ. 2388) จากนั้นมาก็ได้มีผู้นำวลีนี้มาใช้แพร่หลายเป็นการถาวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...