วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ยุคของแสงสว่างทางปัญญา โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

ารล่มสลายของอิทธิพลและอำนาจทางความเชื่อทางศาสนาของคริสเตียนในยุโรป ที่แผ่ขยายลัทธิความเชื่อมาตั้งแต่ช่วงยุคกลาง ( Dark Age ) จนกระทั่งถึงยุคของแสงสว่างทางปัญญา หรือยุคของการแสวงหาความรู้ ที่พ้นไปจากตัวพระเจ้า แต่เข้ามาสู่ตัวมนุษย์มากขึ้น (Enlightenment) ในความหมายของเอมมานูเอล ค้านท์ ( Emmanuel Kant ) ที่ปรากฏในบทความ What Is Enlightenment? ของ มิเชล ฟูโก (Michel Foucault) ที่ตอบคำถามของวารสารเยอรมนีฉบับหนึ่งในปี ค.ศ. 1784 ว่า “Enlightenment” หมายถึงทางออก หรือ สภาวะที่มนุษย์จะปลดปล่อยตัวเองจากความเยาว์วัย (Immaturity) ที่ถูกบงการ ครอบงำ หรือชี้นำทางอำนาจ ของผู้ที่อ้างเหตุผล ดังนั้นมนุษย์จึงต้องรับผิดชอบต่อสถานะเยาว์วัยของตัวเอง ด้วยการทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากสถานะดังกล่าวด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ด้วยการใช้เหตุผลของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองปราศจากการถูกครอบงำโดยอำนาจอื่นๆ ผ่านกระบวนการวิพากษ์วิจารณ์ (Critique) ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า Enlightenment ในความหมายของ ค้านท์ ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ต่อช่วงเวลาปัจจุบัน หรือความเป็นจริงร่วมสมัย ของมนุษย์ที่อ่อนเยาว์ ไร้เดียงสา ยอมรับในอำนาจของผู้อื่น มากกว่าการใช้เหตุผลของตนเองอย่างอิสระ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ช่วงเวลาปัจจุบันของมนุษย์ จะทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาเหตุผลของตนเอง และสามารถปลดปล่อยตัวเอง และทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถค้นหาทางออกจากช่วงเวลาปัจจุบันได้

ระบบเหตุผลที่เป็นหนึ่งเดียว (โดยเฉพาะเหตุผลแบบตะวันตกและวิทยาศาสตร์) ได้นำไปสู่การทำลายและการสลายความคิดและจินตนาการ อันแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ โดยเฉพาะจินตนาการ ความคิด ที่อยู่ตรงกันข้ามกับเหตุผลกระแสหลัก อยู่นอกกรอบ เช่น ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ภูตผีปิศาจ รวมถึงงานทางศิลปะ และดนตรีที่อยู่คนละด้าน กับแนวทางของสถาบันทางศิลปะชั้นสูง ในทางตรงกันข้ามปรากฏการณ์ดังกล่าว ได้กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายและปะทะกับแนวความคิดของพวกคนชั้นกลาง ( Bourgeois ) และการสั่นสะเทือนความคิดเรื่องเหตุผล โดย ธีโอดอร์ อาโดโน (Theodor Adorno) เรียกช่วงเวลาแตกสลายของระบบเหตุผลว่าเป็นช่วงเวลาของความมืดมน (Era of Darkness)
การสร้างงานศิลปะแบบนอกขนบแบบแผนทางสังคมหรือศิลปะขบถได้ส่งผลกระทบต่อระบบ การครอบงำทางวัฒนธรรม (Cultural Hegemony) ซึ่งชนชั้นนำทางสังคมเป็นผู้กำหนดและควบคุม ที่แยกแยะ ให้ความเห็นว่า ศิลปะแบบใดดีหรือเลว สถาบันดังกล่าวได้สร้างมาตรฐานที่เป็นหนึ่งเดียวและความเชื่อหนึ่งเดียวในการเสพงานศิลปะ ซึ่งพวกมาร์กซิสต์ มองว่าเป็นกระบวนการผลิตซ้ำของชนชั้นปกครอง (Ruling Class) ภายใต้ระบบทุนนิยม และความเชื่อที่ว่าวัฒนธรรมจากชนชั้นผู้นำเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่ทว่า ความคิดดังกล่าวก็ถูกสั่นคลอนด้วยศิลปะแบบ avant-garde ที่ท้าทายและเปิดพรมแดนทางความรู้ของมนุษย์ พร้อมไปกับการบั่นทอน กัดเซาะความศรัทธาอย่างเหนียวแน่นในงานศิลปะของชนชั้นปกครอง ซึ่งความคิดเรื่องสุนทรียภาพในการชื่นชมงานศิลปะได้หันกลับเข้ามาสู่จิตใจของมนุษย์มากขึ้น ในฐานะผู้ตีความ ผู้สร้างความหมาย ศิลปะไม่ได้มีคุณค่าในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น แต่ได้กลายมาเป็นเรื่องของจิตใจ และศิลปะได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรสนิยมของชนชั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...