วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ชาวไร่ชาวนากับการต่อสู้เคลื่อนไหวในสังคมสมัยใหม่ โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 

ชาวไร่ชาวนากับการต่อสู้เคลื่อนไหวในสังคมสมัยใหม่

ภาพของชาวไร่ชาวนาในยุคปัจจุบันมีความเเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการโลกาภิวัตน์ การค้าเสรี ปัญหาที่ดิน ราคาพืชผล การจัดการทรัพยากร หรือนโยบายการพัฒนาของรัฐและบริษัทข้ามชาติ  ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวไร่ชาวนาในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากการต่อสู้เคลื่อนไหวคัดค้าน โครงการต่างที่ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนปากมูล โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง จนกระทั่งถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่น่าสนใจ ซึ่งเกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็คือ โครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหินจังหวัดอุดรธานี  ที่จะส่งผลกระทบต่อชาวไร่ชาวนาที่ทำการเพาะปลูกอยู่บนพื้นดิน  ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนมีความน่าสนใจ ในการทำความเข้าใจชาวไร่ชาวนาในปัจจุบัน ผ่านการรวมกลุ่ม เพื่อต่อรองและต่อสู้กับรัฐหรือกลุ่มทุนข้ามชาติ ที่จะเข้ามาพัฒนาหรือทำโครงการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตหรือชุมชนที่พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ เช่นการเกิดขึ้นของสมัชชาเกษตรกรรายย่อย สมัชชาคนจน กลุ่มรักษ์เชียงของหรือกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เป็นต้น

การทำความเข้าใจกรณีปัญหาชาวนาในระดับท้องถิ่นแต่เพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้เราเข้าใจปัญหาของชาวนาชาวไร่ ที่เป็นปัญหาสากลระดับโลก  นับตั้งแต่การเข้ามาให้ความช่วยเหลือขององค์กรโลกบาล อย่างองค์การสหประชาชาติ ที่มีหน่วยงานที่ทำงานด้านการพัฒนาประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในโลกที่สาม ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรม ในนามของ UNDP หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย องค์กรต่างๆเหล่านี้ล้วนมีบทบาทในการสนับสนุนด้านงบประมาณการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆ   ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของชาวไร่ชาวนา ซึ่งเป็นคนในระดับล่าง หรือเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมต่างๆ 

รวมถึงสนธิสัญญาต่างๆ ที่ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ต้องลงนามร่วมกันกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆทั่งโลก ทั้งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิบัตร การค้าเสรี สิ่งต่างๆเหล่านี้เข้ามามีอิทธิพลต่อชาวไร่ชาวนา ซึ่งเป็นผู้ทำการผลิตภาคการเกษตรและเป็นผู้พิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น และของประเทศ  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการเข้ามาของระบบทุนนิยม และโลกาภิวัตน์ ที่ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมอย่างแท้จริงของส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ดังกล่าว ช่องว่างทางรายได้ ระหว่างภาคเมืองกับชนบท ภาคเกษตรกรรมกับภาคอุตสาหกรรม ที่นับวันจะห่างกันมากยิ่งขึ้น  การส่งเสริมให้คนจนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความพอเพียง เพาะปลูกแบบผสมผสาน หรือเกษตรทฤษฎีใหม่  ท่ามกลางสภาพสังคมทีเปลี่ยนแปลง การดำรงอยู่ด้วยฐานคิดแบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงดูเหมือนว่าจะขัดแย้ง และไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานของเกษตรกรได้ ซึ่งเป็นเรื่องของปากท้อง การแสวงหาความสะดวกสบาย ซึ่งเป็นอุดมคติแบบทุนนิยม เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการสัมผัสในช่วงที่มีชีวิตอยู่  ตามกระแสที่ถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์วิทยุ  ชาวนาก็อยากมีบ้าน มีรถ อยากสวยเหมือนคนในเมืองเช่นกัน

แม้ว่า รัฐจะพยายามนำเอาแนวความคิดนี้มาใช้ในการพัฒนาประเทศมากเพียงใดก็ตาม ดังที่ปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่8-9 และ10 แต่ก็เป็นเพียงแค่หลักการ ทั้งที่ความเป็นจริงสัดส่วนของการผลิตระหว่างภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมต่างกันอย่างมาก และภาคอุตสาหกรรมและการบริการยังเป็นภาคที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก แม้ว่าข้าวของไทยจะเป็นสินค้าออกภาคการเกษตรที่สำคัญ แต่ปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต และปริมาณการผลิต เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ประเทศผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ของประเทศไทย หันไปซื้อข้าวจากจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามกันมากขึ้น รวมถึงปัญหาอื่นๆ เช่น ราคาข้าวที่ตกต่ำลงตามกลไกลตลาด หรือปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ที่เกิดขึ้นจากผู้มีอำนาจและโรงสีข้าว ยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำถึงภาวะความยากจนของเกษตรกร ที่ไม่สามารถผลิตแบบพอเพียงได้ ท่ามกลางการแข่งขัน ดิ้นรนหาเงินอย่างเอาเป็นเอาตายของคนในเมือง  สัดส่วนรายได้ของภาคเมืองและภาคชนบทยิ่งห่างกันมากขึ้น  รวมถึงปัญหาในเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างรัฐ กลุ่มทุนข้ามชาติ กลุ่มทุนในประเทศ กับชาวบ้าน  ก็รุนแรงมากขึ้น ภายใต้แนวความคิดว่า คนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะทรัพยากรในกลุ่มของพลังงาน เช่น น้ำ แร่ธาตุ ป่าไม้และที่ดิน กลายเป็นสิ่งที่ถูกแย่งชิงและเกิดกรณีพิพาทกันมากที่สุด ประเด็นปัญหาต่างๆเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นมาภายใต้แนวความคิดเรื่องโลกาภิวัตน์ ทุนนิยมและเรื่องของความพอเพียงซึ่งดูเหมือนกับว่าจะเป็นคู่ขัดแย้งกัน แต่ในบางสถานการณ์มันก็ถูกนำมาอ้างถึงและอยู่ด้วยกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ  ดังเช่นรัฐพูดถึงการพัฒนาที่ยึดหลักความพอเพียง แต่ขายทรัพยากรให้กับกลุ่มทุนข้ามชาติเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ และส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรม หรือกลุ่มทุนข้ามชาติพูดถึงความพอเพียง การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ทั้งที่สิ่งที่ตัวเองนำมาสร้างเป็นรายได้ทางเศรษฐกิจ ก็คือทรัพยากรของชุมชน ที่นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ และบางชนิดก็เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถทดแทนกันได้ เป็นต้น  ในขณะที่ชาวบ้านที่ดำรงชีวิตและหาเลี้ยงชีพด้วยการเกษตร การอยู่กับธรรมชาติ ต้องกลายสภาพเป็นผู้รองรับการพัฒนาและการเสียสละ หลายพื้นที่ชุมชนเกิดการแตกสลาย  ทิ้งจอบเสียม เครื่องมือประมง และต้องเข้าไปทำงานรับจ้างกรุงเทพฯ รวมถึงระบบการแก้ไขปัญหาของรัฐ ที่ใช้วิธีการอพยพชาวบ้านออกจากที่อยู่เดิม ที่พวกเขาทำมาหากินตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งอพยพหาที่ดินทำกินอุดมสมบูรณ์ ใกล้แม่น้ำ เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่เพาะปลูก โดยการหาที่อยู่ใหม่ให้บนภูเขาซึ่งเป็นที่เต็มไปด้วยหินและทำการเพาะปลูกไม่ได้ อย่างเช่นกรณีของเขื่อนปากมูล ได้นำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้าน การเดินขบวนประท้วงเข้ากรุงเทพฯ เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหา  สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ในการต่อสู้ของชาวนายุคใหม่ในประเทศไทย

 

กรณีศึกษา : การต่อสู้ของชาวบ้านกรณีโครงการเหมืองแร่โพแทช อุดรธานี

โครงการเหมืองแร่โพแทช อุดรธานี ของบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ได้ทำการสำรวจแร่โพแทช ในแหล่งสมบูรณ์ (แหล่งอุดรใต้) ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล คือ ตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง และตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วง กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี และได้ทำการขออาชญาบัตรและประทานบัตรในการขุดเจาะเหมืองแร่โพแทช เป็นระยะเวลา 22 ปี ในพื้นที่ 25 ตารางกิโลเมตร[1]

สภาพทางกายภาพและชีวภาพของพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นชุมชนที่ประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น สลับกับพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก  มีสถานที่ราชการสำคัญตั้งอยู่ เช่น ขนส่งจังหวัด สถานีตำรวจภูธร ค่ายทหาร ศูนย์มะเร็ง วิทยาลัยพยาบาลราชชนนี วิทยาลัยเทคนิค โรงเรียน วัดต่างๆ รวมถึงแหล่งน้ำจืดที่สำคัญ คือหนองนาตาล ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง และหนองหาน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำปาว ลำน้ำสาขาสำคัญของแม่น้ำชี  นอกจากนี้ยังมีลำห้วย ธรรมชาติหลายสายที่ไหลลงสู่หนองหานกุมภวาปี เช่น ห้วยสามพาด ห้วยหิน ห้วยเก้าต่า ห้วยโพนไพร ห้วยน้ำเค็ม และมีหนองน้ำสาธารณะของแต่ละหมู่บ้านสำหรับอุปโภคบริโภคและเลี้ยงสัตว์   ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกข้าวเป็นหลัก อีกทั้งในอดีตชุมชนเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ทางด้านการพัฒนาและเศรษฐกิจ เช่นเป็นศูนย์กลางของการค้าขาย มีตลาดขนาดใหญ่ และเป็นศูนย์กลางของการคมนาคม เช่น สถานีรถไฟ มีโรงสีและโรงเลื่อยขนาดใหญ่ หรือมีค่ายของทหารอเมริกันตั้งอยู่ในช่วงสงครามเวียดนามและช่วงการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ยังมีทรัพยากรธรรมชาติชนิดอื่นๆ เช่น บ่อเกลือที่กระจายอยู่ในหลายหมู่บ้าน ที่ยังคงทำการผลิตเกลือแบบพื้นบ้านมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้ง พื้นที่โคกหรือป่าสำหรับใช้ประโยชน์ แม้ว่าในปัจจุบันทรัพยากรดังกล่าวจะลดลง เนื่องจากการขยายพื้นที่ของการเพาะปลูก และสร้างที่อยู่อาศัย มีการจัดการพื้นที่บริเวณนี้ พร้อมกับนำทรัพยากร ธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ น้ำและแร่ธาตุมาใช้ประโยชน์ ซึ่งสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การอพยพตั้งถิ่นฐานและการปะทะกับการเปลี่ยนแปลงภายใต้การพัฒนาต่างๆในพื้นที่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากยุคเกษตรกรรมธรรมชาติไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรมแบบทุนนิยมเต็มรูปแบบ  โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของธุรกิจเกลือและอุตสาหกรรมเกลือบนแผ่นดินหรือผืนนาของคนอีสานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 ที่บริเวณลำน้ำเสียว อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และในช่วงปี พ.ศ.2524 เป็นต้นมาในแถบพื้นที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี[2]

ลักษณะการผลิตเกลือในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีปัจจุบัน มีอยู่สองรูปแบบคือ

1) การผลิตเกลือพื้นบ้าน ที่เป็นการผลิตเกลือตั้งแต่โบราณและกระทำอยู่แทบจะทุกพื้นที่ เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนและการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน แหล่งสำคัญเช่นหมู่บ้านบริเวณรอบหนองหานน้อย หรือหนองหานกุมภวาปี เกลือชนิดนี้เป็นโซเดียมคลอไรค์ ที่ระเหยซึมขึ้นมาเป็นคราบเกลือบนผิวดินในช่วงฤดูแล้ง   

