วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ทบทวนมโนทัศน์ว่าด้วยทรัพยากร อำนาจและสิทธิ ความเชื่อพิธีกรรมทางศาสนา และการจัดการทรัพยากร โดยนัฐวุฒิ สิงห์กุล

 

ทบทวนมโนทัศน์ว่าด้วยทรัพยากร อำนาจและสิทธิ ความเชื่อพิธีกรรมทางศาสนา และการจัดการทรัพยากร

1.ทรัพยากร (Resources) คืออะไร

โดยทั่วไปเรามักจะกล่าวโดยรวมว่า  ทรัพยากร คือ แร่ธาตุประเภทต่างๆ อาทิเช่น พลังงานแสงแดด น้ำฝน น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล หรือมหาสมุทร ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่ดินสาธารณะ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และอื่นๆอีกมากมายที่อยู่รอบตัวเรา ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ  ซึ่งเราจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยมัน เพื่อจะทำให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้  ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิต สร้างสรรค์ และสืบทอดเผ่าพันธุ์และสังคมของมนุษย์เอง

มนุษย์ จึงเป็นผู้สร้างและกำหนดความหมายของ ทรัพยากร  หรือ ทรัพยากรธรรมชาติ ขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมที่พึ่งพาและมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด

นักมานุษยวิทยา จำนวนมากเชื่อว่า การสร้างความหมายหรือการจำแนกทรัพยากรออกมาจากสภาพแวดล้อม ธรรมชาติของมนุษย์ในสังคมต่างๆทั่วโลก เป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมวัฒนธรรม เป็นพื้นฐานสำคัญในการกำหนด หรือจำแนกว่า สภาพแวดล้อมธรรมชาติทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีอยู่มีในแต่ละพื้นที่ (ท้องถิ่น) ส่วนใดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้  เพราะว่า ทรัพยากร มีความหมายลึกซึ้งต่อการอยู่รอดของมนุษย์มากกว่า สภาพแวดล้อม  ตามความคิดของ Rambo Terry A (1991: 3-4) บอกว่า

คำว่า ทรัพยากร มีความหมายแคบกว่า สภาพแวดล้อม เป็นอย่างมาก เพราะในทางนิเวศวิทยานั้น สภาพแวดล้อมของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดย่อมประกอบด้วยทุกมิติ หรือทุกปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงชีวิตจองสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นภูมิอากาศ แหล่งอาหาร ศัตรูหรือสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน  ในขณะเดียวกัน ทรัพยากร มีความหมายเฉพาะเจาะจงถึงบางส่วนของสภาพแวดล้อม ที่สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นใช้ประโยชน์เพื่อให้มีชีวิตรอดเท่านั้น ดังนั้น ทรัพยากรชนิดหนึ่งๆจึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ (Natural Phenomenon) แต่เป็นโครงสร้างความคิดทางวัฒนธรรม  ของมนุษย์ (Human Cultural Construct)

เช่นเดียวกับที่นักภูมิศาสตร์อย่าง C.Zimmerman  ได้ให้ความหมายไว้ว่า  ทรัพยากรคือส่วนหนึ่งหรือองค์ประกอบหนึ่งของสภาพแวดล้อม ที่ถูกมนุษย์นำมาใช้ ทรัพยากรจึงไม่ใช่บางสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ  ทรัพยากรเกิดขึ้นมาภายหลังที่มนุษย์ได้กำหนดคุณค่าให้กับทรัพยากรชนิดนั้นแล้ว

ถ้าพูดในมุมมองของนักมานุษยวิทยาเชิงสัญญะวิทยา ก็อาจจะบอกได้ว่า ทันทีที่ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นสัญญะ สถาบันทางสังคมก็เข้าไปกำหนด จัดวาง บทบาทหน้าที่ให้กับมัน เช่นเดียวกับทุกๆสิ่งในโลกที่กลายเป็นสัญญะ ในการสื่อความหมายหรือให้ความหมาย ภายใต้อิทธิพลของสิ่งที่เราเรียกว่า ภาษา (Language) หรือปฏิบัติการทางภาษา ที่เราเรียกว่า วาทกรรม (Discourse) เพียงแต่ว่าในมุมมองของการวิเคราะห์ของนักสัญวิทยา ก็วิเคราะห์ถึงโครงสร้างทางภาษา ตามแนวทางการศึกษาภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง แต่ก็ยังคงวิเคราะห์ภายใต้แนวคิดเรื่องโครงสร้าง

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า  มนุษย์ในแต่ละสังคม ใช้ โครงสร้างความคิดทางวัฒนธรรม เป็นพื้นฐานสำคัญในการกำหนดทรัพยากรหรือ สร้างความหมาย ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ให้กับสิ่งแวดล้อมหรือสภาพแวดล้อมธรรมชาติ แล้วใช้ประโยชน์สภาพแวดล้อมเหล่านั้น ในฐานะที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิต และสืบทอดสังคม วัฒนธรรมของมนุษย์ เช่นเดียวกับที่ Gibbs and Bromley (1989:23) มองว่า  องค์ประกอบต่างๆของธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ผ่าหรือสัตว์ป่า  จะได้รับการพิจารณาว่าเป็น ทรัพยากร ก็ต่อเมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายมาเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์

สิ่งที่มีความน่าสนใจและเป็นประเด็นสำคัญดังกล่าวข้างต้นก็คือ นิยามของทรัพยากร ที่เน้นความหกมายของทรัพยากร ซึ่งถูกกำหนดโดย โครงสร้างความคิดทางวัฒนธรรม ของมนุษย์เป็นสำคัญ ดังนั้น  การศึกษาหรือการวิเคราะห์เกี่ยวกับทรัพยากร  จึงไม่ใช่ เรื่องของต้นไม้ ที่ดิน หรือทุ่งหญ้า เลี้ยงสัตว์เท่านั้น  แต่เป็นการทำความเข้าใจระบบ หรือโครงสร้างความคิดทางวัฒนธรรมของมนุษย์ ที่มีต่อสภาพแวดล้อม และทรัพยากรชนิดนั้นๆ และ โครงสร้างความคิดทางวัฒนธรรม ของมนุษย์ในแต่ละสังคม เป็นรากฐานสำคัญและเป็นที่มาของระบบการจัดการทรัพยากร การใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรของแต่ละสังคม

ในอดีตความหมายของทรัพยากร มีความสัมพันธ์และมีความหมายนางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พบว่า ทรัพยากร มาจากคำว่า ทรัพย์ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

ยศ สันตสมบัติ (2536) ได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า โลกทัศน์ของคนไทยบางกลุ่ม ที่มีต่อธรรมชาติหรือสภาพแวดล้อม มักจะเป็นลักษณะของสิ่งของ หรือสินค้าและบริการ ที่จะต้องนำมาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเสมอไป  เช่น ใช้คำว่า สิ่งแวดล้อม แทนคำว่า สภาพแวดล้อม ดังนั้นปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่นการปลูกไม้โตเร็วเพื่อหวังผลทางการค้าหรือการลักลอบทำไม้ จึงเป็นเรื่องปกติ เพราะทัศนะคติของคนที่มีต่อป่าไม้ ในเชิงการค้า ซึ่งไม่ได้พิจารณาถึงความหลากหลายทางชีวภาพ หรือระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวข้อง  และมีความสัมพันธ์อย่างซับซ้อน ทั้งชุมชนมนุษย์ และชุมชนสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในบริเวณนั้น  ป่าไม้ในความเป็นจริง จึงแตกต่างจากท่อนซุง เนื้อไม้ยูคาลิปตัส ของกลุ่มคนที่หวังผลกำไรทางการค้ามากกว่าระบบนิเวศน์

1.1ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติ

 ในการศึกษาทางภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์  นิเวศวิทยา   มักมีการกล่าวถึงและแบ่งทรัพยากรธรรมชาติ ออกเป็น 2 ประเภทกว้างๆคือ

1.ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (Stock Resources) คือ ทรัพยากรประเภทสิ้นเปลือง หรือใช้แล้วหมดไป เนื่องจากมีจำนวนที่จำกัด หากใช้ในปัจจุบัน อาจจะไม่สามารถหาได้อีกในอนาคต  ตัวอย่างทรัพยากรประเภทนี้เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ  ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุชนิดอื่นๆ

2.ทรัพยากรที่ใช้แล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Flow Resources)  คือทรัพยากรประเภทหมุนเวียน  ปันทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงสามารถจัดการเพื่อให้ผลผลิตและบริการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้อีกด้วย ตัวอย่างทรัพยากรประเภทนี้ก็ได้แก่ แสงแดด ป่าไม้ ทุ่งหญ้า น้ำและอื่นๆ ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้มีความสลับซับซ้อน เพราะสามารถนำมาแปรสภาพเป็นพลังงาน เช่น ลม น้ำ ซึ่งไม่ว่าจะนำมาใช้ประโยชน์มากหรือน้อยเพียงใด ก็ไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้คนอี่นๆ ในอนาคต เพราะเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดในธรรมชาติ ในขณะเดียวกันถ้าไม้นำมาใช้อย่างระมัดระวัง ก็อาจส่งผลกระทบถึง ตัวมนุษย์และระบบนิเวศน์อันเปราะบางด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งทรัพยากรโดยใช้หลักเกณฑ์อื่นๆ นอกเหนือจากการใช้ประโยชน์ เช่น สุริยา สมุทคุปติ์ พัฒนากิตติอาษา และคณะ ได้ใช้เกณฑ์เรื่องของกรรมสิทธิ์ และการถือครอง  การจัดการและการใช้ประโยชน์ ที่มีพื้นฐานสำคัญมาจากเรื่องของสิทธิและอำนาจ (Power and Authority) และการจัดองค์กรทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic organization)ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางความคิดทางวัฒนธรรมของมนุษย์ในสังคม อันเป็นกรอบที่ควบคุมวิถีคิด และแบบแผนพฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมที่เกิดและเติบโตในวัฒนธรรมนั้น เขาได้แบ่งทรัพยากรออกเป็น  4 ประเภทคือ

1 ทรัพยากรที่เป็นสมบัติของเอกชน (Private Property Resources) หมายถึงทรัพยากรที่ครอบครองโดยปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มของปัจเจกบุคคล ในฐานะที่เป็นบริษัทหรือบรรษัท เจ้าของทรัพยากรมีสิทธิที่จะห้ามไม่ให้คนอื่นเข้ามาใช้ประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติของตน เช่น อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ต่างๆ

2.ทรัพยากรที่เป็นสมบัติของสาธารณะหรือชุมชน (Common or Communal property resources)  คือ ทรัพยากรที่เป็นเจ้าของโดยกลุ่มบุคคล ในฐานะที่เป็น สมาชิกของชุมชนแห่งหนึ่ง และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกัน การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประเภทนี้ใช้ได้หลายรูปแบบ ซึ่งมีการอนุญาตให้ใช้ระโยชน์ได้เฉพาะกลุ่มและบางเวลาเท่านั้น เช่น แหล่งประมง ทุ่งเลี้ยงสัตว์ แหล่งผลิตเกลือ ฯลฯ เป็นเจ้าของร่วมกันโดยชุมชนหรือส่วนรวม โดยที่ทรัพยากรเหล่านี้มีปริมาณจำกัดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

3.ทรัพยากรที่เป็นสมบัติของรัฐ (State property resources) หมายถึงทรัพยากรที่ตกอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์  และการถือครองของรัฐบาล เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยาน ป่าอนุรักษ์ เขตราชการต่างๆ  ในประเทศไทยาจะสังเกตได้ในคำที่ว่า สถานที่ราชการ ทรัพย์สมบัติของทางราชการ ของหลวง เป็นต้น ทรัพยากรประเภทนี้ ในทางกฎหมายแล้วจะถูกนำมาใข้เพื่อผลประโยชน์และการพำเนินกิจกรรมต่างๆของรัฐหรือของส่วนรวม ในส่วนที่รัฐบาลรับผิดชอบเท่านั้น

4. ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดและไม่มีเจ้าของ (Open –Access resources)  หมายถึทรัพยากรธรรมชาติโดยทั่วๆไป ซึ่งมีอยู่ในปริมาณมาก และมนุษย์สามารถนำมาดัดแปลงและใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่จำกัด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆในสังคม ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในการถือครองจึงไม่ตกอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ตัวอย่างทรัพยากรประเภทนี้ เช่น คลื่นลมในทะเล แสงแดด อากาศ เป็นต้น  ดังนั้นทรัพยากรประเภทนี้ จึงไม่ใช่ทรัพย์ของใครคนใดคนหนึ่ง  เพราะเป็นทรัพยากรที่มีปราณมาก ไม่จำกัดและไม่มีเจ้าของ

ดังนั้นทรัพยากรประเภทที่ 2 และประเภทที่3  เป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในแง่ที่เป็นของชุมชนและเป็นของรัฐ โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดกรรมสิทธิ์การถือครอง  และการจัดการ รวมทั้งวิถีคิดและแบบแผนการปฏิบัติ ที่กำหนดโดยรัฐบาล และชุมชนพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น ทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่หมุนเวียน และทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป โดยที่รัฐบาลอาศัยอำนาจและสิทธิอำนาจ (Power and Authority) ที่มีพื้นฐานมาจกกฎหมายและกลไกลของระบบราชการ เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการทรัพยากรหมุนเวียนของตนเอง ในขณะที่ ทรัพยากรที่เป็นของชุมชน ชุมชนพื้นบ้านก็ใช้ความคิดทางวัฒนธรรมของชุมชนเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ ต่อรอง เพื่อจัดการทรัพยากรดังกล่าว แนวความคิดที่แตกต่างกันนี้ ได้นำไปสู่ความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำของความสัมพันธ์ของการจัดการการใช้ทรัพยากร ในเรื่องของระบบอำนาจและสิทธิอำนาจที่แตกต่างกัน ระหว่างรัฐกับชาวนา

สรุปได้ว่า ทรัพยากรที่เน้นในเอกสารชิ้นนี้ ไม่ได้เป็นนิยามที่มีฐานคิดมาจากมิติทางเศรษฐศาสตร์  แต่เป็นความหมายของทรัพยากร ที่มีพื้นฐานมาจากโครงสร้างทางความคิดทางวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน  และความสัมพันธ์ของทรัพยากรในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ  ระบบนิเวศน์ ซึ่งทรัพยากรแต่ละชนิดก็มีความหมายและความสำคัญที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม  การพัฒนาทางเทคโนโลยี สภาพทางภูมิศาสตร์ และกาลเวลา  ดังที่ Zimmerman (อ้างในสุริยา สมุทคุปติ์ 2536: 21 และคณะ Grima and Berkes 1989:34) นำเสนอไว้ว่า

  ทรัพยากร ไม่ได้เป็นทรัพยากร โดยตัวของมันเอง แต่ทรัพยากรถูกกำหนดความหมายโดยวัฒนธรรม  สำหรับชาวอินเดียนแดง พื้นเมืองทวีปอเมริกาเหนือในช่วงคริสต์ศตวรรษที่1800 น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติไม่ใช่ทรัพยากรสำหรับพวกเขา แต่สำหรับผู้คนในทวีปอเมริกาเหนือทุกวันนี้ ทั้งสองอย่างคือทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาล...

 

2.แนวคิดเรื่องอำนาจและสิทธิอำนาจ

เมื่อพูดถึงเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ ในฐานพะที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตและปริมณฑลทางสังคมของมนุษย์ สิ่งที่เราจะละเลยไม่ได้ก็คือ ความคิดเกี่ยวกับเรื่องของอำนาจและสิทธิอำนาจ

ในทางสังคมวิทยา พลังอำนาจหมายถึง ความเป็นไปได้ที่บุคคลหนึ่งสามารถกำหนดให้บุคคลหนึ่งกระทำตามความต้องการของตนโดยไม่คำนึงว่าอีกฝ่ายหนึ่งต้องการกระทำหรือไม่  เช่น ความสัมพันธ์ขอแงพ่อแม่กับลูก ลูกหนี้กับเจ้าหนี้  ผู้บริโภคกับผู้ขายสินค้า  ผู้ขายมีอำนาจในการกำหนดราคา รวมไปถึงรัฐและกลไกลตลาดที่อยู่ข้างบนที่กำหนดผู้ขายอีกทีหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ซื้อแม้ไม่เต็มใจซื้อ เพราะราคาแพง แต่ก็ต้องซื้อเป็นต้น

ผู้มีอำนาจก็มีวิธีการบังคับให้ฝ่ายหนึ่งกระทำตาม ความต้องการของตน เช่น การขู่ตัดความสัมพันธ์ ฟ้องร้องบังคับคดีทางกฎหมาย หรือบังคับโดยตรง  ดังนั้นในเรื่องของพลังอำนาจ (Power) เป็นการกระทำที่หวังให้ผลเกิดขึ้นอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้ถูกใช้อำนาจบังคับจะรู้สึกอย่างไร  ต่างกับการใช้สิทธิอำนาจ  (Authority) ที่ผู้ใช้สิทธิอำนาจจะได้รับการยอมรับนับถือจากผู้ถูกใช้สิทธิอำนาจ ด้วยเหตุนี้ คำสั่งจึงได้รับการปฏิบัติตามโดยไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับ

อำนาจมีมีการแบ่งออกเป็นหลายประเภท หลายลักษณะ ในการวิเคราะห์ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา  ตัวอย่างเช่น ยศ สันตสมบัติ  (2533:211-212) และ Adam อ้างใน Seymour –Smith (1986 :230) มองอำนาจออกเป็น 2 อย่าง คือ

1.อำนาจอิสระหรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ (Independent Power) หมายถึงความสามารถในการกระทำบางอย่างซึ่งมีอยู่ในเทพศักดิ์สิทธิ์ และปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม อำนาจเป็นสิ่งที่เราเขชื่อว่ามีอยู่ในจินตภาพไร้ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นพระผู้สร้าง พรหม กฎแห่งกรรม เทพเจ้าหรือวิญญาณบรรพบุรุษ  อำนาจอาจเป็นคุณภาพที่แฝงอยู่ในมนุษย์บางคน เช่น วีรบุรุษในนิทานปรัมปรา นักรบผู้เก่งกล้าสามารถ ภิกษุสงฆ์ผู้เปี่ยมไปด้วยญาณบารมี  เทวราชา องค์สมมติเทพ  อำนาจเชื่อว่ามีอยู่ในธรรมชาติ ดิน น้ำ ลมไฟ แม่น้ำ ภูเขาไฟ ต้นไม้  หรืออำนาจอาจมีแอยู่ในวัตถุสสาร ที่มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวเอง เช่น ราชบัลลังก์ ดาบอาญาสิทธิ์ พระพุทธรูป  และเครื่องรางของขลังต่างๆ หรือกระบวนการ ทางสังคมและพิธีกรรมอื่นๆ  ที่สร้างพลังอำนาจ เช่น การ่ายคาถาอาคม เพลงปลุกใจ สุนทรพจน์ต่างๆเป็นต้น ดังนั้นอำนาจเหล่านี้จึงมีพลัง คุณสมบัติ และความสามารถ ที่เป็นอิสระด้วยตนเอง ทั้งในรูปของปัจเจกบุคคล วัตถุสสาร สิ่งที่เหนือธรรมชาติ  ในอำนาจที่เปี่ยมไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ และมีคามสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเชื่อทางศาสนา

2.อำนาจพึ่งพาหรืออำนาจสังคมการเมือง  (Dependent Power)  คือ อำนาจทางสังคมการเมือง ที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการค้นหา มาตรการในการควบคุมบังคับผู้อื่น หรือ อำนาจ ที่เป็นมาตรการในการควบคุมบังคับ อำนาจไม่ใช่สิ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิสระในตนเอง  แต่เป็นเรื่องของการควบคุม บงการ และมีอิทธิพลเหนือทรัพยากรใดๆ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เงิน ที่ดิน เครื่องมือการผลิต และอื่นๆ อำนาจยังหมายถึงความสามารถในการบังคับผู้อื่นในยามจำเป็น เช่น การควบคุมพฤติกรรมของคน โดยการข่มขู่บังคับ หรือ การลงโทษ โดยเฉพาะสังคมที่มีความสลับซับซ้อนก็ย่อมพึ่งพากลไกลอำนาจและการควบคุม ในรูปแบบของอำนาจพึ่งพา หรืออำนาจทางสังคมการ เมืองมากขึ้น  ในฐานะเครื่องมือในการจัดระเบียบสังคม เป็นอำนาจที่สังคมยอมรับ เพื่อใช้ในการจัดระเบียบและควบคุมบังคับพฤติกรรมของสมาชิก   อำนาจในลักษณะนี้มาพร้อมกับตำแหน่ง  และหน้าที่ ไม่ใช่ตัวบุคคล โดยมีสถาบันทางการเมืองมารองรับ  เพื่อการจัดตั้งลำดับการใช้อำนาจบังคับบัญชา การสนร้างความชอบธรรม ละอุดมการณ์ เพ่อส่งเสริมผลิตซ้ำความชอบธรรม แห่งอำนาจให้คงอยู่ตลอดไป

อำนาจทั้งสองชนิดไม่ได้แบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจน แต่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด  รวมทั้งอำนาจเป็นนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้ มองเห็นหรือทำความเข้าใจได้โดยง่าย  หากอำนาจนั้นไม่แสดงออกมามาหรือสื่อถึง หรือส่งผ่านบุคคล วัตถุ หรือในกระบวนการทางสังคมรูปแบบต่างๆ พิธีกรรมทางศาสนา ฯลฯ อำนาจจึงสามารถมองเห็นและรับรู้  สัมผัสได้โดยผ่านตัวกลางเสมอ

มโนทัศน์เรื่องสิทธิอำนาจ (Authority)ของ Max Weber  นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ในความคิดของท่านถือว่าสิทธิอำนาจ เป็นพื้นฐานสำคัญ ในการตรวจสอบและทำความเข้าใจเรื่องอำนาจรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมือง   ทางศาสนา รวมทั้งเป็นแนวคิดที่สำคัญในการพิจารณาความชอบธรรมในการใช้อำนาจของผู้ถืออำนาจ ความชอบธรรมของผู้ถืออำนาจในการออกคำสั่ง มักอยู่บนพื้นฐานของระเบียบข้อบังคับ ที่กำหนดอย่างเป็นเหตุผล  ด้วยการบังคับ ตกลงหรือสั่งการ คำสั่งรูปแบบต่างๆ เหล่านี้จะอยู่ในรูปแบบของบรรทัดฐานมากกว่าจะเป็นสิทธิอำนาจส่วนบุคคล ดังเช่น ที่ แม็กซ์ เว็บเบอร์ (1982 :120-121) บอกว่า ผู้ที่มีอำนาจแต่ละคนไม่เคยใช้อำนาจ ในนามของปัจเจกบุคคล แต่จะใช้อำนาจหรือออกคำสั่งในนามกลุ่มหรือสถาบัน

 

 

สิทธิอำนาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1.สิทธิอำนาจบุญบารมี (Charismatic authority) บุญบารมี (Charisma) ในที่นี้หมายถึงคุณสมบัติพิเศษของบุคคลคนหนึ่ง  โดยไม่คำนึงถึงว่า คุณสมบัติพิเศษ ดังกล่าวมีอยู่จริง หรือการได้รับการกล่าวขวัญถึง หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่ามีอยู่จริง  ดังนั้นสิทธิและอำนาจที่เกิดจากบุญบารมี จึงหมายถึง กฎระเบียบที่ควบคุมกลุ่มคนจำนวนหนึ่งซึ่งมีความเชื่อในคุณสมบัติพิเศษ ของบุคคลเฉพาะ... พ่อมด หมอผี ศาสดาพยากรณ์ ผู้นำในการล่าสัตว์ หัวหน้าเผ่า  นักรบและอื่นๆ ต่างก็เป็นผู้นำที่มีพื้นฐานมาจากอำนาจบารมี ความชอบธรรมทางอำนาจในการปกครองขึ้นอยู่กับความเชื่อถืออุทิศตนต่อคุณสมบัติพิเศษ  ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่เหนือความสามารถของมนุษย์ธรรมดา และเชื่อว่าสิ่งที่เหนือธรรมชาติ (Supernatural) เช่น อำนาจเวทมนต์ อำนาจไสยศาสตร์ เวทมนต์คาถา  หรือการสวดบูชาบรรพบุรุษ พื้นฐานที่มาของความเชื่อก็มาจากมหัศจรรย์ ชัยชนระเหนือศัตรูในการทำสงคราม ความสำเร็จในการจัดสวัสดิการให้กับผู้อยู่ใต้ปกครอง

2.สิทธิอำนาจตามประเพณี (Traditional Authority) ประเพณีนิยม (Traditionalism) ในที่นี้หมายถึงชุดทัศนคติ พฤติกรรมและความเชื่อ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากบรรทัดฐานและวิถีชีวิตประจำวัน สิทธิอำนาจของเพศชาย (Patriarchalism) นับว่าเป็นตัวอย่างที่สำคัญของสิทธิอำนาจที่มีพื้นฐานมาจากประเพณี สิทธิอำนาจของเพศชาย เช่น ในฐานะของพ่อ สามี ผู้อาวุโสของครอบครัว ลูกชายคนโต  เจ้านาย เจ้าที่เดิน หรือแม้กระทั่งเจ้าชาย ถือได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของความชอบธรรมในการใช้อำนาจที่มีพื้นฐานมาจากประเพณีที่สืบทอดกันมาจนกลายเป็นความคุ้นเคยในสังคม กฎพื้นฐานของสิทธิอำนาจตามประเพณี คือ ความศักดิ์สิทธิ์ของระบบ กฎเกณฑ์และข้อห้ามต่างๆ  การแตกแยกหรือไม่เห็นด้วยกับสิทธิอำนาจเหล่านี้ ผลที่ได้รับคือ การถูกพิพากษาว่าเป็นแม่มด หรือภูตผีปิศาจ เนื่องจากกระทำผิดอย่างร้ายแรงต่อประเพณี และพระผู้เป็นเจ้า

3.สิทธิอำนาจตามกฏหมาย (Legal authority) หมายถึงสิทธิอำนาจที่มีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์ของบุคคลกับองค์กรสมัยใหม่ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นหน้าที่ที่มีต่อหน่วยงานหรือองค์กร ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวก็คล้ายกับว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมในการใช้อำนาจ ภายใต้กรอบหรือข้อกำหนดของกฎหมาย รวมถึง กฎ ระเบียบข้อบังคับต่างๆ

สรุปว่า ในแนวความคิดของเว็บเบอร์ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิอำนาจในรูปแบบต่างๆ  มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพัฒนาการทางสังคม เช่นเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง   สิทธิอำนาจ บุญบารมี และสิทธิอำนาจตามประเพณีอาจพบได้ทั่วไปในสังคมแบบดั้งเดิม  แต่บทบาทจะมีน้อยลงในสังคมสมัยใหม่ ในขณะที่สิทธิอำนาจตามกฎหมาย เป็นระบบความชอบธรรมของการใช้อำนาจที่มีบทบาทสำคัญในสังคมสมัยใหม่ที่มีการจัดระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซับซ้อน อาศัยหลักเหตุผลและระบบระเบียบเป็นสำคัญ เช่น รัฐ ระบบราชการ  บริษัทหรือห้างร้านเป็นต้น

อำนาจและสิทธิอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ กับชาวนาชาวไร่ (Power and Authority in state-peasantry relationship)

          ความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ  อำนาจและสิทธิจึงเป็นมโนทัศน์ที่สำคัญที่อย่าเบื้องหลังความสัมพันธ์ของมนุษย์ ดังเช่น ที่ Groege Simmel (อ้างจาก Coser and Rosenberg  1982: 116) กล่าวว่า  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่ากับผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่า มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในชีวิตทางสังคมของมนุษย์ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและชาวนาก็เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจรูปแบบหนึ่ง  เป็นหนึ่งในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ทีสืบเนื่องมาอย่างยาวนานและยั่งยืนในหน้าประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ และเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ชี้นำความเป็นความตายของชาวนา (อ้างจากสุริยา สมุทคุปติ์และคณะ 2536 : 31)

ในทางมานุษยวิทยาการศึกษา เรื่องรัฐ และชาวนา และความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับชาวนาเป็นประเด็นการศึกษาที่สำคัญยิ่ง ในการทำความเข้าใจมิติต่างๆ ของอำนาจและสิทธิอำนาจในบริบททาสังคมวัฒนธรรมของสังคมมนุษย์ทั่วโลก

ความน่าสนใจของประเด็นเกี่ยวกับรัฐและชาวนา อยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาวนาโดยทั่วไป ลักษณะประการสำคัญของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่รัฐมีต่อสังคมชาวนา มีดังนี้คือ

1.การควบคุมทางการเมือง ในสังคมชาวนาทุกแห่งในโลกไม่มีอำนาจอิสระในทางการเมือง เพราะสังคมชาวนาต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลส่วนกลาง  (Centralized State) แห่งหนึ่งเสมอ รัฐทำหน้าที่กำหนดและผลิตซ้ำ อุดมการณ์ทางการเมือ นโยบาย การตัดสินใจ และการควบคุมทางการเมืองการปกครองทุกอย่าง โดยผ่านกลไกลและเครือข่ายอันซับซ้อนของระบบราชการ (Wolf 1966 ,Potter et al. 1967)

2.การควบคุมทางเศรษฐกิจ รัฐในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  เอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้กับพ่อค้านายทุนมากกว่าชาวนา โดยผ่านการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ กลไกลราคาในระบบตลาด แม้ว่าชาวนานระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ จะมีบทบาทสำคัญในการกระจายผลผลิตและการบริโภค  แต่ชาวนาก็ไม่เคยมีอำนาจในทางเศรษฐกิจแม้แต่น้อย ชาวนาอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายให้ความช่วยเหลือชาวไร่ชาวนามาโดยตลอด

3.การควบคุมทรัพยากร โดยทั่วไปทรัพยากรในสังคมชาวนา เช่น กำลังคน งบประมาณ และทรัพยากรธรรมชาติ มักตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐเสมอ รัฐมักอ้างความชอบธรรมในการควบคุมทรัพยากรต่างๆในสังคมชาวนา โดยใช้กฎหมายและกลไกลอำนาจของระบบราชการเป็นเครื่องมือสำคัญ ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในการครอบครองและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของชาวนา จึงตกอยู่ภายใต้กรควบคุมของรัฐอย่างใกล้ชิด   แม้ว่าชาวนาจะมีสิทธิในการถือครองและใช้ประโยชน์ทรัพยากรต่างที่มีอยู่ในสังคมของตน แต่ชาวนาก็ต้องเสียภาษีอากรในรูปแบบต่างๆ  ทั้งแรงงาน ผลผลิตให้กับรัฐ ขณะเดียวกันรัฐก็มีอำนาจอย่างสมบูรณ์ในการข้าไปใช้ประโยชน์ ควบคุม จัดการ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในสังคมชาวนาไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน ป่าไม้ น้ำและแร่ธาตุ

4.การควบคุมทางอุดมการณ์และวัฒนธรรม แม้ว่าสังคมชาวนาจะมีระบบอุดมการณ์และพื้นฐานทางวัฒนธรรมของตนเอง แต่เนื่องจากสังคมชาวนาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ  อุดมการณ์และวัฒนธรรมเหล่านั้น จะเป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง ผสมผสานหรือปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้เงื่อนไขที่รัฐมีกระบวนการผลิตซ้ำทางอุดมการณ์  และวัฒนธรรมที่มีประสิทธิภาพ เช่น การศึกษาระบบโรงเรียน ที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางหรือรวมทั้ง โครงการพัฒนาชนบทต่างก็มีวาทกรรม  ที่สะท้อนให้เห็นการีควบคุมของรัฐที่มีต่อชาวนาเช่น ประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม การรวมกลุ่ม การพัฒนาที่ยั่งยืน เกษตรแบบพอเพียง และอื่นๆ

แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจของรัฐเหนือสังคมชาวนาในด้านต่างๆ นั้น เป็นประเด็นที่ชัดเจนผ่านกฎหมายและกลไกลการทำงานของระบบราชการ แต่ในความเป็นจริง การทำงานของอำนาจและสิทธิอำนาจของรัฐในสังคมชาวนานั้น ยังเป็นสิ่งที่น่าสงสัย กรณีของการต่อต้านอำนาจรัฐในรูปแบบต่างๆ เช่น กบฎผีบุญ การประท้วง การเดินขบวน ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองและศาสนาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมชาวนาทั่วโลก ทั่วโลก ได้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐมีอำนาจเหนือสังคมชาวนา แต่ไม่ใช่ทุกกรณี เพราะบางกรณีอำนาจของรัฐก็ปราศจากการชอบธรรม การี่รัฐไม่มีสิทธิอำนาจ เหนือสังคมชาวนาในบางกรณีนั้น ย่อมทำให้กลไกลอำนาจของรัฐได้รับการต่อต้านและขัดขืนในบางสถานการณ์ เป็นต้น

 

แนวคิดและกระแสการพัฒนาที่สัมพันธ์กับสังคมชาวไร่ชาวนา

กระแสโลกาภิวัฒน์ที่เข้ามาสู่ท้องถิ่น ไม่เพียงแต่ทำให้สภาพภูมิศาสตร์ของโลกเชื่อมเข้าหากันจนเสมือนหนึ่งว่า โลกไร้พรมแดน รวมถึงการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ระหว่าง ทุน เครื่องจักร เทคโนโลยี และแรงงาน รวมถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็วแพร่หลาย

          กระแสความคิดตะวันตก หรือกระแสความคิดของโลกสมัยใหม่ ก็ไหลบ่าเข้าสู่ท้องถิ่นอย่างรวดเร็ว ท้องถิ่นจึงอยู่ในฐานะของการตั้งรับและปรับใช้ ภายใต้กระบวนการพัฒนาประเทศ รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันผ่านการสร้างแนวคิดแบบตะวันออก เช่น เรื่องภูมิปัญญา เศรษฐกิจพอเพียง หรือความยั่งยืน นำมาปรับใช้กับการพัฒนาประเทศ  แม้ว่ากระแสแนวความคิดดั่งกล่าวล้วนมีรากเหง้าหรือพื้นฐานมาจากแนวความคิดตะวันตกก็ตาม เช่น  Sustainable Development  ,Sufficiency economy, Local wisdom, Bio-diversity และอื่นๆ

          แนวความคิดดังกล่าวข้างต้นได้ส่งผลกระทบต่อสังคมชาวไร่ชาวนา ในฐานะของวาทกรรมและปฏิบัติการทางวาทกรรม ที่สร้างความรู้ ความจริง ให้กับชาวไร่ชาวนา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และวิถีการผลิต และสร้างอำนาจในการควบคุมและจัดการ พื้นที่  คน  รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าทรัพยากรดังกล่าว มีผลมาจากกระบวนการพัฒนาประเทศ  รวมถึงกระบวนการโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้ประเทศไทย โดยเฉพาะคนในสังคมชาวไร่ชาวนา ต้องได้รับผลกระทบจากเขตการค้าเสรี อนุสัญญา และสนธิสัญญาต่างๆ ที่จำเป็นต้องกระทำ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

