วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สุขคือแฟนแขกคือเงิน”: อารมณ์ ความผูกพันและอำนาจในธุรกิจขายบริการทางเพศ โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 “สุขคือแฟนแขกคือเงิน”: อารมณ์ ความผูกพันและอำนาจในธุรกิจขายบริการทางเพศ

อาชีพการขายบริการทางเพศมีลักษณะเหมือนกับงานบริการประเภทอื่นๆที่ต้องใช้อารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเพื่อให้บริการกับลูกค้า โดยพนักงานบริการต้องทําให้ตัวเองรักในงาน (love the job) การเป็นส่วนหนึ่งของงาน (part of job) และความพยายามที่จะรักในงานนั้นอย่างแท้จริง (trying to love it) พร้อมไปกับการพยายามมีความสุขไปพร้อมกับลูกค้า(to enjoy the customer) (Hochschild,1983:7) ภายใต้กฏเกณฑ์ของความรู้สึก(Feeling Rules) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนคู่มือและเครื่องชี้นำของอารมณ์ในการทำงาน ในสิ่งที่ต้องรู้สึก ความพยายามที่จะรู้สึกหรือนึกถึงสิ่งที่ควรจะต้องรู้สึกต่องานที่ตัวเองทำ เช่นการนึกถึงบทบาทของการเป็นลูกสาวในครอบครัว การต้อนรับแขกที่มาบ้าน ความรู้สึกของความเป็นภรรยาที่ต้องดูแลสามี (Hoshchild,1979:569,1983:47) ผู้ให้บริการได้ถูกทำให้กลายเป็นแรงงานทางด้านอารมณ์(Emotional Labor) ที่เน้นการแสดงออกและการขายปฏิสัมพันธ์ของตัวเองในฐานะที่เป็นสินค้า(Hoshchild,1983:1-340) งานของ Hochschild เน้นไปที่เรื่องของความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างผู้ให้บริการกับแขก ทำให้ละเลยที่จะมองเชื่อมโยงประเด็นของความผูกพันทางเพศซึ่งใช้ร่างกายเป็นเป้าหมายหลักของการให้บริการทางเพศ ภายใต้ความปรารถนาและความพึงพอใจของลูกค้าพร้อมไปกับการสร้างความผูกพันทางอารมณ์ร่วมด้วย
ในแง่ความสัมพันธ์ของการขายบริการทางเพศในปรากฏการณ์ข้ามพรมแดน เมื่อพิจาณาในแง่พื้นที่ ภายใต้ความคิดของ Arjun Appadurai(1996) ที่ได้ใช้มโนทัศน์ว่าด้วยภูมิทัศน์ (Landscapes) เป็นเสมือนพื้นที่เกี่ยวกับจินตนาการของโลก ที่ถูกประกอบสร้างผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี ความคิด จินตนาการเกี่ยวกับผู้คนที่แพร่กระจายไปทั่วโลก อัปปาดูไรใช้คำตามหลังมิติพื้นฐาน 5 อย่างว่า Scapes เพื่อชี้ให้เห็นความลื่นไหล ลักษณะที่พิเศษของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น financialscpes , ethnoscapes, ideologyscapes, mediascapes, technologyscapes เพื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของ 5 มิติดังกล่าวกับวัฒนธรรมของโลกที่มีการไหลเวียน รวมถึงเรื่องเซ็กส์ของผู้คนก็มีความลื่นไหลเช่นเดียวกัน เมื่อเซ็กส์เพื่อการขายคือมิติสำคัญของการไหลเวียนข้ามกันไปมาในโลกทุนนิยม เช่นเดียวกับพื้นที่ชายแดนก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงจากกระแสอำนาจของเศรษฐกิจโลกภายใต้สิ่งที่เรียกว่าโลกแห่งเพศเชิงพาณิชย์(Global Commercial sex) การเกิดขึ้นของพื้นที่ที่เรียกว่าภูมิทัศน์แห่งเซ็กส์ (Sexscapes) จึงเชื่อมโยงให้เห็นปฏิบัติการของผู้หญิงขายบริการทางเพศที่สัมพันธ์กับพลังอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะสังคมแบบทุนนิยมเสรีใหม่ (R.Jankowick, 2008) การเดินทางข้ามกันไปมาของสองพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันและไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา ประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศที่ยากจน ภายใต้การซื้อขายและการบริโภคเกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์ของผู้คนทั้งสองดินแดน ความสัมพันธ์ของผู้ซื้อผู้ขายที่เกี่ยวโยงกับเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศสภาพ และชนชั้น ที่เชื่อมโยงให้เห็นการเมืองของเรื่องกามรมณ์ (Erotic) ความสัมพันธ์บนความไม่เท่าเทียมกัน ที่เชื่อมโยงการทำให้เป็นสินค้าของความแปลกตา(Exotic)เพื่อนำไปสู่พื้นที่ของกามรมณ์(Erotic)ในธุรกิจเพศเชิงพาณิชย์ ในขณะเดียวกันผู้ขายบริการทางเพศก็เป็นองค์ประธานที่ใช้ทางเลือกทางเศรษฐกิจ (Commercial Choice) และการเคลื่อนย้ายทางสังคม (Social Mobility) ที่สะท้อนให้เห็นการเป็นผู้กระทำการในบริบทข้ามพรมแดน (Kapur,2001:880, Doezema and Kempadoo ,1998)
Iwa Ong (1999) ได้โต้แย้งกระบวนการของโลกาภิวิวัตน์(Globalization)และความทันสมัย(modernities) ว่า แม้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ผู้คนเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนทางกายภาพได้อย่างเสรีภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ในขณะเดียวกันโอกาสของการอพยพเคลื่อนย้ายเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นการกีดกันและความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้นภายใต้อำนาจของรัฐชาติที่ว่าด้วยสิทธิความเป็นพลเมืองด้วย(Ong,1999) โดยภาวะของการอพยพเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนที่ต้องมีการควบคุมและจัดการของรัฐชาติให้สอดคล้องกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ ในการควบคุมและการวางกฏเกณฑ์ทางสังคม ภายใต้แนวคิดพลเมืองที่ดี (good citizen ) ซึ่งยึดโยงอยู่บนโครงสร้างของการเมือง กฎหมายและระบบศีลธรรม เช่นงานที่ถูกต้องตามกฏหมาย อาชีพที่สังคมยอมรับ การปฏิบัติในเรื่องเพศที่สอดคล้องกับมาตรฐานทางศีลธรรมที่ดีงามของสังคม แนวคิดดังกล่าวได้กีดกันผู้คนชายขอบและผู้คนข้ามพรมแดนเหล่านี้ออกจากความเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์
Ken Pulmmer (2003) ได้นำเสนอว่า อารมณ์กับเพศวิถีสัมพันธ์กันภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “ความผูกพันใกล้ชิด” (Intimacy) สะท้อนให้เห็นความปรารถนาและความต้องการความใกล้ชิดผูกพันในเชิงอารมณ์ซึ่งเชื่อมโยงกับการแสดงออกผ่านทางร่างกายหรือภาษา โดยการเมืองแบบใหม่ (new politics) ที่มีศูนย์กลางหลักในเรื่องของเพศสภาพ เซ็กส์และการเมืองเรื่องกามรมณ์ (erotic politics) ที่พึ่งพาอยู่บนความผูกพันใกล้ชิดของผู้คนในสังคม การมีอิสระในการเลือกหรือกระทำเกี่ยวกับร่างกายและอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง การแสดงอัตลักษณ์และตัวตนที่ซับซ้อนลื่นไหลระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะ (ken plummer,1995 :7) ปัจเจกบุคคลจึงมีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างลื่นไหลและมีการแสดงออกของความผูกพันใกล้ชิดรวมถึงความพึงพอใจในเพศวิถีในแบบของตัวเอง (Gidden1992:13,Plummer,2001)
ความสามารถต่อรองกับรัฐชาติได้สร้างให้เกิดพื้นที่ของการสร้างความผูกพันที่เรียกว่า การเมืองของความผูกพัน (politics of intimate citizenship) ที่พวกเธอใช้ต่อรองและสร้างความผูกพันเหล่านี้กับแขกและคู่ความสัมพันธ์ของพวกเธอในการใช้ชีวิตและการทำงานข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการสร้างความผูกพันทางเพศและความผูกพันทางอารมณ์ในการให้บริการทางเพศ (Sexual service) ซึ่งในสังคมตะวันตกแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของพลเมืองของความผูกพัน (intimate citizenship)เน้นย้ำอยู่บนเรื่องของสิทธิในการเลือก(The right to choose) เช่น การเลือกคู่ของความสัมพันธ์ การเลือกกิจกรรมทางเพศของตัวเอง หรือการจัดการกับร่างกายตัวเอง โดยมีการใช้คำว่าพลเมืองแห่งเพศ (Sexual citizenship)(Week,1997, Richardson,1998) รวมทั้งสิทธิทางเพศ (Sexual Right) (Petchesky,2000) หรือสิทธิของความผูกพัน (intimate right)ในความหมายเดียวกันด้วย (Plummer,2003)