2) การผลิตเชิงอุตสาหกรรม ในพื้นที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเกลือที่สำคัญในทางเศรษฐกิจของจังหวัด และเริ่มผลิตเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา โดยใช้เกลือหินใต้พื้นดินและน้ำเกลือใต้ดินเป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยใช้วิธีการดูดน้ำเกลือขึ้นมาต้มและตากบนลานดินและซีเมนต์

จนกระทั่งสถานการณ์ปัจจุบัน ที่การช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติใต้พื้นดินอีสานนั้น เริ่มที่จะมีความซับซ้อนของปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ  ภายใต้โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ซึ่งเป็นการทำเหมืองแบบอุโมงค์ใต้ดิน โดยการเข้ามาลงทุนในเชิงพาณิชย์และพัฒนาอุตสาหกรรมโพแทชและเกลือหินของกลุ่มทุนข้ามชาติจากแคนาดา ที่ได้สร้างความหมายใหม่ของสิ่งที่เรียกว่าแร่โพแทช และเข้ามาจัดการกับวิถีชีวิตของคนอุดรธานี

ความหมายของเกลือ ก่อนการเข้ามาของโพแทช

เกลือมีความสัมพันธ์กับคนในชุมชน โดยการสร้างความหมายต่อคนและพื้นที่ ผ่านพิธีกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเกลือ ในรูปแบบของการใช้ประโยชน์และเป็นส่วนประกอบหนึ่งของพิธีกรรมซึ่งเป็นศูนย์รวมความเชื่อถือศรัทธาของชุมชน โดยเฉพาะประเพณีอีสานในรอบปีที่เรียกว่า ฮีตสิบสองคองสิบสี่

เกลือได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมในรอบปี โดยเฉพาะประเพณี วัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกับการบูชาบรรพชนที่ล่วงลับลับ ในช่วงเดือนเก้า เดือนสิบ คือบุญข้าวสากและบุญข้าวประดับดิน  ซึ่งจะต้องมีการเตรียมห่อข้าวในพิธีกรรม โดยในเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน จะมีห่อข้าวใหญ่ 1 ห่อ ใส่พริก เกลือ ผลไม้ ข้าวและอาหาร ใส่ในใบตอง และให้พระสวด ก่อนที่จะกรวดน้ำและนำไปวางไว้ตามต้นไม้ บริเวณวัด โดยเปิดห่อข้าวออกแล้วฝังดินกลบไว้โดยเรียกให้แม่ธรณีมารับเอาไป พร้อมทั้งญาติพี่น้อง ผู้ล่วงลับมารับเอาห่อข้าวนี้ไป  หรือการทำถุงพริก ถุงเกลือ ไว้เป็นกัณฑ์เทศน์ถวายพระในงานบุญผเวสประจำปีของชุมชน

เกลือจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนถีชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ในแง่ของวัฒนธรรม การทำอาหาร การถนอมอาหาร และแสดงให้เห็นถึงการแบ่งปันช่วยเหลือกัน ที่ทำให้เกิดลักษะแบบเครือญาติ ที่อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน เป็นครอบครัว  และยังชี้ให้เห็นว่า เกลือเป็นวัตถุที่มีความสำคัญจำเป็นซึ่งจะขาดๆไม่ได้ ซึ่งปรากฏผ่านภาษาที่พูดกันในชุมชนหรือ ผญา คำกลอน ที่ใช้บอกเล่าความสำคัญเกี่ยวกับเกลือที่มีต่อชุมชน  เช่น คำกล่าวที่บอกว่า พริกบ้านเหนือเกลือบ้านใต้  หัวกิ้นไข(ตะไคร้) อยู่เฮือนเพิ่น กะคือคนขี้คร้าน[3]  พริกบ้านเหนือเกลือบ้านใต้แบบพี่น้องอยู่หนำกันแบบพี่น้อง คนทุกข์คนยากคือจังผู้บ่าวผู้สาว หมายความว่า เฮาจะเอาเฮาบ่มี มีแต่ไปขอ ต้องขอพริกขอเกลือ[4] อึดเกลือกะยากส่ำอึดเกลือ อึดข้าวกะยากส่ำอึดข้าว คั่นเฮาสิใช้ สิเอือบปลาเฮ็ดปลาร้า มันกะยาก คั่นบ่มีปลากะเน่า[5] เกลือกะคือบ้านบ่มีเกลือกะบ่มีบ้านมีครอบครัว ทำลายบ่อเกลือหรือบ้านบ่[6]มีบ่อเกลือกะคือจั๋งบ่มีบ้าน ที่สะท้อนความสำคัญของเกลือกับวีชีวิตของชุมชนที่อยู่ร่วมกัน โดยไม่สามารถจะขาดเกลือไปได้ และต้องหามาให้พร้อมสำหรับครัวเรือนเพื่อใช้ถนอมอาหารและปรุงอาหาร ถ้าไม่มีก็แสดงถึงลักษณะของคนในครอบครัวที่ไม่ช่วยเหลือตนเอง ต้องพึ่งพาคนอื่น ทั้งๆที่สิ่งของบางอย่างที่มีอยู่ตามธรรมชาติในชุมชน ไม่รู้จักนำมาใช้ประโยชน์กับครัวเรือนตนเอง เป็นต้น

เมื่อถึงช่วงเวลาของการต้มเกลือ ผู้นำชุมชนหรือผู้นำทางพิธีกรรม ทางจิตวิญญาณของชุมชน ก็จะได้ให้สัญญาณบอกถึงการเริ่มต้นฤดูกาลของการผลิตเกลือพื้นบ้านในชุมชน โดยการตีเกระเคาะไม้ ที่ชาวบ้านเรียกว่า ขอลอ ที่ทำจากไม้และเหล็ก เพื่อให้ทุกคนเตรียมตัวที่จะขูดเอาดินเอียด หรือ ขี้ดินเอียด ส่าเกลือ มากน้อยตามแต่ปริมาณที่ตัวเองต้องการ รวมถึงการเตรียมแรงงานและเตรียมอุปกรณ์ในการต้ม เตา กระทะ โอ่งน้ำ สานกระทอ กระบุง หรือฟืนสำหรับต้ม เมื่อเสร็จสิ้นการเลี้ยงบ้านหรือเลี้ยงปู่ตาของหมู่บ้านแล้ว แต่ละชุมชนก็จะขนอุปกรณ์ลงไปในบ่อเกลือของหมู่บ้านเพื่อเริ่มต้นทำการผลิตเกลือของแต่ละครอบครัว ดังที่ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า

 เดือน11 เดือน12 ก็เริ่มขาวไปทั่ว เริ่มมีเกลือเดือนสาม เอาข้าวขึ้นเรือนเอาเฟืองขึ้นฮ้าน[7] ถ้าฝนตกใส่จะขูดเอาเกลือบริเวณผิวดินไม่ได้ ก่อนจะลงทำการต้มต้องเลี้ยงบ้านเลี้ยงปู่ ก็ไปเลี้ยงแม่ตู้เพีย แล้วประกาศใส่เครื่องผู้ใหญ่บ้าน  ให้ชาวบ้านไปขูดวันพุธ เลี้ยงผีเลี้ยงสางก็เลี้ยงวันพุธ[8]

บ่อเกลือของชุมชนรอบหนองหานเป็นบ่อเกลือสาธารณะ ไม่ใช่บ่อของเอกชน คนใดคนหนึ่ง ซึ่งจะมีลักษณะของการใช้ทรัพยากรร่วมกันและการหมุนเวียนกันระหว่างคนในชุมชนที่ชาวบ้านเรียกว่า บ่อรวมหรือ บ่อของหมู่บ้านพอถึงช่วงฤดูกาลต้มเกลือในช่วงเดือนสองและเดือนสามหลังพิธีการเลี้ยงบ้านที่เรียกว่า เลี้ยงตาปู่บ้านหรือ เลี้ยงปู่ตา ที่ดอนปู่ตาของหมู่บ้านก่อนหรือหลังจากการเอาข้าวขึ้นเล้าหลังการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านก็จะเริ่มลงมือต้มเกลือ  ในช่วงก่อนต้มเกลือก็จะมีการสักการะบวงสรวง บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางหรือวิญญาณที่ดูแลบ่อเกลือ ซึ่งในพื้นที่บ้านอุ่มจานและบ้านขางัวนั้น จะนับถือ แม่นางเพียแก้ว[9] หรือ แม่นางเครือแก้วบางทีเรียกว่า แม่ตู้เพีย  ที่ถือว่า เป็นผีฝ่ายหญิง ที่ดูแลและปกปักรักษาบ่อเกลือ หรือเป็นวิญญาณบรรพบุรุษ[10] โดยจะมีศาลของเจ้าแม่หรือแม่นางเพียแก้วอยู่ที่บ่อเกลือ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าเป็นเสมือนกับพระแม่ธรณีผู้ปกปักดูแลรักษาพื้นดิน ที่ได้ให้ผลผลิตจากธรรมชาติกับชาวบ้านในการผลิตเกลือจากส่าเกลือบนผิวดินเพื่อใช้บริโภค และเมื่อมีการผลิตเกลือเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะต้องมีพิธีกรรมปลูกเกลือหรือหว่านเกลือ เพื่อถวายคืนต่อแม่นางเพีย โดยเชื่อว่าจะมีเกลืออุดมสมบูรณ์ต่อไปไม่มีวันหมด เพื่อให้ชาวบ้านได้นำไปใช้ประโยชน์ในการบริโภค การทำปลาร้าน การซื้อขายแลกเปลี่ยนกับสินค้าชนิดอื่นๆ และเป็นของฝากของขวัญกับญาติพี่น้อง เป็นต้น

 

การเข้ามาของรัฐและบริษัทข้ามชาติ ในเรื่องแร่โพแทช

คำบอกเล่าของชาวบ้านที่ว่า หลวงสั่งให้มาเจาะแร่ ในการอ้างคำสั่งของทางราชการ ของผู้เข้ามาขุดเจาะในช่วงแรกประมาณปี พ.ศ.2516-2519 ทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวาดกลัวไม่กล้าซักถามหรือต่อต้านการสำรวจดังกล่าว ในช่วงต่อมาปี พ.ศ.2536 -2537 ก็มีบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้ามาเจาะแร่ซ้ำอีกครั้ง ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับชาวบ้านที่เชื่อว่า มีการพบแร่ที่มีค่าใต้พื้นดินของตนเอง ทั้งแร่ยูเรเนียม น้ำมันหรือแม้กระทั่งทองคำ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้สำรวจกับชาวบ้านในพื้นที่ในเรื่องค่าชดเชยความเสียหายจากการขุดเจาะที่นาและการตัดผ่านคันนาของชาวบ้าน โดยที่ชาวบ้านบางรายได้เรียกร้องและได้รับค่าตอบแทนจากการขุดเจาะหลุมละประมาณ 1,500-3,000 บาท ถึง10,000 บาท ทั้งหลุมน้ำและหลุมเกลือหินหรือโพแทช ที่กลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาขุดเจาะในที่นาของชาวบ้าน ดังเช่นนางมณี บุญรอด ซึ่งถูกขุดเจาะที่นาเล่าให้ฟังว่า