1.แนวความคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การสถาปนาตัวตนในเวทีโลก : ของวาทกรรมว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน

หากจะเปรียบเทียบการประชุมของการประชุมขององค์กรสหประชาชาติที่กรุงโจฮันเนสเปิร์ก ประเทศแอฟริกา ในปี2002 ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อความร่วมมือระดับโลก เป็นเสมือนตัวบท(Text)ขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยบทสนทนาและตัวละครอันหลากหลาย กำลังโลดแล่นและแสดงอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การกำกับ ของแนวคิด มโนทัศน์ที่เรียกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นเสมือน กรอบความคิดหรือเป้าหมายร่วมกันที่ทุกคนจะต้องทำให้บรรลุผล

                การพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development) ก็ได้กลายมาเป็นคำศัพท์ยอดนิยมติดตลาดหรือภาษาที่บรรดาผู้นำ นักการเมือง นักสิ่งแวดล้อมนักวิชาการ และนักพัฒนาจากประเทศต่างๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้เป้นยุทธศาสตร์การทำงานและเป็นนโยบายของการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่21  อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืน กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกกล่าวขานกันทั่วโลก ก็เพราะมูลเหตุพื้นฐานร่วมกันในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญและอยู่ในสภาวะวิกฤต ตลอดระยะเวลาของการพัฒนา[1] และทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นจิตสำนึกร่วมของมนุษยชาติบนโลก   ซึ่งทำให้ปัญหาดังกล่าวก้าวข้ามพรมแดนทางภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศ เกิดการเชื่อมโยงร้อยรัดความสัมพันธ์ของปัญหาและการแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาในลักษณะข้ามพื้นที่ ปัญหาของประเทศหนึ่งจึงกลายเป็นปัญหาของคนทั้งโลก  ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงมีฐานะ เป็นภาระกิจหลักร่วมกัน เป็นพันธสัญญาที่ทุกประเทศต้องร่วมกันปฏิบัติให้บังเกิดผล ภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนร่วมกันของโลกใบนี้(Partnership)หรือเป็นพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อมและสันติสุขของโลก รวมทั้งความร่วมมือ ภายใต้ประเด็นของการพัฒนาไปพร้อมกัน ไม่มีใครที่จะปฎิเสธการพัฒนาที่ยั่งยืน การตกลงเจรจาซื้อขายระหว่างประเทศ โดยมีกลุ่มทุนข้ามชาติ องค์กรการค้าโลก และองค์กรโลกบาล เป็นตัวกลาง ความสามารถที่จะเจรจาการค้าได้อย่างราบเรียบและประสบความสำเร็จก็คือกลุ่มทุนข้ามชาติ บริษัทธุรกิจเหล่านั้นจะต้องพูดถึงความรับผิดชอบต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ให้ถูกต่อต้านหรือคัดค้านจากบรรดาประเทศอุตสาหกรรมที่หันมาตระหนักในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม นั่นคือกระบวนการของการพูดภายใต้ตรรกะ กฎเกณฑ์ชุดเดียวกันที่กำกับให้การสื่อสารในบริบทนั้นสามารถดำเนินไปได้

          การให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม  ในประวัติศาสตร์นิเวศวิทยาของโลกนั้น เริ่มต้นจากการที่มนุษย์ได้ตระหนักรู้ ถึงสภาพปัญหาและการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมของโลก ผ่านการถ่ายทอดและเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม(Environmental Stories) อย่างมากมาย เช่นในปี 1962 Rachel Carson ได้เขียนหนังสือเรื่อง  Silent Spring ทำให้มนุษย์ตระหนักถึงเงื่อนไขของโลก การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ  ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เมื่อมนุษย์คนแรกได้เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์(ดูPhil Mcmanus,1996;sach,1994) ที่ทำให้มนุษย์ได้เห็นลักษณะมิติของโลก เงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆที่นำไปสู่การตั้งข้อสมมุติฐาน ในเรื่องของโมเดลของการจำกัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก ในงานของ Meadow เรื่องLimit to Growth ในปี1972 จนได้มีการนำประเด็นในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เวทีการเมืองระดับโลกอย่างแท้จริงครั้งแรก ในการประชุมสหประชาติ ที่กรุงสต็อคโฮม ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในปี1972 ในหัวข้อ the Human environment ที่เป็นการเปิดประเด็นในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและการแสวงหาทางเลือกอื่นๆเพิ่มขึ้นในประเด็นการพัฒนาเชิงนิเวศน์eco-Development(ดูPhil Mcmanus,1996;49) หลังจากนั้นการประชุมในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ถูกอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากเอกสารรายงานการประชุมที่สำคัญมากมายเช่น ในปี1980 มีรายงานBrundtland Report ชื่อ North-South A Program for Survival และในปี1989 รายงานPalm Report Common CrisisและOur Threatend Future ที่พยายามพูดถึงวิกฤตการณ์ร่วมกันและความไม่มั่นคงต่ออนาคต ระหว่างประเทศซีกเหนือ ซีกใต้ที่มีความแตกต่างกันในเรื่องของการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้า ซึ่งในรายงานทั้งสองฉบับนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับประเด็นหลักคือเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ปรากฎเด่นชัดในรายงานของBrundtland Reportที่ชื่อ Our Common Future ถูกเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการประชุมระดับโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา(The World Commission on Environment and  Development) ในปี1983 ณ กรุงริโอเดอเจเนโร ประเทศ บราซิล เราอาจกล่าวได้ว่า บรรดานิยามความหมายอื่นๆเกี่ยวกับวาทกรรมว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายและมีบริบทเฉพาะทางประวัติศาสตร์นั้น ล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในพื้นฐานของรายงาน บรันท์แลนด์หรือBrundtland Report ที่ได้สร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่ถูกคุกคามจากมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ภายใต้กระบวนการของทุนนิยม การทำให้เป็นอุตสาหกรรมและกระบวนการกลายเป็นเมือง รวมถึงช่วงห่างของรายได้ระหว่างประเทศซีกหนือและใต้ การเกิดขึ้นของโลกเสรีนิยมแนวใหม่(Neo Liberalism) ที่นำไปสู่การจัดระเบียบและเรียกร้องสิทธิในสังคมรูปแบบใหม่ๆ รวมทั้งการสร้างเวทีในการต่อรองระดับประเทศ

จนกระทั่งในปี1992 รายงานที่ถูกเสนอโดย Mrs. Gro Holen Brundtland นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของนอร์เวย์จึงได้เข้าสู่เวทีการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาหรือEarth Summit ที่บราซิล โดยตัวแทนจากประเทศต่างๆ176 ประเทศ ที่เขาร่วมประชุมปรึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาสภาวะความยากจน และวิกฤตสิ่งแวดล้อมของโลก และให้ความเห็นชอบกับโครงการการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก(อ้างจากMichale Cahill,2002:19 และGilbert Rist,1978;178-179) ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการจัดทำแผนปฎิบัติการที่เรียกว่าAgenda21 เพื่อให้บรรดาประเทศต่างๆเข้าชื่อร่วมสัตยาบรรณในเรื่องของอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีผลบังคับตามกฎหมายเมื่อได้ให้สัตยาบรรณแล้ว รวมทั้งเรื่องปฎิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา คำแถลงเกี่ยวกับป่าไม้ และAgenda21 ที่ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ซึ่งในรายงานBrundtland Report ชื่อCommon Future ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับกรพัฒนาที่ยั่งยืนคือ การพัฒนาที่สนองตอบความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันโดยปราศจากการกระทบกระเทือนกับความสามารถของคนรุ่นหลังที่จะตอบสนองความต้องการของคนรุ่นตนได้[2] จะเห็นได้ว่าแม้ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลักการจะให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ แต่ก็ยังคงเน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างชาญฉลาดสมดุลย์ระหว่างรุ่น

แม้ว่าการพัฒนาจะเป็นตัวการสำคัญในการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมของโลกมาหลายศตวรรษก็ตาม ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ แม้ว่าแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะปรากฎชัดเจนเบื้องต้นในรายงานของ บรันท์แลนด์ แต่ในช่วงเวลากว่า20 ปีคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน (Substianable Development) ได้ถูกใช้ในประเทศต่างๆทั่วโลก และมีความแตกต่างหลากหลายทางความหมายมากกว่า 70 ความหมาย(อ้างในสุริชัย,2546) นั่นแสดงให้เห็นว่าคำๆนี้ได้ยกระดับคุณค่าและมีพลังอำนาจของตนเองในทางนิเวศวิทยาการเมืองของสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่มนุษยชาติบนโลกให้การยอมรับและเชื่อว่ามันเป็นแนวทางของการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความมั่นคงสมดุลย์และแก้ปัญหาวิกฤตของโลกในอนาคต แต่มันก็ถูกตั้งคำถามอย่างท้าทายว่า แท้จริงแล้วการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้จริงหรือไม่ ในเมื่ออุดมการณ์ เบื้องหลังหรือเป้าหมายที่แท้จริงก็ยังคงเป็นเรื่องของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ดังที่Phil Mcmanus  ได้กล่าวว่า การประชุมของBrundtland Report เป็นการนิยามเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ต้องการจัดการให้เป็นหนึ่งเดียวสำหรับสิ่งที่หลากหลาย ในทิศทางของการสะสมทุนที่เพิ่มขึ้น และสร้างความเป็นไปได้ภายใต้กรอบความคิดสีเขียว(Green Framework) ให้ผู้ที่รวยกว่าในประเทศอุตสาหกรรม สร้างวาทกรรมการพัฒนาให้กับประเทศที่ยากจนกว่า อันนำไปสู่แนวทางร่วมกัน ในผลประโยชน์ทางวัตถุ(Material Benefit)ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของการผลิตและการบริโภคนั่นคือการการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ยังคงมีนิยามความหมายเท่ากับคำว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(Economic Growth) และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายเช่น Sach wolfgang[3]  มองว่า การเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนากับยั่งยืน มันทำให้เกิดความกำกวม และเป็นแนวคิดใหม่ที่เปลี่ยนความยั่งยืนจากธรรมชาติมาสู่การพัฒนาในเมื่อความหมายของคำว่ายั่งยืนเดิมคือ ทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ปัจจุบันกลับหมายถึงการพัฒนา ที่ทำให้มีผู้อ้างถึงความตั้งใจของตนเองในรูปแบบการพัฒนาต่างๆมากมาย รวมทั้งผู้เชื่อมั่นและสนับสนุนลัทธิความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรอย่างทำลายล้างในช่วง2-3 ทศวรรษที่แล้วด้วย อาจกล่าวได้ว่า ความยั่งยืนได้แปรมาเป็นเรื่องของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนา มากกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาสิ่งแวดล้อม  และได้กลายมาเป็นรูปสัญญะแบบหนึ่งไม่แตกต่างจากที่ Andrew Dobson (1996;หน้า402) มองประวัติศาสตร์การศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน(Envirom\nment Sustainabilities)ว่า มีสองวิธีในการศึกษา

