วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

วาทกรรมกับเหมืองแร่ โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

ผ มจำได้ว่าสมัยเป็นเอ็นจีโอ ผมได้เขียนประเด็นเรื่องเหมืองแร่โพแทชและโครงการโขงชีมูล ที่เกี่ยวกับเรื่องเกลือและน้ำเพื่อวิพากษ์นโยบายของรัฐในการจัดการทรัพยากร การสถาปนาความรู้ความจริงขึ้มาเพื่อสร้างอำนาจ และการต่อสู้ของคนเล็กคนน้อย ผมคิดว่ามันก็นยังคงนำมาใช้ได้อยู่ในปัญหาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบัน....

****เกลือ วาทกรรม ความรู้และกฎหมาย******
เรามิอาจปฏิเสธว่า ภาษาสร้างความรู้ และสร้างอำนาจในการจัดการสิ่งต่างๆรอบตัวมนุษย์ ทั้งระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม การเมือง หรือแม้แต่ตัวของมนุษย์เองก็ตาม เช่นเดียวกับความรู้เรื่องเกลือและโพแทชได้กลายมาเป็นสนามแห่งอำนาจในการจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและคนในพื้นที่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้....
ประวัติศาสตร์ของเกลือในมิติทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ล้วนสะท้อนให้เห็นโลกทัศน์ ความคิด ความเชื่อ การปฏิบัติของมนุษย์เกี่ยวกับเกลือ เมื่อเกลือเกิดขึ้นมาบนโลก มนุษย์ได้รับรู้และใช้ประโยชน์กับมันอย่างกว้างขวาง และเมื่อเกลือได้กลายมาเป็นสัญญะหรือตัวสื่อความหมาย รวมถึงวาทกรรมและปฏิบัติการของวาทกรรมที่สถาบันทางสังคมต่างๆก็ได้เข้าไปจัดวางความหมายและบทบาทหน้าที่ให้กับความเป็นเกลือ....
อาจกล่าวได้ว่า เกลือเป็นวัตถุที่ถูกต่อเติม สร้างความหมายและสร้างคุณค่าอย่างหลากหลาย เช่นเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมหากมองในแง่เศรษฐกิจ การพูดถึงระบบตลาดของการค้าเกลือ หากมองในมิติทางสังคมวัฒนธรรม เมื่อพูดถึงระบบความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ การที่เกลือกลายเป็นของฝากของขวัญระหว่างญาติพี่น้องที่อยู่ห่างกันหรือเป็นส่วนประกอบสำคัญของการทำปลาร้าที่เป็นอาหารหลักของคนอีสาน หรือมองในแง่การเมืองเชิงนโยบาย เมื่อพูดถึงเกลือในระบบของการจัดการทรัพยากรแร่ธาตุ เพื่อการใช้ประโยชน์หรือพัฒนาประเทศ เป็นต้น โดยเฉพาะประเด็นสุดท้ายเป็นประเด็นที่สำคัญในปัจจุบัน เพราะเป็นเรื่องของการความรุนแรงในการช่วงชิงความหมาย การสร้างความรู้ ความจริง เกี่ยวกับเกลือ เพื่อสร้างอำนาจในการควบคุม จัดการทรัพยากรเกลือใต้พื้นดินอีสาน โดยผ่านเรื่องของภาษา เมื่อเกลือ ถูกนิยามเข้าไปในชุดของทรัพยากรแร่ธาตุ ในรูปของตัวบทกฎหมาย เพื่อการจัดการและการควบคุมการใช้ประโยชน์ของรัฐ โดยการสร้างนิยามและองค์ความรู้ให้กับสิ่งที่เรียกว่า “ทรัพยากรธรรมชาติ” และ “แร่ธาตุ” ที่สะท้อนให้เห็นการสร้างความหมาย การจำแนกแยกประเภท เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของและอำนาจในการควบคุมทรัพยากรดังกล่าว เช่น ตัวอย่างกฎหมายแร่ รศ.120 ในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของในแร่ที่ระบุว่า...