ปี 36-37 ข้าเจ้า บอกว่าทางราชการให้มาขุด เฮาก็ปฏิเสธไม่ได้ ก็เลยให้เขามาขุดเจาะ ไม่รู้ว่าเป็นแร่อะไร รู้แต่เขาบอกว่าเป็นน้ำมัน เคยมีชาวบ้านโวยวาย ไม่ยอมให้เข้ามาขุด เพราะเวลามาแต่ละครั้งมีทั้งรถสิบล้อ รถแบ็คโฮเต็มไปหมด เวลาตอกเสา เพื่อฝังหลักลงไปก็ตอกกันในช่วงเวลากลางคืน ชาวบ้านไม่ได้หลับไม่ได้นอน  เดือดร้อนกันหมดรวมถึงวัว ควายด้วย พอชาวบ้านไปบอกว่าคันนาถูกเหยียบเขาก็จ่ายให้คนละ5-10 บาท พอบอกว่าที่นามีเอกสารสิทธิ์ มีโฉนด เข้ามาทำอะไรโดยไม่ขออนุญาต ทำตาม     อำเภอใจไม่ได้ เขาเลยให้วิศวกรฝรั่งที่มาคุมงาน เจรจาแล้วจ่ายเงินให้10,000บาท     ตอนนั้นที่นาแม่เสียหายมากปลูกข้าวไม่ได้ เพราะเขาเอาดินเกลือที่ขุดได้มาฝังกลบในที่นา ปลูกข้าวก็ไม่ขึ้น ปลูกอะไรไม่ได้กินเลย แค่ได้เงินมา10,000 บาทมันไม่คุ้ม...[11]

 

กรมทรัพยากรธรณีเข้ามาสำรวจแหล่งแร่โพแทชและเกลือหินในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2516 ถึง 2524 โดยจังหวัดอุดรธานี เป็น 1 ใน15 แหล่งที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเป็นพื้นที่ประมาณ 44,120 ตารางกิโลเมตร  เมื่อปี พ.. 2522 ที่ได้ประกาศพื้นที่ในการสำรวจ ศึกษาทดลองและทำการวิจัยแหล่งแร่โปแตชและเกลือหิน บริเวณแอ่งสกลนคร จำนวนพื้นที่ 16,640 ตารางกิโลเมตร ในเขตจังหวัด อุดรธานี หนองคาย นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่นและแอ่งโคราช ในเขตจังหวัด นครราชสีมา  ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ มหาสารคาม ชัยภูมิ และอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ 274,800 ตารางกิโลเมตร[12]  ซึ่งต่อมาบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศแคนาดา ได้ทำสัญญาร่วมกับบริษัท อะกริโกโปแตช ประเทศสหรัฐอเมริกา  บริษัทเอเชีย แปซิฟิก รีสอร์ซเซส จำกัด บริษัทเมโทร รีสอร์ซเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศแคนาดา และบริษัทไวรด์เมียร์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย ในการร่วมลงทุนและพัฒนาโครงการ และได้รับสัมปทานการสำรวจจากรัฐบาลไทยในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จำนวน 2,333 ตารางกิโลเมตรตั้งแต่ปีพ.ศ. 2516 เป็นต้นมา[13]  

จนถึงช่วงปี พ.ศ.2523  ที่รัฐบาลไทยได้ประกาศแหล่งสัมปทานทั้งสิ้น 5 แห่ง[14] เพื่อการสำรวจและแสวงหาแหล่งแร่ในเชิงพาณิชย์ โดยการเชิญชวนนักลงทุนและผู้สนใจ เข้ามาขออาชญาบัตรและประทานบัตรเพื่อทำการสำรวจและผลิตแร่ในเชิงพาณิชย์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งบริษัทเอเชียแปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ได้ยื่นขอสิทธิ์ผูกขาด และในช่วงปี พ.ศ. 2527 กระทรวงอุตสาหกรรมและกรมทรัพยากรธรณี ได้ทำสัญญากับบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โพแทชในภาคอีสานแก่บริษัทเพียงผู้เดียว แต่สภาพการณ์ของการผลิตโพแทชทั่วโลกรวมทั้งประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ของโลก ได้รับผลกระทบจากราคาโพแทชในตลาดโลกที่ตกต่ำ การผลิตไม่เพิ่มมากขึ้น และไม่มีการพัฒนาเหมืองใหม่ๆขึ้นมาได้ จึงทำให้สถานการของการสำรวจและผลิตโพแทชซบเซาและหยุดชะงักลง จนมาถึงช่วงปี พ.ศ. 2536 สถานการณ์โพแทชในตลาดโลกเริ่มดีขึ้น ทางบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด ได้เข้ามาขุดเจาะและสำรวจแหล่งแร่โพแทชในประเทศไทยอีกครั้ง โดยได้รับอาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจต่อ และได้ทำการขุดเจาะสำรวจเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ.2535-2536  โดยการสำรวจของบริษัทอาศัยข้อมูลจากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี เมื่อปี พ.ศ.2516-2519 ที่จังหวัดอุดรธานี จนได้ทำการขุดเจาะสำรวจเพิ่มเติมและพบแหล่งแร่โพแทชคุณภาพสูงระดับหนึ่งของโลก ชนิดซิลไวท์  ซึ่งเป็นแร่โพแทชที่มีความบริสุทธิ์ที่สุด เป็นที่ต้องการของตลาดมาก และคุ้มค่าต่อการลงทุน เพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์  จนกระทั่งปี พ.ศ. 2543 บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยมีสิทธิประโยชน์ด้านแรงงานต่างด้าว กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ภาษีอากรและด้านการเงิน  และในปี พ.ศ. 2544 รายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทก็ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เพื่อยืนเสนอขอประทานบัตรจัดตั้งโรงงานในประเทศไทย

บริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอเรชั่น จำกัด ได้ประกาศการค้นพบแหล่งแร่โพแทชระดับโลกที่อุดรธานี เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ดังคำประกาศของนายโดนัลด์ ฮิวจ์ วิศวกรของบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช                                      คอร์เปอร์เรชั่นจำกัด เป็นการเปิดตัวถึงแหล่งแร่สมบูรณ์ซึ่งเป็นแหล่งแร่โพแทชที่มีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ และบริษัทข้ามชาติที่จะเข้ามาลงทุนทำการเปิดเหมืองขนาดใหญ่ลำดับต้นๆของโลกในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ว่า

 

 แหล่งสมบูรณ์ (ชื่อแหล่งแร่ที่จะทำการก่อสร้างที่บ้านหนองตะไกร้)  ชื่อแหล่งแร่โพแทชที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโพแทชเป็นแร่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ประกอบด้วยธาตุโพแทชเซี่ยมและโซเดียมคุณภาพสูง แร่โพแทชเป็นสารอาหารที่จำเป็นของพืช...โพแทชคือสิ่งที่มีความสำคัญในการพัฒนาทางด้านการเกษตร และถือเป็นพื้นฐานสำคัญทางโภชนาการของพืช ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่การบริโภคได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีประเทศใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะมีแหล่งแร่โพแทชอันมหาศาล ซึ่งในปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่นอเมริกาเหนือ สหภาพโซเวียต และตะวันออกกลาง...จะทำให้ประเทศไทยอยู่อันดับสาม ของผู้ผลิตโพแทชในโลกรองจากแคนาดาและรัสเซีย[15]

ความหมายของแร่โพแทชตามที่บริษัทพูดถึงก็คือ ทรัพยากรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ    ซึ่งจะต้องมีการนำแร่โพแทชขึ้นมาผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อใช้พัฒนาอุตสาหกรรมด้านการเกษตร รวมทั้งอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบโครงการซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมและพึ่งพาปุ๋ยเคมีในกระบวนการผลิต พร้อมกับการปะทะกันของความหมายเกี่ยวกับเกลือพื้นบ้านของชาวบ้าน. ที่สัมพันธ์กับเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น การพึ่งตนเองและการผลิตแบบยังชีพ ตั้งแต่ก่อนมีโครงการเหมืองแร่โพแทชเข้ามาในพื้นที่จนถึงปัจจุบัน

          ในขณะที่ วงการวิชาการธรณีวิทยาและบริษัทข้ามชาติมีการตื่นตัวเรื่องการค้นพบแหล่งแร่โพแทชในภาคอีสาน แต่ในทางตรงกันข้ามความเข้าใจและการพูดถึงเกี่ยวกับแร่โพแทชของคนในพื้นที่ ในช่วงเวลานั้นก็ยังมีความแตกต่างกันหลากหลายออกไป เนื่องจากไม่รู้ว่าแร่โพแทชคืออะไร สิ่งที่ชาวบ้านรับรู้ก็คือ วัตถุที่ใสเหมือนสารส้ม ก้อนแร่หรือแม้กระทั่งน้ำมัน ดังตัวอย่างที่ชาวบ้านสะท้อนความเข้าใจเกี่ยวกับแร่โพแทชที่มีคนเข้ามาสำรวจในช่วงปี พ.ศ.2536-2537 ว่า

 เห็นกลุ่มวิศวกรเข้ามาแต่ไม่รู้ว่ามาทำอะไร ชาวบ้านก็บอกว่าเขาจะมาขุดเจาะน้ำมัน ก็ดีใจที่จะได้ขายที่นาเพราะที่นามีน้ำมัน แต่มาถึงวันนี้ ไม่มีใคร มาเจรจาขอซื้อที่ดิน ไม่มีใครมาเล่าอะไรให้ฟัง มีแต่เพียงการเอาเงินไปมัดจำ บอกว่าจะซื้อที่ดินแต่ผ่านไป 8 ปี ก็ยังเหมือนเดิม และเวลามาก็บอกว่ารัฐให้มา ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์คัดค้าน ผมเองเคยรู้เรื่องบ้านดุง  ที่อำเภอบ้านม่วง จังหวัดอุดรธานี ที่เกิดเหตุดินถล่ม เพราะมีการสูบน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมาทำนาเกลือ เหมือนกัน ก็กลัวจะเกิดกับบ้านเราเพราะการทำเหมืองแร่โปแตชจะมีการขุดลึกลงไปใต้ดิน ประมาณ 100 เมตร จึงต้องเรียกร้อง ..[16]

การปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทช ทั้งจากกรมทรัพยากรธรณีและนักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาสำรวจและขุดเจาะแร่โพแทช ในพื้นที่ทั้ง 2 ช่วง คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2516-2524 และพ.ศ.2536-2537 แม้ว่าในช่วงเวลาของการขุดเจาะ และสำรวจของบริษัทจะใช้เวลาในพื้นที่ ถึง2ปี แต่บริษัทก็ไม่ได้มีการอธิบายหรือทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับแร่ที่มาทำการสำรวจ คุณสมบัติและการนำไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง โดยอ้างถึงเงื่อนไขผลประโยชน์ทางธุรกิจและการลงทุนที่ต้องปิดข้อมูลเป็นความลับ  ขณะที่ในช่วงนั้นบริษัทได้เริ่มมีการทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์กับผู้นำในระดับประเทศ จังหวัดผ่านเจ้าหน้าที่ของทางราชการ เช่น รัฐบาล ข้าราชการกรมทรัพยากรธรณีกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ลงไปจนถึงผู้นำท้องถิ่น โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่โครงการพร้อมๆกับการประกาศว่าจะดำเนินการสร้างเหมืองแร่ในจังหวัดอุดรธานี เมื่อช่วงปี พ.ศ.2537 ซึ่งบริษัทเอพีพีซี มีความมั่นใจว่าได้พบแหล่งแร่โพแทชคุณภาพดี และมีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ และเหมาะสมในการลงทุน

 

เหตุการณ์เคลื่อนไหวของกลุ่มทุนข้ามชาติเกี่ยวกับแร่โพแทช ในพื้นที่เกิดขึ้นในวันที่15-16 มกราคม พ.ศ.2542 เมื่อบริษัทเอพีพีซี ได้เข้ามาประชุมประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โพแทชกับชาวบ้านในพื้นที่ บ้านหนองตะไกร้ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีน ล้มวัว ควาย และจ้างหมอลำซิ่งมาแสดงให้ชาวบ้านชม และวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2542 บริษัทเอพีพีซี ได้เข้ามาประชุมโครงการกับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ที่วัดอรุณธรรมรังสี บ้านโนนสมบูรณ์ ซึ่งบริษัทเอพีพีซีเข้ามาให้ข้อมูลของในช่วงแรกโดยบอกว่าแร่โพแทชก็คือปุ๋ยเคมี เป็นสิ่งที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่ชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏจากการบอกเล่าของบริษัท จนกระทั่งมีนักพัฒนาเอกชนเข้ามาในพื้นที่และบอกกับชาวบ้านถึงสิ่งที่ไม่เคยปรากฏจากคำพูดของบริษัทข้ามชาติ ว่าแร่โพแทชคือความหายนะที่จะเกิดต่อพื้นที่หากมีโครงการเหมืองแร่โพแทชเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างความรู้ใหม่ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ต่อเรื่องดังกล่าว ดังที่แม่สา ดวงปาโคตร เล่าถึงการเข้ามาของคนกลุ่มต่างๆ ว่า