วิธีแรกก็คือการมองที่คำจำกัดความว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถอธิบายตัวมันเอง(Self Explanatory) และถูกบรรจุไว้ด้วยความหมาย(Encapsulating meaning) ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนเข้าใจง่ายและนำไปสู่ข้อยุติเรื่องรูปแบบและความหมาย ซึ่งต่างกับวิธีที่2 ที่ดูการต่อสู้แข่งขัน(Contested/Contestable) แย่งชิงความหมายที่อาจจะพบว่ามันมีความแตกต่างหรือคล้ายคลึงกัน ซึ่งจะต้องอาศัยการพิจารณาเกี่ยวกับชุดของคำที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงเช่น Sustainability ,ecodevelopment sustain developmentและคำอื่นๆ ซึ่งวิธีการที่สองไม่แตกต่างจากการพิจารณาเรื่องรูปสัญญะที่ล่องลอย ที่จะดูวิธีการสร้างความหมาย การหาความหมายเข้ามาเกาะเกี่ยวเพื่อสร้างคุณค่าให้กับคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า วาทกรรมที่ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ถูกสถาปนาขึ้นมาในกระแสโลกปัจจุบัน  ที่มีการให้คุณค่าและนิยามที่หลากหลาย  ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ปลอดภัย การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  การจำกัดการบริโภคและปล่อยของเสียสู่ระบบนิเวศน์  จริยธรรมและความเท่าเทียมระหว่างรุ่น  หรือมองแบบนิเวศวิทยาเชิงลึกที่มนุษย์ต้องอยู่อย่างสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจอย่างสัมพันธ์กับข้อจำกัดทางระบบนิเวศน์ หรือการจัดการทรัพยากรและการแบ่งปันอย่างเท่าเทียม เป็นต้น[4] ซึ่งได้ทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นวาทกรรมกระแสหลักในการพัฒนาประเทศต่างๆในปัจจุบัน

การพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของสังคมไทย

                เมื่อประเทศไทย เป็นสนามที่โลดแล่นของวาทกรรมการพัฒนามาตั้งแต่ช่วงเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่1 (..2504-2509) ที่มีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเข้าสู่ระบบทุนนิยมเต็มรูปแบบ มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล ซึ่งทำให้เกิดสภาวะความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมถูกทำลายอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าประเทศไทยก็มิอาจหลีกเลี่ยงจากสภาวะวิกฤตที่ประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของการพัฒนา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นตามมากับปัญหาสิ่งแวดล้อมคือ ปัญหาสังคมและวัฒนธรรมที่ถูกละเลยเนื่องมาจากการเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว จนกระทั่งปี2530 ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์วัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือUNESCO ได้ประกาศให้เป็นทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาทางวัฒนธรรม(ตั้งแต่พ..2531-2540)และในปีเดียวกันนี้ประเทศไทยก็ประกาศเป็นปีแห่งการพัฒนาว่าด้วยวัฒนธรรมของประเทศไทยด้วย จะเห็นได้ว่าแนวคิดของการพัฒนาได้เริ่มมองมิติอื่นๆที่นอกเหนือจากมิติเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันเกิดจากกระแสความคิดของตะวันตก ที่หันมาตั้งคำถามกับการพัฒนาควบคู่ไปกับการคำนึงถึงเรื่อง จริยธรรม(Ethic)หรือจิตใจ  ซึ่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตซ้ำวาทกรรมการพัฒนามายาวนานก็ไม่ปฎิเสธที่จะนำระบบความคิดและคุณค่าดังกล่าวเข้ามาปรับใช้ในสังคมไทยซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมมาตั้งแต่อดีต  แน่นอนว่าจริยธรรมในแบบตะวันออกกับตะวันตกย่อมมีความแตกต่างกันในการอธิบายและตีความ ไม่แตกต่างจากการนำคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ มาอธิบายความ หรือแปลความหมายในภาษาไทย แม้คำไทยที่พยายามจะสร้างรูปสัญญะและความหมายให้เหมือนกับคำภาษาต่างประเทศที่เป็นรากเหง้าดั้งเดิมเพียงใด ก็ไม่อาจทำได้สมบูรณ์ เพราะระบบคุณค่าและความหมายที่ใส่เข้าไปในคำๆนั้นย่อมมีตรรกะหรือกฎเกณฑ์/ระบบภาษาชุดหนึ่งที่แตกต่างและมีบริบทที่เฉพาะแบบหนึ่ง

          ในบริบทของประเทศไทย การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ถูกนำเข้ามาโดยนักวิชาการ[5] นักคิดนักปรัชญาและนักพัฒนา ในช่วงเวลาที่ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ และแนวทางกาพัฒนาได้กลายเป็นเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน ในช่วงแรกเริ่มอาจกล่าวได้ว่าผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันคำนี้ให้เป็นที่รู้จักยอมรับอย่างแพร่หลายก็คือ น..ประเวศ วะสี[6]  .ศิวรักษ์[7]และท่านเจ้าพระคุณพระธรรมปิฎก โดยเฉพาะท่านเจ้าพระคุณพระธรรมปิฏก ที่ได้พยายามนำเสนอแนวคิดแบบตะวันตกในทรรศนะของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการนำเอาแนวความิดแบบตะวันตกมาประยุกต์ใช้ให้มีความสอดคล้องกับสภาพของสังคมไทย อย่างเช่นในปี2531 ที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นปีทศวรรษเพื่อการพัฒนาทางวัฒนธรรมของโลก พระธรรมปิฎกได้แสดงปาฎกถา ในหัวข้อวัฒนธรรมกับการพัฒนา ที่ได้กล่าวถึงการแสวงหาทางเลือกแนวทางการพัฒนาแบบใหม่ๆที่เน้นเรื่องของระบบคุณค่า ความงามและจริยธรรมในทางพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา  ดังจะเห็นได้จากงานของท่านในช่วงปี 2532-2536 ที่ท่านได้พยามทำให้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งแนวทางในการพัฒนาประเทศ ที่จะทำให้การพัฒนาสอดคล้องสมดุลย์ ระหว่างตัวเองกับผู้อื่น ธรรมชาติระบบนิเวศน์ และเทคโนโลยีเพื่อความอยู่ดีกินดีของมนุษย์(พระธรรมปิฎก;2532;2533) หรือในช่วงปี2536 ที่มีการประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาEarth Summit ที่ริโอเดอเจเนโร ประเทศบราซิล ท่านเจ้าพระคุณพระธรรมปิฎก ได้รับคำอาราธนาเชิญของหมอประเวศ วะสี ซึ่งได้ตั้งหัวข้อและกำหนดการสัมมนาเรื่อง พระพุทธศาสนากับการพัฒนาที่ยั่งยืน   โดยในตอนต้นของหนังสือเล่มนี้ นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ปาฎกถานี้ว่า

          เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในโลกตะวันตก แต่ยังดูเหมือนยังไม่เข้าใจชัดเจนว่าว่าจะทำอย่างไรกันแน่ โดยที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก เป็นนักปราชญ์ทางเอกพุทธศาสนา ที่รู้เท่าทันภูมิปัญญาตะวันตก มีความละเอียดประณีตทางปัญญา จึงเป็นคุณูปการแก่โลกที่ท่านได้ค้นคว้าเรียบเรียงเรื่องนี้ขึ้นมา อาจเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในแนวพุทธก็ได้”(ประเวศ วะสี ;คำนำหน้า6)

ต่อมาในปี2538 ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ การพัฒนาที่ยั่งยืนที่รวบรวมจากปาฎกถาเรื่องนิเวศวิทยาตามหลักพระพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่วันที่ 14 มกราคม 2536 ถือได้ว่าเป็นงานชิ้นสำคัญของท่าน และได้แสดงให้เห็นความตระหนักในทิศทางของการพัฒนาประเทศและโลกในอนาคต โดยชี้ให้เห็นความเป็นมาของแนวคิดการพัฒนายั่งยืน อันเกิดจากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม การเพิ่มของประชากร และขีดจำกัดในการรองรับและปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม ที่มีผลต่อเรื่องความยากจนและสภาพบรรยากาศของโลกทั้งหมดทั้งสิ้นล้วนแต่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งสิ้น   ซึ่งเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ได้กล่าวถึงความเป็นมาของแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่าเกิดมาจากรายงานของบรันท์แลด์ชื่อOur Common Future ที่ใช้ในการประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ที่ประเทศบราซิลและให้นิยามความหมายตามรายงานฉบับนี้ที่เป็นเรื่องของการประนีประนอมการใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมระหว่างรุ่น และท่านได้ให้ความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในทัศนะของท่านว่าหมายถึง การพัฒนาที่เป็นบูรณาการ(Integrated) คือต้องทำให้เกิดเป็นองค์รวม(Holistic) ที่องค์ประกอบต่างๆมีความเกี่ยวข้องประสานกันและทำให้เกิดดุลยภาพ(Balance)เช่นการบูรณาการทางธรรมชาติแวดล้อมกับเศรษฐกิจโดยท่านมองว่ามูลเหตุแห่งปัญหาที่ต้องแก้ก็คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ต้องนำมาใช้ให้สอดคล้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและนำเรื่องของจริยธรรม ความเป็นมนุษย์ มาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาด้วย นอกจากนี้ซึ่งผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งให้คำหล่านี้เข้ามาสร้างคุณค่าให้กับกระแสการพัฒนาแบบยั่งยืน ก็คือนักวิชาการอย่าง อ.เสน่ห์ จามริก ซึ่งจะเห็นว่าวาทะในงานของท่านหลายชิ้นได้ถูกอ้างอิงอย่างแพร่หลายในการศึกษาวิจัยเช่น องค์รวม บูรณาการ ภูมิปัญญา จริยธรรม ความเข้มแข็งทางปัญญา ได้กลายมาเป็นสูตรสำเร็จของการอ้างอิง แม้ว่านายแพทย์ประเวศ วะสี จะบอกว่า  แนวคิดของท่านเป็นเครื่องมือในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ใช่เครื่องมือในวิเคราะห์สำหรับงานประเภทค้นคว้าวิจัยเนื่องจากถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนองเป้าหลายที่แตกต่างกัน(อ้างจากปริตตา,2548) แต่คำเหล่านี้ก็ได้กลายสภาพเป็นสัญญะที่ล่องลอยและถูกใช้ในความหมายที่หลากหลาย เป็นทั้งกรอบคิดในการวิจัยศึกษาและเป็นยุทธศาสตร์ในการต่อสู้เคลื่อนไหวที่นักวิชาการนักพัฒนาองค์กรภาคประชาชนได้นำไปใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ แนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ผลิตจากตะวันตกและส่งผ่านเข้ามาในเมืองไทย จะต้องถูกผนวก เพิ่มเติมคุณค่าชุดหนึ่งหรือลงพุทธคุณ เพื่อให้ผสานสอดคล้องกับหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ที่มีสถานะไม่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์ในเชิงกระบวนการคิดการตั้งสมมติฐาน การทดลอง เช่นเดียวกับการค้นหาเหตุแห่งปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหา หรือเหนือกว่าวิทยาศาสตร์ในเรื่องของจิตวิญญาณ จิตใจ คุณธรรม และจริยธรรม ซึ่งได้ช่วยให้ความคิดดังกล่าวมีความเหมือนหรือแตกต่างจากแบบตะวันตก และมีคุณค่าชุดหนึ่งที่คนในสังคมให้การยอมรับ

          สิ่งที่น่าวิเคราะห์ต่ออีกอย่างหนึ่งก็คือแนวทางของการพัฒนาที่เป็นคู่ขัดแย้งกับกระแสการพัฒนาหลัก ไม่ว่าจะเป็นแนวเศรษฐศาสตร์การเมืองหรือวัฒนธรรมชุมชน  ได้ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการพัฒนาที่สุดขั้วเกินไปและสอดคล้องกับสภาพสังคมวัฒนธรรมปัจจุบันหรือไม่ ในเมื่อเศรษฐศาสตร์การเมืองก็มองปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมืองเป็นหลักในการวิเคราะห์เปลี่ยนแปลง  ส่วนวัฒนธรรมชุมชน ก็ยึดมั่นในเรื่องของความดีงามทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้าน ฮีต12คอง14และประเพณีเพื่อการพึ่งตนเองและต้านทานกับกระแสทุนนิยมและโลกาภิวัฒน์ที่รุกเร้าเข้ามา ซึ่งค่อยๆเลือนหายและเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตภายใต้การพัฒนา ทำให้แนวทางของพระพุทธศาสนา จึงเป็นสิ่งที่เสมือนมัชฌิมาปฎิปทาหรือทางสายกลางในการแก้ปัญหา และด้วยลักษณะความเป็นวิทยาศาสตร์(ดูได้จากแนวคิดท่านพระพุทธทาส พระธรรมปิฎ;2532)ทำให้สามารประยุกต์ใช้กับแนวคิดของตะวันตกที่อยู่บนฐานความคิดแบบวิทยาศาสตร์ มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับพื้นฐานของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์แบบพุทธ เกษตรกรรมแบบพุทธ พุทธเกษตร  ที่สามารถเชื่อมโยงและมองเหตุแห่งปัญหาอย่างเชื่อมโยงเป็นมรรคผลเช่นเดียวกับความคิดเรื่ององค์รวม(Holism)และบูรณาการ(integration)ของตะวันตก

