วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ความซับซ้อนของเงื่อนไขและบริบทในการศึกษาสังคมชาวนา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 

ความซับซ้อนของเงื่อนไขและบริบทในการศึกษาสังคมชาวนา

                แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้าง และเรื่องหมู่บ้าน ในการวิเคราะห์เกี่ยวกับสังคมชาวไร่ชาวนา มีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด จากวิธีการมองโครงสร้างแบบนิ่ง ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวคล้ายโครงสร้างของสิ่งก่อสร้าง อาคาร บ้านเรือนต่างๆ ซึ่งทำให้ภาพของการมองหมู่บ้านค่อนข้างสมดุล ราบเรียบ เสมือนหนึ่งว่าหมู่บ้านเต็มไปด้วยความสมบูรณ์สูงส่ง  ในขณะที่ภาพของหมู่บ้านที่แท้จริง มีการเปลี่ยนแปลงจากอิทธิพล ภายนอกภายใน ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และโครงสร้างของหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ ระบบผู้อาวุโส หรือกระบวนการผลิตแบบยังชีพ ที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัฒน์ และทุนนิยมโลกสมัยใหม่ 

ดังนั้นการมองโครงสร้างที่หยุดนิ่งแบบเดิม ไม่อาจทำให้เราเข้าใจความเป็นหมู่บ้านที่แท้จริงได้ในปัจจุบัน  เนื่องจากปัญหาของหมู่บ้านมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์กับระบบโครงสร้างหลักๆทางสังคม เช่น เศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม  ทำให้กรอบในการมองโครงสร้างต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ การมองโครงสร้างแบบอินทรีย์ ที่ทำหน้าที่คล้ายอวัยวะของมนุษย์ที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้สังคมดำรงอยู่ได้ เช่น ระบบศาสนากับความเชื่อและการตอบสนองทางด้านจิตใจของมนุษย์ ระบบการเมืองทำหน้าที่ในการกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจและบทบาทหน้าที่ของคนในสังคม เป็นต้น  อีกทั้งโครงสร้างในลักษณะนี้ยังมีการปรับตัวเอง มีการต่อต้านกับสิ่งผิดปกติ หรือแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย  เพื่อรักษาความสมดุลของร่างกายเอาไว้ เช่นเดียวกับการรักษาสมดุลของสังคม 

          แต่เนื่องจากโครงสร้างในลักษณะแบบอินทรีย์ ที่ยังมองสังคมในลักษณะที่สมดุลอยู่ ทำให้ละเลยหรือมองข้ามปรากฏการณ์ของความขัดแย้งในสังคม การมองโครงสร้างทางสังคมในเชิงวิพากษ์วิธี แบบมาร์กซ์  ที่มองโครงสร้างของความสัมพันธ์สองส่วนหลักๆ คือโครงสร้างส่วนบนและส่วนล่าง โดยโครงสร้างส่วนล่างที่เป็นเทคโนโลยีการผลิตหรือรูปแบบการผลิต  เป็นปัจจัยพื้นฐานในการกำหนดโครงสร้างส่วนบน ซึ่งก็คือระบบการเมืองกฎหมาย  ที่สัมพันธ์กับระบบอุดมการณ์ ความเชื่อของสังคม และความไม่สมดุลกันระหว่างโครงสร้าง หรือการครอบครองปัจจัยการผลิต นำมาซึ่งความขัดแย้ง และการต่อสู้ทางชนชั้น เป็นต้น

          ในขณะที่ภาพและวิธีการศึกษาการหมู่บ้าน ของนักวิชาการตะวันตก ที่เข้ามาศึกษาในลักษณะของการข้ามพรมแดน หรือนักวิชาการไทยที่ศึกษาสังคมของตัวเอง ก็ยังมองหมู่บ้านในลักษณะที่แตกต่างหลากหลาย รวมถึงการมองหมู่บ้านในลักษณะกับการยึดติดพื้นที่ทางกายภาพ มากกว่าที่จะมองเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ทำให้ลักษณะของหมู่บ้านค่อนข้างแยกจากกันชัดเจน และมักจะมองหมู่บ้านออกเป็น 2ด้าน คือ การมองหมู่บ้านในแง่บวก แง่ลบ หรือแง่ดีกับแง่ไม่ดี ทั้งรูปแบบการศึกษาในเชิงการให้คุณค่า ที่เป็นการตัดสินคุณค่าของหมู่บ้าน โดยคนกลุ่มต่างๆ เช่น ข้าราชการภาครัฐ นักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชน  หรือการศึกษาในเชิงประจักษ์ ที่มุ่งทำงานภาคสนามเชิงลึก ทำการศึกษาชุมชนรอบด้าน และใช้วิธีการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม หรือการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่อธิบายถึงการเกิดและพัฒนาการของสิ่งต่างๆในสังคม ผ่านเอกสารหลักฐานทางโบราณคดี พงศาวดาร ตำนาน ต่างๆ  และสุดท้ายเป็นการศึกษาเชิงวาทกรรม ที่สะท้อนให้เห็นการต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่

          ดังนั้นอิทธิพลของการมองหมู่บ้าน และโครงสร้าง ทั้งสามแบบ ทั้งในเชิงสังคมและวัฒนธรรม ของหมู่บ้าน  รวมทั้งการวิพากษ์กรอบการมองแบบโครงสร้างหลวม ที่ได้สร้างอัตลักษณ์และตัวตนให้กับหมู่บ้านและคนในหมู่บ้าน เช่น การศึกษาของโครงการคอร์แนล  ไม่ว่า จะเป็นงานของจอห์น เอ็มบรี   ลอริสตัน ชาร์ป  ลูเซียน แฮงค์และ เฮอร์เบิร์ต พี ฟิลลิปส์  ในเขตบางชัน ที่ได้สร้างลักษณะประจำชาติของคนไทยว่า เป็นคนรักพวกพ้อง ชอบแบ่งฝ่าย เกียจคร้าน  เป็นปัจเจกชนสูง ชอบเล่นการพนัน มีความสัมพันธ์แบบหลวมๆ ไม่ชอบกฎเกณฑ์  เนื่องการศึกษาในช่วงนั้นเป็นการศึกษาหมู่บ้านที่พึ่งเกิดขึ้น จากการล่มสลายของระบบศักดินา ที่ทำให้มีพวกศักดินาเดิม ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน พวกแรงงานลาว มอญ รับจ้างทำนา หรือพวกไพร่และทาสเดิมมาอาศัยอยู่และประกอบอาชีพทำการเพาะปลูก ซึ่งไม่ใช่ชุมชนดั้งเดิมแท้จริง อีกทั้งการมองสังคมไทยด้วยสายตานักวิชาการตะวันตก ทำให้ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรพึ่งพาธรรมชาติ ระบบชลประทานยังเข้ามาไม่ทั่วถึง ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยในรอบปี มีช่วงเวลาว่างจากฤดูกาลทำนามาก เพราะจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลารอให้ต้นข้าวเติบโตและพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวจะมีพิธีกรรมหรือกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกข้าวและการเปลี่ยนผ่านของชีวิต เช่น งานบวช การแต่งงาน เป็นต้น  รวมทั้งกรอบในการมองชาวนาแบบโครงสร้างที่หยุดนิ่งตายตัว และอธิบายชาวนาไทยในลักษณะของภาพรวม ทำให้มองไม่เห็นความแตกต่างหลากหลาย และความขัดแย้ง การต่อสู้เคลื่อนไหว ของชาวไร่ชาวนา ที่ปรับตัวต่อปัญหาและการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากอิทธิพลภายในหมู่บ้าน และนอกหมู่บ้าน ในสังคมสมัยใหม่

