วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

แนวคิดทฤษฎีมานุษยวิทยาการแพทย์เชิงวิพากษ์ (Critical Medical Anthropology Approach) โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 แนวคิดทฤษฎีมานุษยวิทยาการแพทย์เชิงวิพากษ์ (Critical Medical Anthropology Approach)

พัฒนามาจากการวิพากษ์จุดอ่อนของมานุษยวิทยาการตีความ ซึ่งเน้นอยู่ที่การมองระบบวัฒนธรรมสุขภาพในลักษณะดุลยภาพภายใต้องค์ประกอบที่ก่อร่างเป็นระบบวัฒนธรรมสุขภาพ โดยละเลยความสัมพันธ์ในเชิงของอำนาจที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความจริงทางการแพทย์ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมา รวมทั้งขาดการพิจารณาการดำรงอยู่ของการครอบงำอุดมการณ์ทางการแพทย์ในสังคม เพราะอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบบวัฒนธรรมสัมพันธ์กับโครงสร้างที่กำหนดให้กลุ่มหรือสถาบันในสังคมมีอำนาจแตกต่างกัน (โกมาตร,2549:27) ดังเช่นที่ Bear (1997) ยืนยันถึงการขาดความใส่ใจในการพิจารณาโครงสร้างเชิงสังคมของประสบการณ์และการตีความหมายที่เป็นปัญหาในการอธิบายของ Byran Good การมองที่ยึดมั่นความเป็นองค์ประธานของความรู้ (Subject of Knowledge) มากกว่าที่จะมองว่าความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างให้มีสถานะเป็นวัตถุแห่งความรู้ (Object of Knowledge)และขุมขังเอาไว้ในประสบการณ์ของมนุษย์ ที่ทำให้การตีความการเจ็บป่วยมีลักษณะของประสบการณ์การตีความภายในตัวขององค์ประธานหรือตัวผู้ป่วยเอง(Inter-Subjectivity Interpreted Experience) ดังนั้นมุมมองเชิงวิพากษ์จึงมีความน่าสนใจในการเชื่อมโยงจุดบกพร่องของการศึกษาแนวการตีความและเน้นถึงบทบาทหรือพลังอำนาจทางสังคม และความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจ การเมืองที่กำหนดความเป็นไปได้ต่างๆที่สร้างความหมาย และกำหนดเงื่อนไขให้กับประสบการณ์ร่วมของสมาชิกในสังคมในเรื่องสุขภาพ อนามัยและความเจ็บป่วย (พิมพวัลย์,2555:17)
วิธีการแบบวิพากษ์ ในมานุษยวิทยาการแพทย์ถูกแนะนำโดย Sohier Morsyในบทความของเขาเรื่อง “The Missing link in medical anthropology:the political Economy and health”ในช่วงปี 1979 ที่เป็นความพยายามเริ่มแรกในการนำการวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองของสุขภาพไปยังมิติทางมานุษยวิทยา มานุษยวิทยาการแพทย์แนววิพากษ์ เน้นย้ำเกี่ยวกับการเชื่อมโยงประเด็นทางด้านสุขภาพที่สัมพันธ์กับกฏเกณฑ์ทางเศรษฐกิจและอิทธิพลทางสังคม(The economic Order and Social Force) รวมทั้งการเน้นย้ำอยู่บนปัจเจกบุคคล ที่เชื่อมโยงการกระทำของปัจเจกบุคคล (Individual Action) กับสังคมหรือโครงสร้าง (Social /Structural) เสมือนการถูกกำหนดทางวัฒนธรรมในปฎิสัมพันธ์ระหว่าง ผู้กระทำทางสังคม (Social Actor)และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมือง (Morsy,1979:22) ดังนั้น วัฒนธรรมหรือค่านิยมที่สังคมสร้างขึ้นมีลักษณะในเชิงของอำนาจที่ซ่อนตัวอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนโดยมองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยไม่ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกับสุขภาพและความเจ็บป่วยที่ถูกทำให้เป็นปัญหาทางการแพทย์ (Medicalization) มากกว่าจะทำความเข้าใจเรื่องความไม่เป็นธรรม การกดขี่หรือความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ การเมือง (โกมาตร,2545:30) มุมมองในเชิงวิพากษ์จึงเป็นมุมมองที่ต้องตั้งคำถามและสงสัยในอำนาจเหล่านี้ เพื่อให้เห็นประเด็นทางวัฒนธรรม การควบคุมเรื่องอำนาจ การต่อต้านขัดขืน และท้าทายประเด็นทางสุขภาพ ความเจ็บป่วยและการรักษาในชีวิตประจำวันของมนุษย์ (Morsy ,1979:23)