“...ที่ดินและแร่โลหธาตุทั้งหลายในพระราชอาณาจักร ย่อมเป็นของหลวงโดยพระบรมเดชานุภาพ”
ในกรณีของเกลือ ในช่วงแรกของการพัฒนาเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ เกลือเป็นวัตถุที่ค่อนข้างมีราคาถูก จึงไม่ใช่สิ่งที่รัฐจะเข้าไปควบคุม ดังนั้น ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2461 จึงไม่มีนิยามที่เกี่ยวข้องกับเกลือ แต่ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ในมาตรา4 ได้มีการระบุถึงเกลือสินเธาว์ไว้ในกฎหมายแร่ ใจความว่า..
“แร่หมายความถึงทรัพยากรธรณี ซึ่งเป็นอนินทรียสาร วัตถุที่มีส่วนประกอบทางเคมี กับลักษณะทางฟิสิกส์ที่แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อย ไม่ว่าจะต้องถลุงหรือหลอมก่อนใช้หรือไม่และหมายความตลอดถึงถ่านหิน หินน้ำมัน โลหะที่ได้จากโลหะกรรมและดินหรือทราย ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดเป็นดินอุตสาหกรรม หรือทรายอุตสาหกรรม ในเขตที่ระบุทั้งนี้ไม่รวมถึงน้ำ น้ำแร่ เกลือสินเธาว์ ลูกรัง หิน ดินหรือทราย”
ดังนั้นเกลือสินเธาว์จึงไม่เป็นแร่ตามกฎหมายและไม่มีการควบคุมจำกัดการผลิต ซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งในตัวเอง ดังที่กฎหมายได้ระบุไว้ว่าเกลือสินเธาว์ไม่ใช่แร่ แต่เกลือหินจัดว่าเป็นแร่ ทั้งที่วัตถุทั้งสองอย่าง มีองค์ประกอบทางเคมีที่คล้ายกัน และในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ระบุไว้ว่าเกลือมีความหมายถึงเกลือสินเธาว์และเกลือสมุทร ซึ่งเกลือสินเธาว์ก็คือ เกลือที่ได้จากแผ่นดินบนบก และตรงกับภาษาอังกฤษว่า Rock Salt หรือเกลือหิน ซึ่งในช่วงเวลาที่ออก พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ฉบับดังกล่าว ก็มีการถกเถียงปัญหาเรื่องความคลุมเครือทางความหมายของเกลือและแร่ แม้ว่า เกลือหรือเกลือหิน จะมีนัยหรือองค์ประกอบทางเคมี ที่เป็นแร่ในทางวิทยาศาสตร์ แต่กฎหมายปัจจุบัน ก็ยกเว้นเกลือไม่ให้ถือว่าเป็นแร่ และไม่อยู่ในการควบคุมของกฏหมาย...
ในปีพ.ศ.2522 ได้มีกฎกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่43(2522) ที่ออกความตาม พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ในเรื่องการกำหนดปริมาณการขนแร่ตามมาตรา110 ในบัญชีท้ายกฎกระทรวง ที่ระบุชนิดของแร่ เลขลำดับที่1 มีชื่อเรียกว่า เกลือ แม้ว่าจะไม่มีคำขยายนามหรือคำคุณศัพท์พ่วงท้าย ว่าเป็นเกลือชนิดใด จึงน่าแปลกว่า ทำไมกฎกระทรวงฉบับนี้จึงกำหนดให้เกลือเป็นแร่อยู่ภายใต้การบังคับของกฎกระทรวง ทั้งที่ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ได้เคยระบุว่าเกลือไม่ใช่แร่ก็ตาม ...
ประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญต่อแนวคิดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสานที่สำคัญ เนื่องจากสภาวะความคลุมเครือของเกลือในทางกฎหมาย และการที่กฎหมายกำหนดว่า เกลือไม่ใช่แร่ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย ทำให้มีการผลิตเกลือใต้พื้นดินอีสานในเชิงอุตสาหกรรมอย่างมหาศาล โดยนายทุนท้องถิ่นและนายทุนข้ามชาติ ทำให้ภาษาในทางกฎหมายที่นิยามความหมายของเกลือ ได้กลายมาเป็นเงื่อนไขสำคัญ ในการเข้ามาทำการผลิตเกลือเชิงพาณิชย์ทั้งแบบต้มและแบบตากในจังหวัดต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช ที่ได้ส่งผลกระทบต่อเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นความเค็มที่ไหลปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย หรือแผ่นดินทรุดเนื่องจากการดูดน้ำเกลือจากใต้พื้นดินขึ้นมาปริมาณมหาศาล ซึ่งทำให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน และรัฐกับชาวบ้าน ในประเด็นของการแย่งชิงทรัพยากรที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น...
ดังเช่นกรณีลำน้ำเสียว หนองบ่อ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ได้กลายมาเป็นกรณีศึกษาเรื่องของเกลือและดินเค็มในปัจจุบัน เพราะเป็นการต่อสู้ยุคแรกของชาวนาอีสานกับนายทุนอุตสาหกรรม ที่นำไปสู่การประกาศห้ามมีการสูบน้ำเกลือและต้มเกลือในบริเวณดังกล่าวพร้อมกับการฟื้นฟูลำน้ำเสียวทั้งสาย รวมถึงการเข้ามาจัดการของภาครัฐ ภายใต้พระราชบัญญัติโรงงาน โดยกำหนดพื้นที่อนุญาตให้มีการตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์ได้อย่างถูกกฎหมาย ใน 5 จังหวัด คือ อุดรธานี มหาสารคาม หนองคาย สกลนคร และนครราชสีมา แต่ปัญหาในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก็ยังคงมีและปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่ปัญหาในเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากความซับซ้อนของปัญหาและการเข้ามาของทุนขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทข้ามชาติ....
ความขัดแย้งระหว่าง ชาวนาและนายทุนอุตสาหกรรมเกลือในพื้นที่ต่างๆของภาคอีสานมีมากขึ้น ทำให้ช่วงปี พ.ศ. 2534 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่4) พ.ศ.2534 ซึ่งได้มีการเพิ่มนิยามคำว่าการทำเหมืองและขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินเข้าไป เพื่อควบคุมการผลิตเกลือจากน้ำเกลือใต้ดินของภาคอีสาน ที่ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นวงกว้างจากการเกิดโพรงและหลุมยุบจากการสูบน้ำเกลือใต้ดิน และการทำเหมืองละลายชั้นเกลือหินเพื่อเอาเกลือขึ้นมาต้มและตาก แต่การผลิตเกลืออุตสาหกรรมก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป....
เนื่องจากการผลิตเกลือโดยทั่วไป จะมีรูปแบบการผลิตแบบเกลือพื้นบ้าน ที่ขูดเอาหน้าดินขึ้นมาต้ม และไม่ค่อยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากบ่อเกลือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สาธารณะ การผลิตก็เน้นการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก ไม่ใช่รูปแบบการผลิตในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ที่มักจะใช้วิธีการต้มและการตากบนลานดินหรือลานซีเมนต์ โดยวิธีการสูบน้ำเกลือขึ้นมาต้มหรือตาก ผู้ผลิตส่วนใหญ่คือนายทุนภายนอกท้องถิ่น การผลิตแบบนี้มักส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยเฉพาะพื้นที่ทางการเกษตร แหล่งน้ำ รวมถึงเรื่องของแผ่นดินทรุด....
การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเกลือก้าวหน้ามาตามลำดับจนมาถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีมีความทันสมัยมากขึ้น รูปแบบการผลิตและขนาดของการผลิตก็เปลี่ยนแปลงไป จากอุตสาหกรรมเกลือ มาสู่การทำเหมืองเกลือทั้งแบบเหมืองละลาย เช่นบริษัทพิมาย ซอลท์ ผู้ผลิตเกลือปรุงทิพย์และการทำเหมืองแบบอุโมงค์ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิที่เป็นเหมืองทดลองสำหรับอุตสาหกรรมเกลือโพแทชใต้พื้นดินอีสาน ทำให้ต้องมีการขุดเจาะเพื่อสำรวจหาแหล่งแร่ในบริเวณภาคอีสาน เพื่อประโยชน์ในทางพาณิชย์และเชื้อเชิญนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาทำการผลิตและการลงทุน เช่น โครงการขุดเจาะสำรวจหาเกลือหินและโพแทช ของกรมทรัพยากรธรณี ในช่วงปีพ.ศ.2516-2519 จนพบว่าที่จังหวัดอุดรธานีมีแหล่งแร่โพแทชชนิดซิลไวท์ที่ดีที่สุดในโลก และบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด จากแคนาดาได้สนใจเข้ามาลงทุนและพัฒนากิจการเหมืองแร่ในประเทศไทยและเข้ามาทำการสำรวจและขุดเจาะเหมืองแร่โพแทชเพื่อการผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้....
ดังที่ นายประจวบ ไชยสาส์น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการพลังงานในช่วงปีพ.ศ. 2531 ได้เคยกล่าวว่า
"...การพัฒนาเพื่อพลิกฟื้นแผ่นดินที่มีความยากจนให้กลับเป็นพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ ทำอย่างไรจะให้ดินเลวทำให้เกษตรกรร่ำรวย สำหรับที่ว่าทำอย่างไรจะให้ดินเลวทำให้เกษตรกรร่ำรวยในที่นี้หมายถึง เกลือของภาคอีสานที่สามารถทำให้เกษตรกรร่ำรวยขึ้นมาได้... "
บริษัทดังกล่าวได้รับประทานบัตรให้ทำการสำรวจและขุดเจาะหาแหล่งแร่โพแทชที่จังหวัดอุดรธานีในช่วงปีพ.ศ.2523 จนพบว่าใต้พื้นดินของจังหวัดอุดรธานี มีโพแทชคุณภาพดีระดับต้นของโลก โดยเฉพาะแร่โพแทช ชนิดที่เรียกว่า “ซิลวิไนต์”ที่มีความบริสุทธิ์มากกว่า90% และแร่โพแทชชนิดรองลงมาอย่างแคลนาไลต์ ที่มีจำนวนมากมายมหาศาล ประมาณว่าใต้พื้นดินอีสานทั้งแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร มีปริมาณแร่โพแทชประมาณ 407,000 ล้านตันแยกเป็นชนิดซิลวิไนต์ประมาณ 7,000 ล้านตัน ชนิดแคลนาไลต์ประมาณ400,000ล้านตัน และมีปริมาณเกลือหินประมาณ 18 ล้านตันในพื้นที่ 50,000 ตารางกิโลเมตร (2) ซึ่งได้นำไปสู่กระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510ที่มีความล้าสมัยและไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยีของการทำเหมืองในต่างประเทศ รวมทั้งการแก้ไขในประเด็นของ “คำนิยามของแร่” (3) และเรื่องของ “แดนกรรมสิทธิ์”(4) เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสานขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศ อันนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ในเรื่องของการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะประเด็นกฎหมายแร่ มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใหม่เกี่ยวกับโพแทชและเกลือหินที่ผ่านความเห็นชอบและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี2545 ในมาตราที่สำคัญคือ มาตราที่3 ระบุว่า
“มาตรา3 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า การทำเหมืองใต้ดิน ระหว่างคำว่าทำเหมือง และคำว่าขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน ในมาตรา4 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่4) พ.ศ.2534 ต่อไปนี้ การทำเหมืองใต้ดิน หมายความว่าการทำเหมืองด้วยวิธีการเจาะเป็นปล่องหรืออุโมงค์ลึกลงไปใต้ผิวดิน เพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ใต้ดิน”...