          สิ่งที่ผู้สอนต้องการนำเสนอก็คือ การเปลี่ยนหน่วยหรือพื้นที่ในการวิเคราะห์ ที่มีขอบเขตกว้างมากว่า ความเป็นหมู่บ้าน ที่ถูกกำหนดด้วยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ตายตัว ตามแผนที่ ตามเขตการปกครอง ทำให้เรามองไม่เห็นความสัมพันธ์ในระดับที่กว้างและลึกมากขึ้น ผู้ศึกษาเสนอให้ใช้คำว่า ชุมชนในการศึกษา เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความเลื่อนไหล เปลี่ยนแปลงอยู่ตัวเวลา ไม่ได้มีลักษณะคงที่  เช่นเดียวกับชุมชนในโลกของไซเบอร์ ที่มีขอบเขตกว้างขาวง และข้ามพรมแดนไปได้ทั่วโลก การมองสังคมชาวไร่ชาวนาก็เช่นเดียวกัน ก็ควรมองในลักษณะที่เป็นชุมชนที่มีการปะทะ ติดต่อกับโลก กับชุมชนอื่นๆ  ในลักษณะของท้องถิ่นนิยมกับโลกาภิวัฒน์  ชาวนา ที่ปรับเปลี่ยนสถานะตัวเองได้ตลอดเวลา เมื่อเข้าไปสัมพันธ์กับส่วนต่างๆ เช่น ระบบตลาด นโยบายระหว่างประเทศ เช่น การค้าเสรี  สนธิสัญญาต่างๆ หรือการลงนามข้อตกลงต่างๆ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ ทางพันธุกรรม สิทธิบัตร ทรัพย์สินทางปัญญา จีเอ็มโอ (การดัดแปลงพันธุกรรม)  เป็นต้น

          ในสัปดาห์นี้ เราจะมาวิเคราะห์กันถึง ความซับซ้อนของเงื่อนไขและบริบทในการศึกษาสังคมชาวนาในประเทศไทย ว่าเป็นอย่างไร

          ทีโอดอร์ ชานิน (Shanin 1990:1-3) นักสังคมวิทยา ศึกษาสังคมชาวนาได้แบ่งลักษณะความคิดเกี่ยวกับ ชาวนา ในแง่ของปรากฏการณ์สังคมไว้ 3 แบบด้วยกันคือ

1.สังคมชาวนา ไม่ได้มีลักษณะ จำเพาะ หรือโดดเด่น กว่าสังคมอื่นแต่อย่างใด ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นประเด็น ในการศึกษาค้นคว้า วิจัย ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ ชาวนาเป็นแค่คำๆหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในช่วงเวลาหนึ่งแล้วผ่านเลยไปอย่างไม่มีอะไรสำคัญ

2.สังคมชาวนา แตกต่างไปจากสังคมอื่นๆ  ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมซึ่งสามารถอธิบายทำความเข้าใจโดยใช้ทฤษฎีสังคมโดยทั่วไปได้

3.สังคม ชาวนา มีลักษณะพิเศษ และการสร้างแนวคิดและทฤษฎีเพื่อที่จะอธิบายคุณลักษณะและการเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนา เป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก เช่น งานของ คอตสกี้ (Kautsky1899) เรื่อ Agrarian Question หรือ ชานานอฟ (Chayanov 1966) เรื่อง The Theory of Peasant Society และงานของสกอตต์ (Scott 1976) เรื่อง The Moral  Economy of The Peasant เป็นต้น

ดังนั้น แม้ว่า จะมีความหลากหลาย ของแนวคิดและทฤษฎีที่อธิบายเกี่ยวกับสังคมชาวไร่ชาวนา ที่มาจากนักวิชาการสายต่างๆ ทั้งทางรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา และมานุษยวิทยา แต่สิ่งที่มีลักษณะร่วมกันของนักวิชาการสายต่างๆก็คือ การติดยึดกับกรอบ ที่มองสังคมชาวไร่ชาวนา ตามแบบทฤษฎีวิวัฒนาการ ที่เริ่มจากความหล้าหลังไปสู่ความทันสมัย จากระบบที่ง่าย ไปสู่ระบบที่ซับซ้อน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสังคมชาวไร่ชาวนาในปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป

 

การมองชาวนาจากทฤษฎีวัฒนาการสู่ทฤษฎีความทันสมัย

ในงานของมาร์กซ์ช่วงต้น ในเรื่อง Capital and Grundrisse มาร์กซ์ มองสังคมชาวนา ว่าเป็นสังคมก่อนทุนนิยม (Pre-Capital) หรือเป็นระบบที่ทำการผลิตหรือมีรูปแบบการผลิตก่อนระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นเรื่องของการผลิตเพื่อการยังชีพเป็นหลัก  ซึ่งสอดคล้องกับงานของรอสทาว                  ( Rostow1960) ที่มองว่าสังคมชาวนาเป็นสังคมประเพณี (Folk Society)  เป็นระบบที่อยู่ส่วนล่างสุดของขั้นตอนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก่อนพัฒนามาสู่ความทันสมัย หรือระบบทุนนิยม  แนวความคิดทั้งสองแบบ ยังคงมองชาวนาในลักษณะของเศษซาก โบราณวัตถุ ที่หลงเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน  นั่นก็คือสังคมชาวนาที่เป็นสังคมล้าสมัยที่อยู่ท่ามกลางการเจริญเติบโตของระบบอุตสาหกรรม

ภาพของสังคมชาวนา ในทัศนคติของชาวตะวันตกก่อนการพัฒนาหรือปฏิวัติอุตสาหกรรม  ชาวตะวันตกที่เป็นคนชั้นกลาง ก็ยังมองชาวนาในลักษณะของการดูถูกเหยียดหยาม หรือมองข้ามความสำคัญของชาวนาไป  แม้ในงานวรรณกรรมหรืองานเขียนของยุโรปในยุคกลาง ก็มักจะเป็นเรื่องราวของกษัตริย์ สงคราม นักบุญ นักปราชญ์ ปรัชญา กฎหมาย ดาราศาสตร์ แต่ไม่มีภาพชีวิตของชาวนาปรากฏอยู่เลย ซึ่งสะท้อนภาพของการผลิตศิลปะ วรรณกรรมในยุคนั้น ที่มาจากชนชั้นสูง ที่กดทับ ครอบงำ เสียงของชนชั้นล่าง ให้เงียบหายหรือไม่ถูกได้ยิน  หรืออาจจะถูกกล่าวถึง ซึ่งไม่ใช่ในแง่ดี แต่เป็นแง่ร้าย  เช่นภาพลักษณ์ของชาวนา ในงานของ ซีโพลล่า ( Cipolla) ในเรื่อง The Fontana Economic History of Europe : The Middle Ages ที่ชาวนาถูกมองว่า เป็นหัวขโมย โจรผู้ร้าย คนชั่วและขอทาน ดังปรากฏในรากศัพท์ของภาษารัสเซีย  คำว่า ชาวนามาจากคำว่า Smerd หรือ Smerdet หมายความว่า ผู้มีกลิ่นเหม็น  ในประเทศโปลแลนด์ ชาวนาได้รับการเรียกขานว่า Cham ซึ่ง แปลว่าคนหยาบช้า  หรือในภาษาอังกฤษ คำว่า Peasant มีความหมายว่า  คนที่มีใจโหดเหี้ยมทารุณ (Brute) และไม่รู้หนังสือ (Illiterate) ในขณะที่สังคมไทย เวลาพูดถึงชาวนาในเชิงดูถูกเหยียดหยาม เราก็มักจะเรียกว่า พวกบ้านนอกคอกนา พวกไพร่สถุล ไม่มีสกุลรุณชาติ กลิ่นโคลนสาบความ หรือโง่เหมือนควาย เป็นต้น

ในช่วงหลังยุคกลาง อาจเรียกว่า ยุคแสงสว่าง หรือยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ มีการพัฒนาความทันสมัย ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาของระบบทุนนิยม ซึ่งมีการปฏิวัติทั้งสิ้น 3 ด้าน

1.การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industry Revolution)

2.การก่อกำเนิดของรัฐชาติ (Nation - State) และสถานะพลเมือง (Citizenship)

3.การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Science Revolution)  และความคิดในเรื่องของความมีเหตุผลที่พิสูจน์ ทดลองได้

ปรากฏการณ์เหล่านี้ ได้ทำลายและเบียดขับพื้นที่ของชาวนาชาวไร่ให้แคบลง เพื่อเปิดและสร้างพื้นที่ให้กับคนชั้นกลาง ที่มีบทบาทหลักในสังคม ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตไปสู่สังคมอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ถึงอย่างไรก็ตามแม้ว่าชาวนาจะถูกมองว่าล้าสมัย หรือเป็นซากฟอสซิล ที่ถูกแช่แข็งมาจนถึงยุคปัจจุบัน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในศตวรรษที่19-21 ชาวนาในยุโรปและในส่วนต่างๆก็ยังคงเป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลก

ในสังคมอุตสาหกรรมของยุโรปตะวันตกและในอเมริกาเหนือ  งานศึกษาชาวนาก็ยังคงยึดติดกับภาพชาวนาในลักษณะของสิ่งที่ตกค้างหลงเหลือมาจากอดีต แต่ก็เริ่มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงจากแนวทางการศึกษาแบบเดิม โดยมองสังคมชาวนาในระบบที่ใหญ่ขึ้นและสัมพันธ์กับระบบตลาดมากขึ้น เช่น ช่วงต้นศตวรรษที่20 ได้มีการพัฒนาวิชาสังคมวิทยาชนบท (Rural Sociology) ในสหรัฐอเมริกา โดยมุ่งให้ความสนใจกับระบบฟาร์มและเกษตรกรที่สัมพันธ์กับระบบตลาดและการเมืองมากว่าที่จะสนใจชาวนาในฐานะเดิมหรือคำศัพท์ในยุคกลางที่ล้าสมัย ชาวนาจึงไม่ใช่ความหมายแบบ Peasant แต่มีความหมายเป็นแบบ Farmer มากว่า

ในอีกด้านหนึ่ง ในโลกของสังคมนิยม ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เช่น รัสเซีย โปแลนด์ โรมาเนีย และบัลแกเรีย ชาวนาได้รับความสนใจในฐานะของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องของอำนาจทางการเมือง ความสำคัญของการศึกษาชาวนาก็คือ ทำอย่างไร ที่จะจัดตั้งองค์กรชาวนาให้เป็นขบวนการทางสังคมในการขับเคลื่อนผลักดันกงล้อทางประวัติศาสตร์ นั่นก็คือ ประเด็นเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น และปลดแอกตัวเองจากชนชั้นกระดุมพี และระบบทุนนิยม ที่ครอบงำสังคม ขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากชาวนาและพรากตัวตนของชาวไร่ชาวนามาสู่ความเป็นพลเมืองภายใต้กระแสบริโภคนิยม

ในทางมานุษยวิทยา การศึกษาสังคมชาวไร่ชาวนา เกิดจากมุมมอง 2 ลักษณะ ดังนี้

1.ความรู้สึกเป็นคนนอก คนใน หรือสังคมตะวันตกกับสังคมตะวันออหรือสังคมกลุ่มคนอื่นๆ ที่ยังคงมีอคติบางอย่างว่าวัฒนธรรมของตนเองสูงส่งกว่ากลุ่มอื่นๆ บทบาทของนักมานุษยวิทยา จึงมีฐานะเป็นมิชชันนารี ที่ทำงานรับใช้เจ้าอาณานิคม ที่ให้ทุนในการศึกษา ดังนั้นการศึกษาของนักมานุษยวิทยา จึงมุ่งที่จะศึกษาและอธิบาย วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรมของชนเผ่าหรือสังคมที่แตกต่าง งานของนักมานุษยวิทยาที่สำคัญเช่น มอร์แกน ,ไทเลอร์และเฟรย์เซอร์  ที่ตั้งคำถามและหาคำตอบว่า สังคมที่ล้าหลังเหล่านี้ อยู่ตรงช่วงไหนในวิวัฒนาการของชาวยุโรปตะวันตก ผิวขาว ซึ่งอ้างตัวเองเป็นแกนหลัก หรือเป็นจุดปลายสุดของอารยะธรรมมนุษย์ ที่ทันสมัย ก้าวหน้า  และอธิบายถึงการเปลี่ยนผ่านของสังคมตะวันตก ว่าพัฒนาอารยะธรรมอย่างไร ผ่านขั้นตอนอะไร และมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไรในลักษณะที่เหนือกว่าหรือต่ำกว่าเป็นต้น ซึ่งสิ่งดังกล่าว ได้นำมาสู่การพัฒนาทฤษฎีการแพร่กระจาย หรือทฤษฎีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมในการศึกษาทางมานุษยวิทยา

2.งานทางมนุษยวิทยาที่พัฒนาจากตัวแทนหรือภาพของชาวยุโรปตะวันตก ในความเป็นสิ่งที่เด่นกว่า สมบูรณ์กว่า วัฒนธรรมอื่น โดยเฉพาะกลุ่มชนดั้งเดิม ที่ถูกมองเป็นคนอื่น (Otherness) ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวเรา (Self) ในที่นี้หมายความถึงคนตะวันตกหรือนักมานุษยวิทยากับคนอื่น ที่เป็นชนเผ่าหรือกลุ่มคนดั้งเดิม  หรือระหว่างผู้เจริญ กับผู้อนารยะชน หรือระหว่างเจ้าอาณานิคม (Colonizer) กับผู้ถูกปกครอง (Colonized) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการสร้างทฤษฎีใหม่ๆในการอธิบายสังคมอื่น เช่น ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ ทฤษฎีโครงสร้างนิยม หรือทฤษฎีบุคลิกภาพและแบบแผนทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์เฉพาะกรณี เช่น มาลีนอฟสกี้, แรคคลิฟ บราวน์  มาร์การ์เร็ต มีด, รูธ เบเนดดิสท์และฟรานซ์ โบแอส เป็นต้น

ยุคคลาสสิคทางมานุษยวิทยา สิ้นสุดลงในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่2  และการเสื่อมสลายของลัทธิอาณานิคมแบบเก่า มีการทำลายเส้นแบ่ง ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ภายใต้ปกครอง พร้อมๆกับกระบวนการเรียกร้องเอกราชของบรรดาประเทศอาณานิคมต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา ออสเตรเลียและอเมริกาใต้ คู่ขัดแย้งเคลื่อนผ่าน จากเจ้าอาณานิคมกับผู้ถูกปกครอง กลายมาเป็นเรื่องของอุดมการณ์ทางความคิด ระหว่างโลกประชาธิปไตย กับค่ายคอมมิวนิสต์ ในช่วงของสงครามเย็น และชาวนาได้กลายมาเป็นคนอื่น (Other) แทนที่กลุ่มชนดั้งเดิมที่ถูกเบียดขับให้ออกจากพื้นที่ทางประวัติศาสตร์โลกไป

การศึกษาสังคมชาวนา ที่โดดเด่นและสำคัญ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่2 เช่น งานของ โรเบิร์ด เรดฟีล (Robert Redfield) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ที่ไดรับอิทธิพลจากโรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ (Robert E. Parker) นักสังคมวิทยาสำนักชิคาโก ในการศึกษาสังคมชนบท ในเชิงของการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงระหว่างเมืองกับชนบท  ในลักษณะที่ชุมชนชนบทเป็นชุมชนขนาดเล็ก ค่อนข้างมีความสัมพันธ์แบบแน่นแฟ้น ในขณะที่ชุมชนเมืองมีความเหินห่าง และมีลักษณะเป็นปัจเจกชนสูง ซึ่งแสดงให้เห็นวิธีการคิดแบบคู่ตรงกันข้าม (Dualism) ซึ่งเรดฟีลได้นำมาเป็นพื้นฐานในการแบ่งสังคมเมืองและสังคมชนบท