Anthony Gidden (1990) ชี้ให้เห็นว่าความผูกพันใกล้ชิด (intimacy )และความเป็นพลเมือง (citizenship) ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกสร้างของผู้คนชายขอบ อย่างเช่น ผู้ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศที่สังคมไม่ยอมรับ แรงงานอพยพข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจและการควบคุมของรัฐชาติในประเทศปลายทาง การขาดความสามารถในด้านสิทธิของพลเมืองทำให้พวกเขาต้องสร้างพื้นที่ของความผูกพันใกล้ชิด (the intimate sphere) ของพวกเขาเองเพื่อสร้างอำนาจและตัวตนสำหรับต่อรองกับความเป็นพลเมืองในรัฐชาติ (Anthony Giddens ,1990) ดังนั้นแรงงานทางอารมณ์ในการให้บริการทางเพศของผู้หญิงในประเทศหรือข้ามประเทศ รวมถึงเพศอื่นๆที่ขายบริการทางเพศ จึงเป็นแรงงานของความผูกพันใกล้ชิด(intimate labour) ที่ใช้การแสดงออกของร่างกายและอารมณ์ในการการดูแล การให้ความรักและความผูกพันใกล้ชิดกับลูกค้าในการให้บริการ (Boris and Parreñas ,2010 ) และการใช้พื้นที่ของความผูกพันนั้นเพื่อสร้างการต่อรองในเชิงอัตวิสัยของตัวเองไปพร้อมกันด้วย(Pardis Mahdavi ,2017) ดังนั้นการเมืองแบบใหม่จึงไม่ใช่แค่การเมืองแบบที่ถูกทำให้เลือกภายใต้ข้อบังคับหรือข้อจำกัดบางอย่างแต่เป็นการเมืองที่ให้พื้นที่ของทางเลือกในการจัดการเนื้อตัวร่างกายตัวเองของผู้คนที่ถูกยอมรับและให้สิทธิในทางการเมืองและทางกฏหมายอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช่การสร้างกฏเกณฑ์ การควบคุมเพื่อผลประโยชน์เฉพาะคนบางกลุ่มบางคนเท่านั้น
Reference
Appadurai, A.
1990. Disjuncture and difference in the global cultural economy. Public Culture 2, no. 2: 1 24.
1996. Modernity at large: Cultural dimensions of globalization. Minneapolis: University of Minnesota Press.
Jankowiak R. William. (2008). Intimacies : Love + Sex Across Culture. USA : Columbia University Press.
Plummer,Ken.
1995 Telling Sexual Storries, Power,Change and Social Worlds.London : Routedge.
2003 Intimate Citizenship.University of Washington Press.
Giddens, Anthony
1990 The consequences of modernity. Stanford: Stanford University Press.
1992 The transformation of intimacy: Sexuality, love and eroticism in modern societies. Stanford Stanford University Press.
Hochschild, A. R.
1983 The managed heart: commercialization of human feeling (2nd ed.). Berkeley, Calif.: University of California Press.
1979 Emotion Work, Feeling Rules, and Social Structure.American Journal of Sociology 85, 3, 551–575.
Kapur,R. (2001)” Post-colonial Economies of Desire : Legal Representation of The Sexual Subaltern” Denver University Law Review 78 (4):855-85.
Kempadoo, K. and Doezema, J. (1999) Global Sex Workers. London: Routledge.
Mahdavi, P. (2017). “seduction and the self: movements through precarity, race and sexuality in Japanese host clubs.” Culture, Health & Sexuality, DOI: 10.1080/13691058.2017.1319499
Ong, Aihwa.(1999). Flexible citizenship : the cultural logics of transnationality Durham & London, Duke university press,pp. 241-242

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...