 4-5 ปีที่แล้ว เขาเข้ามาประชุมอยู่วัด เรียกชาวบ้านไปฟัง เขาไม่ได้บอกว่าโปแตชคืออะไร รู้แต่ว่าเราจะร่ำจะรวย ตอนแรกเขาว่ามีแร่เขาให้หลุมละ3,000 บาท ตอนเขามาเจาะ เขาว่ามาขุดเจาะหาน้ำมัน ต่อมาก็มาประชุมพูดถึงเรื่องโปแตชว่าโปแตชก็คือปุ๋ย ตอนเขามาขุดเจาะทีแรกปี2536 แต่รู้ว่าเป็นแร่โปแตช ตอนปี 2540 เขามาประชุม พวกฝรั่งแคนาดาเข้ามา ต่อมาก็มีเอ็นจีโอ หัวหน้าสุวิทย์กับโต ออกมาประชุมช่วงออกพรรษา  มาเล่าให้ฟัง ว่าโปแตช มันเป็นจั๋งใด น้ำสิกินได้บ่อแผ่นดินสิทรุดบ่อถึงรู้ว่ามันมีโทษมีภัย   มาบ้านเฮา แต่กี้ก็ได้ยินแต่จะขุดจะขุด บ่อฮู้ผิดภัยของมัน[17]

เช่นเดียวกับนาย สำราญ วงษ์ใสสา ผู้ใหญ่บ้านโนนสมบูรณ์หมู่ที่12 เล่าถึงการประชาสัมพันธ์ในช่วงแรกของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เน้นไปที่ผู้นำในชุมชน เจ้าหน้าที่และนักการเมืองระดับจังหวัด เกี่ยวกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ ว่า

ปลายปี 2541คณะทำงานบริษัทเอพีพีซี เริ่มรุกงานด้านประชาสัมพันธ์โดยเริ่มจากการนำบรรดาสมาชิก อบต. สท. สจ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่อำเภอ จังหวัด ไปประชุมใหญ่ที่โรงแรมเจริญศรี ซึ่งเป็นโรงแรมใหญ่ในเมืองอุดร เพื่อทำการชี้แจงเรื่องโครงการผลดีที่จะเกิดขึ้น แก่ชุมชน รวมถึงการจัดเลี้ยงชาวบ้าน โดยมีการทำเอกสาร วีดีโอเทป ภาพถ่าย การทำเหมืองใต้ดินมาฉาย พร้อมกับการบรรยายให้ชาวบ้านเข้าใจเรื่องการทำเหมือง รวมถึงการล้ม วัว ควาย  เลี้ยงโต๊ะจีน และการจ้างหมอลำซิ่งมาแสดงให้ชม การให้การสนับสนุนการสร้างสวนสาธารณะและการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนในชุมชนที่ตั้งโครงการ ทุกครั้งที่ประชุมพบปะชาวบ้าน บริษัทจะบอกเสมอว่า โครงการนี้จะสร้างผลประโยชน์ให้กับชุมชน คนในชุมชนจะมีงานทำเป็น1,000 ตำแหน่ง มีอาชีพมั่นคงไม่ต้องอพยพแรงงาน รวมถึงเราจะได้มีปุ๋ยใช้ลดการนำเข้าปุ๋ยโปแตช จากต่างประเทศ ชาวนาได้ซื้อปุ๋ยราคาถูก รวมถึงค่าภาคหลวงที่รัฐบาลจะได้รับปีละหลายล้านบาท องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาลในเขตประทานบัตรก็จะได้ส่วนแบ่งกำไร 10-20 เปอร์เซ็นต์ เวลาบริษัทถูกชาวบ้านซักถามเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม บริษัทก็จะอ้างถึงเทคโนโลยีชั้นสูงของอุตสาหกรรมการผลิตเหมืองแร่ใต้ดิน มีมาตรการป้องกันผลกระทบเรื่องดินถล่ม น้ำเค็มและเน้นย้ำว่า มันเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ชาวบ้านเข้าใจได้ยาก[18]

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเข้ามาของบริษัทในช่วงแรก ทำให้เกิดการรับรู้ของคนในพื้นที่เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ไม่รู้ว่าแร่โพแทชมีอะไร กับกลุ่มที่รับรู้เรื่องของเหมืองแร่โพแทชที่สัมพันธ์กับเรื่องผลประโยชน์ซึ่งคนในพื้นที่จะได้รับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผู้นำชุมชน  แต่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับโครงการนี้

โดยส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี  เริ่มรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแร่โพแทชและเกลือหิน ในช่วงวันออกพรรษา เดือนตุลาคมปี พ..2544  ที่ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี ซึ่งชาวบ้านโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านที่สนใจจากหมู่บ้านใกล้เคียง ทั้งบ้านโนนสมบูรณ์หมู่ 3 และหมู่ 12 บ้านสังคม และบ้านวังขอนกว้าง ตำบลห้วยสามพาด กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี เข้ามารับฟังเป็นจำนวนมาก โดยมีนักพัฒนาจากองค์กรพัฒนาเอกชน ที่เข้ามาให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทช เช่น วิธีการทำเหมือง รวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ ซึ่งเป็นข้อมูลจากรายงานการศึกษาและประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตชคอร์เปอร์เรชั่น ที่นำมาถ่ายทอดให้ชาวบ้านฟังในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ดังเช่นตัวอย่างของสิ่งที่นักพัฒนาเอกชนเข้ามาอธิบายให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ ว่า

 

...พี่น้อง ตอนนี้บ้านของเรากำลังจะมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ ก็คือโครงการเหมืองแร่โปแตช อุดรธานี ของประเทศแคนาดาเขาจะเข้ามาขุดอุโมงค์ใต้ดินในประเทศเราเป็นระยะเวลา 22 ปี โปแตชก็คือเกลือของที่เราบริโภคในครัวเรือน แต่เค็มมากกว่าถึง1,000เท่า รสชาติจะออกขมๆหน่อย วิธีการขุดเจาะเขาจะขุดเป็นอุโมงค์ลงไปใต้พื้นดิน ลึก250-300 เมตร ความกว้างของอุโมงค์ 4-5 เมตร ขนาดที่รถวิ่งสวนกันได้ เขาจะทำการขุดเป็นห้องเป็นห้อง เหมือนบ้านเรา แล้วเอาเกลือ เอาโปแตชออกไป แล้วเหลือไว้นิดหน่อยเป็นเสาค้ำแผ่นดิน ใต้อุโมงค์จะมีห้องสำหรับเก็บเชื้อเพลิง ห้องพักคนงาน และมีรถลำเลียงแร่ขึ้นไปแต่งข้างบน เวลาแต่งแร่เขาจะบดแร่ให้มีขนาดเล็ก แล้วเอาแร่ไปละลายน้ำโดยเติมสารเคมีเพื่อแยกแร่ แล้วเอาน้ำไปอบแร่ ในการผลิตแต่ละวันจะได้โปแตช 2,000ตันต่อวัน สำหรับเกลือมีปริมาณ  5,000 ตันต่อวัน กากเกลือก็จะกองไว้บนลานกองเกลือที่จะสูง40 เมตรประมาณตึก10ชั้นไม่มีอะไรคลุม พอฝนตกลงมา เกิดพายุฝุ่นเกลือก็จะกระจายบนอากาศ น้ำเกลือก็จะไหลลงสู่พื้นที่ทางการเกษตร แม่น้ำ ฝุ่นเกลือที่เค็มก็จะตกลงไปบนหลังคา หลังคาก็ผุกร่อน เครื่องใช้ต่างๆ รถที่เป็นโลหะต่างๆก็จะเกิดสนิมและเสียหาย เหมือนนิคมอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนสังกะสีทุกปี น้ำดื่มก็ต้องซื้อกิน เพราะกินไม่ได้  ที่บริษัทอ้างว่าจะได้ใช้ปุ๋ยราคาถูกจริงหรือไม่ ในเมื่อเราผลิตโปแตชส่งออกไปต่างประเทศ ไม้ได้นำมาผลิตปุ๋ยในประเทศ แล้วปุ๋ยโปแตชที่นำเข้ามาจะราคาถูกได้อย่างไร ในเรื่องของกฎหมายแร่ที่ออก ก็ลิดรอนสิทธิของชุมชน เราจะมีสิทธิแค่50 เมตรลงไปใต้ผิวดิน กฎหมายเก่าไม่มีกำหนดไว้ สิทธิของเรามีเท่าไหร่ก็ได้บนฟ้าและใต้พื้นดิน ตอนนี้เขาจำกัดสิทธิเราให้เหลือ50 เมตร เกินกว่านั้นเขาก็ทำสัมปทานให้บริษัท จะขุดผ่านใต้บ้านใครก็ได้ ไม่ต้องบอกให้ทราบ พวกเราจะยอมหรือไม่หรือจะต่อสู้เพื่อปกป้องวิถีชีวิตของพวกเรา พี่น้องจะสู้ไหม....[19]

การให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ของนักพัฒนาเอกชนในวันนั้น ได้สร้างความสนใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก รวมทั้งมีการซักถามข้อมูลต่างๆกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน โดยเฉพาะจากผู้นำและผู้อาวุโสของชุมชน ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตและชุมชนของพวกเขา ว่า ดินจะถล่มไหม น้ำจะกินได้ไหม แผ่นดินจะทรุดเท่าไหร่ และถ้าเกิดความเสียหายต่อพื้นที่จะอพยพไปอยู่ที่ไหน  อีกทั้งยังได้เล่าถึงวิธีการเข้ามาในพื้นที่เพื่อขุดเจาะและสำรวจแร่ของบริษัท เช่น การเข้ามาโดยไม่ขออนุญาตชาวบ้านในพื้นที่ และอ้างถึงสิทธิและความสามารถในการเข้ามาขุดเจาะสำรวจในที่ดินของชาวบ้าน โดยอ้างว่ารัฐบาล ข้าราชการหรือหลวงอนุญาตให้ทำ หลวงเขาสั่งลงมาชาวบ้านจะขัดขวางไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว ไม่กล้าซักถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและปล่อยให้คนเหล่านั้นเข้ามาขุดที่นาและบริเวณเขตบ้านตัวเอง อีกทั้งบริษัทไม่เคยบอกข้อมูลชาวบ้านว่ามาสำรวจอะไร และแร่โพแทชที่ขุดเจาะคืออะไร?  ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่มั่นใจในการเข้ามาดำเนินการของบริษัทข้ามชาติในพื้นที่ จากผลการประชุมครั้งนั้นได้นำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเพื่อเป็นตัวแทนหมู่บ้านต่างๆ ในการเคลื่อนไหวและยื่นหนังสือคัดค้านต่อข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ซึ่งคณะกรรมการส่วนใหญ่ที่ถูกเลือกก็คือ ผู้นำชุมชน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลและผู้อาวุโส ในหมู่บ้าน