โรเบิร์ต เรด ฟิลด์ (1934และ1941)นำเสนอว่า สังคมชาวนาในเม็กซิโก เป็นตัวอย่างของกระบวนการเชื่อมต่อระหว่างชนบทกับเมือง สังคมชาวนาเป็น สังคมพื้นเมือง (Folk Society) หรือสังคมประเพณี (Traditional) ซึ่งสัมพันธ์เชื่อมต่อกับสังคมเมือง โดยผ่านการขับเคลื่อนของสภาวะความทันสมัย ซึ่งจะทำให้ชนบทเปลี่ยนสภาพจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่ใกล้ชิดไปสู่ความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น

ชาวนาอิทธิพลของทฤษฎีการพัฒนาสู่ความทันสมัย

ภายใต้กระบวนการพัฒนาหรือวาทกรรมการพัฒนา และวาทกรรมว่าด้วยความทันสมัยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  และการที่ประเทศต่างๆ เข้าสู่อิทธิพลของระบบตลาด  โดยเฉพาะปัญหา เรื่องการขจัดความยากจน  ความอดอยากหิวโหย  ปัญหาสาธารณสุข ปัญหาเรื่องรายได้ ทำให้ชาวนาในประเทศโลกที่สามแถบเอเชีย และลาตินอเมริกา กลายเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาโลก

โดยเฉพาะในช่วงปลายคริสตทศวรรษ ที่ 1950-1970 การเกิดขึ้นของสภาวะสงครามเย็น ที่มีการแบ่งขั้วอุดการณ์ในโลกของเสรีประชาธิปไตย กับโลกสังคมนิยม คอมมิวนิตส์ พร้อมกับการปฏิรูปและจัดระเบียบ ระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจของโลก ได้มีการจัดตั้งสถาบัน หรือองค์กรต่างๆ เช่น สถาบันการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก องค์การสหประชาชาติ   ได้ทำให้สังคมชาวนากลายเป็นประเด็นสำคัญของการศึกษา ที่ได้รับผลจากความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น ในที่ต่างๆของโลก โดยเฉพาะคนผิวเหลือง ในแถบเอเชีย และลาตินอเมริกา ที่สร้างปัญหาทางการเมืองระดับ ประเทศและโลกให้กับมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะเหตุการณ์ในจีน อัลจีเรีย และเวียดนาม  ทำให้ปัญหาของชาวนากลายเป็นกลุ่มคนที่น่าสนใจในเวทีระดับโลก

งานศึกษาของสังคมชาวนารุ่นใหม่ ได้รับการพัฒนาและผสมผสานกับแนวความคิดเกี่ยวกับชาวนา ของโรเบิร์ต เรดฟิลด์  ,คาร์ล มาร์กซ์ และ ไชยานอฟ  รวมทั้งทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ ของ สกินเนอร์ ,อีริค วูฟ และ ฟอสเตอร์ เป็นต้น

การศึกษาสังคมชาวนา ในช่วงเวลานี้มีการครอบคลุมประเด็นอยู่ 4 ลักษณะคือ

1.ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการดำรงอยู่ของสังคมชาวนา ว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและกระแสทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่รุนแรง ทำไม่สังคมชาวนาจึงอยู่ได้

2.การศึกษารูปแบบการปรับตัวของสังคมชาวนาต่อระบบเศรษฐกิจ การตลาดและนโยบายของรัฐ

3.การศึกษารูปแบบที่หลากหลายของการสร้างอำนาจในการต่อรองของชาวนา  การเกิดขึ้นของขบวนการชาวนาและการปฏิวัติของชาวนา ไปจนถึงการต่อต้านและการต่อสู้ของชาวนาในรูปแบบต่างๆ

4.ให้ความสนใจกับกระบวนการผลิตซ้ำใหม่ (Reproduction) การดำรงอยู่ของสังคมชาวนาในบริบทของโลกาภิวัฒน์

งานวิจัยเกี่ยวกับสังคมชาวไร่ชาวนาในช่วงนี้ เริ่มให้ความสนใจกับ ครัวเรือนของชาวนา ในฐานะของหน่วยการผลิตและการบริโภค  โดยเฉพาะประเด็นความยืดหยุ่นของการใช้แรงงาน ในระบบเศรษฐกิจแบบครัวเรือน  ที่สามารถอธิบายถึงความอยู่รอดของชาวนา ในฐานะดังกล่าว  นอกจากนี้งานวิจัยยังให้ความสนใจกับสังคมชาวไร่ ชาวนา ในเรื่องของการปรับตัว เช่น การทำการเกษตร ไปพร้อมกับการทำงานรับจ้าง  การอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานของครัวเรือนชาวนา ทั้งการอพยพตามฤดูกาล และการแบ่งแยกแรงงานในลักษณะที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้นภาพของชาวนาจึงเปลี่ยนแปลงจากการมองสังคมแบบเก่าๆ ในลักษณะโดดเดี่ยว หยุดนิ่ง ดังเช่นงานของ ชาร์ปและคณะ  ที่มีการท้าทายจากงานวิจัยใหม่ๆ ที่นำเสนอสังคมชาวนาในมุมมองของความขัดแย้ง  กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อน และมีความสัมพันธ์ในลักษณะวิภาษวิธีกับสังคมภายนอก งานวิจัยทางมานุษยวิทยามีหลายชิ้น เช่น งานของเรดฟีล ,ฟอสเตอร์ และวูล์ฟ  ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างชาวนาและเมือง ในลักษณะของการแลกเปลี่ยนพึ่งพาซึ่งกันและกัน

การผลิตเพื่อการยังชีพและการค้า

สังคมชาวนาเริ่มเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่ทำการผลิตและการบริโภคภายในชุมชนเล็กๆและโดดเดี่ยว  ในทางตรงกันข้าม การผลิตของการแลกเปลี่ยนสินค้า และการบริการ รวมทั้งมีระบบการค้า ที่ครอบคลุมกว้างขวาง และมีการติดต่อกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น งานของไซยานอฟ (Chiyanov 1966) นำเสนอภาพของชาวนาในฐานะผู้ทำการผลิตทางด้านการเกษตร ในการใช้แรงงานของครอบครัวเพื่อการยังชีพเป็นหลัก และแยกตัวเองออกมาจากระบบตลาด ซึ่งแตกต่างจากชาวนาในโลกที่สาม รวมทั้ง การขายผลผลิตส่วนเกินจากการยังชีพเพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้า กับเงินสดมีมานานแล้ว ก่อนการเข้ามาของกลไกลตลาดตามระบบทุนนิยม

งานของอีริค วูฟ (Eric Wolf)  บอกว่า การขายผลผลิตเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงิน เกิดขึ้นมาจากความจำเป็นต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐ รัฐต้องการเงินมากกว่าผลผลิต  เขายังเชื่ออีกว่า สังคมชาวนาเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 5,000-6,000 ปี พร้อมๆกับการเกิดขึ้นของรัฐและชุมชนเมือง ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาวนากับชุมชนเมืองและรัฐ ซึ่งทำให้การผลิตภาคการเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงไปหลายด้านด้วยกัน เช่น การผลิตอาหารเพื่อบริโภคในครัวเรือนและชุมชน  และใช้ผลผลิตส่วนเกินไปในกิจกรรมทางสังคม อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน งานบวช การจัดพิธีกรรม และงานรื่นเริง ภายในชุมชน และการเข้าไปสัมพันธ์กับเมืองและรัฐ  ทำให้ชาวนาจำต้องเพิ่มผลผลิตของตนเพื่อเพียงพอต่อความต้องการของคนนอก ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคในเมืองที่ผลิตสิ่งเหล่านี้เองไม่ได้ หรือรัฐ  ที่เข้ามารีดไถในรูปของภาษี ค่าเช่าที่ดิน  ดังเช่น อีริค วูฟ เน้นย้ำว่า ชาวนาถูกบีบบังคับให้รักษาสมดุลระหว่างความต้องการจากภายนอกและความต้องการภายใน ดังนั้น รัฐจึงมองชาวนาเป็นแหล่งที่มาของแรงงานและสินค้าเพื่อความมั่งคั่งแห่งรัฐ