          ในแวดวงวิชาการ ภาครัฐและนักพัฒนานักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม  แนวความคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญในการเสวนาและเป็นยุทธศาสตร์ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศและการสร้างสถาบันต่างๆที่รองรับกับวาทกรรมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสำนักนโยบายและแผน การตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี2545 การออกพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในปี2535 การตั้งคณะทำงานวาระภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือแม้แต่การบรรจุแนวคิดดังกล่าวเข้าไว้ในรัฐธรรมนูญ[8]และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ[9] การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงกลายเป็นเป้าหมายหลักการสำคัญในการวางแผนการพัฒนาให้สอดคล้อง ซึ่งเราจะเห็นได้จากการพยามให้ความหมายของการพัฒนายั่งยืนในองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะทำงานวาระประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  นักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ และนักพัฒนา ได้พยายามหาข้อยุติทางด้านนิยามความหมายเพื่อให้เกิดผลอย่างชัดเจนและนำไปสู่การ ปฎิบัติ โดยได้ให้นิยามต่างๆดังนี้

          การพัฒนาอย่างยั่งยืนในบริบทไทยเป็นการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงความเป็นองค์รวมของทุกๆด้าน อย่างสมดุลบนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของไทย ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม ด้วยความเอื้ออาทร เคารพซึ่งกันและกัน เพื่อความสามารถในการพึ่งตนเองและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียม”(คณะทำงานวาระประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอ้างจากสุริชัย,2546)

          “...ความหลากหลายและความเชื่อมโยงสัมพันธ์ทั้งหมดทำให้เกิดความสมดุลย์หรือความยั่งยืน นี่คือธรรมชาติและกฎของธรรมชาติ การเข้าธรรมชาติและปฎิบัติธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเป็นปกติ หรือสมดุลหรือยั่งยืนหรือศานติ”(หมอประเวศ วะสี ,2536)

          คำว่าพอเพียงหมายถึงความสมดุลภายในตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจซึ่งคือจุดรวมของความพอดี ส่วนคำว่ายั่งยืนกำหนดได้ด้วยใจ..”(ระพี สาคริก,2545)

          การบริหารจัดการ ที่คำนึงด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน” (ประพัฒน์ ปัญญญาชาติรักษ์,2546)

          ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่สมบัติของคนรุ่นเราเท่านั้น แต่ยังคงเป็นสมบัติที่จะตกทอดถึงคนรุ่นหลังด้วย ดังนั้นอนาคตของประเทศไทย จึงขึ้นอยู่กับกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาดของคนรุ่นเรา”(นายกฯทักษิณ ชินวัตร)

          หลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ การพัฒนาที่คึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ คำนึงถึงความเป็นองค์รวม ใช้เทคโนโลยีที่สร้างสรรค์”(สำนักงานคณะกรรมการพัฒน์ฯ,2547)

          ยั่งยืนคือมั่น คือยืนยาว เกษตรยั่งยืนคือจังเฮาเฮ็ดนากิน”(แม่สา ดวงปาโคตรอายุ74 ปีชาวบ้านโนนสมบูรณ์,2548)         

ดังนั้นเราจะเห็นว่า  คำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของสังคมไทย ได้ถูกนำมาใช้หลากหลายความหมาย ภายใต้การให้คุณค่าชุดหนึ่งที่มีร่วมกัน เพราะรากเหง้าความหมายของคำว่ายั่งยืน ซึ่งเป็นคำไทยมีนัยในทางบวก หมายถึงความมั่นคง ยืนยง[10] ที่เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ปรารถนาและยอมรับ และสามารถนำคำๆนี้มาใช้ร่วมกับคำอื่นๆได้ เช่น ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การจัดการที่ยั่งยืน การพัฒนาที่ยั่งยืน ธรรมาภิบาลที่ยั่งยืน หรือแม้แต่ในขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกรรมที่ยั่งยืนที่ถูกกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรองค์กรพัฒนาเอกชน หรือภาคประชาชนที่ได้เปิดพื้นที่ของเกษตรกรรมรูปแบบต่างๆ เช่นวนเกษตร เกษตรพอเพียง เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมธรรมชาติ พุทธเกษตร ที่เป็นเสมือนแนวทางอันนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต เป็นต้น[11] คำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทไทยจึงมีสภาพไม่ต่างจากรูปสัญญะที่ล่องลอย เปล่ากลวงทางความหมาย เนื่องจากมีความหมายที่กระจัดกระจาย ไม่สามารถที่จะหาความหมายที่ยุติเด็ดขาดได้ แต่มันก็สะท้อนถึงคุณค่าและความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวงศาคณาญาติทางความหมายที่มาเกาะเกี่ยวสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น ภูมิปัญญา[12]  องค์รวม บูรณาการ สันติ  สมดุล พอเพียง ยั่งยืนยาวนาน คงทนถาวร ความเอื้ออาทร การมีส่วนร่วม[13] ความเคารพ ความหลากหลาย[14] การพึ่งตนเองและอื่นๆ คำต่างๆเหล่านี้ ล้วนมีรากเหง้า มาจากฐานคิดในเรื่องพระพุทธศาสนา ที่เป็นเรื่องของธรรมชาติ จิตวิญญาณ คุณธรรมและจริยธรรม  ความเป็นไทยที่ต้านทานกับกระแสะวันตกและดูเหมือนจะสามารถปรับตัวให้สอดคล้องสมดุลกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันด้วย อันมีมูลเหตุมาจากการสูญเสียจิตวิญญาณ คุณธรรม จริยธรรม ความสงบสุขมั่นคง ภูมิปัญญาและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมองและแก้ปัญหาแบบแยกส่วน การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงรวมคุณค่าความหมายต่างๆที่ดีงามเข้ามาไว้ในในตัวของมันทั้งความหมายที่มีนัยของรากเหง้าจากตะวันตก เช่น การพัฒนา การบริหารจัดการ บูรณาการ องค์รวม และความหมายที่ถูกต่อเติมผ่านระบบคิดโลกทัศน์แบบตะวันออก เช่น ภูมิปัญญา มั่นคงถาวร พอเพียง พึ่งตนเอง เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันการพัฒนาที่ยั่งยืนได้กลายเป็นสิ่งที่นักพัฒนา นักสิ่งแวดล้อม นักการเมือง นักธุรกิจ  นักวิศวกร สื่อมวลชน ข้าราชการ และคนกลุ่มอื่นๆ เข้ามาใช้พื้นที่ในสนามแห่งนี้ร่วมกัน  ดูเหมือนคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจะสามารถผสมผสานกลมกลืน สิ่งที่แตกต่างขัดแย้งกัน เข้ากันไม่ได้ให้หันหน้าเข้าหากัน ภายใต้ยุทธศาสตร์เป้าหมายร่วมกันแม้ผลประโยชน์เบื้องหลังจะแตกต่างกันอย่างมากมายเพียงใดก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนักเรียนทางมานุษยวิทยา ที่จะต้องศึกษาองค์ความรู้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงกลไกลทางอำนาจในการสร้างคุณค่า ให้ความหมายที่กลุ่มต่างๆเข้ามาใช้สนามหรือพื้นที่ของวาทกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน ซึ่งสุดท้ายแล้วเราอาจจะพบว่ามันก็ไม่แตกต่างจากมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นและมีความเปล่ากลวงในตัวของมันเอง เพียงแต่ว่ามันสามารถที่จะถูกสถาปนาและสร้างอำนาจความชอบธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่คนทั่วไปยอมรับและไม่ปฎิเสธการพัฒนาดังกล่าว โดยมีสถาบันต่างๆมารองรับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยและพัฒนา  เป็นต้น ที่ทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนได้กลายเป็นสนามปฏิบัติการทางอำนาจที่มีคนกลุ่มต่างๆเข้าไปใช้อย่างแพร่หลาย

2.ภูมิปัญญาท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพ

ความหลากหลายทางชีวภาพ Biodiversity  เป็นกระแสใหม่ของทิศทางการพัฒนาที่กล่าวถึงกันอย่างมากมายในช่วงประมาณศตวรรษที่ 1980-1985 ถึงปัจจุบัน ในการให้ความสำคัญกับความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมโลกที่มีรากฐานมาจากระดับท้องถิ่น ซึ่งถือว่าท้องถิ่นเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและองค์ความรู้ของโลก (Stores of Knowledge and Resources of the World)[15] ที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลก เพราะเป็นแหล่งของของปัจจัยการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อ่าศัยและยารักษาโรคสำหรับมนุษย์

ศัพท์คำว่า Biodiversity  ถูกผลิตขึ้นในช่วงปี 1984 โดยนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) และการประชุมของ U.S Congress of Technology  Assessment ในปี 1987 ที่มีหัวข้อการประชุมว่า Technology to Maintain Biological Diversity ซึ่งมีความหมายครอบคลุมกว่า คำว่าธรรมชาติและระบบนิเวศน์ โดยมองถึงสรรพชีวิตต่างๆ ประชากร ชุมชนของสิ่งมีชีวิต ทั้งสิ่งมีชีวิตอยู่ในชุมชนและในป่า ภายใต้ระบบนิเวศน์นิเวศน์หนึ่ง แต่ยังมีนัยถึงการปรับตัวทางด้านวัฒนธรรมภายใต้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย (Dasman อ้างใน Oldfied : 1991;p.8)

ในพจนานุกรม Blomsbury Guide to Human Thought ของ Kenneth Meleish (1993) ให้ความหมายว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ มีศัพท์ที่สำคัญและเกี่ยวข้องคือ  ระบบนิเวศวิทยา (Ecology System) ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ก็หมายถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ที่อยู่ในช่วงของการทำลาย สปีชี่ส์ ต่างๆ ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมให้สูญหายไป ความแตกต่างก็คือผลผลิตที่มาจากพันธุกรรมที่หลากหลายภายใต้ปกระบวนการเลือกสรรโดยธรรมชาติ ซึ่งทำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงตัวเองให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันได้กลายมาเป็นลักษณะเฉพาะของกระบวนการวิวัฒนาการความหลากหลายทางชีวภาพ  เป็นสิ่งที่ชี้วัดความยั่งยืนของระบบนิเวศน์  จุดสำคัญคือ ชุมชนมีแนวโน้มจะรักษาความยิ่งใหญ่ของสปีชี่ส์เอาไว้ ในขณะที่ผู้บุกเบิกหรือผู้นำชุมชนคือ ผู้ทำให้สปีชี่ส์ลดลง ประเด็นเหล่านี้ทำให้มนุษย์เริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่นำไปสู่การประชุมสำคัญในระดับโลก คือ Earth Summit ที่กรุงริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล  ที่มีการนำประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพมาพูดในเวทีระดับโลก ในปี2535 เพื่อจัดการความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมในระดับโลกให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้ข้อตกลงในอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ  โดยชึ้ให้เห็นความสำคัญของความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีผลต่อกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เพราะความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ซึ่งทรัพยากรดังกล่าวไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนทั้งโลก

