วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

อารมณ์กับการข้ามพรมแดน โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 อารมณ์กับประเด็นการข้ามพรมแดน... มิติทางมานุษยวิทยา

มโนทัศน์ข้ามพรมแดน (transnationalism) เป็นสิ่งที่ถูกนิยามโดยนักมานุษยวิทยา ว่าเป็นเช่นเดียวกับกระบวนการทางสังคม(social process)ที่ซึ่งผู้อพยพได้สร้างสนามทางสังคมที่แผ่ขยายข้ามพรมแดนรัฐชาติและเชื่อมโยงระหว่างประเทศแผ่นดินเกิด(original countries)และแผ่นดินของประเทศที่ผู้อพยพข้ามพรมแดนเข้ามาอาศัยและทำงานอยู่ (Basch, Glickschiller and Szanton-Blanc,1994) โดยบุคคลที่อพยพข้ามพรมแดนสัมพันธ์กับความเข้มข้นของปฏิสัมพันธ์ของพวกเขา ทั้งกับผู้คน เหตุการณ์ในแผ่นดินแม่(homeland) ที่สร้างการเน้นย้ำเกี่ยวกับมิติทางอารมณ์ของการข้ามพรมแดนให้เป็นไปได้มากที่สุด (Davidon,J.,and L.Bondi,2004) ดังนั้นการเคลื่อนไหวของผู้คน(mobility) ไม่สามารถหลีกเลี่ยงกับการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ในเชิงอารมณ์ (emotional relation)ทั้งกับผู้คนและเหตุการณ์ซึ่งถูกเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นทางเชื้อชาติ(racism) ชาติพันธุ์(Ethnicity) และชาตินิยม(nationalism) เข้าด้วยกัน (Ahmed,2004) โดยแนวคิดข้ามวัฒนธรรม ให้ความสนใจกับพื้นที่ใหม่ของการเคลื่อนย้าย (The new space of mobility) และการแลกเปลี่ยนทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองที่ซึ่งผู้อพยพและผู้ลี้ภัยทางการเมืองรวมถึงผู้ถูกเนรเทศได้สร้างสนามทางสังคมที่เชื่อมโยงกับชุมชนที่ถูกทำลายหรือถูกควบคุมของพวกเขากับชุมชนใหม่.....
Appadurai ได้อธิบายเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของผู้คนหรือมิติทางชาติพันธุ์ (Ethnoscape) และการข้ามท้องถิ่น (translocality) ที่มีคุณค่าในการคิดที่นำไปสู่ส่วนประกอบในพลวัตรของพื้นที่แห่งการเคลื่อนย้ายใหม่นี้ ethnoscape อ้างถึงภูมิทัศน์ของบุคคล (landscape of person)ผู้ซึ่งประกอบสร้างการก้าวข้ามโลก (The Shifting world) (Appadurai 1990;7) ภูมิทัศน์หรือภูมิศาสตร์เหล่านี้รวมถึงปฏิบัติการทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และความคิดอุดมการณ์ที่เป็นสิ่งที่ถูกแลกเปลี่ยนในกระบวนการของการข้ามพรมแดน ส่วนการข้ามท้องถิ่น (Translocality )อธิบายถึงชุมชนที่ถูกรื้อถอนทำลายที่กลายเป็นสิ่งที่ถูกบังคับให้ต้องแผ่ขยายเคลื่อนย้าย เช่นเดียวกับภาพสะท้อนของพื้นที่ของการเคลื่อนย้ายใหม่ (Appadurai,1996)
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ของการข้ามผ่าน ถือเป็นแหล่งที่ให้ความเข้าใจพื้นฐานของชีวิตประจำวัน กิจกรรมและความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้อพยพ ที่ทำให้เห็นการดำรงชีวิตและการอาศัยอยู่ของคนข้ามแดน สอดคล้องกับที่พัฒนา กิติอาษา(2545) ชี้ให้เห็นว่ามานุษยวิทยาต้องหันมาให้ความสนใจกับประสบการณ์และชีวิตของผู้คนที่เดินทางข้ามผ่าน(people in transit) มากขึ้น ที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของชีวิตคนเดินทาง พรมแดนและกระบวนการเคลื่อนย้ายรวมทั้งการให้ความหมายต่อการข้ามพรมแดนของผู้คนเหล่านั้น(พัฒนา กิติอาษา,2545:111)
ในขณะเดียวกันผู้อพยพก็มักจะพบความขัดแย้งในตัวของพวกเขาเองภายใต้กระบวนการของความพยายามสร้างความเป็นรัฐชาติหรือกระบวนการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้ลักษณะทางเชื้อชาติที่มีความแตกต่างหลากหลายในพรมแดนของรัฐชาติ ดังนั้นกระบวนการของการข้ามพรมแดนแบบใหม่จึงเน้นย้ำอยู่บนเรื่องของอารมณ์ ดังเช่น ความท้าทายทางอารมณ์ของแรงงานอพยพที่ต้องเผชิญ การเชื่อมโยงความทรงจำและความสำนึกของผู้ผลัดถิ่นไปยังแผ่นดินเกิด สภาวะอิหลักอิเหลื่อหรือคลุมเครือของความรู้สึกในการเป็นคนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในประเทศอื่นๆ ที่สะท้อนให้เห็นการตอบสนองของประชาชนพลเมืองที่เป็นเจ้าบ้านในอารมณ์ทางลบกับการปรากฏของแรงงานอพยพในประเทศของพวกเขา.. ประสบการณ์ความทุกข์ยากลำบากที่แรงงานอพยพและผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ ภายใต้การปะทะกันของความรู้สึกของการเป็นเจ้าของบ้าน(host)และความเป็นคนแปลกหน้า(stranger)เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างและแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกัน (Ahmed,2004) ดังนั้นอารมณ์จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ของประสบการณ์การอพยพหรือภาวะเชิงอัตวิสัยในกระบวนการข้ามถิ่น...