ดังเช่น ชาวอรูซา (Arusha) ในแอฟริกาตะวันตก (งานของ Gulliver 1965:269) ที่ทำการเพาะปลูก เพื่อยังชีพ ไม่เคยค้าขายผลผลิตของตน นอกจากการค้าขายเล็กๆน้อยๆ กับเพื่อนบ้านเช่น ชาวมาซาย  แต่เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนที่ดินมีจำกัด  ทำให้ชาวอรูซา เลิกวิถีการผลิตเพื่อยังชีพมาสู่การทำการผลิตเชิงพาณิชย์ เช่น กาแฟ และข้าวสาลี อย่างเข้มข้น และนำผลผลิตที่ขายไปซื้ออาหารและเครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็น แน่นอนว่า การซื้อขายดังกล่าวย่อมต้องสัมพันธ์กับระบบตลาดและการควบคุมของรัฐ

ดังนั้นงานในช่วงนี้ งานของนักมานุษยวิทยาจำนวนมาก เช่น มาลีนอฟสกี้ (1992), เฟิร์ท (1939) และเฮิร์ตโกวิต (1940) ได้พูดถึงระบบเศรษฐกิจ ของชนพื้นเมืองในรูปของการค้าและการแลกเปลี่ยนสินค้า  ตลาดของสังคมชาวนา  ซึ่งแสดงให้เห็นความไม่หยุดนิ่งของสังคมชาวนา และไม่ได้แยกตัวอย่างโดดเดี่ยว แต่มีความสัมพันธ์กับภายนอก ในรูปแบบของการค้าและการแลกเปลี่ยน

ลัทธิอาณานิคมและตลาด

ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 สังคมชาวนาในประเทศโลกที่สาม ต้องเผชิญหน้ากับความกดดันจากภายนอกมากขึ้น เมื่อประเทศมหาอำนาจตะวันตก เริ่มให้ความสนใจ และมีความต้องการด้านอาหารและผลิตผลทางการเกษตรจากประเทศโลกที่สามมากขึ้น โดยเฉพาะชาวนาในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเช่น ประเทศไทย พม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย  รวมทั้งประเทศในแถบลาตินอเมริกา ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบการค้า ควบคู่กับการผลิตแบบยังชีพ การผลิตแบบการค้าเริ่มทวีความสำคัญในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่2  ทั้งในเรื่องการขยายพื้นที่เพาะปลูก การใช้เทคโนโลยีต่างๆเพิ่มขึ้น เช่น รถไถ เมล็ดพันธุ์ ย่าฆ่าแมลงและปุ๋ยเป็นต้น

โดยการเข้ามาของระบบการค้าและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้ ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงของสังคมชาวนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางประเพณี วัฒนธรรมของชุมชนชาวนาชาวไร่  ความเป็นเครือญาติ การแลกเปลี่ยนแรงงาน  หรือการนำไปสู่ความขัดแย้งทางชนชั้น ระหว่างชนชั้นนายทุนเจ้าของที่ดิน กับชาวนาไร้ที่ดิน ชาวนาเจ้าของที่ดิน ชาวนาเช่าที่ดินเป็นต้น

งานของเจมส์ สก๊อต (Scott 1976) ในเรื่องเศรษฐกิจแบบศีลธรรม(Moral Economy)  เขามองว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมในชุมชนชาวนาก่อนการเข้ามาของระบบทุนนิยม วางอยู่บนพื้นฐานของหลักประกัน หรือความมั่นคงแห่งการยังชีพ (Subsisitence Security) สำหรับสมาชิกในชุมชน  ซึ่งการเข้ามาของระบบตลาด ทำให้เกิดระบบการตักตวงผลกำไร  ส่งผลให้กลไกลหรือกระบวนการช่วยเหลือกันของชุมชน เช่น ระบบการแลกเปลี่ยนแรงงาน ระบบอุปถัมภ์เริ่มลดน้อยลง หรือ อ่อนแอลงไป ชาวนารายย่อยถูกบีบให้ขายที่ดิน  และกลายเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง ทำให้ระบบความสัมพันธ์ของชุมชนชาวไร่ชาวนาถูกทำลายลง ชาวไร่ชาวนาตกอยู่ในสภาวะตึงเครียด เนื่องจากความไม่มั่นคงในชีวิต เช่น การสร้างเขื่อน ปัญหาหนี้สิน ที่ดินหลุดลอยไปสู่นายทุน ทำให้ชาวนาต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อการดำรงอยู่ของตัวเอง

พอปกิน (Popkin 1979)  โต้แย้งแนวความคิดของสกอตต์ข้างต้น ว่าชุมชนชาวนาก่อนระบบทุนนิยม ไม่ได้มีลักษณะโครงสร้างที่วางอยู่บนพื้นฐานของการสร้างหลักประกันหรือความมั่นใจในการยังชีพ เพื่อปกป้องชาวนายากจน  ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางสังคมของชุมชนชาวนา เช่น ระบบอุปถัมภ์ ไม่ได้เกิดจากแรงจูงใจในการสร้างความมั่นคงหรือหลักประกันในการยังชีพ ในทางตรงกันข้าม ชนชั้นนำหรือคนร่ำรวยในชุมชนอาศัยความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์และสถาบันสังคมต่างๆ เช่น ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนรวม เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าเพื่อที่จะปกป้องคนยากจน ดังนั้นสถาบันสังคมในชุมชนชาวนา จึงส่งเสริมหรือผลิตซ้ำความแตกต่างทางฐานะและรายได้  ไม่ได้ช่วยลดช่องว่างเหล่านี้ลง แต่ระบบตลาดก็ช่วยปลดปล่อยชาวนา ออกจากการควบคุมของชนชั้นนำในชุมชน และเปิดโอกาสให้ชาวนาสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่วางอยู่บนพื้นฐานของการตัดสินใจของตนเองได้อย่างเสรีกว่าระบบเดิม

ชาวนากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

การศึกษาหมู่บ้านไทลื้อ ที่อำเภอเชียงคำ  จังหวัดเชียงราย ของไมเคิล มอร์แมน (Moreman 1964) พบว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทางด้านเทคโนโลยีทางการผลิต เช่น การใช้รถไถ การปลูกพืชเชิงพาณิชย์  ทำให้ชุมชนเกิดการปรับตัว จากการได้รับจากอิทธิพลและความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับโลกภายนอกเพิ่มมากขึ้น  การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิต เครื่องมือในการผลิต ความต้องการสินค้าจากตลาด และความต้องการเงินสด ในการว่าจ้างแรงงาน เข้ามาแทนที่การแลกเปลี่ยนแรงงาน แบบเดิม  ทำให้หมู่บ้านต้องพึ่งพาภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมือง ตลาด และรัฐชาติ ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตทางสังคมของชาวนาเพิ่มมากขึ้น  แต่มอร์แมนก็เสนอว่า แม้ว่าบ้านปิงจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติและตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น แต่บ้านปิงก็ยังเป็นชุมชนชาวนา ครัวเรือน และชุมชน ก็ยังคงเป็นหน่วยปฐมภูมิหรือพื้นฐานทางการผลิตและการดำรงชีวิตของชาวนา (Moreman 1964 :190-192)