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 จึงเป็นการแก้ไขเพื่อเพิ่มนิยามและคำศัพท์ในกฎหมาย ในเรื่องของความหมายของแร่ การผลิตแร่ และการจัดการทรัพยากรแร่ธาตุเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น อันนำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ในนามของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่คัดค้านพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 และต่อต้านโครงการเหมืองแร่โพแทชที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่...
แร่โพแทชจึงกลายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ปฎิเสธ พร้อมกับความคลุมเครือและไม่แน่ใจเกี่ยวกับนัยของแร่ดังกล่าว ที่สถาบันต่างๆ ได้เข้ามาสร้างความรู้ความจริงให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เช่น บริษัทเมื่อแรกเริ่มเข้ามาประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ตำบลหนองไผ่ ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง และตำบลห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ก็ไม่ได้พูดว่าโพแทชคืออะไร เพียงแต่บอกว่า “เป็นแร่ที่มีค่าใต้พื้นดิน” “เมื่อมีโพแทชแล้วจะได้ซื้อปุ๋ยถูก” “ขุดโพแทชแล้วมีโรงงานลูกหลานจะมีงานทำ” “เกลือคือผลพลอยได้จากกการผลิตที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง” “เกลือเอาไว้อัดกลับใต้อุโมงค์กันแผ่นดินทรุด” หรือการเข้ามาขององค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้ามาในพื้นที่ในช่วงแรก ก็ให้ข้อมูลและอธิบายกับชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องของโพแทชว่า “โพแทชคือปุ๋ย” “โพแทชคือเกลือแต่เค็มกว่าเกลือถึง1,000เท่า” โพแทชใช้ทำปุ๋ยแต่หางเกลือที่ได้จากการผลิตโพแทชจำนวนมหาศาลเท่าตึก10 ชั้น คือมลพิษทางสิ่งแวดล้อม” เป็นต้น....
การพูดถึงโพแทชในช่วงแรก จึงมีอยู่สองนัยคือนัยทางบวกที่สัมพันธ์กับเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจ รายได้ การมีงานทำ ได้ใช้ปุ๋ยราคาถูก พืชผลจะเจริญงอกงาม และนัยทางลบ คือปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ จากหางเกลือที่เหลือจากการผลิต การกอบโกยผลประโยชน์ของต่างชาติ การออกกฎหมายแร่ที่ลิดรอนสิทธิชุมชน การกีดกันประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น....
ดังนั้นจากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เราจะพบว่านโยบายว่าด้วยการจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ป่าไม้ แม่น้ำ หรือแร่ธาตุ สิ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือบรรดาวาทกรรม ความรู้ ความจริงต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจและอ้างความชอบธรรมในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ต่างๆและการสถาปนาความจริง ความรู้บางอย่างที่สร้างการมีอำนาจเหนือคนที่อยู่ในพื้นที่ รวมทั้งสร้างการมีอยู่ หรือการไม่มีอยู่ของสิ่งต่างๆ การทำให้สิ่งเหล่านี้ปรากฏตัวราวกับว่ามีอยู่จริง ทั้งที่ไม่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ภายใต้ภาวะที่ย้อนแย้งกัน เช่น การมีน้ำในการเกษตร การขาดแคลนน้ำในการเกษตร ความต้องการปุ๋ยเคมีในภาคเกษตรกรรมในขณะที่เราชูความคิดเรื่องเกษตรอินทรีย์ หรือการชี้ให้เห็นประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้ในระดับส่วนรวม (อ้างว่าเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ)
แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วคนส่วนน้อยเหล่านี้คือคนที่ไม่ได้รับประโยชน์แต่เป็นคนที่เผชิญหน้าโดยตรงกับผลกระทบของการพัฒนา ปัญหาสำคัญของการพัฒนาคือการสร้างปัญหาให้คนที่ไม่มีปัญหา สิ่งที่เขาดำรงชีวิตหรือปฏิบัติการในชีวิตประจำวันก็คือรูปแบบในการจัดการปัญหาด้วยตัวชุมชนเอง ที่สำคัญชุมชนก็อยู่กันอย่างสงบสุข ไม่มีความแตกแยก สิ่งแวดล้อมก็ไม่ถูกทำลาย จนกระทั่งมีโครงการพัฒนาเข้ามาในพื้นที่ มุมมองของคนในพื้นที่ การให้ความหมายต่อการพัฒนาและมุมมองในเชิงวิพากษ์จึงมีความสำคัญในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมที่มีความซับซ้อน มีความขัดแย้ง การต่อสู้ต่อรองของคนเล็กคนน้อย....