จากการเข้ามาของภาครัฐ บริษัทเอกชน และนักพัฒนาเอกชน สรุปได้ว่า การเข้ามาในช่วงแรกของรัฐและกลุ่มทุนข้ามชาติในช่วงแรก ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของคน เพราะคนในพื้นที่ไม่รู้ว่าแร่ที่เขามาเจาะสำรวจคืออะไร แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือ พื้นที่ของชาวบ้าน ที่มีรถเข้ามาขุดเจาะ และเศษเกลือที่ปนเปื้อนกับพื้นดิน ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องค่าเสียหายของชาวบ้านกับบริษัท จนเมื่อบริษัทได้เข้ามาประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ทั้งการจ้างงานและการได้ใช้ปุ๋ยเคมีราคาถูก แต่ก็เป็นเพียงการสื่อสารกับกลุ่มผู้นำ ไม่ได้สื่อสารให้ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจ สิ่งที่บริษัทใช้ในการอธิบายกับชาวบ้านทั่วไปจึงเป็นคนละชุดกับกลุ่มผู้นำ เมื่อสิ่งเหล่านั้นถูกอธิบายผ่านการจัดโต๊ะจีนเลี้ยงชาวบ้าน การจ้างหมอลำมาแสดงให้ชาวบ้านชมและการแจกสิ่งของ

ในขณะเดียวกันเมื่อองค์กรพัฒนาเอกชนได้เข้ามาประชุมให้ข้อมูลกับชาวบ้านหมู่บ้านต่างๆ ในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับบริษัทข้ามชาติในเรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลต่อความรู้และความเข้าใจของชาวบ้านต่อโครงการแร่โพแทชอุดรธานีมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายแร่ที่ลิดรอนสิทธิชาวบ้าน พร้อมกับหายนะของเหมืองแร่โพแทช จากการขุดอุโมงค์ใต้ดินและกองเกลือปริมาณมหาศาล ที่ทำให้ชาวบ้านต้องเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการนี้

เหตุการณ์ข้างต้นส่งผลให้ในช่วงปี พ..2546 บริษัทเอพีพีซี (ปัจจุบันบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด เข้ามาซื้อหุ้นทั้งหมดและดำเนินกิจการต่อเมื่อกลางปี พ.ศ.2549) ได้ตั้งทีมประชาสัมพันธ์เข้ามาให้ข้อมูลและอธิบายเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่โครงการอย่างเร่งรีบ พร้อมกับการประกาศว่าจะมีเหมืองแร่โพแทชเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ก็ถูกชาวบ้านหลายหมู่บ้านในพื้นที่ไม่ยอมรับฟังและต่อต้านการชี้แจงของบริษัท เนื่องจากสิ่งที่ชาวบ้านได้รับฟังจากนักพัฒนาเอกชนเมื่อปลายปี พ.ศ.2544 แร่โพแทชไม่ใช่เรื่องของปุ๋ยเคมีแต่เป็นเรื่องของหายนะและพิษภัยจากเหมืองเกลือที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งเมื่อชาวบ้านถามคำถามกับบริษัทในเรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมกับบริษัท แต่บริษัทไม่สามารถตอบคำถามได้ โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ชาวบ้านเข้าใจได้ยาก ทำให้ทีมประชาสัมพันธ์ของบริษัทไม่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านและถูกขับไล่ออกจากชุมชนจนไม่สามารถเปิดเวทีในพื้นที่ได้

สิ่งสำคัญก็คือ การที่ชาวบ้านปฏิเสธการดำเนินการของบริษัททุกรูปแบบที่เข้ามาในชุมชน เช่น การให้เงินสนับสนุนกับชุมชน ในด้านการศึกษา ประเพณีวัฒนธรรม  การพัฒนาอาชีพต่างๆ การบริจาคสิ่งของ การจัดกีฬา  การจัดนิทรรศการให้ความรู้ การอบรมความรู้เรื่องเหมืองแร่ กับชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ นักเรียนในโรงเรียนต่างๆ  และการพาชาวบ้านไปดูการทำเหมืองแร่ในประเทศและต่างประเทศ  เป็นต้น รวมทั้งชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆรอบโครงการ ได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ขึ้นมาเพื่อต่อต้านโครงการเหมืองแร่โพแทช และดำเนินการเคลื่อนไหวต่อสู้คัดค้านในพื้นที่ โดยใช้ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อท้องถิ่น  ตำนานพื้นบ้าน รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ข้าว ปลาร้าและเกลือขึ้นมาอธิบายเพื่อต่อต้านกับเหมืองแร่ขนาดใหญ่ที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิตและการทำการเกษตรของคนในชุมชน

การเข้ามาของกระบวนการพัฒนาและนโยบายของรัฐบาลและเอกชนในเรื่องของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเกลือในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ได้ส่งผลต่อวิธีคิดของชาวบ้านที่มีต่อเกลือและโพแทช ตั้งแต่การผลิตเกลือแบบพื้นบ้านในชุมชนลุ่มน้ำหนองหานในลักษณะของการผลิตเพื่อการยังชีพ หรือเป็นสิ่งของในการแลกเปลี่ยนและเป็นของขวัญให้กับญาติพี่น้อง โดยจะทำการผลิตได้เพียงปีละครั้ง ดังที่นางทองสี ยอดวัน ชาวบ้านขางัว บอกว่า

เกลือ เพิ่นเอาหมากไม้ เอาหมากพลู เอาหมากแดงหมากเค้า เอากล้วย มะละกอ หอย ทุกคนเอามาแลกกัน พี่น้องมาก็ต้อนรับพี่น้องแหน่ เป็นของฝากของกำนัลที่ดีเยี่ยมหลาย พี่น้องมาแต่ปากน้ำ แชแล  หนองแวง ก็เอาให้พี่น้องแลก   พริกแลกเกลือ เอาให้พี่ให้น้องก็เลยต้มทุกปี[20]

ในขณะนางใจ ระเบียบโพธิ์ ชาวบ้านอุ่มจาน ที่บอกว่า ต้มเกลือใช้ทำปลาร้า เพื่อแลกข้าวสำหรับบริโภคในครัวเรือน รวมถึงขายให้กับหมู่บ้านประมงที่ต้องการเกลือสำหรับทำปลาร้า

แม่ต้มเกลือ เอาเกลือมาทำปลาร้า แลกข้าวกิน ไม่ได้อึดข้าวกินสักครั้ง คนมาถามซื้อไปทำปลาร้า ส่วนใหญ่เป็นคนบ้านเดียม บ้านโพนทอง ไทบ้านเดียมเขาหาปลาหลาย[21]

ในอีกด้านหนึ่งอุตสาหกรรมเกลือชายฝั่งทะเล ได้เข้ามาในพื้นที่อำเภอบ้านดุงจังหวัดอุดรธานี และทำให้การผลิตของชุมชนเปลี่ยนไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ ที่เน้นในเรื่องของการขายและใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่มีการนำวิธีการทำนาเกลือทั้งแบบต้มแบบตากมาใช้ และมีการผลิตตลอดทั้งปี ดังที่นางบุญซ่อน พรมศรีจันทร์ ชาวบ้านดุง เล่าว่า

เริ่มต้มเกลือมาตั้งแต่นานแล้วสมัยแต่ก่อนมันเป็นพื้นดิน มีขี้ทาขึ้น หม่องใดมันเค็ม มันปลูกข้าวไม่ได้ มันก็มักเป็นไฮนา เป็นหม่องเฮ็ดเกลือต้ม ช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์  เฮากรองเอาตรงนั้นไปต้ม เกลือเริ่มต้มตอนแม่อายุ 35 ปี ประมาณปี2505   เริ่มต้นข้าเจ้าเจาะน้ำ จน เจอน้ำเค็มได้ผลดีก็ต้มมาเรื่อยๆ ส่วนมากคนที่มาทำเกลือมาจากที่อื่น นายทุนมาจากต่างจังหวัด ชาวบ้านที่นี่มีบ้างแต่ไม่มาก ลูกจ้างในโรงงานก็มาจากจังหวัดอุบลราชธานี ศรีษะเกษ ชาวบ้านที่นี่ก็มี นายทุนใหญ่ๆ มาจากวรวัฒน์ มหาชัย สมุทรสาคร เป็นโรงงานทำเกลือป่น เกลือไอโอดีน[22]

การผลิตเกลือทั้งสองพื้นที่มีความน่าสนใจตรงที่ เป็นวิถีการผลิตที่อยู่ร่วมกับวิถีชีวิตของชาวบ้านและชุมชนเกษตรกรรม ในลักษณะที่เกลือแบบพื้นบ้านแถบลุ่มน้ำหนองหานนั้น จะทำการผลิตบริเวณบ่อเกลือสาธารณะของชุมชนที่มีขนาดเล็ก และทำการผลิตได้เพียงปีละครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม หลังทำการเพาะปลูก เพื่อใช้สำหรับบริโภคในครัวเรือน ส่วนเกลืออุตสาหกรรมแบบต้มและตาก บริเวณอำเภอบ้านดุง จะเป็นการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมและเน้นที่การค้าขาย โดยความหมายของเกลือบ้านดุง ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ในฐานะแหล่งของการจ้างงาน และเป็นอุตสาหกรรมของชุมชนที่สร้างรายได้ให้กับพื้นที่ ดังนั้นเกลือจึงมีความหมายที่เคลื่อนผ่าน จากธรรมชาติใต้พื้นดิน มาสู่การเป็นทรัพยากร เพื่อการพัฒนาและจัดการการใช้ประโยชน์ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

จนกระทั่งการเข้ามาของสิ่งที่เรียกว่าแร่โพแทชในฐานะองค์ความรู้ใหม่ของพื้นที่ ซึ่งมีความหมายที่หลากหลาย ดังเช่น บริษัทข้ามชาติพูดถึงแร่ชนิดนี้ว่า เป็นแร่ที่มีค่าใต้พื้นดิน” “เมื่อมีโปแตชแล้วจะได้ซื้อปุ๋ยถูก” “ขุดโปแตชแล้วมีโรงงานลูกหลานจะมีงานทำ” “เกลือคือผลพลอยได้จากการผลิตที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  เกลือเอาไว้อัดกลับใต้อุโมงค์กันแผ่นดินทรุด กับสิ่งที่องค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาให้ข้อมูลในพื้นที่ช่วงแรก ก็ให้ข้อมูลและอธิบายกับชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องของโพแทช  ว่า โปแตชคือปุ๋ย โปแตชคือเกลือแต่เค็มกว่าเกลือถึง1,000เท่า” “โปแตชใช้ทำปุ๋ยแต่หางเกลือที่ได้จากการผลิตโปแตช จำนวนมหาศาลเท่าตึก10 ชั้น คือมลพิษทางสิ่งแวดล้อมเป็นต้น

ดังนั้นการพูดถึงแร่โพแทชจึงมีทั้งนัยในทางบวกที่สัมพันธ์กับเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจ รายได้ การมีงานทำ การได้ใช้ปุ๋ยราคาถูก พืชผลจะเจริญงอกงาม และนัยทางลบ คือปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ จากหางเกลือที่เหลือจากการผลิต การกอบโกยผลประโยชน์ของต่างชาติ กฎหมายแร่ที่ลิดรอนสิทธิชุมชน และประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น  ซึ่งส่งผลต่อความรู้และความเข้าใจของชาวบ้านต่อโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี

การต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี

ผลกระทบต่อคนในพื้นที่จากการเข้ามาของสิ่งที่เรียกว่าแร่โพแทชในชุมชน พร้อมกับประเด็นเรื่องของกฎหมายแร่ที่ว่าด้วยเรื่องแดนกรรมสิทธิ์ที่ลิดรอนสิทธิชาวบ้าน สิทธิชุมชน การปิดปังข้อมูลข่าวสารกับชาวบ้านในพื้นที่ และการเข้ามาดำเนินกิจกรรมรูปแบบต่างๆของบริษัทดังได้กล่าวข้างต้น รวมถึงการเข้ามาของนักพัฒนาเอกชนและนักวิชาการในพื้นที่ (ดูลำดับความเคลื่อนไหวในพื้นที่จากภาคผนวกข.) ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ โดยเริ่มจากการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเมื่อวันที่17 มกราคม พ.ศ. 2545  ซึ่งมีตัวแทนของชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่โครงการ ร่วมกันเป็นคณะกรรมการโดยมีนักพัฒนาเอกชนเป็นที่ปรึกษา เพื่อบอกเล่าข้อมูลที่ได้รับจากนักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชน ให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านของตนเอง พร้อมทั้งดำเนินการเคลื่อนไหวคัดค้านในพื้นที่ ผ่านการเขียนป้ายประท้วง ที่หน้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็น โปแตช มาปูปลาตายหมด โปแตชมานาล่ม ดินเค็ม หรือ โปแตชมาดินเค็ม น้ำเค็ม แผ่นดินทรุด เป็นต้น จนกระทั่งมีนักวิชาการจากลำปาง อย่างเช่น อาจารย์ศุภชาติ รุ่งโรจน์[23] ได้เข้ามาทำเสื้อ กระเป๋าสะพายและสติ๊กเกอร์ที่มีสัญลักษณ์ต่อต้านโครงการให้กับชาวบ้านเพื่อขายและระดมทุนในการเคลื่อนไหว โดยมีคำว่า ‘Stop Potash Project’ ‘Stop Potash In Udornthani’  ‘No Potash In Thailand’หรือหยุดทำเหมืองแร่บนเลือดเนื้อของคนอุดรธานี การเขียนป้ายในช่วงนี้ของชาวบ้านก็เปลี่ยนไปสู่เรื่องอื่นๆที่ใหญ่กว่าวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เพราะเป็นเรื่องในเชิงนโยบายและเรื่องผลประโยชน์ระดับจังหวัดและระดับประเทศ จนภาพของชาวบ้านในพื้นที่เล็กลงจนมองไม่เห็น เช่น หยุดปล้นคนอุดร   เหมืองแร่โพแทชละเมิดสิทธิ ริดรอนสิทธิชุมชน  พวกเราไม่เอาเหมืองแร่โปแตช ยกเลิกอีไอเอ  ยกเลิกกฎหมายขายชาติ  พรบ.แร่ขายชาติขายแผ่นดิน  การพัฒนาที่ดีต้องไม่ทำให้ชุมชนแตกแยก เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นหายนะของแร่โพแทช ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และวิพากษ์กระบวนการพัฒนาโครงการต่างๆ ของรัฐและเอกชนที่กระทำต่อพื้นที่และคนในชุมชน ตั้งแต่ เรื่องของการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่ครอบคลุม ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และการแก้ไขพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510 ที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุนข้ามชาติ   เป็นต้น (ดูตัวอย่างคำเหล่านี้ในภาพประกอบ)

 นอกจากนี้ การต่อสู้เคลื่อนไหวของชาวบ้านยังมีการเคลื่อนไหว ในบริบทและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยนความหมายของการต่อสู้เคลื่อนไหวที่มีอยู่ตลอดเวลา และการใช้ภาษาที่สัมพันธ์กับนักวิชาการและนักพัฒนามากขึ้น ทั้งคำอธิบายเกี่ยวกับหายนะที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ของชาวบ้าน เช่นแผ่นดินทรุดกับการขุดหลุมฝังเสา หรือการขุดหากบแล้วเอาดินกลบลงไป เมื่อฝนตกลงมาดินก็ยุบลงไม่แน่นเหมือนเดิมดังเช่นที่แม่สา ดวงปาโคตร บอกว่า

 

ดินทำไมมันจะไม่ทรุด แม่เคยไปขุดปูหากบทุกปี ขุดเสร็จแล้วเฮาก็เอาดินถมกลับลงไป พอฝนลงมามันก็ยุบลงคือเก่า ไม่แน่นคือแต่ก่อน แล้วบริษัทบอกว่าจะขุดเอาแร่ขึ้นมา ได้เกลือกับโปแตชเท่านั้น แล้วเอาโปแตชไปทำปุ๋ยไปขาย แล้วสิเอาเกลือกับเข้ามาอัดรูคือเก่า มันสิคือเก่าได้จั๋งใด เอาชัดๆคือจั๋งเฮาขุดหลุมฝังเสาเฮือน มันยังไม่แน่น ฝนตกลงมามันก็ยุบลง...”[24]

 

คำอธิบายที่เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตดังกล่าว ได้เปลี่ยนมาเป็นการอธิบายด้วยชุดความรู้แบบบริษัทและวิศวกรเหมืองแร่มาใช้ในการอธิบาย ถึงขนาดความกว้าง ความลึก ความยาวของอุโมงค์ การออกแบบเสาค้ำยัน วิธีการขุดเจาะ และผลกระทบที่เชื่อมโยงแบบองค์รวม ทั้งเรื่องดิน น้ำและอากาศ โดยเปรียบเทียบกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง หรือเหมืองแม่เมาะจังหวัดลำปาง เพื่อยืนยันว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ดังกล่าว จะเกิดขึ้นกับเมืองอุดรธานีด้วย หากมีการขุดเจาะเหมืองแร่โพแทชขึ้น และคำพูดเหล่านี้ก็ถูกอธิบายบนเวทีสัมมนามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแกนนำที่เป็นตัวแทนชาวบ้าน เข้าไปอบรมกับนักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชน ในประเด็นเรื่องการต่อสู้เคลื่อนไหว สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวบ้านที่มีปัญหาจากโครงการพัฒนาของรัฐในที่อื่นๆ ดังที่แม่มณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี แกนนำในการเคลื่อนไหวบอกว่า

 

แร่โปแตช มันเจาะลงไปข้างล่าง 1,300เมตร เฮ็ดเป็น 2 รู รูหนึ่งเอาไว้เก็บน้ำมัน เป็น      ห้องพักคนงาน อีกรูหนึ่งเป็นรูเจาะไปถึงชั้นเกลือ มีสายพานลำเลียงส่งขึ้นมาถึงปากปล่อง เอามาบดแร่ให้มีขนาดเล็ก 0.3 มิลลิเมตร แยกโปแตชออกจากเกลือ ได้โปแตช 6,000 ตันต่อมือ เกลือ ได้15,000 ตันต่อมื้อ เวลาบดก็จะมีฝุ่นเกลือรัศมีแพร่กระจาย   10 กิโลเมตร น้ำกะสิกินไม่ได้ ต้องซื้อ  กิน เป็นเวลา 22 ปี ที่เขาจะขุดเจาะเกลือสูง 40 เมตร ปานตึก10 ชั้น ไม่มีอะไรคลุม พอตกลงมาก็ทำให้ผงเกลือถูกชะล้างลงไปในแหล่งน้ำ  นาข้าววกะสิเค็ม ข้าวก็สิตาย[25]

 

การเคลื่อนไหวของชาวบ้าน จึงมีการเคลื่อนไหวตามประเด็นของการต่อสู้ในแต่ละช่วง เช่นในช่วงปี พ.ศ. 2544-2546 เป็นประเด็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ กฎหมายแร่ รายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการจะคัดค้านประเด็นดังกล่าวเพื่อให้ยุติและชะลอโครงการ ผ่านการร้องเรียนเรื่องกฎหมายแร่ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  รายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทำผิดขั้นตอนพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ข้อมูลไม่ครอบคลุม และประชาชนไม่มีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ากฎหมายแร่ฉบับใหม่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในช่วงปลายปีพ.ศ.2546-2550 ประเด็นของการต่อสู้เคลื่อนไหว จึงกลับมาที่เรื่องของพื้นที่ โดยใช้วัฒนธรรมชุมชน ประเพณีวัฒนธรรมในการอธิบาย ผ่านตำนานผาแดงนางไอ่ กลอนลำประวัติศาสตร์ลำน้ำเสียวและต้านภัยเหมืองแร่โพแทช หรือการทำนารวมและการจัดบุญกุ้มข้าวใหญ่เพื่อระดมทุนในการต่อสู้ รวมถึงนำเรื่องของเกลือ ปลา นาข้าว รากเหง้าคนอีสาน มาเป็นประเด็นในการต่อสู้เคลื่อนไหว มีการชูแนวคิดเรื่องเกษตรอินทรีย์เพื่อต่อต้านปุ๋ยเคมีที่ผลิตจากโปแตช การชูประเด็นเรื่องเกลือพื้นบ้าน ในฐานะที่เป็นภูมิปัญญา และเศรษฐกิจแบบพอเพียง ในการต่อสู้กับกลุ่มทุนข้ามชาติที่เข้ามาขุดเจาะแร่โพแทชในลักษณะของทุนนิยมเต็มรูปแบบ ที่ทำให้ความหมายของเกลือและโพแทช มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตามบริบทและเงื่อนไขของการต่อสู้ รวมทั้งมีรูปแบบการต่อสู้ที่แตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์ ซึ่งยุทธวิธีที่ใช้ในการต่อสู้เคลื่อนไหวเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่าน การอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ การศึกษาดูงานกับกลุ่มพันธมิตร อย่างโครงการอนุรักษ์ลำน้ำพอง สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูลและกลุ่มอนุรักษ์บ่อนอกหินกูด ที่นำไปสู่เรื่องของการยื่นหนังสือ การชุมนุมประท้วงที่หน้าศาลากลางและกรุงเทพฯ รวมทั้งการเดินรณรงค์ให้ความรู้และ หาหมู่ หาพวก มาร่วมต้านโครงการเหมืองแร่โพแทช เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการจำแนก พวกเรา พวกเขา โดยใช้ธงเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องหมาย แสดงถึงความไม่ต้องการโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ติดไว้ที่หน้าบ้านแต่ละหมู่บ้าน หรือการใส่เสื้อเขียวในการเคลื่อนไหวชุมนุม จนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีถูกเรียกจากคนทั่วไป บริษัทเหมืองแร่และเจ้าหน้าที่รัฐว่า พวกเสื้อเขียว สำหรับผู้ที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มสนับสนุนบริษัท ก็จะถูกมาตรการทางสังคมของชุมชนจัดการด้วยการไม่ซื้อสินค้าในร้านที่คนนั้นขาย การไม่ร่วมกิจกรรมงานต่างๆที่คนคนนั้นจัดขึ้น หรือแม้แต่การไม่ให้ร่วมกลุ่มต่างๆ ของชุมชนเช่น กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นต้น

นับตั้งแต่เกลือเป็นประเด็นของความขัดแย้ง ได้มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน นักพัฒนาเอกชนและนักวิชาการในพื้นที่ ด้วยการจัดงานมหกรรมสืบสานภูมิปัญญาเกลือพื้นบ้านพร้อมกับการตีพิมพ์เอกสารชื่อ อุตสาหกรรมเหมืองแร่โพแทชกับการพัฒนาอีสานบนเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2550 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านวัฒนธรรมเกลือและภาคอีสานอย่าง ศรีศักร วัลลิโภดม    สุจิตต์ วงษ์เทศ   และ จารุวรรณ ธรรมวัตร มาบรรยายให้ข้อมูล พร้อมกับชาวบ้านจากพื้นที่ต่างๆที่ผลิตเกลือแบบพื้นบ้าน และเกลืออุตสาหกรรมแบบบ้านดุง บ้านม่วง วานรนิวาสเป็นต้น เพื่อให้เป็นประเด็นสาธารณะ  รวมทั้งการหาพันธมิตรโดยการให้ความรู้กับกลุ่มพ่อค้าเกลือรายย่อยในเขตอำเภอบ้านดุงเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ และผลกระทบที่จะเกิดจากปริมาณเกลือมหาศาลที่จะออกสู่ตลาดหากมีเหมืองแร่โพแทชเกิดขึ้นรวมถึงเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นภาระที่ผู้ผลิตเกลือรายย่อยและรายใหญ่ในชุมชนจะต้องต่อสู้กับบริษัทข้ามชาติในอนาคต