หรือ ทีโอดอร์ ชานิน (Shanin : 1973) มองว่า สังคมชาวนาหรือระบบเศรษฐกิจชาวนา มีธรรมชาติและลักษณะเฉพาะตัว ที่แตกต่างไปจากระบบทุนนิยม วิถีการผลิตแบบชาวนา เป็นวิถีการผลิตที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นสากลที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยสังคมชาวนาในทัศนะของชานิน มี 4 ประเภท

1.ระบบฟาร์มของครัวเรือน ซึ่งเป็นองค์ประกอบทางสังคมที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยการผลิตและบริโภคไปพร้อมๆกัน

2.การใช้ที่ดิน เพื่อการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ควบคู่กับไป

3.วัฒนธรรมชุมชนที่ที่เรียบง่ายและมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น

4.การตกอยู่ภายใต้กระแสกดดันจากภายนอก เช่น รัฐ และตลาดเป็นต้น

แนวความคิดนี้ได้รับการโต้แย้ง จาก เฮนรี่  เบิร์นสไตน์ ซึ่งศึกษาสังคมชาวนาในแอฟริกา  เขาพบว่า พัฒนาการของระบบทุนนิยมโลก ได้ทำลายวิถีการผลิตก่อนทุนนิยมลง รวมทั้งระบบเศรษฐกิจแบบธรรมชาติ (Natural Economy) ของชาวนา ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของมูลค่าการใช้ (Use Value) ชาวนากลายเป็นผู้ผลิตสินค้ารายย่อย ที่ให้ความสำคัญกับมูลค่าในการแลกเปลี่ยน (exchange Value) ยิ่งกระบวนการแทรกตัวของทุนนิยมมีมากขึ้น ความแตกต่างทางชนชั้นก็เพิ่มมากขึ้นตาม ชาวนาจึงแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มชาวนาที่ยากจน ซึ่งไม่สามารถผลิตซ้ำตนเองผ่านการผลิตของครัวเรือน เนื่องจากไม่มีที่ดิน  ขาดแคลนที่ดินและเครื่องมือ รวมถึงเป็นแรงงานในครัวเรือน ชาวนากลุ่มนี้ต้องแลกเปลี่ยนแรงงานเป็นชาวนารับจ้าง มีที่ดินขนาดเล็ก  ชาวนากลาง คือ คนที่สามารถผลิตซ้ำตนเองผ่านแรงงานและที่ดินของครัวเรือน รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับรูปแบบการผลิตอื่นๆไปพร้อมๆกัน สุดท้ายชาวนารวย คือ คนที่สะสมทุนเพียงพอ สำหรับลงทุนทำการผลิต โดยใช้เครื่องมือ การผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าหรือใช้แรงงาน และพัฒนาตัวเองมาเป็นเกษตรกรนายทุน

เบรินสไตน์ เสนอให้ใช้คำว่า ผู้ผลิตสินค้ารายย่อย (Simple commodity producer) ซึ่งให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนและการค้า แทนชาวนา ซึ่งให้ความสำคัญกับมูลค่าการแลกเปลี่ยนและการผลิตเพื่อยังชีพ  แต่ เฮเรียต ฟรีตแมน (Friedman, 1980) แย้งว่า เราควรจะแยกระหว่างการผลิตสินค้ารายย่อย ซึ่งเป็นการผลิตวิถีทุนนิยม และมีความสัมพันธ์กับตลาดในการผลิต การใช้แรงงาน ที่ดิน สินเชื่อ และอื่นๆ ส่วนการผลิตของชาวนา (Peasant subsistence production) เป็นการผลิตที่ยังไม่ถูกดูดกลืนเข้าสู่ตลาดโลก ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบตลาด  ดังนั้นแนวความคิดว่า ด้วยการประสานหรือปฏิสัมพันธ์ระหว่าง การผลิตเพื่อยังชีพ กับการค้า จึงพัฒนาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในแนวความคิดของนักสังคมวิทยาสำนักบีลาเฟล รวมทั้งนักทฤษฎีเศรษฐกิจชาวนารัสเซียบางกลุ่ม  ที่เน้นการพัฒนารูปแบบการผลิตท่ามกลางเงื่อนไขของความแตกต่างหลากหลายของกระบวนการที่ชาวนาถูกดึงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลก หรืองานของเอลสัน (Elson 1977) ที่มองชุมชนชาวนาขนาดเล็กกำลังสูญหายไป เพราะถูกดูดกลืนเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกาภิวัฒน์ ชาวนาผลิตเพื่อการค้าขายเป็นหลัก และรับเอาวัฒนธรรมชาติเป็นสำคัญ โดยไม่ได้มองว่าสังคมชาวนไม่จำเป็นจะต้องถูกทำลายจนล่มสลายลงเสมอไป แต่สามารถดำรงอยู่และปรับตัวต่อกระแสดังกล่าวได้ ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับโลกาภิวัฒน์

ชนชั้น อำนาจและการต่อต้านของชาวนา

การพัฒนาในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา มีการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพรมแดน รัฐชาติ การขยายตัวของอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นสิ่งที่สลายหรือละลายความแตกต่างของขั้วตรงกันข้าม ระหว่าง ชนบทกับเมือง ชาวนากับกรรมกร อิสรภาพกับการพึ่งพา  สังคมประเพณีกับสังคมทันสมัย  ให้เลือนหายไป ความเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตรายย่อย กับอุตสาหกรรมเกษตรในรูปของเกษตรพันธะสัญญา รวมทั้งการย้ายถิ่นทั้งแบบชั่วคราวตามฤดูกาลและแบบถาวร ความหลากหลายของอาชีพที่เพิ่มมากขึ้น  การแพร่กระจายของระบบบริโภคนิยมที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อความแตกต่างภายในชนบท เพราะเป็นเรื่องของรสนิยม และการให้คุณค่า ให้ความหมายของชาวไร่ชาวนาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ทำให้การนำแนวความคิดทางด้านชนชั้น จิตสำนึกทางชนชั้น และอัตลักษณ์ทางชนชั้น และอื่นๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบท แต่เรื่องของครัวเรือน ที่ดิน แรงงาน ทุน บรรษัทข้ามชาติ กองทุนIMF กองทุนหมู่บ้าน สามสิบบาทรักษาทุกโรค ครัวโลก และอื่นๆ กลายมาเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ ในการเชื่อมโยงพื้นที่ทางสังคมในระดับชุมชน หมู่บ้าน ไปจนถึงระดับนานาชาติ  อัตลักษณ์ของการอพยพย้ายถิ่นของชาวนา ไปยังไต้หวัน เกาหลีใต้ ตะวันออกกลาง ไม่แตกต่างจากอัตลักษณ์ที่ซับซ้อนของกลุ่มธุรกิจข้ามชาติ 