วาทกรรมเกี่ยวข้องกับภาษา ภาษาก็คือสัญญะอย่างหนึ่ง ที่ประกอบด้วยรูปสัญญะและความหมายสัญญะ ภายใต้สภาวะที่รูปสัญญะได้ถูกทำให้ว่างเปล่า ล่องลอย เพื่อรอให้มีความหมายต่างๆเข้ามาเกาะเกี่ยวเพื่อสร้างความความหมายให้กับสิ่งเหล่านั้น และสถาปนาความรู้ ความจริงของตัวมัน โดยมีสถาบันต่างๆโดยเฉพาะกระทรวงที่เกีย่วข้อง ทุนช้ามชาติ นักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น ต่างเข้ามาฉกฉวยแย่งชิงและสร้างความหมายเพื่อความชอบธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เราเรียกว่าปฏิบัติการแห่งวาทกรรม...
“การที่รัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนให้มีการพัฒนาเหมืองแร่มากขึ้น กระทรวงเกษตรบอกว่าอาหารมีความสำคัญ การเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับประชากรที่มากขึ้นจึงมีความสำคัญอย่างมาก ในความเป็นจริงบ้านเมืองเราไม่ได้ขาดอาหาร หรือขาดปุ๋ยในการเกษตร ปุ๋ยส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรสูงขึ้น แต่การซื้อปุ๋ยของเกษตรกรกับสร้างความร่ำรวยให้กับเจ้าของเหมืองแร่และบริษัทปุ๋ย ในขณะที่เกษตรกรมีหนี้สินและยากจน”
*อ้างอิง*
(1)แร่โพแทช โปแตชหรือโปแตชเซียมคลอรท์ เป็นแร่ธาตุ1ใน3 ที่มีความสำคัญต่อพืช ร่วมกับฟอสฟอรัสและไนโตรเจน ประโยชน์ของมันใช้ทำปุ๋ยเคมีเป็นหลัก และโพแทชจะอยู่ร่วมกับเกลือหินและโซเดียมคลอไรท์ โดยโพแทชก็จะมีหลากหลายชนิดที่พบในอุดรธานีมี2 ชนิดคือ ซิลวิไนท์และแคลนาไลต์ แคลนาไลต์จะบริสุทธิ์น้อยว่ามีสีน้ำตาลแดง ส่วนซิลวิไนท์เป็นแร่ที่ตลาดโลกต้องการ มีความบริสุทธิ์มากถึง 96-98 เปอร์เซนต์มีสีขาว
(2) ข้อมูลโดย กองเศรษฐกิจธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม
(3) คำนินามของแร่ หมายถึง การกำหนดความหมายของแร่ ในพระราชบัญญัติแร่(ฉบับที่5) พ.ศ.2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 โดยเพิ่มนิยามคำว่า “ทำเหมืองใต้ดิน” ระหว่างคำว่า ทำเหมือง และ”ขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน”
(4) แดนกรรมสิทธิ์ หมายถึงเขตแดนแห่งสิทธิในการใช้ประโยชน์ ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2545 ในมาตราที่88/3 บอกว่า การทำเหมืองใต้ดินผ่านใต้ดินของที่ดินที่มิใช่ที่ว่าง หากอยู่ในระดับความลึกจากผิวดินไม่เกินหนึ่งร้อยเมตร ผู้ยื่นคำขอประทานบัตรต้องแสดงหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ผู้ขอจะมีสิทธิทำเหมืองในเขตที่ดิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...