Zlatko Skrbis (2008) ชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีเกี่ยวกับการข้ามพรมแดนและการอพยพ มีความผิดพลาดกับความไม่สนใจที่จะรวมเอาประเด็นทางด้านอารมณ์เข้ามาศึกษาและควรเน้นย้พเกี่ยวกับประเด็นเรื่องนี้รวมถึงเรื่องของความสัมพันธ์ทางอำนาจ (power relation) ด้วย จนกระทั่งในปัจจุบันที่มีการศึกษาในสนามทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยาและภูมิศาสตร์ที่เริ่มต้นสำรวจและให้ความสำคัญกับการให้ความหมายของอารมณ์สำหรับประสบการณ์การอพยพข้ามพรมแดนมากขึ้น โดยเรื่องราวของผู้อพยพ (Migrant Story) เชื่อมโยงกับประสบการณ์ของการปรับตัว (adjustment ) การตั้งถิ่นฐาน (Settlement) การโหยหาอดีต(nostalgia) และการแตกกระจายของความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Shattered sense of belonging) การรื้อฟื้นใหม่ (renew) ความสูญเสีย(loss) การถูกเลือกปฏิบัติ (discrimination) การถูกตีตรา (stigma) การเริ่มต้นใหม่ (new beginning)และโอกาสใหม่ (new opportunities)ทั้งหมดคือแหล่งกำเนิดที่มีผลเกี่ยวกับอารมณ์ของผู้คนข้ามพรมแดน (Skrbis,2008,236) ซึ่งตัวเขายืนยันถึงการสืบค้นมิติทางด้านอารมณ์อย่างเป็นระบบจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำคัญอย่างมาก
ดังนั้นคำถามสำคัญคือประสบการณ์ของการทำงานทางอารมณ์(emotion work)ของผู้อพยพข้ามพรมแดนมีความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประธาน(subject)ของผู้อพยพกับความเป็นรัฐชาติ (nation state)ในดินแดนที่พวกเขาเข้าไปอาศัยอยู่หรือไม่ การข้ามพรมแดนจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกด้วย
อ้างอิง
1.พัฒนา กิติอาษา (2545)คนข้ามแดน:นาฏกรรมชีตและการข้ามพรมแดนในวัฒนธรรมอีสาน.
วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 15 ฉบับที่ 1. นครราชสีมา : คลังปัญญา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
2.Ahmed, S. (2004). The cultural politics of emotion. Edinburgh: Edinburgh University Press.
Appadurai, A. (1990). Disjuncture and difference in the global cultural economy. Public Culture 2, no. 2: 1 24.
3.Appadurai, A. (1996). Modernity at large: Cultural dimensions of globalization. Minneapolis: University of Minnesota Press.
4. Basch, L., N. Glick-Schiller, and C. Szanton-Blanc. (1994). Nations unbound:Transnational projects, postcolonial predicaments, and deterritorialized nationstates. Amsterdam, The Netherlands: Gordon and Breach Science Publishers.
5. Davidson, J., and L. Bondi. 2004. Spatializing affect; affecting space: An introduction. Gender, Place and Culture 11, no. 3: 373 4.
6. Skrbis, Z. (2008). “Transnational Families: Theorising Migration, emotions, and belonging”. Journal of Intercultural studies, 29(3): 231-246.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...