ในงาน Hegemony and Sociallist Strategy ของลาคาว และมูเฟ (Laclau and Mouffe:1985) ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการนำอาเรื่องชนชั้นมาเป็นพื้นฐานของการต่อสู้ทางการเมือง  นักวิชาการทั้งสองได้ศึกษาประวัติศาสตร์ยุโรปช่วงปี 1848-1968 พบว่า การเมืองเรื่องชนชั้น พบว่า แนวความคิดเรื่องชนชั้นเป็นแนวความคิดที่ล้มเหลวในแง่ของการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของยุโรป  เขาเชื่อว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานถูกกลบเกลื่อนด้วยอุดมการณ์ของชนชั้นนำ  ยังผลให้จิตสำนึกทางชนชั้นแรงงานไม่สามารถปรากฏเป็นรูปร่างได้อย่างชัดเจน  ทั้งสองเสนอให้ละทิ้งเรื่องชนชั้นในฐานะที่เป็นพื้นฐานของการสร้างอุดมการณ์ทางการเมือง และหันไปให้ความสนใจกับขบวนการทางสังคมที่กว้างขวาง เช่น การต่อสู้เพื่อเปิดพื้นที่ทางสังคมของคนชายขอบ ผู้หญิง ขบวนการประชาสังคม และการก่อกำเนิดขึ้นของอัตลักษณ์อันหลากหลายของคนกลุ่มต่างๆ  แม้ว่าเขาจะปฏิเสธเรื่องชนชั้น แต่เราก็ไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มที่ว่า การศึกษาขบวนการทางสังคมในพื้นที่ต่างๆของโลก  จะละเลยการวิเคราะห์ชนชั้นได้ทั้งหมด เช่น การศึกษาขบวนการสวนยางในอเมริกาใต้ (Revkin 1990) หรือกระทั่งการต่อสู้ของคนชายขอบ อย่างสมัชชาคนจน ขบวนการป่าชุมชนในประเทศไทย ซึ่งเป็นการต่อสู้ของคนชายขอบ  ก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับชนชั้นในการต่อสู้ทางการเมือง

 

การศึกษาชาวนาในบริบทสังคมปัจจุบัน

           การนิยามความหมายของชาวนาจากมุมมองทางสังคมวิมทยาและมานุษยวิทยา  ในช่วงแรกมักถูกครอบงำโดยแนวคิดแบบ แก่นสารนิยม (Essentialism) นั่นคือ การพยายามที่จะค้นหาและนำเสนอคุณลักษณะสำคัญของความเป็นสังคมชาวนา โดยทั่วไปชาวนาถูกนิยามด้วยลักษณะสำคัญ 4  อย่าง

1.ระบบการผลิต ชาวนาถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ทำการผลิตทางการเกษตรขนาดย่อม การผลิตของชาวนามีจุดมุ่งหมายเพื่อมุ่งตอบสนองต่อการยังชีพ.มีผลผลิตส่วนเกินเพื่อส่งให้กับรัฐและชนชั้นนำเป็นหลัก ในขณะที่อีริค วูฟ นักมานุษยวิทยาอเมริกัน มองว่า  ชาวนาเป็นชาวชนบทที่ดำรงชีพด้วยการเพาะปลูกและตัดสินใจทางด้านการผลิตอย่างอิสระ ชาวนาจึงแตกต่างจากเกษตรกร ในการนิยามบนเนื้อหาว่า ชาวนาผลิตเพื่อยังชีพเป็นหลัก เกษตรกรทำการผลิตเพื่อการค้าเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับสตาเวนเฮเกน (Stavenhagen :1978) นิยามความหมายชาวนาว่า เป็นกลุ่มชนซึ่งทำการผลิตแบบยังชีพเป็นหลัก  ดังนั้นเศรษฐกิจชาวนาจึงวางอยู่บนหน่วยการผลิตขนาดเล็ก  การแลกเปลี่ยนแรงงานเป็นกำลังการผลิตหลักของสังคม โอกาสการสะสมทุนเป็นไปอย่างจำกัดหรือไม่มี  ดังนั้นจึงไม่เน้นเรื่องกำไร แต่เน้นเพื่อประกันความอยู่รอดของการยังชีพ

2.สังคมชาวนาอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐที่มีสถานะอำนาจเหนือกว่า (Superordinate State)  โดยรัฐมีหน้าที่ให้ความคุ้มครอง การอุปถัมภ์ และรีดไถภาษีจากชาวนาไปพร้อมกัน  (Eric wolf : 1969)

3.สิ่งที่ทำให้ชาวนาชาวไร่แตกต่างจากคนกลุ่มอื่นๆ เช่นชาวเขา กลุ่มชนเผ่าดั้งเดิม ซึ่งเป็นคนชนบทเช่นเดียวกันคือ ความผูกพันต่อผืนดิน  ที่ดินถูกนำมาเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและนำเสนอให้เป็นพื้นฐานสำคัญของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวนา

4.การให้ความสำคัญกับการผลิตและการบริโภค บนฐานของมูลค่าการใช้ (Use value) ชาวนาถูกนำเสนอว่า ทำการผลิตเชื่อมโยงกับสิทธิในการเข้าถึงและการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะที่ดิน ซึ่งเมื่อรวมกับเรื่องแรงงานแล้ว กลายมาเป็นพื้นฐานของการผลิตของชาวนา ในกระบวนการผลิตบนฐานของที่ดินและแรงงาน ชาวนาให้ความสำคัญกับมูลค่าการใช้ ในขณะที่เกษตรกรให้ความสำคัญกับมูลค่าในการแลกเปลี่ยนและการบริโภค

บริบทของการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนมากขึ้น  ไม่ว่าจะกรณีที่ดิน และการผลิตเพื่อยังชีพ ไม่อาจอธิบายอัตลักษณ์อันซับซ้อนของชาวนาได้อีกต่อไป  เมื่อที่ดินเริ่มเปลี่ยนมือ การผลิตหรือการตัดสินใจในการผลิต  ชนิดของพืช ระยะเวลา  ไม่ได้เกิดจาการตัดสินใจของเกษตรกรแต่เพียงอย่างเดียว  แต่ยังมีอิทธิพลขอกลุ่มทุนข้ามชาติบริษัทข้ามชาติเข้ามาด้วย  รวมทั้งเส้นแบ่งหรือพรมแดน ระหว่างชาวนากับชนบทกลุ่มอื่นๆ เริ่มเลือนหาย หรือมีความคลุ่มเครือมากขึ้น  พร้อมๆกับการผลิตเพื่อยังชีพของชาวนารายย่อยเริ่มลดลง แต่การผลิตเพื่อการค้ากับขยายตัวมากขึ้น  ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเข้ามาของอิทธิพลภายนอก ระบบตลาดโลก หรือการเกษตรแนวใหม่ ที่เข้ามาทำลายชุมชนชาวไร่ชาวนา แต่ในทิศทางตรงกันข้าม ร่องรอยของวัฒนธรรมชาวนา และสถาบันชาวนา ยังดำรงอยู่ภายใต้อัตลักษณ์และการจัดองค์กรทางสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่นชาวนา ไม่ได้มีเพียงชาวนา ชาวไร่ ชาวเขา แต่มีลักษณะกลุ่มที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานชาวนา ชาวเขาในเมือง

จากกรณีข้างต้น ทำให้เราในฐานะนักมานุษยวิทยา ต้องกลับมาตั้งคำถามกับทฤษฎีทางสังคมต่างๆที่นิยามความหมายให้กับชาวนา ในลักษณะเชิงเดี่ยวและหยุดนิ่ง ว่ามีพลังในการอธิบายสังคมชาวไร่ชาวนาที่มีความสลับซับซ้อนได้ดีเพียงพอหรือไม่ ดังเช่น สิ่งที่อาจารย์ ยศ สันตสมบัติ เสนอให้มองประเด็นพิเศษของสังคมชาวไร่ชาวนาในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ในเรื่อง ป่า เหมืองฝาย ที่ดิน รวมทั้งการเลือกสรรพัฒนาเมล็ดพันธุ์ การจัดการทรัพยากรพันธุกรรม (Genetic Resources) ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) สิทธิมนุษยชน  สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร และเรื่องของความเป็นชาติพันธุ์  และตัวตนของชาวนาชาวไร่สมัยใหม่ ควรจะเป็น ชาวนาที่ยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงได้ (Flexible Peasants)   ชาวนาไม่ใช่เพียงผู้ผลิตข้าว แต่เป็นผู้จัดการทรัพยากรทางพันธุกรรม ผู้ปกป้องผืนป่า หรือ ปราชญ์ชาวบ้าน (ยศ สันตสมบัติ; 2546)