Merrill Singer และ Hans Baer ได้ให้แนวคิดสำคัญเบื้องต้นในการนำมิติทางทฤษฎีมานุษยวิทยากรแพทย์เชิงวิพากษ์ไปใช้ ตรวจสอบความหมายดั้งเดิมในสังคมเกี่ยวกับโรคและความเจ็บป่วยทางสุขภาพ การวิเคราะห์โนโยบายด้านสุขภาพ การจัดสรรทรัพยากรทางสุขภาพ และบทบาทของรัฐในเรื่องสุขภาพและการดูแลรักษาสุขภาพ รวมทั้งสำรวจความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างปฎิสัมพันธ์ของรูปแบบการแพทย์ในระดับชาติและระดับนานาชาติ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของระบบการแพทย์กับบริบททางเศรษฐกิจและการเมือง การค้นหาประสบการณ์ของผู้ทุกข์ทรมานภายในกรอบความคิดเกี่ยวกับการครอบงำและการต่อต้านขัดขืน (Singer and Baer,1995:61) โดยเขาเสนอการวิเคราะห์ในแบบมานุษยวิทยาการแพทย์เชิงวิพากษ์ ที่เกี่ยวข้องกับระดับที่แตกต่างที่เริ่มจากระดับความสำนึกรู้ของคนไข้ (Consciousness of the patient) ระดับการจัดการของชุมชน (Community organization) ระดับขอบเขตภูมิภาคทางเศรษฐกิจและการเมือง (regional political and economy) ระดับการรวมตัวและความร่วมมือของอำนาจในระดับสากล (International coporate power) ที่ขยายความได้ว่าเขาเสนอให้พิจารณาผลกระทบของความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่อบริการสุขภาพนั้นๆ ที่ดำรงอยู่ในระดับที่ต่างกันในสังคมทุนนิยมทั้งประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศสังคมนิยมก็ตาม ซึ่งแต่ละระดับมีความแตกต่างกันตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล (Individual Level) เป็นเรื่องของผู้ป่วยและประสบการณ์ของผู้ป่วย ระดับจุลภาค (Micro-social level) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ระดับกลาง (Intermidiate-Social Level) คือบริบทของโรงพยาบาลและสถาบันทางการศึกษา และระดับมหภาค (Macro-Social Level) เป็นเรื่องของชนชั้น ระบบจักรวรรดินิยมและทุนนิยมโลก โดยที่ระดับต่างๆไม่ได้แยกขาดออกจากกันเด็ดขาดแต่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในลักษณะของความสัมพันธ์ทางอำนาจ ทั้งตัวของระบบทุนนิยมโลก โรงพยาบาล แพทย์และผู้ป่วยต่างสะท้อนให้เห็นการครอบงำของอำนาจและการต่อต้านขัดขืนต่อรองจากอำนาจที่บดหลั่นกันลงมาในระดับต่างๆดังกล่าวข้างต้น
นอกจากนี้แนวคิดมานุษยวิทยาการแพทย์เชิงวิพากษ์ยังได้นำเอาแนวความคิดของ Michel Foucault มาใช้วิเคราะห์เกี่ยวกับอำนาจและการต่อต้านอำนาจ เพราะอำนาจผลิตความรู้ ความจริง ดังนั้นหน้าที่ของเราคือการค้นหา และรื้อสร้าง ความไม่เท่าเทียม รวมถึงอำนาจหรือบรรทัดฐานบางอย่างที่มีเพียงมิติเดียวเพื่อให้เห็นความแตกต่างหลากหลายและความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ โดยเฉพาะความหลากหลายของวัฒนธรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่มี การปะทะ ประสาน การต่อรอง และประนีประนอมระหว่างกันของระบบการแพทย์แบบต่างๆในสังคมสมัยใหม่ รวมถึงการต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์ การให้ความหมาย อารมณ์ความรู้สึกภายใต้ร่างกายที่เต็มไปด้วยความรู้สึก (mindful body ) ที่เป็นประเด็นที่ถูกนำมาซึ่งการศึกษาความซับซ้อนของร่างกาย ทั้งระดับปัจเจก สังคมและการเมืองของร่างกายโดยมีอารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวเชื่อมโยง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...