น่าสังเกตว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2546-2547 ทางกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการผลิตเกลือแบบอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอำเภอบ้านดุงจังหวัดอุดรธานี อำเภอบ้านม่วง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร และลำน้ำเสียว อำเภอบรบือ        จังหวัดมหาสารคาม ในนามของเครือข่ายศึกษาปัญหาดินเค็มภาคอีสาน ที่มีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาดินเค็มภาคอีสาน ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2546 ที่ตึกคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน จังหวัดอุดรธานี จนเปลี่ยนแปลงมาสู่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชกับกลุ่มนายทุนและผู้ผลิตเกลือแบบอุตสาหกรรมที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เพื่อสร้างพันธมิตรในการต่อสู้กับกลุ่มทุนข้ามชาติจากแคนาดา ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2548ถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นจุดเริ่มต้นที่หลากหลาย (threshold) และรอยแตก รอยแยก (rupture) ของวาทกรรมที่ว่าด้วยเกลืออุตสาหกรรมท้องถิ่นที่เคยสร้างหายนะกับชาวนาอีสานในช่วงแรกเริ่ม กับเกลืออุตสาหกรรมเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชน ในฐานะเครื่องมือของการต่อสู้กับอุตสาหกรรมข้ามชาติ  ได้ทำให้วาทกรรมแต่ละชุดที่เคยหักล้าง (break) ระหว่างกัน ถูกประสานเข้าด้วยกัน จนเปลี่ยนรูปแบบ (mutation) ไปสู่วาทกรรมชุดใหม่ ที่พูดถึงเรื่องเกลือของท้องถิ่นโดยการประสานกันของเกลือแบบพื้นบ้านและเกลือแบบอุตสาหกรรมท้องถิ่น เพื่อปะทะและต่อสู้กับโครงการเหมืองแร่โพแทชของกลุ่มทุนข้ามชาติในพื้นที่

การเข้ามาของนโยบายรัฐและโครงการพัฒนาของกลุ่มทุนข้ามชาติ เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ซึ่งเข้ามามีความสัมพันธ์และจัดการกับพื้นที่และตัวตนของคนในพื้นที่ ได้ทำให้ชาวนาที่เคยรู้เพียงแค่เรื่องของการเกษตร ต้องเข้ามาสัมพันธ์กับการเมืองที่เป็นเรื่องของอำนาจ และผ่านกระบวนการเรียนรู้ ทำความเข้าใจการเมือง ผ่านปฏิบัติการต่อสู้เคลื่อนไหวในประเด็นของการจัดการทรัพยากรเกลือและโพแทชใต้พื้นดินอีสาน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับเวทีสาธารณะ

คำถามของชาวบ้านในพื้นที่ ที่เริ่มต้นจากคำถามที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตพื้นฐาน เช่น น้ำจะกินได้ไหม บ้านจะทรุดไหม ข้าวจะตายไหม หรือ ทำนาได้ไหม ได้เปลี่ยนมาสู่คำถามที่สัมพันธ์กับตัวตนของคนในชุมชนที่ต้องมีการเคลื่อนไหว จะต่อสู้อย่างไร และทำอย่างไรไม่ให้มีโครงการเหมืองแร่โพแทชเกิดขึ้น ที่สะท้อนให้เห็นคำถามต่อเรื่องของอำนาจ ที่สัมพันธ์กับเรื่องเทคโนโลยีของอำนาจซึ่งชาวบ้านใช้ในการต่อสู้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของ การจัดการทรัพยากรสิทธิชุมชน กฎหมาย และวัฒนธรรมชุมชน เพื่อเสนอความเป็นจริง ความเป็นเท็จ สิ่งที่ต้องการ หรือไม่ต้องการ อะไรที่ยอมรับได้หรือไม่ยอมรับไม่ได้สำหรับพวกเขา

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สถานการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี ได้นำไปสู่การปะทะและต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องเกลือและโพแทช ในฐานะทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการจัดการการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่นำไปสู่ความรุนแรงของสถานการณ์และการเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่กับกลุ่มทุนข้ามชาติ  ทั้งในเรื่องของกฎหมาย วัฒนธรรมชุมชน และสิ่งแวดล้อม ที่นักพัฒนาเอกชนและนักวิชาการท้องถิ่น ได้เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ตรงนี้ ในฐานะพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาให้กับชาวบ้าน และทำให้ประเด็นเหล่านี้ปรากฏชัดเจนในเวทีสัมมนาทางวิชาการต่างๆ ซึ่งสร้างประสบการณ์และผลักดันให้คนในพื้นที่ เข้าไปเกี่ยวข้องและรับเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาในการต่อสู้ เคลื่อนไหว ปัญหาไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของการเกิดขึ้นของคู่ตรงกันข้ามระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มทุนข้ามชาติ  แต่ปัญหามันเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกับส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐในการกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศและชักชวนให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน ในฐานะนักลงทุน ซึ่งทั้งสองส่วนเข้ามากระทบต่อพื้นที่และชีวิตของคนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นเสมือนผู้รองรับการพัฒนา  เมื่อปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการไม่สามารถตกลงกันได้ การต่อรองระหว่างกันจึงเคลื่อนเข้าไปสู่เวทีทางวิชาการสาธารณะระดับประเทศ โดยให้ตัวแทนซึ่งเป็นคนกลางและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เข้ามาศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับโครงการอย่างละเอียดรอบด้าน เพื่อหาทางออกและแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงการเหมืองแร่โพแทชอย่างเป็นเอกภาพ รวมถึงการสร้างยอมรับของร่วมกันของทุกๆฝ่าย

นอกจากนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีประเด็นปัญหาการต่อสู้ที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น กรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งชาวบ้านรวมกลุ่มกันต่อสู้ในนามของสมัชชาคนจน จากการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐบาลด้วยวิธีการชุมนุม มาสู่เรื่องของการสร้างความรู้ และข้อเท็จจริง ผ่านวาทกรรมว่าด้วยเรื่องของเขื่อนปากมูล  วิจัยไทบ้าน ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง จากตัวของชาวบ้าน ซึ่งเป็นผู้เผชิญกับปัญหา และเป็นผู้ศึกษา และบอกเล่าองค์ความรู้ของตัวเอง ทั้งวิถีชีวิตประมง พันธุ์พืช พันธุ์ปลา ว่าเพิ่มมากขึ้น หรือลดลงหลังจากการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นว่า การปิดประตูเขื่อน ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากลำน้ำมูลในการหาปลาเปลี่ยนไป รวมทั้งจำนวนพันธุ์ปลาที่ลดลงด้วย เนื่องจากการระเบิดแก่ง ซึ่งทำให้ปลาไม่มีพื้นที่เพาะพันธุ์หรือวางไข่

ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางสังคมของสมัชชาคนจน ที่มีบทบาทเคลื่อนไหวเป็นเครือข่ายทางด้านปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง  ซึ่งเริ่มจากการเคลื่อนไหวของชาวนาในภาคอีสาน ที่เรียกว่า สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ.) ในปีพ.ศ.2535  บทบาทเคลื่อนไหวสำคัญเช่นเรื่องของโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (คจก.) ต่อมาก็ได้จัดตั้งสมัชชาชาวนาชาวไร่ภาคอีสานขึ้น เพื่อรับรองสิทธิที่ดินทำกิน และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ  โดยมีการจัดการชุมนุมใหญ่ ภายใต้ชื่อยุทธการลำตะคอง เมื่อปีพ.ศ.2536 โดยมีเกษตรกรอีสานจำนวนกว่า 7,000 คน เข้าร่วมชุมนุม และมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารและเลขาธิการ ซึ่งได้นายบำรุง คะโยธา เป็นเลขาธิการคนแรก

นอกจากนี้ก็มีเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ เช่น ปี 2538 มีการชุมนุมกันที่ริมสันเขื่อนปากมูล อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี  ภายใต้ชื่อการประชุมว่า สมัชชาคนจน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 500 คน จาก 7 ประเทศ  ปัญหาที่ถูกนำเสนอในที่ประชุมคือ ปัญหาการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ของรัฐ ปัญหาที่ดินทำกินของคนในชนบท ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนในเมือง ปัญหากรรมสิทธิ์ชุมชน และปัญหาต่างๆอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาของรัฐ  การประชุมในครั้งนี้ได้นำมาสู่การก่อตั้งสมัชชาคนจนในปัจจุบัน

 

จากกรณีการเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวบ้าน อาจสรุปพัฒนาการ การต่อสู้ของชาวไร่ชาวนาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันได้ว่า

รูปแบบการต่อต้านอำนาจรัฐของชาวนาชาวไร่ไทยในอดีตถึงปัจจุบัน มี 2 รูปแบบหลักๆ

1.การต่อต้านของชาวนาโดยวิธีส่วนตัว  ในอดีตที่ยังไม่เกิดกบฏชาวนาขึ้นเศรษฐกิจของชาวนาสัมพันธ์กับระบบศักดินา ชาวนาในฐานะของไพร่ที่ได้รับการบีบคั้นจากพวกเจ้าขุนมูลนาย ก็มักจะตอบโต้การถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยการหาความเพลิดเพลินอื่นๆในชีวิตมาทดแทน เช่น การกิน การเที่ยวเล่น กินนอน เล่นการพนัน หรือการฝากความหวังไว้กับชาติหน้า และอื่นๆ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการต่อต้านในรูปแบบที่สงบ หรือเป็นการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน (Turton 1986,Scott 1986} Tanabe 1984 และกาญจนา แก้วเทพ 2529) การฝากความหวังไว้กับชาติหน้า เป็นสิ่งที่มีพื้นฐานมาจากคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ที่สอนเรื่องบุญกรรม บาป-บุญ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่กำหนดวิถีชีวิตของคน และในทางตรงกันข้ามก็เป็นสิ่งที่เจ้าขุนมูลนาย ใช้ในการอ้างความชอบธรรมในการอธิบายว่าทำไมพวกเขาจึงอยู่เหนือกว่าไพร่และใช้งานไพร่ซึ่งอยู่ต่ำกว่าได้ ก็เพราะการสะสมบุญญาบารมี มาตั้งแต่อดีต หรือการสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า หรือพระพุทธเจ้า เช่นคำเรียก พ่อขุนศรีอินทราทิตย์   พ่อขุนราม  สมเด็จพระหน่อพุทธางกูร เป็นต้น

นอกจากนี้การหาทางออกด้วยวิธีการเฉพาะบุคคล มีสามวิธีคือ 1) การหนีเข้าป่า 2) การหนีไปเป็นทาส และ3) การบวชเป็นพระ  ซึ่ง Anne Koch ให้ความเห็นว่า แม้ว่าวิธีการเหล่านี้จะเหมือนกับการหนีออกจากปัญหา ไม่ใช่การต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อทำลายระบบก็ตาม แต่รูปแบบการแสดงออกเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นความต้องการต่อต้าน โดยที่การหนีงานของไพร่และทาส ย่อมกระทบถึงกระบวนการผลิตของเจ้าขุนมูลนาย ที่ต้องใช้แรงงานจากไพร่และทาสในกระบวนการผลิตซ้ำ การขาดแรงงานของไพร่จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและการเมืองของเจ้าของทาสและไพร่

2. การต่อต้านด้วยวิธีการรวมหมู่ หรือกบฏชาวนา

ปรากฏการณ์ที่เรียกว่ากบฏชาวนาเกิดขึ้นทั้งที่ภาคเหนือ ภาคใต้และภาคอีสาน โดยเฉพาะกบฏพระยาพาบและกบฏผีบุญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลุกขึ้นมาต่อสู้ของชาวนาชาวไร่ ที่ถูกส่วนกลางบีบบังคับทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง การเคลื่อนไหวอาศัยแนวความคิดเรื่องผู้มีบุญ  ที่มีฐานมาจากความเชื่อในเรื่องของพระพุทธศาสนา พระศรีอาริย์ การอยากเห็นสังคมที่เท่าเทียม ปราศจากชนชั้น ผู้คนทุกคนมีความสุข  ในประวัติศาสตร์ไทยบันทึกว่ามีถึง 13 ครั้ง 