การปรับกรอบความคิดเกี่ยวกับชาวนา

โดยปกติแล้ว สังคมศาสตร์ได้ถูกท้าทาย และตั้งคำถามเกี่ยวกับการศึกษาชาวไร่ชาวนา ดังเช่น ความคิดของนักวิชาการบางส่วนมองว่านักสังคมศาสตร์ได้ตัดสินประหารชีวิตชาวนาโดยปราศจากการพิจารณาอย่างยุติธรรม และมักอ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ความเจริญก้าวหน้า การพัฒนา และความทันสมัย  นักสังคมศาสตร์บางคนพิพากษาชาวนาโดยละทิ้งคนกลุ่มนี้ไว้นอกทฤษฎีของตน บางคนเพียงแต่มองชาวนาแบบผ่านเลยไปอย่างฉาบฉวย ในขณะที่อีกหลายคนก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ชาวนากำลังจะหายสาบสูญ ไปต่อหน้าต่อตาเรา ไม่ว่าจะมองชาวนาด้วยแนวคิดประการใด ก็ตาม แต่ผลที่ออกมาก็มีลักษณะเหมือนกัน คือ การมองข้ามนัยสำคัญของชาวนาในฐานะเป็นพลังทางสังคมที่มีความหมายต่ออนาคต

ดังนั้นการมองชาวนาจึงควรปรับเปลี่ยนจากความพยายามที่จะนิยามความหมายของชาวนาในลักษณะที่เป็นแก่นสารนิยม (Essentialism) ไปสู่การให้ความความสำคัญกับพหุลักษณ์และความสัมพันธ์เชิงซ้อนของชาวนาท่ามกลางกระบวนการที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ในยุคปัจจุบัน ที่เส้นแบ่งในเรื่องของพรมแดนทางภูมิศาสตร์ถูกทำลายลงไป จากกระแสของการไหล่บ่าทางด้านข้อมูลข่าวสาร และอินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย ทั้งการเคลื่อนย้ายทุน แรงงาน เครื่องจักร สามารถทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งการไหล่บ่าของวัฒนธรรมการบริโภคในยุคปัจจุบัน ที่ทำวัฒนธรรมต่างๆ เข้ามาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งหนังเกาหลี แฟชั่นญี่ปุ่น หรือการบริโภคแมค อาหารประเภท Fast Food เป็นต้น

การศึกษาสังคมชาวนาโดยภาพรวมหลักๆ มี 8 ประเด็น ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพของชาวไร่ชาวนาและการเปลี่ยนแปลง คือ

1.       การศึกษาในเรื่องของอัตลักษณ์ ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างตัวตน ลักษณะที่เฉพาะของชาวนาซึ่งแตกต่างจากชนกลุ่มอื่นๆ ทั้งในแง่ของวิถีชีวิต การแต่งกาย ภาษา อาหารการกิน ฯลฯ

2.       แนวทางการศึกษาเชิงวัฒนธรรมชุมชน ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหรือรากเหง้าที่ปะทะกับความทันสมัย กระแสโลกาภิวัตน์ มากกว่าการมองไปที่เรื่องเศรษฐกิจ การเมืองอย่างพวกเศรษฐศาสตร์การเมืองเน้น

ความทันสมัย  การโต้แย้ง หรือต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ การดำรงอยู่ภายใต้กระแสท้องถิ่นนิยม

6        แนวคิดเรื่องการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การศึกษาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรและการเคลื่อนไหวของคนในสังคมชาวไร่นา ต่อกรณีปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ  ภายใต้ประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา ความมั่นคงทางอาหารและอื่นๆ

7        แนวคิดเรื่องการต่อสู้เคลื่อนไหวทางสังคม การต่อต้านโลกาภิวัฒน์ พืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็มโอ ซึ่งเป็นกระแสของการเคลื่อนไหวของชาวไร่ชาวนาในประเทศโลกที่สาม โดยเฉพาะในแถบลาตินอเมริกา และเอเชีย

8        แนวคิดสตรีนิยมและเพศสภาวะ โดยศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในสังคมชาวไร่นา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ การเกษตรและวัฒนธรรม

งานที่สำคัญที่น่าศึกษาคือ งานของอาจารย์ ยศ สันตสมบัติ  เรื่อง ท่าเกวียน บทวิเคราะห์เบื้องต้นว่าด้วยการปรับตัวของชุมชนชาวนาไทย ท่ามกลางการปิดล้อมของวัฒนธรรมอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นภาพการปิดล้อมสังคมชาวไร่ชาวนา ในประเทศต่างๆทั่วโลกทั้งเอเชีย ลาตินอเมริกา จากลัทธิอาณานิคมตะวันตก ทำให้ มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของที่ดิน กรรมสิทธิ์ การใช้ทรัพยากร รวมถึง การพยายามสร้างวาทกรรมสมัยใหม่ ที่ว่าด้วยเรื่องของการพัฒนาเพื่อจัดลำดับประเทศ และสร้างอำนาจในการจัดการทรัพยากร และวิถีชีวิตของคนในประเทศนั้นๆ เช่น เรื่องอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ การลงนามสิทธิบัตร เป็นต้น

 

 

 

หนังสืออ้างอิง

ยศ สันตสมบัติ.(2539). ท่าเกวียนบทวิเคราะห์ว่าด้วยการปรับตัวของชาวนาไทย, คบไฟ :กรุงเทพฯ 2539.

ยศ สันตสมบัติ.(2546). พลวัตรและความยืดหยุ่นของสังคมชาวนา : เศรษฐกิจชุมชนภาคเหนือ  คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

นฤมล อิทธิจีระจรัส. (2526). โครงสร้างสังคมของชาวนาไทย (Thai peasant social structure) แปลโดย พอตตอร์ แจ็ค เอ็ม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : กรุงเทพฯ 2526.

อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2544). มิติชุมชน: วิธีคิดท้องถิ่นว่าด้วยสิทธิอำนาจและการจัดการทรัพยากรใกรุงเทพฯ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.2544

Chayanov, A. V. (1966). The theory of peasant economy. trans. Thornton, D., Smith, R. E. F., and Kerblay, B. Glencoa: Irwin.

Chayanov,Aleksandr Vasil’evich.(1986). The theory of peasant economy edit by Daneil thorner and other Madison,Wis..,university of Wisconsin.

Jack M.Potter. (1976).Thai peasant social structure University of chicago press.

James C. Scott. (1976). The moral economy of peasant : rebellion and subsisitence in Southeast Asia ,New Haven : Yale University Press.

Kautsky, K. (1899). Die Agrarfrage [The Agrarian Question]; partial trans. J. Banaji (1976) Summary of Selected Parts of the Agrarian Question. Economy and Society 5, pp. 1–49.

Scott, J. C. (1976). The moral economy of the peasant. New Haven, CT: Yale University Press.      Scott, J. C. (1985). Weapons of the weak: everyday forms of peasant resistance. New Haven, CT: Yale University Press

Shanin Teodor. (1971). Peasants and peasant societies : Selected reading ,New York ,Penguin.

Stavenhagen, Rodolfo. "Capitalism and the Peasantry in Mexico." Latin American Perspectives 5, no. 3 (1978): 27-37.

Wolf, E. R. (1966). Peasants. Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall.

——. (1969). Peasant wars of the twentieth century. New York, NY: Harper and Row.

——. (1971). Peasant wars of the twentieth century. London: Faber.

Revkin, A. (1990). The burning season: the murder of Chico Mendes and the fight for the Amazon Rainforest. Houghton Mifflim: Boston.

Laclau, E. and Mouffe, C. (1985) Hegemony and Socialist Strategy: Towards a Radical Democratic Politics. London: Verso.

Friedman, M. 1982. Capitalism and Freedom. Chicago: University of Chicago Press, 1962.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...