แต่ในทางตรงกันข้าม แหล่งทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ เช่นป่าฝนเขตร้อน  ป่าลุ่มน้ำอะเมซอน ในเอเชีย แอฟริกาและลาตินอเมริกา ได้กลายเป็นเค้กก้อนใหญ่ ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือบริษัทข้ามชาติหวังที่จะเข้ามาตัดแบ่งและครอบครองแย่งชิงเอาไป เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งทำให้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามเป็นอย่างมาก ทั้งจากนักวิชาการ นักพัฒนา และเกษตรกรในประเทศโลกที่สาม  ที่ไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือที่มีผลประโยชน์แอบแฝงนี้

ปฏิวัติเขียว เป็นการปฏิวัติ ทางด้านเมล็ดพันธุ์พืช  เทคโนโลยีในการผลิต เช่น รถไถ  เครื่องเกี่ยวข้าว มีการนำระบบชลประทานมาใช้ รวมถึงการใช้ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงในการเพิ่มผลผลิต  ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่1   แต่เห็นเด่นชัดในช่วงปีพ.ศ. 2520  ที่รัฐบาลมีนโยบายผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการกำหนดเงินกู้ให้ไปซื้อเครื่องจักรไถนาหรือเครื่องมือทางการเกษตรเท่านั้น ห้ามนำไปซื้อวัวควาย ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนและสัตว์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตภาคการเกษตรเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะพิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำขวัญหรือสู่ขวัญควาย แต่ผลจากการปฏิวัติเขียว ไม่ได้ทำให้เกษตรกรร่ำรวยแต่อย่างใด แต่ยิ่งทำให้เกษตรกรพึ่งพาภายนอกมากขึ้น รวมทั้งมีต้นทุนในการผลิตเพิ่มมากขึ้น เกิดภาวะหนี้สิน รวมทั้งความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ เนื่องมาจาก

1.เน้นการปลูกพืชที่ให้ผลผลิตสูงเพียงมี่สายพันธุ์พืช ทำให้ความมั่นคงของสายพันธุ์ลดต่ำลง เกิดปัญหาโรคจากแมลงและดินฟ้าอากาศ ปัญหามีการลุกลามยากต่อการควบคุม  เช่น โรคหนอนกอที่ทำลายอ้อยในหลายจังหวัดภาคอีสาน

2การใช้สารฆ่าแมลง นอกจากจะฆ่าศัตรูพืชแล้ว เกษตรกรยังฆ่าแมลงที่เป็นประโยชน์อื่นๆด้วย และส่งผลในระยะยาว ทำให้แมลงศัตรูพืช ระบาดมากขึ้น แมลงศัตรูพืชจะสามารถปรับตัวได้ดี เกิดการดื้อยา ส่วนแมลงที่เป็นตัวควบคุมศัตรูพืช เช่น แมลงห้ำ และแมลงเบียน ซึ่งขยายพันธุ์ช้าและอ่อนแอ จะถูกทำลายไปจนหมด

3.การใช้ปุ๋ยและสารกำจัดวัชพืช เป็นการทำลายความสมดุลภายในดิน โดยทำลายสิ่งมีชีวิตในดิน โดยเฉพาะแบคทีเรีย ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการดูดซับไนโตรเจน ปริมาณสารอินทรีย์และความร่วนซุยขงดินจะลดลง ดินจะแห้งและจับตัวแน่นแข็งขาดความชุ่มชื้นและง่ายต่อการชะล้างให้สึกกร่อน ก็จะทำให้พืชสูญเสียการได้รับสารอาหารในดิน

Gmo  คือ เทคโนโลยีทางชีวภาพ แบบหนึ่งที่เรารู้จักกันดีก็คือ การตัดต่อทางพันธุกรรม ที่เรียกว่า Genetically Modified organism หรือ GMOs เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ทางวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง  ว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร และเมื่อมนุษย์บริโภคพืชผลเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อตัวมนุษย์หรือไม่  โดยแท้จริงแล้ว หากไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้ เกษตรกรในอดีตก็สามารถคัดเลือก หรือมีวิธีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ หรือพัฒนาสายพันธุ์พืชมานานแล้ว   ทั้งยังเป็นกระบวนการที่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ  และมักจะเป็นการผสมในสายพันธ์เดียวกันเป็นส่วนใหญ่

เหตุผลสำคัญ ในการพัฒนาพืชระบบตัดต่อพันธุกรรม  เช่น ผสมพันธุ์ข้าวข้ามชนิดหรือประเภท โดยใส่ยีน(หน่วยพันธุกรรม)ลงไป  ใส่แบคทีเรียลงไปในข้าวโพด  ใส่ยีนต้านการเยือกแข็งของปลาลงในมันฝรั่ง  มีดังนี้คือ

1.มอนซานโต อ้างว่า เทคโลยีทางชีวภาพจะช่วยให้เราสามารถขยายสายพันธุ์พืชให้ดียิ่งขึ้น เพิ่มปริมาณผลผลิต ทั้งนี้ก็เพื่อการช่วยลดบรรเทาความอดอยาก หิวโหยของจำนวนประชากรโลกที่นับวันมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลของการวิจัย ทำให้ทราบว่า มีการตัดต่อพันธุกรรมพืชและพัฒนาสายพันธุ์มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พืชมีความต้านโรคและแมลง หรือการยืดอายุพืชผัก ให้ผลไม้สุกช้ากว่าปกติเพื่อให้สามารถขนส่งสินค้าได้นานขื้น  หรือทำให้ปริมาณน้ำมันในเนื้อมันฝรั่งน้อยลง  โดยไม่ใช่การผลิตหรือดัดแปลงการผลิตเพื่อพัฒนาคุณภาพอาหารและลดความหิวโหยอย่างแท้จริง  ตัวอย่างเช่น การพัฒนาพันธุ์ข้าวสีทอง เป็นการเพิ่มสารเบต้า แคโรทีน (ช่วยสร้างแหล่งเก็บกักวิตามินเอให้กับพืชและร่างกายของมนุษย์) ซึ่งเป็นการพัฒนาอาหารหรือเพิ่มคุณค่าหรือสารอาหารบางอย่างให้พืช  แต่ไม่ได้พยายามตอบปัญหาที่จะลดปัญหาประชากรโลกที่มีสภาวะขาดสารอาหาร หรือมีอาหารไม่เพียงพอแต่อย่างใด

โดยการอ้างเหตุผลของการตัดต่อพันธุกรรม ทำให้ละเลยหรือมองข้ามสาเหตุที่แท้จริงของการอดอยากหิวโหย คือ ความยากจน ซึ่งเป็นความจริงที่นิรันดร์ ในทางกลับกันการพัฒนาสายพันธุ์กับสร้างความร่ำรวยให้กับบริษัทข้ามชาติ หรือพวกนายทุน  ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า เรามีอาหารเพียงพอที่จะให้กับมนุษย์ทุกคนบนโลก อย่างน้อยที่สุดคนละ 3,500 แคลอรีต่อวัน  แต่ปัญหาเดจากการกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม และเม่าเทียม นโยบายทางการเมือง และนโยบายทางเศรษฐกิจของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ที่เป็นสาเหตุ แต่ปัญหาสำคัญคือ โรคอ้วน ดังที่เตราจะพบว่า เด็กและผู้ใหญ่จำนวนมาก ได้รับสารอาหารไม้พียงพอ และบริโภคอาหารเกินความจำเป็น โดยเฉพาะการบริโภคอาหารประเภทฟาสฟู้ด ที่มีไขมัน คาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ฉะนั้นจึงต้องสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะจริยธรรมของบริษัทข้ามชาติ ในขณะที่คนทั่วโลกบริโภคอาหารของKFC ทั้งที่ฐานการผลิตอยู่ที่ลาตินอเมริกา ในแอฟริกา ที่ให้คนพื้นเมืองเลี้ยงไก่ และมีการครองชีพในระดับต่ำ อดอยากหิวโหยจำนวนมาก  แต่บริษัท KFC กับมีสาขาอยู่มากกมายทั่วโลก และสร้างรายได้อย่างมหาศาลจากการผลิตอาหารประเภทไก่ ซึ่งเป็นที่นิยมทั่วโลก ในขณะที่ชาวไร่ชาวนาในประเทศกำลังพัฒนา กลายเป็นผู้ดูแล และเลี้ยงดูผลผลิต เพื่อส่งให้บริษัทธุรกิจข้ามชาติรายนี้ ด้วยการกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อการลงทุน เช่น เดียวกับ บริษัท ซีพีประเทศไทย ที่มีกิจการเกี่ยวกับเรื่องการเกษตร พันธุ์พืช สัตว์เช่น ไก่ เป็ด หมู  อาหารสัตว์ และธุรกิจร้านค้าโชว์ห่วยสมัยใหม่หรือร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงอยู่ทั่วประเทศ

กระบวนการดังกล่าวอาจเรียกได้ว่า เป็นการปฏิวัติเขียวรอบสอง (2 nd Green Revolution) ในการปฏิวัติทางเมล็ดพันธุ์  เพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าให้กับโลก แม้ว่าการปฏิวัติเขียวเกือบ 70 ปีที่ผ่านมาได้สร้างผลกระทบทางลบแก่เกษตรกรไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบชลประทาน ปุ๋ยเคมี เพื่อเพิ่มผลผลิต  สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้สร้างหนี้สินให้กับชาวนา และทำให้ที่ดินหลุดออกจากมือเกษตรกรรายย่อยเป็นจำนวนมาก บริษัทขนาดใหญ่และนายทุนรายใหญ่กลายเป็นเจ้าของที่ดิน รวมถึงการผลิตในรูปแบบการเกษตรแบบเข้มข้น ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ เนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช  ที่ทำให้เกิดศัตรูพืชสายพันธุ์ใหม่ ที่ดื้อยา และฆ่าได้ยากมากขึ้น และต้องมีการเปลี่ยนยาหรือใช้ยาตัวใหม่ตลอดเวลา  รวมถึงการสร้างความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึง และกระจายทรัพยากร โดยเฉพาะการปิดกั้นสิทธิของเกษตรกร ผ่านเรื่องของสิทธิบัตร ทรัพย์สินทางปัญญา อนุสัญญาต่างๆ  รวมถึงการซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ผูกขาดโดยบริษัทข้ามชาติ  เพราะจีเอ็มโอ ทำให้พืชเป็นหมัน และเกษตรกรต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์พืชปลูกทุกปี

การรื้อฟื้นอัตลักษณ์ รากเหง้า ภูมิปัญญาท้องถิ่น การกลับมาของกระแสวัฒนธรรมชุมชน เพื่อตั้งรับกับกระแสโลกาภิวัตน์

ภูมิปัญญา ถือได้ว่าเป็นกระบวนการสร้างองค์ความรู้และขบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งก่อตัวขึ้นมาจากการเคลื่อนไหวทางสังคมหลายส่วน  โดยเฉพาะบทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชน ที่แสวหาทิศทางใหม่ของการพัฒนา ในช่วงปีพ.ศ. 2524  ที่มีการนำเสนอแนวความคิดเรื่องของวัฒนธรรมชุมชน  ที่เป็นแนวความคิดที่ต้องการผละตัวเองออกจากการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ซึ่งเป็นการมองข้ามหรือไม่เห็นคุณค่าของชาวชนบทโดยมองว่า เป็นคนไม่มีความรู้ ไร้การศึกษา เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา การพัฒนาแนววัฒนธรรมชุมชนต้องการนำเสนอทางเลือกใหม่ว่า ชาวบ้านที่อยู่กันเป็นชุมชนมีวัฒนธรรมของตนเอง ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีต เป็นสิ่งที่มีคุณค่า จากกระแสดังกล่าวทำให้เกิดการตื่นตัวทางด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือหมู่บ้าน เกิดการศึกษาคนคว้าโดยกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า นักวิชาการท้องถิ่น  ที่ได้ทำการื้อฟื้นคุณค่า ประเพณี วัฒนธรรมและความรู้ของท้องถิ่น ที่เรียกว่า ภูมิปัญญา ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วมีฐานคิดและความสนใจมาจากเรื่องของคติชนวิทยา เช่น จารุวรรณ ธรรมวัตร ล้อมเพ็งแก้ว  หรือสุทธิวงศ์  พงศ์ไพบูลย์ และอื่นๆ ซึ่งนอกจากการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลในเชิงคติชนวิทยาแล้ว  ยังได้ก่อตั้งสถาบัน หรือหน่วยงานที่เก็บรวมรวมความรู้ วัตถุต่างๆในท้องถิ่นรวมถึงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในหลายชุมชน

ในปัจจุบัน กระแสภูมิปัญญา ถือได้ว่าเป็นกระแสที่ปรากฏออกมาอย่างแพร่หลายในการใช้ถกเถียงกับกระแสโลกาภิวัตน์ และการปรับตัว เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์  เช่นภูมิปัญญาท้องถิ่น กับการเป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการค้า การท่องเที่ยว ได้ทำให้วัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่นสามารถขายเพื่อสร้างรายได้ได้  ดังที่อาจารย์ ดร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับภูมิปัญญาไว้ว่า

1.ภูมิปัญญาถือได้ว่าประสบความสำเร็จ เมื่อได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย จากที่เคยเป็นเรื่องที่อยู่ชายขอบ ก็ถูกทำให้เข้ามาอยู่ในศูนย์กลางในการถกเถียง พูดคุยหรือเป็นแนวทางการพัฒนา

2. ภูมิปัญญาประสบเคราะห์กรรม หรือชะตากรรมเช่นเดียวกับคำ หรือแนวความคิดอื่นๆ ที่เริ่มแรกจะมีความหมายที่ผูกติดกกับอุดมคติและการปฏิบัติบางอย่าง แต่เมื่อใช้กันมาเรื่อยๆ และหลุดลอยออกสู่พื้นที่สาธารณะไม่มีใครสามารถควบคุมความหมายได้อีกต่อไป ภูมิปัญญากลายเป็น รูปสัญญะ ที่ล่องลอยไร้ราก เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้คนสามารถนิยามได้อย่างอำเภอใจ

 

 

          กระแสภูมิปัญญา ถือว่าเป็นกระแสที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับสังคมชาวนาชาวไร่เป็นอย่างมาก เพราะภูมิปัญญาเป็นเรื่องของรากเหง้า ประเพณี วัฒนธรรม ซึ่งปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตของสังคมชาวไร่ชาวนา ดังที่เราเห็นได้ในประเพณี 12 เดือน ฮีตสิบสองคองสิบสี่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามาถนำมาสร้างเป็นรายได้ผ่านเรื่องของการท่องเที่ยว การขายหัตถกรรมพื้นบ้าน หรือวิถีชีวิตขอพวกเขา (โฮมสเตย์)เพื่อให้ชุมชนสามารถดำรงอยู่ได้

 

หนังสืออ้างอิง

อานันท์ กาญจนพันธ์ , มิติชุมชน : ว่าด้วยสิทธิ อำนาจนการจัดการทรัพยากร

ยศ สันตสมบัติ , พลวัตรและความยืดหยุ่นของสังคมชาวนา:  เศรษฐกิจชุมชนภาคเหนือ การปรับกกระบวนทัศน์ว่าด้วยชุมชนในประเทศโลกที่สาม

อคิน ระพีพัฒน์ เครือญาติ การแต่งงาน ในสังคมไทย ใน เจ้าชาวบ้าน

ยศ สันตสมบัติ,มนุษย์กับวัฒนธรรม

สุริยา สมุทคุปติ์ และพัฒนากิตติอาษา , จากยอดห้วยถึงบุญบึง สิทธิอำนาจและระบบการจัดการทรัพยากรพื้นบ้านของชุมชนชาวนาลุ่มน้ำชี

Katy Gardner and David Lewis.  Anthropology Development The Post- Modern Challenge.

ไชยรัตน์  เจริญสินโอฬาร วาทกรรมการพัฒนา และการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่

อนุสรณ์ อุณโณ ,ขบวนการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนในสังคมไทย : การเมืองของการเขียนเกษตรกรรมยั่งยืน

พัฒนา กิติอาษา, ท้องถิ่นนิยม

Mike Featherstone (Ed. ) Global Culture , Global Culture Nationalism,Globalization and Modernity

Michel Foucaul,  Power/ Knowledge.

อานันท์ กาญจนพันธุ์ ,โลกาภิวัฒน์กับวัฒนธรรมไทย ใน บทสนทนามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วิกฤตโลก วิกฤตไทย อะไรคือทางรอด

 

 



[1] การพัฒนา ได้กลายมเแป็นวาทกรรมกระแสหลักตั้งแต่ช่วงยุคสงครามโลกครั้ที่2ที่ได้มีการสร้างความรู้ ความจริงและอัตลักษณ์ตัวตนของความด้อยพัฒนาที่เป็นเสมือนคู่ขัดแย้งกับการพัฒนา และการจัดแบ่งประเภทลำดับชั้นของโลกตามการพัฒนาประเทศที่วัดโดยใช้มาตรฐานทางเศรษฐกิจ รายได้เฉลี่ยต่อหัว  ซึ่งการพัฒนาประเทศได้กระทำผ่านสถาบันและทิศทางจากประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว ผ่านรูปแบบการช่วยเหลือทางด้านการเงิน วิชาการและอื่นๆ สิ่งเหล่านี้เรียกว่าภาคปฎิบัติการของวาทกรรม ดูแนวคิดที่วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดการพัฒนาจากตะวันตกได้จาก Wallernstein Immanuel เรื่อง world system theoryหรือนักวิชาการจากละตินอเมริกา Dos Santos เรื่องDependency theory หรือดูงานศึกษาวาทกรรมการพัฒนาของไชยรัตน์ เจริญสิรฃนโอฬาร,2545

[2] อ้างจากต้นฉบับที่ว่า“Sustainable development is deveopmentthat meet the needs of the present without compromising the ability of future generation to meet their own need”

[3] ดูจากนฤมล อรุโณทัยและคณะ (มปพ.) “การพัฒนา:ความเจริญและความเสื่อมของอุดมคติแปลจากบทความของวูล์ฟกัง ซาคส์ เรื่อง Development :The Rise and Decline of an Ideal

[4] ดูได้จาบทความและหนังสือเกี่ยวกับแนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน Phil mcmanus(1996), Andrew Dobson(1996),  Tim O’Riordan and Heather Voisey(1997), Richard J.Smith (1996),Robyn Eckersley(1999), Micael Cahill(2002), W.M Adams(1996), Gilbert Rist(1997)

[5] โดยเฉพาะนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมโดย ที่มีการจัดสัมนาวิชาการของคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development) ทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหาในปี2534ซึ่งน่าจะเป็นการประชุมเรื่องแรกเกี่ยวกับแนวคิดนี้  ที่ได้พยายามระดมแนวคิดจากนักวิชาการนักพัฒนาในการแสวงหาทางเลือกในการพัฒนา แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก ดูได้จากเอกสารการประชุม วันที่14-15 กุมภาพันธ์ 2534

[6] นับว่าท่านมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการนำเสนอยุทธศาสตร์ในการพัฒนาของชาติให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นภูมิปัญญาของชาติเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชาติ(ดูตัวอย่างการสรุปงานบางชิ้นของนพ.ประเวศ วะสีในงานของอ.ปริตตา, 2548)

[7] ผู้มีบทบาทสำคัญอีกท่านหนึ่งในการสำรวจองค์ความรู้ของสังคมไทยที่จะต้านทาน ปรับตัวให้สอดคลองกับแนวคิดตะวันตกหรือกระแสโลกในปัจจุบันโดยแสวงหาภูมิปัญญาไทย ท่านได้จัดตั้งวาสารปาจารยสารและสถาบันสันติประชาธรรม(ดูรายละเอียดของการเสวนาของสถาบันปรีดี พนมยงค์ เรื่ององค์ความรู้กับสังคมไทย,2529)

[8] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย2540 มาตร79 ระบุว่า รัฐจะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวนบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลรวมทั้งมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนควบคุมและจำกัดภาวะมลพิษที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงมาตราที่46 ที่ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูจาฃีต ประเพณี ภูมิปัญาท้องถิ่น ศิลปะและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและชาติและมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและสมดุล

[9] ตัวอย่างเช่นแผนพัฒนาฯฉบับที่9 การพัฒนาที่พอเพียง กำหนดว่าวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศที่กำหนดให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและสังคมที่เข้มแข็งมีคุณภาพ แก้ปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตโดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องนำการพัฒนา

[10] ในอักขรภิธานศัพท์ ของหมอบรัดเลย์ พ..2416 กล่าวว่า ความยั่งยืน หมายถึง มั่นคง คือแน่นอน เหมือนว่าวคุลาที่เขาชักคว้ากับอีป้าว อีป้าวมันแทงทะลุก็ไม่ตกนั้นว่า ยั่งยืน อย่างหนึ่งคนไม่พูดมุสา ไม่พุดเท็จ ไม่พูดโกหก พูดได้ความจริงถึงจะซักถามก็ไม่พูดกลับถ้อยคำว่า เขาพูดจายั่งยืน

[11] หาอ่านได้จากอนุสรณ์ อุณโณ(2545) เรื่องขบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนในสังคมไทยและการเมืองของานเขียนเกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งศึกษาขบวนการเคลื่อนไหววาทกรรมเกษตรกรรมยั่งยืน ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนคุณค่าและวิธีการจัดการทรัพยากร โดยศึกษาผ่านงานเขียนด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืนทั้งของภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน

[12] ดูตัวอย่างการประยุกต์ใช้แนวคิดในเรื่องนี้จากภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดย นพ.ประเวศ  วะ สี,2536

[13] ดูตัวอย่างการประยุกต์ใช้แนวคิดการมีส่วนร่วมกับประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ของสถาบันพระปกเกล้า,2544

[14] ความหลากหลายทางชีวภาพก็จัดเป็นเครือญาติของการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้อนุสัญญาที่ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ทำให้มนุษย์หันกลับมาตระหนักเรื่องความหลากหลาย การเลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยวและมาปลูกพืชที่หลากหลายซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของคนท้องถิ่นเรื่องการเพาะปูลก เรื่องป่าและสมุนไพร ที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาและเรื่องของสิทธิบัตร(ดูได้จากงานของอ.ยศ สันสมบัติ,2542 สุรชัย หวั่นแก้ว,2545)

[15] คำว่า Stores of Knowledge and Resources of the World ถูกใช้โดย Stephan B.Brush (1996) ที่กล่าวว่าชาวไร่ชาวนาและชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในป่าเขตร้อน เป็นผู้ชาย ผู้หญิง ซึ่งมีประสบการณ์ในความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จากพืชท้องถิ่น มรดกพื้นบ้านเหล่านี้มีที่มาจากความรู้ทางวัฒนธรรม และพวกเขาก็เป็นเช่นเดียวกับผู้พิทักษ์ทรัพย์สิน ของแหล่งทรัพยากรชีวภาพ ภูมิทัศน์ของชาวไร่ชาวนาและสวนพฤกษศาสตร์หลังบ้านที่มีความมหัศจรรย์ เป็นเสมือนคลังเก็บความหลากหลายทางชีวภาพ และส่วนประกอบของธรรมชาติ (หน้า 11)

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สตรีนิยมกับสิ่งแวดล้อม โดย นัฐวุฒิ สิงห์กุล

Aldo Leopold(1994) เขียนหนังสือที่รวบรวมบทความของเขาชื่อ Sand Country Almanac เขาได้อธิบายถึงปรัชญาของนักสตรีนิยมสิ่งแวดล้อมว่า ผู้หญิงมีควา...