ตัวอย่างสำคัญเช่น บ้านสะพือเป็นที่รู้จักกันในนามของบ้านผู้กำเนิดกบฎผู้มีบุญ ในสมัย ร.5 ปีชวด รศ.119 เกิดข่าวสืบปรากฏเป็นลายแทง ว่ากลางเดือน 6 ปีฉลู รศ.120 จะเกิดเภทภัยใหญ่หลวง หินแฮ่ (ลูกรัง) จะกลายเป็นเงินเป็นทอง ฟักเขียงฟักทองจะกลายเป็นช้างม้า ควายทุยเผือก หมู จะกลายเป็นยักษ์กินคน ท้าวธรรมิกราช (ผู้มีบุญ) จะมาเป็นใหญ่ในโลกนี้ ต่อมาถึงปลายปี รศ.119 นายมั่นหรือองค์มั่น เป็นคนมีภูมิลำเนาอยู่ฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งตนเป็นเจ้าปราสาททองหรือพญาธรรมมิกราช องค์บุญผู้เป็นใหญ่ ว่าจุติจากสวรรค์ ลงมาโปรดมวลมนุษย์ มาจากเมืองสุวรรณเขตฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาคบคิดกับองค์ฟ้าเลื่อม เมืองตระการพืชผล ส้องสุมกล่อมผู้คนอยู่บ้านนาโพธิ์ ตำบล หนามแท่ง อำเภอบ้านด่าน ได้ผู้คนเป็นพรรคพวกและวางแผนจะไปตีเมืองอุบลฯ โดยตั้งมั่นอยู่ที่บ้านสะพือใหญ่ ถือเป็นกลุ่มผู้มีบุญที่ใหญ่ที่สุด

หลังปราบกบฎผู้มีบุญ กรมหลวงสรรสิทธิประสงค์มีตราประกาศห้ามมิให้ ราษฎรนับถือผีสางใดๆ ทั้งสิ้น เช่นการเข้าทรงลงเจ้า สูนผีผีไท ผีฝ้า ผีมเหสักข์หลักเมือง ผีปอบ ฯลฯ ผู้ใดฝ่าฝืนให้จับกุมปรับเป็นเงิน 12 บาท หรือจำคุก 1 เดือน ผลจากกบฎผีบุญราษฎรมีความหวาดกลัวและเข็ดขยาดเป็นอย่างยิ่ง

สอดคล้องกับความเห็นของยอร์จ รูเด้ ที่ทำการศึกษาการต่อต้านของประชาชนในอดีต ได้แบ่งอุดมการณ์ออกเป็น 2 ชนิด

1.อุดมการณ์ภายใน (Inherent ideology) ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่เกิดขึ้นเองจากประสบการณ์การเรียนรู้ของประชาชน อุดมการณ์ประเภทนี้มักจะบอกเล่าสืบต่อกันมา เป็นเรื่องเล่า (Oral Tradition) เรื่องเล่าพื้นบ้าน ความทรงจำพื้นเมือง (Folk Memmory) อุดมการณ์นี้ไม่ได้เกิดจากการอ่านหนังสือหรือการฟังสวด

2.ความคิดความเชื่อที่ประชาชนได้มาจากการหยิบยืมภายนอก (Derived ideology) มักจะเป็นสิ่งที่อยู่ในรูปแบบที่ค่อนข้างเป็นระบบระเบียบมากกว่า เช่น ความคิดทางการเมือง ทางศาสนาเป็นต้น

บทบาทการเคลื่อนไหวของชาวนาที่แพร่หลายและทรงพลังที่สุด เกิดขึ้นในช่วงยุคประชาธิปไตยที่เบิกบาน ที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มปัญญาชน องค์กรทางสังคมต่างๆ ร่วมกับชาวนา ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2510 ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา การเคลื่อนไหวของนักศึกษาและปัญญาชนที่ลงไปในหมู่บ้าน ทั้งในภาคเมือง เช่นสลัม ชุมชนแออัด และในภาพชนบท ซึ่งทำให้พวกเขาได้ทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ใช้แรงงงาน กรรมกร และชาวนาได้พบเห็นสภาพปัญหาของชาวไร่ชาวนา ทั้งหนี้สิน ที่ดินราคาพืชผล  ปัญญาชนเหล่านี้จึงเป็นผู้นำเอาปัญหาต่างๆเหล่านี้มานำเสนอในส่วนกลาง ที่ใกล้กับสถาบันทางอำนาจของรัฐ

ปรากฏการณ์เกี่ยวกับชาวนาสมัยใหม่ในจีน เข่น เรื่องการใช้น้ำในการเกษตรในช่วงการจัดกีฬาโอลิมปิก ที่ห้ามไม่ให้เกษตรกรชาวไร่ชาวนาใช้น้ำจำนวนมากในการทำการเกษตร เพราะจะส่งผลกระทบต่อการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬา ที่ต้องต้อนรับแขกจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นการให้ความสำคัญกับรายได้อื่นนอกภาคเกษตรกรรม ภายหลังการเปิดประเทศ เข้าสู่ตลาดการค้าเสรีเต็มรูปแบบ  ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจการบริการ เป็นภาคที่มีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน  หรือกรรีของญี่ปุ่น ที่มีการก้าวกระโดดทางด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอย่างก้าวหน้า เกษตรกรชาวไร่ชาวนาในญี่ปุ่น ไม่ได้ผลิตข้าวเพื่อการพาณิชย์แต่ผลิตข้าวเพื่อการบริโภคในครัวเรือนรวมถึงการนำวิถีชีวิตเหล่านี้มาสร้างรายได้โดยผ่านเรื่องของการท่องเที่ยวซึ่งเป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตบางอย่างไว้เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติ

 

หนังสืออ้างอิง

 

สุริยา สมุทคุปติ์ ภูมิปัญญาไม้ไผ่ในวัฒนธรรมของคนชายขอบและรหัดวิดน้ำ ห้องไทยศึกษานิทัศน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

 



[1] บริษัทเอเชียแปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด, การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่โปแตช, (กรุงเทพฯ: ทีมคอนซัลติ้งเอนจิเนียร์,2542), น. 2-3.

[2] สุชาติ สุขสะอาด แนวทางจัดการอุตสาหกรรมเกลือสินเธาว์แบบยั่งยืน: กรณีศึกษา อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี. (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชานโยบายและการจัดการทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกริก,2544), น. 22.

[3] สัมภาษณ์นางใจ ระเบียบโพธิ์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2545

[4] สัมภาษณ์นางสา ดวงปาโคตร ชาวบ้านโนนสมบูรณ์  วันที่ 15 เมษายน 2546

[5] สัมภาษณ์นายสุวรรณ ระเบียบโพธิ์ ชาวบ้านอุ่มจาน วันที่ 10 พฤษภาคม 2545

[6] สัมภาษณ์นางกองมา ซูบุญมี ชาวบ้านขางัว  วันที่ 3 กรกฎาคม 2548

[7] ฮ้าน แปลว่า สิ่งก่อสร้างทำจากไม้ หรือเหล็ก ยกพื้น เช่น เวที เช่น หมอลำขึ้นฮ้านหรือ เล้าไว้ใส่ข้าวหรือฟางเลี้ยงวัว ควาย เช่น เอาข้าวขึ้นเล้า เอาฟางขึ้นฮ้าน

[8] สัมภาษณ์แม่ทองสี ยอดวัน วันที่ 7 กรกฎาคม 2548

[9] ดังที่แม่บุญมา กองบุญชู เล่า เกี่ยวกับประวัติแม่นางเพียว่า   แม่นางเพียแก้ว รักษาอยู่บ่อเกลือ ไม่ได้ผัวจักเถื่อ(สักที) เฮ็ดทำบักไม้เป็นหัวควย ( อวัยวะเพศชาย ) ดอกบัวท่านชอบ เราทำดอกใหญ่ ดอกบัวใหญ่ๆ ถูกใจเพิ่น เพิ่นกะเสกให้เกลือหลายๆ ดอกบัวก็คือปลัดขิก  ท่านไม่มีผัวสักที เป็นสาวแก่ มีตำนานว่าไว้ ถ้าผู้ใดไม่ทำตามก็จะตาย  เกลือล้มกลิ้งลงตาย  หมอดูก็ว่า แม่นางเพียเอาไปแล้ว เอาไปเป็นคนใช้ท่าน เขาว่าทำไม่ถูก ไม่ได้เอาไม้นั้นให้ ตำนานมันมีกำเนิดมาเลยแต่พ่อแต่แม่ ไปขุดเอาขี้บ่อ ไปไหว้แม่นางเพียแก้ว แม่กวาดขี้บ่อเคยได้เงินหัวช้าง ฝังดินแต่ดึกดำบรรพ์

[10] สิ่งที่เรียกว่าวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับเครือญาติหรือสายเลือด ดังที่พ่อสุวรรณ ระเบียบโพธิ์ เล่าว่าแม่แกตายอยู่ที่นี่ ตู้เพียเป็นย่าแก เพราะตู้เพียเอาแม่แกไปอยู่ด้วย แกบอกว่าแม่แกสิ้นใจตายที่บ่อเกลือตอนแดดร้อนๆ

[11] สัมภาษณ์นางมณี บุญรอด วันที่ 28 เมษายน 2549.

[12] ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ 6 .. 2522, ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่96 ตอนที่21 ฉบับพิเศษ (19 กุมภาพันธ์), น. 12.

[13] บริษัทเอเชียแปซิฟิก โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด,การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่โปแตช,(กรุงเทพฯ: ทีมคอนซัลติ้งเอนจิเนียร์), น. 2-3.

[14]เอเชียแปซิฟิกโปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด, คู่มือเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชอุดรธานี (กรุงเทพฯ : เอเชียแปซิฟิก ,2548), น.2. ที่พูดถึง ประกาศของอุตสาหกรรมเลขที่ อก.0304/08930 เชื้อเชิญให้บุคคลอื่นยื่นคำขอสิทธิ์สำรวจและผลิตแร่โพแทชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

[15] คำแถลงของ Donald Hauge  วิศวกรเอพีพีซี: ปีพ.ศ.2544

[16]  สัมภาษณ์นายสำราญ วงษ์ใสสา วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546

[17] สัมภาษณ์นางสา ดวงปาโคตร วันที่27 กรกฎาคม 2549

[18]  สัมภาษณ์นายสำราญ วงษ์ใสสา วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546

[19] บันทึกการประชุมให้ข้อมูลชาวบ้านโครงการเหมืองแร่โพแทช อุดรธานี วันที่28 ตุลาคม2545 ณ ศาลาวัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ (ตรงกับวันออกพรรษา)

 

[20] สัมภาษณ์ นางทองสี ยอดวัน อายุ 72 ปี วันที่ 3 กรกฎาคม 2548

[21] สัมภาษณ์ นางใจ ระเบียบโพธิ์ อายุ 55 ปี วันที่ 22 พฤษภาคม 2545

[22] สัมภาษณ์นางบุญซ่อน พรมศรีจันทร์  วันที่ 30 มิถุนายน 2549

 

[23] อ.ศุภชาติ รุ่งโรจน์ นักวิชาการจากลำปาง ที่เข้ามาอบรมเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูป ของ คสร. ในเรื่องของสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในการต่อสู้เคลื่อนไหว โดยอาจารย์มักจะยกตัวอย่างกรณีของเหมืองแม่เมาะลำปาง ในประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้าน

[24]สัมภาษณ์นางสา ดวงปาโคตร  วันที่ 16 มกราคม 2546

[25] สัมภาษณ์นางมณี บุญรอด  วันที่ 28 เมษายน 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...